ฉบับที่ 239 ผลทดสอบสารบอแรกซ์และสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู

        เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับข้อความจากผู้บริโภคท่านหนึ่งที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ถึงความเป็นไปได้ในการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผงกรอบ หรือ น้ำประสานทอง สารเคมีที่มักถูกนำไปผสมในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ รวมถึงสารเร่งเนื้อแดง ที่อาจถูกนำมาผสมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดปริมาณไขมันลง         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารให้กับผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าอย่างสบายใจ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง “หมูเนื้อแดง” จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าและเขียงหมูในตลาดสดพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, จ.นครปฐม, จ.ราชบุรี และ จ.ปทุมธานี ในเดือนธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 41 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax) และ สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-agonist) ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine)   สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อหมูทั้งหมด 41 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ (Borax)         ส่วนการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้แก่ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), ซัลบูทามอล (Salbutamol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine) นั้นพบว่า มีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านเจ๊แหม่มหมูซิ่ง (ตลาดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 5.80 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        2) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า(เขียง) ข้างร้านสมใจ (ตลาดปฐมมงคล จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ 4.41 ไมโครกรัม/กิโลกรัมและ  3) ตัวอย่างเนื้อหมู จาก ร้านค้า (เขียง) หลังร้านเป็ดพะโล้ (ตลาดเทศบาล1 /ตลาดโอเดี่ยน จ.นครปฐม)                        พบการปนเปื้อนของซัลบูทามอล (Salbutamol) ปริมาณ น้อยกว่า 0.30 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐานโดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist) และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) ของสารดังกล่าวด้วย ผู้ที่ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท         นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ยังระบุว่า “ห้ามใช้ ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ เกลือของเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เช่น กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (β-Agonist)” อีกด้วย                    ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมู        1. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากร้านค้าหรือตลาดสดที่น่าเชื่อถือ หรือได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์         2. ไม่ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงสดจนเกินไป หรือ มีไขมันน้อยจนผิดสังเกต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะปนเปื้อนสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์เอกสารอ้างอิง- Borax / บอแรกซ์, ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร (www.foodnetworksolution.com)- บอแรกซ์ สารอันตรายที่แฝงอยู่ในอาหาร (www.pobpad.com)- สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (beta-agonist), ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย   สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/beta-agonist.pdf)- การปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง (กลุ่มเบต้าอะโกนิสต์) ในเนื้อหมู  (https://www.ocpb.go.th/upvac_web/download/article/article_20171117141228.pdf)- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์- ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 บอแรกซ์ในหมูบด

หมูเป็นอาหารที่คนนิยมรับประทานกันมาก จนมีคำกล่าวประมาณว่า “หมูทำอะไรก็อร่อย” คนไทยบริโภคเนื้อหมูเกือบล้านตัน/ปี (ปี 2553 คนไทยบริโภคเนื้อหมูปริมาณ 930,000 ตัน)  หมูเมื่อถูกชำแหละแล้ว ว่ากันว่า รับประทานได้ทุกส่วน แต่ที่กินกันบ่อยก็แน่นอนว่าต้องเป็นเนื้อ ไม่ว่าจะส่วนสะโพก ขา หลัง หรือคอ แล้วแต่ว่าผู้บริโภคจะเลือกไปประกอบอาหารอะไร และไม่ว่าจะที่เขียงหมูในตลาดหรือชั้นวางเนื้อหมูในร้านค้าปลีกทันสมัย เขาก็มีเนื้อหมูในเลือกซื้อหากันได้หลายประเภท ที่นิยมมากประเภทหนึ่งก็คือ “หมูบด” หรือ “หมูสับ” ที่นำไปทำอาหารได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น...แกงจืด ลูกชิ้น ลาบ ไข่เจียวหมูสับ ฯลฯ   ซึ่งสมัยก่อนอาจต้องออกแรงเล็กน้อยเพื่อสับเนื้อหมูให้ละเอียด แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องยุ่งยากเสียเวลานั่งสับแล้ว เพราะเขามีชนิดสับให้แล้ววางพร้อมรอขาย คุณพ่อครัวแม่ครัวทั้งหลายไม่ต้องไปเสียเวลาสับ บด เองอีกให้ยุ่งยาก แต่ก็อีกนั่นแหละอะไรที่มันดูสำเร็จรูปบางทีมันก็มีภัยแฝงมาด้วย เนื้อสัตว์โดยธรรมชาตินั้นจะเน่าเสียได้ง่ายเพราะมีความชื้นสูงเหมาะแก่การขยายอาณาจักรของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหลาย ผู้ขายที่ไม่รับผิดชอบบางส่วนจึงมักนำสารเคมีที่อันตรายมาช่วยให้เนื้อหมูคงสภาพสด ไม่เน่าเสียง่าย และที่พบมากเป็นปัญหาระดับประเทศก็คือ การใช้สารบอแรกซ์ในเนื้อหมู โดยเฉพาะหมูบด เพราะไม่เพียงแต่ช่วยไม่ให้เน่าไวแล้ว ยังแถมคุณสมบัติทำให้เนื้อหมูเด้ง กรอบ อีกด้วย   ฉลาดซื้อทดสอบ ฉลาดซื้อเราก็ชอบหมูเช่นกัน เลยกระจายกำลังคนไปช้อปหมูบดมาจากตลาดสด 5 แห่ง โมเดิร์นเทรด 3 แห่ง และหมูพะยี่ห้อดัง 2 เจ้า ส่งตรวจหาสารบอแรกซ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปรากฏว่า ยังพบมีการใช้สารบอแรกซ์กับหมูบด อยู่ 1 แห่ง ที่ตลาดสดยิ่งเจริญ เจ้าของตลาดและหน่วยงานรัฐลงไปตรวจสอบด้วยนะครับ   ผลการทดสอบหาสารบอแรกซ์ในหมูบด สถานที่เก็บตัวอย่าง สารบอแรกซ์ (มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ตลาดสำโรง ไม่พบ ตลาดพระประแดง ไม่พบ ตลาด อ.ต.ก. ไม่พบ ตลาดบางบอน ไม่พบ กระถินหมูบด ตลาดยิ่งเจริญ 10,524 ฟู้ดแลนด์ ไม่พบ เทสโก้ ไม่พบ ท็อปส์ ไม่พบ หมูบด ซีพี เฟรชมาร์ท ไม่พบ หมูบด ยี่ห้อ เอส เพียว ไม่พบ   เก็บตัวอย่างช่วงเดือนตุลาคม 2555 ผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น    Borax  บอแรกซ์ บอแรกซ์ (Borax, Anhydrous borax (Na2B4O7) Borax pentahydrate (Na2B4O7·5H2O) Borax decahydrate (Na2B4O7·10H2O))  เป็นสารเคมี ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย  มีชื่ออื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ เม่งแซ ผงเนื้อนิ่ม บอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำแก้วเพื่อทำให้ทนความร้อน เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง และเป็นสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในแป้งทาตัว เป็นต้น มีการนำบอแรกซ์มาใช้ผิดโดยนำมาผสมใน อาหาร  เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่บูดเสียง่าย อาหารที่มักพบว่ามีสารบอแรกซ์ ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น   -------------------------------------------------------------------------------------------------   การใช้บอแรกซ์ในอาหาร เป็นอันตรายในอาหาร (food hazard)  ประเภทอันตรายทางเคมี (chemical hazard) เป็นสารเคมีห้ามใช้ในอาหาร (prohibit substances) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 151(พ.ศ. 2536) เรื่องวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร   ------------------------------------------------------------------------------------------------- หมูอาบน้ำ เนื้อหมูที่พบว่ามีการใช้สารบอแรกซ์มากที่สุดคือหมูบด เนื่องจากการบดหมูจะทำให้มีการผิวสัมผัสของเชื้อโรคเข้าไปในเนื้อหมูมากขึ้น ทำให้หมูบดเน่าเสียได้ง่าย จึงมีการใช้บอแรกซ์ใส่ปนในหมูบด ส่วนเนื้อหมูชิ้นจะมีการนำไปชุบน้ำยาบอแรกซ์ โดยจะมีภาษาเรียกของผู้ที่จำหน่ายสุกรว่า “หมูอาบน้ำ” ดังนั้นจะมีบอแรกซ์ติดอยู่ที่ผิว ข้อปฏิบัติสำหรับผู้บริโภคทั่วไปคือเมื่อซื้อหมูมาก่อนที่จะนำไปปรุงอาหารให้ล้างหลายๆ ครั้ง นอกจากจะลดหรือขจัดสารอออกไปได้แล้วยังเป็นการลดความสกปรกที่ติดอยู่บนเนื้อหมูลงไปด้วย ถ้าเป็นหมูบดคงจะไม่สามารถล้างได้เราควรจะหลีกเลี่ยงโดยการนำมาบดเองจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >