ฉบับที่ 252 ส่งผลไม้กับบริษัทขนส่ง คนสั่งไม่ได้กินเพราะเหลือแต่เปลือกอยู่ในกล่อง

        การสั่งผลไม้จากสวนเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกร รายได้ก็เข้าเกษตรกรโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เพียงแต่การส่งสินค้าจำต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภค        ภูผา เป็นเจ้าของสวนมังคุดชื่อดังย่านประจวบคีรีขันธ์ เขาส่งมังคุดให้ลูกค้า จำนวน 4 กล่อง โดยใช้บริการขนส่งของ บริษํทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกค้าของเขาแจ้งมาว่า ได้รับสินค้าแล้ว แต่ว่ากล่องมังคุดที่ส่งมาชำรุด และพบว่าเหลือแต่เปลือกมังคุดอยู่ในกล่อง เขาจึงให้ลูกค้าถ่ายรูปกล่องที่ชำรุดและเปลือกมังคุดมาให้เขา เมื่อได้รับหลักฐานจากลูกค้าแล้ว ภูผาจึงสอบถามไปยังบริษัทฯ  ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการความรับผิดชอบ แต่ทางบริษัทฯ ตอบเขามาว่าจะชดเชยให้เฉพาะค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายตามจริงเท่านั้น ไม่รับผิดชอบค่าขนส่ง เขาจึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้า ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าเสียโอกาส และสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทคู่กรณีคุณภูผา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมี           ต่อมาทางบริษัทขนส่งคู่กรณีทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายังมูลนิธิฯ และเสนอชดเชยค่าสินค้าและค่าบริการขนส่งให้ผู้ร้องตามที่เสียหายจริง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,482 บาท ซึ่งคุณภูผายอมรับตามข้อเสนอของทางบริษัทฯ แต่ก็รู้สึกว่าทำไมต้องให้เสียเวลาใช้สิทธิในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคก็ควรได้รับการคุ้มครองทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 64

ปี 2564 ยังคงเป็นปีแห่งช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดของโควิด 19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ซึ่งไม่เพียงชีวิตต้องปรับเปลี่ยนสู่วิถีใหม่และอยู่กันอย่างหวาดระแวงโรคภัย กรณีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามเข้ามาสู่ชีวิตวิถีใหม่ด้วยเช่นกัน หากเราเผลอไผลไม่ทันระวังตัว หรือแม้จะระวังมากแล้วก็ตาม ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือหากเขาจะโกง อยู่เฉยๆ เขาก็โกง ผู้บริโภคจึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิและไม่ปล่อยให้ “ผู้ร้ายลอยนวล” ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำตัวเองให้กลายเป็นเหยื่อเพราะความละโมบหรือไม่ทันเกมคนโกง         มาดูกันว่า ปี 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง (สถิติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2564) ปัญหา SMS ก่อกวน พุ่งอันดับ 1         อันดับหนึ่งของปี 2564 คือ ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 1,816 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมา คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 และอันดับที่ 3  คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 400 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 (จากจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด 3,321 ราย)         ร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พบจากการได้รับข้อความ SMS ก่อกวน ที่มีเนื้อหาหลอกลวงให้ใช้บริการแอปฯ กู้เงิน ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน รวมถึงเนื้อหาอนาจาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเสียทรัพย์สินได้ เบื้องต้นทาง กสทช.สั่งค่ายโทรศัพท์มือถือบล็อกข้อความแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564  ปัญหาหนี้และทวงหนี้ไม่เหมาะสม ประกันและประกันโควิด เข้าป้ายมาเป็นอันดับสอง         ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 นั้น ประกอบไปด้วยหนี้จาก ธุรกิจเช่าซื้อ หนี้นอกระบบ สินเชื่อและบัตรเครดิต เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19         โดย “ประกันโควิด” เป็นปัญหาที่มีผู้เสียหายมากและเป็นประเด็นในสังคมที่กำลังร้อนแรง คือ การจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน ขัดกับคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือบริษัทประกันบอกยกเลิกสัญญา และบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องขอรับชำระหนี้กับกองทุนประกันภัยวินาศภัยที่เข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อจากบริษัทประกัน         กรณีในเรื่องของประกันภัย มพบ.ยังพบปัญหามิจฉาชีพหลอกให้ผู้บริโภคต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์แต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ โดยมีผู้เสียหายที่มาร้องเรียน 14 คน กล่าวว่า มีการแอบอ้างเป็นบริษัทประกันโทรมาแจ้ง เรื่องอู่รถยนต์ที่อยู่ในเครือบริษัทประกันไม่ครอบคลุมกับอู่ใกล้บ้าน ทำให้ต้องไปซ่อมที่ไกลๆ ทำให้ต้องยินยอมต่อกรมธรรม์         นอกจากนี้ แอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย ก็เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากเช่นเดียวกัน โดยร้องเรียนเข้ามามากขึ้นในเดือนตุลาคม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ) ลักษณะของแอปฯ กู้เงิน คือ ต้องจ่ายเงินก่อนกู้ หรือ มีดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องชำระคืนภายใน 6-7 วัน ถ้าลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ครบหรือไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้จะโทรหาทุกคนที่มีรายชื่อในโทรศัพท์ อันดับสาม คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป         ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด จำนวน 76 เรื่อง รองลงมา คือ มีปัญหาการขอเงินคืน ไม่พอใจบริการ การโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาเกิดจากการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ เมื่อจัดส่งสินค้ามาให้พบว่าสินค้าชำรุด และไม่ตรงปก ดังนั้นผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ควรต้องเป็นผู้แก้ไขจัดการร้านค้าออนไลน์ที่พบปัญหา การแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค         จากประเด็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนข้างต้น มพบ. และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค เช่น กรณีผู้บริโภคได้รับข้อความ SMS ก่อกวนนั้น มพบ.ได้เข้าพบกับรองเลขาฯ กสทช. ติดตามความคืบหน้าและยื่นข้อเสนอให้        1. เปิดเผยคำสั่งของ กสทช. ที่กำหนดให้ค่ายมือถือแก้ไขปัญหา SMS         2. ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ        3. ลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกรณีบริษัทประกันโควิดจ่ายค่าสินไหมล่าช้า มพบ.พาผู้เสียหายเข้าพบ คปภ. เร่งให้บริษัทประกันดำเนินการ        1. เร่งรัดบริษัทจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ซื้อประกันทุกรายทันที        2. ตรวจสอบและลงโทษบริษัทประกันที่ประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหม        3. พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทประกันรับเอกสารเคลมค่าสินไหมผ่านช่องทางออนไลน์ประเด็นปัญหาแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย มพบ. เสนอให้        1. ธปท.ควรจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาต โดยทำเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์        2. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กวาดล้างหรือระงับไม่ให้เปิดแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมายทั้งหมด         ต่อกรณีปัญหาการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ มพบ.ได้ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 21 ข้อ ร่วมกัน 19 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ สร้างความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอล และติดตามผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานให้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ         ทั้งนี้ปัญหาผู้บริโภคที่พบทั้งหมด ภาครัฐจะต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและรวดเร็ว ทุกฝ่ายจะต้องแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีแหล่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจเช็คข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุดการดำเนินคดีเพื่อผู้บริโภค                     ในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึง 2564 มีสถานการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคหลายกรณี ซึ่ง มพบ. มีการฟ้องคดีทั้งลักษณะคดีปกครอง ได้แก่ การควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ของส่วนแบ่งตลาด กรณีดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ขอรวมธุรกิจใช้อำนาจที่เหนือกว่าในการต่อรองเชิงผลประโยชน์ด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม      ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ (คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ)         คดีทั่วไป ได้แก่ การฟ้องคดีฉ้อโกงขายที่นอนยางพารา การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถชน การฟ้องคดีผู้บริโภคกรณีอสังหาริมทรัพย์ และการช่วยเหลือด้านคดีแก่กลุ่มสามล้อผู้เสียหายจากการถูกสหกรณ์ฉ้อโกง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ทัวร์เกาหลีอลวนจนไม่ได้ไป

        การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ หลายท่านนิยมจัดการธุระต่างๆ ด้วยตนเอง แต่อีกหลายคนก็เลือกใช้บริการบริษัททัวร์เพราะคิดว่าน่าจะสะดวกกว่า เสียค่าธรรมเนียมบ้างแต่ไม่ต้องกังวลปัญหาที่อาจคาดไม่ถึงหากต้องจัดการเอง แต่กระนั้นปัญหาคาดไม่ถึงจากการใช้บริการบริษัททัวร์ก็อาจเกิดขึ้นได้ เราลองมาดูกัน          เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของคุณสายชลที่มาขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค         อย่างที่หลายท่านทราบ เกาหลีกับไทยนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดี จนทำให้คนไทยไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าเข้าประเทศเกาหลีสำหรับการท่องเที่ยว และเกาหลีนั้นก็มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ สวยงาม จนคนไทยหลายคนใฝ่ฝันจะไปท่องเกาหลีกันสักครั้ง แม้ว่าระยะหลังจะมีข่าวคราวที่ทำให้ภาพลักษณ์ของนักเที่ยวไทยเสียหายเพราะบางคนไม่ได้ตั้งใจไปเที่ยวแต่แอบเข้าไปเพื่อทำงานแบบผิดกฎหมาย จนเกาหลีเริ่มเข้มงวดจับตานักเที่ยวไทยมากขึ้น แต่มนต์เสน่ห์ของเกาหลีก็ยังไม่จางหายไป คุณสายชลก็เป็นหนึ่งในนั้น          คุณสายชลตั้งใจไปเกาหลีโดยใช้บริการของบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ในที่นี้ขอเรียกว่าบริษัทซี  และได้จ่ายค่าดำเนินการต่างๆ ไปทั้งสิ้น 30,000 บาท ด้วยการโอนผ่านบัญชีธนาคาร ทุกอย่างเรียบร้อยดีจนถึงวันเดินทาง เหตุไม่คาดฝันก็เกิด เมื่อพนักงานบริษัทซีที่มาดำเนินการติดต่อประสานงานกับเคาน์เตอร์สายการบิน ที่จะพาคุณสายชลไปเกาหลีนั้น ไม่สามารถตอบคำถามกับพนักงานของสายการบินได้ อีกทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางก็มีความผิดพลาด จนสุดท้ายทางสายการบินปฏิเสธไม่ให้เธอเช็คอินและยกเลิกตั๋ว ซึ่งความเสียหายนี้ไม่เพียงแค่อดไปเที่ยวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงค่าเดินทาง ค่าที่พัก ตลอดจนการลาหยุดงานและนัดหมายต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนทั้งหมด เธอจึงเรียกร้องขอให้บริษัทซีคืนเงินทั้งหมดและชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติมด้วย         “ตอนที่ติดต่อไป ทางบริษัทฯ ปฏิเสธว่าทำดีที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตามจะโอนเงินคืนให้พร้อมระบุวันที่ชัดเจน แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่เป็นไปตามที่ตกลง บริษัทฯ อ้างว่า สายการบินไม่ยอมโอนเงินคืนบริษัทฯ และผัดผ่อนเรื่อยมา จนเข้าเดือนที่หกแล้ว  ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้แนะนำให้คุณสายชลดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน เพราะมีส่วนที่เข้าข่ายคดีอาญาได้ และจะช่วยดำเนินการเจรจากับทางบริษัทต่อไปเพื่อขอให้คืนเงินค่าดำเนินการท่องเที่ยว 30,000 บาท ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างเจรจา อย่างไรก็ตาม เราขอนำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวด้วยบริษัททัวร์ แม้จะมั่นใจบริษัททัวร์แค่ไหน แต่ก็อย่าวางใจ ควรตรวจสอบเอกสารต่างๆ ให้มั่นใจอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ได้เดินทางอย่างสะดวกโดยเฉพาะประเทศเกาหลี ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจสอบการเข้าเมืองที่ค่อนข้างเข้มงวดกับนักเดินทางชาวไทย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ผู้เสียหายจากการซื้อทัวร์ อีแอลซี

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อโปรแกรมทัวร์เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ กับ บริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จำกัด และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อนางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว(กทท.) เขตปทุมวัน ขอให้พิจารณาทบทวนกฎหมายและหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว  โดยมีข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้กรมการท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล นำไปพิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้ซ้ำอีก และให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการด้วยความสุจริต อาจารย์เรณู เวชรัชต์พิมล  ข้าราชการบำนาญ หนึ่งในผู้เสียหายเปิดใจให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉลาดซื้อว่า         ที่เรามาร้องเรียน คือเกี่ยวกับบริษัททัวร์ที่เป็นข่าวชื่อบริษัท ELC ทัวร์ ซึ่งผู้บริหารก็ถูกจับกุมแล้วจริงๆ เราไม่มาที่นี่เลยก็ได้และหลายๆ คนก็ไม่อยากเป็นข่าวแต่ที่เรามาเพราะเราเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังคุ้มครองประชาชนได้ไม่ดี เราอยากจะทำเพื่อส่วนรวมเพื่ออนาคตว่ามันจะต้องมีกฎหมายที่ดีกว่านี้เพื่อป้องกันสิทธิของประชาชนเราจึงมาเรียกร้องในวันนี้         เราซื้อทัวร์ไปเที่ยวประเทศแคนาดาโอนเงินให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 แต่เขาไม่ออกทัวร์ให้ กำหนดเดินทางประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาก็เลื่อนมาเรื่อยๆ และไม่มีการติดต่อกลับมา  เราก็ติดต่อไปวิธีการที่เราจะเข้าไปติดต่อ คือต้องเข้าไปในแบรนด์ติดต่อทักเขาไปเขาก็ไม่คุยกับเรา แต่เป็นการคุยสื่อสารฝ่ายเดียว ติดต่อเขาได้เฉพาะทางแบรนด์เท่านั้น แล้วก็อาจจะเข้าไปทักพูดคุยกันในกลุ่มแบรนด์ เอาเข้าจริงๆ เขาก็ไม่คุยไม่ตอบ เราก็เข้าไปแต่นานๆ ครั้งเขาถึงจะคุยกับเราบางทีก็มีการหลอกว่าส่งเจ้าหน้าที่มาแล้วมาทำวีซ่า แล้วเจ้าหน้าที่ก็มาหลอกอีกว่าวีซ่าเต็มหมดแล้วจองได้แค่ 5 คนเราก็ต้องเข้าไปดูเองปรากฏว่าว่าง คือมันโกหกเป็นขบวนการเจ้าหน้าที่ก็โกหก เราต้องติดต่อไปเองทุกครั้งเลยมาคิดว่าที่เขาทำทัวร์ถูกได้เป็นเพราะว่าเขาไม่ต้องจ้างเจ้าหน้าที่หลายคน เขาจะส่งเรื่องมาทาง E-Mail  เช่น คุณกรอกวีซ่า คุณตรวจชื่อนะว่าครบถ้วนไหม ทั้งหมดเขาจะส่งมาให้เราทาง E-Mail เราต้องมาเช็คเอง ทำไมอาจารย์ถึงเลือกใช้บริการบริษัทฯ นี้         เพราะว่าพี่สาวเคยไป ไปมาเป็นสิบครั้งได้ น้องสาวก็ไป ลูกชายลูกสะใภ้ก็ไปก็ไม่มีปัญหา เราก็เลยมั่นใจ เราเองก็เพิ่งจะเข้ามาซื้อทัวร์เมื่อเดือนมกราคมเป็นครั้งแรกเป็นลูกค้าใหม่เพิ่งจะเริ่มมีปัญหาจากที่เราซื้อ  ซึ่งเรารู้ช้าเราควรจะรู้เร็วกว่านี้ ถ้ากรมการท่องเที่ยวปรับปรุงกฎหมายและเผยแพร่ข้อมูลให้เร็วกว่านี้ และเตือนเราว่าบริษัทนี้กำลังอยู่ในข่ายกำลังพิจารณา แต่ไม่ได้มีการเตือนเลย มันมีเรื่องตั้งแต่ก่อนเราซื้อทัวร์แล้ว อย่างเพื่อนนี่มาซื้อเมื่อเดือนมีนาคมนี่เอง(กรมการท่องเที่ยวได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ตั้งแต่ปลายปี 2561 และต่อใบอนุญาตฯ ให้บริษัทฯ เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา) มารวมกลุ่มผู้เสียหายกันได้อย่างไร         พี่นี่แหละเป็นตัวตั้งตัวตี พี่เป็นนักวิชาการที่ทำงานช่วยชาวบ้านอยู่แล้ว รู้จักมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รู้จักคุณสารี คุณรสนา รู้จักหลายๆ คนอยู่แล้ว ก็เลยพากลุ่มผู้เสียหายมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และไม่ได้ไปที่อื่นเลยเพราะเชื่อมั่นในที่นี่  พี่พูดคุยกันในกลุ่มแบรนด์ว่าพี่มีทนายฟรีก็มีคนสนใจทักเข้ามาในกลุ่มไลน์ ตั้งกลุ่มไลน์กันที่เป็นผู้เสียหาย มีคนเห็นเขาก็ไปชวนกันมาในกลุ่ม นัดให้มาเจอกันที่มูลนิธิและมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร เราเริ่มมาหามูลนิธิเมื่อประมาณวันที่ 7 มิถุนายน แต่ว่าเราคุยกันในกลุ่มไลน์ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ให้ศูนย์พิทักษ์สิทธ์ช่วยดำเนินการให้และก็มายื่นเรื่องกันในวันนี้ ก่อนหน้าที่จะมาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือเคยดำเนินการอย่างไรบ้าง         ในส่วนตัวเคยรวมกลุ่มมายื่นเรื่องที่กรมการท่องเที่ยว เขาก็รับเรื่องแล้ว ขั้นตอนตอนนี้เขาบอกว่าจะส่งเรื่องไป สคบ. แล้ว ทางกรมฯ เขาก็ตรวจสอบให้เรียบร้อยแล้วว่าเรื่องของพี่ส่งไปที่ สคบ. แล้ว มีความคาดหวังอย่างไร        ความคาดหวังก็อยากให้ปรับปรุงกฎหมาย ก็คือดีใจว่ากรมการท่องเที่ยวเขากำลังจะปรับกฎหมาย เราขอมามีส่วนร่วมในการรับฟัง เขาคงจะแจ้งทางมูลนิธิไป อันที่สองก็คืออยากให้ทำงานเชิงรุกคือ เผยแพร่ เหมือนอย่างคำถามที่ถามบ่อย อย่างวันนี้เอาไปพิมพ์ก็ได้ สำหรับคนที่เจอทัวร์ประเภทแบบนี้ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าคนอาจจะไม่ได้เชื่อถือพี่มากเท่ากับที่เผยแพร่อยู่ใน Web Side ของการท่องเที่ยว จุดประสงค์หลักที่มาในวันนี้คือเพื่อส่วนรวม ในส่วนเรื่องค่าเสียหายก็เป็นเรื่องของตำรวจเป็นเรื่องทางคดี อยากฝากอะไรถึงคนอื่นๆ ที่เจอปัญหาแบบเดียวกับเรา         ถ้าเห็นว่ามีข้อผิดปกติอะไรไม่เป็นไปตามข้อตกลงให้รีบแจ้งที่กรมการท่องเที่ยว    มาปรึกษาที่นี่เลยเขามีอะไรที่จะช่วยเรา อย่างพี่ไม่รู้ว่ามีที่นี่ ถ้ารู้ตั้งแต่แรกพี่คงจะมาเร็วกว่านี้ รู้ว่ามีหน่วยงานท่องเที่ยวที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ไม่รู้ว่ามีกรมการท่องเที่ยวโดยตรงก็เลยไม่ได้มาที่นี่ตั้งแต่แรก เรื่องของเราจะดำเนินการต่อไปอย่างไร         ก็คิดว่าตำรวจคงจะดำเนินการ อันที่หนึ่งก็คือว่าคนทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย พี่เชื่อว่ามันไม่ได้เป็นการทำผิดคนเดียวมันน่าจะมีขบวนการ และใครก็ตามที่มาทำผิดกฎหมายที่ไม่ได้มีสิทธิ์ขายทัวร์ก็ควรจะโดน เพราะพี่เชื่อว่าเขาไม่ได้ทำแบบจิตอาสาหรอกเขาต้องได้ผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางใดทางหนึ่งในเรื่องผลประโยชน์ที่เขาได้แล้ว พี่คิดว่าคนทำผิดที่เป็นเจ้าของทัวร์ควรจะถูกลงโทษฉ้อโกงประชาชน ยึดทรัพย์ได้เท่าไหร่ก็เอามาแบ่งปันกลับไปเป็นสัดส่วนให้ผู้เสียหายคิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้นค่ะ อยากฝากอะไรถึงกรมการท่องเที่ยวบ้างคะ         อยากให้กรมการท่องเที่ยวมีคำแนะนำขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ ในการที่จะเลือกบริษัททัวร์แต่ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทนะเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ควรจะบอกว่าเราควรจะตรวจสอบอะไรก่อนจะซื้อทัวร์ 1 2 3 4 5 ต้องทำอย่างไร ถ้าไม่แน่ใจต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดผิดไปจากอันนี้ขอให้ติดต่อไปที่ไหน ทำในเชิงรุกมี Facebook ไหม มีอะไรของกรมไหม ให้คนได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ให้ความรู้ เพราะกฎหมายมันอ่านแล้วเข้าใจยากเพราะมันมี พรบ. และมันยังมีอนุบัญญัติ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าต้องไปหาอ่านตรงไหน ยังไม่เคยอ่านเหมือนกัน เพราะถ้าเป็นกฎหมายคนก็รู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่อ่านหรอก อยากให้ทำให้เข้าใจได้ง่าย คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ค่ะ ผู้เสียหายอีก 1 ท่าน คุณจินตนา  ดุลยพัชร์ อาชีพรับราชการเช่นกัน เล่าให้ฟังคล้ายกับท่านแรกว่ารู้จักบริษัททัวร์นี้จากเพื่อนสนิท         เริ่มต้นคือรู้จักทัวร์นี้จากเพื่อนสนิทกัน เขาก็ไปเที่ยวอยู่แล้วเขาก็อยากจะชวนไปด้วย ก็เห็นว่าไม่มีอะไรก็เลยอยากไปเที่ยวพักผ่อนบ้าง ก็ซื้อทัวร์ไปเที่ยวกับเพื่อน นั่นเป็นครั้งแรกที่ซื้อทัวร์ของบริษัทนี้ เพื่อนเคยไปเที่ยวกับที่นี่อยู่แล้วและก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พี่ไม่ได้ทำอะไรเลยคือโอนเงินให้เพื่อนอย่างเดียวให้เพื่อนสมัครให้หมดเลย ติดต่อเจ้าของทัวร์ก็ไม่ได้ทำเองผ่านเพื่อนหมดเลย          ที่จองทัวร์ไว้คือแคนาดากับเมดิเตอร์เรเนียน เคยไปกับทัวร์นี้มาก่อนเคยไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลยแล้วราคาก็ถูกกว่าที่อื่นด้วย  เลยมั่นใจที่จะไปกับทัวร์นี้ แต่ไม่ได้จองเองจองผ่านเพื่อน เพื่อนจะเป็นคนติดต่อ บอกว่าถึงเวลาจ่ายเงินแล้วพี่ก็จะโอนเงินให้ จนถึงเวลาต้องไปแต่เขามาเลื่อน เขาจะมีแบรนด์เป็นกลุ่มปิดจ่ายเงินเสร็จถึงจะได้เข้าแบรนด์  ในแบรนด์ก็จะบอกการเคลื่อนไหว เช่น เก็บเงินค่าทัวร์นะ เราก็จะโอนเงินไป         จริงๆ พี่ต้องไปตั้งแต่เดือนมีนาคมแต่เขาเลื่อนพี่มา พอถึงกำหนดบริษัทก็ไม่ได้บอกอะไรเลยจัดกระเป๋า 3 รอบแล้วทำเรื่องลาราชการแล้วด้วย รอบแรกก็ยังมั่นใจเพราะว่าเขานัดเราไปทำวีซ่าเรียบร้อยแล้ว ทำเสร็จถึงเวลาเดินทางก็เงียบ รอบที่สองถึงเวลาก็มีการเลื่อนเราต้องเช็คจากแบรนด์ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาเลย ติดต่อกันทางแบรนด์อย่างเดียว ในแบรนด์เขาจะบอกว่ามีทัวร์ช่วงไหนก็ติดต่อกันกับเพื่อนว่าว่างช่วงไหนก็ไป  ตอนโดนยกเลิกก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีปัญหาด้วยตอนที่เขาเลื่อนรอบแรกพี่ต้องไปตามเอาพาสปอร์ตกลับเองเพราะพี่ต้องใช้ เผื่อมีอะไรขึ้นมา         รอบแรกที่เลื่อนก็รู้สึกไม่ดีกับบริษัทแล้วค่ะ เพราะว่าติดต่อเอาพาสปอร์ตกลับไม่ได้เลยจนต้องหาเองว่าจะไปเอาที่ไหนอย่างไร หาลู่ทางเองหมดเลย ก็โทรไปถามคนที่พาไปทำวีซ่าคือตอนแรกพาสปอร์ตอยู่กับเขาๆ ก็บอกว่าเอาไปส่งแล้วก็ถามว่าที่ตรงไหนพี่ก็ต้องขับรถไปตามต้องทำเองทุกอย่าง ในแบรนด์ก็จะมีกลุ่มที่ตั้งขึ้นมากันเขาก็แนะนำให้มีคนมาตอบ มาช่วยกันเยอะเลยคือคนอื่นก็เคยโดนแบบนี้ก็มาตั้งกลุ่มช่วยกัน เราเริ่มคิดว่าลูกค้าแค่เริ่มมีปัญหาเรื่องพาสปอร์ตคุณก็ไม่ช่วยเรา ก็คิดว่าคงต้องพิจารณาในการซื้อทัวร์ต่อ จ่ายเงินค่าทัวร์ไป 150,000 บาท 2 ทัวร์แต่ละทัวร์ก็โดนเพิ่มเงินไป 3 รอบ ช่วงแรกที่บอกว่าเราจ่ายเงินไปหมดแล้วก็บอกว่าจะพาไป แต่เพิ่มที่เที่ยวนะก็ให้จ่ายเงินเพิ่มก็จะทยอยเก็บทีละหน่อยเราก็จ่ายไป เพราะเงินส่วนใหญ่อยู่ที่เขาแล้ว ก็ไม่อยากมีปัญหา เราดำเนินการอย่างไรบ้างเมื่อเจอปัญหาที่เกิดขึ้น        คือรู้จักกับพี่สมศรีที่เป็นเพื่อนที่รู้จักกัน เขาจะเป็นคนที่เวลามีปัญหาเขาจะพยายามเรียกร้องให้มันถูกต้องชัดเจน รู้ว่าพี่เขาจะมีลู่ทางที่จะดำเนินการเรื่องนี้ คือทำอย่างไรให้เราได้สิ่งที่เราเสียหายกลับคืนมา ปรึกษากับเขาเพราะเราไม่เคยมีปัญหาแบบนี้    พี่ปรึกษาหลายคน ปรึกษาทนายที่เป็นพี่ชายด้วย พี่ชายแนะนำให้ไปหาสภาทนายความด้วยพี่ก็ไป ดำเนินการเองทุกอย่าง ต้องการทำอะไรก็ได้ให้สิทธิที่มี แล้วเรารู้ว่าเขาทำผิดกฎหมาย ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เขาชะงักไป พอรู้ว่าไม่ได้ไปทัวร์ก็ดำเนินการเลย พี่สมศรีแนะนำให้มาเจอคุณมลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่าช่วยเหลือได้แน่นอนเขาช่วยผู้บริโภคจริงๆ พอได้มีโอกาสมาคุยรู้สึกดีมาก คุยกับเพื่อนว่าบางคนเขาไม่มีใครฟังเราแต่คุณมลนั่งฟังและเข้าใจ พยายามถามเพื่อช่วยเหลือรู้สึกดีมากเลยเมื่อกลับไปหลังจากที่คุยกันแล้ว รู้สึกดีว่ามีคนรับฟังปัญหาของเราไปหลายที่แล้ว พี่ชายที่เป็นทนายยังบอกให้ทำใจเลย ความคาดหวังของพี่ที่มาในวันนี้         คือพี่ทำงานราชการและรู้ว่าคนที่อยากพึ่งพาเขาต้องการที่พึ่งอยู่แล้ว หรือแม้แต่พี่ที่ซื้อทัวร์นี่ก็เพราะรู้ว่าเขามีใบอนุญาตเลยซื้อ อยากให้องค์กรที่เราไปพึ่งพาในส่วนนโยบายที่มันมีปัญหาอยู่และทำให้เกิดการแก้ปัญหานี้ขึ้นมาได้ อยากให้ กกท. ได้รับฟังผู้เสียหายรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องมีนโยบายแนวทางในการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีปัญหาอีก ลดช่องว่างให้ได้และเป็นจังหวะที่ดีที่มีผู้เสียหายอยู่แล้ว มีตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเป็นช่วงที่เขาจะได้รับฟัง เช่น ในเรื่องของข่าวสารข้อมูลการ เข้าถึงข้อมูลของผู้มีปัญหาว่าจะรับรู้ได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้รับรู้เลยเราจะหาใครมาพึ่งถ้าไม่มีองค์กรรัฐ เพราะถ้าไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นเราก็ไม่เคยรู้เลยว่ามีหน่วยงานนี้อยู่ ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ตรวจสอบอย่างไรไม่รู้เลย หรือแม้แต่ว่าศูนย์ร้องเรียนมีไหมที่จะต้องรับฟังปัญหาของผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องคิดว่าจะซื้ออะไร มีเหตุมีผลอย่าซื้อที่ถูกเกินไป ถ้าคนที่เพิ่มเงินอยากไปเที่ยวถ้าทำได้ถูกต้องก็อยากจะให้ได้ไป เรื่องได้เงินคืนคาดหวังน้อยมากแต่สิ่งที่คาดหวังคืออยากให้มีการปรับปรุงระบบการทำงานขององค์กรที่ให้กับผู้บริโภคมากกว่า ให้เป็นบรรทัดฐาน คนอื่นจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเหมือนเรา อยากให้กรมฯ มีแนวทางหรือคำแนะนำอย่างไรสำหรับผู้บริโภค         อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูล เช่นบริษัทไหนที่มี Blacklist บริษัทไหนที่ทำถูกต้องนะ เช่น ขอใบอนุญาตถูกต้อง มีเวลาก็โพสต์เลยค่ะ Online ให้เห็นเลยว่ากลุ่มนี้ทำถูกต้องผู้บริโภคจะได้เลือกได้ ถ้าเกิดบางกลุ่มที่มีปัญหาว่ามีคนร้องเรียนก็ต้องโพสต์เหมือนกันว่ามีคนร้องเรียนนะ อย่างบริษัท ELC เคยมีปัญหามาก่อนหน้านั้นแล้วทำไมยังขายทัวร์ได้ ทำไมเราไม่รู้อย่างพี่มาเจอตอนมีนาคมซึ่งคนอื่นฟ้องแล้วพี่ยังไม่ทราบเลย ไปรอบแรกไม่มีปัญหาแต่เพิ่งมาชะงักช่วงนี้ บริษัทก็ไม่เคยมาคุยเรื่องค่าเสียหายเลยบางครั้งคุยเรื่องเงินไม่เป็นประโยคเลยเป็นแค่วลีว่าให้เพิ่มเงินเท่านั้น อยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคท่านอื่นที่มีปัญหาเหมือนเราแล้วก็ไม่กล้ามาร้องเรียน         ก็ให้คิดว่าตั้งใจทำอะไรที่มันถูกต้อง แล้วก็ต้องเชื่อว่าอย่างน้อยกฎหมายประเทศเราก็มี ถ้าเราคิดทำสิ่งดีๆ ไว้ให้กับลูกหลานให้กับคนที่จะเป็นรุ่นต่อไป คิดว่ามาได้เลย ต้องมาร้องเรียนให้หน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือว่าเขามีช่องว่างอะไรอยู่ ให้เขาไปพัฒนา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เลิกสัญญาอบรมคอร์สซื้อขายหุ้น

        การลงทุนในตลาดซื้อขายหุ้นหรือที่เรียกกันว่า เทรด เป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งในสังคมปัจจุบันให้ความสนใจ เพราะถ้าลงทุนได้ดีก็ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้นหลายคนจึงสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งจากการทดลองด้วยตัวเอง หรือสมัครเข้าคอร์สอบรมต่างๆ ที่มีการนำเสนอในหลากหลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการเข้าคอร์สอบรมเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ไม่ได้รับประกันว่า ผู้เข้าอบรมจะสามารถเทรดได้เก่งอย่างที่หวัง และหลายครั้งการลงทุนเข้าคอร์สอบรมก็ถูกเรียกเก็บเงินในระดับที่สูงมากจนน่าตกใจ ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำสัญญาอบรมควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน        คุณมนันยา พบโฆษณาบนเฟซบุ๊คว่า มีงานสัมมนาฟรีของบริษัทหนึ่ง ซึ่งขอเรียกว่า บริษัทเอ็ม โดยมีหัวข้อที่ทำให้คุณมนันยาสนใจเข้าร่วมในงานสัมมนาดังกล่าว คือ “หุ้นเด็ดกำไร 10 เด้ง ด้วย OPTIONS” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่ จึงไปเข้าร่วมอบรมฟรีในวันที่ระบุบนโฆษณา หลังจบงานสัมมนา ทางผู้จัดงานคือ บริษัทเอ็มมีการนำเสนอขายคอร์สอบรม โดยหากสมัครเป็นสมาชิกในราคาปีละ 79,000 บาท จะสามารถอบรมในวันรุ่งขึ้นของการสัมมนาฟรีในวันนั้นได้ ในราคาเพียง 750 บาท และพิเศษไปอีกสำหรับ 10 คนแรก จะได้ส่วนลดถึง 10,000 บาท จากราคา 79,000 จะเหลือเพียง 96,000 บาทเท่านั้น        คุณมนันยา ซึ่งยังอยากจะอบรมต่อในวันถัดไป เพราะเหมือนที่อบรมฟรีไปนั้นยังไม่ค่อยโดนเท่าไร จึงสอบถามกับพนักงานที่ขายคอร์สอบรม ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคา 69,000 บาทนี้ สามารถผ่อนชำระได้ 0% ในเวลา 10 เดือน การเป็นสมาชิกแบบรายปีจะทำให้ประหยัดเงินเมื่อต้องการเข้าร่วมคอร์สอบรมต่างๆ จากราคาปกติที่ 3,000 บาทต่อครั้ง จะเหลือเพียงราคาแค่ 750 บาทเท่านั้น คุณมนันยาในขณะนั้นกำลังสนใจราคาที่ลดพิเศษถึง 10,000 บาท จึงรีบสมัครสมาชิกรายปีทันทีเพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่ใน 10 คนแรก โดยชำระผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย        ต่อมาวันรุ่งขึ้นที่คุณมนันยาสามารถใช้สิทธิราคาพิเศษ 750 บาทได้นั้น คุณมนันยาได้มีเวลาคิดทบทวนจนรอบคอบแล้วพบว่า การลงทุนครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่า จึงติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อบอกยกเลิกสัญญาอบรมและไม่ให้เรียกเก็บเงินจำนวน 69,000 บาท พร้อมทั้งส่งหนังสือถึงบริษัทเอ็มเพื่อยกเลิกสัญญาพร้อมขอเงินคืน อย่างไรก็ตามคุณมนันยาไม่มั่นใจว่า การทำเรื่องยกเลิกดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ จึงปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการดังนี้                1.แนะนำให้คุณมนันนยาทำหนังสือถึงบริษัทบัตรเครดิตเพื่อแจ้งการเลิกสัญญาซื้อคอร์สอบรม โดยจะชำระเฉพาะในส่วนที่ได้ใช้จ่ายไปจริงคือ การอบรมในวันที่ได้สิทธิพิเศษ แต่ไม่ชำระในส่วนที่ยกเลิกสัญญา คือ 69,000 บาท                2.เนื่องจากในการโฆษณาเรื่องการอบรม ทางบริษัทเอ็มให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า เป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตของบริษัทเอ็ม ว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่                ต่อมาได้รับแจ้งจาก กลต.ว่า บริษัทเอ็มไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. หากบริษัทเอ็มมีการประกอบธุรกิจที่มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมในการซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า จะถือว่าผิดกฎหมาย และจะมีการนำชื่อของบริษัทลงในรายการ investor alert list ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ                3.ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องการเรียกเก็บเงินของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต ทั้งที่มีจดหมายแจ้งบอกเรื่องยกเลิกสัญญาแล้ว                4.ประสานงานเรื่องการยกเลิกสัญญาและการขอเงินคืน ระหว่างผู้ร้องและบริษัทเอ็ม ในที่สุดสามารถช่วยผู้ร้องเรียนในการขอเงินคืนได้                การซื้อคอร์สอบรมใดๆ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มความรู้เรื่องการลงทุน ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุน ว่าอาจทั้งได้ผลดีและไม่ดี ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ทวงหนี้โหดร้องเรียนได้แล้วนะ

หลายท่านคงหงุดหงิดรำคาญใจจากการถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายทวงหนี้ (พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558) ออกมาแล้วก็ตาม ก็ยังมีเจ้าหนี้ทวงถามหนี้แบบข่มขู่คุกคาม และมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ ถ้าเราเป็นหนี้แล้วถูกทวงถามแบบสุภาพชนถือว่าปกติ แต่ผู้ร้องรายนี้ไม่ได้เป็นหนี้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่บริษัททวงหนี้โทรมาตามเลย จะทำอย่างไรดี        คุณภูผาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ถูกเจ้าหน้าที่บริษัททวงหนี้แห่งหนึ่งโทรศัพท์มาทวงถามหนี้ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ลูกหนี้ชื่อคุณดวงรัตน์(นามสมมติ) เป็นคนที่คุณภูผาไม่รู้จัก ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเอง ซึ่งคุณภูผาก็งงว่าทำไมโทรศัพท์มาทวงที่ตนเอง ดวงรัตน์เป็นใครตนเองไม่ได้รู้จักแม้สักนิด การทวงถามนี้คุณเจ้าหน้าที่ของบริษัทไม่แสดงตนว่าชื่อ-นามสกุลอะไร มาจากบริษัทอะไร เมื่อคุณภูผาขอให้แจ้งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานคนดังกล่าว เขาก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ ทั้งนี้ยังแสดงวาจาไม่สุภาพ ใช้ถ้อยคำหยาบคาบ และข่มขู่คุกคามอีกด้วย คุณภูผาปฏิเสธว่าไม่รู้จักลูกหนี้คนดังกล่าวและตนเองก็ไม่เคยเป็นหนี้บัตรเครดิตใคร จึงวางสายไป  แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทยังโทรศัพท์มาทวงถามซ้ำๆ อีกหลายครั้ง จนเหนื่อยใจ คุณภูผาจึงตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาทวงหนี้คือ 02-7912800 จากเว็ปไซด์ www.google.com พบว่าคือเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไอคอน แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการทวงถามหนี้ของธนาคาร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณภูผาได้ทำหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขอให้แก้ไขพฤติกรรมการทวงหนี้ และแสดงความรับผิดชอบโดยมีหนังสือขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรให้ นอกจากนี้ยังทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขอให้ดำเนินการกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ เวลาผ่านมาหลายเดือนคุณภูผาไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร หรือผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเลย จึงปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่าควรดำเนินการต่ออย่างไรดีประเด็นนี้การกระทำของบริษัททวงหนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 (1) ห้ามข่มขู่คุกคาม บทลงโทษอยู่ในมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ (2) ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ บทลงโทษอยู่ในมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ สำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถานีตำรวจนครบาล สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอและสถานีตำรวจภูธรทุกท้องที่        ผู้ร้องอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงมีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัท เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมีหนังสือถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามผลการดำเนินการกรณีคุณภูผา         สถานการณ์ปัจจุบัน จากการที่ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ระดับประเทศ พบว่าในแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทวงถามหนี้ค่อนข้างน้อย หรือบางจังหวัดไม่มีเรื่องร้องเรียนเลย ทำให้คณะกรรมการฯ ระดับประเทศเข้าใจว่าลูกหนี้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ และบริษัททวงหนี้มีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมีลูกหนี้อีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกบริษัททวงถามหนี้ข่มขู่ คุกคาม และมีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านที่พบเห็นหรือถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่แนะนำไว้ข้างต้น เพื่อให้บริษัทที่กระทำผิดกฎหมายถูกลงโทษ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ข้องใจทำไมบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินไม่แจ้งการเลื่อนเที่ยวบิน

ปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร มีบริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เลือกมากมาย หนึ่งในผู้ให้บริการที่นิยมกันในเวลานี้ คือ ทราเวลโลกา(Traveloga) ซึ่งมีผู้ร้องรายหนึ่งปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ควรทำอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า คุณตุลยา ใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินกับ ทราเวลโลกา ทั้งหมด 3 ครั้ง สองครั้งแรกพบปัญหาว่า เมื่อสายการบินต้องเลื่อนเวลาการเดินทาง คุณตุลยาจะไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนจาก ทราเวลโลกา เลย เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอไปตามตารางเวลาบินแต่พบว่า สายการบินประกาศเลื่อนการเดินทาง เมื่อสอบถามกับสายการบินว่าทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้า “สายการบินแจ้งว่า ได้บอกข้อมูลเรื่องเลื่อนการเดินทางกับทราเวลโลกาแล้ว” เหตุดังกล่าวทำให้คุณตุลยาต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินหลายชั่วโมง  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน จองตั๋วเที่ยวบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เวลา 21.40 น. ครั้งนี้อาศัยว่ามีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เลยโทรไปสอบถามกับสายการบินเอง พบว่าเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางเป็น 20.35 น. ซึ่งถ้าไม่สอบถามเองเธอคงต้องพลาดโอกาสขึ้นเครื่องบินแน่ๆ  ทางคุณตุลยาอยากให้ทางทราเวลโลกาปรับปรุงเรื่อง บริการแจ้งเตือนลูกค้า และไม่อยากพลาดอีกเป็นครั้งที่สาม แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ประสานไปที่ ทราเวลโลกา ผ่านทางระบบแชทหน้าเว็บไซต์ พนักงานให้ข้อมูลว่า ทราเวลโลกา มีระบบเรื่องการแจ้งเตือนเมื่อมีการเลื่อนเที่ยวบิน  โดยปกติสายการบินจะแจ้งตรงต่อผู้โดยสารเอง และหากแจ้งผ่านมาทางทราเวลโลกา บริษัทจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านทางอีเมล ทั้งนี้ทราเวลโลกา อยากทราบข้อมูลผู้ร้องเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้คุณตุลยาไม่อยากเปิดเผยข้อมูลกับทราเวลโลกา เพราะเกรงว่า อาจมีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตามคุณตุลยาสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ใครเป็นฝ่ายผิด ผู้โดยสารหรือทราเวลโลกา หากขึ้นเครื่องไม่ทัน เรื่องนี้ต้องดูที่เงื่อนไขการให้บริการของตัวแทน หากบริษัทตัวแทนมีภาระหน้าที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ บริษัทก็เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่แจ้งเตือน สำหรับกรณีทราเวลโลกา ทางบริษัทแจ้งว่า มีระบบแจ้งสองแบบ คือ สายการบินแจ้งเองกับสายการบินแจ้งผ่านทราเวลโลกา  ก็มองได้ว่าทราเวลโลกาเป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกค่าเสียหายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไม่พอใจบริการบริษัทหาคู่ ทำอะไรได้บ้าง

บริการแม่สื่อหรือการหาคู่ดูตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีมาแต่โบราณ เพียงแค่ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โตเช่นปัจจุบัน มีการประมาณการว่า ธุรกิจจัดหาคู่ เฉพาะตลาดเมืองไทยนั้น มูลค่าปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวไปตลอด แต่จะเที่ยวไปค้นหาเองอาจไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  ธุรกิจนี้จึงตอบสนองชีวิตคนเหงาที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้บริการที่น่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ให้ได้มาเจอกัน เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงล้านบาทคุณลัดดาเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจบริการจัดหาคู่  โดยก่อนจะมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เธอได้จ่ายเงิน 40,000 บาทให้แก่บริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเธอตรวจสอบแล้วว่า มีชื่อเสียงพอสมควรตามคำอ้างของพนักงานที่ว่า เคยออกรายการโทรทัศน์และมีการรับรองธุรกิจจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่จ่ายนี้เป็นแพ็กเกจที่จะได้รับคำแนะนำให้ออกเดท(นัดพบ) กับบุคคลที่ทางบริษัทคัดเลือกจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยรับรองว่าจะพยายามหาผู้ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการที่คุณลัดดาได้เคยตอบแบบสอบถามไว้ “ก่อนจะมีเดทแรก บริษัทส่งโปรไฟล์คู่เดทมาให้ดิฉันดู ต้องบอกว่า ไม่ตรงกับความต้องการที่ดิฉันเคยทำสัมภาษณ์ไว้ แต่พนักงานก็พยายามโน้มน้าวว่า ส่วนที่ไม่ตรงกับสเปคของคุณนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิตคู่”เมื่อได้พบกันจริง คุณลัดดาผิดหวังมากกับคู่เดทที่บริษัทเลือกให้ เพราะเขาไม่เพียงไม่ตรงกับคนที่ใช่ เขายังเป็นผู้ชายที่ทำในสิ่งที่เธอเคยให้ข้อมูลไว้กับบริษัทว่า เธอไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เอามากๆ เธอจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดในการเจรจาด้วยตัวเองนั้น เธอได้รับคำตอบว่า บริษัทจะคืนเงินให้ส่วนหนึ่ง แต่เธอไม่ยินยอม บริษัทก็ขอเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทคืนเงินให้ทั้งหมด คุณลัดดาต้องเซ็นยินยอมในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษว่าจะไม่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด เรื่องนี้ทำให้คุณลัดดาเห็นว่า ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าเพราะเหตุนี้เมื่อตอนที่เธอค้นหาข้อมูลในคราวแรก จึงไม่เคยมีเรื่องการร้องเรียนบริษัทนี้ในสื่อใดๆ เลย เธอมองว่าทำให้เธอเสียโอกาสในการพิจารณาเข้าใช้บริการสำหรับเรื่องที่คุณลัดดาขอคำปรึกษามีอยู่ 2 ประเด็น1.สามารถขอรับเงินคืนทั้งหมด โดยไม่เซ็นสัญญาเรื่องห้ามเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่2.สามารถเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะต้องเสียเวลาไปนัดพบกับบุคคลที่ไม่ใช่ตามที่เคยให้ข้อมูลแก่บริษัทไว้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้ผู้ร้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขอตอบคำถามทั้งสองข้อไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น กรณีนี้เป็นการซื้อขายบริการ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา คู่สัญญามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้ กรณีที่บริษัทมีเงื่อนไขว่า จะคืนเงินทั้งหมดหากยินยอมเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล บริษัทสามารถทำได้ และถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษา สามารถนำผลของคดีมาเผยแพร่ได้ เงื่อนไขนี้เป็นอันตกไป ส่วนในเรื่องของค่าเสียหาย ผู้ร้องสามารถเรียกเพิ่มเติมเป็นค่าเสียเวลา ค่าเดินทางได้ตามที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคุณลัดดาฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจใช้บริการธุรกิจจัดหาคู่ ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการที่จะต้องออกไปพบกับคู่เดท เพราะอาจจะเสียความรู้สึกและเกิดอันตรายได้ หากคนที่บริษัทนัดให้มาเจอกันนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ผลการทดสอบ smart phone สำหรับ การทำงานของ Navigator App

วารสาร  Test ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพ app  ที่ทำใช้เป็น navigator เสมือนเป็นผู้ช่วยขับรถ บอกเส้นทางและสภาพการจราจร ในอนาคต Navi app เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถได้มาก ลดเวลาการเดินทางที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัด และช่วยให้ไม่ต้องเจอกับปัญหาการหลงทาง การทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าวได้เปรียบเทียบ Navi app จำนวน 3 ยี่ห้อ คือ androidauto  Apple CarPlay และ MirrorLink โดยทดสอบกับรถยนต์ Seat Leon ปี 2016 ซึ่งเป็นรถยนต์ของค่าย Volkswagen ผลทดสอบเปรียบเทียบตามตาราง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลพฤติกรรมการขับรถเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่สามารถปกปิดเป็นความลับได้ และบริษัทรับประกันภัยสามารถทราบถึงข้อมูลการขับรถได้เช่นกัน ในปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ติดตั้ง อุปกรณ์ที่เรียกว่า telematics box ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการขับรถของเราไว้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการติดตั้งโดยความสมัครใจแต่ในปี 2018 รถใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบส่งข้อมูลในกรณีฉุกเฉินเรียกว่าระบบ eCall อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่คงเป็นประเด็นทางการเมือง และเป็นข้อถกเถียงระหว่าง สิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยในการจราจรยุคใหม่ ที่เรียกว่า ยุค mobility 4.0(ที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 8/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 คืนตั๋วโดยสารไม่ได้

เหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่จองไว้ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนเวลาการเดินทาง หรือนำบัตรโดยสารไปคืน โดยทำตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าไม่สามารถคืนตั๋วได้ตามเงื่อนไข ควรทำอย่างไรดีคุณสุชาติซื้อบัตรโดยสารของบริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โดยกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต่อมาภายหลังเขาต้องเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดอื่นกะทันหัน จึงไปเปลี่ยนตั๋วเดินทางเป็นขากลับจากเชียงใหม่แทน(เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ) ซึ่งพนักงานก็เปลี่ยนให้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเขาพบว่าตนเองไม่สามารถเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่จองตั๋วไปแล้วได้ จึงตัดสินใจยกเลิกการจองตั๋วดังกล่าวและไปขอเงินคืน ซึ่งเขาทราบเงื่อนไขของการคืนตั๋วอยู่แล้วว่า ต้องนำตั๋วโดยสารมาคืนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชม. และจะได้เงินคืนไม่เต็มจำนวน โดยต้องโดนหักค่าธรรมเนียม 10% จากราคาตั๋วนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้เขาจะทำตามเงื่อนไขการคืนตั๋ว พนักงานกลับปฏิเสธการคืนบัตรโดยสารดังกล่าวและแจ้งว่ามีวิธีเดียวที่จะได้เงินคืนคือ ให้นำมาฝากขาย ซึ่งหากมีคนมาซื้อก็จะแจ้งให้มารับเงินจำนวนดังกล่าวไป ทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรมการขนส่งทางบกและบริษัทฯ เพื่อให้ชี้แจงปัญหาดังกล่าวและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภายหลังทางบริษัทฯ ได้แจ้งกลับมาว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ซึ่งได้เรียกมาอบรมแล้วและพร้อมคืนเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสารให้ ด้านผู้ร้องก็ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าวและได้รับเงินคืนเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับใครที่ใช้บริการกับบริษัทดังกล่าว โดยซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วแต่พบว่าไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่ซื้อไว้ได้ สามารถขอเลื่อนกำหนดการเดินทาง รวมทั้งขอยกเลิก/คืนตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วของบริษัท โดยมีเงื่อนไขในการยกเลิก คือ นำสำเนาบัตรประชาชนมาติดต่อด้วยตนเอง หรือเขียนมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารล่วงหน้า ซึ่งหากเป็นกรณีเดินทางจากต้นทางกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และหากเป็นจังหวัดอื่นต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ชั่วโมง พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการยกเลิก 10% จากราคาค่าโดยสาร หรือในกรณีที่ต้องการเลื่อนวันเดินทาง และ/หรือเปลี่ยนแปลงการเดินทางสามารถทำได้ฟรี 1 ครั้ง ซึ่งต้องมาติดต่อเหมือนในกรณีการยกเลิกตั๋ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 ซื้อทัวร์แล้ว แต่เดินทางไม่ได้

เมื่อต้นปีที่แล้วได้มีข่าวเกี่ยวกับสายการบิสซิเนส แอร์ ที่ถูกกรมการบินพลยกเลิกการบิน เนื่องจากยังไม่ชำระหนี้ที่ค้างไว้ ทำให้ทัวร์ชาวไทยตกค้างที่ประเทศเกาหลีและสนามบินดอนเมืองจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในคณะทัวร์ที่ได้รับความเสียหายครั้งนั้น ก็ส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษาผู้ร้องซื้อโปรแกรมทัวร์ให้คณะนักศึกษากับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเดินทางโดยสารการบินของบริษัท บิสซิเนสแอร์เซ็นเตอร์ จำกัด โดยมีกำหนดเดินทางวันที่ 20 – 23 ม.ค. 2558 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดการกลับผลว่าไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งในขณะนั้นทางบริษัททัวร์ได้มีการเจรจาและตกลงกับผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องออกเงินค่าตั๋วใหม่จำนวน 100,000 บาทไปก่อน แล้วทางบริษัททั้งสองจะร่วมกันจ่ายให้ภายหลัง ผู้ร้องจึงยินยอมและเดินทางด้วยสายการบินอื่นแทน อย่างไรก็ตามปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้ทำหนังสือขอคืนเงิน แต่ทางบริษัทก็ไม่มีการตอบรับใดๆ ทำให้เขาต้องมาร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ในเบื้องต้นพบว่า หากกรมการบินพลเรือนสามารถดูแลหรือแจ้งข่าวสาร สถานะความสามารถในการให้บริการของบริษัทการบินต่างๆ ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งบริษัททัวร์รับทราบได้ ก็อาจไม่เกิดปัญหาจ่ายเงินไปแล้วแต่เดินทางไม่ได้เช่นนี้ ทั้งนี้ศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือผู้ร้องด้วยการแนะนำให้รวบรวมเอกสารต่างๆ มาให้เพิ่มเติม ได้แก่ จดหมายทวงถาม หนังสือขอคืนเงิน เอกสารการติดต่อกับสายการบิน จากนั้นจึงช่วยติดต่อกับทางสายการบินดังกล่าว ซึ่งตัวแทนของบริษัททัวร์แจ้งว่าจะมีการคืนเงินให้ผู้ร้องปลายปีนี้  โดยเหตุที่ล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการบินได้ เนื่องจากสายการบินประสบปัญหาถูกสั่งห้ามบิน และมีการฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาลปกครอง อย่างไรก็ตามจะรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยการคืนค่าตั๋วเครื่องบินให้กับผู้ร้องตามจำนวนที่จ่ายไปเพิ่มเติม คือ 100,000 บาท แต่ขอแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50,000 บาท ซึ่งผู้ร้องยินดีกับข้อเสนอดังกล่าว แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะเวลาต่อมาบริษัทฯ ก็แจ้งกลับมาอีกครั้งว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้บางรายคัดค้าน อาจทำให้กระบวนการชำระหนี้ล่าช้า แต่ขณะนี้การที่กรมการบินพลเรือนได้เพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทฯ ทำให้ภายหลังบริษัทฯ ต้องถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพราะไม่สามารถประกอบกิจการได้ ผู้ร่วมทุนของบริษัทรายใหม่ก็ถอนหุ้นไปเกือบหมด บริษัทฯ จึงไม่มีเงินที่จะดำเนินกิจการ แต่บริษัทฯ จะยังคงหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ เพื่อที่จะดำเนินการกิจการต่อไป และประสงค์ที่จะยื่นฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง เนื่องจากคิดว่าหากมีการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และขอนำเรื่องผู้ร้องเข้าที่ประชุมของบริษัทฯ  เพื่อพิจารณาเรื่องจำนวนเงินที่จะผ่อนชำระให้ผู้ร้องอีกครั้ง ทั้งนี้ภายหลังทางบริษัทฯ ก็เสนอกลับมาว่า สามารถผ่อนจ่ายให้ผู้ร้องได้เดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะสามารถฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ผู้ร้องก็ต้องยินยอมข้อเสนอดังกล่าวไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 เจ็บใจอยากฟ้องบริษัทลิสซิ่ง สงสัยแกล้งขายรถทอดตลาดราคาต่ำ

ทั้งที่ตัดสินใจถวายรถคืนบริษัทเช่าซื้อไปแล้ว ก็ยังต้องถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอีก และมาชีช้ำซ้ำอีกครั้ง ที่บังเอิญไปเจอรถยนต์ตัวเองถูกขายต่อให้คนอื่นในราคาที่สูงกว่าราคาขายทอดตลาดเกือบแสนคุณภูวดล เขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยความขมขื่นใจเป็นล้นพ้นว่า เมื่อกลางปี 2551 ตนได้เช่าซื้อรถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ดมือสองกับบริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน) ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเป็นเงิน 475,000 บาทเศษ ผ่อน 48 งวด งวดละ 9,911 บาท(ในจดหมายไม่ได้บอกว่าผ่อนไปได้กี่งวด แต่เมื่อตรวจดูคำฟ้องที่บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายกับคุณภูวดล ได้ความว่ามีการส่งค่างวดไปเพียงแค่สองงวดเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ได้ส่งอีกเลย)หลังจากถูกติดตามทวงถามยึดรถคืนตั้งแต่ปลายปี 2551 ท้ายสุดคุณภูวดลตัดสินใจบอกบริษัทฯ ไม่ต้องส่งคนมายึดรถแล้ว เดี๋ยวจะเป็นคนส่งมอบรถยนต์คืนให้เอง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 คุณภูวนัยส่งมอบรถยนต์คืนให้บริษัทลิสซิ่ง ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม ปีเดียวกัน บริษัทฯ มีหนังสือบอกกล่าวการขายทอดตลาดรถยนต์คันที่ส่งคืนมาถึงคุณภูวดลด้วยจดหมายลงทะเบียนตอบรับ และได้นำรถออกขายทอดตลาดในวันที่ 13 มีนาคม 2552 หรืออีก 4 วันต่อมา ในราคา 300,000 บาท ให้กับบุคคลภายนอกรายหนึ่งไปจากนั้นบริษัทฯ ได้นำเงินในส่วนที่ขายรถได้มาหักลบกลบหนี้ค่าเช่าซื้อที่ขาดอยู่ ปรากฏว่าก็ยังขาดอยู่อีก 141,000 บาท บริษัทฯ จึงยื่นฟ้องคุณภูวดลเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ และมีลูกตามน้ำคือ ค่าติดตามทวงถาม 7,200 บาท ค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่ผิดนัดค่างวดจนถึงวันที่ได้รถคืนเป็นเวลา 5 เดือนอีก 45,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายที่คุณภูวดลถูกฟ้อง 193,200 บาทเมื่อถูกฟ้องคุณภูวดลก็ไม่รู้ว่าจะต่อสู้คดียังไง ศาลจึงมีคำพิพากษาให้เขาชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้ ในท้ายที่สุด แต่ที่ทำให้คุณภูวดลชีช้ำกะหล่ำปลีเพิ่มขึ้นก็คือ วันหนึ่งคุณภูวดลบังเอิญไปเจอรถยนต์คันที่ตัวเองเคยเช่าซื้ออยู่บนถนน ก็ตามไปจนได้พูดคุยกับผู้ที่ครอบครองรถอยู่ ผู้ครอบครองรถได้ให้สำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายรถมาให้ดูพบว่า มีการขายในราคา 393,000 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2552 คุณภูวดลถึงกับอึ้งและคิดว่าการขายทอดตลาดเมื่อ 13 มีนาคม 2552 นั้นมีการฮั้วราคากันระหว่างบริษัทลิสซิ่งกับคนซื้อ จึงเขียนจดหมายมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อกุมภาพันธ์ 2554 สอบถามว่า จะฟ้องบริษัทลีสซิ่งแห่งนี้เป็นคดีผู้บริโภคได้หรือไม่ที่ขายรถทอดตลาดได้ในราคาถูกเกินไป ทำให้ตนได้รับความเสียหายต้องชดใช้หนี้ส่วนต่างที่สูงเกินสมควร แนวทางแก้ไขปัญหา ต้องบอกว่าผู้บริโภคท่านนี้ตื่นตัวช้าไปนิดนะขอรับ เหตุเกิดเมื่อปี 52 แต่มาเขียนถามกันในปี 54 เจออย่างนี้ก็ต้องบอก “อย่างนี้ก็มีด้วย” ก็คงให้ได้แต่คำแนะนำและชี้จุดบกพร่องผิดพลาดให้ทราบไว้เป็นบทเรียนสำหรับท่านอื่นๆ ครับ จุดที่หนึ่ง การที่ผู้เช่าซื้อรถยนต์จะขอบอกเลิกสัญญา และคืนรถที่เช่าซื้อนั้น ควรมีการตรวจสอบสภาพรถและประเมินราคารถก่อนทำการคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานจุดที่สอง การนำรถที่ยึดมาไปขายให้แก่บุคคลอื่นนั้น จากข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบ พอที่จะบอกได้ว่าบริษัทลิสซิ่งแห่งนี้มีการกระทำที่ผิดสัญญาต่อผู้บริโภค คือระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือกับระยะเวลาที่นำรถออกขายทอดตลาดห่างกันแค่ 4 วันเท่านั้น อันนี้เป็นข้อพิรุธ ในขณะที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นสัญญาควบคุมและกำหนดให้ระยะเวลาการบอกกล่าวก่อนนำรถออกขายจะต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลค่าหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ จุดที่สาม เมื่อมีการนำรถออกขายทอดตลาด ผู้เช่าซื้อควรเข้าไปดูการประมูลด้วยตนเองว่า เป็นการประมูลขายทอดตลาดที่เหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่คณะกรรมการคุมครองผู้บริโภคควบคุมนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การที่ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น ก็เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหากผู้เช่าซื้อสามารถพิสูจน์ได้ว่าการประมูลหรือขายทอดตลาดรถเป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสัญญากับผู้เช่าซื้อตามที่ว่ามา ศาลก็อาจจะพิจารณายกฟ้องก็เป็นได้แต่เมื่อผู้บริโภคไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบการประมูลหรือเข้าต่อสู้ในชั้นศาล ศาลก็จะพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รับจากฝ่ายบริษัทฯ เท่านั้น และเป็นการยากที่จะดำเนินการฟ้องใหม่และอาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องซ้ำไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้เข้าไปค้านในเวลาที่บริษัทฯ ขายทรัพย์ และไม่ได้เข้าต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องนั่นเอง ส่วนผู้ที่มาซื้อรถในการขายทอดตลาดโดยซื้อในราคาถูกเพื่อไปขายเอากำไรในภายหลังก็สามารถทำได้โดยชอบ ดังนั้นผู้บริโภคที่ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากพบว่าตนเองจะไม่สามารถผ่อนค่างวดรถต่อไปได้ และยังเหลือค่างวดอีกบานตะไท การขายดาวน์รถอาจเป็นทางเลือกหนึ่งแต่จะต้องไม่ทำการซื้อขายกันเองเด็ดขาด เพราะผู้ซื้อรถต่ออาจไม่ส่งค่างวดกับบริษัทเช่าซื้อตามที่รับปากก็ได้ ทางที่ดี...ควรจะจูงมือกันไปที่ไฟแนนซ์เปลี่ยนชื่อของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันในสัญญาเช่าซื้อให้เป็นชื่อและผู้ค้ำประกันของผู้ซื้อรถรายใหม่เสียให้เรียบร้อย อย่างนี้ปลอดภัยไม่โดนฟ้องร้องในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 จองรถป้ายแดงดาวน์ถูก ระวังจะเสียรู้นายหน้า

เรื่องนี้เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ไม่นานมานี้เองสายของวันที่ 23 มิถุนายน 2554 คุณพงศ์วรัฐและคุณภูวนาถ เดินทางเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ“เมื่อสามวันที่แล้วผมสองคนเพิ่งไปทำสัญญาจองรถกับบริษัทสปอร์ต คาร์มา เป็นรถฮอนด้าซีวิคกับรถโตโยต้า วีโก้ ป้ายแดงทั้งคู่ครับ” คุณพงศ์วรัฐเริ่มเรื่อง“แล้วรู้จักมักจี่กับบริษัทนี้ยังไงคะถึงเข้าไปจองรถกับเขาได้” เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคถาม“ก้อญาติของผมน่ะสิครับ เขาเพิ่งไปวางเงินจองรถนิสสัน มาร์ชกับเต๊นท์นี้มาเมื่อเดือนที่ผ่านมานี่เอง แต่เขายังไม่ได้รถนะครับ” คุณพงศ์วรัฐหมายถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยข้อเสนอจ่ายเงินดาวน์เพียง 15,000 บาท โดยวางเงินจอง 5,000 บาท  และจ่ายที่เหลือในวันรับรถอีก 10,000 บาท  แล้วออกรถได้เลย ทำให้คุณพงศ์วรัฐและคุณภูวนาถสองเพื่อนซี้ตาโต ควักเงินคนละ 5,000 บาทวางจองรถคันที่ต้องการทันทีในวันนั้น แม้จะผิดสังเกตและทักท้วงไปกับนายหน้าขายรถ ตรงที่ใบสัญญาจอง แทนที่จะระบุว่าเป็นสัญญาจองรถยนต์กับเขียนหัวกระดาษเป็นใบรับเงินค่าบริการที่มีข้อความว่าจะต้องเสียค่าบริการ 3,000 บาท ถ้าผู้จองรถไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากไฟแนนซ์ แต่ก็คิดว่าไม่เป็นอะไรเพราะตนเองไม่มีปัญหาด้านหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่างๆ อยู่แล้ว“ผมได้ทักท้วงไปเหมือนกัน แต่เซลล์บอกว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้าไฟแนนซ์ผ่าน เงินที่จ่ายมาก็เป็นค่าดาวน์ที่ต้องนำไปหักอยู่แล้ว” คุณพงศ์วรัฐว่า ทำสัญญาจองรถไปเพียงแค่วันเดียววันรุ่งขึ้น วันที่ 21 มิถุนายน  คุณพงศ์วรัฐได้รับโทรศัพท์สายหนึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์แจ้งว่า เขาไม่ผ่านไฟแนนซ์ เพราะติดแบล็คลิสต์กับบริษัทบัตรเครดิต“ผมก็เอะใจล่ะครับ เพราะผมไม่เคยทำบัตรเครดิตหรือสินเชื่ออะไรจะติดแบล็คลิสต์ได้ยังไง” คุณพงศ์วรัฐจึงแจ้นไปปรึกษากับคุณภูวนาถและญาติซึ่งทั้งคู่ก็บอกว่าโดนแจ้งว่าไฟแนนซ์ไม่ผ่านเพราะติดแบล็คลิสต์เหมือนกัน ทั้งสามก็เลยต้องร่วมมือกันวางแผนที่จะตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาว่าจริงเท็จแค่ไหนเริ่มแรก คุณพงศ์วรัฐให้ญาติและคุณภูวนาถขอชื่อบริษัทไฟแนนซ์จากเต๊นท์รถ เซลล์แจ้งว่าได้ส่งข้อมูลขอสินเชื่อของญาติของคุณพงศ์วรัฐไปที่บริษัท เซนเตอร์ ลิสซิ่ง และของคุณภูวนาถส่งไปที่บริษัท เอเซียลิสซิ่ง  ญาติของคุณพงศ์วรัฐจึงได้ทำทีโทรศัพท์ไปสอบถามขอสินเชื่อกับบริษัทเอเซีย ลิสซิ่ง พนักงานบริษัทดังกล่าวแจ้งว่า เป็นเพียงเต๊นท์รถที่รับไถ่ถอนรถถูกยึด และรับจัดไฟแนนซ์เฉพาะรถมือสองเท่านั้น ไม่มีตัวแทนหรือนายหน้า ผู้ที่ใช้บริการต้องมาที่บริษัทเอง ส่วนนายภูวนาถก็สอบถามไปที่บริษัทเซนเตอร์ลิสซิ่งสลับกัน ก็ได้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่าไม่รู้เรื่องการติดต่อขอสินเชื่อจากเต๊นท์รถที่ไปวางเงินมัดจำจองรถเลย คุณพงศ์วรัฐ  จึงรู้ว่าถูกหลอกแน่และรีบเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือเรียกเงินจองรถคืนทันที แนวทางแก้ไขปัญหาทันทีที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 23 มิถุนายน 2554 เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้พาผู้เสียหายทั้งสาม เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุทันที หลังจากร้อยเวรได้สอบสวนข้อเท็จจริงเรียบร้อย จึงลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความไว้และขอให้ใช้วิธีเจรจาไกล่เกลี่ยกันก่อน ร้อยเวรได้ประสานไปที่สายตรวจให้เข้าไปที่เต๊นท์รถและแจ้งว่ามีผู้เสียหายมาแจ้งความและให้มาที่โรงพัก หลังจากนั้นประมาณ 14.00 น.ของวันเดียวกัน ตัวแทนของเต๊นท์รถจึงรีบแจ้นเดินทางมาที่โรงพักและขอคืนเงินทั้งหมดแก่ผู้เสียหายทั้ง 3 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 15,000 บาทในทันที“คนมีรายได้น้อยอย่างพวกเรา แต่อยากได้รถยนต์เห็นดาวน์ถูกก็เลยตกเป็นเหยื่อ  แต่ถ้ารู้ตัวแล้วรีบแจ้งความเพื่อเอาผิดกับมิจฉาชีพพวกนี้ เราก็จะไม่สูญเสียทรัพย์สินไป อยากฝากเตือนไปถึงคนอื่นที่ต้องการมีรถ ขอให้ไปที่ตัวแทนจำหน่ายโดยตรงดีกว่า”คุณพงศ์วรัฐกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ชอบทีวีซัมซุง ถึงเสียก็ไม่อยากเปลี่ยนใจ

เรียน ผู้จัดการ บริษัท ซัมซุงประเทศไทย จำกัดดิฉันนางสาวดวงพร ได้ซื้อทีวี LCD 32 นิ้ว Model code LA32 ………Serial No…….Version…….(อยู่ในช่วงประกัน) เมื่อต้นปี (มกราคม 2552) และจอภาพได้เสียเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 ดิฉันจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทซัมซุงทราบ และจากนั้น 3 วัน เจ้าหน้าที่ได้ให้ช่างมาตรวจที่บ้าน และได้บอกว่าจอภาพเสียต้องเปลี่ยนและต้องรออะไหล่ ดิฉันถามว่านานเท่าไร ช่างตอบว่านานเพราะต้องรอบริษัทแม่ส่งมาดิฉันรอจนสิ้นเดือนมกราคม 2553 และได้ติดต่อกลับไปสอบถามได้ความว่าอะไหล่ไม่มี ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่ (เจ้าหน้าที่เรียกว่า VOC) และรออีก 1 อาทิตย์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ติดต่อกลับมา ดิฉันจึงติดต่อกลับไป แต่ทุกครั้งที่ติดต่อเจ้าหน้าที่จะบอกแบบถ่วงเวลาว่าจะติดต่อกลับไปแต่ไม่เคยเห็นจะติดต่อกลับมาสักครั้งเลย และครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้พูดจาไม่สุภาพเลย ใช้คำพูดว่า “อ๋อเรื่องของคุณ....... คุณพัช(นามสมมติ)รับเรื่องไว้เดี๋ยวจะติดต่อกลับมาดิฉันก็กลัวว่าจะไม่มีการติดต่อกลับเหมือนทุกครั้ง ดิฉันจึงขอทราบนามสกุลของคุณพัช แต่เจ้าหน้าที่ไม่บอกได้แต่รับปากว่าจะโทรติดต่อกลับแน่นอน และตอนบ่ายของวันนั้นคุณพัชก็โทรกลับมา (ดิฉันดีใจมาก) และคุณพัชได้บอกว่า ทางบริษัทจะรับซื้อคืน เพราะทางบริษัทไม่มีอะไหล่แต่ดิฉันคิดว่าถึงเงินมาก็ต้องไปซื้อทีวีอยู่ดี และชอบทีวีของซัมซุง จึงขอให้เขาเปลี่ยนเครื่องแทนไม่รับเงินแต่คุณพัชได้บอกว่าเปลี่ยนให้ไม่ได้ เพราะเครื่องไม่เสถียรจะขอเป็นซื้อคืนและขอใบเสร็จรับเงิน และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนเขียนชื่อภาษาอังกฤษ เดี๋ยวจะส่งเงินมาโดยจะติดต่อกลับมาอีกครั้งว่าจะโอนเงินทางใด ดิฉันไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ คุณพัชก็ไม่ได้ว่าอะไรก็ใช้วิธีเขียนจำนวนเงินแทนว่าซื้อมาเท่าใด ดิฉันเขียนราคา 19,000 บาท และส่งแฟกซ์ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 และขอเบอร์ติดต่อกับคุณพัชโดยตรง และรอตามที่คุณพัชบอกจะติดต่อกลับจนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ดิฉันโทรกลับไปที่เบอร์ที่ได้รับไว้ แต่ไม่มีใครรับสายทั้งวันพออีกวันดิฉันจึงโทรเข้าศูนย์ซัมซุงและเล่าเรื่องทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ฟังและขอสายคุณพัช จากนั้นคุณพัชโทรกลับมาและบอกว่าเรื่องต้องรอผู้ใหญ่อนุมัติต้องรออีกประมาณต้นเดือนมีนาคม 2553 จึงจะได้คำตอบ ดิฉันจึงอยากทราบว่าทางบริษัทจะดำเนินการอย่างไร เพราะดิฉันรอมาหลายเดือนแล้ว โปรดติดต่อกลับทางดิฉันด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาเอาจดหมายฉบับนี้มาให้อ่าน เป็นแนวทางกัน สำหรับคนที่มีปัญหาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาแล้วเสียใช้ไม่ได้ในระยะเวลารับประกัน เรียกช่างมาซ่อมแล้วโยกโย้ ติ๊ดชึ่งดึงเวลา ให้ขาดระยะประกันหรือขาดอายุความในการฟ้องร้อง(อายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย)คุณดวงพรได้ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ ว่า หลังจากที่โทรทัศน์ซัมซุง จอแอลซีดี 32 นิ้ว มูลค่า 19,000 บาทเสียดูไม่ได้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ติดตามเรื่องผ่านทางโทรศัพท์ให้บริษัทแก้ไขปัญหาจนถึงเดือนมีนาคม 2553 รวมเวลากว่า 3 เดือนแล้วก็ยังไม่มีทีวีให้ดูรายการโปรดซักที โทรตามเรื่องจนขี้เกียจโทรแล้ว อยากให้มูลนิธิฯช่วยเหลือหน่อยมูลนิธิฯ จึงได้แนะนำว่าเรื่องนี้ไม่ยาก ให้ผู้บริโภคใช้คาถา “จดหมายดีกว่าโทรศัพท์” จดหมายร้องเรียนที่เราได้อ่านข้างบนจึงเป็นฝีมือของคุณดวงพรล้วนๆ ซึ่งผู้บริโภคท่านอื่นที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกันเอาไปปรับใช้ได้ครับผลที่ได้รับ เพียง 5 วันหลังจากที่ออกจดหมายไปถึงผู้บริหารของบริษัทซัมซุง คุณดวงพรก็ได้รับเช็คจำนวน 19,000 บาท และส่งคืนทีวีจอดับไปให้บริษัทซัมซุงทำลายเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 จองรถไม่ได้รถ ต้องได้เงินจองคืน

เรียน ผู้จัดการ บริษัท พระนครออโต้เซลล์เรื่อง ขอเงินค่าจองรถป้ายแดงคืนจากที่ได้ตกลงกันกับทางบริษัทไปแล้วนั้นว่าดิฉันจะรับเงื่อนไขจากบริษัท คือรับเงินคืนจำนวน 3,000 บาท จากที่ได้จองทั้งสิ้นเป็นเงิน 5,000 บาท โดยในการรับเงื่อนไขระบุในเอกสารการจองว่า ให้โอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีเลขที่ 688-000000-0 อีก 2,000 บาททางบริษัทยืนยันว่าจะจ่ายเป็นเช็คและแฟกซ์หน้าเช็คที่สั่งจ่ายเข้าบัญชีภายในวันที่ตกลงกัน แต่หลังจากนั้นดิฉันได้รอแฟกซ์แต่ก็ไม่มีแฟกซ์หน้าเช็คกลับมาดิฉันจึงอยากเรียนมา จริง ๆ แล้ว ดิฉันเช็คดูแล้วว่าทางบริษัท ผิดนัด ซ้ำแล้วซ้ำอีก นับตั้งแต่วันจองจนหาบริษัทไฟแนนซ์ให้ไม่ได้ และพยายามทำให้เรื่องยืดเยื้อและล่าช้า การกระทำดังกล่าวทำให้ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า ทางบริษัทจะริบเงินจองทั้งหมดจริง...นี่เป็นส่วนหนึ่งของจดหมายที่คุณกฤชญากรส่งถึงบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งเพื่อทวงถามเงินจองที่ได้จ่ายไปจำนวน 5,000 บาท แต่บริษัทรถอ้างว่าคุณกฤชญากรติดเครดิตบูโร ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อให้สักราย และได้เสนอเปลี่ยนรถที่จะขายให้เป็นคันใหม่ คุณกฤชญากรเห็นว่าไม่ได้รถตามที่ต้องการไว้แต่แรก จึงบอกเลิกสัญญาการจองและขอเงินค่าจองรถคืน แต่เกือบร้อยทั้งร้อยล่ะครับที่จะเจอการโยกโย้ โยกเย้ ประวิงเวลา เตะถ่วงไปเรื่อย ๆ ไม่คลายเงินจองออกมาง่าย ๆ จนผู้จองรถโดยส่วนใหญ่จำต้องทิ้งเงินจองไป ที่ผ่านมา ธุรกิจกินเงินจองรถนี่บรรดาเต้นท์รถเบิกบานมาก เพียงแค่ลงทุนค่าโฆษณาผ่านหนังสือขายฝากรถยนต์ แจ้งโฆษณาว่ามีรถทุกรุ่น ทุกเฉดสี ไม่ว่าใหม่หรือเก่า ก็สามารถหาให้ได้ แถมราคาย่อมเยากว่าศูนย์ตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตเป็นหมื่น แค่นี้ก็มีลูกค้ามาถวายเงินจองให้ตรึม พอลูกค้ามาติดต่อก็บอกว่าหารถให้ได้แน่ ไฟแนนซ์ก็ผ่านแน่ ๆ ขอแค่วางเงินจองไว้ 5,000 บาท พอถึงจังหวะที่จะกินเงินจองกับลูกค้าก็จะมีสูตรตายตัวในทำนองว่า ลูกค้าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตบูโร เลยไม่สามารถจัดไฟแนนซ์ให้ได้ เมื่อลูกค้าเป็นคนผิดสัญญาการจองเอง ดังนั้นจึงต้องถูกยึดเงินจอง ลูกค้ากลับไปดูสัญญาก็เห็นเป็นจริงเช่นนั้นเสียด้วยแต่เขียนซะตัวเล็กกระจ้อยร่อย ท้ายสุดต้องยอมเสียเงินไป เรื่องทำนองนี้เคยนำลงในฉลาดซื้อมาครั้งสองครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้มีข้อกฎหมายเด็ดสะระตี่ไว้ให้ผู้บริโภคใช้เรียกเงินจองคืนได้แบบสมบูรณ์แบบครับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยท่วงทำนองการประกอบธุรกิจที่ทุจริตของบรรดาเต้นท์รถทั้งหลายทำให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนิ่งเฉยไม่ได้ ในที่สุดจึงได้ใช้แผนเผด็จศึกที่ได้ผลมาแล้วกับหลายๆ ธุรกิจ คือการประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หลายคนยังไม่รู้จักเพราะประกาศฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 นี่เอง ถือเป็นประกาศควบคุมสัญญาล่าสุดที่ สคบ. มีออกมาประกาศฉบับนี้ใช้ควบคุมการประกอบกิจการขายรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเอารถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ และผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือรับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำ และให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญาทีนี้ในเรื่องของการซื้อขายรถยนต์ที่มีการจอง ประกาศฉบับนี้ได้เขียนข้อสัญญาที่ควบคุมไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจไปปรับเปลี่ยนราคารถยนต์ที่จองไว้สูงขึ้น หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา หรือ ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กำหนดในสัญญานอกจากนี้ยังมีการควบคุมสัญญาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญากันได้ผลของการบอกเลิกสัญญากันตามเงื่อนไขที่ได้ว่ามา คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันแม้ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะหัวหมออ้างว่า สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคไม่มีข้อสัญญาเหล่านี้ แต่ไม่สามารถจะใช้ยกเป็นเหตุในการไม่ยอมคืนเงินจองเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจาก ตามหลักกฎหมายควบคุมสัญญาของ สคบ. นั้นมีหลักการสำคัญคือ หากสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นไม่มีข้อสัญญาตามที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายจะถือว่าสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมีข้อสัญญาที่ สคบ. กำหนดไว้อยู่ด้วยแล้ว และหากสัญญาข้อใดของผู้ประกอบธุรกิจที่เขียนแล้วไปฝ่า ไปฝืนข้อสัญญาที่ สคบ. ได้กำหนดไว้ กฎหมายควบคุมสัญญาจะถือว่าไม่มีข้อสัญญานั้นปรากฏอยู่ในข้อสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ข้อสัญญาใดที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคจะเอามาบังคับใช้กันไม่ได้หลักการนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ธุรกิจที่ควบคุมสัญญา” ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 เที่ยวเกาะหลีเป๊ะแบบเปลือยๆ กับบริการพิเศษไทยแอร์เอเชีย

“กระเป๋าของฉันอยู่ไหน”คุณอิสริยาเดินจูงมือน้องชายที่บินมาด้วยกันจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อสอบถามกับพนักงานของบริษัทไทยแอร์เอเชียที่ประจำอยู่ที่สนามบินหาดใหญ่ว่า ทำไมไม่เห็นกระเป๋าเสื้อผ้าของตนและน้องชายที่เตรียมไว้สำหรับไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะที่จังหวัดสตูลจำนวน 5 วันเสียที ทั้งๆ ที่ลงเครื่องมานานแล้วพนักงานให้คำตอบอันสุดแสนประทับใจว่า ทางสายการบินไม่ได้โหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องมาด้วย และวันนี้ก็คงจะส่งตามมาไม่ทัน“แล้วอย่างงี้จะเที่ยวได้ยังไงเนี่ย”“แล้วอย่างงี้จะเที่ยวได้ยังไงเนี่ย”“แล้วอย่างงี้จะเที่ยวได้ยังไงเนี่ย” คุณอิสริยารำพึงกับตัวเอง รู้สึกว่าทำไมเช้านี้ชีวิตถึงได้อับโชคขนาดนี้ กะว่าจะเที่ยวเกาะหลีเป๊ะกับน้องชายให้ครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคักตามคำคุยของ ททท. เสียหน่อย แต่ต้องมาเจอบริการพิเศษที่ไม่ได้สั่งจองจากไทยแอร์เอเซียที่ให้บินมาได้แต่ตัว แต่กระเป๋าเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นอื่นๆ ไม่บินมาด้วยพอสอบถามเพิ่มเติมว่าจะได้เห็นกระเป๋าเมื่อไหร่ พนักงานบอกว่า คงจะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นโดยทางสายการบินจะฝากกระเป๋าไปกับเรือส่งให้ถึงรีสอร์ตบนเกาะคุณอิสริยากับน้องชายไม่มีทางเลือกเพราะต้องเดินทางไปที่ จ.สตูลให้ทันเรือรอบ 11.30 น. เพื่อไปพักที่เกาะหลีเป๊ะ จึงได้ทำเรื่องทิ้งไว้และไปปักหลักรอกระเป๋าเสื้อผ้าที่เกาะ ซึ่งคืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้ามาใส่ประทังไปก่อนพอสอบถามเพิ่มเติมว่าจะได้เห็นกระเป๋าเมื่อไหร่ พนักงานบอกว่า คงจะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นโดยทางสายการบินจะฝากกระเป๋าไปกับเรือส่งให้ถึงรีสอร์ตบนเกาะคุณอิสริยากับน้องชายไม่มีทางเลือกเพราะต้องเดินทางไปที่ จ.สตูลให้ทันเรือรอบ 11.30 น. เพื่อไปพักที่เกาะหลีเป๊ะ จึงได้ทำเรื่องทิ้งไว้และไปปักหลักรอกระเป๋าเสื้อผ้าที่เกาะ ซึ่งคืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้ามาใส่ประทังไปก่อนพอสอบถามเพิ่มเติมว่าจะได้เห็นกระเป๋าเมื่อไหร่ พนักงานบอกว่า คงจะได้รับในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นโดยทางสายการบินจะฝากกระเป๋าไปกับเรือส่งให้ถึงรีสอร์ตบนเกาะคุณอิสริยากับน้องชายไม่มีทางเลือกเพราะต้องเดินทางไปที่ จ.สตูลให้ทันเรือรอบ 11.30 น. เพื่อไปพักที่เกาะหลีเป๊ะ จึงได้ทำเรื่องทิ้งไว้และไปปักหลักรอกระเป๋าเสื้อผ้าที่เกาะ ซึ่งคืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้ามาใส่ประทังไปก่อนพอถึงวันรุ่งขึ้นแทนที่จะได้ออกไปเที่ยวทะเลดำน้ำเหมือนนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ คุณอิสริยาต้องมานั่งรอกกระเป๋าอยู่ในที่พัก รอจนถึงบ่ายสองโมงก็ยังไม่เห็นกระเป๋าสุดที่รัก จึงโทรไปถามกับพนักงานไทยแอร์เอเชีย ได้รับแจ้งว่า ได้ทิ้งกระเป๋าไว้ให้กับบริษัทเรือที่จะมาเกาะหลีเป๊ะแล้วแต่บริษัทเรือไม่ได้นำลงเรือไปเกาะด้วย ทำให้คืนนั้นคุณอิสริยาและน้องชายต้องซื้อเสื้อผ้าใส่กันอีกหนึ่งชุดคุณอิสริยามาได้กระเป๋าในวันที่สามของการท่องเที่ยวครั้งนี้ในเวลาประมาณบ่ายสามโมงกว่าๆ สรุปว่ามาเที่ยว 5 วัน ใช้เวลา 3 วันเพื่อรอกระเป๋าและได้เที่ยวจริงๆ เพียงแค่ 2 วัน ด้วยอารมณ์บูดสุดๆ พอถึงวันเดินทางกลับคุณอิสริยาได้ร้องเรียนเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเชียที่ทำกระเป๋าตกทั้งเครื่องบิน ตกทั้งเรือจนไม่มีเสื้อผ้าใส่ ซึ่งไทยแอร์เอเชียแสดงความรับผิดชอบชดใช้เงินให้กับคุณอิสริยาและน้องชายคนละ 300 บาท บวกค่าเรือไปรับกระเป๋าอีก 100 บาทรวมเป็นเงิน 700 บาท พร้อมสำทับว่านี่คือมาตรฐานความรับผิดชอบค่าเสียหายของบริษัท คุณอิสริยาเห็นหลักในการชดใช้ดังกล่าวของไทยแอร์เอเชียแล้วต้องบอกว่า รับไม่ได้“ถ้าดิฉันเป็นคนหาดใหญ่แล้วไม่ได้รับกระเป๋าจะต้องรอกี่วันก็ไม่เดือดร้อน เพราะรออยู่ที่บ้านตัวเอง แต่นี่ดิฉันและน้องชายเดินทางไปพักผ่อนในเวลาจำกัดและไปพักบนเกาะ ความเดือดร้อนและความเสียหายมันต่างกัน แล้วไม่ใช่แค่วันเดียว แต่เป็น 2 คืน 3วันที่กว่าจะได้รับกระเป๋า...”เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ท้ายสุดคุณอิสริยาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหานี้แนวทางแก้ไขปัญหา“ถ้าดิฉันเป็นคนหาดใหญ่แล้วไม่ได้รับกระเป๋าจะต้องรอกี่วันก็ไม่เดือดร้อน เพราะรออยู่ที่บ้านตัวเอง แต่นี่ดิฉันและน้องชายเดินทางไปพักผ่อนในเวลาจำกัดและไปพักบนเกาะ ความเดือดร้อนและความเสียหายมันต่างกัน แล้วไม่ใช่แค่วันเดียว แต่เป็น 2 คืน 3วันที่กว่าจะได้รับกระเป๋า...”เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ท้ายสุดคุณอิสริยาจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหานี้มูลนิธิฯ ได้ช่วยทำจดหมายประสานไปยังไทยแอร์เอเชีย ซึ่งในเวลาต่อมาสายการบินราคาประหยัดแห่งนี้ได้มีจดหมายชี้แจงถึงสาเหตุที่กระเป๋าผู้โดยสารมีอันต้องตกเครื่องบินและตกเรือว่า ปัญหาเริ่มต้นมาจากระบบการลำเลียงสัมภาระได้ส่งสัมภาระมาล่าช้า จึงเป็นสาเหตุให้สัมภาระที่ลงทะเบียนไม่ได้ถูกส่งไปพร้อมกับเที่ยวบินที่ผู้เสียหายเดินทาง บริษัทฯ ได้รีบดำเนินการจัดส่งไปในเที่ยวบินถัดไปของวันเดียวกันซึ่งออกจากกรุงเทพฯเวลา 10.40 ถึงหาดใหญ่เวลา 12.05 น. และนำไปส่งบริษัทเรือที่ท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล เพื่อส่งขึ้นเรือและนำไปส่งที่หลีเป๊ะ แต่มาไม่ทันเวลาเรือที่ออกไปหลีเป๊ะ จึงแจ้งให้บริษัทเรือจัดส่งให้ในวันถัดไป จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้ร้องว่ายังไม่ได้รับกระเป๋า ไทยแอร์เอเชียจึงติดต่อไปยังบริษัทเรือ ถึงทราบว่าบริษัทเรือลืมนำสัมภาระลงเรือ จึงต้องจัดส่งให้ในวันต่อไปอย่างไรก็ดี ไทยแอร์เอเชียได้พิจารณาให้ผู้ร้องเป็นกรณีพิเศษ โดยชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 1,100 บาท เป็นทั้งค่าเสื้อผ้าและค่าเรือที่ผู้ร้องจ่ายเพื่อไปรับกระเป๋า ซึ่งเป็นจุดที่คุณอิสริยาพอที่จะรับได้จึงยินยอมรับเงินชดเชยค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวในท้ายที่สุด  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >