ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >