ฉบับที่ 182 กระแสต่างแดน

ราคาคงเดิมการสำรวจราคาสินค้าในชีวิตประจำวันของนิตยสาร Which? ของอังกฤษพบว่า แม้จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงของราคาเท่าไร ... แต่ขนาดและปริมาณนี่สิ! กระดาษทิชชู Andrex ที่เคยมี 240 แผ่นต่อม้วนก็ลดลงเหลือ 221 แผ่น แผ่นทำความสะอาดห้องน้ำของ Dettol ที่เคยมีแพคละ 36 แผ่นก็เหลือแค่ 32 แต่ทั้งสองผลิตภัณฑ์นี้ยังราคา 2 ปอนด์ (ประมาณ 100 บาท) เหมือนเดิม ด้านอาหารก็ไม่น้อยหน้า น้ำส้มและราสพ์เบอร์รี่ Tropicana ลดปริมาณฮวบจาก 1 ลิตร เหลือเพียง 850 มิลลิลิตร บิสกิตเคลือบช็อกโกแล็ตของ McVitie’s จากที่เคยให้ 332 กรัมก็ลดเหลือเพียง 300 กรัมถ้วน แถมยังแพงขึ้นกว่าเดิมอีกหน่อย ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณให้ผู้บริโภคอังกฤษเตรียมใจ ว่าจากนี้ไปสินค้าสำเร็จรูปในซูเปอร์มาร์เก็ตจะค่อยๆ หดเล็กลง เพราะการเพิ่มราคามันสะเทือนใจน้อยกว่าการแอบลดไซส์เนียนๆ แต่บางเจ้าก็ยอมรับตรงๆ เหมือนกัน เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาค่ายยูนิลิเวอร์ออกมาประกาศว่าจะค่อยๆ ลดขนาดไอศกรีมลง ราคาเกินจริงระบบการเดินรถประจำทาง Rejsekot ของเมืองโคเปนเฮเกนกำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหลังจากมีข่าวว่าระบบของเขาคิดเงินผู้โดยสารเกินจริงมากว่า 3 ปีแล้ว! สืบไปสืบมาพบว่าเป็นความผิดพลาดของพนักงานขับรถที่ลืมลงทะเบียนตั้งค่าเส้นทางใหม่ทุกครั้งหลังจากส่งผู้โดยสารที่สถานีปลายทาง เลยส่งผลต่อระบบคำนวณราคาสำหรับผู้โดยสารที่ขึ้นรถเที่ยวต่อไป แต่ละปีมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 6,000 คน มาดูว่า Movia หรือ “ขนส่งมวลชนโคเปนเฮเกน” จะแก้ปัญหาขี้หลงขี้ลืมของพขร. อย่างไร ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องผู้โดยสารเมาแล้วสร้างความวุ่นวายบนรถ พนักงานขับรถจึงต้องไปฝึกศิลปะป้องกันตัวเพื่อมา “สยบ” คนเหล่านี้ เมืองโคเปนเฮเกนมีค่าใช้จ่ายในเดินทางด้วยรถสาธารณะสูงที่สุดในโลก ราคาเฉลี่ยของตั๋วรถรถเมล์ รถไฟ และรถราง 1 เที่ยว อยู่ที่ 31 โครน หรือประมาณ 165 บาท (โชคดีที่ชาวเมืองมีทางออกด้วยการเปลี่ยนไปใช้จักรยาน) ตามมาติดๆ ได้แก่ สต็อกโฮล์ม (150 บาท) ลอนดอน (143 บาท) และออสโล (133 บาท) โดยนิวยอร์กมีราคาตั๋วรถสาธารณะเฉลี่ยถูกที่สุดในกลุ่ม (95 บาท) ... อ้างอิงจากข้อมูลสำรวจของ Statista ที่ทำในเมืองหลวง 12 แห่งทั่วโลก  จินตนาการสูงเป็นเรื่องแล้ว เมื่อผู้รับเหมางานตรวจสอบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งถูกจับได้ว่ารายงานความปลอดภัยที่พวกเขาส่งให้กับทางการเป็นระยะนั้น เกิดจากจินตนาการของพวกเขาเอง EnBW ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่เมืองฟิลิปสเบิร์ก พบว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่จ้างมาตรวจสอบมาตรวัดการแผ่รังสีนั้นไม่เคยลงพื้นที่เลย แต่มีรายงานส่งตลอด ในเมืองเฮสส์ ที่ห่างออกไป 60 กิโลเมตร ก็เจอปัญหาเจ้าหน้าที่นั่งเทียนเขียนรายงานเหมือนกัน ถ้า เจ้าของโรงไฟฟ้าและกระทรวงสิ่งแวดล้อมยังไม่พบความผิดปกติ เขาก็คงจะทำเช่นนี้ต่อไป การค้นพบดังกล่าวทำให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมประกาศชะลอแผนการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งอีกครั้ง เพราะต้องอาศัยผลการตรวจสอบ ... ซึ่งรู้กันแล้วว่าไม่มีอยู่จริง ด้านบริษัทที่รับทำรายงานก็เตรียมตัวโดนฟ้องได้เลย หลังเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลเยอรมันประกาศจะปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2022 ตามนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energiewende) ที่เคยประกาศไว้ ปัจจุบันร้อยละ 18 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมาจากนิวเคลียร์ ในขณะที่ร้อยละ 27 มาจากพลังงานหมุนเวียน คนเยอรมันส่วนใหญ่ยังหวาดระแวงพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลจึงต้องลงทุนเพิ่มอีกมากเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาตอบสนองความต้องการ  เราต้องการคำขอโทษองค์กรผู้บริโภคออกมาเชิญชวนชาวเกาหลีให้เลิกซื้อ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท Oxy Reckitt Benckiser ถ้าใครมีอยู่แล้วในบ้านก็ให้เอาออกมาเททิ้งด่วน! บริษัทนี้คือผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับเครื่องทำความชื้นยี่ห้อ OXY SSACK SSACK ที่มีจำหน่ายเฉพาะในเกาหลีเมื่อหลายปีก่อน และผลิตภัณฑ์ประเภทนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุให้เด็กเล็กและสตรีมีครรภ์เสียชีวิตด้วยอาการปอดล้มเหลว ในช่วงปี 2011 มีผู้ได้รับปัญหาสุขภาพประมาณ 500 คน เสียชีวิตแล้วเกือบ 150 คน แม้จะมีผลิตภัณฑ์หลายยี่ห้อในตลาด (ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกเก็บหมดแล้ว) แต่ผู้บริโภคเชื่อว่า OXY ซึ่งครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดต้องรับผิดชอบต่อการตายของแม่และเด็กถึง 103 คน ในปี 2014 บริษัทบริจาคเงินเข้ากองทุนประมาณ 5,000 ล้านวอน (150 ล้านบาท) ให้ญาติผู้เสียหาย แต่พวกเขาไม่ต้องการ และยืนยันว่าต้องการคำขอโทษอย่างเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีให้ได้ยิน จึงเป็นที่มาของการออกมาบอยคอตดังกล่าว บริษัทยังมีเรื่องต้องเคลียร์อีกมาก ข้อกล่าวหา ณ จุดนี้ได้แก่ ... บริษัทรู้เรื่องอันตรายของสารเคมีที่ใช้ในน้ำยาฆ่าเชื่อโรคแต่ปกปิดไว้ บริษัทจ่ายเงินให้มหาวิทยาลัยทำวิจัย(ปลอมๆ) ออกมาสนับสนุนการขาย บริษัทแม่ที่อังกฤษสั่งให้สาขาที่เกาหลีทำลายหลักฐานทั้งหมด ... เรื่องเดียวที่ศาลตัดสินแล้วคือบริษัทมีความผิดฐานติดฉลากหลอกลวงผู้บริโภคว่า “รับประกันความปลอดภัย ไม่มีสารพิษ”   เรื่องไม่หมูเวียดนามก็เป็นอีกประเทศที่ผู้คนยังมีความเสี่ยงต่ออาหารไม่ปลอดภัย สำนักข่าวเวียดนามเน็ทบริดจ์ เขาสรุปสาเหตุไว้พอเป็นน้ำจิ้มดังนี้ อย่างแรกคือ ความโลภของผู้ประกอบการ การตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ในเมืองบินทันที่ฆ่าหมูคืนละ 1,000 ตัว พบสารเร่งเนื้อแดง ซัลบูทามอล ที่ห้ามใช้ไปแล้วในหมู 124 ตัว ในระยะการตรวจ 10 วันเขาพบหมูที่มีสารต้องห้ามถึง 1,000 ตัว ... หมูที่เลี้ยงด้วยสารต้องห้ามจะขายได้ราคาดีกว่าหมูธรรมดาถึงตัวละ 1 ล้านดอง (1,500 บาท) เลยทีเดียว สอง สารเคมีราคาถูกที่นำเข้าจากจีนโดยไม่มีการควบคุม เช่นสารเร่งเนื้อแดงที่ว่า หรือสารโอรามีนสำหรับย้อมสีหน่อไม้ให้เหลืองน่ากิน (แต่กินแล้วอาจเป็นมะเร็ง) ก็ราคาแค่กิโลกรัมละไม่ถึง 40 บาท ถ้ามีเงิน 8 บาทก็ซื้อมาย้อมหน่อไม้ได้ถึง 50 กิโลกรัม ทางการบอกว่าชายแดนเวียนนามยาวมาก ยากต่อการดูแลให้ทั่วถึง และสุดท้าย เวียดนามยังมีห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจหาสารพิษในอาหารไม่เพียงพอ และยังไม่ได้รับการรับรองจากทางการ ทำให้นำผลไปอ้างอิงเพื่อจัดการกับผู้ประกอบการไม่ได้ ในขณะที่ชาวบ้านร้านตลาดก็ยังไม่รู้เท่าทันกลโกงของพ่อค้าหัวใสที่มี “สิ่งดีๆ” มานำเสนอกันตลอด

อ่านเพิ่มเติม >