ฉบับที่ 120 น้ำมันมะพร้าวสะกัดเย็น (อีกสักที)

นานมาแล้วเมื่อผู้เขียนยังไม่ทราบว่าในอนาคตคนไทยจะชอบใส่เสื้อสีซ้ำซาก ผู้เขียนเคยสังเกตว่า เมื่อสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านไปกัดกับสุนัขบ้านอื่น หรือเวลาเป็นขี้เรื้อนเนื่องจากไปสำส่อนนอกบ้านมา คุณตาของผู้เขียนใช้กำมะถันผสมกับน้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้ในตะเกียงที่จุดเวลาไฟฟ้าดับ (เป็นประจำในยุคกึ่งพุทธกาล) ทาที่แผลหรือตรงที่เป็นขี้เรื้อน ของสุนัข แผลเหล่านั้นก็หายดีภายในเวลาไม่นานนัก  น้ำมันมะพร้าวที่ผู้เขียนกล่าวถึง คือ น้ำมันมะพร้าวปรกติที่มีการนำมาใช้ในการทอดกล้วยแขก ซึ่งจะให้กลิ่นรสเฉพาะตัวที่ผู้เขียนคิดว่า กล้วยแขกสมัยก่อนหอมดีกว่าปัจจุบัน โดยที่ในสมัยนั้นผู้เขียนยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่า ทำไมน้ำมันมะพร้าวถึงมีสรรพคุณในการรักษาแผลได้  เพิ่งมาเริ่มเข้าใจเอาเมื่อเวลาผ่านไปถึง 50 กว่าปี จากการโฆษณาขายน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีการกล่าวถึง ไขมันชื่อ กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในไขมันอิ่มตัวขนาดกลาง (medium chain triglyceride หรือ MCT) ที่มีการอ้างถึงในเอกสารทั้งที่เป็นสิ่งตีพิมพ์และในเน็ตว่า ฆ่าเชื้อได้ดี  จากการที่ผู้เขียนเข้าไปหาความรู้ใน wikipedia.org ทำให้พบคำตอบว่า เป็นความจริง แต่ความเป็นจริงนั้นไม่น่าประหลาดใจสักเท่าไร เพราะกรดไขมันอีกหลายชนิดก็มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของจุลชีพได้ ตัวอย่างเช่น กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวขนาดเล็กได้จากผลดิบของพืชชื่อ rowans ซึ่งขึ้นในที่หนาวเช่น แถบเทือกเขาหิมาลัย ญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ กรดซอร์บิกนี้ใช้ป้องกันเชื้อราและยีสต์ในอาหาร ปัจจุบันมีการสังเคราะห์ในรูปเกลือโซเดียมและโปแตสเซียม ส่วนกรดลอริกนั้นกำลังมีการพิจารณาจะใช้ในอาหารเช่นกัน  ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการฆ่าเชื้อได้ของกรดลอริกนั้น มีผู้แปลความว่ามันมีความสามารถเทียบได้กับภูมิต้านทานในนมเหลือง (Colostrum) ของแม่ลูกอ่อน เพราะในนมเหลืองของคนนั้นมีกรดชนิดนี้เป็นองค์ประกอบด้วย จึงทำให้มีคนเข้าใจว่าน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติเหมาะกับการเป็นสารเพิ่มภูมิต้านทานในเด็กด้วย ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้าแม่กินกรดลอริกไม่ว่าจากแหล่งอาหารใดก็ตาม เมื่อเข้าไปอยู่ในเลือดแล้ว โอกาสอยู่ในนมก็มีสูง นมคนนั้นใช้สารอาหารในเลือดเป็นวัตถุดิบในการสร้าง อะไรที่แม่กินลูกย่อมได้กินด้วย จนมีคนกล่าวว่า แม่ที่กินเผ็ดก็ทำให้ลูกที่กินนมแม่ได้สารเผ็ดด้วย (และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกมีผมบางเมื่อโต ประเด็นนี้ยังไม่มีการพิสูจน์นะครับ) หรือแม้แต่การวิเคราะห์นมแม่ในเมืองไทยก็มีการพบว่า สมัยที่เรามีการใช้ดีดีทีฆ่ายุงก้นปล่อง ก็สามารถพบสารนี้ได้ในนมแม่ สรุปแล้วการพบกรดลอริกในนมแม่ก็ไม่น่าประหลาดอะไร ถ้าแม่กินแกงกะทิต่างๆ ก่อนให้นมลูก ดังนั้นการโฆษณาคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเรื่องการฆ่าเชื้อโรคนั้น ต้องทำเข้าใจกันให้ดีหน่อย เพราะมีการแนะนำให้นำมาใช้ในการกลั้วปาก ซึ่งก็คงเป็นจริงอย่างมีโฆษณา ถ้าผู้ใช้คิดว่ามัน เท่ห์ กว่าใช้น้ำละลายเกลือแกงกลั้วปากก่อนนอน เรื่องนี้ตังค์ใครตังค์มันครับ   กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้วไม่อ้วน? เรื่องที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยมากเวลาไปบรรยายนอกสถานที่คือ “กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้วไม่อ้วนชิมิ เพราะไขมันขนาดกลางหรือ MCT นั้นเมื่อดูดซึมแล้วจะเข้าระบบเส้นเลือดไปตับทันที ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นองค์ประกอบเฉพาะที่ต้องไปทางระบบน้ำเหลืองก่อนไปตับ....”   การที่ MCT ไปตับโดยตรงนั้นเป็นสาเหตุทำให้มันถูกใช้เผาผลาญเป็นพลังงานได้เร็วกว่าไขมันในน้ำมันพืชอื่น คำโฆษณานี้ก็......ถูกต้องแล้วคร้าบ.......... แต่มันผิดอย่างมหาศาลเลยที่บอกว่า “….เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ผู้กินน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นไม่อ้วน…………”  ประเด็นกินไขมันแล้วจะไม่อ้วนนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยข้อแม้ต่อไปนี้คือ กินน้อย ๆ หรือ กินแล้วมีการใช้แรงงานในการทำงานสูงจนไขมันถูกนำไปใช้เป็นพลังงานหมด ไม่เหลือให้นำไปใช้สร้างเป็นไขมันต่าง ๆ สะสมในร่างกายซึ่งรวมถึงโคเลสเตอรอล ในเน็ตที่มีการโฆษณาถึงคุณสมบัติของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นนั้นใช้คำพูดดังนี้ “....แม้การลดความอ้วนด้วยวิธีควบคุมอาหารจะมีมากมาย แต่การกินน้ำมันมะพร้าวเพื่อลดน้ำหนัก คือกินไขมันเพื่อลดไขมัน ซึ่งเป็นวิธีการแบบหนามยอกต้องเอาหนามบ่งนี้ พบว่าจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ 4-5 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน………..” รายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านคงหาอ่านได้ไม่ยากนัก  สำหรับผู้เขียนยังคงเป็นกบในกะลาที่อยู่ในวังวนของความรู้ที่เรียนมา และปัจจุบันกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณาสุขก็ยังแนะนำประชาชนว่า กินไขมันให้น้อย เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือถ้าต้องการความรู้นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาก็สามารถพบว่า กระทรวงด้านสุขภาพของอเมริกันมหามิตรยังคงแนะนำประชาชน ให้กินไขมันให้น้อยเท่าที่จะน้อยได้นะครับ โดยไม่เคยมีข้อมูลแนะนำให้กินน้ำมันเป็นช้อน ๆ เพื่อลดความอ้วนเลย  ในความรู้สึกของผู้เขียนแล้วตราบใดที่เรายังกินอาหารเหมือนคนธรรมดา โอกาสขาดไขมันนั้นไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นมังสวิรัติแบบเคร่ง ก็ยังกินถั่ว ซึ่งมีไขมันพอควร ดังนั้นการส่งเสริมการขายน้ำมันอะไรก็ตามที่อวดว่า กินแล้วไม่อ้วนหรือรักษาโรคนั้น มีผู้เจอดีมาแล้วในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องขยายความ ในสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขายได้กว้างขวางกว่าในประเทศไทย แต่ US.FDA นั้นก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการโฆษณาที่เกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคนั้นเป็นคุณสมบัติของยาเท่านั้น   เรื่องโกหกของน้ำมันมะพร้าว  ก่อนอื่นต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นหรือ virgin coconut oil ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ใต้รัฐบัญญัติชื่อ Dietary Supplement Health and Education Act of 1994 (DSHEA)  น่าประหลาดที่รัฐบัญญัตินี้ไม่ได้ขึ้นกับ US.FDA แต่กลับอยู่ภายใต้ FTC หรือ Federal Trade Commission ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เหมือนมีหน้าที่คล้ายบางส่วนของกระทรวงพาณิชย์ผสมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของเรา ดังนั้น US.FDA จึงมีบทบาทแค่คอยจับตาดูเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นและหาทางฟ้องลงโทษสินค้าที่โฆษณาอวดอ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียน  สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในสังกัดของ อย. อเมริกานั้น Wikipedia.org กล่าวว่า “The DSHEA, passed in 1994, was the subject of lobbying efforts by the manufacturers of dietary supplements and restricted the ability of the FDA to exert authority over supplements so long as manufacturers made no claims about their products treating, preventing or curing diseases....” ที่เหลือนั้นท่านผู้อ่านไปอ่านได้เอง ถ้าท่านผู้อ่านเข้าใจในเรื่องของ lobbyist กับนักการเมืองในสหรัฐอเมริกาแล้ว ท่านอาจขนลุกในอิทธิพลของบริษัทขนาดยักษ์ของอเมริกัน ที่มีอิทธิพลทั่วดาวเคราะห์ที่เรียกว่า โลก ใบนี้ทีเดียว  จากเว็บไซต์ quackwatch.com ที่ควบคุมโดย นายแพทย์ Stephen Barrett มีข้อมูลน่าสนใจว่า FDA Orders Dr. Joseph Mercola to Stop Illegal Claims โดยมีข้อมูลเป็นจดหมายของ US.FDA ที่เตือนในปี 2005 ให้ดอกเตอร์เมอร์โคลาและสถานบริการชื่อ Optimal Wellness Center หยุดการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของ FDA ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และบนอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับสินค้าสามชนิดซึ่งหนึ่งในนั้นคือ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ข้อความโฆษณาดังกล่าวอ้างว่า สินค้าชนิดนี้ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ มีความสามารถในการต้านโรค Crohn's disease แก้อาการผิดปรกติของทางเดินอาหารและฆ่าเชื้อโรคติดต่อหลายชนิด การเตือนของ US.FDA ได้ทำซ้ำอีกครั้งในปี 2006 โดยใช้จดหมายออกจาก US.FDA โดยดูได้จากหัวกระดาษทั้งสองฉบับ ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นเพื่อดูตัวจดหมายที่เป็นภาพถ่ายได้ และจะเห็นได้ว่าในสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารขายได้กว้างขวางกว่าในประเทศไทย แต่ US.FDA นั้นก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการโฆษณาที่เกี่ยวกับการรักษาโรค เพราะการรักษาโรคนั้นเป็นคุณสมบัติของยาเท่านั้น ซึ่งต่างจากในประเทศไทยที่การโฆษณาสินค้าประเภทนี้ดูไร้ขอบเขตจำกัด ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลและเปรียบเทียบได้จากอินเตอร์เน็ต และขอให้ใช้ กาลามสูตร ให้จงหนักในการเชื่อหรือไม่เชื่อในข้อมูลที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ทหรือหนังสือบางเล่มที่บูชาน้ำมันมะพร้าวว่า นำไปสู่ความมีสุขภาพดีถาวร  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 101 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง (ตอน 3)

รศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับนี้เป็นตอนจบที่เราจะยังวนเวียนอยู่ในหลุมน้ำมันมะพร้าวต่อไป เพื่อตรวจสอบว่าเกิดประกายไฟในสมองท่านผู้อ่านหรือยัง ในการตัดสินใจว่าควรกินน้ำมันนี้แบบผิดมนุษย์มนาต่อไปหรือไม่ จริงอยู่ที่ว่าคนบนเกาะนี้อ้วนเพราะเลิกกินน้ำมันมะพร้าวหันไปกินน้ำมันอื่นกันแต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าถ้าหากหันกลับมากินน้ำมันมะพร้าวและจะผอมได้ เพราะพฤติกรรมความเป็นอยู่แบบชาวเกาะได้เปลี่ยนไปเป็นแบบชาวผิวขาวเสียแล้ว ในเว็บ http://gotoknow.org/ มีบล็อกของ นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลห้างฉัตร จังหวัดลำปางได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวอย่างตรงไปตรงมาว่า โคเลสเตอรอลในร่างกายส่วนใหญ่ (70-80 %) สร้างขึ้นเองภายในร่างกาย ส่วนน้อยมาจากอาหาร โคเลสเตอรอลมีเฉพาะในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชไม่มีโคเลสเตอรอลก็จริง ทว่า... ถ้าเรากินไขมันอิ่มตัวเข้าไปมากเกินจะทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มขึ้น และอาจทำให้ตับสร้างโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลงได้ การควบคุมโคเลสเตอรอลด้วยอาหารจึงควรเน้นการลดไขมันอิ่มตัวเป็นอันดับแรก อันดับต่อไปให้ลดโคเลสเตอรอลจากสัตว์ เช่น อาหารทะเล(ยกเว้นปลาทะเล ปลิงทะเล) เครื่องในสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์มากเกิน เว็บ http://gotoknow.org/home นี้เป็นเว็บสุขภาพที่น่าสนใจเข้าไปชมครับ ผู้เขียนขอขยายความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานหลัก คือ แป้งและไขมันต่อการสร้างโคเลสเตอรอลดังต่อไปนี้ เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า สารตั้งต้นของการสร้างโคเลสเตอรอลนั้นคือ อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งเป็นตัวกลางที่เกิดระหว่างการเผาผลาญแป้งและการเผาผลาญกรดไขมัน ดังนั้นเมื่อใดที่เรากินแป้งมากไป หรือไขมันมากไป อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานไม่หมด ก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสร้างโคเลสเตอรอลได้ ดังแผนภาพง่าย ๆ ดังนี้ รายละเอียดนั้นหาดูได้ในหนังสือชีวเคมีทั้งภาษาไทยและเทศ หรือจะเข้าไปดูที่ http://www.cholesterol-and-health.com/Synthesis-Of-Cholesterol.html ก็ย่อมได้ ความรู้ตรงนี้อธิบายความว่า การกล่าวว่าในน้ำมันมะพร้าวไม่มีโคเลสเตอรอลนั้น กินเข้าไปแล้วไม่อันตรายนั้น ไม่ถูกต้องแน่ เพราะพูดไม่จบ ดังที่ผู้ขายน้ำมันกล่าวว่า น้ำมันมะพร้าวกินเข้าไป กรดไขมันถูกใช้ง่ายมากนั้นถูกต้อง แต่ถ้ากินมากไป ต้องไม่ลืมว่า เมื่อร่างกายได้พลังงานพอแล้ว ตัวกลางระหว่างการใช้น้ำมันมะพร้าวในร่างกายคือ อะเซ็ตติลโคเอนไซม์เอ นั้นจะเหลือค้างจนถูกเอาไปสร้างโคเลสเตอรอลได้ ดังนั้นถ้าเราไม่ระวังให้ดี โอกาสที่ระดับโคเลสเตอรอลจะขึ้นสูงก็มีได้ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องคือ ไม่ว่าจะกินน้ำมันหรือไขมันอะไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่เกินความ ต้องการของร่างกาย อันตรายย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะร่างกายสามารถใช้เป็นพลังงานได้ แต่เมื่อใดที่เหลือ ร่างกายจะนำไปสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ที่ร่างกายต้องการเช่น โคเลสเตอรอล ฮอร์โมนเพศ ฯลฯข้อควรสังเกตคือ จากฉลาดซื้อฉบับที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นไว้ว่า กรดไขมันที่ได้จากไขมันนั้น ไม่ว่าจะอิ่มหรือไม่อิ่มตัว สามารถถูกนำไปใช้สร้างเป็นผนังเซลล์ได้ ดังนั้นถ้ากินไขมันไม่อิ่มตัวมากไป ผนังเซลล์จะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดออกซิเดชั่นได้อนุมูลอิสระ ดังนั้นผู้ที่กินน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงเช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด จำเป็นตัองกินสารต้านอนุมูลอิสระให้มากพอ ซึ่งไม่ยากที่จะหา เพราะมีในผักผลไม้สีเข้มต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปซื้ออาหารเสริมกินให้แพงและไม่อร่อย   ในเรื่องคุณสมบัติการป้องกันโรคหัวใจนั้น ผู้ขายน้ำมันมักบอกว่า “คนส่วนมากเข้าใจว่าน้ำมันมะพร้าวมีอันตรายต่อหัวใจ ทั้งที่ความจริงเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะน้ำมันชนิดนี้มี lauric acid ซึ่งป้องกันปัญหาของหัวใจรวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับปริมาณโคเลสเตอรอลและปัญหา ความดันโลหิตสูง ไขมันอิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวนั้นไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงและไม่เป็นปัจจัยการเพิ่มไขมันไม่ดีคือ LDL นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังลดอาการตีบตันของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ” คำกล่าวของคนขายน้ำมันนั้นบอกเป็นนัยๆ ว่า ตำราและอายุรแพทย์รวมทั้งนักโภชนาการดัง ๆ ของโลกนั้นเข้าใจผิด เพราะไม่ว่าเว็บไหน ตำราเล่มไหน ก็บอกว่า ให้เลี่ยงไขมันอิ่มตัว ใครที่เชื่อคนขายน้ำมัน ก็ตัวใครตัวมันแล้วกันนะครับคนขายน้ำมันมักกล่าวต่ออีกว่า “ในการลดน้ำหนักนั้น น้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์อย่างมากเพราะมีทั้งกรดไขมันสายสั้นและสายปานกลางที่ช่วยลดน้ำหนักตัว เนื่องจากย่อยง่ายและช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ และระบบเอนไซม์ นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังเพิ่มการทำงานของร่างกายโดยลดความเครียดของตับอ่อนทำให้การเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น ซึ่งช่วยคนอ้วนให้ลดน้ำหนักได้ ดังที่ได้เห็นจากประชาชนในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งกินน้ำมันมะพร้าวเป็นหลักไม่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน” ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อความดังนี้แล้วต้องเป็นคนหูหนัก พยายามพิจารณาหรือหาข้อมูลอื่นมาประกอบ ทั้งนี้เพราะคนที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งกินน้ำมันมะพร้าวนั้นมักเป็นประเทศยากจน ต้องใช้แรงงานในการดำเนินชีวิต ดังนั้นโอกาสอ้วนจึงน้อยกว่าคนในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งใช้แรงงานประจำวันน้อยจะไปไหนที่ก็ใช้รถ ขอเสนอว่า ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนที่ใช้แรงน้อยในแต่ละวัน ลองกินน้ำมันมะพร้าวแบบไม่บันยะบันยังแล้วไม่อ้วนให้เห็นภายใน 1 ปี ท่านอาจถูกนำไปออกงานวัดภูเขาทองได้เลย เพราะกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ไปแล้ว ทั้งนี้เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับชาวเกาะทะเลใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกในเว็บของ BBC ว่า ประเทศด้อยพัฒนาเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรม ที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ และบางเกาะยังมีทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำมันดิบ จึงทำให้วัฒนธรรมการกินและความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ประเทศที่เป็นเกาะเหล่านี้บางประเทศจึงเป็น the fattest nation on earth. เช่น ประเทศ Nauru ซึ่งประชากรที่เป็นผู้ใหญ่อ้วนถึงร้อยละ 94

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 100 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง (ตอน 2)

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลถ้าท่านผู้อ่านเข้าไปในเว็บขายน้ำมันมะพร้าวของคนไทย จะพบว่ามีนักวิชาการหลายคน ออกมากล่าวถึงข้อดีของน้ำมันมะพร้าวหลายประการ ซึ่งถ้ามองด้วยความเป็นธรรมแล้ว หลายๆ ประเด็นน่าจะมีความเป็นจริงอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า หาคำยืนยันในข้อมูลดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการได้ยาก ตัวอย่างเช่น มีผู้กล่าวว่า “จากการศึกษาเรื่องนี้มา 30 ปี พบว่า แม้น้ำมันมะพร้าวจะประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว แต่มีกรดลอริกสูง และวิตามินอีที่มีอานุภาพสูง จึงมีบทบาทอย่างมากต่อสุขภาพ และความงามของมนุษย์ ไม่ว่าจะใช้บริโภคเป็นอาหาร หรือเป็นอาหารที่เป็นยา และการใช้ภายนอกโดยการถูตัวหรือ ชโลมผม เนื่องจากมีแคลอรีต่ำจึงให้พลังงานน้อยกว่าน้ำมันพืชอื่น ๆ มีโคเลสเตอรอลน้อยที่สุด กระตุ้นขบวนการเผาผลาญในร่างกาย ป้องกันการสะสมไขมันทำให้ไม่อ้วน มีสารปฏิชีวนะช่วยต่อต้านเชื้อโรค มีวิตามินอีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ไม่หืนเมื่อเก็บไว้นานๆ เพิ่มคุณค่าอาหารโดยเพิ่มการดูดซึมวิตามิน เกลือแร่ และกรดอะมิโน ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย แม้น้ำมันมะพร้าวจะมีฤทธิ์เป็นยา แต่ไม่ใช่ยา ดังนั้นไม่ควรบริโภคเกินความจำเป็น อัตราที่แนะนำคือไม่เกินวันละ 3.5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรส่งเสริม และทำให้น้ำมันมะพร้าวเป็นสินค้าโอทอปเพราะมีประโยชน์” ประเด็นที่ได้ขีดเส้นใต้นั้น อ่านดูแล้ว น่าจะผิดแน่ ๆ เพราะในตำราชีวเคมีไม่ว่าเล่มไหนก็บอกว่า น้ำมันนั้น 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี ไม่เห็นมีเล่มไหน (ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับว่ามีระดับ) กล่าวยกเว้นน้ำมันมะพร้าวในเรื่องการให้พลังงานเลย อีกทั้งการปรากฏตัวของโคเลสเตอรอลนั้นก็มีเฉพาะในไขมันที่มาจากสัตว์ เพียงแต่ว่าการกินไขมันมากเกินความต้องการของร่างกายนั้น ส่งผลให้ร่างกายนำไขมันที่เกินไปสร้างเป็นไขมันอื่นๆ รวมทั้งโคเลสเตอรอลได้ ดังนั้นไม่ว่ากินไขมันจากอะไรก็ตาม อ้วนได้ทั้งนั้น แล้วเพราะเหตุใดนักวิชาเกินเหล่านี้จึงยอมทำเรื่องผิดให้เหมือนถูกนี้ คำตอบน่าจะเป็นเพราะ เขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับชีวเคมีดีหรือเพราะว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นของถูก สามารถขายแพงได้กำไรดี อาจกล่าวได้ว่านักวิชาเกินพวกนี้ชอบเขียนความรู้ทางวิชาการไม่ครบ ซึ่งเป็นไปตามหลักการโฆษณาขายสินค้าที่มักบอกแต่สิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภคสบายใจ สิ่งไหนไม่ดีเก็บไว้ให้คนขายเป็นทุกข์ฝ่ายเดียว ช่างใจบุญกระไรเช่นนี้ ผู้ขายน้ำมันมะพร้าวมักกล่าวว่า “ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันมะพร้าวได้แก่ บำรุงผม รักษาผิวกาย ลดความเครียด รักษาระดับของโคเลสเตอรอลในร่างกาย ลดน้ำหนัก เพิ่มระดับภูมิต้านทาน ช่วยในการย่อยอาหารและการใช้สารอาหารให้เป็นประโยชน์ ลดปัญหาที่เกิดกับไต โรคหัวใจ ความดับโลหิตสูง เบาหวาน รักษาโรคเอดส์และมะเร็ง รักษาฟัน และบำรุงกระดูกให้แข็งแรง เหตุที่น้ำมันมะพร้าวดีได้ถึงเพียงนี้เป็นเพราะมันมี lauric acid, capric acid และ caprylic acid พร้อมทั้งมีสารต้านจุลชีพ สารต้านอนุมูลอิสระ สารต้านเชื้อรา สารต้านแบคทีเรีย เป็นต้น”ร่างกายมนุษย์สามารถเปลี่ยน lauric acid ไปเป็น monolaurin จึงมีผู้เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้สามารถต่อสู้กับไวรัสหลายชนิดเช่น herpes, influenza, cytomegalo virus, ตลอดจนสู้ HIV และสามารถสู้แบคทีเรียตัวร้ายหลายชนิดเช่น listeria monocytogenes และ heliobacter pylori แพทย์ ด้านอายุรเวชของอินเดีย (Ayuraveda) จึงเลือกน้ำมันมะพร้าวเป็นตัวยาสำคัญในการรักษาโรค อย่างไรก็ดี กลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ยังไม่เป็นที่ทราบดีนัก ความจริงที่ท่านผู้อ่านควรรู้ก็คือ กรดไขมันทุกชนิดก็ว่าได้ มีความสามารถในการป้องกันการเจริญของจุลชีพ ตัวอย่างเช่น กรดไขมันที่ชื่อ ซอร์บิก ได้ถูกนำมาใช้เป็นสารต้านเชื้อราในอาหาร อีกทั้งอาหารที่ผ่านการทอดและอมไขมันไว้ เช่น ไก่ทอด ทอดมันปลากราย หรือแม้แต่โรตี ก็สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าอาหารต้ม เพราะมันมีความชื้นต่ำและมีไขมันเป็นตัวป้องกันการเจริญของแบคทีเรีย คนขายน้ำมันมักกล่าวว่า “นักกรีฑาและนักเพาะกายนิยมบริโภคน้ำมันมะพร้าวเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ระหว่างการจำกัดอาหาร ด้วยเหตุผลที่ว่า น้ำมันมะพร้าวมีพลังงานต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น องค์ประกอบนั้นง่ายต่อการเปลี่ยนไปเป็นพลังงานทำให้ไม่เกิดการสะสมเป็นไขมันในหัวใจและเส้นเลือด น้ำมันมะพร้าวช่วยในการเร่งพลังงานออกมาใช้ในนักกีฬา และช่วยให้นักกีฬามีความอึดในเกมส์” จึงต้องขอย้ำว่า คนขายน้ำมันนั้นพยายามไม่บอกว่า ถ้ากินน้ำมันมากเกินพอ ส่วนเกินก็จะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันใหม่ในร่างกายทำให้อ้วนได้ องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวนั้นกว่าร้อยละ 90 เป็นไขมันอิ่มตัว มีไขมันไม่อิ่มตัวเล็กน้อย กรดไขมันอิ่มตัวนั้นส่วนใหญ่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เรียกว่า medium chain triglycerides ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 6-12 ตัว โดยราวร้อยละ 40 เป็น lauric acid ตามด้วย capric acid, caprylic acid, myristic acid and palmitic ส่วนที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวคือ linoleic acid และมี กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวคือ oleic acid การมี medium chain triglycerides นั้นทำให้วงการอาหารการแพทย์เห็นประโยชน์ สกัดกรดไขมันกลุ่มนี้ไปเป็นแหล่งพลังงานของอาหารการแพทย์สำหรับผู้ป่วย ซึ่งต้องการแหล่งพลังงานที่สลายให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยในการฟื้นตัวของผู้ป่วยเท่านั้น ส่วนผู้ (ปรกติ) ดีทั้งหลายกินก็ได้ ไม่กินก็ได้ น้ำมันมะพร้าวมีสารต้านอนุมูลอิสระคือ polyphenol เช่น gallic acid ซึ่งอาจทำหน้าที่เป็นกลิ่นและรสของน้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ยังมีอนุพันธุ์ของกรดไขมันอีกหลายชนิด รวมทั้งมีวิตามินอีด้วย ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้ คนขายน้ำมันมักอ้างว่า น้ำมันมะพร้าวป้องกันการแก่ก่อนวัย เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งความจริงแล้ว ปริมาณมันไม่ได้มากเหมือนกับการไปรับ ประทานอาหารอื่น ที่เป็นแหล่งที่แท้จริงของวิตามินอี ขอให้ท่านผู้อ่านดูจากตารางต่อไปนี้แล้วกันแหล่งที่มา http://whqlibdoc.who.int/publications/2004/9241546123_chap5.pdf จากตารางดังกล่าวเห็นได้ว่า ปริมาณวิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวเทียบกับพืชที่เป็นอาหารอื่นๆ แล้ว ปริมาณวิตามินอีในน้ำมันมะพร้าวนั้น จิ๊บ ๆ เมื่อเทียบกับพืชอื่น ดังนั้นท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ความหวังว่าจะได้อะไรจากน้ำมันมะพร้าวนั้น ก็คงเป็นแค่ “ชีวิตที่มีหวัง” เท่านั้น ฉบับหน้าผู้เขียนจะยังขอนำความหวัง (ลมๆ แล้งๆ ) เกี่ยวกับน้ำจุดตะเกียงนี้มาให้ท่านผู้อ่านฟังต่อ เป็นฉบับที่สาม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 99 น้ำมันมะพร้าว….ประกายไฟในสมอง

ของฝากจากอินเตอร์เน็ตรศ. ดร.แก้ว กังสดาลอำไพสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล   ช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวด้านสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องโภชนาการหลายท่านคงเคยมีคำถามในใจอยู่คำถามหนึ่งที่ไม่เคยมีนักวิชาการออกมาตอบฟันธงเสียทีว่า virgin coconut oil หรือ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์นั้นมีประโยชน์จริงอย่างที่ผู้ขายโฆษณาหรือไม่   สำหรับผู้เขียนแล้ว ได้พยายามใช้หลักการเกี่ยวกับ กาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าสอนมาพิจารณาข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามาเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากเรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ ปัญญา ค่อนข้างมากในการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่ และที่สำคัญคือ จะควักกระเป๋าสตางค์ซื้อหรือไม่ (หลักการเกี่ยวกับกาลามสูตรหาได้ไม่ยากจาก google)   ปัญญาที่ท่านผู้อ่านต้องมีก่อนอื่นคือ รู้จักว่าไขมันหรือน้ำมัน คืออะไร จากนั้นต้องคำนึงเสมอว่า ผลของไขมันในร่างกายมนุษย์คือ อะไร ในบทความฉบับนี้จะให้ข้อมูลซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านพิจารณาสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเป็นปัญญาใช้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวว่า ท่านควรตัดสินใจอย่างไรกับไขมันนี้ก่อนอื่นผู้เขียนขอยกข้อความในเว็บโฆษณา ขายน้ำมันมะพร้าวเว็บหนึ่งคือ http://www.aja.org.br/oleos/coconut_oil_good_saturated_fat.pdf ว่า “We believe the real culprits in heart disease are more likely to be obscenely elevated intakes of human-made trans fatty acids from hydrogenated oils, polyunsaturated fats high in omega-6 fatty acids (such as those in corn oil and prepared foods), and overconsumption of carbohydrates, especially refined carbohydrates found in pastries, candy and other processed foods.” กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้ประสงค์จะออกความเห็นแต่ไม่ปรากฏนามนี้ พยายามบอกว่า ตัวการทำให้เกิดโรคหัวใจนั้นคือ การกินอาหารมีกรดไขมันทรานซ์ (ในไขมันเช่น เนยเทียม) จากกรดไขมันพวกโอเมกา 6 เช่นน้ำมันข้าวโพด และจากอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ตลอดจนการกินอาหารแป้งมากไป แต่ไม่ได้แตะว่าไขมันอิ่มตัวซึ่งมีในไขมันทุกแหล่งก็เป็นปัญหา เพราะถ้าแตะเมื่อไร น้ำมันมะพร้าวก็คงเข้าไปอยู่ในตะเกียงหมดแน่ ประเด็นที่สำคัญคือ ข้อมูลนี้ครบหรือไม่ ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่า ข้อมูลในเว็บนั้น ส่วนใหญ่คือ การโฆษณา และท่านต้องมีปัญญาที่จะทราบว่า การโฆษณานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลข้างเดียวคือ ประโยชน์ ดังนั้นผู้เขียนจะขอคุยเรื่องที่คนทำโฆษณาไม่คุย เพื่อให้ข้อมูลแก่ท่านผู้อ่านที่อาจกำลังจะกรอกน้ำมันมะพร้าวเข้าปาก ตามคำเชิญชวนของผู้ค้าทั้งหลาย ได้ลองคิดดูก่อนตัดสินใจ ข้อมูลแรกที่ต้องทราบคือ ไขมันจากอาหารนั้นร่างกายมนุษย์ต้องการนำเข้าสู่ร่างกายเพื่อเป็นพลังงาน เพื่อนำไปสร้างสารชีวเคมีที่ร่างกายจำเป็นต้องมี เช่น ฮอร์โมนต่าง ๆ และเพื่อเอาไปเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่ร่างกายสร้างขึ้นใหม่ ไขมันหรือน้ำมันนั้น กินน้อยไม่ดี กินมากไม่ดี กินพอดีๆ ถึงจะดี เพราะมนุษย์ต้องการไขมันเป็นตัวพาเอาวิตามิน เอ อี อี เค ตลอดจนวิตามินดีในอาหารเข้าสู่ระบบของร่างกาย การขาดไขมันหรือได้รับน้อยไป ส่งให้ผลให้ร่างกายของเราขาดวิตามินเหล่านี้ ปัจจุบันนี้ ในทางวิทยาศาสตร์สุขภาพเราทราบแล้วว่า การขาดวิตามินเอและอีนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เพราะวิตามินทั้งสองเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตามวิตามินทั้งสองถ้าได้มากไปก็ก่อปัญหากับตับได้เช่นกัน เพราะจะไปสะสมที่ตับ ทำให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากตับนั้นปรกติแล้วเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมาก จึงพยายามไม่สะสมอะไร เมื่อใดที่ตับเริ่มมีการสะสมสารอาหาร เมื่อนั้นจะหมายความว่า ตับเริ่มมีปัญหา นักวิทยาศาสตร์พบว่า สารพิษหลายชนิดที่ให้แก่สัตว์ทดลองก่อให้ตับเกิดอาการที่เรียกว่า fatty liver คือ อาการที่มีไขมันอยู่มากในเซลล์ตับจนมองเห็นเป็นไขสีเหลืองที่ตับเมื่อเปิดหน้าท้องสัตว์ทดลอง ความหมายของ fatty liver คือ ตับทำงานต่ำลง ทั้งนี้เพราะตับเป็นอวัยวะหลักในการเผาผลาญไขมันไปเป็นพลังงาน หรือไปเป็นสารตั้งต้นของสารชีวเคมีอื่นในร่างกาย ดังนั้นการคั่งของไขมัน จึงเป็นหลักฐานทางวิชาการที่บอกว่า การทำงานของตับต่ำลง ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในสุขภาพคงมีความรู้แล้วว่า ไขมันนั้นแบ่งง่าย ๆ ได้หลายวิธี เช่น การแบ่งเป็นไขมันจำเป็น ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องกินอย่างเดียว และไขมันไม่จำเป็น ซึ่งสร้างได้เองในร่างกาย นักเคมียังแบ่งไขมันออกเป็น ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว นอกจากถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายและสร้างสารชีวเคมีที่มีหน้าที่ในร่างกายแล้ว ร่างกายมนุษย์และสัตว์ยังเอาไขมันไปเป็นองค์ประกอบของเซลล์ที่สร้างใหม่ด้วย ดังนั้นถ้าท่านกินไขมันไม่อิ่มตัว เซลล์ใหม่ของร่างกายก็จะนำเอาไขมันไม่อิ่มตัวไปสร้างเป็นผนังเซลล์ด้วย แต่ถ้ากินไขมันอิ่มตัว ร่างกายท่านก็จะมีไขมันอิ่มตัวเป็นผนังเซลล์ ซึ่งทั้งสองกรณีมีข้อดีและเสียต่างกัน เมื่อผู้เขียนเริ่มทำงานใหม่ ๆ คือในปี พ.ศ. 2525 ได้พบข่าวว่าประเทศทางยุโรปได้รณรงค์ให้กินไขมันไม่อิ่มตัวสูงชนิดที่เรียกว่า polyunsaturated fatty acid ซึ่งเรียกย่อ ๆ ให้จำง่ายว่า PUFA เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันเนื่องจากไขมันไปสะสม เพราะ PUFA จะไปเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีในระบบเลือด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาเส้นเลือดหัวใจตีบได้ แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นได้มองข้ามประเด็นที่ว่า ไขมันไม่อิ่มตัวสูงนั้นมีความเสถียรหรือความอยู่ตัวต่ำ ถูกออกซิไดซ์ได้อนุมูลอิสระง่าย โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์  ท่านผู้อ่านที่ไม่ชินกับวิชา cell biology คงไม่ทราบว่า ได้มีการตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับเซลล์ว่า ผนังเซลล์ในร่างกายนั้นมีความต่อเนื่องกัน กล่าวคือ มีเพียงผนังเดียวที่เป็นทั้งผนังเซลล์และเป็นผนังของออร์กาเนลอื่น ๆ ในร่างกาย ซึ่งรวมถึงผนังนิวเคลียสด้วย (แต่ไม่รวมถึงไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นส่วนของเซลล์ที่มีความพิเศษหลายอย่างในตัวเอง) ทั้งนี้เพราะขณะที่เซลล์อยู่ในสถานภาพปรกติ องค์ประกอบในเซลล์คือ นิวเคลียสและเอ็นโดพลาสมิกเร็ทติคิวรัม ต่างก็มีผนังสองชั้นเหมือนผนังเซลล์ ซึ่งเข้าใจกันว่าอยู่ในสภาพของหนังยางที่วางขดอยู่ ไม่ได้คลายตัวเต็มที่ แต่ระหว่างช่วงการแบ่งเซลล์จากหนึ่งเป็นสองนั้น ผนังขององค์ประกอบดังกล่าวได้หายไป ซึ่งเชื่อกันว่าผนังนั้นไม่ได้หายไปไหน แต่ได้ยืดตัวออกในลักษณะหนังยางที่คลายตัวแล้ว ความเชื่อดังกล่าวนี้ ช่วยอธิบายปัญหาที่เกิดจากการบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากเกินไป ว่าเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งในชาวยุโรปที่เพิ่มการบริโภค PUFA เพราะกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงนั้นเป็นแหล่งก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ดังนั้นการบริโภคไขมันประเภทนี้ต้องประกอบไปกับการบริโภควิตามินหรือสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นด้วย ความจริงอีกประการที่ท่านผู้อ่านควรทราบคือ ไขมันนั้นแบ่งได้อีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นไขมันที่ลักษณะโมเลกุลเป็นเส้นซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ด้วยระบบเผาผลาญทางชีวเคมีของร่างกาย และไขมันอีกประเภทหนึ่งมีองค์ประกอบเป็นวง (ring) หลายวงซึ่งตัวอย่างที่ง่ายที่สุดที่ท่านผู้อ่านเข้าใจได้คือ โคเลสเตอรอล ไขมันประเภทที่เป็นวงเหล่านี้ ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่พลังงาน แต่ร่างกายเรามีความมหัศจรรย์ประการหนึ่งคือ เมื่อเราได้ไขมันที่เป็นเส้น เช่น กรดไขมันในไขมันพืช ไขมันหมู ไขมันวัว เข้าสู่ร่างกายมากๆ ร่างกายใช้เป็นพลังงานไม่หมด ตัวกลางที่เกิดระหว่างการเผาผลาญจะถูกนำไปสร้างเป็นไขมันที่มีองค์ประกอบเป็นวงได้ เช่น ฮอร์โมนเพศต่าง ๆ โคเลสเตอรอล เป็นต้น ดังนั้นท่านผู้อ่านคงไม่ประหลาดใจว่า ทำไมเวลาผู้กำกับภาพยนตร์จึงมักเลือก ชายสูงอายุ ร่างอ้วน ผมบาง เล่นเป็นตัวเจ้าสัวมักมากในกามคุณ เพราะความรู้ทางชีวเคมีทำให้สามารถอธิบายได้ว่า คนที่อ้วนมักกินอาหารมีไขมันสูง จนเหลือไปสร้างฮอร์โมนเพศให้สูงด้วย ดังนั้นในกรณีที่คนอ้วนเป็นคนดี ไม่มักมากในกามคุณ ก็น่าจะสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง ว่ามีความข่มใจในเรื่องเพศสูงมาก เพราะกำหนัดนั้นคุมยาก (หลักการนี้อธิบายได้ทั้งสามเพศเลยทีเดียว ไม่เฉพาะในผู้ชาย) ต้องใช้วัคซีนที่เป็นพระธรรมเท่านั้น เรื่องนี้ยาว ในฉบับนี้จึงอธิบายได้แค่พื้นฐานเกี่ยวกับไขมัน ด้วยประสงค์จะนำทางไปสู่การใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า ควรเอาน้ำมันมะพร้าวเข้าสู่ร่างกาย หรือไปจุดตะเกียงดี ที่สำคัญก่อนที่ท่านจะไปอ่านเรื่องนี้ต่อในฉบับหน้า ต้องขอฟันทั้งเสาธง (แค่ธงอย่างเดียวไม่พอ) เลยว่า อะไรก็ตาม กินมากไปอันตรายทั้งนั้น ไม่ว่าของที่กินนั้นจะเป็นอาหารกาย หรืออาหารสมอง โดยเฉพาะประเภทหลังนั้นได้กำลังทำให้ชาติเรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ชาติวิบัติแล้ว เพราะกินอาหารสมองผิดสำแดงจนกัดกันเองเกือบทั้งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 รู้เท่าทันน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์

เรื่องน้ำมันมะพร้าวดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในปัจจุบัน  โดยที่การส่งเสริมประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือบีบเย็น (virgin coconut oil) เริ่มต้นมาจากต่างประเทศ  จากกลุ่มที่นิยมการแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัด  และเกิดกระแสความนิยมอย่างกว้างขวาง  จนกระทั่งกระแสนี้ได้ขยายตัวเข้ามาเมืองไทย  ทำให้ผู้รักสุขภาพเกิดความตื่นตัวตามไปด้วย ในเมืองไทยนั้นสนใจทั้งในเรื่องความงามและสุขภาพ  และขยายตัวเข้าสู่การรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคไขมันในเลือดสูง  โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง  อย่างไรก็ตามก็มีแพทย์แผนปัจจุบันบางคนออกมาคัดค้านและต่อต้านว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว  เมื่อบริโภคต่อเนื่องจะทำให้ไขมันในเลือดสูงและเป็นอันตราย    เราจะรู้เท่าทันเรื่องนี้ได้อย่างไร  ลองมาศึกษากันเถอะ1.    ถ้าค้นคำว่า “น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์” จะพบว่าในเว็บไซต์ภาษาไทยและต่างประเทศ จะเต็มไปด้วยประโยชน์และข้อดีของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เต็มไปหมด  มีการกล่าวถึงข้อเสียหรือโทษเพียงเล็กน้อยถ้าผลิตไม่สะอาดหรือถูกวิธี  และกรณีที่เก็บรักษาไม่ดีจนมีกลิ่นหืน2.    ในประเทศไทยมีเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อเท็จจริงของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับการลดน้ำหนักว่า    น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ หมายถึงน้ำมันมะพร้าวที่ใช้วิธีการสกัดแยกจากเนื้อมะพร้าวโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูงและไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปทางเคมี เช่น วิธีบีบเย็น เป็นต้น     องค์ประกอบหลัก VCO เป็นกรดไขมันอิ่มตัว (มากกว่า 90% จากปริมาณกรดไขมันทั้งหมด) แต่เป็นกรดไขมันขนาดโมเลกุลปานกลาง (medium chain fatty acid) เช่น  กรดลอริก (lauric acid) ซึ่งเมื่อรับประทานและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเผาผลาญได้ดี จึงถูกสะสมในเนื้อเยื่อไขมันได้น้อยกว่ากรดไขมันที่มีขนาดโมเลกุลยาว (long chain fatty acid) เช่น กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น     จากคุณสมบัติดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันมะพร้าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในการรับประทานเพื่อช่วยลดความอ้วน จากรายงานการศึกษาทางคลินิกในประเทศบราซิล ทำการทดสอบเปรียบเทียบผลระหว่างกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะพร้าวและกลุ่มที่รับประทานน้ำมันถั่วเหลืองในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนลงพุง (abdominal obesity) พบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะพร้าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับโคเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) แต่มีระดับไขมันตัวดี (HDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.03 ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำมันถั่วเหลือง มีระดับโคเลสเตอรอลรวมและไขมันตัวร้าย (LDL) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45 และ 23.48 ตามลำดับ และมีระดับไขมันตัวดี (HDL) ลดลงร้อยละ 12.62 เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มการทดลอง อย่างไรก็ตามระดับไตรกลีเซอไรด์ของทั้งสองกลุ่มไม่เปลี่ยนแปลง  3.    ค้นในเว็บไซต์ทางการแพทย์ ในห้องสมุดคอเครน (Cochrane library)  ไม่พบการทบทวนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์กับสุขภาพ  ส่วนใน PubMed มีการรายงานงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์อยู่มากพอควรกว่า 58 บทความ  จึงขอสรุปผลการวิจัยของน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ดังนี้1)    มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง  สามารถป้องกันโรคหัวใจได้โดยป้องกันไม่ให้ความดันเลือดสูงในหนูทดลอง2)    สามารถลดโคเลสเตอรอล, LDL ไตรกลีเซอไรด์  ได้ดีกว่า น้ำมันมะพร้าวแบบเดิม น้ำมันมะกอก และน้ำมันเมล็ดทานตะวัน3)    มีผลในการต้านความเครียดและการต้านอนุมูลอิสระในหนูทดลอง4)    การใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น  ลดผลข้างเคียงของการใช้เคมีบำบัด5)    พอลิฟีนอลในน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สามารถลดการอักเสบของข้อในหนูทดลองได้6)    ป้องกันโรคกระดูกผุ (osteoporosis) ในหนูทดลอง    ดังนั้น ความเชื่อเรื่องน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จึงมีหลักฐานการวิจัยรองรับมากพอควร  สมควรที่ประเทศไทยต้องทำการศึกษาในคนอย่างเป็นระบบ  เพราะจะมีประโยชน์ทั้งสุขภาพและทั้งเศรษฐกิจของชุมชน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point