ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >