ฉบับที่ 235 ผลทดสอบพาราควอตในน้ำปูหรือน้ำปู๋

        น้ำปูหรือน้ำปู๋ คือ อาหารพื้นเมืองและดั้งเดิมของภาคเหนือ โดยเป็นเครื่องปรุงรสกลุ่มเดียวกันกับกะปิ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ น้ำพริกน้ำปู๋ แกงหน่อไม้ ตำกระท้อน เป็นต้น ซึ่งวิธีการทำน้ำปูนั้น ชาวบ้านจะนำปูนามาล้างให้สะอาด ใส่ใบขมิ้นและตะไคร้โขลกรวมกันจนละเอียด นำปูที่โขลกแล้วละลายน้ำกรองเอาแต่น้ำปู จากนั้นเคี่ยวโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 8 ชั่วโมง จะได้น้ำปูข้นเหนียวเป็นสีดำ โดยการทำน้ำปูนั้นใช้ปูนาเป็นจำนวนมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะได้น้ำปูปริมาณเพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น         ทำไมต้องทดสอบสารพาราควอตในน้ำปู ทั้งที่มีประกาศแบนหรือห้ามการใช้สารชนิดนี้แล้ว (เมื่อ 1 มิถุนายน 2563)  เหตุหนึ่งเพราะต้องการตอบข้อสงสัยที่ว่า พาราควอต ซึ่งถูกใช้ในการกำจัดวัชพืชในนาข้าวนั้นจะยังคงเหลือตกค้างอยู่ในนาหรือไม่ โดยเฉพาะการตกค้างในสิ่งมีชีวิตตัวเล็กอย่างปูนา ซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะทางภาคเหนือที่มีการนำมาทำน้ำปู ทั้งนี้ในงานวิจัยเมื่อปี 2561 ของ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ชี้ว่าสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารฆ่าหญ้ามีการตรวจพบในกบ ปู หอย แม้ว่าจะเป็นสารที่เน้นใช้กำจัดวัชพืช แต่ก็มีการสะสมไปที่ตัวสัตว์ด้วย ข้อมูลในจังหวัดน่าน (พื้นที่ศึกษา) พบว่ามีการปนเปื้อนพาราควอต 24 – 56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในปูนา และอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายมนุษย์เมื่อมีการบริโภคเป็นทอดๆ ต่อมา เช่น การนำปูนามาแปรรูปเป็นน้ำปู คนในพื้นที่ก็อาจได้รับสารพาราควอตไปด้วย         ผลการวิจัยของจุฬาฯ ถูกใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อแบนสารพาราควอต ซึ่งฉลาดซื้อเองก็เคยทำเรื่องทดสอบ สารพาราควอตในปูนาดองเค็มที่นิยมใช้ในการทำส้มตำ ซึ่งการทดสอบครั้งนั้นไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างทำแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีข้อมูลว่า ปูนาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปูนาดองนั้นเป็นปูเลี้ยงไม่ใช่ปูนาที่จับมาจากธรรมชาติ         อย่างไรก็ตามได้มีการนำข้อมูลของฉลาดซื้อไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชะลอการแบนพาราควอตหรือยกเลิกการแบนเช่นเดียวกับสารไกลโฟเสต (https://siamrath.co.th/n/178426?fbclid=IwAR3MIbmAiAfl3TT3d91Wpd3uQ87UlXxTaHCu7tr6GEx_YVLQ0CiVRiyB-eg)  เพราะปูนาดองมีความปลอดภัย ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลเดิมที่เกิดจากงานวิจัยของทางจุฬาฯ และฉลาดซื้อไม่เคยทดสอบน้ำปู         ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อ  และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 กันยายน 2563 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต (paraquat)          ผลการทดสอบ        พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ มีค่าเฉลี่ยของการตกค้างพาราควอตเป็นจำนวน 0.04275 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        ตัวอย่างน้ำปูที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่        1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.090 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบปริมาณพาราควอต 0.074 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม เก็บตัวอย่างจาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบปริมาณพาราควอต 0.046 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.040 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบปริมาณพาราควอต 0.031 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก บ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบปริมาณพาราควอต 0.011 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        8.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบปริมาณพาราควอต 0.006 มิลลิกรัม/กิโลกรัม        พาราควอต ทำไมถึงสั่งแบน         "พาราควอต" สารเคมีกำจัดวัชพืช มีคุณสมบัติทำลายการสังเคราะห์แสงของใบไม้เมื่อฉีดพ่นไปโดนส่วนที่เป็นใบเขียวจะทำให้วัชพืชเหี่ยวและตายไป โดยกลไกการทำงานของพาราควอตนั้น กำจัดเฉพาะศัตรูพืชเท่านั้นไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากและโคนต้น ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างกว้างขวาง เป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย         มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยเมื่อปี 2560 ซึ่งค้นพบกลไกที่พาราควอต ทำลายเซลล์ประสาทจากการสร้างอนุมูลอิสระพิษ และงานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศที่ชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันร้อยละ 67-470 อีกทั้งการใช้พาราควอตในประเทศไทยยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมารดาและทารกด้วย โดยงานวิจัยของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในในซีรัมมารดาและสายสะดือทารกมากถึงร้อยละ 17-20 จากการประเมินของนักวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร มีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอตคิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และการตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิดคือหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องด้วย         สถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า จากการตรวจสอบการปนเปื้อนสารของสารพิษบนพื้นที่ต้นแม่น้ำน่านในช่วงฤดูเพาะปลูก พบว่า จากตัวอย่างน้ำผิวดินพบพาราควอตปนเปื้อน 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง ส่วนน้ำใต้ดินพบพาราควอต 13 แห่ง จากตัวอย่าง 15 แห่ง สารที่ตกค้างยังสามารถแพร่กระจายต่อไปยังพืชสัตว์และแหล่งน้ำอื่นๆ ได้        สอดคล้องกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่พบสารพาราควอตในผักผลไม้ ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกในระดับเกินมาตรฐาน “การสะสมของพาราควอตในผัก ผลไม้ไม่สามารถล้างออกได้ ต่อให้เอาผักไปต้มก็กำจัดไม่ได้เช่นกัน เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านั้น” รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่มา "พาราควอต" คืออะไร ทำไมต้องขอแบน?https://news.thaipbs.or.th/content/277809

อ่านเพิ่มเติม >