ฉบับที่ 271 สำรวจฉลากโภชนาการ “เครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช”

         หลายปีมานี้เทรนด์การบริโภคอาหารจากพืช (Plant-Based) ที่ตอบโจทย์ทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ขยายความนิยมครอบคลุมในทุกเมนูอาหาร รวมทั้งนมจากพืชด้วย ดังจะเห็นได้จากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืช ปี 2565 มี 17,960 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยส่วนใหญ่เป็นนมถั่วเหลือง รองลงมาได้แก่ นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และกะทิพร้อมดื่มตามลำดับเฉพาะผลิตภัณฑ์ “น้ำนมข้าว” นี้ได้รับการผลักดันจากกรมการค้าภายในมาตั้งแต่ปี 2562 ให้ผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์ของน้ำนมข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ให้ได้รับรู้กันในวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเครื่องดื่มน้ำนมข้าวส่วนใหญ่จึงผลิตในประเทศไทย มีราคาที่ผู้บริโภคซื้อดื่มอย่างต่อเนื่องได้ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ได้คิดค้นเครื่องดื่มน้ำนมข้าวออกมาให้ผู้บริโภคเลือกหลากหลายสูตร โดยบางรายผสมธัญพืชต่างๆ เติมน้ำตาล สารปรุงแต่งอื่นๆ เพื่อให้รสชาติอร่อย ดื่มง่าย และอาจเพิ่มสารกันเสียเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช จำนวน 26 ตัวอย่าง แบ่งเป็น แบบผงชงดื่ม 8 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ และแบบบรรจุขวด/กล่องพร้อมดื่ม 18 ตัวอย่าง 5 ยี่ห้อ เมื่อเดือนกันยายน 2566 มาสำรวจฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียม รวมถึงเปรียบเทียบราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลสำรวจ         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่ง 1 หน่วยบริโภค พบว่าพลังงาน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 100 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยสุด =  25  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 180 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด =  50  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล น้ำตาล        แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 3 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อไรซ์มายด์เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่ระบุปริมาณไว้ ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นไม่มีน้ำตาล        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 14 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ส่วนมีน้อยสุด = 1 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู สูตรไม่เติมน้ำตาล ส่วนที่ไม่มีน้ำตาล คือยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โปรตีน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  6 กรัม คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว ไม่มีโปรตีนแบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 6 กรัม คือ ยี่ห้อเนเจอร์ริช น้ำข้าวกล้องงอกผสมถั่ว 5 สี  ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก รสวานิลลา และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  15 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง และยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว ส่วนมีน้อยสุด = 3 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 32 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด = 4 กรัม คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โซเดียม         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  90 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว มีน้อยสุด = 10 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนอีก 4 ตัวอย่างนั้นไม่มีโซเดียมแบบพร้อมดื่ม : มีมากสุด = 230 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ส่วนมีน้อยสุด = 5 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ด รสงาดำ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ต รสจืด และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ตการเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ        แบบผงชงดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 1.83 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.44 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าวแบบพร้อมดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 0.15 บาท/ 1 มิลลิลิตร คือ ยี่ห้อฮูเร่ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ผสมน้ำนมข้าว ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.06 บาท/ 1 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อดีน่า นมถั่วเหลือง สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น และน้ำนมถั่วเหลือง สูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องงอก 7 ชนิด เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ข้อสังเกต         - ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก         - ปริมาณน้ำตาลที่พบสูงสุดคือ 14 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 24 กรัมต่อวัน         - ในส่วนประกอบของทั้งหมด 26 ตัวอย่าง พบว่า มี 16 ตัวอย่าง เติมน้ำตาล  มี 6 ตัวอย่าง เติมแคลเซียม             มี 17 ตัวอย่าง ไม่ใช้วัตถุกันเสีย และมี 10 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าแต่งกลิ่น           - มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ในแบบผงชงดื่ม 4 ตัวอย่าง และแบบพร้อมดื่ม 12 ตัวอย่าง         - สำหรับแบบพร้อมดื่ม หากนำเกณฑ์สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” สำหรับเครื่องดื่มธัญพืชและนมถั่วเหลืองมาพิจารณา ที่ระบุว่าหากปริมาณไม่เกิน 300 มิลลิลิตร ต้องมีน้ำตาลทั้งหมดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 กรัม/ 100 มิลลิลิตร จะพบว่าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์นี้ ส่วนปริมาณโซเดียมต้องมีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัม/ 100 มิลลิลิตร พบว่ามี 7 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์นี้ โดยในจำนวนนี้มี 3 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า (92 มก./100 มิลลิลิตร) และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก (84 มก./100 มิลลิลิตร) และยี่ห้อดีน่า น้ำนมถั่วเหลืองสูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย (41.67 มก./ 100 มิลลิลิตร)         - ทุกตัวอย่าง มีผู้ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย คำแนะนำ          -หากดื่มต่อเนื่องเป็นประจำ ควรเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ มีการปรุงเสริมเติมแต่งน้อยที่สุด ไม่มีวัตถุกันเสีย และควรเลือกสูตรน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาล         -น้ำนมข้าวให้โปรตีนต่ำและมีคาร์โบไฮเดรตสูง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเพราะคาร์โบไฮเดรตจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้         - น้ำนมข้าวแบบผงชงดื่มมักจะเป็นส่วนจมูกข้าว ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด จึงเหมาะเลือกเป็นอาหารเสริมหรือนมสำหรับบำรุงร่างกาย ที่เพิ่มหรือลดความเข้มข้นได้ตามต้องการ ปรุงแต่งรสชาติได้ตามชอบ แต่ต้องชงแบบร้อนเท่านั้นเพื่อให้ผงน้ำนมข้าวละลายได้ดี และมักมีราคาค่อนข้างสูง         - แบบขวด/กล่องพร้อมดื่มมีให้เลือกหลายสูตรหลากรสกว่าแบบผง พกพาง่าย มีปริมาณและรสชาติแน่นอน ดื่มแบบเย็นจะเพิ่มความอร่อยขึ้น          - ก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง แนะนำให้ตรวจสอบส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ด้วย เพราะรสชาติของน้ำนมข้าวเพียวๆ ออกจะจืดๆ ผู้ผลิตบางรายจึงปรุงแต่งรสชาติหรือผสมรวมกับน้ำนมถั่วหรือธัญพืชอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น         - น้ำนมข้าวที่ทำจากข้าวกล้องและข้าวกล้องงอกจะมีสารอาหารสูง แต่คนที่เป็นโรคเก๊าต์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ปวดไขข้อมากขึ้นได้         -หากดื่มน้ำนมข้าวหรือนมจากพืชอื่นๆ แล้วมีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และรู้สึกแน่นบริเวณลำคอและหน้าอก อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ หรือบางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที         - หากต้องการหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งต่างๆ จากเครื่องดื่มน้ำนมข้าวแบบสำเร็จรูป ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถลองทำน้ำนมข้าวดื่มเองได้ โดยค้นหาวิธีทำได้จากช่องยูทูป ทำไม่ยากเลย   ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.com/https://bestreview.asia/best-rice-milk/ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (https://fic.nfi.or.th/market-intelligence-detail.php?smid=377)https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG190704200320434

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 น้ำนมแห่งความทันสมัย

มีอะไรในโคด สะ นาสมสุข หินวิมานคุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทำไมเด็กๆ จึงต้องดื่มนม และทำไมเด็กบางคนก็ดื่มนมเรื่อยมาจนแม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม คำถามแบบนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่รู้ว่าผู้เขียนจะนั่งถามไปทำไม เพราะหากเด็กไม่ดื่มนมกันแล้ว จะให้เด็กบริโภคอะไรกัน ที่จะให้คุณค่าสารอาหารที่ครบทั้งสารโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน และที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนยังต้องดื่มนมต่อมา ก็เป็นเพราะว่าธาตุอาหารที่กล่าวมาข้างต้น ถูกรับรู้ว่าเป็นความจำเป็นต่อร่างกายของเขาและเธอเหล่านั้น คำตอบข้างต้นน่าจะเป็นวิธีคิดที่ได้มาจากปากของบรรดานักโภชนาการส่วนใหญ่ เพราะนักโภชนวิทยาทั้งหลายนั้น มักจะสนใจที่จะเสาะแสวงหาวิถีทางอันใดก็ตาม ที่จะทำให้เยาวชนน้องๆ เจริญด้วยอาหารที่ครบทั้งห้าหมู่ เพราะฉะนั้น การบริโภคน้ำนมก็เป็นอีกหนึ่งวิถีที่จะทำให้เด็กไทยมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง   แต่สำหรับนักสังคมศาสตร์แล้ว กับคำถามที่ว่าทำไมเด็กๆ ต้องดื่มนม ก็อาจจะไม่ได้นำไปสู่คำตอบแบบเดียวกับที่นักโภชนาการท่านได้วิสัชนาเอาไว้ คำตอบหนึ่งที่นักสังคมศาสตร์ได้ให้ไว้ก็คือ น้ำนมวัวไม่ได้อิ่มเอมแค่ธาตุสารอาหารเท่านั้น หากแต่การดื่มนมเป็นประจำยังเป็นดัชนีชี้วัดว่า สังคมแห่งการบริโภคน้ำนมได้ก้าวเข้าสู่สังคมแห่งความทันสมัยกันแล้วหรือยัง มีเรื่องราวเรื่องเล่าที่โฆษณานมกล่องยี่ห้อหนึ่งได้ผูกเนื้อหาเอาไว้ เป็นไปตามจิงเกิ้ลหรือเพลงประกอบที่เขียนขึ้นว่า “ดื่มนม ดื่มได้ทุกวัย วัยเด็กดื่มไปจะได้โตกัน วัยรุ่น ดื่มนม ไม่ต้องรอเมื่อไรก็ได้ โตแล้วดื่มนมไม่หยุดวัยนี้ ไม่สะดุด อย่าหยุดดื่มนมวัยนี้ ดื่มเลย ดื่ม(...)ดื่มให้กับชีวิต เริ่ม(...)ได้ตลอดชีวิต” และเพื่อให้สอดรับไปกับเนื้อเพลง โฆษณาก็ได้ผูกเรื่องราวของภาพเอาไว้ โดยเปิดฉากด้วยภาพของเด็กชายตัวเล็กคนหนึ่งกำลังเดินเล่นเตะฟุตบอลอยู่ แล้วก็จับพลัดจับผลูมาเผชิญหน้ากับก๊วนเด็กอ้วนกวนเมือง แต่ก็เข้าใจว่า เด็กน้อยคงจะดื่มนมมา ก็เลยสำแดงพลังไล่ก๊วนเด็กกวนเมืองจนวิ่งหนีกันขวัญกระเจิง จากนั้นก็มาถึงวัยที่เด็กน้อยเข้าโรงเรียน น้ำนมก็ทำให้เขามีกำลังวังชาวิ่งเล่นในสนามได้เร็วยิ่งนัก พอโตขึ้นและมาเป็นนักเรียน รด. น้ำนมก็เสริมพลังให้ปีนรั้วได้อย่างแข็งขัน และพอถึงช่วงวันสอบ เด็กน้อยที่อาจจะถูกคุณครูดุที่เผลอหลับไปบ้าง แต่ก็ยังมีพลังของน้ำนมสร้างเรี่ยวแรงจนทำสอบได้สัมฤทธิ์ผล ภาพตัดจากวัยเด็กสู่วัยทำงาน เมื่อเด็กน้อยเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องมาเผชิญหน้ากับโลกแห่งอาชีพและภาระงานที่วางไว้บนโต๊ะกองโต แต่เมื่อชายหนุ่มดื่มนมไปจนหมดกล่อง เขาก็ฮึดมีแรงปั่นงานทั้งกองจนแล้วเสร็จ นำความประหลาดใจมาให้กับเจ้านายที่ตำหนิติเตียนเขามาก่อนหน้านั้น ในที่สุด น้ำนมกล่องก็ได้บันดาลให้เด็กน้อยโตมาเป็นชายหนุ่มวัยทำงาน และกลายมาเป็นผู้บริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ภาพของโฆษณาปิดท้ายด้วยนักบริหารมือทองของเราที่ได้พลังน้ำนมกล่องจนเปี่ยมล้น สามารถตีกอล์ฟลงหลุมแบบโฮลอินวัน และยืนชูมือประกาศชัยชนะอยู่กลางสนามกอล์ฟ เป็นอันปิดบทสรุปเรื่องเล่าเรื่องราวของปาฏิหาริย์ในน้ำนมกล่องได้อย่างน่าประทับใจ ทีนี้ถ้าเราย้อนกลับมาที่โจทย์คำถามของนักสังคมศาสตร์ที่ว่า ทำไมน้ำนมกล่องจึงเป็นดัชนีชี้วัดการก้าวเข้าสู่สังคมที่ “ทันสมัย” ได้นั้น โฆษณาก็ดูเหมือนจะให้คำอธิบายไว้ว่า สังคมที่ทันสมัยต้องมองทุกอย่างไปข้างหน้า เด็กในวันนี้ก็คือวัยรุ่นในวันหน้า และวัยรุ่นในวันหน้าก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้นในอนาคต และหากเด็กที่ดีจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้นั้น ก็ต้องมาจากการบริโภคโภชนาหารที่ดี ๆ และเพียบพร้อมคุณค่าครบถ้วนนั่นเอง ผมจำได้ว่า ถ้าย้อนกลับไปราวสองหรือสามทศวรรษก่อน จะมีสโลแกนทางโทรทัศน์ข้อความหนึ่ง ที่ฮิตติดปากติดลมบนคนไทยในยุคนั้นเป็นอย่างมากว่า “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง” ผมเดาเอาว่า น้ำนมที่สังคมคาดหวังให้เด็กๆ บริโภคนั่นแหละ ที่คนยุคดังกล่าวเชื่อว่า น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างชาติไทยให้ทันสมัยได้ทันเทียมกับนานาอารยประเทศ อันที่จริงนั้น สูตรการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคนมเพื่อสร้างความทันสมัยในทำนองนี้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เอี่ยมอ่องแต่อย่างใดนัก เพราะแม้แต่ในสังคมอเมริกันที่กล่าวกันว่า เป็นผู้นำแห่งความทันสมัยเหนือกว่าชาติอื่นๆ ทั้งมวล ในยุคสงครามเย็นนั้น อเมริกาก็ยังเคยสร้างตัวการ์ตูนอย่างป๊อปอายที่บริโภคผักขม เพื่อเพิ่มพลังงานเอาไว้ปกป้องผู้ใหญ่ในประเทศโลกที่สามที่ผอมแห้งแรงน้อยอย่างคุณน้องโอลีฟ ออยล์ มาแล้วเลย แต่จุดต่างที่สำคัญก็คือ เด็กๆ ในสังคมอเมริกัน เขามีแนวโน้มที่จะขาดเกลือแร่และวิตามินต่างๆ เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มชนเผ่าที่ชอบรับประทานมังสาหารมากกว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารอื่นๆ เพราะฉะนั้น ป็อปอายจึงต้องเน้นการบริโภคพืชผักอย่างผักขมเพื่อเพิ่มพลัง แต่สำหรับสังคมไทยที่มักจะเดินตามรอยอเมริกันชนที่ทันสมัยนั้น ผักหญ้าปลาปิ้งอาจไม่ใช่ปัญหาการกินของเด็กไทยเท่าใดนัก เพราะประเทศแถบเมืองร้อนมีให้รับประทานกันหลากหลายชนิดอยู่แล้ว คนไทยในยุคสามสิบปีก่อนเลยต้องเน้นเพิ่มเสริมธาตุโปรตีนให้มากขึ้น โดยมี “เนื้อนมไข่” ที่กลายเป็นอาหารหลัก อันแปลว่า “น้ำนมกล่อง” ก็คือวัตถุดิบชนิดหนึ่งของการสร้างชาติให้ทันสมัยไปโดยปริยาย และมาถึงสามสิบปีให้หลัง ความคิดเรื่อง “เนื้อนมไข่” กับการสร้างความทันสมัยของชาติ ก็มิได้จางหายไปแต่อย่างใด ก็แบบที่โฆษณาบอกไว้นั่นแหละครับ จะเป็นวัยเด็กเตะฟุตบอล จะเข้าโรงเรียนไปวิ่งแข่งแบบฟอร์เรสต์ กัมพ์ จะวิ่งข้ามรั้วเป็นนักเรียน รด. หรือจะเรียนจบทำงานและเป็นถึงผู้บริหารระดับสูง โปรตีนในน้ำนมก็ยังคงเป็น “ความจำเป็น” ที่จะพัฒนาทั้งคนและชาติให้ก้าวหน้าอารยะต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเส้นกราฟที่มองอนาคตไปข้างหน้า จะไร้ซึ่งอุปสรรคอันใด ถ้าคุณผู้อ่านยังพอจำได้นะครับ กับข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเมื่อประมาณสามสี่เดือนก่อนที่ประโคมกันว่า การบริโภคน้ำนมของเด็กไทยเราได้เผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีที่นมโรงเรียนที่มีการส่งเสริมให้เด็กๆ นักเรียนได้ดื่มกันตอนกลางวันเกิดบูดเสียขึ้นมา และมีเด็กจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาล จนกลายเกิดเป็นวิกฤติการณ์ “นมบูด” กระจายตัวไปทั่วทั้งประเทศ วิกฤตินมบูดแบบนี้ ให้ข้อพิสูจน์กับเราว่า เส้นทางการพัฒนาไปสู่สังคมทันสมัยของไทยนั้น ไม่ได้เป็นกราฟเส้นตรงแบบพุ่งทะยานดิ่งขึ้นฟ้าเสมอไป แต่อาจมีบางจังหวะเหมือนกันที่ความทันสมัยก็ต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติ นมกล่องนมถุงที่กลายเป็นนมบูด ก็คืออาการของโรคทันสมัยที่เผชิญกับความบูดอยู่เป็นระยะๆ นั่นเอง หากคิดตามปรากฏการณ์เช่นนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า โฆษณามีหน้าที่สำคัญเหมือนเป็น “ทนายหน้าหอ” คอยแก้ต่างให้กับจังหวะที่ล้มเหลวหรือ “บูดลง” ของวงจรความทันสมัย อันหมายความว่า ภายใต้วิกฤติของระบบการผลิตแบบกรณีของนมแบบนี้ โฆษณาจะถูกผลิตออกมาเพื่อยืนยันว่า วิกฤตินั้นแก้ไขได้ เด็ก ๆ ทั้งหลายจึงอย่าเพิ่งสิ้นหวังในการดื่มนม แม้นมจะบูดไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นวิกฤติเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว และที่สำคัญ โฆษณาก็บอกด้วยว่า คุณๆ จะหยุดดื่มนมไม่ได้นะครับ ต้องดื่มทั้งวันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ เป็นเส้นกราฟที่ยังคงดิ่งตรงไปข้างหน้าเช่นเดิม เรียกได้ว่า โฆษณาได้จัดการ “แปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส” ที่เสนอขายนมกล่องให้กับทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยอื่นๆ พ่วงเข้าไปได้อีกเป็นกระบุงโกย ในยุคที่ความทันสมัยกำลังเริ่ม “ตั้งไข่” ในสังคมไทย โฆษณาโทรทัศน์อาจจะถามคุณๆ ว่า “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง” แต่มาถึงทุกวันนี้ที่ความทันสมัยได้ฝ่าวิกฤติฝ่าลมฝ่าฝนที่ร้อนและหนาวมาหลายทศวรรษ ดูเหมือนว่า คำถามที่สังคมทันสมัยกำลังถามผ่านโฆษณา คงจะเปลี่ยนไปเป็นว่า “วันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้ คุณได้ดื่ม คุณกำลังดื่ม และคุณยังยืนยันที่จะดื่มนมแล้วหรือยัง” ??

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point