ฉบับที่ 267 น้ำตาลเทียมก่อโรค..???

        มีข่าวออนไลน์เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่แปลผลจากการศึกษาว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อ อิริทริทอล (erythritol) อาจเป็นปัจจัยต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดไปจนถึงคนธรรมดาที่เลือกกินอาหารคีโต (Ketogenic diet) เพื่อปรับปรุงน้ำหนักตัวให้เหมาะสม         อาหารคีโต คืออาหารที่ถูกปรับลดคาร์โบไฮเดรตจนคำนวณได้ว่ามีการกินไม่เกิน 50 กรัม/วัน และเน้นกินไขมันและโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายผลิตสารคีโตน (ketone bodies) จากไขมันเนื่องจากมีการใช้ไขมันทั้งจากอาหารที่กินและสะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากการย่อยแป้งหรือน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการนำร่างกายเข้าสู่สภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งดีร้ายอย่างไรขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่แน่ๆ คือ ผู้กินอาหารคีโตมักพยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายโดยหันมากินน้ำตาลเทียมแทนโดยอิริทริทอลคือตัวเลือกที่นิยมกัน        สำหรับคำโฆษณาที่ใช้ในการขายน้ำตาลอิริทริทอลบนแพลทฟอร์มออนไลน์นั้นมักบอกว่า เป็นสินค้านำเข้าเช่น จากฝรั่งเศส 100% ขนาด 500 กรัม มีราคาเกือบ 200 บาท (น้ำตาลทราย 1000 กรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท) เหมาะกับผู้บริโภคอาหารคีโต ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไม่กระตุ้นอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ทำให้ฟันผุเพราะจุลินทรีย์ย่อยอิริธรีทอลได้น้อย ช่วยในการขับถ่ายเพราะสามารถดูดซับน้ำในทางเดินอาหารไว้อย่างช้าๆ เหมือนใยอาหารทั่วๆ ไป (ความจริงคือผลข้างเคียงของน้ำตาลแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่กินมากแล้วทำให้ถ่ายเหลว)         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดูคล้ายน้ำตาลทรายมาก เพราะผลิตทางเคมีจากน้ำตาลกลูโคส จริงแล้วร่างกายก็สร้างเองได้ในปริมาณน้อย เป็นสารที่มีความหวานราว 60-70% ของน้ำตาลทราย สามารถใช้ในการผลิตขนมอบได้แบบเนียนๆ ไม่แสดงผล aftertaste (หวานติดคอน่ารำคาญ) ในผู้บริโภค ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและมีฤทธิ์เป็นยาระบายน้อยกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคีโตและอาหารชนิดที่มีน้ำตาลต่ำซึ่งขายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักถูกนำไปใช้ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevioside) หรือกับสารสกัดหล่อฮังก๊วย (arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit) ทั้งนี้เพราะสารสกัดทั้งสองมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 ถึง 400 เท่า เวลาใช้จึงต้องใช้ในปริมาณน้อยทำให้ตวงปริมาณยาก จำต้องใช้อิริทริทอลซึ่งมีลักษณะหลอกตาดูคล้ายน้ำตาลทำหน้าที่เป็นเนื้อสัมผัสเพื่อให้ปริมาณสารให้ความหวานหลักถูกใช้ในปริมาณไม่มากจนเกินควร         สำหรับงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า การกินอิริทริทอลอาจเป็นปัจจัยก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ บทความเรื่อง The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้นเป็นการรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอิริทริทอลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง         คำถามที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลคือ เหตุใดอยู่ดี ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสนใจว่า อิริทริทอลส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งที่น้ำตาลเทียมชนิดนี้มีการใช้มานานพอควรและดูว่าไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ แต่เมื่อตามดูบทความที่ผู้ทำวิจัยหลักให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ New York Times และ CNN ทำให้ได้ข้อมูลว่า จริงแล้วก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยได้ทำงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องการค้นหาว่า มีสารเคมีหรือสารประกอบที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนในเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ ที่สามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาสามปีของการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ของ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด 1,157 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมระหว่างปี 2004 ถึง 2011 จากอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้วพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอิริทริทอลในเลือดในระดับที่น่าสนใจจนนำไปสู่การวิจัยที่เป็นที่มาของบทความวิจัยที่ก่อความกังวลแก่ผู้ที่บริโภคอิริทริทอล         ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้น นักวิจัยได้ตรวจสอบระดับอิริทริทอลในเลือดของคนไข้ 2,149 คนจากสหรัฐอเมริกาและ 833 คนจากยุโรป แล้วพบว่าอาสาสมัคร (ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง) มีความเข้มข้นของอิริทริทอลในเลือดสูง แล้วเมื่อทดลองเติมอิริทรีทอลลงในตัวอย่างเลือดหรือเกล็ดเลือดที่แยกออกมา (ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นเป็นองค์ประกอบในเลือดที่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดแผลและทำให้เกิดเลือดอุดตันในบางโรค) ในหลอดทดลองผลที่ได้ปรากฏว่า อิริทรีทอลทำให้เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นง่ายขึ้นในการจับตัวเป็นก้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจแตกออกจากกันแล้วไหลไปในหลอดเลือดเดินทางไปยังหัวใจ ซึ่งถ้ามีการตกตะกอนในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือถ้าไปตกตะกอนในเส้นเลือดสมองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้         นอกจากนี้นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 8 คน กินอิริทริทอลในปริมาณเดียวกับที่พบได้เมื่อกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานนี้ เพื่อลองกระตุ้นให้ระดับอิริทริทอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่ (นานมากกว่า 2 วัน) ซึ่งคำนวณแล้วว่า สูงกว่าขนาดที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดทดลอง ส่งผลให้ผู้วิจัยประเมินว่า อิริทริทอลนั้นน่าจะเพิ่มปริมาณให้สูงได้ในร่างกายจากการกินอาหารจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความเสี่ยงอันตรายของหัวใจที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจะศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะยาวของอิริทริทอลเพิ่มเติม         มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยดังกล่าวในหลายบทความในอินเตอร์เน็ทว่า ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาคือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการต่อการเป็นโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่ใช่สาเหตุ (causation) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol และความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พิสูจน์ว่า สารให้ความหวานนี้ทำให้เกิดโรคเพราะผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมนี้ในปริมาณสูงเพื่อพยายามลดการกินน้ำตาลทรายให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทดลองให้คนสุขภาพปรกติกินสารให้ความหวานนี้จนอยู่ในสถานะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นทำการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการทางสรีรภาพคล้ายมนุษย์         ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากพวกเขามีระดับอิริทริทอลในเลือดสูง และผลการศึกษานี้ดูขัดแย้งกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายทศวรรษที่แสดงว่า สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างอิริทริทอลนั้นปลอดภัย จนได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม         ก่อนหน้านี้ในปี 2022 วารสาร BMJ ได้มีบทความเรื่อง Artificial sweeteners and risk of cardiovascular diseases: results from the prospective NutriNet-Santé cohort ได้รายงานผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานเทียมจากเครื่องดื่ม (แอสปาร์แตม อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม หรือซูคราโลส) สารให้ความหวานบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 103 388 คนจาก NutriNet-Santé cohort (เป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของอาสาสมัครประมาณ 171,000 คนที่เปิดตัวในฝรั่งเศสในปี 2009 เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางโภชนาการซึ่งหมายถึงการกินอยู่ตามปรกติและสุขภาพ) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42.2 ปี ที่มีร้อยละ 79.8 เป็นเพศหญิง โดยข้อมูลการกินสารให้ความหวานเทียมได้รับการประเมินโดยบันทึกจากการกินอาหารใน 24 ชั่วโมงมากกว่า 1 ครั้ง และจากการประเมินผลได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงที่เป็นไปได้ระหว่างการกินสารให้ความหวานเทียมที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะแอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม และซูคราโลส) และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีสารให้ความหวานเหล่านี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่และกำลังได้รับการประเมินใหม่โดย European Food Safety Authority, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ         การกำหนดปริมาณการกินอิริทริทอลในอาหารนั้นเริ่มในปี พ.ศ. 1999 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุเจือปนอาหารแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรและองค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงในการกินอิริทริทอลและกำหนด ปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (acceptable daily intake หรือ ADI) เป็น "ไม่ระบุ (not specified)" ซึ่งต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU Scientific Committee on Food) สรุปว่า อิริทริทอลนั้นปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร การอนุมัติอิริทริทอลของสหภาพยุโรปยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้อิริทริทอลในเครื่องดื่ม เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรประบุว่า อาจมีผลข้างเคียงเกินเกณฑ์ของยาระบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิริทริทอลจากเครื่องดื่มในปริมาณสูง

อ่านเพิ่มเติม >