ฉบับที่ 144 น้ำตาลสังเคราะห์

  เมื่อน้ำตาลได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ร้ายที่ถูกส่งมาทำลายหุ่นอันผอมเพรียวและไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เลยต้องมีการคิดค้นและพัฒนาสารอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เราคุ้นเคย สำหรับคนที่ อดหวาน ไม่ได้   ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาคุณมารู้จักกับ “ความหวาน” แบบพลังงานต่ำหรือไม่ให้พลังงาน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล(Sweetener) ซึ่งเทรนด์ตลาดวัตถุให้ความหวานในเมืองไทย เมื่อปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมประมาณ 300-400 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากปัจจุบันที่มีสินค้ากลุ่มนี้วางจำหน่ายอยู่หลายยี่ห้อและวางบนชั้นวางของห้างค้าปลีกทั่วไป     วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จากการสำรวจตลาดพบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.น้ำตาลฟรุคโตส(fructose) 2.กลุ่มที่ใช้แอสปาร์แทม 3.กลุ่มที่ใช้ซูคราโลส 4.กลุ่มที่ใช้สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) 5.กลุ่มที่ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม 6.กลุ่มที่ใช้ซูโครสเป็นหลักร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ   1.น้ำตาลฟรุคโตส(Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ในผลไม้และน้ำผึ้งตามธรรมชาติ ให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่น้ำตาลฟรุคโตสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึงเท่าตัว ดังนั้นจึงสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลงกว่าครึ่งเมื่อต้องการความหวานที่เท่ากัน    2.แอสปาร์แทม(Aspartame) แอสปาร์แทม เป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ให้ความหวานประมาณ 200 เท่าของน้ำตาลทราย แอสปาร์แทมให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทรายคือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่ใช้เพียงนิดก็หวานมากแล้ว ดังนั้นแอสปาร์แทมจึงให้แคลอรี่ที่น้อยกว่ามากเมื่อผสมลงในอาหาร ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลมแคลอรี่ต่ำ ข้อเสียที่สำคัญของแอสปาร์แทมในเรื่องรสชาติคือ แอสปาร์แทมไวต่อความร้อน ดังนั้นเครื่องดื่มที่ผสมแอสปาร์แทมอาจมีรสชาติที่เปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสกับความร้อน จึงไม่เหมาะจะนำไปใช้กับเครื่องดื่มหรืออาหารที่ต้องใช้ความร้อนในการปรุง คำเตือนอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเฟนิลคีโตนูเรีย   เพราะว่าใช้แอสปาร์แทมเพียงจำนวนน้อยก็หวานมากแล้ว ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเติมสารเพิ่มปริมาณ คือ แลคโตส ที่มีความหวานเพียง 0.2 เท่าของน้ำตาลในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่า แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่ อให้เป็นตัวหลักแค่ต้องการเพิ่มปริมาณบรรจุเท่านั้น แลคโตสนี้อาจมีปัญหาทำให้ท้องอืดได้สำหรับคนที่ไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแลคโตส   3.ซูคราโลส(Sucralose) ซูคราโลสนี้หวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า ข้อดีของซูคราโลสคือ รสชาติ ที่ใกล้เคียงน้ำตาล ไม่มีรสขม และทนต่อความร้อน จึงมีการนำไปใช้ในอาหารหลากหลายชนิด เช่นเดียวกับแอสปาร์แทม เนื่องจากซูคราโลสมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 600 เท่า การนำมาใช้จึงอยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ ดังนั้นเพื่อให้มีน้ำหนักเพิ่มจึงผสมกับน้ำตาลกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ได้แก่ มอลทิทอลและเออริทริทอล ซึ่งสองตัวนี้มีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทรายและให้พลังงานไม่มาก แต่ถ้ารับประทานมากไปอาจกระทบกับระบบทางเดินอาหารทำให้ท้องเสียได้   4.สเตวิโอไซด์(หญ้าหวาน) หญ้าหวาน หรือ ต้นสตีเวีย(Stevia rebaudiana Bertoni) เป็นพืชพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยสารที่สกัดออกมาคือ สเตวิโอไซด์ หวานมากกว่าน้ำตาลทราย 300 เท่า ไม่ให้พลังงาน มีความคงตัวที่อุณหภูมิสูง สเตวิโอไซด์ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยาของอเมริกาให้ใช้เป็นสารให้ความหวานแต่อนุญาตให้ใช้ผงแห้งและสารสกัดจากใบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   5.ใช้อะเซซัลเฟม-เค ร่วมกับแอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า ข้อดีคือให้รสหวานที่รับรู้รสได้เร็วแต่บางครั้งก็จะมีรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง ไม่ให้พลังงานและทนความร้อนได้ดี ผู้ผลิตนิยมใช้อะเซซัลเฟม-เคร่วมกับแอสปาร์แทม เพื่อลดจุดด้อยของกันและกัน และเลี่ยงการเกิดรสขมเมื่อใช้ในปริมาณสูง     6.ใช้น้ำตาลทราย(Sucrose) ร่วมกับสารให้ความหวานอื่นๆ กลุ่มนี้เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมแคลอรีมากกว่าใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะส่วนประกอบหลักยังคงเป็นน้ำตาลทรายมากกว่า 90% แต่เพิ่มสารให้ความหวานเข้าไปเพื่อลดปริมาณการใช้ลงมา ดังนั้นรสชาติจะเหมือนน้ำตาลปกติและแต่ค่าพลังงานจะต่ำลงมาเพราะปริมาณการใช้ที่น้อยลง     ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- น้ำตาลเป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต ชื่อของน้ำตาลมักจะใช้คำลงท้ายว่า “โอส” (“ose”) อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่เราทราบกันดีว่าได้แก่อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล คาร์โบไฮเดรตมีรากศัพท์มาจากคำว่า “คาร์บอน”รวมกับ”ไฮเดรท” แปลว่าเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างที่มีน้ำจับอยู่กับทุกๆ อะตอมของคาร์บอน   ---------------------------------------------------------------------------------------------------- วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม วัตถุให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุคโตส(น้ำตาลจากผลไม้) มอลทิทอล เออริทริทอลและไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน วัตถุให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส หญ้าหวาน แอสปาร์แทม อะเซซัลเฟม-เค สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ข้อมูล 1.เป็นเบาหวาน เลือกอะไรใส่กาแฟแทนน้ำตาล. รศ.วิมล ศรีสุข คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=100 2.สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการ http://elib.fda.moph.go.th/library/default.asp?page2=subdetail&id_L1=27&id_L2=15566&id_L3=565

อ่านเพิ่มเติม >