ฉบับที่ 172 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2558“หัวเชื้อกลิ่นแมงดา” ปลอดภัยถ้าใช้ตามปริมาณที่กำหนดจากกรณีที่มีการส่งต่อคลิปวิดีโอผ่านทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการนำวัตถุแต่งกลิ่นรส “กลิ่นแมงดานา” หยดลงบนกล่องโฟมแล้วพบว่าสามารถทำให้กล่องโฟมละลายได้ สร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ร้อนถึงทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องรีบออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง อย. ยืนยันว่าวัตถุแต่งกลิ่นดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ในอาหาร และมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่กำหนดวัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาจัดเป็นอาหารที่ต้องมีฉลากประเภทวัตถุแต่งกลิ่นรสตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 เรื่อง วัตถุแต่งกลิ่นรส ทั้งนี้ วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาได้จากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยสารอินทรีย์เหล่านี้มีคุณสมบัติทางเคมีที่สามารถทำให้โฟมละลายได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติสามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทุกชนิด ผู้บริโภคสามารถใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาเป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มกลิ่นรสได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก (ประมาณ 1 – 3 หยดต่อน้ำพริก 1 ถ้วย) ไม่ได้เทลงไปโดยตรงบนแผ่นโฟมในปริมาณมากดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ “น้ำตาลฟลุกโตสไซรัป” มากไประวังตับพัง!!!ปัจจุบันคนไทยเรามีปัญหาเรื่องการนริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนไทยนิยมดื่มเครื่องดื่มบรรจุขวดกันมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง แถมหลายยี่ห้อยังเลือกใช้น้ำตาลฟลุกโตสไซรัปสังเคราะห์แทนน้ำตาลทราย เพราะให้ความหวานมากกว่าแต่ต้นทุนถูกกว่า ซึ่งน้ำตาลสังเคราะห์ก็มีอันตรายต่อสุขภาพไม่แพ้น้ำตาลทรายหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลสังเคราะห์เป็นประจำให้ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ เนื่องจากน้ำตาลสังเคราะห์หากรับประทานมากเกินไปแล้วร่างกายเผาผลาญไม่หมด น้ำตาลสังเคราะห์จะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำให้อ้วนลงพุง ที่สำคัญคือเป็นอันตรายต่อตับ เพราะน้ำตาลประเภทนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะตรงไปที่ตับก่อน แต่เมื่อร่างกายจะดึงพลังงานไปใช้ จะเลือกดึงน้ำตาลจากส่วนอื่นของร่างกายก่อนตับ เมื่อเผาผลาญหรือใช้ไม่หมดก็จะเกาะอยู่ที่ตับ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค ตับอักเสบ และตับแข็งสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปของคนไทยถือว่าอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 83.6 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 16.7 ช้อนชา ทั้งๆ ที่ปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานใน 1 วันคือไม่เกิน 6 ช้อนชาเท่านั้นยา 2 มาตรฐาน?!!จากการที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมราคายาหลายๆ ชนิดที่จ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจึงมีราคาสูงกว่ายาที่จ่ายโดยโรงพยาบาลของรัฐ จนนำไปสู่กระแสข่าวลือที่ว่า ยาที่วางขายในประเทศมี 2 เกรด โดยยาราคาถูกจะผสมแป้งหรือสารอื่นที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน ซึ่งนั่นเป็นการส่งผลให้ยาด้อยคุณภาพลง ทำให้ อย. ซึ่งหน่วยที่รับผิดชอบในเรื่องการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายยาในประเทศ ต้องออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่ข่าวลือเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการกำกับดูแลโดย อย. ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิต ขาย นำเข้า มาในประเทศ จะต้องได้รับใบอนุญาตฯ และผลิตภัณฑ์ยาทุกตำรับจะต้องผ่านการพิจารณาตามหลักวิชาการก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในส่วนของสูตรตำรับ วิธีการผลิต และการควบคุมคุณภาพ การแสดงฉลาก ฯลฯโดย อย. ยืนยันว่ามีมาตรการในการเฝ้าระวังคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาที่มีการกระจายอยู่ในท้องตลาด เช่น โครงการเฝ้าระวังคุณภาพยาประจำปี ซึ่งมีการกำหนดชนิดของผลิตภัณฑ์ยาที่มีความเสี่ยง เช่น ยาสำหรับกลุ่มโรคเรื้อรัง ยาที่มีปริมาณการใช้สูง ยาที่มีความคงตัวต่ำ เป็นต้น และมีการเก็บตัวอย่างจากผู้ผลิต/ผู้นำหรือสั่งยาฯ ส่งวิเคราะห์คุณภาพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยาที่ผู้บริโภคจะได้รับมีคุณภาพ ความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการใช้ตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้หมึกสักลาย ปนเปื้อนโลหะหนัก - แบคทีเรีย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย 52 ตัวอย่าง เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัย จากผลวิเคราะห์พบ สารหนูเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 5 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วน แคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 1 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 และตะกั่วพบ 2 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนดที่20 ไมโครกรัมต่อกรัม แต่ไม่พบปรอทและสีห้ามใช้ในทุกตัวอย่าง สำหรับการตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเชื้อแบคทีเรียเกินกำหนด 13 ตัวอย่าง และพบเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 1 ตัวอย่าง จำนวนที่ปนเปื้อนอยู่ในระดับ 35,000 - 10,000,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัมหมึกสักลายที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ส่วนเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา สามารถก่อโรคได้หลายชนิด หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวม แดง ผิวหนังแข็ง กลายเป็นเนื้อตาย ซึ่งปัจจุบันนี้หมึกสักลาย ไม่ได้ใช้เฉพาะผู้ที่สักรายสวยงามตามร่างกายเท่านั้น แต่ยังใช้ในกลุ่มเสริมความงาน เช่น สักคิ้ว สักริมฝีปากอีกด้วย ซึ่ง อย. กำลังพิจารณาที่หมึกสักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางเพื่อให้มีมาตรฐานและการควบคุมที่ชัดเจนมากขึ้นร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายผู้บริโภคที่ change.orgคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุน 2 กิจกรรมรณรงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายดีๆ เพื่อผู้บริโภคในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. “ลงชื่อสนับสนุนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” หลังจากรอมา 18 ปี ถึงเวลาเสียทีที่กฎหมายสำหรับผู้บริโภคจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และ 2. “ลงชื่อสนับสนุนเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรในผลิตภัณฑ์อาหาร” คนไทยกำลังเผชิญกับภาวะน้ำหนักเกิน นั่นเป็นเพราะเรายังขาดความรู้เรื่องโภชนการที่ถูกต้อง จะดีกว่ามั้ย? ถ้ามีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภครู้ทันว่าตัวเองกำลังกินอะไร ด้วยฉลากที่บอกปริมาณสารอาหารอย่าง น้ำตาล ไขมัน เกลือ พลังงาน ด้วยสีสัญญาณไฟจราจรโดยสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนทั้ง 2 กิจกรรมรณรงค์ได้ที่ www.change.org/th หรือลิงค์ที่อยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊ค องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกเสียงมีความหมาย มาช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point