ฉบับที่ 271 น้ำตาลเทียมขม

        วันที่ 29 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวทั่วโลกให้ข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายคือ แอสปาร์แตม (aspartame) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายถูกจัดระดับการก่ออันตรายต่อสุขภาพนั้นในกลุ่ม 2B possibly carcinogenic to humans (น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) ตามข้อเสนอของ International Agency for Research on Cancer (IARC) ข้อมูลนี้ปรากฏในเอกสารชื่อ Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–134 ซึ่งผู้อ่านสามารถดาว์นโหลดเอกสารที่เป็นบทความ pdf มาอ่านได้จาก https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications อย่างไรก็ดีทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำต่อว่า ให้ทำการศึกษาที่ "มากขึ้นและดีขึ้น" พร้อมด้วย "การติดตามผลที่ยาวนานขึ้น" เพื่อประเมินหาหลักฐานการก่อมะเร็งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น         องค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินปัจจัยการดำรงชีวิตและให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์บังคับ ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ของแต่ละประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ดีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของสาธารณชนและนโยบายของผู้บริหารประเทศซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละประเทศต้องติดตามสิ่งที่อาจเกิดขึ้น  สารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น IARC จัดแบ่งอย่างไร         IARC จำแนกสารเคมีที่มนุษย์สัมผัส (หมายรวมถึงลักษณะอาชีพการทำงานที่ต้องสัมผัสสารบางชนิดด้วย) ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบเสนอให้สารนั้นถูกพิจารณาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดลำดับซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ        ·     Group 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to humans มีการศึกษาทางระบาดวิทยาในมนุษย์ และหลักฐานที่เพียงพอในสัตว์ทดลองและชัดเจนว่า มนุษย์ได้สัมผัสสารนี้) มี 126 ชนิด เช่น บุหรี่, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์, สารพิษจากเชื้อรา aflatoxin, แบคทีเรีย Helicobacter pylori, ควันจากถ่านหิน, ไวรัส Epstein-Barr, รังสีจากแสงแดด, ฝุ่นหนัง (Leather dust) เป็นต้น        ·     Group 2A อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานเพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 95 ชนิด เช่น Androgenic (anabolic) steroids ซึ่งคนที่ชอบสร้างกล้ามเนื้อมักใช้, ชีวมวล หรือ Biomass fuel (หลักๆคือ เศษไม้), สารประกอบตะกั่ว, เกลือ nitrate และ/หรือ เกลือ nitrite ที่กินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาไนโตรเซชั่นในกระเพาะอาหาร, hydrazine เป็นต้น        ·     Group 2B น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (possibly carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานไม่เพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 325 ชนิด เช่น ผักดอง, สารสกัดจากใบว่านหางจระเข้, Ochratoxin A, 1,6-Dinitropyrene เป็นต้น        ·     Group 3 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (not classifiable หลักฐานไม่เพียงพอในมนุษย์และไม่เพียงพอหรือจำกัดในสัตว์ทดลอง) มี 500 ชนิด เช่น ยาคลายเครียด Diazepam, สีแดง Ponceau SX, ยารีเซอร์พีน (reserpine เป็นสารอัลคาลอยด์ ได้มาจากเปลือกรากแห้งของต้นระย่อมน้อย ถูกใช้เป็นยากล่อมประสาท, ลดความดันโลหิต, แก้ภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ)        ·     Group 4 ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably not carcinogenic to humans มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง) ซึ่งปัจจุบันไม่มีสารเคมีใดเหลืออยู่ในกลุ่มนี้  สถานภาพของแอสปาร์แตมก่อนเป็นข่าวนั้นเป็นอย่างไร         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่เป็นสมาชิกของ Codex ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติถือว่า แอสปาร์แตมอยู่ในชั้นความปลอดภัยสำหรับการบริโภคตั้งแต่ปี 1981 จึงมีการใช้ในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมมากมาย เช่น น้ำอัดลมไร้พลังงาน อาหารเช้าทำจากธัญพืช หมากฝรั่ง ยาสีฟัน น้ำตาลเทียมบรรจุซองสำหรับชากาแฟและอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริมาณในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นควรเป็นอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยมีการยกตัวอย่างจำนวนหน่วยบริโภคของเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องว่า ควรเป็นเท่าใดตามน้ำหนักตัว เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมากเกินไป          การเป็นสารก่อมะเร็ง Group 2B มีความหมายอย่างไรต่อผู้ผลิตอาหาร         การอภิปรายถึงโอกาสก่ออันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เกิดขึ้นในสังคมผู้บริโภคนั้น อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ สั่นคลอนได้ ดังนั้นจึงดูว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่ละชนิดไม่ใช่แค่เพียงแอสปาร์แตม         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทน้ำอัดลมใหญ่บริษัทหนึ่งได้เคยถอดแอสปาแตมออกจากส่วนผสมของเครื่องดื่มไดเอ็ทของบริษัทในปี พ.ศ. 2558 แต่นำกลับมาใช้อีกครั้งในอีกหนึ่งปีผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2563 จึงเลิกใช้อีกครั้ง ดังนั้นการที่แอสปาร์แตมถูกปรับระดับเป็น สารที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ นั้น อาจเป็นการเปิดประตูสำหรับการดำเนินคดีโดยผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีของสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่ถูกฟ้องเป็นคดีในสหรัฐอเมริกาว่าก่อมะเร็งแก่ผู้ใช้ในระยะยาว  ตัวอย่างงานวิจัยที่คงเป็นข้อมูลที่ทำให้ IARC ตัดสินใจ         บทความเรื่อง Artificial sweeteners and cancer risk: Results from the NutriNet-Sante´ population-based cohort study (สารให้ความหวานเทียมและความเสี่ยงต่อมะเร็ง: ผลลัพธ์จากการศึกษาตามกลุ่มประชากรของ NutriNet-Sante') ในวารสาร PLOS Medicine ของปี 2022 ให้ข้อมูลจากการศึกษาซึ่งเป็นการติดตามหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส 102,865 คน นานเฉลี่ย 7.8 ปี โดยบันทึกการบริโภคอาหารและชนิดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลและอุบัติการณ์ของมะเร็งตามแบบจำลองซึ่งปรับตามอายุ เพศ การศึกษา การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย ส่วนสูง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการติดตาม เบาหวาน ประวัติครอบครัวในการเป็นมะเร็ง รวมแล้วจำนวน 24 รายการ โดยบันทึกรายละเอียดการบริโภคอาหารรายชั่วโมง และปริมาณพลังงานรวมที่บริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกลือโซเดียม กรดไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร น้ำตาล ผักและผลไม้ อาหารธัญพืชไม่ขัดสี และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยเฉพาะแอสปาร์แตมและอะซีซัลเฟม-เค มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยในรายละเอียดนั้นการบริโภคแอสปาร์แตมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งทรวงอกและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและใหม่สำหรับกระบวนการประเมินความเสี่ยงซ้ำในการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดย European Food Safety Authority และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ทั่วโลก  ผู้บริโภคควรทำเช่นไรในสถานการณ์ที่มีข่าวดังกล่าวข้างต้น         ก่อนอื่นผู้บริโภคต้องถามตนเองก่อนว่า จำเป็นต้องกินแอสปาร์แตมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ จำเป็น ก็ต้องถามต่อไปว่า ทำไม พร้อมกับคำถามต่อทันทีว่า มีทางเลือกชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นชนิดอื่นอีกหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญคือ การที่ใครสักคนควรกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดใดเป็นประจำนั้นควรตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า การกินน้ำตาลธรรมชาติก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และอาจรวมถึงผู้มีความดันโลหิตสูง  ถ้าเชื่อว่ากันไว้ดีกว่าแก้หรืออ้วนไม่ได้เพราะอาชีพกำหนด ผู้บริโภคควรทำอย่างไร         คำแนะนำในการควบคุมน้ำหนักคือ กินแต่พออิ่ม (หยุดก่อนอิ่มจริงสักนิด) กินผักและผลไม้ที่มีความหวานต่ำในปริมาณที่มากพอทำให้อิ่ม ประมาณว่าในมื้อหนึ่งมีอาหารเนื้อสัตว์ แป้งและไขมันเป็นครึ่งจานและมีผักผลไม้ในอีกส่วนครึ่งของจาน พร้อมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทำได้ดังนี้การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลน่าจะไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ควรเข้าใจว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารหรือขนมที่มีความหวานเพื่อการตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ยากจะควบคุม เช่น เป็นการลดความทรมานในผู้กินอาหารคีโต เป็นต้น ยังคงบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ต่อไปหรือไม่         ตราบใดที่องค์กรที่ดูแลสุขภาพทั้งระดับประเทศและระดับโลกยังเชื่อในข้อมูลของ Codex ที่บอกว่า แอสปาร์แตมยังปลอดภัยในระดับที่แนะนำให้บริโภคได้นั้น การยอมรับในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำใจ ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปกินผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่นที่ดูมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อยกว่า เช่น สารในกลุ่มน้ำตาลอัลกอฮอล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มหลายชนิดใช้สารซูคราโลส (sucralose) เพื่อลดปริมาณน้ำตาลทรายต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นการลดผลกระทบจากภาษีความหวานที่เพิ่มตามกฏหมายใหม่ซึ่งดูสอดคล้องกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่แนะนำให้ลดละเลิกอาหารหวานมันเค็ม ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 น้ำตาลเทียมก่อโรค..???

        มีข่าวออนไลน์เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่แปลผลจากการศึกษาว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อ อิริทริทอล (erythritol) อาจเป็นปัจจัยต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดไปจนถึงคนธรรมดาที่เลือกกินอาหารคีโต (Ketogenic diet) เพื่อปรับปรุงน้ำหนักตัวให้เหมาะสม         อาหารคีโต คืออาหารที่ถูกปรับลดคาร์โบไฮเดรตจนคำนวณได้ว่ามีการกินไม่เกิน 50 กรัม/วัน และเน้นกินไขมันและโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายผลิตสารคีโตน (ketone bodies) จากไขมันเนื่องจากมีการใช้ไขมันทั้งจากอาหารที่กินและสะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากการย่อยแป้งหรือน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการนำร่างกายเข้าสู่สภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งดีร้ายอย่างไรขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่แน่ๆ คือ ผู้กินอาหารคีโตมักพยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายโดยหันมากินน้ำตาลเทียมแทนโดยอิริทริทอลคือตัวเลือกที่นิยมกัน        สำหรับคำโฆษณาที่ใช้ในการขายน้ำตาลอิริทริทอลบนแพลทฟอร์มออนไลน์นั้นมักบอกว่า เป็นสินค้านำเข้าเช่น จากฝรั่งเศส 100% ขนาด 500 กรัม มีราคาเกือบ 200 บาท (น้ำตาลทราย 1000 กรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท) เหมาะกับผู้บริโภคอาหารคีโต ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไม่กระตุ้นอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ทำให้ฟันผุเพราะจุลินทรีย์ย่อยอิริธรีทอลได้น้อย ช่วยในการขับถ่ายเพราะสามารถดูดซับน้ำในทางเดินอาหารไว้อย่างช้าๆ เหมือนใยอาหารทั่วๆ ไป (ความจริงคือผลข้างเคียงของน้ำตาลแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่กินมากแล้วทำให้ถ่ายเหลว)         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดูคล้ายน้ำตาลทรายมาก เพราะผลิตทางเคมีจากน้ำตาลกลูโคส จริงแล้วร่างกายก็สร้างเองได้ในปริมาณน้อย เป็นสารที่มีความหวานราว 60-70% ของน้ำตาลทราย สามารถใช้ในการผลิตขนมอบได้แบบเนียนๆ ไม่แสดงผล aftertaste (หวานติดคอน่ารำคาญ) ในผู้บริโภค ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและมีฤทธิ์เป็นยาระบายน้อยกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคีโตและอาหารชนิดที่มีน้ำตาลต่ำซึ่งขายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักถูกนำไปใช้ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevioside) หรือกับสารสกัดหล่อฮังก๊วย (arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit) ทั้งนี้เพราะสารสกัดทั้งสองมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 ถึง 400 เท่า เวลาใช้จึงต้องใช้ในปริมาณน้อยทำให้ตวงปริมาณยาก จำต้องใช้อิริทริทอลซึ่งมีลักษณะหลอกตาดูคล้ายน้ำตาลทำหน้าที่เป็นเนื้อสัมผัสเพื่อให้ปริมาณสารให้ความหวานหลักถูกใช้ในปริมาณไม่มากจนเกินควร         สำหรับงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า การกินอิริทริทอลอาจเป็นปัจจัยก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ บทความเรื่อง The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้นเป็นการรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอิริทริทอลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง         คำถามที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลคือ เหตุใดอยู่ดี ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสนใจว่า อิริทริทอลส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งที่น้ำตาลเทียมชนิดนี้มีการใช้มานานพอควรและดูว่าไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ แต่เมื่อตามดูบทความที่ผู้ทำวิจัยหลักให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ New York Times และ CNN ทำให้ได้ข้อมูลว่า จริงแล้วก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยได้ทำงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องการค้นหาว่า มีสารเคมีหรือสารประกอบที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนในเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ ที่สามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาสามปีของการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ของ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด 1,157 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมระหว่างปี 2004 ถึง 2011 จากอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้วพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอิริทริทอลในเลือดในระดับที่น่าสนใจจนนำไปสู่การวิจัยที่เป็นที่มาของบทความวิจัยที่ก่อความกังวลแก่ผู้ที่บริโภคอิริทริทอล         ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้น นักวิจัยได้ตรวจสอบระดับอิริทริทอลในเลือดของคนไข้ 2,149 คนจากสหรัฐอเมริกาและ 833 คนจากยุโรป แล้วพบว่าอาสาสมัคร (ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง) มีความเข้มข้นของอิริทริทอลในเลือดสูง แล้วเมื่อทดลองเติมอิริทรีทอลลงในตัวอย่างเลือดหรือเกล็ดเลือดที่แยกออกมา (ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นเป็นองค์ประกอบในเลือดที่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดแผลและทำให้เกิดเลือดอุดตันในบางโรค) ในหลอดทดลองผลที่ได้ปรากฏว่า อิริทรีทอลทำให้เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นง่ายขึ้นในการจับตัวเป็นก้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจแตกออกจากกันแล้วไหลไปในหลอดเลือดเดินทางไปยังหัวใจ ซึ่งถ้ามีการตกตะกอนในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือถ้าไปตกตะกอนในเส้นเลือดสมองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้         นอกจากนี้นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 8 คน กินอิริทริทอลในปริมาณเดียวกับที่พบได้เมื่อกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานนี้ เพื่อลองกระตุ้นให้ระดับอิริทริทอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่ (นานมากกว่า 2 วัน) ซึ่งคำนวณแล้วว่า สูงกว่าขนาดที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดทดลอง ส่งผลให้ผู้วิจัยประเมินว่า อิริทริทอลนั้นน่าจะเพิ่มปริมาณให้สูงได้ในร่างกายจากการกินอาหารจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความเสี่ยงอันตรายของหัวใจที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจะศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะยาวของอิริทริทอลเพิ่มเติม         มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยดังกล่าวในหลายบทความในอินเตอร์เน็ทว่า ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาคือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการต่อการเป็นโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่ใช่สาเหตุ (causation) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol และความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พิสูจน์ว่า สารให้ความหวานนี้ทำให้เกิดโรคเพราะผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมนี้ในปริมาณสูงเพื่อพยายามลดการกินน้ำตาลทรายให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทดลองให้คนสุขภาพปรกติกินสารให้ความหวานนี้จนอยู่ในสถานะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นทำการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการทางสรีรภาพคล้ายมนุษย์         ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากพวกเขามีระดับอิริทริทอลในเลือดสูง และผลการศึกษานี้ดูขัดแย้งกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายทศวรรษที่แสดงว่า สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างอิริทริทอลนั้นปลอดภัย จนได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม         ก่อนหน้านี้ในปี 2022 วารสาร BMJ ได้มีบทความเรื่อง Artificial sweeteners and risk of cardiovascular diseases: results from the prospective NutriNet-Santé cohort ได้รายงานผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานเทียมจากเครื่องดื่ม (แอสปาร์แตม อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม หรือซูคราโลส) สารให้ความหวานบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 103 388 คนจาก NutriNet-Santé cohort (เป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของอาสาสมัครประมาณ 171,000 คนที่เปิดตัวในฝรั่งเศสในปี 2009 เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางโภชนาการซึ่งหมายถึงการกินอยู่ตามปรกติและสุขภาพ) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42.2 ปี ที่มีร้อยละ 79.8 เป็นเพศหญิง โดยข้อมูลการกินสารให้ความหวานเทียมได้รับการประเมินโดยบันทึกจากการกินอาหารใน 24 ชั่วโมงมากกว่า 1 ครั้ง และจากการประเมินผลได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงที่เป็นไปได้ระหว่างการกินสารให้ความหวานเทียมที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะแอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม และซูคราโลส) และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีสารให้ความหวานเหล่านี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่และกำลังได้รับการประเมินใหม่โดย European Food Safety Authority, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ         การกำหนดปริมาณการกินอิริทริทอลในอาหารนั้นเริ่มในปี พ.ศ. 1999 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุเจือปนอาหารแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรและองค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงในการกินอิริทริทอลและกำหนด ปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (acceptable daily intake หรือ ADI) เป็น "ไม่ระบุ (not specified)" ซึ่งต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU Scientific Committee on Food) สรุปว่า อิริทริทอลนั้นปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร การอนุมัติอิริทริทอลของสหภาพยุโรปยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้อิริทริทอลในเครื่องดื่ม เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรประบุว่า อาจมีผลข้างเคียงเกินเกณฑ์ของยาระบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิริทริทอลจากเครื่องดื่มในปริมาณสูง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รู้เท่าทันการหุงข้าวแบบลดน้ำตาลอย่างง่ายๆ

        ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลว่า ไม่สามารถลดน้ำตาลได้ร้อยละ 70 ตามโฆษณา ฉบับนี้เราจะบอกถึงวิธีหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลได้ง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีหุงข้าว เรามารู้เท่าทันกันเถอะวิธีการหุงข้าวแบบธรรมดาที่สามารถลดน้ำตาลในข้าวได้        การหุงข้าวแบบที่ช่วยลดน้ำตาลนั้น มีงานวิจัยใน Pubmed ปี ค.ศ. 2015 ว่า ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำมาทำให้เย็นลง จะทำให้แป้งของข้าวเกิดการคืนตัว (retrogration) ทำให้เพิ่มปริมาณของแป้งและผลิตภัณฑ์ของแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์หรือแป้งที่ให้พลังงานต่ำ (resistant starch) ซึ่งจะไม่สามารถถูกย่อยด้วยเอนไซม์และถูกดูดซึมในลำไส้เล็กของมนุษย์ แป้งที่ทนต่อการย่อยจึงเป็นเหมือนเส้นใยอาหาร สามารถผ่านเข้าไปถึงลำไส้ใหญ่และถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดไขมันสายสั้นๆ ที่เอื้อต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่  ผลจากการย่อยที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณพลังงานในระดับต่ำกว่าปกติ หรือทำหน้าที่คล้ายกับใยอาหาร ซึ่งหากบริโภคเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน อ้วน หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น         งานวิจัยได้ศึกษา ข้าวขาวที่หุงสุกใหม่ๆ (ข้าวควบคุม) ข้าวขาวที่หุงสุกแล้วทิ้งให้เย็นในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 10 ชั่วโมง (ข้าวทดลอง I) และข้าวขาวที่หุงสุกแล้วแช่ตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วนำมาอุ่นใหม่ (ข้าวทดลอง II)  ผลการศึกษาพบว่า แป้งที่ทนต่อการย่อยในข้าวควบคุม ข้าวทดลอง I และข้าวทดลอง II เป็น 0.64 กรัม/100 กรัม, 1.30 กรัม/100 กรัม และ 1.65 กรัม/100 กรัม ตามลำดับ และเมื่อทำการศึกษาผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการบริโภคอาหารชนิดนั้น ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน พบว่า ข้าวทดลอง II จะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวควบคุมและข้าวทดลอง I อย่างมีนัยสำคัญ         โดยสรุป การทำให้ข้าวที่หุงสุกเย็นลงจะทำให้เกิดแป้งที่ทนต่อการย่อย การแช่ข้าวที่หุงสุกในตู้เย็น (อุณหภูมิ 4 องศาเซนติเกรด) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาอุ่นให้ร้อน จะช่วยลดดัชนีน้ำตาลของข้าวเมื่อเทียบกับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ หุงข้าวด้วยน้ำมันมะพร้าวช่วยลดพลังงานจากข้าวได้         นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากสถานีวิทยุบีบีซี ว่า นักวิจัยชาวศรีลังกาสามารถลดแคลอรี่ในข้าวได้ร้อยละ 60 โดยการหุงข้าวในน้ำมันมะพร้าวเป็นเวลา 40 นาที ทิ้งให้เย็นและแช่ข้าวในตู้เย็นเป็นเวลา 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอผลการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้        สรุป     ข้าวที่หุงสุกแล้ว เมื่อนำไปแช่ในตู้เย็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้แป้งของข้าวกลายเป็นแป้งที่ทนต่อการย่อย และถูกดูดซึมน้อยลงในลำไส้เล็ก มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดน้อยลงเมื่อเทียบกับการกินข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ผู้ที่เป็นเบาหวาน อ้วน จึงควรลองเปลี่ยนวิธีเป็นรับประทานข้าวหุงสุกที่แช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นร้อนหรือเปลี่ยนวิธีการหุงข้าวเพื่อช่วยลดน้ำตาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 รู้เท่าทันหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล

        ช่วงนี้กระแสโฆษณาหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกำลังมาแรงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวเป็นอาหารประเภทแป้ง ซึ่งจะย่อยกลายเป็นน้ำตาล ดังนั้นกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวานและต้องการลดน้ำตาล จึงสนใจหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลกันอย่างมากมาย เรามารู้เท่าทันกันเถอะ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลลดน้ำตาลคืออะไร         หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้นจะมีกระบวนการในการหุงที่แตกต่างกันกับหม้อหุงข้าวทั่วไป โดยมีการแยกน้ำที่ได้จากการหุงข้าวออกมาจากข้าว ทำให้ระดับน้ำตาลภายในข้าวลดลงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์หลังจากข้าวสุกแล้ว ทำให้เข้ากับกระแสการต่อต้านน้ำตาล หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศจีน จนสถาบันอาหารปักกิ่งต้องออกมาทำการทดลองว่า หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลสามารถลดน้ำตาลได้ 70 เปอร์เซนต์จริงหรือไม่ หม้อหุงข้าวลดน้ำตาลช่วยลดน้ำตาลในข้าวได้จริงหรือไม่         ข้อมูลจากเว็บไซต์ใน Blogdits อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.chinanews.com/cj/2020/10-31/9326997.shtml พบว่า กระบวนการทำงานของหม้อหุงข้าวลดน้ำตาลนั้น ไม่สามารถที่จะใช้ในการลดน้ำตาลภายในข้าวได้จริง เนื่องจากว่าภายในเมล็ดข้าวนั้นจะประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแป้งถึงร้อยละ 90 ของเมล็ดข้าว และร้อยละ 75 ของข้าวเป็นแป้ง โดยองค์ประกอบของแป้งเป็นพอลิแซคคาไรด์ที่เกิดจากกลูโคสจำนวนหลายพันโมเลกุลมาต่อกัน มีโครงสร้างเป็นทั้งแบบสายยาวและกิ่งก้านสาขา แป้งมีมากในพืชประเภทเมล็ดเช่นเมล็ดข้าวและพืชที่มีหัวหัว เมื่อแป้งถูกความร้อนจะกลายเป็นเด็กซ์ตริน ซึ่งเป็นสารที่มีรสหวานเล็กน้อยและมีสมบัติเหนียวแบบกาว ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้อ้วนได้  ดังนั้นไม่ว่าจะโดนความร้อนหรือมีการแยกน้ำที่ใช้ในการต้มข้าวออกจากการหุงข้าวก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำการลดปริมาณน้ำตาลที่อยู่ภายในข้าวหรือเมล็ดข้าวได้อย่างมีนัยยะสำคัญและสามารถที่จะช่วยในการลดปริมาณน้ำตาลภายในข้าวได้จริงนั่นเอง         สถานีโทรทัศน์ของจีนยังรายงานผลการทดลองการเปรียบเทียบโดยการวัดระดับน้ำตาลภายในเลือดของอาสาสมัครที่กินข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวธรรมดา กับ ข้าวที่หุงด้วยเครื่องหุงข้าวลดน้ำตาลพบว่า อาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม มีระดับน้ำตาลที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญการหุงข้าวที่แยกน้ำออกจากข้าว คล้ายกับการเช็ดข้าวแบบสมัยก่อน ซึ่งนำมาใช้กับการหุงข้าวแบบหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล ซึ่งน้ำข้าวนั้นจะอุดมไปด้วย โพลิฟีนอล วิตามินบีคอมเพลกซ์ วิตามินอี เป็นต้น  โดยเฉพาะวิตามินบี จะสูญเสียไปได้ง่าย         การกินข้าวที่หุงข้าวแบบทิ้งน้ำข้าวเป็นเวลานาน จะต้องกินวิตามินรวมเสริม หรือกลุ่มวิตามินบี เพื่อทดแทนวิตามินที่สูญเสียไป         ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลของการลดน้ำตาลในข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล         สรุป     ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการลดน้ำตาลของข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวลดน้ำตาล              ฉบับหน้า จะพูดถึงการหุงข้าวอีกแบบหนึ่งที่เป็นการลดการดูดซึมแป้งหรือน้ำตาลในข้าวที่มีงานวิจัยรองรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ‘ภาษีน้ำตาล’ มาตรการลดจริตติดหวานของคนไทย

คนไทยบริโภคน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่มในแต่ละวัน มากกว่า 20 ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมผู้ป่วยที่ยังไม่รู้ตัวอีกมากอาหารรสจัดทั้งหลายนั้นนำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases; NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตคนไทยแย่ลง และเกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นตามมา จากความเสี่ยงดังกล่าว สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) จึงมีมติเห็นชอบ ให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงน้ำผลไม้ โดยวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีความหวาน ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยบริโภคน้ำตาลกันน้อยลง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ให้หันมาบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น แม้มาตรการการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะก่อให้เกิดคำถามว่า ภาครัฐเองต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นหรือไม่         โดยการจัดเก็บภาษีความหวานนั้น จะจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับสูตรการผลิตสินค้าเครื่องดื่มให้มีปริมาณน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการจัดเก็บภาษีความหวาน ตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 นั้นมีผลบังคับใช้ในรอบแรก ซึ่งมีระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 16 ก.ย.60 – 30 ก.ย.62 โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน  6 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะไม่เสียภาษี แต่หากมีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม/ 100 มล. จะต้องเสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร และหากปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัมขึ้นไป /100 มล. ต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร  ซึ่งจะมีการเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีเป็นขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว และไม่โยนภาระไปยังผู้บริโภคโดยการขึ้นราคา         โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.62 ที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีรอบที่สอง (ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.62 – 30 ก.ย.64) โดยเริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร (เดิม 0.5 บาท/ลิตร) กลุ่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม ต้องเสียภาษี 3 บาท/ลิตร (เดิม 1 บาท/ลิตร) และ กลุ่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมขึ้นไป ต้องเสียภาษี 5 บาท/ลิตร  ผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีความหวาน        ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลมบางยี่ห้อ มีการปรับลดน้ำตาลจาก 14 กรัมต่อลิตร เหลือ 12 กรัมต่อลิตร เพื่อให้เสียภาษีต่ำลง         อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนสินค้าให้มีความหวานน้อยลงมากเท่าที่ควร เพราะกลัวยอดขายลดลง แต่บางยี่ห้อได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความหวานน้อยลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และยังคงขายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มรายได้หลัก ซึ่งส่วนนี้ผู้ผลิตจะแบกรับภาระต้นทุนภาษีไว้เอง นอกจากนี้ผู้ผลิตน้ำอัดลมบางยี่ห้อได้ปรับขึ้นราคาขายไปแล้ว 2 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาจากภาระต้นทุน และภาระทางภาษีที่ปรับขึ้นใหม่         จากที่กรมสรรพสามิตเริ่มจัดเก็บภาษีความหวานเครื่องดื่มเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่า มีกลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ปรับลดปริมาณน้ำตาลให้น้อยลง เพิ่มขึ้นสองเท่าตัว จาก 60 - 70 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มเป็น 200-300 ผลิตภัณฑ์ และมีน้ำอัดลมบางยี่ห้อลดปริมาณน้ำตาลลงจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7.5 เพื่อให้เสียภาษีในอัตราเดิม             ทั้งนี้ นอกจากมาตรการการจัดเก็บภาษีความหวานแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ใช้มาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี เช่น ใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม หรือ GDA (Guideline Daily Amount), การติดสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” Healthier Choice Logo บนผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ สินค้าที่มีน้ำตาลสูงจะมีราคาแพงกว่าและยังส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า         ในขณะที่การใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับชนิดของสารและปริมาณที่เหมาะสมที่จะสามารถเติมในเครื่องดื่มได้ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 กระแสต่างแดน

ผมแก้บน         ร้อยละ 70 ของวิกผมในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ เป็นวิกที่ผลิตในประเทศจีน และหนึ่งในสามของ “ผม” ที่นำมาทำเป็นวิกเหล่านั้นมาจากอินเดียผม “คุณภาพพรีเมียม” เหล่านี้ได้จากญาติโยมที่มา “แก้บน” ด้วยการโกนศีรษะถวายเป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่วัดศรีเวงกเฏศวรา ในเมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศร้อยละ 30 – 50 ของผู้คนหลายหมื่นคนที่เดินทางมายังวัดนี้ในแต่ละวันคือผู้ที่มาแก้บนหลังได้รับพรจากพระนารายณ์ให้มีบุตร มีบ้าน มีรถ หรือหายจากอาการป่วย ฯลฯทางวัดมีเจ้าหน้าที่คอยรวมรวมผมที่ถูกโกนทิ้ง แล้วนำไปทำความสะอาด หวีให้เรียบร้อย แล้วจัดเก็บในโกดัง ทุกๆ โดยจะนำออกมาประมูลขายออนไลน์ทุกสองหรือสามเดือน ผู้ที่เข้ามาประมูลซื้อก็คือบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผมไปยังจีนหรือฮ่องกงนั่นเองผมของผู้คนประมาณ 12 ล้านคนต่อปีนี้ทำให้วัดมีรายได้ประมาณ 17 ล้านเหรียญ ที่วัดนำไปใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า รวมถึงทำอาหารเลี้ยงญาติโยมที่มาทำบุญหอมซ่อนเสี่ยง         สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนของไต้หวันกำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศแบน “บุหรี่แต่งกลิ่น” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นมีข้อมูลที่ยืนยันว่าบุหรี่ชนิดนี้เป็นตัวเลือกของร้อยละ 40 ของนักสูบที่อยู่ในวัยทีน และยังเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงค่อนข้างมาก ที่สำคัญผู้สูบมักรู้สึกว่าบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารักแบบนี้มีอันตรายนิ้ยดว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ปริมาณนิโคตินไม่ต่างกัน    จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา “กลิ่น” ที่ว่านี้มีให้เลือกไม่ต่ำกว่า 1,200 กลิ่น สำนักงานฯ จึงเตรียมเสนอให้มีการจำกัดการใช้สารเคมีในการแต่งกลิ่นยอดนิยมอย่าง วานิลา เมนทอล อัลมอนด์ คาราเมล ในการแก้ไขพรบ. ป้องกันอันตรายจากยาสูบด้วยปัจจุบันมี 39 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนบุหรี่แต่งกลิ่น เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา บราซิล ตุรกี และสิงคโปร์ กินหวานช่วยชาติ         อัตราการบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 23 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี แต่สำหรับอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก (ผลัดกันครองแชมป์กับบราซิล) ผู้คนกลับบริโภคน้ำตาลเพียงคนละ 19 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นอินเดียประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นส่งเสริมให้เกษตรกรในชนบทปลูกอ้อยกันมากขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลจึงออกมาเรียกร้องให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ควรเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะได้เพิ่มเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี เหลือส่งออกน้อยลง ประหยัดเงินที่รัฐต้องใช้อุดหนุนการส่งออกได้ไม่น้อยผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลกได้แก่ สหภาพยุโรป อันดับสี่คือประเทศไทย ส่วนจีนนั้นเข้ามาที่อันดับห้าจากข้อมูลล่าสุด อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่คนละ 43.4 กิโลกรัมต่อปี ช้อปล้างแค้น         งานช้อปออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ “วันคนโสด” ปีนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคคงจะ “ช้อปล้างแค้น” ที่อดไปเที่ยวเพราะการระบาดของโควิด-19 งานนี้เขาเตรียมพนักงานไว้กว่า 3 ล้านคน เครื่องบินและเรือสินค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ลำ และรถโมบายล็อคเกอร์อีก 10,000 คัน  จากสถิติปีที่แล้วมียอดขาย 210,000 ล้านหยวน (สองเท่าของยอดขายในวันแบล็คฟรายเดย์และวันไซเบอร์มันเดย์รวมกัน) โดยสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามแม้จะเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว แต่งานช้อปแห่งปีของจีนแผ่นดินใหญ่ปีนี้คึกครึ้นยิ่งกว่าเคย และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากได้แก่ วิตามิน เครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และกล่องเครื่องมือ DIY หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็คาดว่าขายดีขึ้นเช่นกันงานนี้ยังมีบ้าน/คอนโด ลดราคาท้าโควิดให้เลือกซื้อกันถึง 800,000 แห่ง และรถอีก 200,000 คันคิดบวก         งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่พบความแตกต่างทางสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างคนที่ทานวิตามินทุกวันกับคนที่ไม่ได้ทานจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 20,000 คน (ประกอบด้วยผู้ที่ทานวิตามินเป็นประจำ 5,000 คน และผู้ที่ไม่ทาน 16,660 คน) ในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และประวัติทางการแพทย์ แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดทางสุขภาพ 5 รายการ นักวิจัยพบว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันที่น่าสนใจคือเขาพบว่าผู้บริโภควิตามินนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจและความกังวลเรื่องสุขภาพมากทั้งๆ ที่ตนเองมีสุขภาพดีอยู่แล้ว และร้อยละ 30 ของกลุ่มที่ทานวิตามินนั้น “รู้สึก” ว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น   “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นนี้จึงน่าจะเป็นเพราะพวกเขาคาดหวังเช่นนั้นนักวิจัยย้ำว่าการรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์จริงกับคนที่ร่างกายขาดวิตามินส่วนคนที่ไม่ได้ขาดวิตามินก็ถือว่าช่วยทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายแสนล้านก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กว่าจะมาเป็นเรื่องราวของภาษีความหวาน

               การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวาน ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น พบว่าผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวหรือปรับลดปริมาณความหวาน ตามที่กำหนด ต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทุก 2 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 และ 1 ตุลาคม 2566) เช่น ปัจจุบันเสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร หากไม่ปรับตัว จะเสียภาษีเพิ่ม 1 เท่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการทยอยปรับตัวไปบ้างแล้ว ทำให้ภาระภาษีลดลง แต่บางรายปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มด้วย ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และผู้อำนวยการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ย้อนความให้ฉลาดซื้อฟัง ก่อนมาเป็นเรื่องภาษีน้ำตาล        เราเริ่มดูสถานการณ์การบริโภคของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วเข้าไปสืบค้นข้อมูลว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลอย่างไร เราเห็นว่าตั้งแต่ปีนั้นที่เราไปสืบค้นข้อมูลได้ ตลอดระยะเวลาในช่วงนั้นเราเห็นว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นธรรมดาเพราะบ้านเราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลของโลก อ้อยและน้ำตาล เพราะฉะนั้นเนื่องจากว่าตนเองเป็นทันตแพทย์ ก็เริ่มกังวลเพราะว่า เราคุมเรื่องอัตราการเกิดโรคฟันผุไม่อยู่แล้ว         ในขณะเดียวกันเรื่องอ้วนก็เริ่มเป็นปัญหาเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็คุยกับทางนักโภชนาการกับกุมารแพทย์ว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องมีขบวนการที่จะรณรงค์ใช้มาตรการที่จะทำให้คนไทยลดการบริโภคลงมาได้ ทำเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 ก่อน 2548 แถวๆ ปี 2546 – 2547 เราก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มจากหนึ่งเอาน้ำตาลออกจากนมสูตร 2 ซึ่งเราก็โชคดีที่ทาง อย. ตอนนั้นก็ให้ความร่วมมือกับเรา แล้วก็ออกประกาศเรื่องนี้ให้เราด้วย แล้วก็เป็นระเบียบฉบับแรกที่เราแก้ไขเชิงนโยบาย         เรารู้มานานแล้วว่าแหล่งบริโภคของน้ำตาล แหล่งรับน้ำตาลของคนไทยเรามาจากเครื่องดื่ม รู้มานานแล้วจากการที่เราเฝ้าดูการบริโภคเพียงแต่ว่ามาตรการที่เราจะดำเนินการคือ เราเห็นว่าหนึ่งเริ่มจากเด็กไม่ให้ติดหวาน สองคือเราจะจัดการอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมนั้นเอื้ออำนวยให้คนเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรืออะไรก็ได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเราก็พยายามใช้กลไกการรณรงค์ ตั้งแต่ดูว่าจะทำอย่างไรกับ setting ของโรงเรียน เพราะเรามีข้อมูลว่าเด็กไทยตอนนั้นก็ดื่มน้ำอัดลม เอาแค่เฉพาะน้ำอัดลมนั้นอยู่ที่ประมาณ 250 ซีซีต่อวัน ในน้ำอัดลมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคประมาณ 250 ซีซีที่ว่าจะมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 10-15 ช้อนชาแล้วแต่รสชาติของมัน         ก็เริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรที่จะขอความร่วมมือจากโรงเรียนในการจัดการ คือพยายามให้มีเรื่องโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างมากจากกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2550 มีนโยบายออกมาแต่ค่อยๆ ทำมาเรื่อย ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมันเป็นนโยบายที่ประกาศเฉยๆ ไม่ได้ออกเป็นกฎ ซึ่งยากมากที่จะไปออกเป็นกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนั้นเรายังไม่สำเร็จเรื่องนี้ แต่ว่าเราก็ทำต่อเนื่องมา ถัดมาก็ทำเรื่อง Healthy Meetings ที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษีหมดเลย เราคิดว่าเราก็ค่อยๆ ทำไปเป็นกระบวนการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย พร้อมๆ กันก็มีกระบวนการสื่อสารให้ความรู้อย่างทั่วถึงเรื่องของน้ำตาลที่มากเกินไป  เริ่มต้นด้วยการทบทวนวรรณกรรม มีนักวิชาการช่วยเราทบทวนเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไรตั้งแต่ปี 2552         หลังจากปี 2553 ตอนนั้นได้มติสมัชชาสุขภาพเรื่องโรคอ้วน ซึ่งหนึ่งในมตินั้นก็มีการพูดถึงในเรื่องของโรคอ้วนในเด็ก เรื่องของน้ำอัดลม เรื่องของการจัดการด้วยระบบของภาษี พอเป็นตรงนี้เราก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการ ได้โอกาสได้ทีมงานมาเพิ่มขึ้นเป็นนักวิชาการในส่วนของมูลนิธิ ISBP ระหว่างประเทศเขามาช่วยเรา แนวคิดเก็บภาษีน้ำตาลเริ่มขึ้นตอนไหน         ประมาณปี 2552-2553 ปี 2553-2554 อาจารย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากจุฬาฯ มาช่วยเราดูมันมีกระบวนการทางภาษีจะกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ก็มีการสำรวจ ล่าสุดเลยที่เราใช้การขับเคลื่อนตัวนโยบายก็คือ เราสำรวจว่าคนไทยอายุ 10 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมดื่มน้ำอย่างนี้อย่างไร แล้วเขามีแนวโน้มจะเปลี่ยนพฤติกรรมไหม สิ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือว่า สำหรับคนไทยเราแล้ว หากราคาต้องปรับขึ้นไปประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนที่ดื่มพวกนี้เป็นประจำเขาจะเปลี่ยน คือคิดที่จะดื่มอย่างอื่นแทน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตอบมาเขาคิดจะเปลี่ยนไปดื่มน้ำเปล่าซึ่งอันนั้นดี        แล้วก็เป็นจังหวะที่โชคดีที่ตอนนั้นมีสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาแล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเงินการคลังสาธารณสุข มีอาจารย์แพทย์หญิงพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ เป็นประธาน เครือข่ายมีการรณรงค์ต่อเนื่องท่านก็ได้ทราบข่าวสาร ท่านได้ทราบถามว่าใครกำลังทำเรื่องนี้(ภาษีน้ำตาล) ก็เลยเรียกว่าโอกาสเปิด ทางอาจารย์พรพันธุ์ท่านแอคทีฟ(active) มาก พูดว่าเรื่องนี้ต้องทำให้สำเร็จ        ตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มต้น เราก็ได้ข้อเสนอออกมาจากทาง สปช.หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติให้ทำเรื่องนี้เข้าไป รอว่ากระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร พอดีท่านอาจารย์แพทย์หญิงพรพันธุ์ กลับมาใหม่ในหน้าที่และตำแหน่งเดิมท่านก็ตามเรื่องนี้ต่อ  ประมาณเดือนเมษายนปี 2559 ก็เร็วมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเขาโต้แย้งเยอะแล้วทางสภาปฏิรูปเองก็ให้โอกาสทุกภาคส่วนจัดประชุมในชุดเดียวกันเลย สิ่งที่พบเจอก็คือว่าข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน เขาเองก็รู้ว่าคนไทยนั้นได้น้ำตาลมาจากแหล่งนี้มากที่สุด(เครื่องดื่ม) เพียงแต่เขาก็รู้สึกว่าตัวนี้ไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้คนลดอ้วน หรือลดโรค NCDs ได้ แต่เราบอกว่าตัวนี้มันเป็น good buy คือเป็นมาตรการแนะนำขององค์การอนามัยโลกเลยนะ ซึ่งทั่วโลกเขาพยายามทำแล้วให้ผลค่อนข้างจะมาก จึงได้มีกระบวนการพูดจา เจรจากัน ทำความเข้าใจกันทั้งหมดแล้วก็ผ่านขั้นตอนในการออกกฎหมาย แล้วก็ผ่านไปจนผ่าน ครม. จนไปผ่านสภาปฏิรูปเพื่อที่จะกลับไปที่ ครม.ใหม่ สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้มันก็เลยสามารถออกมาได้ เพราะว่ามันก็ถูกใส่เข้าไปแก้ไขได้เลยใน พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเขาจะประกาศใช้        ต้องบอกว่าเครือข่ายโชคดี อาจจะโชคดีเนื่องจากว่าเราก็พยายามทำข่าวอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ช่วยเราในการเคลื่อนข่าว เราก็ออกข่าวเป็นระยะๆ ได้ทั้ง ศ.เกียรติคุณพญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ พากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมาช่วยออกข่าว เราก็ได้ติดต่อทางองค์การอนามัยโลกประเทศไทยให้มาช่วยให้ข่าวด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกยอมออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ หลังจากนั้นพอมีกระบวนการเหล่านี้ ก็มีข้อต่อรองจากทางอุตสาหกรรมขอเวลา 5 ปี ในการปรับตัวซึ่งเราไม่ยอม ทางเราก็บอกว่า 5 ปีนานไปเพราะว่า 5 ปีนั้นไม่รู้ว่าคนไทยจะเป็นเบาหวานไปอีกนานเท่าไหร่ เด็กจะอ้วนไปอีกเท่าไหร่มันเพิ่มไปเรื่อยมันไม่ลดสักทีเราก็บอกไม่ได้        “ทางกระทรวงการคลังเอง สรรพสามิตเขาก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ละกันไม่ต้องมี 5 ปีไม่ต้องมี 10 ปี เขาจะประกาศทันที แต่เขาจะพยายามจัดระบบการจัดเก็บตามแนวทางที่เราเสนอ เพราะเราทำข้อเสนอว่าให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า สำหรับปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในเครื่องดื่มให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า เขาบอกเขาจะจัดเก็บอัตราก้าวหน้า แต่ว่าระดับเปอร์เซ็นต์เป็นเท่าไหร่เขาขอพิจารณาเอง เราได้เท่านี้เราก็โอเคแล้วละค่ะ”         สรุปออกมาเป็นข้อตกลงร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนของกระทรวงการคลังเองที่จะดูเรื่องนโยบาย เขาก็ทำอัตราภาษีมาให้เห็นเมื่อภาษีสรรพสามิตประกาศก็เกิดขึ้นทันที แต่ว่าสองปีที่ผ่านมาคือปี 2561 และ 2562 อัตราภาษีที่ขึ้นน้อยมาก การขึ้นน้อยก็เป็นการให้ภาคอุตสาหกรรมตื่นตัว ขึ้นน้อยมากแทบไม่กระทบต่อราคา ถ้าเราสังเกตนะคะเขาขึ้นน้อย เพราะจริงๆ เป็นช่วงปรับตัวให้คุณ แล้วก็มาขึ้นที่ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มมาแล้วเมื่อวานนี้ (วันที่ 1 ตุลาคม)        ระยะที่ 2 นี้ถ้าไปสังเกตอัตราภาษีจะขึ้นเท่าตัวเลย ซึ่งรอบนี้คือการขึ้นจริงแล้ว แต่ว่าถ้าถามโดยส่วนตัวยังรู้สึกว่า เรายอมเขาเพราะว่าเรายอมเขาส่วนหนึ่ง เราขอเขาที่ 6 เปอร์เซ็นต์น้ำตาลในการเริ่มอัตราจัดเก็บ แต่อุตสาหกรรมขอต่อรอง เราก็มาสรุปจบกันที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรอบนี้ยัง 10 เปอร์เซ็นต์น้ำตาลอยู่นะคะ เพราะฉะนั้นเรายังมีระยะที่ 3 อีก หมดปี 2564 จะขึ้นระยะที่ 3 ซึ่งระยะที่ 3 นั้นใครที่ยังคง 10 เปอร์เซ็นต์จะถูกเก็บมากขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะฉะนั้นเราก็ได้ข้อเสนอตามที่เราเสนอจริงๆ คือเปอร์เซ็นต์น้ำตาลปี 2564 เป็นต้นไป โดยรวมสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ ตอนที่คุยกับภาคอุตสาหกรรมเขามีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร         เขาพอจะรู้กระแสนี้มานานแล้วว่าเราทำเรื่องนี้แน่แล้ว เขาก็จับตามองเครือข่ายคนไทยไม่กินหวานมานานแล้ว เพราะเราไม่ได้เพิ่งทำเรื่องนี้เรื่องแรก สิ่งที่เราเป็นกังวลก็คือว่า เขาจะมีข้อมูลชุดอื่นที่มันพิเศษไปกว่าเราไหม หรือแหล่งข้อมูลอะไรที่มันมากกว่าเราไหม ปรากฏว่าทุกคนก็ใช้แหล่งข้อมูลชุดเดียวกัน ตัวเลขที่ได้จากฝั่งที่เราคำนวณกับจากฝั่งที่เขาได้ก็ไม่ได้ต่างกัน เขารู้อยู่แล้วว่าน้ำตาลไปจากตรงนี้มากที่สุดแล้วสำหรับทั่วโลก จริงๆ คนเราวันหนึ่งๆ ได้น้ำตาลจากเครื่องดื่มมากที่สุด        เพราะฉะนั้นคุยกับเขาแบบตรงๆ ว่าเราคาดหวังที่จะให้อะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามีการขึ้นภาษีน้ำตาลจริงๆ ก็คือว่าเราคาดหวังว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มันดีต่อสุขภาพ healthy มากขึ้น จะสอดคล้องกับเรื่อง Healthy Choice ที่เราช่วยกันทำ เราต้องการให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้น มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น คนมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะธรรมชาติมนุษย์เห็นอะไรเยอะก็ซื้ออย่างนั้น การตลาดดีก็ซื้ออันนั้น ระยะยาวก็จะสามารถเปลี่ยนได้เอง เราคาดหวังข้อแรกคือเรื่องนี้ เรื่องที่สองที่เราบอกเขาก็คือว่าถ้าคุณไม่อยากโดนเก็บภาษี คุณก็มีวิธีการเดียวคือคุณต้องปรับสูตร ถ้าคุณไม่ปรับสูตรคุณก็ลดขนาดลง จากเดิมเคยขาย 325 มล. คุณก็ลดลงให้แพคเก็จลดลง ฟังก์ชันเล็กลง คนก็กินน้อยลง เพราะว่าข้อมูลเรามีนะคะ คนบริโภคเขาซื้อเป็นแก้ว เป็นขวด เป็นกระป๋อง เหมือนเราซื้อน้ำเราไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ เราเสีย 5 บาทจากเดิม 10 บาทขวดใหญ่มาก ลดลงมาเหลือขวดเล็กก็ไม่ได้ว่าอะไรก็กินหมด แต่ก็ยังไม่เป็นไรก็เพราะว่าเราก็ไม่ได้กินเข้าไปเยอะ เพราะฉะนั้นคุณก็มีทางเลือกขนาดเป็นขวด คุณก็จะเสียภาษีน้อยลงก็คุยกันว่าแบบนี้ เพราะว่านั่นคือสิ่งที่เราอยากได้ เสียงจากผู้บริโภคทั่วไป        ถ้าโดยรวมช่วงที่เราทำเราไม่ค่อยได้รับกระแสต้านแบบตรงๆ แต่มีตั้งกระทู้ใน pantip ว่าให้คนช่วยดู ซึ่งก็ไม่ได้แรงมาก ไม่มีการออกมาเดินขบวนหรืออะไรทั้งสิ้น น้ำตาลที่บอกจะมีผลกระทบแทบไม่กระทบเลยค่ะ แล้วเราก็ชี้แจงให้เห็นด้วยว่าใครเข้าใจเรื่องของโควต้าน้ำตาลในประเทศ การทำตรงนี้บางทีอาจจะไม่ได้กระทบเชิงลบด้วย บางทีเขาก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งจริงๆ ส่วนตัวก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องพวกนี้เยอะแต่วันนั้นเขาอธิบายให้ฟัง เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้กระทบเราเลย สังเกตว่ามาตรการนี้พวกอ้อยและน้ำตาลไม่ได้รุกมาต่อต้านเท่าไหร่ เพราะเราเชิญเขามาประชุมด้วยค่ะ เขาอยู่ในคณะกรรมการเราด้วย สิ่งที่ตกลงกันทำก็คือทางภาคอุตสาหกรรมเขาจะพยายามช่วยให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งลดน้ำตาล สัญญาเป็นแต่ละปีเลยว่ากี่ SBU กี่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสองปีผ่านไปเขาทำได้ดีมากนะคะ เขาทำได้มันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาในท้องตลาดมากกว่าที่ตั้งใจเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ถ้าเราไปสังเกตในท้องตลาดเดี๋ยวนี้แม้กระทั่ง 3 in 1 เขาก็เริ่มบอกให้ลดลงมา        นอกจากนี้ข้อมูลที่ออกมาจากการสำรวจพบว่า คนก็ยังเลือกเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูปเยอะกว่าอยู่ดีเพราะว่าจริงๆ คนไทยไม่ได้รวย การดื่มเครื่องดื่มแบบแก้วจริงๆ ราคามันแพงนะคะ ณ ขณะนี้เราก็มีโพลล์ เราก็พยายามรณรงค์ให้คนสั่งเครื่องดื่มเวลาคุณไปสั่งเป็นแก้วที่เป็นไซส์ทั้งหมดว่า “คุณต้องสั่งหวานน้อยหรืองดน้ำตาล” เราก็มีโพลล์ของเราเป็นระยะล่าสุดเพิ่งเก็บกันเองเมื่อสัปดาห์ที่ ในกลุ่มคนทำงานเริ่มมีการสั่งแบบหวานน้อย อ่อนหวานลงบ้างไหม เราได้ตัวอย่างมาไม่มากประมาณ 1,138 คน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน ประชาชนทั่วไปจริงๆ 83 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตัวเองรู้และเริ่มสั่งให้เติมน้ำตาลน้อยลงหรือสั่งอ่อนหวาน ซึ่งจริงๆ อันนี้เป็นผลกระทบจากกระแสข่าวของเรื่องภาษีน้ำตาล ทำให้เขาเริ่มรู้ว่าการกินน้ำตาลเยอะมันไม่ดีอย่างไร        ตอนนี้ในส่วนของเครือข่ายเองเราก็หันมาทำข้อมูลเผยแพร่ โดยในแต่ละจังหวัดทำเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งเขาจะขึ้นเลยสูตรเมนูน้ำตาลของเขาสูตรไหนน้ำตาลเท่าไหร่ หรือถ้าคุณอยากสั่งหวานขั้นที่ 1 น้ำตาลเท่าไหร่ หวานขั้นที่ 2 น้ำตาลเท่าไหร่  มีมากเลยหลายจังหวัด อย่างที่สิงห์บุรีเขาลงทุนทำ Map คล้ายๆ Google Map ให้ดูว่าจะไปหาได้ตรงไหน ซึ่งเรื่องนี้เราทำมานานมากแล้ว ในเครือข่ายพยายามมี connection กับร้านกาแฟ ตอนนี้กรมอนามัยลุกขึ้นมาทำตรงนี้เป็นนโยบาย ก็ทำเป็นกลุ่มร้านกาแฟ คือเป็นประเด็นเรื่องของการลดน้ำตาลซองที่ชาวบ้านเติมเอง จากเดิมที่มาตรฐานคนไทยเราจะใช้กันอยู่ที่ซองละ 6 กรัม เราขอให้เป็นแค่ 4 กรัม ซึ่งมีร้านกาแฟที่เข้าร่วมกับเราอย่าง แบล็คแคนยอน อเมซอน ณ ขณะนี้จะวางซองแค่ 4 กรัม หรือไม่เขาก็ไม่วางซองเลย ก็ลดไปโดยไม่รู้ตัว ลดไปแล้วทันที 25 เปอร์เซ็นต์ หรือรู้ตัวโดยการต้องตักเอง เขาก็ไม่แจกเป็นซองให้ลูกค้าตักเอง ร้านกาแฟเราส่วนใหญ่ที่ไม่ใช้ซองขนาด 4 กรัม เขาก็ให้ตักเอง ข้อมูล Website www.sweetenough.in.th  , Facebook ชื่อเพจ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2562

เจ็บป่วยโรคหน้าร้อน ใช้สิทธิประกันสังคมได้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยขณะนี้ไทยเข้าสู่หน้าร้อน ซึ่งมีโรคอันตรายที่เกิดในฤดูนี้ 6 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และโรคพิษสุนัขบ้า หากผู้ประกันตนเกิดเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย         แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน หลังจากนั้นให้ญาติรีบแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยด่วน เพื่อรับตัวไปรักษาต่อ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ ใน 3 วันแรก (72 ชม.) ตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนด เตรียมต่อยอดวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์กรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมยึดกัญชาของกลางที่ใช้ผลิตน้ำมัน และการแถลงข่าวของ นายเดชา สิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.62 ว่าเตรียมร่วมมือพัฒนายาที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เพื่อยกระดับยาจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น         ภญ.สุภาภรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ถึงการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา และยืนยันสถานะการเป็นหมอพื้นบ้านของนายเดชาว่า นายเดชามีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะหมอพื้นบ้าน และเป็นคนแรกๆ ที่รู้จักการใช้รางจืดในการรักษาโรคหรือล้างพิษ ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้ นายเดชาจึงมีความเป็นหมอพื้นบ้านโดยพฤตินัย และเป็นที่ยอมรับของภาคประชาสังคม         ส่วนการรับรองตามระเบียบคาดว่าจะไม่เป็นปัญหา เพราะนายเดชาทำงานร่วมกับชุมชนและจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขการรับรอง เช่น มีความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และถ่ายทอดความรู้ให้สังคม         ทั้งนี้ ผู้ที่เคยได้รับยาหยอดที่มีสารสกัดจากกัญชาของนายเดชาจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่นั้น คิดว่าถึงเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐ ควรใช้โอกาสจากกรณีนายเดชา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสม เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถใช้กัญชาในการดูแลตัวเอง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านได้ช่วยเหลือคนตามที่เคยดำเนินการมา กรมอนามัยแนะคนติดหวาน แม้เครื่องดื่มน้ำตาล 0% ก็เสี่ยงอ้วน         อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า น้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล จะใช้สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมทดแทน แม้ไม่ให้พลังงาน แต่สารให้ความหวานเหล่านี้จะไปกระตุ้นสมองให้รับรู้ถึงความหวาน ทำให้เกิดการติดรสหวาน ส่งผลให้ร่างกายโหยหาน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ร่างกายหิวง่ายและกินมากกว่าปกติ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการกินไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรกินหวานให้น้อยลงหรือสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเอง และกลายเป็นคนไม่ติดหวาน กรมควบคุมโรค เตือนอากาศร้อนจัดระวัง 'ฮีทสโตรก'         กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) พบผู้เสียชีวิต ในปี 2558 - 2561 จำนวน 158 ราย ทั้งนี้ หากพบผู้มีอาการต้องสงสัยว่าป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรปฐมพยายาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม หรือห้องปรับอากาศ ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก เช็ดร่างกายด้วยน้ำเย็น ถ้ามีสติให้ดื่มน้ำ สำคัญสุดเป็นอันดับแรกคือการทำให้อุณหภูมิในร่างกายผู้ป่วยลดลงก่อน หากมีอาการรุนแรง หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที อาลัย "สำลี ใจดี" เภสัชกรหญิงนักสู้วงการสาธารณสุขไทย         เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี นักต่อสู้วงการสาธารณสุขไทย ผู้เป็นแบบอย่างของการทำงานทางสังคมตลอดชีวิต ซึ่งอาจารย์ได้จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 00.57 น. ของวันที่ 7 เม.ย.62         ผศ.ภญ.สำลี นั้นนับได้ว่าเป็นนักสู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างคนจน ในสมรภูมิสิทธิบัตรยา โดยการพาลูกศิษย์ไปทำค่ายอาสาในสู้ไม่ถอย ทำให้ได้พบการใช้ยาแบบผิดๆ จากความยากจน ความไม่รู้และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนผลิตและขายยากลายเป็นที่มาของการนำลูกศิษย์ ก่อตั้ง “กลุ่มศึกษาปัญหายา” เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยากับประชาชน นำไปสู่การรณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุด ยาซอง ยาแก้ปวด ควบคู่ไปกับการยกเลิกตำรับยาที่ไม่เหมาะสม         ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดระบบสุขภาพถ้วนหน้า ผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ต่อสู้เพื่อฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย การนวดไทยให้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคโดยไม่ใช้ยา         นอกจากนี้ ผศ.ภญ.สำลี ยังได้เปิดโปงการทุจริตยา 1,400 ล้านบาท เป็นประธานกรรมการที่กำกับดูแลงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ปลดล็อกการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และผลักดันให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 พาราควอตในน้ำตาลทราย

เรื่องทดสอบฉบับนี้ เป็นความร่วมมือกันของทีมงานคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำการสำรวจด้านนโยบายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลต่อการใช้สารพาราควอต โดยส่งแบบสำรวจถึงกลุ่มโรงงานน้ำตาลไทย รวมทั้งสิ้น 47 บริษัท และทีมนิตยสารฉลาดซื้อ สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำตาลทรายในท้องตลาดจำนวน  21 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อทดสอบหาการปนเปื้อนของพาราควอตในผลิตภัณฑ์  เหตุผลสำคัญที่ทีมงานเลือกการทดสอบน้ำตาลทรายและทำสำรวจกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการน้ำตาลและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ถือเป็นเสียงจากฟากฝั่งที่ยังคงต้องการให้มีการใช้สารพาราควอตต่อไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะมี “มติ” ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 จากคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุตินำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562   อย่างไรก็ตามเรื่องราวได้ยืดเยื้อกันมาจนถึงปัจจุบัน  โดยทั้ง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ดำเนินการทำตามมติข้างต้น ให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการใช้สารเคมีดังกล่าว เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีมติ แบน-ไม่แบน ในวันที่ 23 พฤษภาคม ปีนี้      ผลการสำรวจด้านโยบาย• จากจำนวน 47 บริษัทในกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย มีบริษัทที่ตอบแบบสอบถามกลับมาจำนวน 6 บริษัท (ดูตารางที่ 1) ตารางที่ 1 บริษัทและนโยบาย การใช้สารพาราควอต• มีบริษัทที่ไม่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 39 บริษัท ซึ่งผู้จัดทำแบบสอบถาม ได้ระบุไว้ชัดเจนในจดหมายว่า “กรณีท่านไม่สะดวกในการตอบแบบสอบถาม ขออนุญาตแปลความว่า “บริษัทท่านยังไม่มีนโยบายในการยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอตในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำตาล”  • มีบริษัทที่ไม่ได้รับแบบสอบถาม 2 บริษัท คือ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด และ บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัดผลทดสอบผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย พบว่าจากจำนวนทั้งสิ้น 21 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารพาราควอต (สามารถดูตัวอย่างทั้งหมดได้ในตารางที่ 2)  ตารางที่ 2 ผลทดสอบการปนเปื้อนพาราควอตในน้ำตาลทรายฉลาดซื้อแนะ แม้จะไม่พบการปนเปื้อนพาราควอตในน้ำตาล แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ระบุว่า พบการปนเปื้อนสารพาราควอตใน กบหนอง ปูนา หอยกาบน้ำจืด และปลากะมัง ซึ่งมีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จำกัดให้มีในอาหาร(เนื้อสัตว์) คือ ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยปริมาณที่พบในปูนา อยู่ระหว่าง 24 – 56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในกบหนอง 17.6 – 1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม พบในปลากะมัง 6.1 – 12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และพบในหอยกาบน้ำจืด 3.5 – 7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อีกทั้งยังพบในอาหารแปรรูปอย่างน้ำปู๋ (น้ำปู) เรียกว่าเกินกว่าค่ามาตรฐานไปถึง 200 เท่าในบางรายการ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พาราควอตมีการตกค้างจำนวนมากในพื้นที่เกษตรกรรม และสามารถส่งผ่านไปถึงสิ่งมีชีวิตที่สัมผัสสารโดยตรงด้วย  ดังนั้นทีมฉลาดซื้อขอร่วมสนับสนุนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล จากการตรวจพาราควอตในซีรั่มของมารดาและสายสะดือของทารก ในกลุ่มประชากรที่อาศัยในพื้นที่เกษตร ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อำนาจเจริญ และกาญจนบุรี โดยเก็บตัวอย่างเลือด ซีรั่ม ปัสสาวะ รวมถึงขี้เทาในทารกแรกคลอด ยืนยันว่า ในประเทศไทยพบการตกค้างและสะสมของพาราควอตจากมารดาสู่ทารก ซึ่งพบปริมาณการสะสมมากกว่าในมารดาศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์  อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุข---------------------------------------------------------------------------รายชื่อโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 47 บริษัท 1. บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด  2. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด  3. บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด  4. บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด 5. บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด  6. บริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด  7. บริษัท สหการน้ำตาลชลบุรี  8. บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด  9. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด  10. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด  11. บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด12. บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด13. บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด14. บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด 15. บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด16. บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)17. บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด18. บริษัท น้ำตาลนิวกว่างสุ้นหลี จำกัด19. บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด20. บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด21. บริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด  22. บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด  23. บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด 24. บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด 25. บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด  26. บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด  27. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด  28. บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  29. บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด  30. บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด  31. บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด32. บริษัท มิตรเกษตร อุทัยธานี จำกัด33. บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) 34. บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) 35. บริษัท น้ำตาล เอราวัณ จำกัด36. บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน)37. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด38. บริษัท น้ำตาลทรายกำแพงเพชร จำกัด39. บริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด40. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จำกัด41. บริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียง จำกัด (รง.น้ำตาลราชสีมา แก้งสนามนาง)42. บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลที.เอ็น. จำกัด43. บริษัท น้ำตาลรีไฟน์ชัยมงคล จำกัด (รง.น้ำตาลอู่ทอง)44. บริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด (มหาวัง)45. บริษัท โรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม จำกัด46. บริษัท สหเรือง จำกัด47. บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า1000 Point

ฉบับที่ 206 โซเดียม และพลังงาน น้ำตาล จากบิสกิต-แซนวิช-แครกเกอร์

ขนมห่อเล็กๆ ที่เด็กมักจะเลือกหยิบฉวยเมื่อมีโอกาสได้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะขนมอบกรอบ ตลอดจนขนมประเภทบิสกิต แซนวิช และแครกเกอร์ ที่มีบรรจุภัณฑ์สีสันสวยงาม รสชาติอร่อย และราคาไม่แพง ขนมเหล่านี้ล้วนสร้างความพึงพอใจและรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ไม่น้อย ไม่เพียงแต่เด็ก ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งเวลาเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า แล้วยังไม่รู้ว่าจะเลือกซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน ขนมประเภทนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หรือแม้แต่จะซื้อไปทำบุญใส่บาตร ก็รู้สึกเข้าท่าดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตามขนมประเภทนี้แม้เห็นว่าห่อเล็กๆ หน่วยบริโภคไม่ถึง 30 กรัม แต่ก็ให้พลังงานที่สูง และที่สำคัญมีปริมาณโซเดียมสูงด้วย การรับประทานจึงต้องเพิ่มความระวัง ซึ่งวิธีหนึ่งที่เราจะเลือกรับประทานให้ได้อย่างเหมาะสม ก็คือการพิจารณาฉลาก โดยเฉพาะฉลากโภชนาการ ซึ่งฉลาดซื้อฉบับนี้อาสานำข้อมูลบนฉลากโภชนาการของขนมประเภทนี้ มานำเสนอไว้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ  ข้อสรุปจากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ เมื่อพิจารณาที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้ง 35 ตัวอย่าง พบว่า หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ แซนวิชเค้กสอดไส้ครีมคัสตาร์ด ตราฟันโอ คือ 1 ชิ้น 13 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 40 มก. ขณะที่หน่วยบริโภคซึ่งมากสุด คือ ยี่ห้อ  เลมอน ครีมแซนวิซ ตราเบลลี่ คือ 1 ชิ้น 100 กรัม ให้พลังงาน 498 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 390.2 มก.   ส่วนผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ ส่วนใหญ่น้ำหนัก 1 หน่วยบริโภคจะอยู่ที่ประมาณ 30-35 กรัม  และหากลองนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง(30 กรัม) จะพบว่า ขนมอบที่นำมาดูฉลาก จะมีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-160 กิโลแคลอรี สำหรับปริมาณโซเดียมนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของขนม โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคสูง(หน่วยบริโภคไม่เกิน 42 กรัม) คือ 1.แครกเกอร์สอดไส้ช็อคโกแลต ตรา มอลคิสท์  โซเดียม 200 มก. ต่อหน่วยบริโภค 42 กรัม 2.แครกเกอร์ไส้ครีม กลิ่นวานิลลา ตรา ไวโอเลต โซเดียม 160 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม3.คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลต ตรา เพรสโต้ ครีมโอ โซเดียม  150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม4.โอรีโอ คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลตสอดไส้ครีมกลิ่นวานิลลา โซเดียม 150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 29 กรัม5.คุกกี้สตัฟ รสคุกกี้และครีม ตราวอยซ์ โซเดียม 130 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม อย่างไรก็ตาม หากดูจากฉลากที่นำมาเปรียบเทียบทั้งหมด ยี่ห้อ เลมอน ครีมแซนวิซ (ตราเบลลี่) ซึ่งมีหน่วยบริโภคที่ 100 กรัม(ชิ้นใหญ่) จะให้ปริมาณโซเดียมมากถึง 390.2 มก/100 กรัม ดังนั้นจึงควรแบ่งรับประทานในสัดส่วนที่เล็กลงมา ความสำคัญของฉลากโภชนาการนอกจากฉลากสินค้าจะบ่งบอกปริมาณหรือน้ำหนัก ให้เราได้เทียบความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายจริงแล้ว ฉลากบนสินค้ายังมีประโยชน์มากกว่านั้นอีก โดยเฉพาะฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่สามารถบอกเราได้ว่า หนึ่งหน่วยของอาหารที่เราบริโภคนั้น ได้มอบคุณค่าทางโภชนาการอะไรแก่ร่างกายเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งหน่วยบริโภคของขนมแครกเกอร์ 1 ห่อ (คำแนะนำว่า เราควรบริโภคเพียงครั้งละกี่ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักกี่กรัม), จำนวนหน่วยบริโภคต่อบรรจุภัณฑ์ (แครกเกอร์ 1 ห่อ ควรแบ่งกินกี่มื้อ) หรือบอกว่าในหนึ่งหน่วยบริโภค (ปริมาณที่เราบริโภค 1 มื้อ) นั้นให้พลังงานต่อร่างกายเราทั้งหมดเท่าใดหากผู้บริโภคสังเกตบริเวณด้านหน้าของห่อขนม จะเห็นฉลากพื้นสีขาวที่มีลักษณะคล้ายปล้องไม้ไผ่ ถูกแบ่งเป็น 4 ช่อง ได้แก่ พลังงาน, น้ำตาล, ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเรียกว่า ฉลากหวานมันเค็ม หรือ ฉลากจีดีเอ (Guideline Daily Amount; GDA) ซึ่งเป็นฉลากที่บอกให้ทราบว่าเมื่อกินขนมเข้าไปทั้งถุงหรือซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมปริมาณทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าเราดูเฉพาะตัวเลขในช่องพลังงาน จะเป็นตัวเลขค่าพลังงานของขนมทั้งซอง ถ้าสมมติว่าเป็นขนมห่อใหญ่ที่สามารถแบ่งกินได้ 4 ครั้ง ก็จะต้องนำค่าพลังงานจากฉลากจีดีเอ ไปหาร 4 จึงจะได้ค่าพลังงานที่ได้ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่ฉลากแนะนำ ในความเป็นจริง ผู้บริโภคสามารถพลิกดูบนฉลากข้อมูลโภชนาการได้เลย ว่าขนมแต่ละซองได้แนะนำให้แบ่งกินกี่ครั้ง ครั้งละกี่ชิ้น และในการกินแต่ละครั้งตามคำแนะนำบนฉลาก จะได้รับพลังงานทั้งหมดเท่าใด ซึ่งง่ายต่อการสอนให้เด็กๆ รู้จักการแบ่งขนมห่อใหญ่รับประทานแต่พอดี ตามความเหมาะสมที่ฉลากแนะนำไว้ โดยร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI)* โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี (kcal), ไขมันทั้งหมดไม่เกิน 65 กรัม, โซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม และร่างกายของคนเรามีความต้องการน้ำตาลต่อวันประมาณ 6 ช้อนชา (ประมาณ 23-25 กรัม) หรือ สูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชา (40 กรัม) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเอาไว้การใช้ข้อมูลฉลากโภชนาการทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกินอาหารได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันขนมหลายยี่ห้อมีการบรรจุในหีบห่อขนาดใหญ่วางจำหน่ายในร้านค้า ซึ่งขนมห่อใหญ่เหล่านี้ สามารถแบ่งกินได้มากกว่า 1 ครั้ง การบริโภคในปริมาณมากเกินพอดี หรือกินหมดทั้งห่อ อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน ไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมเกินความจำเป็นของร่างกายในหนึ่งวัน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 พลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

เชื่อว่าหลายคนนิยมรับประทานเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นนมถั่วเหลือง โกโก้ ช็อกโกแล็ต ชานม หรือไมโล โอวันติน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มักมาในรูปแบบทรีอินวัน ทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อม และเพียงแค่เราฉีกซองเติมน้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยรสชาติที่อร่อย พร้อมขนาดซองที่ไม่ใหญ่มากนักของเครื่องดื่มประเภทนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนอร่อยเพลิน จนลืมตรวจสอบปริมาณพลังงานและน้ำตาลที่เราจะได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราได้รับพลังงานและน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน สามารถส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรือโรคหัวใจจากการได้รับไขมันไม่ดีสะสม รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาตรวจสอบน้ำตาลและพลังงานในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง จาก 15 ยี่ห้อยอดนิยมจำนวน 22 ตัวอย่าง รวมทั้งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ซึ่งจะแสดงผลในเล่มถัดไป สรุปผลการสำรวจฉลากจากตัวอย่างเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่นำมาทดสอบทั้งหมด 15 ยี่ห้อ จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่า 1. มี 1 ตัวอย่าง ไม่มีฉลากโภชนาการคือ มัช ชานมปรุงสำเร็จชนิดผง 2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ ซองเดอร์ เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปผสมงาดำ รสจืด มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัม/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้ปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ปริมาณน้ำตาล 22 กรัม/หน่วยบริโภค3. ยี่ห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุดคือ ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ให้พลังงาน 190 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค4. นอกจากนี้ยังพบว่ามี 1 ยี่ห้อที่ไม่มีเลขสารบบอาหารคือ Royal Myanmar Teamix ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (กูร์เมต์ มาร์เก็ต)ข้อสังเกต- การแสดงฉลากอาหารจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า 1 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร อาจเข้าข่ายผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่า การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่าย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะยกเว้นให้ไม่ต้องระบุข้อความหนึ่งข้อความใด) 1.ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้าหรือสำนักงานใหญ่ (แล้วแต่กรณี) 4.ปริมาณของอาหาร 5.ส่วนประกอบที่สำคัญ 6.คำเตือน/ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร 7.ชื่อวัตถุเจือปนอาหาร (ถ้ามี) 8.ข้อความ “แต่งกลิ่นธรรมชาติ/ สังเคราะห์” (ถ้ามี) และ 9.แสดงวันเดือนปี ผลิต/หมดอายุนอกจากนี้ตัวอย่างที่ไม่มีฉลากโภชนาการหรือไม่ระบุฉลากโภชนาการภาษาไทย อาจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ เนื่องจากฉลากโภชนาการมีความสำคัญในแง่ของของการให้ข้อมูลและความรู้ ด้านคุณค่าทางโภชนาการอาหารกับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารในแต่ละวันให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการตารางแสดงผลการสำรวจฉลากภาษีน้ำตาล ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักของการเติบโตนี้มาจากการขายเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แม้ว่าภาครัฐจะมีการเพิ่มอัตราภาษีน้ำตาลจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 แต่ก็ยังสวนทางกับจำนวนคนเป็นโรคอ้วนที่มีมากขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557 ดังนั้นรัฐจึงได้มีการเพิ่มภาษีน้ำตาลในอาหารชนิดต่างๆ ในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยหวังให้เป็นมาตรการหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาลดการทานหวาน มัน เค็ม  โครงสร้างการจัดเก็บค่าความหวานนั้น จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มล. ไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน  8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14  กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร โดยให้เวลาภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ต.ค. 2562

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 198 น้ำตาลและพลังงาน ในกาแฟซอง ทรีอินวัน

กาแฟซอง 3 in 1 เป็นกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงที่ผู้บริโภคในบ้านเราให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะสะดวก เพียงฉีกซองใส่แก้วเติมน้ำร้อนก็ดื่มได้แล้ว ยังมีรสชาติที่อร่อยถูกปากในราคาไม่แพงมากอีกด้วย โดยเหตุผลหลักที่ทำให้กาแฟประเภทนี้รสชาติดีก็มาจากส่วนประกอบหลัก 3 อย่างคือ กาแฟ ครีมเทียมและน้ำตาล ซึ่งผสมผสานมาแล้วพร้อมกับวัตถุเจือปนอาหารต่างๆ อย่างลงตัว ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคที่ไม่อยากชงกาแฟดื่มเองได้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามด้วยรสชาติที่อร่อยและขนาดซองที่ไม่ใหญ่มากนัก ทำให้ผู้บริโภคหลายคนลืมไปว่าในกาแฟทรีอินวันเหล่านี้อาจมีปริมาณน้ำตาล ไขมันและให้พลังงานสูง ซึ่งหากบริโภคมากเกินไป สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรือโรคหัวใจ จากการได้รับไขมันไม่ดีสะสม รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูงได้ เราจึงต้องระมัดระวังในการดื่มกาแฟประเภทนี้ ฉลาดซื้อจึงขออาสาตรวจสอบปริมาณน้ำตาลและพลังงาน ของกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง  3 in 1 จาก 15 ยี่ห้อยอดนิยมจำนวน 18 ตัวอย่าง หลังจากในเล่มที่ผ่านมาเราเคยทดสอบ คาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มหรือกาแฟกระป๋องกันไปแล้ว ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร ลองไปดูกันเลยสรุปผลการสำรวจฉลากจากกาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง แบบ 3in1 ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 15 ยี่ห้อ 18 ตัวอย่าง พบว่า1. ยี่ห้อที่มีปริมาณพลังงานมากที่สุดคือ เอ็ก ชอง ไวท์ คอฟฟี่ ทาริก ทรี อิน วัน ให้พลังงาน 185 กิโลแคลอรี/40 กรัม และเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู ริช อโรมา ให้พลังงาน 90 กิโลแคลอรี/19.4 กรัม ในขณะที่ยี่ห้อที่มีปริมาณพลังงานน้อยที่สุดคือ มัซ เอสเปรสโซคอฟฟี่ ให้พลังงาน 65 กิโลแคลอรี/18 กรัม2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ เอลี่คาเฟ่ คลาสิค มีน้ำตาล 13.8 กรัม/20 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ มัซ เอสเปรสโซคอฟฟี่ มีน้ำตาล 0 กรัม/18 กรัม(ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)3. ยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันมากที่สุดคือ เอ็ก ชอง ไวท์ คอฟฟี่ ทาริก ทรี อิน วัน มีไขมัน 7 กรัม/40 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณไขมันน้อยที่สุดคือ บัดดี้ดีน ทรีอินวัน เอ็กซ์ตร้าโรสท์ มีไขมัน 0 กรัม/18 กรัม4. มี 7 ยี่ห้อที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณพลังงาน น้ำตาลหรือไขมันได้ เนื่องจากไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1. อาราบัส ทรีอินวัน ออริจินัล 2. เฟรนช์ คาเฟ่ ริช โกลด์ 3. จีเซเว่น คอฟฟี่มิกซ์ 4. กาแฟเขาทะลุ สูตรเอสเพสโซ่ 5. กาแฟเขาทะลุ สูตรดั้งเดิม 6. เบอร์ดี้ โรบัสต้า และ 7. มอคโคน่า ทรีโอ เอสเปรสโซ่ตารางแสดงปริมาณพลังงาน น้ำตาลและไขมันในกาแฟ ทรีอินวันสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 สารปรุงแต่งในผลิตภัณฑ์กาแฟ ทรีอินวัน การใส่สารปรุงแต่งหรือวัตถุเจือปนอาหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสที่ดี คงตัว สะดวกในการขนส่งและเก็บรักษา และทำให้มีสีสันที่คล้ายธรรมชาติ ได้แก่ 1.สารควบคุมความเป็นกรด2.สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน3.อิมัลซิไฟเออร์ คือ สารที่ทำให้ส่วนผสมที่ปกติไม่สามารถผสมกันได้ สามารถรวมตัวกันได้ เช่น น้ำกับน้ำมัน และช่วยยืดอายุการเก็บรักษา4.สารช่วยทำละลาย 5.สารที่ทำให้คงตัว 6.สารเพิ่มปริมาณ(มอลโตเดกซ์ตริน) คือ คาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ (Polysaccharide) 7.สี กลิ่น เลียนแบบธรรมชาติตลาดกาแฟในปี 2557 กาแฟ 3 in 1 ครองส่วนแบ่งของตลาดกาแฟ ด้วยมูลค่าตลาด 15,000 ล้านบาท และมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้นำทางการตลาดคือ เนสกาแฟ มีส่วนแบ่งที่ร้อยละ 63 ตามมาด้วยซูเปอร์กาแฟ ส่วนแบ่งที่ร้อยละ 12 ที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นของเบอร์ดี้และมอคโคน่า อย่างไรก็ตามตลาดกาแฟ 3 in1 จะมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น ดาว คอฟฟี่ อาราบัส ของดัชมิลล์ ทำให้กลายเป็นตลาดที่มีความแข่งขันสูงมากที่มา: http://marketeer.co.th/archives/38718

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 192 คาเฟอีนและน้ำตาล ในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม

กาแฟปรุงสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ทางเลือกสำหรับคอกาแฟที่รักความสะดวกรวดเร็ว เพียงเปิดกระป๋องปุ๊บก็ดื่มได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีหลายยี่ห้อและรสชาติให้ลิ้มลองในราคาสบายกระเป๋า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้บริโภคหลายคนอร่อยเพลิน จนลืมไปว่ากาแฟกระป๋องเหล่านั้นอาจมีคาเฟอีนและน้ำตาลผสมอยู่ในปริมาณสูง โดยหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรืออาการติดคาเฟอีน (Caffeinism) จากการได้รับคาเฟอีนมากไปหรือเกินวันละ 200 มิลลิกรัม ซึ่งจะทำให้รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย ทำงานไม่ได้ จนกว่าจะเพิ่มปริมาณคาเฟอีนในกระแสเลือดก่อน นอกจากนี้ผลที่ตามมาคือสมองและหัวใจจะถูกกระตุ้นเกินกว่าปกติ ทำให้ปวดศีรษะ ใจเต้นเร็ว ใจสั่นและความดันโลหิตสูงได้ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเสนอผลเปรียบเทียบปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลในกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มจำนวน 26 ตัวอย่างจาก 19 ยี่ห้อยอดนิยม ซึ่งเจ้าไหนจะมีน้ำตาลและคาเฟอีนสูงกว่ากัน ลองไปดูได้เลยสัดส่วนการตลาดกาแฟพร้อมดื่มปี 2557กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 ในตลาดกาแฟรวม ด้วยมูลค่า 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟกระป๋อง 95% และแบบขวด PET 5% นอกจากนี้ยังมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 6% โดยผู้นำตลาดคือ ยี่ห้อเบอร์ดี้ ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 70%ที่มา: http://marketeer.co.th/archives/31046สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มทั้งหมด 26 ตัวอย่างจาก 19 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบ พบว่า1.ยี่ห้อที่มีปริมาณคาเฟอีนมากสุด คือ ดาว สูตรไอซ์ คลาสสิค เบลนด์ มีปริมาณคาเฟอีน 91.1 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร เอาชนะยี่ห้อ คาราบาว สูตรเอสเปรสโซ ที่มีปริมาณคาเฟอีน 91 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร ไปเพียง 0.1 มิลลิกรัมเท่านั้น และสำหรับยี่ห้อที่มีปริมาณคาเฟอีนน้อยที่สุด คือ สตาร์บัคส์ สูตรคอฟฟี่ แฟรบปูชิโน่ มีปริมาณคาเฟอีน 29 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือ โคฟี่ กาแฟสำเร็จ มีปริมาณน้ำตาลถึง 49 กรัม/ หน่วยบริโภค ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดมี 2 ยี่ห้อ คือ วีสลิม สูตรเอสเปรสโซและเนสกาแฟ สูตรเอ็กซตร้า ริช มีปริมาณน้ำตาล 14 กรัม/หน่วยบริโภคเท่ากัน ทั้งนี้สำหรับยี่ห้อ เพรียว คอฟฟี่ มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัม/ หน่วยบริโภค เนื่องจากเป็นสูตรไม่มีน้ำตาล(รสหวานจากน้ำตาลเทียม)3. มี 10 ยี่ห้อที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณน้ำตาลได้ เนื่องจากไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ 1.มง ปาซิญง (MON PASSION) สูตรคาเฟ่ มอคค่า 2.อาฮ่า (A-Ha) สูตรคาปูชิโนผสมช็อกโกแลต 3.อาราบัส สูตรลาเต้ 4.ไอวี่ กาแฟสูตรโบราณ 5.ยูเอฟซี สูตรกาแฟเย็น เข้มข้นรสกาแฟแท้ 6.เบอร์ดี้ สูตรคลาสสิกและสูตรบาริสต้า เอสเปรสโซ ช็อต 7.เทอร์บัสต้า แมกซ์ สูตรออริจินอล 8.ดาวแมกซ์ คอฟฟี่ และดาว สูตรไอซ์ คลาสสิค เบลนด์ 9.ซูซูกิ โกเมท์ สูตรไอซ์ คอฟฟี่ และ 10.คาราบาว สูตรบัสต้าและสูตรเอสเปรสโซ4. มี 4 ยี่ห้อที่ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบทั้งปริมาณคาเฟอีนและน้ำตาลได้ คือ 1.ยูซีซี สูตรเอสเพรสโซ่พรีเมี่ยม 2. WONDA WONDERFUL COFFEE 3.FIRE 4.TULLY’S COFFEE BARISTA’Sข้อสังเกต- การแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ กำหนดไว้ว่า การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่าย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะยกเว้นให้ไม่ต้องระบุข้อความหนึ่งข้อความใด) 1.ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้า หรือสำนักงานใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2559ผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อ “สุทธิภัณฑ์” ชี้แจงพร้อมยืนยันผลทดสอบไม่พบสารฟอกขาวเกินมาตรฐานหลังจากที่ ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 185 ได้นำเสนอผลทดสอบ สารฟอกขาวกับน้ำตาลมะพร้าว โดยผลจากการสุ่มทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่างจาก 21 ตัวอย่างที่พบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดที่ 40 มิลลิกรัม / 1 กิโลกรัม ประกอบด้วย ตัวอย่าง น้ำตาลมะพร้าวยี่ห้อ สุทธิภัณฑ์ ที่เก็บตัวอย่างจาก กูร์เมต์มาร์เก็ต สยามพารากอน ที่ตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 72 มก./กก. และตัวอย่างที่ไม่มีการระบุยี่ห้อที่ซื้อจากตลาดอมรพันธ์ ที่ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 61 มก./กก.ซึ่งหลังจากได้มีการเผยแพร่ผลทดสอบออกไปก็สร้างความตื่นตัวต่อทั้งผู้บริโภค และรวมถึงตัวผู้ประกอบการเอง โดยทางตัวแทนของบริษัท Suttiphan Food Trade Co.,LTD. ได้เข้ามาชี้แจงกับทางนิตยสารฉลาดซื้อ ว่าทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจกับผลการตรวจที่ทางฉลาดซื้อได้นำเสนอ ทางบริษัทจึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์น้ำตาลมะพร้าวที่ทางบริษัทผลิต จำนวน 5 ตัวอย่าง นำไปส่งตรวจวิเคราะห์ดูปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กับทาง บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด โดยผลิตภัณฑ์น้ำตาลทั้ง 5 ตัวอย่าง ประกอบด้วย 1.สวีท คิวบ์ น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ แบบบรรจุถุงพลาสติก ล็อตการผลิต 26/7/59, 2.สวีท คิวบ์ น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ แบบบรรจุกระปุก ล็อตการผลิต 10/8/59, 3.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลโตนดธรรมชาติ ล็อตการผลิต 26/7/59, 4.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าว ชนิดก้อนเล็ก ล็อตการผลิต 3/8/59 และ 5.สุทธิภัณฑ์ น้ำตาลมะพร้าว ขนิดบรรจุ 1 ก้อนใหญ่ ล็อตการผลิต 3/8/59 ซึ่งเป็นล็อตเดียวกับที่ฉลาดซื้อตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐานโดยผลการตรวจที่ทางบริษัท Suttiphan Food Trade Co.,LTD นำมาชี้แจงกับทางฉลาดซื้อนั้น พบว่า ทุกตัวอย่าง ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน(น้อยกว่า 10.00 มก./กก.) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้บริโภค ที่มีบริษัทที่ใส่ใจและตื่นตัวในการตรวจสอบดูแลผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค โดยทางบริษัทยืนยันว่าต่อไปจะดำเนินการตรวจสอบทุกล็อตการผลิตเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคธปท.สั่งธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียม “บัตรเอทีเอ็ม” ไว้ให้บริการหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหาเวลาที่ไปขอเปิดบัญชีทำบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตแบบธรรมดา แล้วถูกธนาคารตอบกลับมาว่า บัตรดังกล่าวหมดหรือต้องใช้เวลารอนานกว่าจะมีบัตรใหม่ให้ทำ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของธนาคารก็จะพูดหว่านล้อมเชิญชวนให้ทำบัตรแบบที่มีบริการเสริมอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบัตรที่มีบริการเสริมจะมีค่าธรรมเนียมทำบัตรใหม่และค่าบริการรายปีสูงกว่าบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบธรรมดาปัญหาดังกล่าวถูกร้องเรียนเข้าไปที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นจำนวนมาก ทำให้ล่าสุด ธปท.ต้องออกประกาศ ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มปริมาณสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยก่อนหน้านี้ ธปท. ก็ได้ทำการสำรวจปริมาณการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตประเภทต่างๆ พบว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการสำรองบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตชนิดธรรมดาไว้ที่สาขาในปริมาณที่น้อยกว่าบัตรประเภทที่มีบริการอื่นเสริม ซึ่งหลังจากมีประกาศนี้ออกมา ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไม่สามารถอ้างการไม่ออกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตรแบบพื้นฐานให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป----------------------------------------------------------------------------------------.ผลตรวจสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ “คะน้า-ส้ม” เจอมากที่สุดปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้ยังคงเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคไทยเหมือนเดิม เมื่อล่าสุด เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ค่อยทำหน้าที่เฝ้าระวังและสุ่มตรวจการใช้สารเคมีในผัก-ผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เปิดเผยข้อมูลผลการสุ่มตรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้ รวมทั้งหมด 158 ตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผัก-ผลไม้ทั้งแบบที่มีมาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ มีฉลากประเภทต่างๆ รับรอง เช่น ฉลากออร์แกนิกส์ ฉลากมาตรฐานคิว รวมทั้งผัก-ผลไม้ที่จำหน่ายทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างจากห้างโมเดิร์นเทรด และจากตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ 3 แห่งที่ ปทุมธานี นครปฐม และ ราชบุรี ส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ประเทศอังกฤษผลการตรวจพบว่า ผัก-ผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยผักที่พบการตกค้างของสารเคมีเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ผักคะน้า พบ 10 จาก 11 ตัวอย่าง, รองลงมาคือ พริกแดง พบ 9 จาก 12 ตัวอย่าง, ถั่วฝักยาว และ กะเพรา พบ 8 จาก 12 ตัวอย่าง, ผักบุ้ง 7 จาก 12 ตัวอย่าง, มะเขือเปราะ 6 จาก 11 ตัวอย่าง, แตงกวา 5 จาก 11 ตัวอย่าง, มะเขือเทศ 3 จาก 11 ตัวอย่าง, กะหล่ำปลี และผักกาดขาวพบ 2 จาก 11 ตัวอย่างส่วนผลไม้ที่พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง พบ 8 จาก 8 ตัวอย่าง, แก้วมังกร 7 จาก 8 ตัวอย่าง, ฝรั่งพบ 6 จาก 7 ตัวอย่าง, มะละกอพบ 3 จาก 6 ตัวอย่าง, แตงโมพบ 3 จาก 7 ตัวอย่าง และ แคนตาลูปพบ 1 จาก 7 ตัวอย่างเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม Thai PAN ก็เคยออกมาแถลงสุ่มตรวจตัวอย่างผัก-ผลไม้มาแล้ว ซึ่งครั้งนั้นพบการปนเปื้อนสารเคมีสูงเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 46.4 แม้ว่าจะได้มีการส่งข้อมูลการตรวจที่ได้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข แต่จากผลทดสอบที่ได้ในครั้งนี้ สถานการณ์ปัญหายังคงไม่ดีขึ้น โดยผลการตรวจครั้งนี้พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทย คือ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการการเกษตรไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน คือ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล ในผัก-ผลไม้ถึง 29 ตัวอย่าง ซึ่งหลังจากนี้ Thai PAN จะนำผลทดสอบที่ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมวิชาการการเกษตร อย. และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดำเนินการต่อไป-------------------------------------------------------------------------------------.ทำ “ฟันปลอมเถื่อน” เสี่ยงติดเชื้อในช่องปากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนเรื่อง “บริการทำฟันปลอมเถื่อน” ที่เดี๋ยวนี้มีให้เห็นได้ตามตลาดนัดแผงลอยริมถนนทั่วไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการจะได้รับอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด ผู้ใช้บริการมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดโรคในช่องปาก เพราะทั้งสถานที่และเครื่องมือที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อก่อนและหลังการใช้งาน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อกับอวัยวะในช่องปาก ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่ทันตแพทย์ จึงขาดความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำฟันปลอมที่ถูกต้อง ซึ่งฟันปลอมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ผู้ที่ต้องการทำฟันปลอมควรขอคำแนะนำและรับบริการจากทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตการใช้ฟันปลอมเถื่อนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบฟันที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้ฟันซี่ใดซี่หนึ่งรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้ฟันซี่ที่แข็งแรงกลายเป็นฟันที่อ่อนแอ เกิดการโยก สึกกร่อน และหัก อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก การใส่ฟันปลอมโดยไม่เตรียมช่องปากที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักทันตกรรม เช่น ไม่อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน รักษารากฟัน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่รักษาไว้ เมื่อเกิดปัญหาหลังการทำแล้วการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติจะทำได้ยาก-------------------------------------------------------------------------.“สไลม์” ของเล่นอันตราย เสี่ยงปนเปื้อนโลหะหนักหลังจากที่ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องของ เด็กรายหนึ่งที่นอนป่วยในโรงพยาบาลโดยระบุว่าเด็กคนดังกล่าวติดเชื้อในกระแสเลือดจากการเล่น “สไลม์” มีอาการหายใจไม่ออกเนื่องจากสูดดมกาวจากการทำสไลม์ ซึ่งเป็นของเล่นที่มีลักษณะยืดเหนียว ทำมาจากแป้งและกาว บางครั้งมีการใช้ สบู่ ผงซักฟอก และสีสังเคราะห์ลงในส่วนผสม ทำให้อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี ได้ออกมาให้ข้อมูลเสริมในเรื่องดังกล่าว โดยในเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดของเด็กคนดังกล่าวเกิดจากของเล่น “สไลม์” จริงหรือไม่ เพราะการติดเชื้อในกระแสเลือดมีหลายปัจจัย แต่ สไลม์ ก็ถือเป็นของเล่นที่มีปัญหาที่ผู้ปกครองและหน่วยงานที่กำกับดูต้องเข้ามาควบคุมดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีคลิปการสอนทำสไลน์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งคนที่สอนทำส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ เอง โดยบางคลิปแนะนำให้ผสมครีมโกนหนวด ผงซักฟอกกับแป้งโด ซึ่งการนำสารเคมีต่างๆ มาผสมเองถือว่าเป็นอันตรายมากรศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังฝากเตือนอีกว่า แม้จะมีการตรวจหาสารโลหะหนักใน สไลม์ ทั้งที่มีและไม่มี มอก. พบว่า มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก อาทิ ตะกั่ว สารหนู และ ปรอท แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากเล่นแล้วเผลอนำเข้าสู่ร่างกายจะเป็นการสะสมทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาวได้เช่นกัน ที่สำคัญคือไม่ควรให้เด็กผสมสไลม์เล่นเอง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีอันตราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 รู้เท่าทันสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด

มีการโฆษณาสมุนไพรเพื่อรักษาเบาหวานหรือช่วยลดน้ำตาลในเลือดจำนวนมากในเว็บไซต์ต่างๆ  บางรายโฆษณาการได้ขึ้นทะเบียน อย.  บางรายโฆษณาว่าสมุนไพรนั้นปลูกแบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ  บางยี่ห้อก็ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว โดยจับเอาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลมาใส่รวมกัน  เมื่อผู้อ่านไปค้นข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวก็จะพบว่าลดน้ำตาลได้  จึงเชื่อว่าสมุนไพรยี่ห้อนั้นมีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้จริง  เรามารู้เท่าทันสมุนไพลดน้ำตาลกันเถอะการขึ้นทะเบียนอย. ถ้ามีการอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนอย.  ขอให้เราอ่านให้ละเอียดว่าขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือไม่  หรือเป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะการจะขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันนั้น ต้องมีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ มีการวิจัยตั้งแต่ในสัตว์ทดลอง ในมนุษย์ ว่ามีประสิทธิผลจริงๆ  จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาได้  นอกจากนี้การสั่งจ่ายยานั้นต้องสั่งโดยแพทย์หรือไม่  เพราะยารักษาโรคเรื้อรังนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์  ไม่ใช่ซื้อได้ทั่วไป ยกเว้นเป็นยาสามัญประจำบ้านเท่านั้นยาสมุนไพรลดน้ำตาลยี่ห้อต่างๆ มักจะมีสัญลักษณ์ของอย.  แต่จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดว่าขึ้นทะเบียนยาอะไร มีเลขทะเบียนยาอะไร  ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยา เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น  แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้นจะโฆษณาเป็นยารักษาโรค  ซึ่งตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 นั้น ไม่สามารถโฆษณายาทางสื่อสาธารณะ หรือโอ้อวดสรรพคุณยาการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์เป็นหลักประกันว่าสมุนไพรนั้นไม่มีสารพิษตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี  ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า สมุนไพรยี่ห้อนั้นสามารถรักษาเบาหวานได้ ค้นคว้าข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัว เราควรค้นหาข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวว่ามีสรรพคุณและโทษอย่างไร  ข้อมูลที่ค้นง่ายและน่าเชื่อถือคือสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เพราะจะกระชับ เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ  เราอาจค้นเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ตัวอย่างเช่นอบเชย มีรายงานการวิจัยทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับผงอบเชยขนาด 1, 3 และ 6 ก./วัน นาน 40 วันหรือแคปซูลของสารสกัดน้ำจากอบเชย (เทียบเท่ากับอบเชยขนาด 3 ก./วัน) นาน 4 เดือน และอาสาสมัครที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ระหว่าง 100-125 มก./ดล. เมื่อรับประทานสารสกัดน้ำของอบเชย (Cinnulin PF®) ครั้งละ 2 แคปซูล (250 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (เทียบเท่ากับผงอบเชย 10 ก.) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สรุป อบเชยมีแนวโน้มที่อาจที่อาจมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เนื่องจากการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเพื่อรักษาเบาหวานในขณะนี้ จนกว่าจะมีผลการวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดเพียงพอผักเชียงดา มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่ระบุว่าผักเชียงดาและสารสกัดจากผักเชียงดา มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ลำไส้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาในคนเพื่อยืนยันผลดังกล่าวโดยสรุปแล้ว เราต้องรู้ให้ทันกับการโฆษณาสมุนไพรลดน้ำตาลและลดเงินในกระเป๋าของเราว่า มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้จริงหรือไม่ ขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลเพียงพอหรือยัง  เพื่อที่เราจะใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและได้ผล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2558“หัวเชื้อกลิ่นแมงดา” ปลอดภัยถ้าใช้ตามปริมาณที่กำหนดจากกรณีที่มีการส่งต่อคลิปวิดีโอผ่านทางโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับการนำวัตถุแต่งกลิ่นรส “กลิ่นแมงดานา” หยดลงบนกล่องโฟมแล้วพบว่าสามารถทำให้กล่องโฟมละลายได้ สร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ร้อนถึงทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องรีบออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง อย. ยืนยันว่าวัตถุแต่งกลิ่นดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ในอาหาร และมีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่กำหนดวัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาจัดเป็นอาหารที่ต้องมีฉลากประเภทวัตถุแต่งกลิ่นรสตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 223) พ.ศ. 2544 เรื่อง วัตถุแต่งกลิ่นรส ทั้งนี้ วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาได้จากการผสมของสารสำคัญในกลุ่มสารอินทรีย์ที่ให้กลิ่นรสหลายชนิดเข้าด้วยกัน โดยสารอินทรีย์เหล่านี้มีคุณสมบัติทางเคมีที่สามารถทำให้โฟมละลายได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติสามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทุกชนิด ผู้บริโภคสามารถใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสกลิ่นแมงดานาเป็นส่วนผสมในอาหาร เพื่อเพิ่มกลิ่นรสได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เพราะมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก (ประมาณ 1 – 3 หยดต่อน้ำพริก 1 ถ้วย) ไม่ได้เทลงไปโดยตรงบนแผ่นโฟมในปริมาณมากดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ “น้ำตาลฟลุกโตสไซรัป” มากไประวังตับพัง!!!ปัจจุบันคนไทยเรามีปัญหาเรื่องการนริโภคน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนไทยนิยมดื่มเครื่องดื่มบรรจุขวดกันมากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง แถมหลายยี่ห้อยังเลือกใช้น้ำตาลฟลุกโตสไซรัปสังเคราะห์แทนน้ำตาลทราย เพราะให้ความหวานมากกว่าแต่ต้นทุนถูกกว่า ซึ่งน้ำตาลสังเคราะห์ก็มีอันตรายต่อสุขภาพไม่แพ้น้ำตาลทรายหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเตือนผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลสังเคราะห์เป็นประจำให้ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ เนื่องจากน้ำตาลสังเคราะห์หากรับประทานมากเกินไปแล้วร่างกายเผาผลาญไม่หมด น้ำตาลสังเคราะห์จะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งทำให้อ้วนลงพุง ที่สำคัญคือเป็นอันตรายต่อตับ เพราะน้ำตาลประเภทนี้เมื่อเข้าไปในร่างกายจะตรงไปที่ตับก่อน แต่เมื่อร่างกายจะดึงพลังงานไปใช้ จะเลือกดึงน้ำตาลจากส่วนอื่นของร่างกายก่อนตับ เมื่อเผาผลาญหรือใช้ไม่หมดก็จะเกาะอยู่ที่ตับ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค ตับอักเสบ และตับแข็งสถานการณ์การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปของคนไทยถือว่าอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง มีผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 83.6 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 16.7 ช้อนชา ทั้งๆ ที่ปริมาณที่เหมาะสมต่อการรับประทานใน 1 วันคือไม่เกิน 6 ช้อนชาเท่านั้นยา 2 มาตรฐาน?!!จากการที่ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมราคายาหลายๆ ชนิดที่จ่ายโดยโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจึงมีราคาสูงกว่ายาที่จ่ายโดยโรงพยาบาลของรัฐ จนนำไปสู่กระแสข่าวลือที่ว่า ยาที่วางขายในประเทศมี 2 เกรด โดยยาราคาถูกจะผสมแป้งหรือสารอื่นที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญปริมาณมากเพื่อลดต้นทุน ซึ่งนั่นเป็นการส่งผลให้ยาด้อยคุณภาพลง ทำให้ อย. ซึ่งหน่วยที่รับผิดชอบในเรื่องการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายยาในประเทศ ต้องออกมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแค่ข่าวลือเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ยา ต้องได้รับการกำกับดูแลโดย อย. ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะผลิต ขาย นำเข้า มาในประเทศ จะต้องได้รับใบอนุญาตฯ และผลิตภัณฑ์ยาทุกตำรับจะต้องผ่านการพิจารณาตามหลักวิชาการก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในส่วนของสูตรตำรับ วิธีการผลิต และการควบคุมคุณภาพ การแสดงฉลาก ฯลฯโดย อย. ยืนยันว่ามีมาตรการในการเฝ้าระวังคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาที่มีการกระจายอยู่ในท้องตลาด เช่น โครงการเฝ้าระวังคุณภาพยาประจำปี ซึ่งมีการกำหนดชนิดของผลิตภัณฑ์ยาที่มีความเสี่ยง เช่น ยาสำหรับกลุ่มโรคเรื้อรัง ยาที่มีปริมาณการใช้สูง ยาที่มีความคงตัวต่ำ เป็นต้น และมีการเก็บตัวอย่างจากผู้ผลิต/ผู้นำหรือสั่งยาฯ ส่งวิเคราะห์คุณภาพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ยาที่ผู้บริโภคจะได้รับมีคุณภาพ ความปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการใช้ตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้หมึกสักลาย ปนเปื้อนโลหะหนัก - แบคทีเรีย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย 52 ตัวอย่าง เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัย จากผลวิเคราะห์พบ สารหนูเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 5 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วน แคดเมียมเกินมาตรฐานที่กำหนดที่ 1 ไมโครกรัมต่อกรัม จำนวน 4 และตะกั่วพบ 2 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนดที่20 ไมโครกรัมต่อกรัม แต่ไม่พบปรอทและสีห้ามใช้ในทุกตัวอย่าง สำหรับการตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเชื้อแบคทีเรียเกินกำหนด 13 ตัวอย่าง และพบเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา 1 ตัวอย่าง จำนวนที่ปนเปื้อนอยู่ในระดับ 35,000 - 10,000,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัมหมึกสักลายที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ส่วนเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา สามารถก่อโรคได้หลายชนิด หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวม แดง ผิวหนังแข็ง กลายเป็นเนื้อตาย ซึ่งปัจจุบันนี้หมึกสักลาย ไม่ได้ใช้เฉพาะผู้ที่สักรายสวยงามตามร่างกายเท่านั้น แต่ยังใช้ในกลุ่มเสริมความงาน เช่น สักคิ้ว สักริมฝีปากอีกด้วย ซึ่ง อย. กำลังพิจารณาที่หมึกสักเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางเพื่อให้มีมาตรฐานและการควบคุมที่ชัดเจนมากขึ้นร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมายผู้บริโภคที่ change.orgคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมลงชื่อสนับสนุน 2 กิจกรรมรณรงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายดีๆ เพื่อผู้บริโภคในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. “ลงชื่อสนับสนุนให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” หลังจากรอมา 18 ปี ถึงเวลาเสียทีที่กฎหมายสำหรับผู้บริโภคจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และ 2. “ลงชื่อสนับสนุนเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรในผลิตภัณฑ์อาหาร” คนไทยกำลังเผชิญกับภาวะน้ำหนักเกิน นั่นเป็นเพราะเรายังขาดความรู้เรื่องโภชนการที่ถูกต้อง จะดีกว่ามั้ย? ถ้ามีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภครู้ทันว่าตัวเองกำลังกินอะไร ด้วยฉลากที่บอกปริมาณสารอาหารอย่าง น้ำตาล ไขมัน เกลือ พลังงาน ด้วยสีสัญญาณไฟจราจรโดยสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนทั้ง 2 กิจกรรมรณรงค์ได้ที่ www.change.org/th หรือลิงค์ที่อยู่ในหน้าเพจเฟซบุ๊ค องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทุกเสียงมีความหมาย มาช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point