ฉบับที่ 276 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ สำรวจซ้ำรอบใหม่ปัญหาไม่ลดลง

        ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดมาของผู้บริโภค คือ น้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด   ทำให้การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญที่ประชาชนควรได้บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะไม่มีสารปนเปื้อนใด ๆ จึงได้ริเริ่ม ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปีนั้น พบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มี/ไม่พบใบอนุญาตแสดง ณ จุดให้บริการ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเฝ้าระวังอยู่ และเฝ้าระวังต่อ โดยร่วมกับ “ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ ครั้งนี้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 1,530 ตู้         พบว่ามีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ1,380 ตู้         มีตู้น้ำดื่มไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ จำนวน 1,392 ตู้  คิดเป็นร้อยละ 91         อีกทั้งยังสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน 33 เขตดังกล่าวจำนวน 3,041 ราย   เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อฟังเสียงของประชาชน (ดูผลสำรวจได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260) การสำรวจครั้งใหม่        ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่องค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้อง “ติดฉลาก” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมฉลาก         เมื่อสถานการณ์ความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่ได้รับการยกระดับ หน่วยงานยังไม่ตอบรับกับผลการสำรวจของภาคประชาชน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค 33 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกครั้งระยะเวลาการสำรวจ          มิ.ย. - ก.ค. 2566 พื้นที่การสำรวจ        33 เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางบอน,ลาดพร้าว,หนองจอก,แรงงานหนองจอก,คลองเตย,คลองสาน,คันนายาว,จตุจักร,จอมทอง,ดอนเมือง,ทุ่งครุ,สาทร,บางเขน,บางกอกใหญ่,บางขุนเทียน,บางคอแหลม,บางนา,บางพลัด,บึงกุ่ม,ประเวศ,พระโขนง,มีนบุรี,ยานนาวา,ราษฎร์บูรณะ,ลาดกระบัง,วัฒนา,สวนหลวง,สะพานสูง,สายไหม,หลักสี่,ห้วยขวาง,คลองสามวาและแรงงานนอกระบบเขตลาดกระบังแนวทางการการสำรวจ         การสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดำเนินการในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การขออนุญาตประกอบกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 (2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ (3) คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุุขเรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553         กรอบการสำรวจมีดังนี้ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2.สถานที่ตั้ง 3.ลักษณะทางกายภาพ 4.แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต 5.การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และ 6.การติดฉลาก   ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (2566)1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ          93 % ไม่พบการติดใบอนุญาตประกอบกิจการ (เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ไม่พบการติดใบอนุญาต 91 %) 2.สถานที่ตั้ง         30% บริเวณที่ตั้งมีฝุ่นมาก           8% อยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียหรือมีน้ำขัง         2% พบแมลงหรือสัตว์พาหนะนำโรคบริเวณตู้น้ำ  3.กายภาพของตู้น้ำ         31%  ตู้น้ำไม่สะอาด         6%  ไม่มีฝาปิดจ่ายน้ำ         5%  ไม่มีฝาปิดช่องหยอดเหรียญ         31% หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด 4. แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต        96%  ใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำดื่ม5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาด          57 %  ไม่มีการล้าง ทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในทุกเดือน  6.การติดฉลาก         93%   มีชื่อยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต หรือเบอร์ติดต่อ         26%   ไม่มีข้อแนะนำ หรือวิธีการใช้งาน         85%   ไม่มีบันทึกการเปลี่ยนไส้กรอง         87%    ไม่มีรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ         42% ไม่มีแสดงราคาน้ำดื่มต่อลิตร         56%    ไม่มีคำเตือนระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”                  ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ          1. เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข         2. ให้มี “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หากเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้น้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ผู้ให้เช่าพื้นที่จะต้องร่วมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบใดบ้าง เป็นต้น         3. เสนอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ขยายผลเรื่อง การตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น ........................................... เลือกใช้ 'ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ' อย่างไร ให้ปลอดภัย        1. บนตู้น้ำดื่มต้องแสดง 'ใบอนุญาตประกอบกิจการ' ไว้ที่ตู้ให้เห็นชัดเจน (มีอายุ 1 ปี)        2. สถานที่ตั้งห่างไกลจากท่อระบายน้ำ ตลาดสด แหล่งขยะ ปลอดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างหนู แมลงวัน แมลงสาบ        3. ตู้ยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตร สภาพตู้น้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นจับหนา ไม่ผุกร่อน รั่วซึม หรือเป็นสนิม        4. แสดงการจดบันทึก วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองทุกครั้ง        5.แสดงวันเดือนปีที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีคำเตือน'ตัวอักษรสีแดง'บนพื้นสีขาวระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ"        6. ห้องจ่ายน้ำไม่มีคราบสกปรกตะไคร่น้ำหรือน้ำขังสภาพฝาปิดห้องจ่ายน้ำไม่ชำรุดแตกหัก        7.หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบตะไคร่น้ำหรือสนิมจับและควรล้างภาชนะให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำขณะรองน้ำปากภาชนะไม่จ่อติดหัวจ่ายน้ำ "น้ำดื่มต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ" ข้อมูลจาก: คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กิจการที่กฎหมายควบคุมแต่พบเถื่อนใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น         น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล  แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง         ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ         2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต         2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4)         2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15         ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า           อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง                   ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565         การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน        1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า         มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91         2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน  ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้        ·     คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70         ·     ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย        ·     สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58        ·     สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ดื่มน้ำวิตามินวอเตอร์ยี่ห้อดังแล้วท้องเสีย อาเจียน

        แม้ในน้ำดื่มบรรจุขวดปิดสนิทก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนได้ ผู้บริโภคควรสังเกตลักษณะของสี ตะกอนและกลิ่นของน้ำ ก่อนดื่มทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย         คุณรัชเป็นคนหนึ่งที่เผลอดื่มน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไป เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เธอดื่มน้ำวิตามินยี่ห้อดัง โดยเปิดขวดใหม่แล้วดื่มทันทีไม่ทันได้สังเกตอะไร แต่พอดื่มแล้วกลับได้กลิ่นน้ำในขวดนั้นเหม็นคล้ายสารเคมีมากๆ เมื่อลองดมน้ำในขวดให้แน่ใจอีกที เธอก็เริ่มปวดศีรษะนิดๆ พอยกขวดขึ้นส่องดู ก็เห็นตะกอนลักษณะเป็นวุ้นลอยอยู่ในขวดชัดเจน จึงหยุดดื่มทันทีแต่หลังจากดื่มน้ำขวดนี้ไปประมาณเกือบหนึ่งชั่วโมง เธอก็ท้องเสียและอาเจียน         โชคดีที่คุณรัชมีการอาการเพียงเล็กน้อย จึงไม่ต้องไปหาหมอ เมื่ออาการดีขึ้นเธอก็โทร.ไปเล่าเรื่องให้บริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังนี้รับรู้ ซึ่งทางบริษัทฯ ชี้แจงเบื้องต้นว่าตะกอนที่เห็นนั้นเป็นของดอกเก๊กฮวยที่ผสมมากับน้ำ ส่วนเรื่องกลิ่นนั้นยังบอกไม่ได้ว่าคืออะไรกันแน่ ทางบริษัทจึงขอติดต่อเข้ารับตัวอย่างน้ำดื่มขวดที่มีปัญหานั้นไปตรวจสอบให้แน่ชัดอีกที         คุณรัชรู้สึกว่าสิ่งที่เจือปนมากับน้ำอาจไม่ผ่านมาตรฐานแน่และไม่น่าใช่อย่างที่บริษัทฯ ชี้แจง จึงสอบถามเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางไลน์ว่าตนเองควรจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร           แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ สอบถามเพิ่มเติมคุณรัชได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่าทางบริษัทฯ มารับตัวอย่างน้ำดื่มกลับไปตรวจสอบแล้ว พร้อมมอบน้ำดื่มเพื่อชดเชยแก่คุณรัชไว้ 3 แพ็ค เป็นการขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ทางบริษัทฯ ได้ส่งผลตรวจมาให้ พบว่าในน้ำดื่มมีแบคทีเรียที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เจือปนอยู่ด้วยจริง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอท้องเสียและอาเจียนหลังจากดื่มน้ำ         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำให้คุณรัชนำหลักฐานทั้งหมดที่มีไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านและให้ทำหนังสือถึงบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่ามีสิ่งเจือปนในน้ำดื่ม ขอให้ทางบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่าสิ่งเจือปนในน้ำดื่มนั้นคืออะไรและเรียกร้องขอค่าชดเชยจากกรณีดังกล่าวตามสมควรได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำได้จริง

กลางเดือน กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” และได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ  และเรื่องผังเมือง         ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญก่อนการจัดเวทีและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ คือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง        ฉลาดซื้อพูดคุยกับ คุณก้อ ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ทำงานเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าแม้สถานการณ์คุณภาพของตู้ดื่มน้ำหยอดเหรียญจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องตู้น้ำมีความสำคัญอย่างไรมาเริ่มทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร         เรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราเริ่มเห็นว่าตู้สกปรกมาก ฝุ่นเกาะ  หรือเอากระป๋องนมที่ขึ้นสนิมมารอง แบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  เพราะประชาชนเสียเงิน เขาควรได้รับความปลอดภัย         เราทำงานมาตั้งแต่ปี 2559 -2560 ทำงานและสื่อสารตั้งแต่ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบของตู้น้ำคืออะไร  ตอนนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนภาษี การขออนุญาตตอนแรกตู้ละ 2,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย เขาบอกว่า เขาไม่ไปจดทะเบียนนะเพราะบางตู้ คนมากดยังไม่ถึงเลย  พอได้เงินแล้วเขาต้องหักค่าไฟ ค่าน้ำ ตอนหลังการจดทะเบียนไม่ถึง 2,000 บาทแล้ว เหลือ 500 บาทในตู้แรก ตู้ต่อไป 25 บาท 2 ตู้จ่าย 525 บาท ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทำงานอย่างไรบ้าง         การทำงานคล้ายๆ อสม. แต่ศูนย์สิทธิฯ เรารับเรื่องร้องเรียน สถานที่จะเป็นที่สาธารณะ หรือที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มาสามารถมาร้องเรียนหรือ เล่าเรื่องของเขาได้ ปัจจุบันศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ก็ทำงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย ตามมาตรา 50 (5) เป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CRM แล้วเราไม่ได้นั่งรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ลงตรวจคุณภาพน้ำด้วย เราสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจโคลิฟอร์ม เรากำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ว่าในพื้นที่ที่แต่ละคนดูแลอยู่จะต้องสุ่มตรวจอย่างน้อยกี่ตู้ พอได้ผลเป็นอย่างไร เราจะคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต เขตก็ลงมาตรวจตู้ ถ้าน้ำไม่สะอาดเขาต้องไปเปลี่ยนไส้กรอง การทำงานที่ผ่านมา พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร           เราพบจากการสำรวจว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังไม่รู้นะ ว่าต้องไปขออนุญาต ไม่มีคนมาแนะนำว่าเขาต้องไปจด เขาถามว่าทำไมเราต้องลงไปสำรวจ เราก็บอกว่าเราทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บางทีเจ้าของตู้ก็ด่า บางทีเจ้าของบ้าน เขาก็เป็นเจ้าของเองหน้าบ้านเขาก็ตั้งตู้น้ำดื่ม เขาจะได้กินด้วย มีรายได้ แล้วพอไปตรวจ เขาก็กลัวว่าเราไปจับผิดเขา เพราะว่าที่เราลงไป เรามีการทำหนังสือ เหมือนเขาก็เดือดร้อนว่าต้องไปจดใบอนุญาต แล้วเมื่อผ่านได้ใบอนุญาตมาแล้ว ทางเจ้าของจะกลัวว่า จะถูกสุ่มลงมาตรวจ ไม่ได้ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรองไหม เขาเลยตั้งตู้เฉยๆ อยู่แบบนั้นไม่ไปจด คนที่ขอไปแล้ว แต่ไม่ไปเอาใบอนุญาตจึงเยอะ  เพราะเขากลัวว่าเรื่องจะเยอะตามมา         แล้วหากน้ำไม่สะอาด การล้างแต่ละครั้งต้องมีช่างมาล้าง  เจ้าของตู้เขาต้องใช้เงินจากกำไร ที่เขาต้องได้เป็นพันก็ต้องมาจ่ายตรงนี้ แต่ก่อนจากที่เขาได้กำไรเยอะตอนที่ตู้ยังน้อย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมีตู้เยอะขึ้น แล้วเวลามีข่าวตู้น้ำดื่มไม่สะอาด คนก็หันมาติดตั้ง เครื่องกรองน้ำที่บ้านมากขึ้น         ส่วนชาวบ้านเขาก็คิดว่า แล้วทำไมต้องมาจด รัฐบาลไม่มีเงินเลยจะมาเอาเงินภาษี แบบนี้ก็มี แต่คนทำงานมองว่าสถานการณ์คุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเริ่มดีขึ้น         ใช่ ทำงานตอนแรก ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้ประกอบการ เขาไม่ได้สนใจเลย ชาวบ้านด้วยก็ไม่ได้สนใจ แต่พอเรารณรงค์มากขึ้น ชาวบ้านเขาเริ่มรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องแอบนะเพราะเขาเริ่มรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาเห็น เขาก็มาเช็ดๆ ตู้ เราก็บอกเขาว่าไม่ใช่ ต้องทำความสะอาดข้างในด้วย เขาก็ทำด้วย เราบอกว่ากลัวว่ากดไปดื่มแล้วจะท้องเสีย         แล้วบางทีจุดตั้งตู้อยู่ใกล้ถังขยะ เปิดแล้วหนูก็วิ่งขึ้นไป คือตอนที่สำรวจอาจจะยังไม่เจอหนูก็จริง แต่สภาพแวดล้อม สถานการณ์มันมีได้         ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงคือเราเห็นตู้ใหม่ๆ เยอะ การขอใบอนุญาตไม่ยากแล้ว   สำนักงานเขตจะมีข้อมูล ผู้ประกอบการที่เขายอมเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร           เขาไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บางทีเราชี้แจง แล้วตัวเขาบางทีเขากดไปกินน้ำด้วย เขาตั้งตู้แล้วเขาก็กินเองด้วย เขาก็แก้ไข บางคนเขาดีนะ เราบอกแล้วเขาก็แก้ไข บางทีเขาไม่รู้ว่า ตู้น้ำต้องไปขอใบอนุญาต  เขาก็กลัวว่าเขาจะมีความผิดเหมือนกัน  บางคนเขาทำแล้ว มาบอกเราให้ไปทดสอบเลยว่า คุณภาพดีขึ้นไหม  มาตรวจเลย         แล้วผู้ประกอบการบางคนเขามีใบอนุญาตนะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องนำมาติดไว้ที่ตู้ ทำงานมาเรื่อยๆ เขาก็รู้มากขึ้น         การทำงานที่ผ่านมา เราคิดว่า ทางเขตตอบรับเราดี ลงมาตามเรา เขาบอกว่าถ้ามีอะไร ให้เขาลงไป  เขายินดี ถ้าเราจะไปสำรวจอะไร เขาดีใจที่มีอาสาสมัครมาทำงานแบบนี้ แล้วจริงๆ เขตเขามีคนน้อย การทำงานของศูนย์สิทธิผู้บริโภค ช่วยให้เขตทำงานได้ถูกจุดมากขึ้น         ใช่       การทำงาน เมื่อเราแจ้งเขต เป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วย พอเราส่งข้อมูลให้เขต เขตบอกว่าจะไปตรวจ  ตอนแรกเขาจะตักเตือนก่อน  แต่ตักเตือนแล้วยังไม่ทำ  เขาก็จะฟ้อง เพราะมีกฎหมาย เขาเลยจะเตือนมาก่อนตอนนี้ กทม. มีเทศบัญญัติ แล้ว เทศบัญญัติที่มีเกิดจากการทำงานของเครือข่าย         เทศบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ ปี 2562 เกิดจากการทำงานของเครือข่าย  ไปผลักดันจนเกิดนโยบาย ช่วงปี 60- 61 พี่ไปที่สำนักงานเขต ถามเขาว่า ถ้าเกิดเจอตู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตบอกว่า หัวหน้าสิ่งแวดล้อมบอกว่าเขาจะตักเตือน ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วยังไม่มา เขาจะลงไปเอาโซ่ล่าม การฟ้องมันใช้เวลา ส่วนมากจะจบที่การไกลเกลี่ย เขาไม่อยากถูกฟ้อง เขาก็ต้องทำ         การทำงานที่ผ่านมาเรายังได้ ประสานกันหลายฝ่าย เราก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย  น้ำที่ไม่สะอาด พอเอาโคลิฟอร์มมาตรวจ น้ำจะเปลี่ยนสีเลย น้ำที่ได้มาตรฐาน จะเป็นสีส้ม น้ำที่ตรวจเจอแล้วเป็นสีเหลือง มันมีอันตรายอย่างไร คือเป็นน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ท้องร่วงได้ เราก็ให้ศูนย์สาธารณสุขมาให้ความรู้กับ อาสาสมัครเราด้วย         พี่เลยมองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้น ผู้ประกอบการเขาก็มีความตระหนักขึ้นนะ แล้วการทำงานร่วมกันในพื้นที่ก็มีส่วนเสริมกัน เรามองว่าช่วยกันได้ แล้ว อาสาสมัครถ้าทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้พัฒนาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

        หลายคนคงเคยใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เนื่องจากราคาถูก ง่ายต่อการใช้บริการ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หาง่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ แต่จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครพบว่ามีหลายตู้ตกมาตรฐาน        คุณต้นไม้ พักอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งใจกลางลาดพร้าว 101 เขามักซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นประจำ เพราะรู้สึกว่า ถูก ง่าย สะดวก เอาขวดน้ำที่ดื่มน้ำหมดแล้วมากรอกได้เลย แต่อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็มาหยอดเหรียญโดยนำขวดมากรอกน้ำเหมือนเคย แต่พอดื่มเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ารสชาติผิดปกติ ไม่เหมือนที่เคยดื่ม ลองเอามาดมก็มีกลิ่นแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม เพราะทุกทีน้ำไม่มีกลิ่น เขาจึงลองไปหยอดเหรียญกรอกอีกรอบ ก็ยังพบว่าน้ำดื่มมีความผิดปกติทั้งรสชาติและกลิ่นไม่เหมือนที่เคยดื่ม ดังนั้นเลยลองเสิร์ชดูในกูเกิลเจอว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยออกข่าวเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรก จึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ช่วยตรวจสอบเนื่องจากมีคนในคอนโดใช้บริการจำนวนมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซึ่งกำหนดให้มีการขออนุญาตก่อน หากมีการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องมีการเปลี่ยนไส้กรอง การซ่อมบำรุง และต้องรายงานคุณภาพน้ำด้วย เมื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วต้องมีสติ๊กเกอร์การได้รับอนุญาต ผลคุณภาพน้ำ ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรอกติดไว้ที่ตู้ด้วย         ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตบางกะปิ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ช่วยตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้ที่ผู้ร้องคือคุณต้นไม้ได้ร้องทุกข์ไว้ ทราบต่อมาว่าทางเขตบางกะปิได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังกล่าวแล้วและทางเขตสั่งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ตู้น้ำดื่มมีคุณภาพน้ำที่สะอาดสำหรับการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 เครื่องดื่มสุขภาพ..มีจริงหรือ

        วันที่ 5 ธันวาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย มีบทความเรื่อง 3 เครื่องดื่มสุขภาพ ถ้าดื่มมากเกินไปหรือดื่มเป็นเวลานาน จะทำให้ภูมิตก เสี่ยงติดโควิด-19 ได้ง่าย จริงหรือ? โดยเนื้อข่าวสรุปแล้วกล่าวประมาณว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในประเด็นของ 3 เครื่องดื่มสุขภาพนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับหน่วยราชการหนึ่งพบว่า เป็นข้อมูลจริง โดยหน่วยราชการนั้นอธิบายเหตุผลที่ข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อประมาณว่า “น้ำผักผลไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่เติม น้ำ น้ำตาล สารคงสภาพ ทำให้คุณประโยชน์ที่ได้น้อย แต่อาจได้น้ำตาลฟรุคโตสจำนวนมากแทน ส่วนการดื่มนมวัวโดยเฉพาะนมรสหวานในปริมาณมากอาจทำให้อ้วนได้จริง และเครื่องดื่มชูกำลังจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งน้ำตาลนั้นหากกินมากไปเสี่ยงทำให้ภูมิคุ้มกันลด ควรเลี่ยง”         ผู้เขียนขอละที่จะกล่าวว่า ความเห็นของหน่วยราชการนั้นถูกหรือผิด แต่ขอแสดงความเห็นว่า น่าเสียดายมากที่หน่วยราชการนั้นอาจจำเป็นต้องประหยัดตัวหนังสือในการให้ข้อมูลการประเมินข่าวแก่ผู้บริโภคว่าข้อความนั้น จริงหรือเท็จ จึงไม่ได้อ้างการสนับสนุนข้อมูลนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการว่า มาจากแหล่งใดหรือจากบทความวิชาการที่เป็นงานวิจัยในวารสารใด เพื่อผู้บริโภคจะได้นำหลักกาลามสูตร 10 มาพิจารณา         จริงอยู่ที่ว่าเราควร ละ เลี่ยง เลิก ในการกินหวาน มัน เค็ม เพื่อลดภาวะการทำลายสุขภาพของไต ซึ่งส่งผลถึงความผิดปรกติอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง แต่ในกรณีของน้ำผักผลไม้รวมสำเร็จรูปนั้น สินค้ากลุ่มนี้น่าจะมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง เพราะดื่มน้อยอร่อยดีแต่ถ้าดื่มมากและบ่อยเกินไปปัญหาด้านสุขภาพอาจตามมา ดังนั้นสำหรับคนทั่วไปที่ดื่มบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อเพิ่มรสชาติของชีวิต จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเลิกดื่มผลิตภัณฑ์นี้ ในประเด็นว่าถ้าดื่มมากแล้วภูมิคุ้มกันต่ำจนเสี่ยงโควิด-19 ง่าย ถ้ามีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า เครื่องดื่มที่มีรสหวานจากน้ำตาลทำอันตรายผู้บริโภคโดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ควรมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิกถอนตำรับสินค้ากลุ่มนี้เสียเลย         ประเด็นที่ควรสนใจคือ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้น..มีจริงหรือ เพราะเท่าที่พยายามสืบค้นทางอินเตอร์เน็ทแล้วนั้น ความหมายอย่างเป็นทางการหรือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือนั้น ดูเหมือนจะไม่มี         โดยปรกติแล้วเครื่องดื่มทุกชนิดที่ขายในท้องตลาดและผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. มักมีลักษณะตาม “ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 356 พ.ศ.2556 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท” ซึ่งก็ไม่ได้พูดถึง เครื่องดื่มสุขภาพ ส่วนในกรณีที่สินค้าใดจะอ้างว่า องค์ประกอบของสินค้านั้นมีผลต่อสุขภาพ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในเอกสารชื่อ คู่มือสำหรับประชาชน การขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพียงเข้าไปใน google แล้วลองค้นหาด้วยคำว่า “health claims on food labels ของ อย.”) ก็มิได้มีคำจำกัดความของคำว่า เครื่องดื่มสุขภาพ         เมื่อค้นหาโดยใช้ google ถึงความหมายของเครื่องดื่มสุขภาพนั้น เว็บไซต์หนึ่งได้ให้ความหมายตามใจเว็บเองว่า “หมายถึงเครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่จับต้องได้และเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หรือเป็นเครื่องดื่มที่มีการบ่งบอกชัดเจนถึงคุณประโยชน์ เฉพาะเจาะจงเช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของแอล-คารนิทีน ชาเขียวผสมคอลลาเจน นมพร้อมดื่มผสม คอลลาเจน เครื่องดื่มธัญพืชที่ช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เครื่องดื่มที่ช่วยลดความอ้วนที่สกัดจากชาหรือสารอาหารจากธรรมชาติ” ซึ่งใครจะเชื่อก็ได้หรือไม่เชื่อก็ได้         มีบทความหนึ่งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง (ที่ชอบคิดค้นสินค้าที่อ้างว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ) พยายามให้ความหมายประหนึ่งว่า เครื่องดื่มสุขภาพนั้นเป็น functional drink ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่า แล้ว functional drink นั้นคืออะไร และเมื่อค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อก็พบว่า คำ ๆ นี้ยังไม่มีการให้คำจำกัดความทางวิชาการที่แท้จริงเช่นกัน มีแต่ที่จำกัดความกันเองตามใจชอบ เช่นบางเว็บไซต์บอกว่า “คือเครื่องดื่มที่ให้ Benefit กับร่างกายของผู้ดื่มไม่ว่าจะเพื่อช่วยย่อยอาหาร ผิวสวย บำรุงสมอง” ซึ่งเมื่อพิจารณาดีๆ ก็พบว่าเป็นคำจำกัดความที่ค่อนข้างแคบไปหน่อย         ผู้เขียนคิดว่า functional drinks นั้นคงล้อมาจากคำว่า functional foods ซึ่งในความเป็นจริงนั้นถ้าเขียนให้ถูกในความหมายที่มีการอธิบายความเป็นตัวตนของสินค้านี้ ควรใช้คำว่า physiologically functional foods ซึ่งคำๆ นี้น่าจะปรากฏเป็นครั้งแรกในบทความเรื่อง Studies on Functional Foods in Japan: State of the Art ในหนังสือ Food Factors for Cancer Prevention พิมพ์โดย Springer-Verlag Tokyo ในปี 1997 ซึ่งกล่าวถึงโครงการระดับชาติ 3 ปีที่ได้รับการสนับสนุนโดย the Ministry of Education, Science and Culture ของญี่ปุ่นที่มี Dr. Soichi Arai เป็นประธานซึ่งได้เริ่มโครงการชื่อ Analysis and Molecular Design of Physiologically Functional Foods จากบทความนี้ได้สรุปความหมายของ physiologically functional foods ว่าคือ อาหารที่ออกแบบมาให้มีประโยชน์ทางสรีรวิทยาและ/หรือลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหนือกว่าอาหารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับโภชนาการขั้นพื้นฐาน โดยอาจมีลักษณะภายนอกดูคล้ายกับอาหารทั่วไปและบริโภคโดยเป็นส่วนหนึ่งของการรับประทานอาหารปกติ อย่างไรก็ตาม คำว่า physiologically functional foods นั้นดูยาวเยิ่นเย้อ จึงมีการลดทอนคำไปเป็น functional foods แทน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมวิชาการ         ดังนั้นสินค้าที่อ้างว่าเป็น functional drinks นั้น ควรเป็นเครื่องดื่มที่ดูไม่ต่างจากเครื่องดื่มธรรมดาแต่ถูกปรับให้มีศักยภาพในการส่งผลให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้นกว่าการดื่มเครื่องดื่มธรรมดา เช่นการเติมสารสกัดจากอะไรสักอย่างหนึ่งลงไปในเครื่องดื่ม แล้วทำการศึกษาจนได้เห็นว่า มีประโยชน์จริงในมนุษย์        อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า functional drinks นั้นเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาจากโฆษณาทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า น่าจะมีลักษณะเป็น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา (Sport Drink ) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นเกลือแร่และน้ำตาลเพื่อชดเชยแร่ธาตุและพลังงานที่เสียไประหว่างออกกำลังกาย แต่ประเภทที่ดูว่าขายดีที่สุดคือ เครื่องดื่มให้พลังงาน (Energy Drink) ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานพร้อมกลุ่มวิตามินและกรดอะมิโนในปริมาณหนึ่ง ซึ่งแม้มีประโยชน์บ้างก็ตามแต่จริงแล้วสารเคมีที่ต้องการขายจริงคือ คาเฟอีน ซึ่งช่วยให้คลายความง่วงนอนและมีความตื่นตัว สำหรับเครื่องดื่มเข้มข้น (Enriched Drink) นั้นเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมองค์ประกอบในอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น คอลลาเจน โคคิวเท็น สารสกัดจากเมล็ดหรือเปลือกหรือรากของพืช  โดยมักอ้างว่ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระหรือช่วยการเผาผลาญไขมัน ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้บางชนิดเป็นสินค้าเกิดใหม่ บรรพบุรุษเราไม่เคยพบเห็น         สำหรับงานวิจัยที่กล่าวว่า การกินน้ำตาลมากมีผลโดยตรงต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น เท่าที่หาได้จาก PubMed และ ScienceDirect คือ บทความเรื่อง A high-sugar diet affects cellular and humoral immune responses in Drosophila ในวารสาร Experimental Cell Research ของปี 2018 ซึ่งเป็นการเลี้ยงแมลงหวี่ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงราว 6.7 เท่าของอาหารปรกติ ทำให้พบข้อบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับความสามารถด้านฟาโกไซโทซิส* (phagocytosis) ของแมลงหวี่ในการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมคือ เม็ดยางลาเท็กซ์และสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana เป็นเชื้อราใช้กำจัดแมลง โดยสปอร์งอกและแทงเส้นใยทะลุตัวแมลง ทำให้แมลงมีอาการผิดปกติ อ่อนแอ จนแมลงตายในที่สุด)         อีกทั้งยังพบว่า อาหารที่มีน้ำตาลทรายสูงกระตุ้นการพัฒนาของ lamellocytes (เซลล์ที่มีเฉพาะในตัวอ่อนแมลงที่สามารถต่อสู้เชื้อโรคที่บุกรุก) ในต่อมน้ำเหลืองและระบบเลือดมากเกินไป ซึ่งปรกติไม่เกิดขึ้นในแมลงที่แข็งแรง นั่นแสดงว่าการพัฒนาเพื่อเป็นแมลงตัวโตเต็มวัยนั้นถูกชะลอหรือชะงักด้วยการกินน้ำตาลทรายมากเกิน ซึ่งบทความเรื่องนี้โดยสรุปแล้วให้ข้อมูลว่า อาหารที่มีน้ำตาลสูงนั้นน่าจะส่งผลต่อความผิดปรกติของระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติซึ่งรวมถึงการอักเสบด้วย         *ฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำหน้าที่นี้เช่น นิวโทรฟิล แมคโครฟาจ เซลล์เดนไดรต์ เป็นต้น กระบวนการฟาโกไซโทซิสนั้นเป็นการกลืนเชื้อโรคเข้าในเซลล์แล้วย่อยทำลายทิ้งด้วยเอ็นซัม เซลล์ฟาโกไซต์บางชนิดได้นำโปรตีนที่ย่อยแล้วและมีส่วนที่เป็น epitope ซึ่งแสดงความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (antigenicity) ของเชื้อโรคไปแสดงบนผนังเซลล์ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้ามาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักก่อนที่จะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีหรือเปลี่ยนไปเป็น T-killer cell

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 รู้เท่าทันเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรมาแรงเท่าเครื่องดื่มผสมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ที่โฆษณาขายกันอย่างครึกโครมว่าเพิ่มพลังและดีต่อสุขภาพ มีดารา ศิลปินชื่อดังที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ยี่ห้อต่างๆ จนฉุดยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ คืออะไร         บริษัทเครื่องดื่มสุขภาพกำลังเพิ่มการใส่วิตามินและเกลือแร่ลงไปในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำดื่มสำหรับนักกีฬา และน้ำดื่มธรรมดา เนื่องจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเชื่อว่ามีประโยชน์กว่าการดื่มน้ำธรรมดา ทำให้เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เหล่านี้มีวางขายทั่วไปหมด ตั้งแต่ ในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของในปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ จนถึงร้านอาหารข้างทางเครื่องดื่มวิตามินมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยจริงหรือ         เครื่องดื่มวิตามินต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด อาจมีวิตามินและสารอาหารที่ใส่เข้าไปในปริมาณน้อย บางชนิดก็ไม่มีความจำเป็น บางชนิดถ้าบริโภคในปริมาณมากและระยะยาวอาจเป็นอันตราย         “ปกติ เราได้รับวิตามินและแร่ธาตุตามธรรมชาติจากอาหาร หลายคนยังกินวิตามินเสริมเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมากินเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เพิ่มอีก ทำให้มีการบริโภควิตามินและแร่ธาตุมากเกินกว่าความจำเป็น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Mridul Datta จากภาควิชาโภชนาการ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าว         ทุกวันนี้ งานศึกษาแสดงว่า ประชากรแต่ละคนได้รับวิตามินและแร่ธาตุในระดับที่สูง มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาบริโภควิตามินรวมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมปัง อาหารหลายอย่าง มีการเพิ่มวิตามิน B, A และ D  ในประเทศไทยก็มีการการโฆษณานมผงยี่ห้อต่างๆ ว่ามีสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก              วิตามินที่บริโภคในปริมาณมาก วิตามินบางชนิดละลายในน้ำได้ เช่น วิตามิน B และ C ซึ่งจะขับถ่ายออกทางปัสสาวะ แต่วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น A, D, E และ K จะสะสมในเนื้อเยื่อ และเกิดความเสี่ยง เพราะคงตัว ไม่ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อบริโภคต่อเนื่อง จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งต้องระวัง         งานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA  ปีค.ศ. 2009 ทำการศึกษาคลินิกใน ผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 6,000 ราย ซึ่งได้รับวิตามิน B หรือ ยาหลอกเป็นเวลากว่า 7 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับกรดโฟลิคและ B12 มีอัตราการเสียชีวิตและมะเร็งสูงกว่า         ในปีค.ศ. 2012 การทบทวนการศึกษาทางคลินิกในประชากร 300,000 รายโดย Cochrane พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามิน A, E เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ในปีถัดมา หน่วยงานป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้สรุปว่า “มีหลักฐานจำกัดที่ยืนยันว่า การบริโภควิตามินและแร่ธาตุสามารถป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจได้”เครื่องสุขภาพมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่         การทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ปีค.ศ. 2019 พบว่า ปัญหาใหญ่ของเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพคือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลในปริมาณสูง ก่อให้เกิดโรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน และโรคหัวใจ         เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ที่ขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลายยี่ห้อจึงมีรสหวานเท่ากับหรือมากกว่าน้ำอัดลม ยกเว้นบางประเภทที่บอกว่าน้ำตาลเป็น 0 แต่ก็ใช้รสหวานจากน้ำตาลเทียม         ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มวิตามินหรือแร่ธาตุจึงมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้         สรุป     เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่สามารถมีผลเสียต่อสุขภาพได้ จากวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำตาล ที่บริโภคมากเกินจำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลยแต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร         เครื่องดื่มผสมวิตามินซี        ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า        ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี....         ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ        เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrateบทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต         จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 219 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตอนที่2)

        หลังจากฉบับที่แล้วเราได้พิจารณารูปโฉมโนมพรรณภายนอกของเจ้าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไปแล้ว เรามาล้วงลูกผ่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูภายในกันเลย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ภายใน จะแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นถังเก็บน้ำ และส่วนที่ติดตั้งระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อโรค                      จะเห็นได้ว่าส่วนที่จะส่งผลทำให้น้ำดื่มที่จะจ่ายออกมาสะอาดหรือไม่ คือ ถังเก็บน้ำมันสะอาดจริงหรือ? และระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อมันยังคงมีประสิทธิภาพเหมือนตอนผลิตใหม่ๆ หรือไม่? คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องสอบถามหาคนรับผิดชอบ หรือสอบถามคนใกล้เคียง เพื่อหาข้อมูลการดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ให้มั่นใจ โดยสอบถามในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการดูแล บำรุงรักษา ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้        1. ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ แล้วมาดูแลอย่างไร บ่อยแค่ไหน           การดูแลนั้น ไม่ใช่แค่มาดูว่าตู้ฯพังหรือไม่? หรือมาเปิดเพื่อเก็บเงิน แต่ต้องมาดูแลเช็ดถู ทั้งภายนอกและภายใน ของตู้ฯให้สะอาด        2. มีการดูแลระบบและอุปกรณ์ที่การกรอง และฆ่าเชื้อตามระยะเวลาตามที่ติดไว้บริเวณด้านหน้าของเครื่องหรือไม่ เช่น มีการล้างไส้กรอง มีการเปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด หรือหลอดยูวีตามวัน เดือน ปี ที่ระบุหรือไม่         3. มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้นี้บ้างหรือไม่ อย่างไร        โดยการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะทำได้สองแบบ         (1) การตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น ซึ่งควรจะทำการทดสอบให้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ ทดสอบความเป็นกรด-ด่าง (ผลที่ได้ควรมีค่าอยู่ในช่วง 6.5 – 8.5) ทดสอบความกระด้าง (ผลที่ได้ไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม/ลิตร) และทดสอบเชื้อโรคด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (ผลที่ได้ไม่ควรพบเชื้อโรค)         (2) การเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลบ เพื่อยืนยันว่าน้ำดื่มได้มาตรฐานจริงๆหากสอบถามแล้วเรายังไม่ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ก็เหมือนการยอมเสียเงินเพื่อได้น้ำดื่มที่เราไม่รู้ว่าสะอาดหรือไม่มาบริโภคนั่นเอง          ไม่มั่นใจหรือสงสัย สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ(ตอนที่1)

        แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะหาซื้อน้ำดื่มบรรจุในขวดหรือบรรจุในถังมาบริโภคได้ไม่ยาก แต่ในต่างจังหวัดหรือในชุมชนต่างๆ กลับพบว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาติดตั้งมากมาย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนต่างๆที่ชุมชนเลือกดำเนินการ แต่เมื่อได้ติดตั้งตู้ฯ ไประยะหนึ่งแล้ว มักพบว่าตู้เหล่านี้เหมือนถูกทอดทิ้งชอบกล บางตู้ไม่มีผู้ดูแลประจำ บางตู้แม้มีการมอบหมายคนดูแล แต่คนดูแลก็ไม่ค่อยมาใส่ใจดูแลสม่ำเสมอ สุดท้ายผู้บริโภคที่มาหยอดเหรียญซื้อน้ำ เลยไม่รู้ว่าตนเองได้น้ำสะอาด หรือน้ำแถมเชื้อโรคกันแน่ ดังนั้นหากเราเป็นผู้บริโภคที่จะต้องเสียเงินซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อนำมาบริโภคแล้ว เราควรรู้เท่าทันมัน จะได้คุ้มค่าและได้น้ำที่สะอาดจากตู้ฯ มาบริโภค         การผลิตน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็คล้ายๆ กับการย่อโรงงานผลิตน้ำดื่มให้เล็กลงแล้วยัดลงไปในตู้ หากมองจากภายนอก เราจะเห็นว่ามันมีช่องให้หยอดเหรียญ มีบริเวณให้วางภาชนะเพื่อรองรับน้ำที่ไหลออกมาจากหัวจ่าย  ดังนั้นอันดับแรกก่อนจะเสียเงิน ให้มองดูฮวงจุ้ยของตู้ฯ เสียก่อน ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งใกล้ถังขยะ ใกล้แหล่งน้ำขังน้ำเน่า หรือใกล้จุดที่มีฝุ่นละอองต่างๆ มาก ถือว่าเป็นอัปมงคลแห่งทรัพย์ที่จะเสีย เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่สิ่งสกปรกเหล่านี้จะมาปนเปื้อนที่ตัวตู้ฯ อย่างแน่นอน ที่น่ากลัวคือบริเวณหัวจ่ายน้ำ หากพบว่าหัวจ่ายสกปรก มีคราบตะไคร่คราบฝุ่นติดมากมาย (ทดสอบโดยการนำเอากระดาษทิชชู่เช็ดที่หัวจ่าย) แสดงว่าสิ่งสกปรกเหล่านี้กำลังรอที่จะผสมลงไปในน้ำดื่มที่ตู้ฯ กำลังจะจ่ายให้เรา        เสร็จจากดูฮวงจุ้ยของตู้น้ำหยอดเหรียญแล้ว ถ้ามันผ่านก็อย่าเพิ่งรีบดีใจจนเนื้อเต้น ให้ตั้งสติหันมาดูรายละเอียดที่บริเวณด้านหน้าของตู้ฯด้วย เพราะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่  31  (พ.ศ.  2553) กำหนดให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงรายละเอียด ติดไว้ที่ด้านหน้าของตู้ให้อ่านได้ชัดเจน คงทนถาวร และมีรายละเอียดครบถ้วนดังนี้         1. ข้อแนะนําในการใช้  ต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้                    (ก) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ                (ข) ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะ ไม่ถูกสุขอนามัย                    (ค) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ                    (ง) ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ                    (จ) ไม่ควรนําภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ        2. ระบุวัน  เดือน  ปี  ที่เปลี่ยนไส้กรอง  แต่ละชนิด        3. คําเตือน  ต้องระบุว่า  “ระวังอันตราย  หากไม่ตรวจสอบวัน  เดือน  ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง  และตรวจสอบคุณภาพน้ำ”  โดยข้อความที่เป็น  “คําเตือน”  ต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า  1  เซนติเมตร  บนพื้นสีขาว            ดังนั้นหากเราดูภายนอกแล้วพบว่าตู้น้ำหยอดเหรียญนี้ไม่แสดงฉลาก แสดงว่าตู้นี้เป็นตู้ที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522   แจ้งเจ้าหน้าที่ สำนักงานจังหวัดที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522 ที่ศาลากลางจังหวัดที่ตู้นั้นตั้งอยู่ได้เลย        หากเราตรวจสอบลักษณะภายนอกของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังข้างต้นแล้ว พบว่าถูกต้องครบถ้วน อย่าเพิ่งไว้ใจ ฉบับต่อไปเราจะชวนผู้บริโภคผ่าตู้ให้รู้ทันกันไปเลยว่าข้างในมีอะไร อย่าลืมติดตามอ่านในฉบับต่อไปนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสต่างแดน

หยิบชิ้นปลามันชาวแคนาดาคือ คนกลุ่มแรกที่ได้ลิ้มรสปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรม เพราะแคนาดาเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้ตัวว่ารับประทานเข้าไปตอนไหน! ความแตกเมื่อรายงานประจำไตรมาสของบริษัทอควาบาวน์ตี้ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่บนเกาะพรินซ์เอ็ดเวิร์ด ระบุว่าได้ขายเนื้อปลาที่ว่านี้ไป 4,500 กิโลกรัมในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน  แต่จนถึงขณะนี้บริษัทสัญชาติอเมริกันก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าส่งไปขายที่เมืองใดบ้างแม้บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ขายได้โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลาก และได้รับการรับรองมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาคาใจคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และในช่วง 20 ปีผ่านมารัฐบาลก็มีความโปร่งใสในเรื่องนี้น้อยมากล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกมากำชับให้ “โรงงาน” บนเกาะดังกล่าว ซึ่งมีกำลังผลิตถึง 250 ตันต่อปีปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะถูกสั่งปิด   สถานีต่อไป..โลกรู้แล้วว่าตลาดปลาซึกิจิอันเลื่องชื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่ในเขตโกโตะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจุดเดิมสองกิโลเมตร แต่บรรดาลูกค้าตัวจิ๋วที่เคยเดินทางมาด้วยระบบท่อระบายน้ำใต้ดินเพื่อกินเศษปลาและเศษผักในช่วงบ่ายๆ  จะย้ายไปที่ไหนใครรู้บ้างตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เทศบาลนครโตเกียวได้เริ่มปฏิบัติการกำจัดหนูเพื่อป้องกันไม่ให้มันยกครัวไปลงมือที่อื่น เขาบอกว่างานนี้ไม่ง่ายเลยเพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และหนูส่วนใหญ่เป็นหนูสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่ใกล้น้ำ ว่ายน้ำเก่ง และเท้าที่เปียกตลอดเวลาของมันก็ทำให้มันไม่ติดกับดักง่ายๆ อีกด้วยเฉลยนิด ว่าเป้าหมายใหม่ของมันคือ ย่านกินซ่าที่มีห้างสรรพสินค้ามากมายพร้อมศูนย์อาหาร ไหนจะร้านอาหารจำนวนมากที่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว กินซ่าห่างจากตลาดซึกิจิเดิมแค่หนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น ทวงออกสื่อเมืองมังกาลอร์ทางตอนใต้ของอินเดียมีทะเบียนผู้ซื้อน้ำดื่มจากเทศบาลประมาณ 85,000 ราย จากจำนวนนี้มีถึง 50,000 รายที่ยังค้างจ่าย คิดเป็นยอดหนี้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านรูปีบางคนค้างค่าน้ำมาตั้งแต่ปี 2000 และมีอยู่ 166 รายที่มีหนี้รวมกันประมาณ 750,000 รูปี ข่าวบอกว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีฐานะดีมังกาลอร์ ซิตี้ คอร์ป ประกาศให้เวลาสองสัปดาห์ในการชำระหนี้ หากเกินกว่านั้นลูกหนี้จะได้เห็นชื่อตัวเองบนหน้าหนังสือพิมพ์ เมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอาหรับแห่งนี้มีวิกฤติน้ำดื่มมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางครั้งมีการปนเปื้อนของสารปรอท บางครั้งท่อน้ำชำรุด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้รับการแก้ไขชั่วคราว(ยังไม่มีวี่แววของมาตรการถาวร) ด้วยการจำกัดเวลาปล่อยน้ำในแต่ละพื้นที่ หลายรายคงไม่ยอมจ่ายเงินเพราะทนบริการแย่ๆ นี้ไม่ได้ บุญไร้ควันไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีมลภาวะทางอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรอบๆ วัดซึ่งมีอยู่ประมาณ 30,000 แห่งทั่วทั้งเกาะ ปีนี้มีผู้อยู่อาศัยที่เดือดร้อนเข้ามาร้องเรียนแล้วกว่า 3,000 รายรัฐบาลไต้หวันซึ่งครองแชมป์ประเทศที่มีวัดหนาแน่นที่สุดในโลก(ประชากรร้อยละ 70 นับถือพุทธหรือเต๋า) จึงเริ่มนโยบายจำกัดการใช้ธูปหรือเผากระดาษเงินกระดาษทองในการทำบุญเซ่นไหว้ ขณะนี้มีวัดที่ให้ความร่วมมือแล้ว 1,100 แห่ง บางแห่งยกเลิกการใช้ธูป หลายวัดขอให้ญาติโยมจุดธูปเพียง 1 ดอก(จากฉบับเต็ม 7 ดอก) ในขณะที่บางแห่งอนุญาตเฉพาะธูปชนิดควันน้อยที่ลูกศิษย์วัดเป็นผู้จุดให้เท่านั้นแต่มีคนนับหมื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไปรวมตัวกันประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี พวกเขามองว่า นี่คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา   จ่ายแล้วเป็น “สูญ”เรื่องปวดหัวอันดับหนึ่งของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นาทีนี้คือ การสูญเงินดาวน์หรือไม่ได้รับบริการที่จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้ากรณีร้องเรียนแบบนี้เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2014 สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจหลายแห่งปิดตัวลงและทำให้ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคสิงคโปร์ มูลค่าการสูญเสียอันดับแรกคือ เงินดาวน์รถยนต์ (2.74 ล้านเหรียญ) ตามด้วยค่าสมาชิกบริการฟิตเนส (1.39 ล้านเหรียญ) และค่าบริการต่อเติมซ่อมแซมบ้าน (1.02 ล้านเหรียญ) และที่ต้องระวังเป็นพิเศษนอกจากนั้นคือ บริการท่องเที่ยว เสริมสวย และเฟอร์นิเจอร์ ทางออกคือ การขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการให้มีการ “คุ้มครองการจ่ายเงินล่วงหน้า” ซึ่งความจริงผู้ประกอบการหลายเจ้ามีทางเลือกนี้อยู่แล้วแต่ลูกค้าไม่นิยมเลือกเพราะต้องการของ “ถูก”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 2)

เมื่อน้ำผ่านการกรองในขั้นต้นแล้ว ก็จะไปผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน เช่น เครื่องกรองเซรามิค เครื่องกรองไมโครพอร์ (ซึ่งเครื่องกรองสองแบบนี้ต้องหมั่นล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาเพราะมันจะอุดตันได้ง่าย และต้องล้างอย่างถูกวิธี ถ้ารุนแรงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเสียหาย และถ้าล้างไม่สะอาดก็อาจทำให้ติดเชื้อเข้าในระบบได้ บางรายจึงใช้วิธีเปลี่ยนใหม่เลย) หรือบางระบบก็จะให้น้ำผ่านทางเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้แสงอุลตราไวโอเลตเลย หรือเรียกสั้นๆว่า หลอด UV ซึ่งมีหลักการคือใช้ความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลต (UV)ในการฆ่าเชื้อ  เมื่อน้ำผ่านตรงนี้แล้วก็จะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค เราก็สามารถไปยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย จุดที่ต้องระวังคือ พวกบริษัทขายเครื่องมือที่ไม่เข้าใจระบบจริงๆ อาจติดเครื่องกรองสลับย้อนไปมา แทนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น เช่น มีการติดเครื่องกรองผงถ่านหลังจากน้ำผ่านหลอด UV แล้ว(ทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคขึ้นอีก) หรือบางรายก็แนะนำให้ติดเครื่องกรองต่างๆ มากเกิน เช่น ติดเครื่องกรองไมโครพอร์และหลอด UV ในหลายๆ จุด หรือบางทีก็แนะนำให้ติดเครื่องฆ่าเชื้อชนิดโอโซนอีกด้วย  โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นใจ อันที่จริงถ้าเราผลิตโดยความระมัดระวังและหมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องติดมากมายหลายจุดจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ายิ่งติดมากหลายจุดก็ยิ่งต้องเพิ่มภาระในการดูแลมากขึ้นไปอีกด้วย แม้น้ำดื่มจะเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำดื่มเราสะอาดได้มาตรฐานตลอดเวลาคือ การดูแลรักษา เกณฑ์จีเอ็มพี(GMP) จึงกำหนดให้เราต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ  มีการบันทึกข้อมูลที่เราทำเป็นรายงานให้ชัดเจน  เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าได้ทำจริง และเมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าในช่วงนั้นใครทำอะไรจนน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เราต้องมีชุดทดสอบเบื้องต้นไว้ทดสอบน้ำที่เราผลิตอีกด้วย ชุดทดสอบเบื้องต้นที่แนะนำคือ ชุดทดสอบความเป็นกรดด่าง (pH)  ชุดทดสอบความกระด้าง และชุดทดสอบเชื้อโรค  การที่กำหนดให้มีชุดทดสอบก็เพื่อให้เราทดสอบว่าคุณภาพเครื่องกรองของเรา  ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่ และจะประหยัดกว่าไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า  ผู้ผลิตน้ำบางรายมักจะให้บริษัทที่ขายเครื่องกรองเข้ามาทดสอบให้ แต่อยากแนะนำให้ผู้ผลิตฝึกการใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ให้เป็นเองจะดีกว่า เพราะมันใช้ไม่ยาก และจะได้ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาเขามาทดสอบหรือไม่ต้องรอให้เขามาทดสอบ และหากพบว่าคุณภาพเครื่องกรองยังดีอยู่ จะได้ไม่ถูกใครมาหลอกให้ต้องเปลี่ยนไส้กรองให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น หลอด UV ต้องดูแลอย่างละเอียดสม่ำเสมอ  เพราะหลอด UV ก็เหมือนหลอดไฟ เมื่อใช้ไปนานๆ ความเข้มของแสงจะลดลง ดังนั้นเราต้องสอบถามว่าอายุใช้งานนานกี่ชั่วโมง เมื่อครบตามกำหนดก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ (แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องกรองที่ดีอย่างไร ถ้าคนบรรจุน้ำไม่รักษาความสะอาดระหว่างบรรจุน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้) ส่วนผู้บริโภคน้ำดื่ม ถ้าเห็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มไม่สะอาด ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เราจะได้มั่นใจว่าเราเราเสียเงินคุ้มค่าและไม่ได้ดื่มน้ำสูตรผสมเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตราย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 1)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประชานิยม โดยสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านให้ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้นั้น สิ่งที่สังเกตเห็นคือ มีหลายพื้นที่นำเงินมาลงทุนตั้งเป็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มขึ้นมากมาย โดยมักจะมีบริษัทมารับจัดการสถานที่และติดตั้งระบบกรองโดยขายไอเดียว่าจะดำเนินงานต่างๆ ให้เสร็จเลย แต่การผลิตอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียวนั้น แม้จะดูไม่ยุ่งยากแต่มันก็มีรายละเอียดที่เราต้อระมัดระวังและใส่ใจมากพอสมควรเช่นกัน มิฉะนั้น เราอาจเผลอไปผลิตน้ำดื่มสูตรผสมเชื้อโรคโดยไม่ตั้งใจก็ได้อย่างแรกที่เราต้องตั้งสติคือ อย่าเพิ่งตัดสินในเชื่ออะไรง่ายๆ (โดยเฉพาะบริษัทที่จะมาเอาเงินเรา) ต้องพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำให้เข้าใจก่อน อันที่จริงขั้นตอนการขออนุญาตผลิตน้ำไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย มีเพียงสองขั้นตอนเท่านั้นเอง ขั้นตอนแรกคือการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารประเภทน้ำดื่ม เมื่อผ่านการตรวจสอบและขออนุญาตแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนที่สองคือ การขอ อย.ของน้ำดื่มแต่ละตรา ซึ่งเราจะทำกี่ตราก็ได้ในขั้นตอนแรกที่จะขอสถานที่ผลิตน้ำดื่มนั้น เราต้องทำให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด เรียกง่ายๆ ว่า เกณฑ์จีเอ็มพี (GMP) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต หากเราทำได้ตามเกณฑ์นี้แล้วรับรองว่าคุณภาพอาหารเราจะสม่ำเสมออย่างมีมาตรฐาน หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือสถานที่เราต้องเป็นสัดส่วนแยกให้ห่างไกลจากแหล่งสกปรก มีการปิดกั้นมิให้สิ่งโสโครกหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาป้วนเปี้ยนในสถานที่ผลิต ห้องน้ำห้องส้วมก็ต้องแยกให้ชัดเจนอย่าเข้ามาอยู่ใกล้สถานที่ผลิต มีการติดตั้งอ่างล้างมือทั้งหน้าห้องส้วมและบริเวณผลิต มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะห้องบรรจุต้องแยกให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในห้องนี้ส่วนการตัดสินใจจ่ายเงินค่าเครื่องมือไม้เครื่องมือเกี่ยวกับระบบการกรองน้ำก็ต้องพิจารณาให้ดี อย่าเพิ่งไปเชื่อผู้ขายเครื่องกรองต่างๆ มิฉะนั้นจะเสียเงินไม่คุ้มค่าหรือไม่ได้ผลให้เจ็บใจที่เสียรู้เขา อันดับแรกคือ เราต้องรู้ว่าน้ำที่จะมาผลิตนั้นมีคุณภาพดีเลวขนาดไหน จะได้เลือกใช้เครื่องกรองให้เหมาะสม ซึ่งจะรู้ได้ก็โดยการตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถส่งตรวจวิเคราะห์ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตพื้นที่ (หากส่งห้องปฏิบัติการของเอกชน ก็ต้องเลือกห้องที่ได้รับการรับรองคุณภาพในการตรวจจากทางราชการ) ถ้าไม่อยากเสียเงินเอง ก็ให้คนที่จะมาขายเครื่องกรองออกเงินให้เลย ไหนๆ ก็จะขายแล้วนี่ และจะเป็นประโยชน์ด้วย เพราะต้องใช้ผลวิเคราะห์แสดง เวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจในลำดับต่อๆ ไปด้วย (แนะนำให้ตรวจก่อนผลิตเลยครับ)เมื่อทราบผลวิเคราะห์น้ำแล้ว เราก็เลือกวิธีการกรองน้ำให้เหมาะสม เช่น น้ำที่จะนำมาใช้ผลิตมีสารอะไรมาก ควรเลือกใช้เครื่องกรองแบบไหน หรือถ้าเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก อาจต้องเปลี่ยนแหล่งน้ำ (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำคลองเพราะคุณภาพน้ำไม่แน่นอน บางช่วงอาจดี บางช่วงอาจแย่) ส่วนมากชุดกรองแรกๆ ที่จะติดตั้งจะเป็นเป็นกระบอกใหญ่ๆ สามกระบอก แต่ละกระบอกก็จะมีตัวกรองแตกต่างกัน ตัวแรกมักจะเป็นตัวกรองแอนทราไซด์และแมงกานิส ซึ่งจะกรองพวกเหล็กและสารบางอย่างที่เจือปนอยู่ในน้ำ ส่วนอีกกระบอกจะเป็นตัวกรองเรซิน (ลักษณะข้างในจะเป็นเม็ดใสๆ คล้ายไข่ปลาดุก) จะเป็นตัวขจัดความกระด้างและสารเคมีบางตัวที่ละลายอยู่ในน้ำให้น้อยลง กระบอกต่อมาก็จะเป็นเครื่องกรองถ่าน ซึ่งข้างในจะมีผงถ่านละเอียดๆ บรรจุอยู่ เพื่อดูดกลิ่น และคลอรีนในน้ำ (มีต่อฉบับหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลงานดีๆ เพื่อผู้บริโภคไทยของ คอบช.

คอบช. คือใครคอบช. เป็นชื่อย่อของ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำลองรูปแบบของ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านผู้บริโภค 302 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองทำหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปี 2558-2559 มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามผลงานและดาวน์โหลดรายงานประจำปีของ คอบช. ได้ที่ www.indyconsumer.org--------------------------------------------------------------------------3 ผลงานดีๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2559• ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ• ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา การฟ้องขับไล่กรณีบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ จากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ผลักดันด้านนโยบาย ให้ อย.ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากพืชดัดแปรพันธุกรรม1 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน แม้ดูเหมือนมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลและเฝ้าระวังปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น คนไทยยังเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำดื่มไม่ปลอดภัยจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันดังนั้นในปี 2559 คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระทำการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 855 ตู้ พื้นที่ 17 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้ด้านการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้นเรื่องสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถูกวางไว้ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก (ริมถนน ริมฟุตบาท) ร้อยละ 76.3 วางอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 และวางอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ซึ่งมีสัตว์พาหะนำโรคอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ร้อยละ 22 วิธีการติดตั้งพบว่า มีตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ 52.3 และมีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9เรื่องการติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) พบว่า มีการแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพียง ร้อยละ 6 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรอง ร้อยละ 7 มีการแสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ ร้อยละ 20 มีการแสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 และแสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตัวตู้ไม่สะอาด ร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตู้เป็นสนิม ร้อยละ 29.4 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 ตู้มีรูรั่วซึม ร้อยละ 11.2 สำหรับในส่วนของเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น พบว่า มีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือน เพียงร้อยละ 43.3สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งน้ำที่ใช้สู่ความร่วมมือคอบช. ได้นำผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลายหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดให้มีการตรวจติดตามตู้น้าดื่มหยอดเหรียญไว้ในแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าแล้ว กรณีที่พบการกระทำความผิดจะส่งเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายทันที และในส่วนของแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2559 ทาง สคบ.จะกำหนดให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการตรวจสอบด้วยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผลการศึกษาของ คอบช.เพื่อนำไปประกอบการทำร่างเทศบัญญัติการควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยินดีที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา และจัดทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อไปนอกจากนี้ ข้อเสนอจากผลการศึกษายังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ในปี 2559 ด้วยสรุปข้อเสนอจากงานวิจัย • ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง• ข้อเสนอต่อหน่วยงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ และเสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ถูกต้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีแผนการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศฯ ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 รวมถึงติดตามการติดฉลากของผู้ประกอบการว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง ควรลงโทษให้เด็ดขาด2 บ้านเอื้ออาทรกับการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่อาศัยคือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ใช้พักผ่อนหลับนอน แต่ยังเป็นศูนย์รวมของครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในอดีตรัฐเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งในแบบเช่าซื้อและซื้อ โดยโครงการบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่การเคหะฯ เป็นผู้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลในยุค พ.ศ. 2546บ้านเอื้ออาทร ในนิยามของการเคหะฯ คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท สามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ต่อมาโครงการนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นนโยบายประชานิยมมีนัยเพื่อซื้อใจคนที่มีรายได้น้อย ให้มีความหวังกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการวางแผนไว้อย่างดีสำหรับโครงการนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีช่องว่างมากมายจนทำให้เกิดการทุจริต (ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น) และท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาดีมานด์เทียมขึ้น จนก่อให้ซัพพลายหรือตัวอาคารที่สร้างเสร็จค้างไว้ ไม่มีผู้มารับโอนตามจริง เป็นภาระหนักให้การเคหะฯ ต้องขวนขวายหากลยุทธ์ในการระบายสต็อกในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีค้างอยู่ให้หมด และยังมีปัญหาที่ผู้ซื้อมือแรกไปต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้สูญ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดปัญหาในการชำระค่างวดให้ตรงเวลา หรือขาดส่งค่างวดตามที่สัญญาระบุไว้ติดๆ กัน จนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมปัญหาการถูกการเคหะแห่งชาติบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคของ คอบช. พบว่า ปัญหาเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร จะมีสัญญาเกิดขึ้น 3 ฉบับ คือ สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน โดยผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ ผู้บริโภคทำสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และการเคหะฯ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้บริโภคและยอมรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้บริโภคผิดพลาดในการส่งเงินค่างวดตามสัญญากู้เงิน สถาบันการเงินจะส่งเรื่องให้ผู้ค้ำประกัน คือการเคหะฯ ทราบเรื่องเพราะถือเป็นลูกหนี้ร่วม การเคหะฯ จะดำเนินการจ่ายหนี้แทนผู้บริโภคและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยินยอมออกจากบ้าน(ที่บางคนก็อยู่มาหลายปีแล้ว) ก็ตามมาด้วยการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้พิจารณาในตัวสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งสามฉบับ กลับพบว่า มีจุดที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จนทำให้หลายคนเสียบ้านไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทาง คอบช. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของการเคหะฯ ดังนี้1.ขอให้การเคหะแห่งชาติแก้ไขสัญญาเรื่องผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน 2.ขอให้การเคหะแห่งชาติ บังคับใช้ข้อสัญญา เรื่องห้ามให้เช่าช่วงอย่างเคร่งครัด 3.ขอให้การเคหะแห่งชาติกับสถาบันการเงิน ปฏิบัติตามสัญญากู้เงินในเรื่องการให้แก้ไขข้อผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญา“ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่า การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่สัญญากู้ยืมเงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้กู้หรือผู้บริโภคทำกับสถาบันการเงินไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี”หลังการนำข้อเสนอข้างต้นเข้าหารือ การเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้1.หากผู้ซื้อผิดนัดและไม่มีเงินชำระก็ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ ที่จะนำเงินที่เหลือมาผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อได้2.การเคหะแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามต่างๆ ให้ผู้ซื้อทราบก่อนทำสัญญา และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก3.การเคหะแห่งชาติได้ประสานกับสถาบันการเงิน และตกลงให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ทราบเรื่องการผิดสัญญาและให้ผู้ซื้อได้แก้ไขข้อผิดสัญญาในระยะเวลาอันสมควร ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา และก่อนที่สถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งการเคหะแห่งชาติให้ชำระหนี้แทน3 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือที่ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องความปลอดภัยแต่ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ไม่อาจสังเกตได้ในระดับปกติ ต้องใช้การทดสอบเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในทางกายภาพ การแจ้งบนฉลากอาหารจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ แต่มีอยู่ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพด เท่านั้นฉลากจีเอ็มโอต้อง ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพดสิ่งนี้คือข้อเสนอที่ คอบช. ได้พยายามผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ เพราะการปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ที่นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด วางจำหน่ายตามท้องตลาด ย่อมไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอซึ่งปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอในนั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก มีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใดในประเทศไทย กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจนในปี 2559 คอบช.ได้ทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ. ....(พืช GMOs) โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งยังได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศควบคุมฉลากแสดงสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs ) ที่ก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติ ปี พ.ศ.2545-----------------------------------------------------ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก

อ่านเพิ่มเติม >