ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 กระแสต่างแดน

ส้วมสะเทือนใจ        การรถไฟอินเดียต้องจ่ายค่าชดเชย 30,000 รูปี (ประมาณ 12,900 บาท) ให้กับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ได้รับความกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจจากสภาพห้องน้ำบนขบวนรถ         วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้โดยสารคนดังกล่าวขึ้นรถไฟตู้ปรับอากาศชั้นสามจากนิวเดลลีเพื่อไปลงที่เมืองอินดอร์ ซึ่งเป็นการเดินทางข้ามคืนที่ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมง          แปดโมงเช้าวันต่อมา เขาลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างหน้าและทำธุระส่วนตัว แต่พบว่าไม่มีทั้งน้ำล้างหน้าและน้ำสำหรับกดชักโครก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพสกปรกสุดทน และเนื่องจากรถไฟเสียเวลา เขาจึงต้องทนปวดท้องอยู่สองชั่วโมงและไปถึงที่ทำงานสายด้วย         แม้จะแย้งว่าห้องน้ำไม่ถือเป็น “บริการ” ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แต่การรถไฟฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม “กฎบัตรพลเมือง” ที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดหาน้ำใช้ที่สะอาดและห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยให้กับประชาชนและยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง 10,000 รูปีด้วย  ยาถูกมีอยู่จริง         เป็นเรื่องปกติที่คนสิงคโปร์จะขับรถข้ามชายแดนไป “ซื้อของ” ที่ยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เพราะนอกจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตที่นั่นจะถูกกว่า รวมถึงยารักษาโรคก็ถูกกว่าด้วย แถมร้านยาในมาเลเซียก็ไม่ถามหา “ใบสั่งแพทย์” อีก         ตัวอย่างเช่น ราคาของยาลดความดัน Micardis ในสิงคโปร์อยู่ที่ 53 เหรียญ (1,400 บาท) แต่สามารถซื้อได้ในมาเลเซียที่ราคา 62 ริงกิต (470 บาท)         นอกจากความแตกต่างของค่าเงินแล้ว ยาในมาเลเซียยังถูกกว่าเพราะร้านยาซึ่งมีหลายร้านในบริเวณเดียวกันมักจะกระหน่ำลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าด้วย         อย่างไรก็ตามช่องข่าว CNA ซึ่งนำเสนอเรื่องดังกล่าวพบว่ายาที่สั่งซื้อจากร้านออนไลน์ในมาเลเซียมักใช้ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะคุณภาพการเก็บรักษาหรือการขนส่ง แถมหลายตัวยังเป็นยาปลอมหรือมีสารต้องห้าม         ทางช่องข่าวแนะนำให้คนสิงคโปร์ประหยัดด้วยการซื้อ “ยาชื่อสามัญ” เพราะเขาทดสอบแล้วพบว่าหลายตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากยาที่มีแบรนด์เลย ถือบัตรไหนดี         กรุงโซลและปริมณฑลมีบัตรขึ้นรถสาธารณะหลายใบให้เลือก เป้าหมายร่วมกันคือลดภาระค่าเดินทางให้คนเมือง แต่สิทธิประโยชน์และเขตพื้นที่ให้บริการนั้นไม่เหมือนกัน         “ไคลเมทการ์ด” บัตรรายเดือนโดยเทศบาลโซล ใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟได้ดินได้ทุกเส้นทางในโซลได้ไม่จำกัด ใบละ 62,000 (ประมาณ 1,650 บาท) และบัตรดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่เมืองอินชอนด้วยตั้งแต่ปี 2024         “ไอพาส” ของเทศบาลเมืองอินชอน ใช้เดินทางในเมืองนี้ได้โดยไม่จำกัดเที่ยว ผู้สูงอายุสามารถรับเงินคืนร้อยละ 30 จากที่จ่ายไป         “เคพาส” ของกระทรวงที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและการขนส่ง ใช้เดินทางได้ 60 เที่ยวทั่วประเทศ หากใช้รถสาธารณะมากกว่า 15 ครั้งต่อเดือน สามารถขอเงินคืนได้ร้อยละ 30 (สำหรับผู้ที่อายุ 19-34 ปี) ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินคืนร้อยละ 52         แล้วยังมี “คยองกีพาส” สำหรับใช้ในจังหวัดคยองกี ที่จะเริ่มใช้เดือนพฤษภาคมได้เงินคืนเหมือนกันแต่ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว         ประชาชนเกาหลีหลายคนสงสัยดังๆ จะง่ายกว่าไหม ถ้ารัฐบาลลดราคาตั๋วไปเลย   ไม่ต้องฝัง         เพราะความสะดวกและความประหยัด คนดัทช์ยุคนี้จึงหันมาเลือกใช้บริการพิธีศพแบบเผา แทนที่จะฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม         ที่เนเธอร์แลนด์พิธีศพแบบเผามีค่าใช้จ่าย 6,000 ยูโร (ประมาณ 232,000 บาท) แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้างในกรณีที่ราคาพลังงานแพงขึ้น ในขณะที่การฝังมีค่าใช้จ่ายถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ 350,000 บาท)         สถิติระบุว่าร้อยละ 68.4 ของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2023 ได้รับการฌาปนกิจศพ ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นดูได้จากจำนวนฌาปนสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน         ข้อเสียอย่างเดียวคือ ตามขั้นตอนปกติของเนเธอร์แลนด์ ญาติจะต้องรอประมาณหนึ่งเดือนถึงจะสามารถมารับกระดูกกลับได้         หลายคนไม่อยากทิ้งภาระให้ลูกหลานต้องจ่ายค่าดูแลหลุมศพก็จะสั่งเสียไว้ให้เลือกวิธีนี้ ส่วนการกล่าวไว้อาลัยหน้าหลุมศพก็ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันผู้คนนิยมบอกลากันตั้งแต่ก่อนที่ผู้ล่วงลับจะจากไปฟาสต์เฟอร์นิเจอร์        รัฐบาลไต้หวันต้องรีบออกมาเคลียร์ หลังสื่อออกมาเปิดเผยว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังมีที่นอนเก่าที่ควรนำไปรีไซเคิลตกค้างอยู่ถึง 140,000 หลัง หมายความว่ามีสปริงที่ยังไม่ถูกนำไปใช้งานและมีผ้าที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงได้ค้างอยู่         กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าที่ผ่านมาเขาก็จัดการรีไซเคิลที่นอนได้ปีละเกือบหนึ่งล้านหลังโดยไม่มีปัญหา แถมบอกอีกว่าเดี๋ยวช่วงตรุษจีนก็จะมีฟูกถูกทิ้งเพิ่มอีกเพราะคนต้องซื้อของใหม่เข้าบ้าน         ผู้แทนกระทรวงฯ อธิบายว่าเครื่องรีไซเคิลของเขานั้น ถ้าจะให้คุ้มค่ากับพลังงานที่เสียไปต้องใส่ฟูกเข้าไปอย่างต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 หลัง มันก็เลยเกิด “ความกอง” อย่างที่เห็น         แต่คำถามคือใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย มูลค่าตลาดที่นอนมีมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ ด้วยยอดขายประมาณ 330,000 หลังต่อปี แต่ที่ผ่านมารัฐยังไม่มีกลไกที่จะทำให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อขยะที่นอนเลย         อีกปัญหาที่ต้องรับมือคือ “ฟาสต์เฟอร์นิเจอร์” ที่ราคาถูก ดีไซน์สวย แต่ใช้งานได้ไม่นาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

        การใส่คอนแทคเลนส์ยังคงเป็นที่นิยม บางคนใส่เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสายตา แต่บางรายก็เพื่อแฟชั่นความสวยงามเฉยๆ แต่รู้หรือไม่ แม้การใส่คอนแทคเลนส์จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรแต่ก็ควรจะต้องระมัดระวังกันไว้ เพราะเกี่ยวพันกับอวัยวะสำคัญอย่างดวงตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบาง หากดูแลไม่ดีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ ยิ่งเฉพาะสำหรับมือใหม่ที่หัดใส่คอนแทคเลนส์เป็นครั้งแรกด้วยนั้น ยิ่งต้องดูแลให้ปลอดภัย ฉลาดซื้อจึงมีวิธีที่ถูกต้องมาแนะนำ การเลือกซื้อคอนแทคเลนส์         คอนแทคเลนส์ที่จำหน่ายโดยทั่วไปส่วนมากจะมีระยะเวลาในการใส่ เช่น หลักๆ ก็จะมีเป็นแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี เป็นต้น ซึ่งสำหรับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ควรจะใส่ตามระยะเวลาที่เลือกซื้อ เช่น หากเลือกซื้อแบบรายวัน ก็ควรใช้แบบวันต่อวันและเปลี่ยนใหม่ในวันถัดไปทันที ไม่ควรเอาแบบรายวันมาใส่เป็นรายเดือนเด็ดขาด รวมถึงแบบอื่นๆ ด้วย ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย         ในหมู่วัยรุ่นมักจะนิยมใส่คอนแทคเลนส์โดยซื้อจากตามท้องตลาดทั่วไป โดยไม่ตรวจเช็กรายละเอียดอื่นๆ แนะนำว่า ควรต้องดูฉลากกันสักหน่อย เช่น ชื่อคอนแทคเลนส์ วัสดุที่ใช้ วันเดือนปีที่หมดอายุ ที่สำคัญเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสามารถนำเลขมาตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ - กระทรวงสาธารณสุข อย่าลืมติ๊กเครื่องมือแพทย์ก่อนตรวจสอบ  ข้อควรรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์        1. สำหรับผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์เนื่องจากปัญหาสายตาสั้นแนะนำให้สอบถามผู้เชี่ยวชาญและเข้าตรวจวัดค่าสายตาก่อนใส่         2. ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ทุกครั้งก่อนใส่         3. ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ควรนำออกมาแช่น้ำยาคอนแทคเลนส์ก่อนทุกครั้ง ไม่แนะนำให้แช่เป็นน้ำเกลือหรือน้ำเปล่า         4. ตรวจเช็กก่อนใส่ว่าเลนส์ไม่พลิกหรือกลับด้าน เพื่อป้องกันการใส่ผิดด้านแล้วเกิดการระคายเคือง        5. เมื่อใส่คอนแทคเลนส์แล้วไม่รู้สึกระคายเคืองตา แสดงว่าเข้าที่เรียบร้อยแล้ว หากมีอาการแสบตาระคายเคืองไม่หาย แนะนำควรถอดออกทันที         6. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นอนข้ามคืน (ต้องถอดออกก่อนเสมอ) เพราะเสี่ยงทำให้เกิดอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรืออื่นๆ ที่อันตรายต่อดวงตาได้        7. สำหรับคนที่ปัญหาตาแห้งบ่อยควรพกน้ำตาเทียมเพื่อหยอดระหว่างวัน แนะนำใช้แบบธรรมดาไม่เป็นแบบหยอดตาแล้วเย็นหรือใดๆ ทั้งสิ้น        8. ที่สำคัญคือไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับคนอื่นโดยเด็ดขาด  ดูแลรักษาอย่างไรหลังใช้งาน         สำหรับคนที่ใช้แบบรายสัปดาห์ รายเดือนหรือปี ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ในตลับทุกครั้งหลังใช้งาน และควรทำความสะอาดอีกด้วย โดยมีวิธีดังนี้         ล้างมือให้สะอาดและนำคอนแทคเลนส์ ไว้บนฝ่ามือเทน้ำยาลงที่เลนส์แล้วใช้นิ้วถูทำความสะอาดบริเวณเลนส์สักพัก และล้างด้วยน้ำยาอีกรอบ เมื่อเสร็จให้นำใส่ตลับแล้วแช่น้ำยาเหมือนเดิม รวมถึงทำความสะอาดตลับที่ใส่ทุกวัน ในส่วนของตลับใส่ก็ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 3 เดือน  ข้อควรระวัง        ·     พิจารณาบรรจุภัณฑ์หรือขวดบรรจุคอนแทคเลนส์ ต้องไม่มีรอยชำรุดหรือเสียหาย หากเจอในลักษณะนั้น ไม่ควรนำมาใช้งาน        ·     น้ำยาคอนแทคเลนส์ ควรดูฉลากให้ชัดเจน โดยเฉพาะวันเดือนปีที่หมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ ไม่ต้องเสียดายให้ทิ้งไปเลย นอกจากนี้อ่านฉลากหรือวิธีการใช้งานให้ละเอียดและควรทำตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตัวน้ำยาคอนแทคเลนส์ก็มีหลากหลายรูปแบบ บางอันสามารถหยอดตาได้หรือบางอันไม่ได้  และวิธีการใช้งานอาจแตกต่างกัน และอย่าลืม ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแทนน้ำยาเด็ดขาด         ·     หากมีอาการปวดเจ็บตาผิดปกติจากเดิม เช่น ตาแดง ตามัว ตามแห้ง รวมถึงอาการต่างๆ มากกว่านี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ข้อมูลจาก : วิธีการดูแล คอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้อง วิธีใส่คอนแทคเลนส์ที่ปลอดภัย ทำได้ง่ายใน 7 ขั้นตอนคอนแทคเลนส์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยคอนแทคเลนส์ : เภสัชกรหญิง กิตติมา วัฒนากมลกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลใส่คอนแทคเลนส์อย่างไร ให้ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม

        ย้อนไปกว่า 60 ปีแล้วที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม (fabric softener) กันในครัวเรือน เหตุผลหนึ่งคือเพื่อลดปัญหาผ้าแข็งหลังซักด้วยผงซักฟอก โดยมีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนที่ทำให้ผ้านุ่ม ได้แก่ กรดไขมันที่ได้จากสัตว์ เมื่อสัมผัสผิวผ้าจะทำให้เกิดความนุ่ม ไม่แข็ง และสารที่ให้กลิ่นหอมติดทนนาน ปัจจุบันน้ำยาปรับผ้านุ่มที่จำหน่ายในประเทศไทยโดยทั่วไปจะเป็นชนิดน้ำที่ใช้ใส่ผสมในน้ำล้างสุดท้ายที่ซักผ้า มีทั้งสูตรมาตรฐานและสูตรเข้มข้น จัดเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยอดนิยม         แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลส่งต่อกันถึงผลกระทบต่อสุขภาพหลังการใช้ แต่ทาง อย.ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าถึงน้ำยาปรับผ้านุ่มมีส่วนทำให้เกิดสารตกค้างในผ้า แต่มีปริมาณที่น้อยมาก การสวมใส่เสื้อผ้าบนผิวหนังจึงไม่มีสารที่ซึมเข้าสู่เลือดจนส่งผลต่อฮอร์โมนได้ ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ เกิดผื่น         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคบางคนยังมีคำถามคาใจว่า เราจำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจริงๆ หรือเป็นอิทธิพลของสื่อที่กระตุ้นให้ต้องซื้อใช้กันแน่ ?         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสิรมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม (สูตรมาตรฐาน) จำนวน 10 ตัวอย่าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อปรียบเทียบความคุ้มค่า และข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาว่าจะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อต่อไป ผลสำรวจฉลาก         ·     จากผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มีปริมาณสุทธิตั้งแต่ 450 – 650 มิลลิลิตร และมีราคาขายปลีกแบบถุงชนิดเติมตั้งแต่ถุงละ 10 – 59 บาท         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุด = 0.09 บาท คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ ถูกสุด = 0.02 บาท ได้แก่ ยี่ห้อโปร กลิ่นการ์เดน สวีท ยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ และยี่ห้อเฟรช แอนด์ ซอฟท์ กลิ่นเลิฟลี่ คิส        ·     เมื่อดูวันผลิต-วันหมดอายุของผลิตภัณฑ์             Ø มีอายุเก็บไว้ได้นานตั้งแต่ 1- 3 ปี นับจากวันผลิต            Ø มี 2 ตัวอย่างที่ระบุเฉพาะวันผลิต คือยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์         ·     เมื่อพิจารณาข้อความที่แสดงถึงความรับผิดชอบและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุเบอร์โทร.ติดต่อศูนย์บริการลูกค้า ได้แก่ ยี่ห้อไฟน์ไลน์ สูตรพิงค์ บลอสซั่ม และยี่ห้อสมาร์ท กลิ่นเลิฟลี่ พิงค์            Ø มี 2 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ ได้แก่ ยี่ห้อแมกซ่า กลิ่นฟลาวเวอรี่ ซอฟท์ และยี่ห้อแฮปปี้ ไพรซ์ กลิ่นคิส ออฟ ฟลาวเวอร์ ข้อสังเกต        ·     ทุกตัวอย่างผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย เป็นสูตรมาตรฐาน ที่ระบุคุณสมบัติไว้คล้ายๆ กัน คือ เมื่อใช้แล้วจะช่วยให้เสื้อผ้านุ่มฟู หอมนาน ถนอมสีผ้า ใส่สบายไม่ลีบติดตัว รีดเรียบง่าย และลดกลิ่นอับ         ·     ส่วนใหญ่มีคำเตือนหรือคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยว่า เก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทาน ระวังเข้าตา หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรสวมถุงมือยางขณะใช้         ·     มี 2 ตัวอย่างที่มีรูปแม่และเด็กอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยไม่มีข้อความระบุไว้ชัดเจน เช่น ซักเสื้อผ้าเด็กได้ไร้สารตกค้าง เป็นต้น จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับเสื้อผ้าเด็ก  ฉลาดซื้อแนะ        ·     ก่อนใช้ ควรอ่านคำเตือนต่างๆ วิธีใช้และปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละยี่ห้อที่แนะนำไว้บนฉลาก        ·     หากใช้ครั้งแรก ควรซื้อแบบซองเล็กๆ มาทดลองใช้ก่อนว่าเป็นกลิ่นหอมที่ชอบ ใช้แล้วตอบโจทย์ และไม่เกิดอาการแพ้ทั้งทางผิวหนังและทางเดินหายใจ แล้วจึงเลือกซื้อขนาดใหญ่เพื่อให้คุ้มราคากว่า        ·     ไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าบางชนิด เพราะอาจทำให้คุณสมบัติของผ้าลดลงหรือเกิดการระคายเคืองจากการสัมผัสสารตกค้างได้ง่าย เช่น ผ้าขนหนู ชุดกีฬา ชุดเด็กอ่อน และชุดชั้นใน เป็นต้น        ·     เสื้อผ้าที่แช่น้ำยาปรับผ้านุ่มแล้ว ไม่ควรนำไปตากแดดจัดนานๆ หรือเข้าเครื่องอบผ้า เพราะความร้อนจะทำให้กลิ่นหอมจางหายไปจนหมดได้ ผลคือใช้ก็เหมือนไม่ได้ใช้นั่นเอง          ·ห้ามทิ้งบรรจุภัณฑ์และน้ำล้างสุดท้ายที่ผสมน้ำยาปรับผ้านุ่มลงในแม่น้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มส่วนใหญ่ที่ขายในประเทศไทยไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมนำถุงชนิดเติมมารีไซเคิล เช่น เย็บกระเป๋า แผ่นรองนั่ง หรือส่งไปทำอิฐบล็อก แผ่นหลังคา ตามหน่วยงานที่รับบริจาคได้ที่มาhttps://www.consumerreports.org/appliances/laundry/why-fabric-softener-is-bad-for-your-laundry-a5931009251/https://www.choice.com.au/home-and-living/laundry-and-cleaning/laundry-detergents/buying-guides/fabric-softeners

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 กระแสต่างแดน

เงินไม่ถึง         ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อ “ที่ทับกระดาษ” จากร้านขายสินค้าที่ระลึกของธนาคารเมื่อหกปีก่อน หลังพบว่าสิ่งที่อยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลาก         ของที่ระลึกดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของแก้วบรรจุธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญฮ่องกงที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ในราคาชิ้นละ 100 เหรียญ (ประมาณ 450 บาท)         ฉลากและการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าที่ทับกระดาษคอลเล็คชันนี้ ทำขึ้นจากแบงก์พันเก่าจำนวน 138 ใบ รวมเป็นมูลค่า 138,000 เหรียญ         ล่าสุดธนาคารฯ ออกมายอมรับว่าได้ใส่กรวดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เท่ากับว่าในนั้นมีธนบัตรน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ข้อมูลที่ให้ไว้จึงไม่ตรงตามความจริง ธนาคารฯ จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ซื้อไปมาติดต่อขอรับเงินคืนได้         รายงานระบุว่าที่ทับกระดาษรุ่นดังกล่าวยังมีขายออนไลน์ในราคาระหว่าง 420 – 600 เหรียญ   เอาที่ไหนมาพูด        องค์กรผู้บริโภคสหภาพยุโรปร่วมกับ Consumentenbond องค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์  และองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ  ยื่นขอให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของบริษัทโคคาโคลา และบริษัทเนสท์เล่ เรื่องการรีไซเคิลขวดพลาสติก         เนื้อหาของข้อความที่เป็นปัญหาได้แก่ “100% ของขวดน้ำพลาสติกในยุโรปสามารถรีไซเคิลได้” และ “ขวดน้ำนี้ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%”         นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพประกอบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขวดน้ำพลาสติกไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย         การกล่าวอ้างแบบข้างต้นถือว่าผิดระเบียบสหภาพยุโรป เพราะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง         ปัจจุบันยุโรปมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ร้อยละ 55 เท่านั้น ในขณะที่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ร้อยละ 30 และขยะบริเวณชายหาดของยุโรปส่วนใหญ่คือขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง  ไม่หยุดบิน         สมาคมผู้ประกอบการสายการบินของสเปน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกเส้นทางบินระยะใกล้ที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง         โดยให้เหตุผลว่าจะยกเลิกก็ต่อเมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมเมืองหลัก รวมถึงมีรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินหลักอย่างเพียงพอ เช่น เส้นทางระหว่างเมืองมาดริดและบาราคัสควรจะมีรถไฟวันละ 8-10 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าเจ็ดปี         การสำรวจโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินในสเปน (ที่ส่วนใหญ่ตั้งต้นจากเมืองมาดริด) สามารถถูกยกเลิกได้ และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 10         รัฐบาลสเปนเริ่มแผนลดเที่ยวบินระยะสั้น (ไม่เกินสี่ชั่วโมง) โดยนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาแทนที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการรถไฟ และดูเหมือนรถไฟของ Iryo และ Ouigo จะมีผลประกอบการดีกว่ารถไฟของรัฐฯ อย่าง Renfe ด้วย  ลดกระดาษ         พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเดนมาร์กอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนขอปิดบังข้อมูล “ที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์” กับกรมทะเบียนกลางได้ โดยคำขอดังกล่าวจะมีอายุครั้งละหนึ่งปี           การกระทำดังกล่าวจะทำให้กรมฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ของประชาชนให้กับเอกชนรายใดได้ และกฎหมายเดียวกันก็ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่น รวมถึงไม่สามารถขอที่อยู่จากกรมฯ ได้ ยกเว้นกรณีติดตามทวงหนี้         ส่วนโบรชัวร์โฆษณาชนิดไม่ได้ระบุชื่อที่อยู่ผู้รับ เขาก็มีทางออกให้เช่นกัน ใครที่ไม่อยากได้กระดาษล้นตู้จดหมายก็สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการ “ขอบใจ แต่ขอไม่รับ” แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ประกาศิตมาติดตู้จดหมาย รับรองว่าใครเห็นก็ไม่กล้าแจก         แน่นอนว่าเรื่องนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะดีลลดราคาหรือโฆษณาต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว   รวมกันเราอุ่น         ปัจจุบันมีห้องเช่าจำนวนไม่น้อยในฝรั่งเศสที่ยังใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลาง หมายความว่าผู้ “สั่งเปิด” ฮีตเตอร์ ได้คือเจ้าของตึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารให้มีอุณหภูมิเหมาะกับการอยู่อาศัยนั่นเอง         หลักการคือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเกินหนึ่งวัน ให้ถือว่าเข้าข่าย “หนาวเกินไป” และควรเปิดเครื่องทำความร้อน แม้กฎหมายจะไม่ระบุช่วงเวลาเปิดฮีตเตอร์ แต่ที่ปฏิบัติกันมาคือระหว่าง 15 ตุลาคม ถึง 15 เมษายน ของทุกปี         ใครที่รู้สึกหนาวก่อนนั้นก็สามารถยื่นคำร้องไปขอความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เช่าได้ แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่หนาวด้วย หรือไม่อยากจ่ายค่าไฟเพิ่ม ก็ต้องทำใจ ใส่เสื้อหนาวเพิ่มหรือไปซื้อฮีตเตอร์มาใช้เอง         ฟังดูเป็นเรื่องทรมาน แต่วิธีนี้จะทำให้ทุกคนในตึกจ่ายค่าไฟน้อยลง เพราะการเปิดระบบให้ความร้อนตามเวลาที่ตกลงกันไว้กับบริษัทพลังงานจะได้อัตราค่าไฟที่ถูกกว่า และยังประหยัดพื้นที่วางฮีตเตอร์ ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงโดยไม่มีคนร่วมแชร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 สำรวจฉลากโภชนาการ “เครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช”

         หลายปีมานี้เทรนด์การบริโภคอาหารจากพืช (Plant-Based) ที่ตอบโจทย์ทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ได้ขยายความนิยมครอบคลุมในทุกเมนูอาหาร รวมทั้งนมจากพืชด้วย ดังจะเห็นได้จากมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืช ปี 2565 มี 17,960 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยส่วนใหญ่เป็นนมถั่วเหลือง รองลงมาได้แก่ นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และกะทิพร้อมดื่มตามลำดับเฉพาะผลิตภัณฑ์ “น้ำนมข้าว” นี้ได้รับการผลักดันจากกรมการค้าภายในมาตั้งแต่ปี 2562 ให้ผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้คนที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงคุณประโยชน์ของน้ำนมข้าวที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพ ให้ได้รับรู้กันในวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเครื่องดื่มน้ำนมข้าวส่วนใหญ่จึงผลิตในประเทศไทย มีราคาที่ผู้บริโภคซื้อดื่มอย่างต่อเนื่องได้ และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ได้คิดค้นเครื่องดื่มน้ำนมข้าวออกมาให้ผู้บริโภคเลือกหลากหลายสูตร โดยบางรายผสมธัญพืชต่างๆ เติมน้ำตาล สารปรุงแต่งอื่นๆ เพื่อให้รสชาติอร่อย ดื่มง่าย และอาจเพิ่มสารกันเสียเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นด้วย นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวและธัญพืช จำนวน 26 ตัวอย่าง แบ่งเป็น แบบผงชงดื่ม 8 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ และแบบบรรจุขวด/กล่องพร้อมดื่ม 18 ตัวอย่าง 5 ยี่ห้อ เมื่อเดือนกันยายน 2566 มาสำรวจฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียม รวมถึงเปรียบเทียบราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไปผลสำรวจ         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่ง 1 หน่วยบริโภค พบว่าพลังงาน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 100 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยสุด =  25  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 180 กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด =  50  กิโลแคลอรี คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล น้ำตาล        แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด = 3 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อไรซ์มายด์เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่ระบุปริมาณไว้ ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นไม่มีน้ำตาล        แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 14 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ส่วนมีน้อยสุด = 1 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู สูตรไม่เติมน้ำตาล ส่วนที่ไม่มีน้ำตาล คือยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โปรตีน         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  6 กรัม คือ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว ไม่มีโปรตีนแบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 6 กรัม คือ ยี่ห้อเนเจอร์ริช น้ำข้าวกล้องงอกผสมถั่ว 5 สี  ส่วนมีน้อยที่สุด = < 1 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก รสวานิลลา และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  15 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อฮักปัน ผงข้าวกล้องสกัดโฮลอินวัน ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง และยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว ส่วนมีน้อยสุด = 3 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าว แบบพร้อมดื่ม: มีมากสุด = 32 กรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอกผสมงาดำจากข้าวกล้องงอกและงาดำเกษตรอินทรีย์ ส่วนมีน้อยสุด = 4 กรัม คือ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล โซเดียม         แบบผงชงดื่ม : มีมากสุด  =  90 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแคร์คุณ ข้าว 5 ชนิด ผสมควินัว มีน้อยสุด = 10 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อวีแกนโปร เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก ชนิดผง และเครื่องดื่มน้ำนมข้าวหอมมะลิเมล็ดอ่อน ชนิดผง ส่วนอีก 4 ตัวอย่างนั้นไม่มีโซเดียมแบบพร้อมดื่ม : มีมากสุด = 230 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ส่วนมีน้อยสุด = 5 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ด รสงาดำ เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ต รสจืด และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำจมูกข้าวกล้องหอมมะลิผสมน้ำจมูกข้าวสาลีและน้ำข้าวโอ๊ตการเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ        แบบผงชงดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 1.83 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.44 บาท/ 1 กรัม คือ ยี่ห้อวีแกนโปร ครีมเทียมข้าวแบบพร้อมดื่ม : ราคาแพงสุดประมาณ 0.15 บาท/ 1 มิลลิลิตร คือ ยี่ห้อฮูเร่ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ผสมน้ำนมข้าว ส่วนราคาถูกสุดประมาณ 0.06 บาท/ 1 มิลลิลิตร ได้แก่ ยี่ห้อดีน่า นมถั่วเหลือง สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น และน้ำนมถั่วเหลือง สูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องงอก 7 ชนิด เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวยาคู และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก ข้อสังเกต         - ยี่ห้อไรซ์มายด์ เครื่องดื่มธัญพืชชนิดผงผสมจมูกข้าวหอมมะลิ ไม่แสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก         - ปริมาณน้ำตาลที่พบสูงสุดคือ 14 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 24 กรัมต่อวัน         - ในส่วนประกอบของทั้งหมด 26 ตัวอย่าง พบว่า มี 16 ตัวอย่าง เติมน้ำตาล  มี 6 ตัวอย่าง เติมแคลเซียม             มี 17 ตัวอย่าง ไม่ใช้วัตถุกันเสีย และมี 10 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าแต่งกลิ่น           - มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ในแบบผงชงดื่ม 4 ตัวอย่าง และแบบพร้อมดื่ม 12 ตัวอย่าง         - สำหรับแบบพร้อมดื่ม หากนำเกณฑ์สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” สำหรับเครื่องดื่มธัญพืชและนมถั่วเหลืองมาพิจารณา ที่ระบุว่าหากปริมาณไม่เกิน 300 มิลลิลิตร ต้องมีน้ำตาลทั้งหมดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6 กรัม/ 100 มิลลิลิตร จะพบว่าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์นี้ ส่วนปริมาณโซเดียมต้องมีน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัม/ 100 มิลลิลิตร พบว่ามี 7 ตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์นี้ โดยในจำนวนนี้มี 3 ตัวอย่างที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก สูตรน้ำตาลน้อยกว่า (92 มก./100 มิลลิลิตร) และเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวกล้องงอก (84 มก./100 มิลลิลิตร) และยี่ห้อดีน่า น้ำนมถั่วเหลืองสูตรผสมน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ น้ำตาลน้อย (41.67 มก./ 100 มิลลิลิตร)         - ทุกตัวอย่าง มีผู้ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย คำแนะนำ          -หากดื่มต่อเนื่องเป็นประจำ ควรเลือกเครื่องดื่มน้ำนมข้าวที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ มีการปรุงเสริมเติมแต่งน้อยที่สุด ไม่มีวัตถุกันเสีย และควรเลือกสูตรน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาล         -น้ำนมข้าวให้โปรตีนต่ำและมีคาร์โบไฮเดรตสูง จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานเพราะคาร์โบไฮเดรตจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้         - น้ำนมข้าวแบบผงชงดื่มมักจะเป็นส่วนจมูกข้าว ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด จึงเหมาะเลือกเป็นอาหารเสริมหรือนมสำหรับบำรุงร่างกาย ที่เพิ่มหรือลดความเข้มข้นได้ตามต้องการ ปรุงแต่งรสชาติได้ตามชอบ แต่ต้องชงแบบร้อนเท่านั้นเพื่อให้ผงน้ำนมข้าวละลายได้ดี และมักมีราคาค่อนข้างสูง         - แบบขวด/กล่องพร้อมดื่มมีให้เลือกหลายสูตรหลากรสกว่าแบบผง พกพาง่าย มีปริมาณและรสชาติแน่นอน ดื่มแบบเย็นจะเพิ่มความอร่อยขึ้น          - ก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง แนะนำให้ตรวจสอบส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ด้วย เพราะรสชาติของน้ำนมข้าวเพียวๆ ออกจะจืดๆ ผู้ผลิตบางรายจึงปรุงแต่งรสชาติหรือผสมรวมกับน้ำนมถั่วหรือธัญพืชอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น         - น้ำนมข้าวที่ทำจากข้าวกล้องและข้าวกล้องงอกจะมีสารอาหารสูง แต่คนที่เป็นโรคเก๊าต์ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้ปวดไขข้อมากขึ้นได้         -หากดื่มน้ำนมข้าวหรือนมจากพืชอื่นๆ แล้วมีอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก และรู้สึกแน่นบริเวณลำคอและหน้าอก อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ หรือบางคนอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที         - หากต้องการหลีกเลี่ยงสารปรุงแต่งต่างๆ จากเครื่องดื่มน้ำนมข้าวแบบสำเร็จรูป ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้บริโภคสามารถลองทำน้ำนมข้าวดื่มเองได้ โดยค้นหาวิธีทำได้จากช่องยูทูป ทำไม่ยากเลย   ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.com/https://bestreview.asia/best-rice-milk/ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (https://fic.nfi.or.th/market-intelligence-detail.php?smid=377)https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG190704200320434

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 แอปพลิเคชัน FoodiEat กินดีมีสุข

เคยได้ยินคำว่า ดัชนีมวลกาย กันไหม         ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือ มาตรการที่ใช้ประเมินภาวะอ้วนและผอมในผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถทำได้โดยการชั่งน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม และวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร แล้วนำมาหาดัชมีมวลกาย โดยเกณฑ์มาตรฐานอยู่ระหว่าง 23 - 24.90 kg/m2 ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23.0 ขึ้นไป ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ตามมาได้         การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ดังนั้นเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของตนเอง โดยเลือกกินอาหารให้หลากกลาย แต่มีประโยชน์ และควรกำหนดปริมาณการกินที่เหมาะสมต่อความต้องการพลังงาน ทั้งนี้ก็ไม่ควรลด งด หรือ อดอาหารมากจนเกินไป โดยเฉพาะการรับประทานอาหารเช้าซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อสะสมไว้ใช้ทำกิจกรรมทั้งวัน ส่วนอาหารเย็นควรรับประทานไม่หนักมาก เนื่องจากจะมีโอกาสเผาผลาญพลังงานได้น้อย ทำให้พลังงานเหล่านั้นถูกสะสมในร่างกายกลายเป็นไขมันได้         ลองมาควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารผ่านแอปพลิเคชัน FoodiEat กันดีกว่า แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนามาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกและวิเคราะห์พฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกาย         การใช้งานไม่ยาก เพียงดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว เพื่อลงทะเบียน ระบบจะเริ่มต้นโดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) หรือเรียกว่าค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวันโดยไม่รวมการทำกิจกรรมต่างๆ ต่อจากนั้นกรอกข้อมูลประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อและข้อมูลการออกกำลังกายของทุกวัน แอปพลิเคชันจะคำนวณพลังงานของอาหารหักลบอัตราความต้องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถควบคุมและวางแผนการการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้         นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะรวบรวมประวัติในรูปแบบสถิติ เพื่อให้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบย้อนหลังได้ และยังมีข้อมูลความรู้ คำแนะนำ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเปลี่ยนตัวเองให้กลับมามีรูปร่างสมส่วน ห่างไกลโรคร้าย ต้องเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการใช้แอปพลิเคชัน FoodiEat เพื่อดูแลสุขภาพกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 น้ำตาลเทียมขม

        วันที่ 29 มิถุนายน 2566 สำนักข่าวทั่วโลกให้ข่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายคือ แอสปาร์แตม (aspartame) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายถูกจัดระดับการก่ออันตรายต่อสุขภาพนั้นในกลุ่ม 2B possibly carcinogenic to humans (น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) ตามข้อเสนอของ International Agency for Research on Cancer (IARC) ข้อมูลนี้ปรากฏในเอกสารชื่อ Agents Classified by the IARC Monographs, Volumes 1–134 ซึ่งผู้อ่านสามารถดาว์นโหลดเอกสารที่เป็นบทความ pdf มาอ่านได้จาก https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications อย่างไรก็ดีทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำต่อว่า ให้ทำการศึกษาที่ "มากขึ้นและดีขึ้น" พร้อมด้วย "การติดตามผลที่ยาวนานขึ้น" เพื่อประเมินหาหลักฐานการก่อมะเร็งที่น่าเชื่อถือมากขึ้น         องค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินปัจจัยการดำรงชีวิตและให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขแก่ประเทศสมาชิก แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์บังคับ ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ของแต่ละประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ดีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอาจมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของสาธารณชนและนโยบายของผู้บริหารประเทศซึ่งอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละประเทศต้องติดตามสิ่งที่อาจเกิดขึ้น  สารเคมีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้น IARC จัดแบ่งอย่างไร         IARC จำแนกสารเคมีที่มนุษย์สัมผัส (หมายรวมถึงลักษณะอาชีพการทำงานที่ต้องสัมผัสสารบางชนิดด้วย) ซึ่งองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบเสนอให้สารนั้นถูกพิจารณาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดลำดับซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ        ·     Group 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to humans มีการศึกษาทางระบาดวิทยาในมนุษย์ และหลักฐานที่เพียงพอในสัตว์ทดลองและชัดเจนว่า มนุษย์ได้สัมผัสสารนี้) มี 126 ชนิด เช่น บุหรี่, เครื่องดื่มอัลกอฮอล์, สารพิษจากเชื้อรา aflatoxin, แบคทีเรีย Helicobacter pylori, ควันจากถ่านหิน, ไวรัส Epstein-Barr, รังสีจากแสงแดด, ฝุ่นหนัง (Leather dust) เป็นต้น        ·     Group 2A อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานเพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 95 ชนิด เช่น Androgenic (anabolic) steroids ซึ่งคนที่ชอบสร้างกล้ามเนื้อมักใช้, ชีวมวล หรือ Biomass fuel (หลักๆคือ เศษไม้), สารประกอบตะกั่ว, เกลือ nitrate และ/หรือ เกลือ nitrite ที่กินเข้าไปแล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาไนโตรเซชั่นในกระเพาะอาหาร, hydrazine เป็นต้น        ·     Group 2B น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (possibly carcinogenic to humans มีหลักฐานจำกัดเกี่ยวกับการก่อมะเร็งในมนุษย์และมีหลักฐานไม่เพียงพอในสัตว์ทดลอง) มี 325 ชนิด เช่น ผักดอง, สารสกัดจากใบว่านหางจระเข้, Ochratoxin A, 1,6-Dinitropyrene เป็นต้น        ·     Group 3 ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ (not classifiable หลักฐานไม่เพียงพอในมนุษย์และไม่เพียงพอหรือจำกัดในสัตว์ทดลอง) มี 500 ชนิด เช่น ยาคลายเครียด Diazepam, สีแดง Ponceau SX, ยารีเซอร์พีน (reserpine เป็นสารอัลคาลอยด์ ได้มาจากเปลือกรากแห้งของต้นระย่อมน้อย ถูกใช้เป็นยากล่อมประสาท, ลดความดันโลหิต, แก้ภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติ)        ·     Group 4 ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably not carcinogenic to humans มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์และในสัตว์ทดลอง) ซึ่งปัจจุบันไม่มีสารเคมีใดเหลืออยู่ในกลุ่มนี้  สถานภาพของแอสปาร์แตมก่อนเป็นข่าวนั้นเป็นอย่างไร         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศที่เป็นสมาชิกของ Codex ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติถือว่า แอสปาร์แตมอยู่ในชั้นความปลอดภัยสำหรับการบริโภคตั้งแต่ปี 1981 จึงมีการใช้ในผลิตภัณฑ์ยอดนิยมมากมาย เช่น น้ำอัดลมไร้พลังงาน อาหารเช้าทำจากธัญพืช หมากฝรั่ง ยาสีฟัน น้ำตาลเทียมบรรจุซองสำหรับชากาแฟและอื่น ๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริมาณในการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นควรเป็นอย่างจำกัดเท่าที่จำเป็น โดยมีการยกตัวอย่างจำนวนหน่วยบริโภคของเครื่องดื่มบรรจุกระป๋องว่า ควรเป็นเท่าใดตามน้ำหนักตัว เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมากเกินไป          การเป็นสารก่อมะเร็ง Group 2B มีความหมายอย่างไรต่อผู้ผลิตอาหาร         การอภิปรายถึงโอกาสก่ออันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เกิดขึ้นในสังคมผู้บริโภคนั้น อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารต่างๆ สั่นคลอนได้ ดังนั้นจึงดูว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่ละชนิดไม่ใช่แค่เพียงแอสปาร์แตม         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทน้ำอัดลมใหญ่บริษัทหนึ่งได้เคยถอดแอสปาแตมออกจากส่วนผสมของเครื่องดื่มไดเอ็ทของบริษัทในปี พ.ศ. 2558 แต่นำกลับมาใช้อีกครั้งในอีกหนึ่งปีผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2563 จึงเลิกใช้อีกครั้ง ดังนั้นการที่แอสปาร์แตมถูกปรับระดับเป็น สารที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ นั้น อาจเป็นการเปิดประตูสำหรับการดำเนินคดีโดยผู้บริโภคในลักษณะเดียวกับกรณีของสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่ถูกฟ้องเป็นคดีในสหรัฐอเมริกาว่าก่อมะเร็งแก่ผู้ใช้ในระยะยาว  ตัวอย่างงานวิจัยที่คงเป็นข้อมูลที่ทำให้ IARC ตัดสินใจ         บทความเรื่อง Artificial sweeteners and cancer risk: Results from the NutriNet-Sante´ population-based cohort study (สารให้ความหวานเทียมและความเสี่ยงต่อมะเร็ง: ผลลัพธ์จากการศึกษาตามกลุ่มประชากรของ NutriNet-Sante') ในวารสาร PLOS Medicine ของปี 2022 ให้ข้อมูลจากการศึกษาซึ่งเป็นการติดตามหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศส 102,865 คน นานเฉลี่ย 7.8 ปี โดยบันทึกการบริโภคอาหารและชนิดสารให้ความหวานแทนน้ำตาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานแทนน้ำตาลและอุบัติการณ์ของมะเร็งตามแบบจำลองซึ่งปรับตามอายุ เพศ การศึกษา การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย ส่วนสูง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการติดตาม เบาหวาน ประวัติครอบครัวในการเป็นมะเร็ง รวมแล้วจำนวน 24 รายการ โดยบันทึกรายละเอียดการบริโภคอาหารรายชั่วโมง และปริมาณพลังงานรวมที่บริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกลือโซเดียม กรดไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร น้ำตาล ผักและผลไม้ อาหารธัญพืชไม่ขัดสี และผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยเฉพาะแอสปาร์แตมและอะซีซัลเฟม-เค มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยในรายละเอียดนั้นการบริโภคแอสปาร์แตมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งทรวงอกและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญและใหม่สำหรับกระบวนการประเมินความเสี่ยงซ้ำในการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดย European Food Safety Authority และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ทั่วโลก  ผู้บริโภคควรทำเช่นไรในสถานการณ์ที่มีข่าวดังกล่าวข้างต้น         ก่อนอื่นผู้บริโภคต้องถามตนเองก่อนว่า จำเป็นต้องกินแอสปาร์แตมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ จำเป็น ก็ต้องถามต่อไปว่า ทำไม พร้อมกับคำถามต่อทันทีว่า มีทางเลือกชนิดของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นชนิดอื่นอีกหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญคือ การที่ใครสักคนควรกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดใดเป็นประจำนั้นควรตั้งอยู่บนเหตุผลที่ว่า แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบว่า การกินน้ำตาลธรรมชาติก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน และอาจรวมถึงผู้มีความดันโลหิตสูง  ถ้าเชื่อว่ากันไว้ดีกว่าแก้หรืออ้วนไม่ได้เพราะอาชีพกำหนด ผู้บริโภคควรทำอย่างไร         คำแนะนำในการควบคุมน้ำหนักคือ กินแต่พออิ่ม (หยุดก่อนอิ่มจริงสักนิด) กินผักและผลไม้ที่มีความหวานต่ำในปริมาณที่มากพอทำให้อิ่ม ประมาณว่าในมื้อหนึ่งมีอาหารเนื้อสัตว์ แป้งและไขมันเป็นครึ่งจานและมีผักผลไม้ในอีกส่วนครึ่งของจาน พร้อมทั้งการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทำได้ดังนี้การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลน่าจะไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ควรเข้าใจว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลนั้นเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารหรือขนมที่มีความหวานเพื่อการตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่ยากจะควบคุม เช่น เป็นการลดความทรมานในผู้กินอาหารคีโต เป็นต้น ยังคงบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้ต่อไปหรือไม่         ตราบใดที่องค์กรที่ดูแลสุขภาพทั้งระดับประเทศและระดับโลกยังเชื่อในข้อมูลของ Codex ที่บอกว่า แอสปาร์แตมยังปลอดภัยในระดับที่แนะนำให้บริโภคได้นั้น การยอมรับในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำใจ ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปกินผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดอื่นที่ดูมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพน้อยกว่า เช่น สารในกลุ่มน้ำตาลอัลกอฮอล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มหลายชนิดใช้สารซูคราโลส (sucralose) เพื่อลดปริมาณน้ำตาลทรายต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นการลดผลกระทบจากภาษีความหวานที่เพิ่มตามกฏหมายใหม่ซึ่งดูสอดคล้องกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่แนะนำให้ลดละเลิกอาหารหวานมันเค็ม ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ถามหามาตรฐานเครื่องทำน้ำแข็งทางออนไลน์ใช้ปีเดียวสนิมเขรอะ

        การซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ตั้งแต่ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มและร้านค้า รายละเอียดและใบรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้น แต่บางครั้งแม้เราจะเลือกจนแน่ใจว่าดีแล้ว ก็อาจไม่วายต้องผิดหวังหลังนำไปใช้เพราะการโฆษณาเกินจริงของร้านค้าต้นทาง เหมือนอย่างที่คุณวิชัยที่ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งมาใช้ได้แค่ปีเดียวก็ไม่กล้าใช้ต่ออีกเลย         ย้อนไปช่วงอากาศร้อนๆ ในปี 2565 คุณวิชัยซื้อเครื่องทำน้ำแข็งยี่ห้อ Smarttek จากร้านทางการของแบรนด์นี้ ผ่านทางแพลตฟอร์มช็อปปี้ แต่พอหมดอายุรับประกันครบ 1 ปีปั๊บบริเวณแท่งทำน้ำแข็งก็มีสนิมโผล่ขึ้นมาปุ๊บ เขาจึงถามไปยังร้านค้าที่ซื้อมาและได้คำตอบว่า แท่งทำน้ำแข็งผลิตจากทองแดงเคลือบนิกเกิล และที่เห็นน่าจะเป็นนิกเกิลหลุดไม่ใช่สนิมซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมอเตอร์ด้านใน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้         คุณวิชัยคำนวณคร่าวๆ ถึงค่าใช้จ่าย ทั้งค่าขนส่งไป-กลับ และค่าเปลี่ยนมอเตอร์กับแท่งทำน้ำแข็ง แล้วมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาท  “ผมคิดว่าไม่คุ้ม เพราะเดี๋ยวใช้ๆ ไปก็คงเป็นสนิมอีก และมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” จึงไม่เปลี่ยนอะไหล่และเลิกใช้เครื่องทำน้ำแข็งนี้ไปเลย         แต่คุณวิชัยก็ยังติดใจอยู่คือ ทำไมเครื่องทำน้ำแข็งนี้มีอายุการใช้งานที่สั้นจัง ทั้งๆ ที่สินค้ายี่ห้อนี้มีการโฆษณาว่าได้รับมาตรฐานส่งออกต่างประเทศและมีใบรับรอง จึงพยายามลองหาข้อมูลเพิ่ม ก็ถึงบางอ้อเมื่อเข้าไปสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่าจริงๆ แล้ว สินค้านี้ไม่มี มอก. และร้านค้าก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าเมื่อมีลูกค้าแชตถามด้วย เขาสงสัยว่านี่จะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ จึงร้องเรียนมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเบื้องต้น ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้แนะนำว่าหากคุณวิชัยมีความประสงค์ที่จะตรวจสอบมาตรฐานของเครื่องทำน้ำแข็งที่สนิมขึ้นยี่ห้อนี้ ก็สามารถส่งไปได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.)  หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากคลีนซิ่ง รีมูฟเวอร์

        คลีนซิ่ง (Cleansing) หรือ รีมูฟเวอร์ (Remover) เป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าหน้าได้ล้ำลึก ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นช่วยขจัดคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ความมันส่วนเกิน รวมถึงละอองฝุ่นควันจากมลภาวะต่างๆ ให้หลุดออกไปอย่างหมดจด ช่วยลดการอุดตันจากไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวและปัญหาผิวต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เผยผิวหน้าสุขภาพดีอย่างมั่นใจ         ปัจจุบันมีผู้ผลิตพัฒนาคลีนซิ่งออกมาหลายสูตรมาก ผู้บริโภคควรเลือกให้ตอบโจทย์กับสภาพผิว ความจำเป็น และความคาดหวังผลหลังใช้ รวมทั้งเลี่ยงสารที่อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกคลีนซิ่ง/รีมูฟเวอร์ จำนวน 23 ตัวอย่าง 22 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มาสำรวจฉลากว่ามีสารอันตรายต้องห้ามในเครื่องสำอางหรือไม่ มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจ         • มี 16 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้งพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม คิดเป็น 69.56% ของตัวอย่างทั้งหมด         • พบพาราเบน (Methylparaben : เมทิลพาราเบน) ในยี่ห้อบิโอเร         • พบแอลกอฮอล์ ใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า และโอเรียนทอล พริ้นเซส         • พบน้ำหอม ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีฟโรเซ, สมูท อี และคลีนแอนด์ เคลียร์         • เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณคลีนซิ่ง 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อไบโอเดอร์มา = 3.56 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อเคที่ดอลล์ = 0.39 บาท ข้อสังเกต         • เมื่อเช็กเลขที่จดแจ้ง (11-1-6400007766) บนฉลากยี่ห้อคิวท์เพรสเพียว ออริจิน ไมเซลลาร์ เคล็นซิ่ง วอเทอร์ พบว่าสถานะใบรับจดแจ้งเป็น “ยกเลิก” โดยมีข้อมูลว่าใบอนุญาตหมดอายุเมื่อ 20/6/66 (เช็กได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx)         • มี 12 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองผิว โดยในจำนวนนี้มี 5 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบโดยผู้เชี่ยวด้านจักษุร่วมด้วย ได้แก่ ยี่ห้อบิโอเร, การ์นิเย่, นูโทรจีนา, นีเวีย และสมูท อี         • มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคือง แต่พบสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า(มีแอลกอฮอล์), บิโอเร(มีเมทิลพาราเบน), สมูท อี และคลีน แอนด์ เคลียร์ (มีน้ำหอม)         • มี 3 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันหมดอายุ ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, บิโอเร และลอรีอัล ปารีส ไมเซลล่า วอเตอร์             • มีระบุวันผลิต-หมดอายุไว้นานสุดคือ 4 ปี(ยี่ห้อบิเฟสต้า) รองลงมาคือ 3 ปี (16 ตัวอย่าง) และน้อยสุดคือ 2 ปี (3 ตัวอย่าง)         • ยี่ห้อแพลนท์เนอรี่และเซนกะมีกรดซาลิไซลิกในส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ฉลาดซื้อแนะ         • คลีนซิ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้บริโภคควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม         • หากเพิ่งเริ่มใช้คลีนซิ่ง หรืออยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ควรซื้อขวดเล็กมาทดลองใช้ก่อน ถ้าใช้ได้ผลดีถูกใจแล้วค่อยซื้อแบบขวดใหญ่มาใช้จะคุ้มค่ากว่า         • ตัวอย่างที่นำมาสำรวจฉลากครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น คลีนซิ่งสูตรน้ำ (คลีนซิ่งวอเตอร์ หรือ ไมเซล่าวอเตอร์) ที่ต้องใช้คู่กับสำลีเช็ดหน้า เหมาะกับคนที่มีผิวมัน ผิวผสม โดยเฉพาะผิวเป็นสิวง่าย แต่มักขจัดคราบที่เป็นน้ำมันได้ไม่มาก คลีนซิ่งบางยี่ห้ออาจต้องใช้ปริมาณเยอะและเช็ดหน้าซ้ำๆ นานๆ ทำให้มีโอกาสที่ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย และควรเลือกใช้สำลีเช็ดหน้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้         • ควรทำตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ไม่ใช้บริเวณผิวที่เป็นแผล ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนเช็ด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น         • แม้หลายยี่ห้อจะระบุว่าเช็ดคลีนซิ่งแล้วไม่ต้องล้างออก แต่ก็อยากแนะนำให้ล้างออกโดยไวถ้าทำได้ เพราะสารต่างๆ ในคลีนซิ่งจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้านานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองผิวนั่นเอง         • การเลือกคลีนซิ่งที่ผ่านการทดสอบการระคายเคืองอาจการันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องดูส่วนประกอบด้วย เพราะอาการแพ้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล เพื่อความมั่นใจให้ทดสอบโดยทาคลีนซิ่งไว้บริเวณหลังหู ข้อพับแขน หรือท้องแขน ถ้าหลังจาก 48 ชั่วโมงแล้ว ผิวไม่บวมแดง แสบหรือคัน ก็ใช้ได้ ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1027713 https://www.pobpad.com/salicylic-acid

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ท่อน้ำในหมู่บ้านจัดสรรแตก หลังเข้าอยู่เพียง 2 ปี

        หลายปัญหาในหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น ภายหลังลูกบ้านเข้าไปอยู่อาศัย เช่น เรื่องราวของคุณดิว ที่ซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรที่ประกาศว่ารับประกันโครงสร้างถึง 5 ปี แต่เมื่อเข้าอยู่เพียง 2 ปี ปัญหาก็เริ่มเกิด เมื่อในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เกิดเหตุเกิดท่อน้ำที่โครงการฯ ได้ออกแบบไว้ใต้บ้านแตกแบบที่คุณดิวไม่อาจรู้ตัวได้เลย เพราะน้ำในบ้านยังใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีน้ำไหลเอ่อ รบกวนเพื่อนบ้านเลยสักนิด            คุณดิวมารู้ตัวต่อเมื่อสิ้นเดือนถูกเรียกเก็บค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาท คุณดิวจึงรู้ได้ว่าต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ  จึงไปติดต่อที่สำนักงานการประปาเพื่อให้ตรวจสอบและพบว่ามิเตอร์น้ำไม่ได้เสียแต่เป็นปัญหาที่ท่อน้ำใต้บ้าน   คุณดิวจึงไปกลับมาติดต่อที่นิติบุคคลของหมู่บ้านแต่แล้วนิติบุคคลกลับไม่รับเรื่องรับผิดชอบเรื่องใดๆ คุณดิวจึงเข้าไปเขียนคำร้องที่สำนักงานใหญ่ของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพื่อให้รับผิดชอบทั้งค่าเดินลอยทอน้ำใหม่ และค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บ         การติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ คุณดิวคาดว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่กลับได้รับแต่ความเงียบเฉย คุณดิวร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิฯ จึงออกจดหมายไปถึงบริษัทที่สำนักงานใหญ่ หลังจากนั้นคุณดิวจึงเริ่มได้รับการติดต่อจาก สำนักงานใหญ่ว่าจะรับผิดชอบค่าน้ำที่ถูกเรียกเก็บจำนวน 50 % ซึ่งคุณดิวไม่รับข้อเสนอเพราะยังน้อยกว่าค่าน้ำที่เขาจ่ายจากเหตุที่เสียหายอยู่มาก อีกทั้งตลอดหลายเดือนที่ติดตามทวงถามความรับผิดชอบ เขาได้หยุดงานเพื่อดำเนินเรื่องต่างๆ ยาวนานเป็นความเสียหายหรือภาระเพิ่มเติมอีกด้วย    แนวทางการแก้ไขปัญหา                 ·     คุณดิวฝากบอกว่า หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วและพยายามร้องขอความรับผิดชอบและถูกปฏิเสธหมดทุกช่องทางก็อย่าหมดความหวัง ให้พยายามหาข้อมูลต่อไปว่ามีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้บ้าง  กรณีการร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คุณดิวได้ร้องเรียนผ่านมาทางเฟสบุ๊คเพจ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ตอบกลับรวดเร็ว คุณดิวจึงกลับมามีความหวัง                ·     เมื่อเกิดปัญหาแล้ว รวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ให้มากที่สุด อย่างรัดกุม กรณีของคุณดิวได้เก็บบิลค่าน้ำในเดือนก่อนๆ เอกสารที่ได้เข้าไปเขียนคำร้องต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน รูปถ่ายจุดท่อน้ำแตกไว้อย่างครบถ้วน          ในช่วงต้นเดือนเมษายน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างคุณดิวและบริษัทเจ้าของโครงการฯ และมีข้อสรุปให้ บริษัทฯ รับผิดชอบค่าเดินลอยท่อน้ำใหม่ และค่าน้ำ จำนวน 70% บริษัทจ่ายเงิน 13,000 บาท คืนให้คุณดิวเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 “ดูดไขมัน” บทเรียนที่ต้องการส่งต่อ

        ข่าวประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากคลินิกเสริมความงามยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางรายทำให้เสียรูปโฉมไปตลอด ไม่สามารถแก้ไข กลับคืนดังเดิมได้ กรณีของคุณพงษ์พัฒน์  ลอมคุณารักษ์ ที่ได้เข้าไปรับการฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก ในช่วงปี 2564 นอกจากไขมันจะไม่สลายหายไปแม้แต่น้อยแล้ว เขายังต้องรักษาตัว เจาะท้อง ล้างแผลอยู่กว่าหนึ่งเดือน อันตรายที่รุนแรงที่สุดระหว่างรักษาตัวคือเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ !ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร           ช่วงปี 64 ผมเริ่มอ้วน น้ำหนักขึ้นมาเยอะมากถึง 97 แล้ว ตอนนั้นไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ผมเลยหาวิธีดู ศึกษาแล้วทางคลินิกเขาก็โฆษณามาว่า เห็นผลจริง ไม่มีอันตราย ผมถามหมดว่ามีผลเสีย มีผลกระทบอะไร คลินิกก็แจ้งว่าไม่มี เขาพูดให้เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาทำมันทำได้ ผมเลยเข้าไปรับบริการ ฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิก คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก           พอฉีดแล้วมีรอยเข็มเต็มหน้าท้องเลย แล้วมีรอยช้ำใหญ่ วันนั้นทางแพทย์ กับเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ตอนแรก เขาบอกว่าจะไม่มีรอยช้ำ ไม่มีอะไรเลย พอเป็นแล้ว เขาก็บอกว่าประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะหาย แต่ผ่านไปรอยเข็มหาย แต่รอยช้ำก็ยังไม่หาย ทางคลินิกก็โทรชวนให้ผมไปฉีดเพิ่ม ผมก็บอกว่าให้หายก่อน ตอนที่ผมไปฉีดผมไม่ได้คาดหวังว่า ฉีดไปแล้วจะเห็นผล 100 %  คือผมหวังแค่ว่า ฉีดแล้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะกลับมาแย่ขนาดนี้ แล้วหลังจาก 2-3 สัปดาห์แล้ว อาการเป็นอย่างไร          ตอนแรกผม ไม่รู้ว่าเป็นอะไรมันเป็นรอยช้ำอย่างที่บอก ผมรอให้หายแต่ไม่หาย  ผมถ่ายรูปส่งให้คลินิก แล้วเข้าไปที่คลินิกเล่าว่าอาการเป็นแบบนี้  ช้ำแล้วเจ็บไม่หาย คลินิกก็นัดให้เข้าไปตรวจ แพทย์คนที่ฉีดให้ผมตรวจแล้วไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร หรือสาเหตุเกิดจากอะไร เขาขอออกไปโทรปรึกษาอาจารย์ใหญ่ข้างนอก พอกลับเข้ามาแล้วก็ขอเจาะ ดูด เขาโปะยาชา แล้วเขาก็ขอกรีดเลยตอนนั้นเร็วมาก เขากรีดเป็นรอย เพื่อระบายหนองออกมา หลังจากนั้นแพทย์บอกว่าต้องล้างแผลที่คลินิกทุกวันเพราะเป็นหนอง ผมบอกว่าไม่สะดวก ที่จะต้องมาล้างแผลทุกวันที่คลินิก คุณหมอเลยเสนอให้ผมไปล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและให้คำมั่นว่า  ค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะค่าทำแผล ค่าน้ำมันรถไปทำแผล ค่ารักษาตั้งแต่เริ่มจนหาย ค่าตรวจร่างกายต่างๆ หากกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงใดๆ หมอและคลินิกจะออกให้ทั้งหมด และจะโทรติดตามอาการคนไข้ทุกวัน  ผมเลยไปล้างแผลที่สถานพยาบาลที่ผมสะดวก ผมถามหมอที่คลินิกว่าผมเป็นอะไร เขาก็บอกว่า ผมเป็นหนอง    แล้วที่คลินิก บอกว่าจะรับผิดชอบ เขาได้รับผิดชอบอะไรบ้าง            วันรุ่งขึ้นผมก็ไปล้างแผลปกติ เขาก็โทรมาสอบถามอาการ ผมก็ส่งเอกสารค่าบิล ค่าน้ำมันรถ จำนวน 1,300 บาท เขาก็โอนเงินมาให้ในวันนั้นเลย  แต่วันต่อมาผมก็ไปล้างแผลอีกเพราะต้องล้างทุกวัน ทนายความของคลินิกก็โทรมา บอกว่าไม่ขอรับผิดชอบแล้ว  ให้ผมรับผิดชอบตัวเอง จะไปรักษาหรือไปทำอะไร ก็ให้เราไปรักษาเองเลย เพราะเขาไม่มั่นใจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผม เกิดจากคลินิก  แต่ที่ได้กรีดหนองให้ในครั้งแรก เป็นความช่วยเหลือเบื้องต้นที่หมอทั่วไปก็ต้องทำ         แล้วตอนแรกที่เขาบอกว่าจะรับผิดชอบ ผมให้เขาไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพราะเขาพูดอย่างเดียวมันเป็นคำพูด พอได้ยินว่า “ให้ไปลงประจำวัน” เขาไม่คุยด้วยเลย ถ้าตอนนั้นเขารับผิดชอบ เรื่องคงไม่มาถึงตอนนี้  ผมก็ไม่เข้าใจว่า เขาจะรับผิดชอบแต่เขาไม่ลงบันทึกประจำวันไว้ ผมไม่ต้องการอะไรมาก คือแค่ต้องการให้หาย และได้รับการดูแลที่ดีที่สุด แม้ทางคลินิกจะบอกว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์เชื่อมั่น         ตอนที่ผมไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล ผมไปล้างแผลทุกวัน แล้วไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางทุก 2 สัปดาห์ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอก็บอกว่า เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่น่าจะมาจาก 2 สาเหตุคือ 1. เกิดจากกระบวนการ ที่เข็มอาจจะไม่สะอาด  และ 2.เกิดจากการใช้ยา  ซึ่งการแพ้ยาเกิดได้น้อยมากซึ่งถ้าแพ้ยาคือต้องแพ้ทั้งหมด ทุกเข็มที่ฉีดไปคือจะต้องมีรอยทั้งหมดเลย  ไม่น่าจะเกิดแค่รอยเดียว ผมพยายามสอบถามคนรู้จักที่ทำคลินิกด้วยกันมาเรื่อยๆ  ผมก็มั่นใจที่จะต่อสู้ ตลอดเวลาที่รักษาตัว  มีอาการเป็นอย่างไร         ช่วงที่รักษาตัว ผมไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เลยเพราะว่าทำแผลเป็นแผลเปิด ไม่ใช่แผลเย็บ ฆ่าเชื้อ ใช้ยา และยัดเข้าไปแผล  แล้วก็ต้องรอจนกว่าเนื้อจะเติมเข้ามาเต็ม ซึ่งต้องใช้เวลา         ผมรักษาตัว ทำแผลอยู่กว่า 1 เดือน ระหว่างนี้ก็มีหนองทุกวัน ผมไปล้างแผลทุกวัน ผมใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลยผมนอนไม่ค่อยหลับ เวลานอนเลือด หนอง ออกมาตลอดเวลา ผมเครียดมาก         นอกจากอาการทางร่างกาย จิตใจ ช่วงนั้นผมก็ขาดรายได้ด้วย ผมทำอาชีพอิสระเป็นเหมือนนายหน้า   วิ่งซื้อของส่งช่วงนั้นคือจะทำไม่ได้ เพราะว่าเดินทางไม่ได้ แล้วเริ่มดำเนินการเพื่อต่อสู้อย่างไร         หลังจากแผลหายแล้ว  ผมก็ไปแจ้งความเลย แต่พอแจ้งความแล้ว ทนายความของคลินิกก็ติดต่อผมมาเลย   ทนายความของคลินิกติดต่อมาว่าอย่างไร         เขาให้ผมยุติการดำเนินการต่างๆ คือให้เราจบ  จบๆ กันไป  เหมือนว่าไม่ต้องมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ยอมจบ เขาจะฟ้องกลับ พูดทำนองเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ได้  ถ้าเราดำเนินคดีกับคลินิก เขาก็จะดำเนินการฟ้องกลับ เขาพูดว่าสิ่งที่เกิดกับผมไม่ได้เป็นความผิดของเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์ไม่ได้หวั่นกลัว         ใช่ครับ ไม่ได้หวั่นกลัว แต่หวั่นใจว่าเกิดอะไรกับร่างกายเรา แต่มันเลยจุดที่เราจะกลัวมาแล้ว เพราะว่าตอนที่ผมรักษาตัวทรมานมากหมอที่รักษาผมยังบอกว่า เรื่องนี้ถ้าเลวร้ายที่สุดคือสามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย  1 เดือนที่เราต้องรักษาตัวมาก่อนที่เราจะแจ้งความ ผมเลยจุดเลวร้ายมาแล้ว  แต่ผมต้องการที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะตอนที่รักษาตัวก็ไม่ได้มาดูแล แล้วยังเอาทนายมาข่มขู่  ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่า ไม่มีอะไรจะเสียแล้วระหว่างต่อสู้ ผมก็หาข้อมูลมาตลอด หลังจากแจ้งความแล้ว ดำเนินการต่ออย่างไร            หลังจากที่ผมแจ้งความเสร็จ  ผมก็ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดพิษณุโลก และยื่นขอความเป็นธรรม ตามหน่วยงานต่างๆ  ยื่นตามเพจขอความช่วยเหลือ มียื่นขอความเป็นธรรมกับรายการ สำนักข่าวช่อง 36  ร้องเรียนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ต่อมา สำนักงานสาธารณสุขก็เข้ามาตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็ส่งความเห็นมาว่า  เกิดจากความบกพร่องของคลินิกเรื่องการจัดการ เขาได้ส่งใบตรวจยืนยันได้ว่าผมมาใช้บริการที่นี่จริง  ผมก็เอาใบนี้มาให้ตำรวจ ผมเข้าไปปรึกษาทางสำนักงานอัยการ เขาบอกว่า เรื่องนี้มันก็มีมูล  คือว่าให้เราแจ้งความและสามารถดำเนินคดีได้ ผมกลับมาหาตำรวจบอกว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รอก่อน หลังจากนั้นผมก็ยื่นเรื่องไปที่แพทยสภา  แพทยสภาบอกว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ         ผมเดินทางเข้ากรุงเทพ ไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อไปยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ เอาใบที่เขาแจ้งว่า บกพร่อง หลังจากนั้น เขาก็บอกว่า เขามีมูลความผิด ทำไมสาธารณสุขไม่ทำการลงโทษ  หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์มีใบแจ้งมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่จังหวัดพิษณุโลก ให้ดำเนินการลงโทษ แจ้งคลินิกและปรับกรรมการผู้บริหาร  และแพทย์ประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท เข้าข่ายความผิดฐาน ผิด พรบ.  โฆษณา โอ้ อวด เกินความจริง         การยื่นเรื่องที่แพทยสภา เขาก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน มีหนังสือมาให้ผมเดินทางไปที่แพทยสภาผมเล่าเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรจนสุดท้ายก็มีหนังสือออกมาว่าแพทย์ที่ให้บริการผมมีความผิดจริง  ผมได้มายื่นร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย มีเจ้าหน้าที่โทรติดตามสอบถามว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ต่อเนื่อง   เรียกได้ว่า คุณพงษ์พัฒน์ได้ต่อสู้ จนถึงที่สุด         ครับ เพราะระหว่างที่ยังมีเรื่องนี้กับผม เขาก็ยังเปิดขายคอร์สแบบนี้  ไม่ได้หยุด อะไรเลยซึ่งส่วนหนึ่งที่ผมออกมาร้องเรียน และยื่นเรื่องเพื่อจะเอาผิด เพราะผมต้องการเตือนให้ทุกคนรู้ด้วยว่า สิ่งที่เขาขาย มันไม่ได้มีความปลอดภัยนะ แต่ระหว่างนี้ผมก็ไม่ได้ประจาน ฝากถึงประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อได้         ผมเข้าใจว่าทุกคนต้องการผลลัพธ์ที่แบบว่า  ลดน้ำหนัก ต้องการให้เห็นผลเร็วที่สุด แต่วิธีการแบบนี้เรา เป็นหนูทดลองยาด้วย การลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ดีที่สุดแล้ว เราไม่ควรไปพึ่งพวกที่เป็นสารแต่งเติม หรือว่าอะไรมาช่วยเราด้านนี้  และเวลาเกิดปัญหาขึ้น คืออยากให้ตั้งสติและพยายามต่อสู้และหาข้อมูล  และเราก็ต้องยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำงานด้วย  เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะสู้คนเดียวได้ และการต่อสู้ต่างๆ  เราได้คำแนะนำของหน่วยงานด้วยว่าเราต้องทำอย่างไร  1-2- 3- 4   เพราะถ้าคนทั่วไปจะไม่รู้ได้เลยว่า การต่อสู้จะต้องทำอย่างไร แล้วการดำเนินคดีกับแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก  เพราะมีกฎระเบียบมาควบคุมอยู่ว่า  ถ้าจะดำเนินคดีกับแพทย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภาก่อน แต่แพทยสภาก็ไม่ได้ปกป้องแพทย์เสมอไปถ้าแพทย์ผิดจริง สามารถดำเนินคดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 น้ำตาลเทียมก่อโรค..???

        มีข่าวออนไลน์เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่แปลผลจากการศึกษาว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชื่อ อิริทริทอล (erythritol) อาจเป็นปัจจัยต่อความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดไปจนถึงคนธรรมดาที่เลือกกินอาหารคีโต (Ketogenic diet) เพื่อปรับปรุงน้ำหนักตัวให้เหมาะสม         อาหารคีโต คืออาหารที่ถูกปรับลดคาร์โบไฮเดรตจนคำนวณได้ว่ามีการกินไม่เกิน 50 กรัม/วัน และเน้นกินไขมันและโปรตีนให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายผลิตสารคีโตน (ketone bodies) จากไขมันเนื่องจากมีการใช้ไขมันทั้งจากอาหารที่กินและสะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานแทนการใช้น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากการย่อยแป้งหรือน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการนำร่างกายเข้าสู่สภาวะคีโตสิส (ketosis) ซึ่งดีร้ายอย่างไรขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่แน่ๆ คือ ผู้กินอาหารคีโตมักพยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายโดยหันมากินน้ำตาลเทียมแทนโดยอิริทริทอลคือตัวเลือกที่นิยมกัน        สำหรับคำโฆษณาที่ใช้ในการขายน้ำตาลอิริทริทอลบนแพลทฟอร์มออนไลน์นั้นมักบอกว่า เป็นสินค้านำเข้าเช่น จากฝรั่งเศส 100% ขนาด 500 กรัม มีราคาเกือบ 200 บาท (น้ำตาลทราย 1000 กรัมราคาเฉลี่ยประมาณ 25 บาท) เหมาะกับผู้บริโภคอาหารคีโต ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและไม่กระตุ้นอินซูลินของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ทำให้ฟันผุเพราะจุลินทรีย์ย่อยอิริธรีทอลได้น้อย ช่วยในการขับถ่ายเพราะสามารถดูดซับน้ำในทางเดินอาหารไว้อย่างช้าๆ เหมือนใยอาหารทั่วๆ ไป (ความจริงคือผลข้างเคียงของน้ำตาลแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่กินมากแล้วทำให้ถ่ายเหลว)         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ดูคล้ายน้ำตาลทรายมาก เพราะผลิตทางเคมีจากน้ำตาลกลูโคส จริงแล้วร่างกายก็สร้างเองได้ในปริมาณน้อย เป็นสารที่มีความหวานราว 60-70% ของน้ำตาลทราย สามารถใช้ในการผลิตขนมอบได้แบบเนียนๆ ไม่แสดงผล aftertaste (หวานติดคอน่ารำคาญ) ในผู้บริโภค ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและมีฤทธิ์เป็นยาระบายน้อยกว่าน้ำตาลแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคีโตและอาหารชนิดที่มีน้ำตาลต่ำซึ่งขายแก่ผู้ป่วยเบาหวาน         อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มักถูกนำไปใช้ผสมกับสารสกัดจากหญ้าหวาน (stevioside) หรือกับสารสกัดหล่อฮังก๊วย (arhat fruit, Buddha fruit, monk fruit หรือ longevity fruit) ทั้งนี้เพราะสารสกัดทั้งสองมีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 ถึง 400 เท่า เวลาใช้จึงต้องใช้ในปริมาณน้อยทำให้ตวงปริมาณยาก จำต้องใช้อิริทริทอลซึ่งมีลักษณะหลอกตาดูคล้ายน้ำตาลทำหน้าที่เป็นเนื้อสัมผัสเพื่อให้ปริมาณสารให้ความหวานหลักถูกใช้ในปริมาณไม่มากจนเกินควร         สำหรับงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความสงสัยว่า การกินอิริทริทอลอาจเป็นปัจจัยก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ บทความเรื่อง The artificial sweetener erythritol and cardiovascular event risk ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้นเป็นการรายงานความเชื่อมโยงระหว่างอิริทริทอลต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง         คำถามที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลคือ เหตุใดอยู่ดี ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้จึงสนใจว่า อิริทริทอลส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งที่น้ำตาลเทียมชนิดนี้มีการใช้มานานพอควรและดูว่าไม่น่าเกิดปัญหาใดๆ แต่เมื่อตามดูบทความที่ผู้ทำวิจัยหลักให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวของ New York Times และ CNN ทำให้ได้ข้อมูลว่า จริงแล้วก่อนหน้าที่จะตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าว ผู้ทำวิจัยได้ทำงานวิจัยก่อนหน้าที่ต้องการค้นหาว่า มีสารเคมีหรือสารประกอบที่ไม่มีใครคาดถึงมาก่อนในเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือไม่ ที่สามารถใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองหรือเสียชีวิตภายในระยะเวลาสามปีของการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ของ Cleveland Clinic ในรัฐโอไฮโอ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด 1,157 ตัวอย่าง ซึ่งเก็บรวบรวมระหว่างปี 2004 ถึง 2011 จากอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจแล้วพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอิริทริทอลในเลือดในระดับที่น่าสนใจจนนำไปสู่การวิจัยที่เป็นที่มาของบทความวิจัยที่ก่อความกังวลแก่ผู้ที่บริโภคอิริทริทอล         ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ของปี 2023 นั้น นักวิจัยได้ตรวจสอบระดับอิริทริทอลในเลือดของคนไข้ 2,149 คนจากสหรัฐอเมริกาและ 833 คนจากยุโรป แล้วพบว่าอาสาสมัคร (ซึ่งส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปี เป็นหรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง) มีความเข้มข้นของอิริทริทอลในเลือดสูง แล้วเมื่อทดลองเติมอิริทรีทอลลงในตัวอย่างเลือดหรือเกล็ดเลือดที่แยกออกมา (ซึ่งเกล็ดเลือดนั้นเป็นองค์ประกอบในเลือดที่เกาะกันเป็นก้อนเพื่อหยุดการไหลของเลือดเมื่อเกิดแผลและทำให้เกิดเลือดอุดตันในบางโรค) ในหลอดทดลองผลที่ได้ปรากฏว่า อิริทรีทอลทำให้เกล็ดเลือดถูกกระตุ้นง่ายขึ้นในการจับตัวเป็นก้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในร่างกายอาจแตกออกจากกันแล้วไหลไปในหลอดเลือดเดินทางไปยังหัวใจ ซึ่งถ้ามีการตกตะกอนในเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือถ้าไปตกตะกอนในเส้นเลือดสมองจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้         นอกจากนี้นักวิจัยได้ให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 8 คน กินอิริทริทอลในปริมาณเดียวกับที่พบได้เมื่อกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานนี้ เพื่อลองกระตุ้นให้ระดับอิริทริทอลในน้ำเลือดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงที่ (นานมากกว่า 2 วัน) ซึ่งคำนวณแล้วว่า สูงกว่าขนาดที่ก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดทดลอง ส่งผลให้ผู้วิจัยประเมินว่า อิริทริทอลนั้นน่าจะเพิ่มปริมาณให้สูงได้ในร่างกายจากการกินอาหารจึงอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความเสี่ยงอันตรายของหัวใจที่เกิดขึ้น ทำให้น่าจะศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะยาวของอิริทริทอลเพิ่มเติม         มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยดังกล่าวในหลายบทความในอินเตอร์เน็ทว่า ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาคือ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการต่อการเป็นโรคดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งงานวิจัยนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (correlation) แต่ไม่ใช่สาเหตุ (causation) นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่าง erythritol และความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้นไม่ได้พิสูจน์ว่า สารให้ความหวานนี้ทำให้เกิดโรคเพราะผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียมนี้ในปริมาณสูงเพื่อพยายามลดการกินน้ำตาลทรายให้เป็นศูนย์ อย่างไรก็ดีคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทดลองให้คนสุขภาพปรกติกินสารให้ความหวานนี้จนอยู่ในสถานะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกเว้นทำการศึกษาในสัตว์ทดลองที่มีกระบวนการทางสรีรภาพคล้ายมนุษย์         ประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ พบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หากพวกเขามีระดับอิริทริทอลในเลือดสูง และผลการศึกษานี้ดูขัดแย้งกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายทศวรรษที่แสดงว่า สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำอย่างอิริทริทอลนั้นปลอดภัย จนได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม         ก่อนหน้านี้ในปี 2022 วารสาร BMJ ได้มีบทความเรื่อง Artificial sweeteners and risk of cardiovascular diseases: results from the prospective NutriNet-Santé cohort ได้รายงานผลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารให้ความหวานเทียมจากเครื่องดื่ม (แอสปาร์แตม อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม หรือซูคราโลส) สารให้ความหวานบรรจุซอง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ ต่อความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเก็บข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 103 388 คนจาก NutriNet-Santé cohort (เป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของอาสาสมัครประมาณ 171,000 คนที่เปิดตัวในฝรั่งเศสในปี 2009 เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางโภชนาการซึ่งหมายถึงการกินอยู่ตามปรกติและสุขภาพ) ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 42.2 ปี ที่มีร้อยละ 79.8 เป็นเพศหญิง โดยข้อมูลการกินสารให้ความหวานเทียมได้รับการประเมินโดยบันทึกจากการกินอาหารใน 24 ชั่วโมงมากกว่า 1 ครั้ง และจากการประเมินผลได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงที่เป็นไปได้ระหว่างการกินสารให้ความหวานเทียมที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะแอสปาร์แตม อะซีซัลเฟม โพแทสเซียม และซูคราโลส) และการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดีสารให้ความหวานเหล่านี้ยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอยู่และกำลังได้รับการประเมินใหม่โดย European Food Safety Authority, องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ         การกำหนดปริมาณการกินอิริทริทอลในอาหารนั้นเริ่มในปี พ.ศ. 1999 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัตถุเจือปนอาหารแห่งสหประชาชาติ (JECFA) ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การอาหารและการเกษตรและองค์การอนามัยโลกได้ประเมินความเสี่ยงในการกินอิริทริทอลและกำหนด ปริมาณที่ยอมรับได้ต่อวัน (acceptable daily intake หรือ ADI) เป็น "ไม่ระบุ (not specified)" ซึ่งต่อมาในปี 2003 คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU Scientific Committee on Food) สรุปว่า อิริทริทอลนั้นปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหาร การอนุมัติอิริทริทอลของสหภาพยุโรปยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้อิริทริทอลในเครื่องดื่ม เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของสหภาพยุโรประบุว่า อาจมีผลข้างเคียงเกินเกณฑ์ของยาระบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ได้รับอิริทริทอลจากเครื่องดื่มในปริมาณสูง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 "แฉเล่ห์! ผู้ค้าน้ำมันหากินกับส่วนต่างราคา"

หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน, ปกปิดราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์, ปกปิดข้อมูลสต็อกน้ำมันเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมให้สังคมเห็นต้นตอทำราคาขายปลีกน้ำมันแพง         ผู้บริโภคเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำมันดิบเวลาเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย )จึงอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ราคาที่ปรับขึ้น-ลง ก็ควรเป็นตลาดสิงคโปร์ ใช่ไหม อ้าว ! แล้วทำไมเวลาประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึงไปอ้างอิง OPEC ( Organizationof the Petroleum Exporting Countries องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก )         ประเด็นต่อมา ถือว่าสำคัญสุดยอด ในเมื่อประเทศไทย ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ทำไม กระทรวงพลังงาน กลับไม่ยอมโชว์ตัวเลข โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลลับ มีอะไรในกอไผ่ ! คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แฉข้อมูลเชิงลึกแบบละเอียดยิบ         “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้นหรือลง จะมีผลตามหลังราคาน้ำมันดิบ 1-2 วัน เช่นหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกาศวันใดก็ตาม ให้นับเป็นวันแรก ถัดจากนั้น อีก 1-2 วัน ให้จับตาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป จะถูกประกาศลดหรือเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบ ก็อย่างที่ผู้บริโภค ได้เห็นเวลาประกาศขึ้นราคาขายเอาซะเยอะเชียว แต่พอเวลาลดราคาขายกลับลงแค่นิดเดียว อันนี้แหละ ที่จะบอกให้ว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มักใช้ข้ออ้างเรื่องสต็อกน้ำมัน ที่มีต้นทุนสูงอยู่เดิมนั่นมันแค่การพูดให้ชาวบ้านสบายใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม “กลไกราคาตลาด“ แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลสต็อกน้ำมัน ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน คำถามคือทำไมต้องปกปิด “มีเรื่องที่ตลกมาก กระทรวงพลังงานไม่ยอมเปิดข้อมูล “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์”         ณ วันที่ออกประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ลองไปหาดูกันสิ ไม่มีเว็บไซต์ไหน เอาขึ้นมาโชว์ เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งออกนโยบายว่าประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ แต่ไม่ยอมเอาข้อมูลมาเปิดเผยวันต่อวัน ...ผู้บริโภคเคยสังเกตไหมว่า ทำไมปตท. ถึงประกาศปรับราคาน้ำมันตอน 5 โมงเย็นทุกครั้ง มีเล่ห์กลที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!         “เวลาของสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ตลาดน้ำมันปิด “4 โมงเย็น จังหวะนี้แหละที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เห็นราคาล่วงหน้าจึงคำนวณได้ว่าหาก 5 โมงเย็นประกาศขึ้นหรือลดราคาน้ำมัน30 หรือ 60 สตางค์ /ลิตร ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ อ้าว! เห็นตัวเลขล่วงหน้าแบบนี้มันไม่ใช่กลไกตลาด แถมไม่ได้เห็นวันเดียวด้วยนะ เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้วิธีคิดแบบถัวเฉลี่ยของราคาสิงคโปร์ย้อนหลังไปอีก 2 วัน เพื่อเอามาคำนวณกับวันที่ 3 ซึ่งใช้ประกาศ ลด -เพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า วันนี้จะลดให้ 30 สตางค์หรือ 60 สตางค์ แต่พอเห็นจังหวะที่ไม่ส่งผลบวก ก็รีบชิงปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 1 วัน ได้กำไรเฉพาะวันนั้น 300 ล้านบาท นี่แหละเป็นวิธีที่เขาเล่นกันแบบนี้! ผมเคยส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล“ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงค์โปร์” เพื่อเทียบเคียงกับ“โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย “จะได้คิดย้อนทวนคำนวณราคาต่อลิตร”1 บาท หรือ 2 บาท แต่พอไม่ยอมเปิดข้อมูลมีปัญหาแล้ว แถมไม่เคยมีคำตอบอธิบายความใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า “เปิดไม่ได้เพราะเป็นราคาที่เขาต้องซื้อข้อมูล” ขอถามกลับว่าตลาดอะไรต้องซื้อข้อมูล อย่างนี้ไม่เรียกว่าตลาดแล้ว ตลาดหมายถึงว่าเขาจะต้องประกาศที่หน้าป้ายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาธารณะให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย รับทราบด้วยกัน การปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่มีธรรมาภิบาล” แต่กระทรวงพลังงานกลับได้คะแนนโหวตดีเด่นด้านความโปร่งใส         คุณอิฐบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ข้อมูล “วงใน” วันต่อวัน เพื่อดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลประกาศ โดยเขียนบทความแหย่เบาๆ เช่น “วันนี้พวกคุณโกงเรา, ไม่ยอมปรับลดราคา2วันแล้วนะ” อีกทั้งยังพบความผิดปกติจากราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐบาลเอามาแถลงอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำให้ค่าการตลาดมันสูงขึ้นหรือ ดีดกลับแบบประหลาดๆ เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารไปถึงชาวบ้านให้รู้เท่าทัน และที่ยากที่สุดของการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มันคืออะไรรู้ไหม? มันคือ“ราคาค่าการกลั่น “บางทีคิดจากความต่างระหว่างราคาสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งหากราคาสิงคโปร์ห่างจากราคาน้ำมันดิบดูไบก็จะยิ่งได้ค่าการกลั่น เพราะนี่คือกำไรขั้นต้นก่อนที่จะหักต้นทุนสุทธิออกมาเป็นกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงมีขบวนการดันให้ราคาตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ทำให้ค่าการกลั่นบางช่วงพุ่งไป 5 บาท ถึง 6 บาท ได้กำไรกันทีเป็นแสนล้านบาทเรียกว่า “หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน” เพราะสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากต้นทุนของโรงกลั่นที่แท้จริง แต่มันคือ ราคาที่ถูกสมมุติ รวมกันถึง 2 สมมุติ กระทั่งกลายร่างออกมาเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบสมมุติแถม ยังบวกด้วย ค่าขนส่งสมมุติแล้วก็มาเก็บเงินเป็นราคาขายที่แพงเอากับประชาชน อย่างหลังสุดนี่คือของจริง หากยังมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายความชัดๆ เริ่มจาก ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ถูกสมมุติเพราะฉะนั้นค่าการตลาด ก็เป็นสิ่งสมมุติ ซึ่งค่าการตลาดรัฐบาลกำหนดให้อยู่ที่ 2 บาท นี่ก็สมมุติเพราะไม่มีใครรู้เลยว่า ปตท. เอาต้นทุนร้านกาแฟ, ค่าพื้นที่เวิ้งว้างที่เอามาทำธุรกิจย่อมๆ, ร้านค้าปลีกต่างๆ, ธุรกิจโรงแรมธุรกิจถูกเอามารวมเป็นต้นทุน-ค่าโสหุ้ยของค่าการตลาดน้ำมันด้วยหรือเปล่า ผมเคยเสนอให้ ปตท. แยกบัญชี แต่กลับเห็นการเอาที่ดินทั้งแปลง มารวมเป็นค่าการตลาด แล้วก็มาอ้างเหตุผลว่า ได้ค่าการตลาด 2 บาทน้อยมากเลย ยังขาดทุนอยู่นะ ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ประกาศ และทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566         ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทีไร้การควบคุม, ต้องกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นมาตรการบังคับ, ต้องตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุด 2 ลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้ จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง! ผู้เขียน : นิชานันท์ ธัญจิราโชติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 “ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัว”

        ปัญหาของลูกบ้าน เมื่อซื้อบ้านจัดสรรแล้วเข้าอยู่อาศัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ กรณีที่นำมาเล่าในฉบับนี้ เหตุเกิดจากท่อน้ำแตกแบบที่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวได้เลย ทำให้คุณวุฒิชัย วงศ์สิริวิทยา เจ้าของบ้านถูกเรียกเก็บค่าน้ำในรอบ 1 เดือน สูงถึง 18,635.01 บาท ซึ่งคุณวุฒิชัยไม่ได้ทำท่อน้ำแตกและคาดว่ามาจากการวางโครงสร้างผังบ้าน จึงร้องเรียนให้บริษัทเจ้าของโครงการหมู่บ้านรับผิดชอบค่าน้ำที่เขาได้จ่ายไปแล้ว...เรื่องราวจะจบลงอย่างไร มาติดตามกันเลยค่ะ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นอย่างไร เมื่อไหร่         เกิดช่วงหลังปีใหม่ เจ้าหน้าที่การประปาเข้ามาจดมิเตอร์แล้วแจ้งว่า ค่าน้ำผิดปกติน่าจะมีท่อรั่วภายในบ้าน มิเตอร์ไม่ได้เสีย เพราะเจ้าหน้าที่โทรไปถามแล้ว เขาก็แจ้งว่าน่าจะท่อน้ำรั่วภายใน ผมจึงเพิ่งทราบตอนบิลค่าน้ำมาเรียกเก็บเลย รู้ตอนนั้นเลย ค่าน้ำผิดปกติ หน่วยค่าน้ำมันสูงกว่าปกติ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ค่าน้ำสูงมาก 18,600 กว่าบาทครับอาจมีคนถามว่า ท่อน้ำแตกเป็นเดือนแต่เจ้าของบ้านไม่รู้ตัวเลย เพราะอะไร         ทุกหมู่บ้าน ทุกโครงการจะมีแทงค์น้ำอยู่หลังบ้าน ลักษณะที่ท่อนำแตกของบ้านผม เมื่อแตกแล้วน้ำยังไหลเข้าแทงค์ปกติ ปั้มน้ำทำงาน ปกติน้ำที่แตกเยอะขนาดนี้จะต้องเอ่อล้นออกมามานอกบ้าน ข้างบ้านแล้ว แต่ไม่ล้น ไม่มีอาการอะไรเลย ผมถามเพื่อนบ้านแล้วว่ามีน้ำเอ่อออกมาบ้างไหม เขาบอกว่า ไม่มีน้ำอะไรเอ่อออกมาเลย แล้วทำอย่างไรต่อ         ผมจึงเข้าไปที่สำนักงานการประปาก่อน เพราะไม่แน่ใจ อยากเช็คอีกรอบว่ามิเตอร์น้ำปกติดีใช่ไหม เมื่อเข้าไปเจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่เคาน์เตอร์ให้ผมเข้าไปหาช่างส่วนจดมิเตอร์ซึ่งเขาอธิบายให้ฟังว่า ถ้ามิเตอร์เสีย ตอนที่หมุนน้ำเข็มมันอาจจะไม่กระดิกเลย เขายืนยันว่าไม่ใช่มิเตอร์เสียแน่นอน หลังจากนั้นผมจึงไปติดต่อนิติบุคคลของหมู่บ้าน อยู่ตรงส่วนด้านหน้าของสำนักงานขาย เขาก็ไม่รับเรื่องอะไร เรื่องค่าน้ำเขาบอกว่าไม่รับผิดชอบให้ เขารับผิดชอบให้แค่เขาจะเดินท่อน้ำแบบลอยให้ คือเดินให้ใหม่ แต่เป็นการเดินลอยอกมาข้างบ้าน และต่อเข้าแทงค์น้ำ เขารับผิดชอบแค่นั้น ส่วนค่าน้ำ ก็พยายามถามเขาว่า มีงานส่วนไหนที่ช่วยได้บ้าง เขาไม่ตอบ เขาเงียบกันหมดเขาให้ผมเขียนคำร้องส่งไป แล้วเดี๋ยวช่างจะมาเดินลอยให้ แล้วตอนนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยหรือไม่ เพราะเขาไม่ตอบว่าถ้าเดินลอยใหม่แล้วผมต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม เรื่องค่าน้ำไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนรับผิดชอบให้ ไม่มีการประสานงานต่อ         ในระหว่างที่กำลังเดินลอย ผมก็คิดหาวิธีต่างๆ แล้วลูกบ้านด้วยกันเขาแนะนำให้ไปติดต่อที่สำนักงานใหญ่อยู่แถวโลตัสบางกะปิ ผมเข้าไปบริษัทก็ให้ทางเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM เข้ามาดู ซึ่งเขาก็ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ที่ดูแลโครงการที่ผมอยู่โดยเฉพาะพอประสานงานเสร็จกลับเงียบหายไปเลย ที่สำนักงานใหญ่ก็เงียบต่อมาเขาแจ้งมาว่าให้ผมรับผิดชอบเอง ผมถามไปชัดเจนว่า “มีหน่วยงานไหน ฝ่ายไหนที่จะรับเรื่องร้องทุกข์ผมได้บ้าง” เขาก็รับเรื่องไว้ แล้วไม่ตอบเลย เขาโยนกันไปมา ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ CRM ที่ดูแลโครงการนี้ ผมก็ทำทุกอย่าง  เขาก็แจ้งว่าให้ส่งเอกสารทุกอย่าง เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน ปัญหาที่เกิด จุดที่ท่อน้ำแตกส่งไปให้เขา ผมส่งด่วน EMS เขาได้รับเรียบร้อย แต่ก็เงียบเป็นอาทิตย์ ผมก็คิดว่าคงเหมือนเดิม ไม่ได้เรื่อง ไม่ตอบกลับ โทรไป เขาก็แจ้งว่าอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ผมก็คิดว่าไม่ได้แล้ว เราต้องร้องเรียนทางอื่นแล้วในเอกสารตอนนี้คือต้องการคำตอบว่า บริษัทจะรับผิดชอบค่าน้ำไหม และค่าเดินท่อลอยที่กำลังทำอยู่ใครจะออกค่าค่าใช้จ่ายใช่ไหม         ใช่ครับ ตอนแรกที่ผมเข้าไปหานิติบุคคล เขาจะให้ช่างมาเดินลอยให้แต่เรื่องค่าใช้จ่ายเขาไม่ยืนยัน เขาอ้างว่าผมต่อเติมบ้านไปแล้ว แต่แค่ปูกระเบื้อง ผมก็งงว่ากระเบื้องหนักขนาดไหน ถึงทำให้ท่อน้ำใต้บ้านแตกได้ คือผมไม่ทราบจริงๆ ว่าแตกตอนไหน เพราะว่าพี่ที่เขาเป็นช่างทางโครงการเข้ามาหาจุดแตกเขาหาจุดแตกไม่ได้ จนต้องเดินลอยใหม่         เรื่องนี้ถ้าไม่ถามไปเขาจะไม่ทำให้ฟรี  ผมพยายามเถียงจนสุดท้ายทางโครงการจะรับผิดชอบค่าเดินท่อลอยให้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายการที่เขาบอกว่าท่อน้ำแตกอาจจะเกิดเพราะปูกระเบื้องตรงนี้คุณวุฒิชัยมองว่าไม่สมเหตุสมผล เลยเดินหน้าสู้ต่อเรื่องให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ         ครับ คือผมซื้อบ้านมา ผมก็อยากทำกระเบื้อง เพราะตอนแรกพื้นบ้านไม่ได้ระดับบ้างด้วย น้ำขัง ต้องทำใหม่ เลยจบปัญหาโดยการปูกระเบื้องแล้วไล่ระดับน้ำให้น้ำออก ปัญหาก็หาย ทีนี้ค่าน้ำใครจะจ่ายผมไปที่สำนักงานใหญ่แล้วไม่มีใครช่วยได้ ผมจึงมาร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอนร้องเรียน แต่ละที่ดำเนินการอย่างไร          ผมไปที่ สคบ. ก่อน และลองดูช่องทางร้องเรียนอื่นคือ มพบ.ผมลองหาข้อมูลเขาแจ้งว่าสามารถร้องเรียนได้ที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปรากฏว่าเขาตอบกลับเร็วมาก ดีจริงๆ ต้องขอขอบคุณมาก เจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูล รายละเอียดและสอบถามว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร อันนี้ดีเลย         ส่วนที่ทาง สคบ. เขาติดต่อกลับมาช้าเพราะ ผมคิดว่าเขาคงรับเรื่องเยอะ ผมเลยตัดสินใจให้ มพบ.ช่วยเหลือผม   หลังจากมูลนิธิรับเรื่องแล้ว ดำเนินการร่วมกันต่ออย่างไร         ผมส่งเอกสาร หลักฐานทั้งหมดที่ให้บริษัท หลักฐานที่ผมมีทั้งหมดให้มูลนิธิฯ หมดเลย หลังจากได้รับข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาว่าขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จากนั้นมูลนิธิออกจดหมายไปถึง บริษัทที่สำนักงานใหญ่ ประมาณกว่า 2 สัปดาห์เลยกว่าที่สำนักงานใหญ่จะตอบกลับมูลนิธิมาว่า  บริษัทอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบข้อเท็จจริง มูลนิธิขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น รูปรอยแตก สภาพแวดล้อม บิลค่าน้ำย้อนหลังว่าเราใช้น้ำอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่สำนักงานใหญ่ และอีกประมาณครึ่งเดือนมูลนิธิก็แจ้งมาว่าบริษัทรอว่าจะตกลงกันอย่างไร จนช่วงเดือนมีนาคม ผมก็ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายของบริษัทจะเข้ามาดูแล ตอนแรกเขาจะชดเชยที่ร้อยละ 50 ซึ่งผมไม่รับเพราะว่าส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบยังเยอะ และตอนแรกผมดำเนินการแล้ว บริษัทไม่ประสานงานอะไรให้เลย จนเราต้องร้องเรียนให้มูลนิธิช่วยแล้วท่อน้ำที่อยู่ใต้บ้านแตก แสดงว่าผิดตั้งแต่ก่อสร้างแล้วไม่ใช่ว่าผมต่อเติมกระเบื้อง ผมซื้อมาได้ 2 ปีเอง มันไม่น่าจะเป็นไปได้ โครงการระบุว่ารับประกันโครงสร้างบ้าน 5 ปี ด้วย ซึ่งเรื่องนี้พอผมถาม บริษัทบอกว่าท่อน้ำเป็นเรื่องสถาปัตย์ ไม่ได้อยู่ในการรับประกันโครงสร้าง         ผมไม่รับแล้วบอกว่าขอให้บริษัทรับผิดชอบค่าน้ำ ร้อยละ 80 ฝ่ายงานกฎหมายของบริษัทเขาขอลดมาที่ 70 จึงได้ข้อสรุป มันนานแล้ว ผมไม่ไหว ผมหยุดงานเพื่อไปดำเนินการต่างๆ โดนหักเงิน 3 วันทั้งที่ไปสำนักงานประปา ไปคุยที่สำนักงานใหญ่ หยุดงานเพื่อให้ช่างเข้ามาดูสาเหตุที่ท่อน้ำแตก  อยากจะจบเรื่องตรงนี้ ผมเลยเข้าไปไกล่เกลี่ยกับบริษัทที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน บริษัทรับผิดชอบ 70% ผมจ่าย 30 %  บริษัทจ่ายเชคให้ผมจำนวน 13,000 บาท         เรื่องกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผมก็ได้แจ้งว่าเรื่องของผมยุติแล้ว การร้องเรียนที่ สคบ. ก็ยุติเรียบร้อย ฝากถึงคนที่อาจจะเจอปัญหาได้         ตอนซื้อบ้านนะครับ  นี่คือบ้านหลังแรกของผม ผมไม่ทราบว่าโครงการอื่นๆ เขามีงานก่อสร้าง แบบไหนอย่างไรแต่ต้องระวังด้วย ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ต้องคอยเช็คตลอด         และเมื่อเกิดเรื่อง แม้เราไม่ทราบ เราต้องหาข้อมูลทุกช่องทาง ออนไลน์ต่างๆ อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้เขาช่วย อย่าไปยอม ผมมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ต้องสู้บางคนอาจจะยอมแพ้ไปถึงสำนักงานใหญ่ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ผมมองว่าไม่ใช่ ถ้าไม่สมเหตุสมผลเขามาโทษเราก็ไม่ได้ เราต้องสู่เพื่อความชอบธรรม  เพื่อสิทธิของเราครับ

อ่านเพิ่มเติม >