ฉบับที่ 112-113 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 2

  คราวที่แล้วได้นำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป ไปด้วยกันหลายข้อ ได้แก่ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อ เที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง, ค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่, ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย)…ซึ่งยังไม่หมดนะครับ ยังมีคำแนะนำที่น่าสนใจอีกหลายข้อ ดังนี้ คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป(ต่อ) 5. แล้วถ้าไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบิน และบริการเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจท่องเที่ยว• รายงานปัญหาต่อบริษัทเรือ/รถไฟ/รถประจำทางทันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังจุดหมายปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเดินทางโดยเรือ/รถไฟ/รถประจำทาง เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน 6. แล้วถ้าไม่สามารถต่อเที่ยวบินได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า (ก) ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินทรานสิท (ข) ในกรณีที่บัตรโดยสารสองใบซื้อแยกกัน ก) ดูข้อ 7 กรณีแพ็คเกจท่องเที่ยวข) ผู้โดยสารมี• สิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบิน (เช่น สายการบินต้องให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในฐานะผู้โดยสาร และต้องแจ้งสถานการณ์ให้ผู้โดยสารรับทราบกรณีมีการเปลี่ยนแปลง)• สิทธิที่จะเลือกระหว่างการขอเงินค่าบัตรโดยสารคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร• สิทธิที่จะได้รับการดูแลตามที่อธิบายไว้ในข้อ 1 ถ้าทางเลือกของผู้โดยสารคือการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ และการยกเลิกเที่ยวบินทรานสิทเกิดขึ้นหลังจากที่ออกจากสถานที่พักอาศัยแล้ว 7. ในกรณีที่จองแพ็คเกจท่องเที่ยวไว้ แล้วเที่ยวบินถูกยกเลิกไม่สามารถเดินทางได้เพราะน่านฟ้าปิด สามารถเรียกร้องเงินที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับแพ็คเกจท่องเที่ยวได้หรือไม่(ตัวอย่างของแพ็คเกจท่องเที่ยวคือสิ่งที่ผู้โดยสารเลือกจากโบรชัวร์ของบริษัทท่องเที่ยว ซึ่งรวมเที่ยวบินและการพักโรงแรมไว้ด้วย การท่องเที่ยวของผู้โดยสารจะไม่ถือว่าเป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวถ้าผู้โดยสารจองบริการต่างๆ แยกจากกัน ถ้าผู้โดยสารยังไม่เริ่มต้นเดินทางผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบินหรือจากบริษัทท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนที่จ่ายไป (รวมถึงค่าโดยสารและค่าโรงแรม) หรือผู้บริโภคอาจจะรับแพ็คเกจทดแทน ถ้าได้รับการยื่นข้อเสนอจากผู้จัด ผู้โดยสารไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยอื่น นอกจากการเรียกร้องเงินคืน ถ้าแพ็คเกจท่องเที่ยวถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ (“เหตุสุดวิสัย”) ซึ่งกรณีเถ้าภูเขาไฟระเบิดปกคลุมน่านฟ้า จะถูกพิจารณาเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอื่นเพิ่มเติม  ถ้าผู้โดยสารอยู่ที่จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทนำเที่ยว (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ตัวอย่างเช่น ข้อมูลสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การยกเลิกและระยะเวลาที่ล่าช้า เครื่องดื่ม อาหารและอุปกรณ์ในการสื่อสาร ผู้จัด (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ยังต้องจัดหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมโดยไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับความต่อเนื่องของแพ็คเกจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการเดินทาง เช่น เที่ยวบินสองสามวันหลังจากนั้น และที่พักในโรงแรม  (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) 8. กรณีจองบ้านพักตากอากาศ/โรงแรม/เรือ แยกจากกัน ถ้าเครื่องบินไม่สามารถออกเดินทางได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจองคืนหรือไม่• รายงานปัญหาต่อเจ้าของบ้านพัก/โรงแรม/บริษัททันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าผู้โดยสารได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว อาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าผู้โดยสารไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่าพัก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) ถ้าทำสัญญาแยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในลักษณะนี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับสัญญาที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารทางอากาศผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทสายการบิน การ ทำงานขององค์การอิสระผู้บริโภคของยุโรป เป็นการกระทำที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสากลแบบไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติ และสีทางการเมืองของผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้า และจริงๆ แล้วคณะกรรมมาธิการยุโรปได้มีนโยบายเฝ้าระวังสายการบินราคาถูกที่มักจะมีปัญหาเรื่องเครื่องบินล่าช้า หรือยกเลิกเที่ยวบินเป็นประจำจนทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนมาก หวังว่าหากเพื่อนสมาชิกฉลาดซื้อจะได้ประโยชน์จากบทเรียนครั้งนี้บ้าง และถ้ากรมขนส่งทางอากาศ ที่ทำหน้าที่เป็น เรกูเลเตอร์โดยตรง เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศไทยในปี 2552 ที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน คนต่อปี* นำไปปรับใช้กับสายการบินในประเทศไทยเราบ้างก็จะได้รับการสรรเสริญจากผู้โดยสารอีกไม่น้อยเลยทีเดียว * ข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 1

จากเหตุภูเขาไฟอายยาฟยาพลาเยอร์คุดุในไอซ์แลนด์ปะทุขึ้น จนทำให้เกิดกลุ่มหมอกและควันไฟปกคลุมทั่วท้องฟ้าจนมีผลให้ทางอียูต้องสั่งปิดน่านฟ้า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการปิดน่านฟ้าได้สร้างความวุ่นวายใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปต่อนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางทั่วไป แต่แม้จะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ สิทธิของผู้โดยสารทางอากาศของสหภาพยุโรปยังคงใช้ได้อยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิของผู้บริโภคนั้น เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หากคนไทยที่เดินทางไปยุโรปแล้วประสบเคราะห์กรรมจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ สิทธิของผู้บริโภคก็ย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นกันโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและความเชื่อ ตลอดจนสีทางการเมือง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์การอิสระนั้น จึงถือว่าเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งผู้บริโภคควรจะช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป 1. เกิดอะไรขึ้นถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องถ้าเที่ยวบินของเราถูกยกเลิก หรือล่าช้าเป็นเวลาเกินกว่าห้าชั่วโมง หรือผู้โดยสารได้รับการปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนสำหรับบัตรโดยสารที่ไม่ได้ใช้ หรือสามารถยอมรับการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายได้ ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารสามารถเลือกได้ระหว่างการขอเงินคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทาง ถ้าผู้โดยสารเลือกขอเงินคืน ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนค่าบัตรโดยสารที่ได้จ่ายไป(รวมภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) สำหรับการขอเงินคืน ผู้โดยสารควรจะยื่นเรื่องต่อบริษัทสายการบินที่ทำการจองบัตรโดยสารไว้ จำไว้ว่าเมื่อไรที่ผู้โดยสารรับเงินคืนแล้ว สายการบินไม่มีข้อผูกมัดต่อผู้โดยสารในเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางใหม่หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ถ้าผู้โดยสารเลือกการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทสายการเช่นอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักของผู้โดยสาร และถ้าจำเป็นก็ต้องเปิดห้องพักโรงแรมสำหรับพักค้างคืนให้ โดยขึ้นกับความล่าช้าเกิดขึ้น  2. ผู้โดยสารมีสิทธิในค่าชดเชยอื่นๆ หรือไม่ (นอกเหนือจากที่อธิบายไว้ในข้อ 1) ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่น การปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 3. สามารถขอค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่3.1 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงล่าช้า“ล่าช้า” หมายความว่ากระเป๋าของผู้โดยสารเดินทางมาถึงภายในเวลา 21 วันนับจากวันที่ผู้โดยสารมาถึงสนามบินปลายทาง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญามอนทรีออล) ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงสุดประมาณ 1,223 ยูโรสำหรับความล่าช้า อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ • ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ผู้โดยสารควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่โต๊ะรับร้องเรียนเรื่องกระเป๋า โดยปกติมักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่รับกระเป๋า ควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้โดยสารและเก็บสำเนาแบบฟอร์มไว้กับตัวเอง ถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงภายในสามสัปดาห์นับจากเวลาถึงของผู้โดยสาร แสดงว่าเกิดความล่าช้าขึ้น ผู้โดยสารควรจะร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงสายการบินภายใน 21 วัน เพื่อร้องขอค่าชดเชยเรื่องความล่าช้า • เก็บบัตรที่นั่ง (Boarding pass) และป้ายชื่อคล้องกระเป๋าไว้ (baggage tags) • หาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของบริษัทสายการบินถ้าเป็นไปได้ • ถามรายละเอียดผู้ติดต่อของแผนกกระเป๋าและถามว่ามีระบบติดตามข้อมูลออนไลน์เพื่อให้ตรวจสอบสถานะกระเป๋าหรือไม่ • เก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดที่เกิดจากความล่าช้าของกระเป๋าไว้ภายใต้อนุสัญญามอนทรีออล ผู้โดยสารมีเวลา 21 วัน นับจากวันที่กระเป๋าถูกส่งมาถึง เพื่อยื่นแบบเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นลายลักษณ์อักษร 3.2 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางชำรุดเสียหายขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน ระบุความเสียหายที่มีต่อกระเป๋าของผู้โดยสาร ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะมีบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย จากนั้นเขียนจดหมายถึงสายการบินภายใน 7 วัน นับจากวันที่กระเป๋ามาถึง และแนบสำเนาแบบฟอร์ม PIR ไปด้วยเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมาย ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความเสียหาย 3.3 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางสูญหายไปโดยเกิดจากการกระทำของสายการบินกระเป๋าของผู้โดยสารจะถือว่า “สูญหาย” ถ้าผู้โดยสารไม่ได้รับกระเป๋าเดินทางภายใน 21 วัน หรือถ้าสายการบินแจ้งว่าสูญหาย ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน รายงานถึงกระเป๋าที่ยังไม่มา ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย ถ้ากระเป๋าไม่มาภายใน 21 วัน เขียนจดหมายถึงสายการบินเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมายผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความสูญเสีย 4.ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย) เนื่องจากการปิดน่านฟ้า – จะต้องปฏิบัติอย่างไร • แจ้งบริษัทรถเช่าทันทีที่ทำได้ และควรแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร • รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้ • ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่ารถเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ กรณีนี้เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้นผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ขอนำเสนอส่วนที่เหลือในตอนหน้าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point