ฉบับที่ 273 คนนครนายกไม่ต้องการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

        หาก สวนลุมพินีคือพื้นที่ปอดของคนกรุงเทพมหานคร จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้คนทั้งประเทศได้พักผ่อน เชื่อว่าหลายคนย่อมคิดถึง จังหวัดนครนายก ที่มีทั้งน้ำตกและภูเขา แต่ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้กำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ตั้ง โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ตั้งแต่ปี 2536  แม้ประชาชนในพื้นที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ต้น และโครงการมีการทุจริตจนชะงักลง แต่ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยกลับมาดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 3 เพิ่มขนาดจาก 10 เป็น 20 เมกะวัตต์โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนยังคงเดินหน้า คัดค้านอย่างหนัก เช่นเดิม         ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายกสมาคมพลเมืองนครนายก เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายคัดค้านฯ ที่เริ่มรณรงค์ เคลื่อนไหวเพื่อยุติโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน    คุณหมอเริ่มคัดค้านโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มาตั้งแต่ตอนไหน        ไม่ได้เริ่มคัดค้านแต่แรก  โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เริ่มเลยมีมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชาติชาย ปี 2531-2533 เขาบอกว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวที่บางเขน กรุงเทพฯ อยู่ในเมือง เขตชุมชนไม่ควรจะอยู่แบบนี้ควรเอาออกจากเขตชุมชน เขาเลยจะหาที่ใหม่ ต่อมาปี 2536 รัฐบาลอนุมัติโครงการฯ เราในพื้นที่ นักวิชาการต่างๆ ก็คัดค้านกันมาตลอด แล้วโครงการฯ ก็มีการทุจริต จนมีคดีความ ก็ชะงักไป  ในช่วงปี 2549  จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการฯ นี้ก็ถูกนำกลับมาอีก  ผมเข้าไปคัดค้านอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2556 ตอนนั้นยังเป็นขนาด 10เมกะวัตต์  แล้วต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น 20 เมกกะวัตต์  ในช่วงปี 2560         เขามีการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 เลย ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาจัดที่ไหน ครั้งที่ 1 คือผ่านหลักการไปแล้วเรียบร้อย ว่า โอเค ยอมรับให้ไปทำประชาพิจารณ์ต่อในวาระ 2 และ 3 เขาให้กำนันผู้ใหญ่บ้านพาชาวบาน ทั้งหมดเกือบ 600 คน มีการให้เงินคนละ 200 บา เขาบอกว่ามันคือค่าเดินทาง ปกติเราไม่จ่ายเงินในการประชาพิจารณ์ มันคือผิดกฎหมายนะ เพราะหลักการของประชาพิจารณ์ต้องอิสระ เสรี  แล้วต้องแจ้งล่วงหน้า  เหตุผลที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) เลือกพื้นที่จังหวัดนครนายก เพราะอะไร         ผมยังไม่ทราบเลย ถามเขาก็ไม่มีคำตอบ คือพื้นที่องครักษ์ จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไร ปกติการจะเลือกพื้นที่มันจะต้องมีการสำรวจก่อนเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ไหนเหมาะสมบ้าง มีกี่แห่ง แต่ละที่มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรแล้วค่อยมาเลือกว่าสุดท้ายจะเลือกที่ไหน เอกสารนี้เราขอเขาไปนานมาก ไม่เคยได้เลย อยู่ๆ มาบอกว่าจะทำที่องครักษ์เลย มันผิดขั้นตอนขององค์การระหว่างประเทศในการคัดเลือกสถานที่ที่จะตั้งนิวเคลียร์นะครับ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่         คือการเลือกพื้นที่ เขาตัดสินใจมาตั้งแต่ปี 2533 ผ่านมา 33 ปีแล้ว เอกสารขอไปเราก็ไม่เคยมีให้ชาวบ้านได้ดูเลยทั้งที่ข้อมูลนำมาวางเลยสิ่งเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ต่างๆ ได้ และการกำหนดพื้นที่ควรดูความเหมาะสมของพื้นที่เดิมยุทธศาสตร์จังหวัดนครนายกเป็นเมืองไข่แดงที่รอบด้าน ล้อมด้วยจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหมดแล้ว ทั้งสระบุรี ปราจีนบุรี  สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี กทม.  อยุธยา ลพบุรี เหลือแต่จังหวัดนครนายกที่ยังไม่มีอุตสาหกรรม ในปี 2558 เราก็ต่อต้านคัดค้านผังเมืองอุตสาหกรรมไปซึ่งเราทำได้สำเร็จ แต่อยู่ๆ คุณจะมาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ผมว่ามันข้ามขั้นเกินไปมากๆ เลยกับพื้นที่ที่ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติแบบนี้    เรื่องนิวเคลียร์ หลายประเทศมีการดำเนินการไปแล้ว และเราก็มีประวัติศาสตร์ที่เกิดอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นหลายแห่งเช่นเดียวกัน หากมีการเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หรือโครงการมีการทุจริตแบบนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบไหม         มี ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือชื่อย่อคือ IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศนะ เราก็เคยพูดเรื่องนี้ว่าการจะทำอะไร ต้องใช้แนวทางสากล เขาก็บอกว่าเป็นแนวทางเฉยๆ ไม่ใช่กฎหมายไทย ผมมองดูเขาไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้มากทั้งที่ควรจะซีเรียส เหมือนกันเวลาที่เราจะปกป้องพื้นที่ เพราะเราบอกว่า ทั่วโลกเขายกให้เป็นพื้นที่ มรดกโลกนะ ไม่ควรสร้างเขื่อน เขาบอกว่า มรดกโลกไม่ใช่กฎหมาย เป็นแบบนั้น ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มีความคืบหน้าอย่างไรหลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา      ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน คือวันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 เรากับชาวบ้านก็คัดค้าน เขาส่งจดหมายตอบกลับมาว่า ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ขัด ทั้งที่เราถามเขาไปหลายเรื่องแต่ไม่ได้คำตอบเลย อย่างแรกเลยคือพื้นที่จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไรยังไม่มีคำตอบ สอง พื้นที่ตั้งของโครงการฯอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำนครนายก  อาจห่างไม่ถึงกิโลด้วย ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมามีโอกาสที่จะรั่วไหลลงแม่น้ำได้ ด้วยสภาพความเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง เตาซีเมนต์ เหมือนตุ่มใบหนึ่งหากตั้งแล้วโคลงเคลงก็แตกได้แล้วเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง  การปนเปื้อนจะกระจายลงแม่น้ำนครนายก ลงบางประกง คลองรังสิต เข้า กทม. ปทุมธานี เจ้าพระยาได้เลย นอกจากนี้โครงการฯ ยังอยู่ติดชุมชน ตลาดสดองครักษ์ พอเราคัดค้านเรื่องนี้ เขาเลยประกาศยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ไป ซึ่งในต่างประเทศเขาดูผลกระทบกว้างมาก เป็นระยะรัศมี 5 กิโลเมตรเลย ซึ่งในพื้นที่ของโครงการฯ ในระยะ 5 กิโลเมตรของเรา เราจะมีโรงพยาบาล มศว. มีคนไข้วันหนึ่งราว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษา มศว. 10,000 คนขึ้นไปชุมชนรอบนั้นมีวิทยาลัยกีฬา มีวิทยาลัยการอาชีพ บ้านพักผู้สูงอายุ เดี๋ยวเรือนจำไปตั้งอีก ผมคิดว่า ไม่ใช่พื้นที่ที่โครงการฯ จะมาตั้งหากมีสารเคมีรั่วกระจายลงแม่น้ำนครนายก ปลาของชาวบ้านจะกิน หรือจะขายได้ไหม ความมั่นคงในอาหาร เราจะเสียไปทันที         อีกความเคลื่อนไหว คือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปดูงานนิวเคลียร์ของเขา เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้เข้าด้วย พอไปดูแล้ว ผมมองว่ายังไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรเลย  ชื่อโครงการเต็มๆ ว่า โครงการจัดตั้ง เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  จริงๆ ประเทศไทยมีความจำเป็น ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ไหม         คือรังสีมีประโยชน์ เราใช้ทั้งในการแพทย์ วินิจฉัยโรค ใช้รักษาโรคมะเร็ง อันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้ว ใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าอัญมณี ใช้วิเคราะห์การปนเปื้อนในอาหาร ทำให้พืชพันธุ์ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่แบบนี้ครับ ประเด็นเลย คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราพอบอกว่า อยากได้รังสีนิวเคลียร์ก็คิดถึงเตานิวเคลียร์ อยากได้น้ำก็นึกถึงเขื่อน เป็นสูตรสำเร็จขนาดนั้น จริงๆ ต้องบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์มันถูกสร้างได้หลายแบบ หลายวิธี และเราไม่ต้องสร้างเองทั้งหมด หากเราสร้างสารได้ 5 ตัว เราสามารถใช้การแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เราไม่จำเป็นต้องผลิตเองทั้งหมด ทุกตัว         ประเด็นต่อมาคือ เราต้องมีคำตอบว่า ทำไมถึงต้องการตัวไหน เพราะอะไร ความต้องการมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเคยมีผู้เชี่ยวชาญที่จุฬาประเมินเมื่อ 5- 6ปี แล้วเขาบอกว่าถ้าเราไม่ทำนะ เราจะสูญเสีย โอกาสปีละเป็นพันล้าน รายงานการประเมินตัวนี้เราไม่เคยได้เห็น จนเมื่อร้องเรียนอย่างหนัก เขาเลยปล่อยรายงานหลายร้อยหน้าให้ชาวบ้านได้ดูเมื่อใกล้จะจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เราได้ทราบเลย ทั้งที่เขาเพิ่มขนาดเป็น 20 เมกะวัตต์ จนถึงวันนี้ครบ 3 เดือน หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว  คุณหมอจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร            ผมส่งเสียงตลอด ในทุกเวที ทุกสื่อที่มีโอกาส  แล้วเมื่อเขาทำหนังสือตอบเรามาว่าเขาทำตามขั้นตอนกฎหมาย โครงการก็ยังไม่ได้ยุติ ตอนนี้หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10 ก.ย. จะครบ 3 เดือน ยังไม่มี ความชัดเจนเลย เราอาจจะทำจดหมายซักถามและคัดค้านจดหมายที่เขาตอบกลับเรามา   อยากฝากอะไรกับสังคมบ้าง          หนึ่งนะครับ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้งบประมาณเกือบกว่า 2 หมื่นล้าน เป็นเงินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง ตอนนี้ประเทศของเรายากจน งบขัดสนการจะนำเงินไปใช้ต้องมีความหมายต่อเวลานี้อย่างมาก สอง โครงการควรสร้างความกระจ่างเรื่องการทุจริตก่อน ตอนนี้ยังจับตัวคนผิดไม่ได้ ยังฟ้องร้องกันอยู่  โครงการของรัฐใหญ่ๆ ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น มีที่มา ที่ไปชัดเจน และให้ทุกคนได้รับรู้ อะไรที่มันไม่ชัดเจนแบบนี้ ไม่มีที่มา ที่ไป มันคือการใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่า  และปัญหาใหญ่สุดคือการทิ้งกากนิวเคลียร์อายุร้อยปี พันปี หมื่นปี ทิ้งไว้บนฝั่งแม่น้ำนครนายกของเรา เพราะย้ายไม่ได้ ทุบไม่ได้ หนีไม่ได้  ผมมองว่า จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ที่มาพักผ่อนได้ เป็นสวนหย่อมของประเทศแห่งหนึ่งเลย จึงอยากให้ช่วยกันรักษาไว้ ช่วยกันจับตาโครงการฯ นี้ และเอาความจริงให้กับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2561ค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุลิดรอนสิทธิ ขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) พร้อมตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 130 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุผลสำคัญ คือ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีความล้าหลัง ไม่เป็นธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น เป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคตาม มาตรา 46 เพราะมีผลให้คดีทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ไม่จัดเป็นคดีผู้บริโภคอีกต่อไป, มาตรา 27 ประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และมาตรา 68 วรรคแรก ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้บริโภคในคดีทางการแพทย์ มีลักษณะสองมาตรฐาน แตกต่างจากคดีผู้บริโภคประเภทอื่น “การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานแล้วแทน” ผู้พิการทุปลิฟต์ บีทีเอส สะท้อนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย จากกรณี นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ และผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ที่ทุบกระจกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.61 พร้อมโพสต์ภาพลงสื่อโซเชียล เรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้พิการนั้น นายมานิตย์ได้แถลงข่าวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศกว่า เหตุเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนได้ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการด้วย เนื่องจากตนได้เดินทางโดยรถไฟฟ้ามาหลายปี บีทีเอส ให้สิทธิคนพิการขึ้นฟรี แต่มีอยู่สถานีเดียวที่ให้ตนลงชื่อ จึงได้ตัดสินใจขอซื้อตั๋วเอง โดยหลังจากที่ซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ได้พาตัวเองไปยังลิฟต์ ก็พบว่าประตูถูกล็อค มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบ ผ่านไป 5 นาที จึงตัดสินใจชกเข้าไปที่ประตูกระจก นายมานิตย์เองยอมรับว่าผิด แต่ก็บอกว่าเรียกร้องเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ศาลก็เคยมีคำสั่งให้ กทม.-บีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 18 สถานีที่ยังไม่มี ให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้วหลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ก็ยังมีลิฟต์ไม่ครบ โดยหลังจากนี้ 7 วัน หากไม่มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐและบีทีเอส จะขอดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลด้านบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า ระบบลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท แบบแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ซึ่งจะถูกล็อคไว้ เพราะลิฟต์จะสามารถขึ้นตรงไปที่ชานชาลาได้เลย โดยไม่ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว อีกแบบ คือ ลิฟต์ที่ขึ้นไปยังชั้นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้งานได้ บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ก็จะปรับปรุงขั้นตอนให้ผู้พิการมีความสะดวกมากขึ้นสื่อญี่ปุ่นเผยไทยนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเป็นชาติแรก หลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 54 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 สำนักข่าวเจแปนไทม์ส รายงานว่า ไทยได้สั่งซื้อปลาตาเดียว 110 กก. จากท่าเรือโซมะ จ.ฟุกุชิมะ เพื่อนำมาจำหน่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ในกรุงเทพฯ ต่อมา น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการตกค้างของรังสีในปลาตาเดียวลอตดังกล่าว และขอให้เปิดเผยใบรับรองของบริษัทนำเข้า และเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ให้ผู้บริโภคได้ทราบตามสิทธิพื้นฐาน ถัดมา อย.และกรมประมงได้แถลงข่าวว่า ปลาตาเดียวลอตที่ถูกนำเข้าจากฟุกุชิมะนี้ไม่ใช่ลอตแรก และไม่มีการปนเปื้อนรังสี เพราะทางญี่ปุ่นได้ตรวจสอบแล้ว โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. - เม.ย.59 ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในปลาในประเทศไทย จึงให้นำเข้าได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจทั่วไป และให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสุ่มตรวจร้านอาหารทั้ง 12 แห่งที่เป็นข่าว ด้าน น.ส.สารี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาจากการที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจสอบอาหารนำเข้า 7 พิกัด ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือน พ.ค.59 จากแรงผลักดันของธุรกิจส่งออก ซึ่งทำให้เกิดปัญหา การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบมาให้กรมประมง แต่กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กักหรือตรวจสอบซ้ำ และให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังจากปลาหรือสินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว ถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะในครั้งนี้4 หน่วยงาน จับมือร่วมสร้าง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อ 15 มี.ค.61 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) รวม 4 องค์กร ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค ให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมกว่า 300 องค์กร 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ วันที่ 15 มี.ค.61 งานสมัชชาผู้บริโภคแห่งชาติ ประจำปี 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวการทำกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน ควบคู่ไปกับ ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตาม มาตรา 46 เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คาดหวังให้ร่างกฎหมายดังกล่าว ตรงตามเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่แท้จริง โดยร่างกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ จะถูกจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ถูกนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน แตกต่างจาก ร่างของ สคบ. ในหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนงบประมาณต่อหัวประชากรโดยรัฐ, เพิ่มเติมนิยามองค์กรผู้บริโภค ไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ, ให้มีกรรมการจากเขตพื้นที่ 13 เขต, เพิ่มอำนาจสนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทนเข้าไปทำงานในระดับประเทศ ทั้งนี้ เมื่อ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อแจ้งริเริ่มการเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฯ แล้ว และคาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 กระแสต่างแดน

  นิวเคลียร์เริ่มไม่เคลียองค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่น Consumers Union of Japan ได้ทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คาน เรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดหาแหล่งพลังงานใหม่โดยด่วน เพราะเป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่าพลังงานนิวเคลียร์นั้นไม่ใช่ทางเลือกพลังงานที่สะอาด หรือปลอดภัยหายห่วงอีกต่อไป  องค์กรผู้บริโภค CUJ ซึ่งคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตลอดด้วยเหตุผลว่าสิ่งมีชีวิตและกัมมันตรังสีไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้ ยังได้ทำจดหมายไปถึงคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารเรียกร้องของให้คำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้ในการพิจารณากฎหมายว่าด้วยระดับความปลอดภัยของกัมมันตรังสีในอาหารด้วย  เช่น ให้ถือว่ากัมมันตรังสีซีเซียมและไอโอดีน เป็นสารก่อมะเร็ง ให้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่ออวัยวะภายใน และให้ใช้แนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกที่ว่าด้วยภัยพิบัติและสุขภาพ มาประกอบการพิจารณาด้วย ที่สำคัญ CUJ ยังเรียกร้องให้คณะกรรมการดังกล่าวออกมาชี้แจงต่อประชาชนด้วยว่า เหตุใดก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจึงไม่มีกฎหมายเรื่องนี้มาก่อน (น่านสิ) อีกอย่างที่ยังไม่มีในขณะนี้คือ มาตรฐานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ที่ทั่วโลกใช้ร่วมกัน เรียกว่าใครใคร่จะทำด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูง (หรือต่ำ) แค่ไหนก็ทำกันไป เหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ที่ผ่านมาตรฐานยูเครนแต่ไม่ผ่านมาตรฐานของประเทศตะวันตก ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอโนบิล ระเบิดเมื่อปี 2529 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกำหนดมาตรฐานร่วมกันขึ้นมาแต่อย่างใด  แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่ญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า เราทั้งหมดที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ต่างก็มีสิทธิลุ้นรับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีได้โดยทั่วกัน   ข่าวล่าสุดบอกว่า นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส นิโคลา ซาโกซี เสนอให้มีการคุยกันเรื่องนี้เสียที ในการประชุม G20 ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่ข่าวต่อว่าผู้นำประเทศอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร  ขณะนี้ ร้อยละ 90 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในประเทศจีน เกาหลี อินเดีย และรัสเซีย   ข่าวลือกลายเป็นข่าวร้าย (ของคนปล่อย)เฉินเป็นหนุ่มมือไว เลยต้องนอนคุก 10 วันแถมโดนปรับอีก 500 หยวน(ประมาณ 2,300 บาท)  เหตุเพราะแกไปโพสต์ข้อความที่บอกว่าขณะนี้กัมมันตรังสีที่รั่วไหลมากจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ลุกลามมาถึงชายฝั่งทางทิศตะวันออกของเมืองชานตุงแล้วนั่นเอง  เท่านั้นยังไม่พอ แกยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเหล่าสาวกออนไลน์อีกว่า ให้รีบออกไปซื้อเกลือหรือสาหร่ายทะเลชนิดที่มีไอโอดีนสูงมากินกันให้ไว และอย่าลืมซื้อตุนไว้ด้วย แถมยังแนะนำให้งดกินอาหารทะเลเป็นเวลาหนึ่งปี  ข่าวนี้ได้รับการกระจายออกไปอย่างรวดเร็วตามสปีดของอินเตอร์เน็ท และทำให้ผู้คนเมืองนั้นเกิดความตื่นตระหนก จนทำให้เกิดภาวะเกลือขาดตลาดกันในซีเจียง กวางตุ้ง เจียงสี และเสฉวนกันเลยทีเดียว  แต่ไม่นานหลังจากนั้น ผู้บริโภคก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่าเกลือไอโอดีนไม่ได้สามารถช่วยต้านกัมมันตรังสีได้อย่างที่ลือกัน ว่าแล้วก็พากันเอาเกลือกลับไปที่ร้านและขอเงินคืนกันเป็นการใหญ่  นายเฉินแกก็ยอมสารภาพว่าข้อมูลที่แกได้มานั้นก็ไม่ได้มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด นักวิชาการของจีน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความจริงเรื่องนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ โทษฐานที่ให้ข้อมูลกับประชาชนช้าเกินไปในยามที่เกิดภัยพิบัติ ชาวบ้านร้านตลาดอย่างที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้มาก่อนจึงเกิดความตื่นตระหนกเป็นธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในวัยกลางคน และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเชื่อข่าวลือมากกว่าคนวัยอื่นๆ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าก่อนปักใจเชื่อฟอร์เวิร์ดเมล์ อย่าลืมตรวจสอบข้อมูลกับผู้รู้จริง ที่มีตัวตนจริงก่อน   เมื่อ App. ถูกโหวตออก เมื่อ App. Store ของบริษัท Apple วางจำหน่ายโปรแกรมที่อ้างว่าสามารถ “เปลี่ยนผู้ใช้ให้เป็นอดีตเกย์” ได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ปลุกกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิคนรักเพศเดียวกันไม่น้อยทีเดียว App. ดังกล่าวจัดมาโดยองค์กรทางศาสนาที่ชื่อว่า Exodus International ที่อ้างว่าต้องการช่วยให้มนุษย์ทักผู้ทุกนามหลุดพ้นจากการรักชอบเพศเดียวกันมาเป็นการรักชอบเพศตรงข้ามได้ ด้วยพลังของพระเยซู  สาวๆ ฟังแล้วอาจจะแอบดีใจ แต่เรื่องนี้มันไม่ง่ายอย่างนั้น สิ่งที่กลุ่มคนรักร่วมเพศรับไม่ได้คือการที่องค์กรนี้ รวมถึงร้าน Apple ที่นำ Gay Cure App. ไปวางขาย กำลังสื่อสารให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการรักเพศเดียวกันนั้นเป็น “บาปที่เกาะกินหัวใจ” ไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมทางเพศ  กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการละเมิดสิทธิครั้งนี้จึงทำจดหมายไปยังคุณ สตีฟ จ็อบส์ พร้อมกับลายเซ็นของผู้คัดค้านการจำหน่าย App. ดังกล่าว กว่า 146,000 คน  ผลคือทางร้านยกเลิกการขาย App. ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา แปลกดีที่ Apple ยังไม่เข็ดจากการถูกเรียกร้องให้ถอน App. คล้ายๆ กันนี้ที่ชื่อว่า Manhattan Declaration ไปเมื่อปีที่แล้ว   เช้านี้ คุณอาบน้ำหรือยัง เรามาดูสถิติการอาบน้ำของคนฝรั่งเศส ที่ลือกัน(โดยคนที่อื่น) ว่าไม่ถูกกับการอาบน้ำเป็นที่สุด ถึงขั้นที่บางคนยังเข้าใจไปว่าผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายนั้นเป็นสินค้าผิดกฎหมายในฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษ ระบุว่าการสำรวจเมื่อปี 19   98 พบว่าร้อยละ 47 ของคนฝรั่งเศสอาบน้ำทุกวัน ในขณะที่ในเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์กนั้นมีคนอาบน้ำทุกวันถึงร้อยละ 80  องค์กรด้านสุขอนามัยของฝรั่งเศสเขาบอกว่า ถ้าร้อยละ 47 ที่ว่านั้นพูดจริงไม่สร้างภาพ ตัวเลขการบริโภคผลิตภัณฑ์อาบน้ำก็ควรจะอยู่ที่ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ความจริงแล้วมีการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 0.58 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2002 มีการสำรวจที่พบว่า คนฝรั่งเศสเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคสินค้าประเภท เจลอาบน้ำ แชมพู และโรลออน มากที่สุดในยุโรป และร้อยละ 90 ของผู้หญิงฝรั่งเศส ยังใช้น้ำหอมทุกวันอีกด้วย เอาเป็นว่า ถึงจะไม่อาบน้ำ แต่เขาก็ไม่เหม็นหรอกน่า   คนมาเลย์ก็หนี้ท่วมคนมาเลย์ก็เจอปัญหาหนี้ไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน หลักๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่นั่นแล้วจะมีหนี้เป็นสองเท่าของรายได้ตนเองสถิติเขายังระบุอีกว่า ระหว่างปี 2005 ถึง 2010 มีคนมาเลย์มากกว่า 80,000 คน เป็นบุคคลล้มละลาย ด้วยสาเหตุหลักๆ เพราะหนี้จากการเช่าซื้อ(ร้อยละ 24) หนี้จากเงินกู้ส่วนบุคคล(ร้อยละ 12) หนี้จากเงินกู้เพื่อทำธุรกิจ(ร้อยละ 11) หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน(ร้อยละ 8) และอีกร้อยละ 5 เป็นหนี้จากบัตรเครดิต แม้หนี้จากบัตรเครดิตจะไม่มากเมื่อเทียบกับหนื้อื่นๆ แต่น่าสนใจตรงที่ร้อยละ 50 ของคนที่ล้มละลายเพราะหนี้บัตรเครดิตนั้น อายุยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ  แต่ใช่ว่าสูงวัยแล้วจะปลอดภัยจากหนี้  องค์กรผู้บริโภคของมาเลเซียบอกว่า ร้อยละ 72 ของผู้สูงอายุจะใช้เงินสะสมที่ได้รับเมื่อเกษียณจากงานประจำ หมดไปภายใน 3 ปี ทั้งนี้เขาประมาณการไว้ว่าแต่ละคนจะใช้เงินประมาณ 1,300 ริงกิต (13,000) ต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ 500 ริงกิต (5,000 บาท) เป็นค่าอาหารล้วนๆ เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความรู้ทางเรื่องการเงินกับผู้คนแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน และขอให้รัฐบาลมีกฎหมายแบบเดียวกับของอังกฤษที่ควบคุมดูแลบริการทางการเงินทุกประเภทไว้ภายใต้กฎหมาย Consumer Credit Act ฉบับเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >