ฉบับที่ 99 โตโยต้าคัมรี่ ACV30 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน

เป็นเรื่องยากที่คนซื้อรถจะรู้ว่าถุงลมนิรภัยที่ติดมากับรถนั้น จะสามารถทำงานได้เจ๋งลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเหมือนอย่างที่โฆษณาไว้หรือเปล่า จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการชนเกิดขึ้นนั่นแหละ นับเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่ต้องลงทุนไม่น้อยเพื่อจะรู้ผลเพียงว่ามันทำงานหรือไม่ทำงานด้วยโฆษณาถึงสมรรถนะในการขับขี่ที่ดีเยี่ยม และมีระบบถุงลมนิรภัยที่ได้รับการรับรองว่าถูกออกแบบมาให้ทำงานเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงทางด้านหน้าตลอดทั้งแนวทำให้คุณจิระ(นามสมมติ) ตัดสินใจซื้อรถเก๋งโตโยต้าคัมมรี่ ACV30 ด้วยเงิน 1.5 ล้านเศษ ๆ เมื่อประมาณปี 2545 ขับมาหลายปีดีดักก็ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุให้ได้ทดลองใช้ระบบถุงลมนิรภัยสักครั้ง ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีคนใช้รถหน้าไหนอยากจะทดลองใช้มันด้วยซ้ำหรอกครับ คุณจิระจึงเหมือนคนใช้รถส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถยังสามารถทำงานได้ตามปกติหากมีการชนเกิดขึ้นจนเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณจิระได้ขับรถยนต์ไปตามถนนสายดอยสะเก็ด-เชียงราย ซึ่งเป็นเส้นทางตามสันเขามีโค้งหลายโค้ง แม้จะขับด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแต่คุณจิระก็ไม่รอดขับไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนทางมาอย่างแรงจนรถยนต์ได้รับความเสียหายกันทั้งสองฝ่าย ส่วนถุงลมนิรภัยที่อยู่ในรถแทนที่จะทำงานมันกลับเงียบเฉยไม่มีปฏิกิริยาใด ๆปล่อยให้ทั้งคนขับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัสกันทั้งคัน ไม่ว่าจะป็นคุณจิระคนขับได้รับบาดเจ็บซี่โครงซ้ายร้าว เจ็บหน้าอก ภรรยาของคุณจิระที่นั่งคู่กันมาด้านหน้ากระดูกไขสันหลังช่วงกลางหลังถึงกับแตกละเอียด ในขณะที่เพื่อนซึ่งนั่งมาทางด้านหลังของคนขับได้รับบาดเจ็บช้ำบริเวณหน้าอกซ้าย แก้มบวมคุณจิระคิดว่า ถ้าถุงลมนิรภัยทำงานได้จริง ผู้โดยสารจะไม่บาดเจ็บหนักถึงขนาดนี้ และโตโยต้าควรรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณจิระได้ส่งรถไปให้บริษัท โตโยต้าเชียงใหม่ จำกัด ตรวจสอบความเสียหายและสาเหตุที่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2552 ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาในเดือนมีนาคม 2552 โดยโตโยต้าสรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า1. ลักษณะการชน เป็นการชนปะทะแบบเฉียงและการชนในลักษณะแบบมุดด้านใต้ซึ่งตำแหน่งที่รถถูกชนอยู่บริเวณด้านบนเหนือแชสซีดูดซับแรงกระแทก ซึ่งทำให้แรงปะทะที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทางด้านหน้าซ้าย-ขวาทำงาน ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีการส่งสัญญาณไปยังกล่อง ECU SRS จึงทำให้ระบบถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยจึงไม่พองตัวออกมาตามเงื่อนไขการทำงานของระบบถุงลมนิรภัย2. การชนบริเวณตรงกลางที่ทำให้คานรับแรงกระแทกจากการชนงอตัวเข้าด้านในบริเวณตรงกลาง การชนในลักษณะนี้จะทำให้คานดูดซับแรงจากการชนเสียรูปและดูดซับแรงการชนแล้วเกิดแรงดึงให้แชสซีดูดซับแรงเสียรูปตามแรงบดึงของการชน จึงทำให้แรงปะทะที่เกิดจากการชนไม่ได้รับแรงกระแทกโดยตรงจากจากการชน ดังนั้นแรงหน่วงที่เกิดขึ้นจากการชนจึงถูกซับแรงและแรงหน่วงที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงพอที่จะไปกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ถุงลมนิรภัยทำงานได้ ดังนั้นระบบถุงลมนิรภัยจึงไม่ทำงาน ถุงลมนิรภัยไม่พองตัว 3. จากการตรวจสอบระบบการสั่งงานของระบบ Air bag จะแยกอิสระถึงแม้ว่าวงจรเซนเซอร์ด้านซ้ายจะขาดวงจรเนื่องจากการชน แต่เซนเซอร์ด้านขวาและเซนเซอร์ตรงกลางก็ยังสามารถที่จะสั่งการทำงานของถุงลมนิรภัยได้ถ้าแรงปะทะแรงหน่วงที่เกิดขึ้นเพียงพอที่จะทำให้เซนเซอร์ทั้ง 2 ที่เหลือทำงานอ่านเสียยืดยาว ถ้าสรุปให้ง่ายกว่านั้นโตโยต้าพยายามยืนยันนั่งยันว่า การทำงานของระบบถุงลมนิรภัยในรถรุ่นนี้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ความผิดพลาดครั้งนี้มีนิดเดียวคือ รถชนกันเบาไปหน่อยไม่พอที่จะปลุกระบบถุงลมนิรภัยให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็นเป็นใครได้ฟังผลการตรวจสอบแบบนี้ก็ต้องโมโหกันบ้างล่ะครับ คุณจิระก็ไม่แพ้กัน“รถชนจนยับ คนในรถเจ็บหนักแต่ถุงลมไม่ออก ตอนซื้อรถยนต์เขาบอกว่าถ้าชนที่ความเร็ว 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถุงลมก็จะพองออกปกป้องคนที่อยู่ในรถ แต่ในวันนั้นผมขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังเป็นการชนแบบประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมา แต่ถุงลมไม่ออกทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีจดหมายส่งมาว่าบริษัทจะไม่รับผิดชอบเพราะเราชนเบาไปถุงลมเลยไม่ออก ทำให้เรารู้สึกแย่เอามากๆ ตอนนี้รถก็ไม่มีใช้ งานก็ทำไม่ค่อยได้เพราะอาการบาดเจ็บ อย่างนี้เราจะเรียกร้องอะไรได้ไหมครับ”แนวทางแก้ไขปัญหาน่าเห็นใจครับดูจากสภาพยับเยินของรถและอาการบาดเจ็บของผู้โดยสารแล้ว งานนี้ไม่น้อยเลย และเมื่อดูจากรายงานผลการตรวจสอบของโตโยต้าพบความเสียหายของรถจากการชนหลายจุดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการชนครั้งนี้ไม่เบา จากการตรวจวาสอบของโตโยต้าพบความเสียหายภายนอกพบบริเวณด้านหน้ารถ กันชน ไฟหน้าและฝากระโปรงหน้าได้รับความเสียหาย ตรวจสอบภายในห้องเครื่องยนต์พบว่าเครื่องยนต์ถูกกระแทก ฝาหน้าเครื่องแตก หม้อน้ำเสียหาย แบตเตอรี่แตก และกล่องฟิวส์ถูกกระแทก ตรวจสอบคานรับแรงกระแทกด้านหน้ามีการเสียรูปงอตัวบริเวณตรงกลาง ตรวจสอบโครงสร้างแชสซีดูดซับแรงการชน(GOA) ด้านหน้าซ้าย-ขวาได้รับความเสียหายงอตัวเข้าด้านในต่อเนื่องจากการชนตรงกลาง ที่สำคัญตรวจสอบภายในห้องโดยสารไม่พบความเสียหายและถุงลมนิรภัยไม่ทำงานดังนั้นผู้บริโภคจึงมีสิทธิเต็มร้อยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายทางด้านร่างกายสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการไม่ทำงานของถุงลมนิรภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตที่เกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ และอาจขอให้ศาลท่านมีคำสั่งเรียกเก็บรถยนต์รุ่นนี้คืนจากผู้ใช้รถทุกคนได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นรถยนต์ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถจริงเบื้องต้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่ามีความเสียหายใดเกิดขึ้นบ้างคิดเป็นมูลค่าหรือตัวเงินจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นให้ทำจดหมายเรียกค่าเสียหายดังกล่าวไปยังบริษัทรถยนต์เพื่อให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเขาอาจจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้จำนวนหนึ่ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ หากผู้บริโภคเห็นว่าค่าเสียหายที่ทางบริษัทตอบกลับมาไม่สมเหตุสมผล สามารถที่จะยืนฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคในภายหลังก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >