ฉบับที่ 178 สถานการณ์ อาหาร GMO ในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการร่างกฎหมายจีเอ็มโอ (GMO- Genetically Modified Organism) หรือร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ผลักดันโดยกลุ่มผู้สนับสนุนจีเอ็มโอและใกล้ชิดกับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี แล้ว กำลังถูกเสนอไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันเชื่อว่าจะผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นใบผ่านเพื่อเปิดทางสะดวกให้กับการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเปิดช่องโหว่ให้บรรษัทที่ทำการทดลองจีเอ็มโอในภาคสนาม และขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ควรปรับปรุง เพราะมีหลายข้อที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และพิธีสารเสริมนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหาย เช่น กรณีผลกระทบจากกรณีจีเอ็มโอนั้น ในพิธีสารฯ ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ และอนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ในร่างกฎหมายระบุว่า ต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น สำหรับประเทศเยอรมนี ที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี GMO ก็ตกอยู่ในฐานะมัดมือชก ซึ่งก็ยังถูกบังคับให้บริโภคทางอ้อมเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายของเยอรมนีเข้มงวดมากในเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มี ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และองค์กรผู้บริโภคก็เรียกร้องให้รัฐบาลแบน อาหารที่มี GMO เป็นองค์ประกอบ   เคยมีกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่น ซากเซน อันฮาลต์ (Sachsen Anhalt) เป็นโจทก์ ฟ้องร้องรัฐบาลกลางที่ออกกฎหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกพืช GMO และควบคุมอย่างเข้มงวด ในกรณีที่มีการปนเปื้อน การผสมพันธุ์พืชข้ามแปลง เกษตรกรที่ปลูกพืช GMO จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ฝ่ายโจทก์อ้างว่า เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ยืนยันถึงหลักแห่งความปลอดภัยและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จึงยกคำร้องของของโจทก์ จนถึงปัจจุบันนี้ พื้นที่การทำการเพาะปลูก พืช GMO ในเยอรมนี เหลือน้อยมาก และไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากถูกต่อต้านจากผู้บริโภคและเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ เยอรมนีมีคำสั่งประกาศห้ามปลูก ข้าวโพด GMO Mon 810 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามแต่ก็มีช่องทางอื่นที่สามารถหลุดรอดเข้ามาได้ จากการนำเข้าผลผลิตทางเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง คาโนลา (พืชสำหรับผลิตน้ำมันพืช) และเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์บางราย ก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ GMO เลี้ยงสัตว์ด้วย ในอียูอนุญาตให้ใช้สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม GMO ประมาณ 50 ชนิด ในเยอรมนี รัฐบาลห้ามจำหน่ายพืชผัก เนื้อสัตว์ ที่เป็น GMO ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ยกเว้นอาหารบางชนิดเช่น ช็อคโกแลต จาก อเมริกา ซีอิ๊วในร้านอาเซียนช็อป แต่ต้องติดฉลากว่า GMO ให้เห็นอย่างชัดเจนเรื่องการติดฉลาก หากผลิตภัณฑ์ชนิดใดมีส่วนผสมของ ผลิตภัณฑ์ GMO น้อยกว่า 0.9 % ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องติดเครื่องหมาย GMO สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่า จะเป็น เนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจาก สัตว์ ที่เลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ GMO ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องฉลาก เนื่องจาก การย่อยของกระเพาะสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยพืช GMO สามารถย่อยสลาย DNA ของพืชชนิดนี้ได้ แต่จากผลการศึกษาปัจจุบันมีการตรวจพบ ว่า มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมในสัตว์ที่เลี้ยงด้วย พืช GMO ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น หน่วยงานเฝ้าระวังทางด้านอาหารของเยอรมนี ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางอาหารมนุษย์เป็นระยะๆ พบว่า หนึ่งในสี่ ของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มี GMO ปนอยู่ พบว่าในน้ำผึ้งที่นำเข้ามาจำหน่ายในเยอรมนี มีการปนเปื้อนของ GMO สำหรับข้าวโพดพบมากถึง 6% และ และพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 7 ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 3 ตัวอย่างมีการปนเปื้อน GMO สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด (ยกตัวอย่าง ชิปข้าวโพด (maize chip) ที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์) และยังตรวจพบมะละกอนำเข้ามี่มีการปนเปื้อน GMO (โชคดีที่ วารสารสำหรับผู้บริโภคที่มีสมาชิกมากกว่า หนึ่งแสนราย ไม่ได้ใส่ชื่อประเทศที่ส่งออกไปว่า เป็นประเทศไทย) สำหรับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงความเสี่ยงจากผลกระทบทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากGMO สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจาก GMO ภายใต้ฉลาก GMO free ซึ่งเป็นการติดฉลากแบบสมัครใจ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ที่ตระหนักและให้คุณค่ากับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากในการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องไม่มีการใช้ ส่วนผสมที่เป็น GMO และต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัย ไม่ให้มีการปนเปื้อนของ GMO ในฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์ ในกรณีที่เราจะผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ นั้น เราคงต้องเลือกระหว่าง GMO กับ เกษตรอินทรีย์ อย่างชัดเจน ว่าจะเอาแบบไหน สำหรับผมเองในฐานะผู้บริโภค ชัดเจนครับว่า “ไม่เอา GMO” ครับ   (ที่มา วารสาร test 2/2014)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point