ฉบับที่ 271 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2566

เตือน! “อย่าซื้อขนมโรลออน” ที่ลักลอบนำเข้าไทย        3 กันยายน 2566 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า พบขนมบรรจุขวดที่มีหัวเป็นลูกกลิ้ง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โรลออน” วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน และช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต สังเกต คือ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลข อย. รวมถึงไม่ทราบส่วนประกอบหรือส่วนผสม และไม่มีผู้นำเข้า         ทางอย.จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมาบริโภค ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงได้รับอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งอาจมีสารปนเปื้อนจากการผลิตจากภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ขนมที่ได้รับอนุญาตต้องมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วน  สำหรับ ผู้นำเข้าและจำหน่าย ขนมที่ไม่ขออนุญาตนำเข้ามีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  BTS ชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าขัดข้องไม่ยอมปิดขณะเดินทาง         จากกรณีที่มีดราม่าระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง โดยได้มีผู้ใช้ติ๊กต๊อกบัญชี @star111042 ได้โพสต์คลิปประตูรถไฟฟ้า BTS เปิดขณะวิ่งอยู่ พร้อมแคปชันระบุว่า "เมื่อคนซวยๆ อย่างฉันมาขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเลยซวยไปด้วย” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่มีประตูรถไฟฟ้าเปิดค้างไว้ ขณะเดินทางระหว่างสถานีบางจาก-สถานีปุณญวิถี หลังเกิดเหตุ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบความปลอดภัยมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า (TC) จึงรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) และประสานเจ้าหน้าที่ไปยืนดูแลบริเวณประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้ประตู พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการแก้ไขประตูดังกล่าวที่สถานีถัดไป        อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว และประตูที่ขัดข้องอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก อย่าซื้อ นมแม่แช่แข็งให้ลูกกิน         20 กันยายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์เตือนกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์ ซื้อ-ขาย นมแม่แช่แข็ง โดยมีการระบุข้อความว่า "มีคนไปโพสต์ในกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง บอกว่ามีนมแม่แช่แข็งเหลือ จะขาย คนก็แชร์ไปหลายพันละ อันนี้เตือนแม่ๆ ว่า นมแม่นี่ ของใครของมัน ไม่ควรเอานมแม่คนอื่นมาป้อนให้ลูกตัวเอง ถ้าไม่ผ่านการตรวจเชื้อ และผ่านธนาคารนมแม่มาแล้ว เพราะนมแม่ เป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสที่จะมีเชื้อต่างๆ จากแม่ที่ผลิตนมนั้น เช่น HIV ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี EBV CMV herpes  ซึ่งหากเด็กติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่” นอกจากนี้  ปกติหากนมแม่เหลือและอยากแบ่งปันให้คนอื่น  จะมีธนาคารนมแม่ ที่เขาจะตรวจสอบว่าแม่ติดเชื้อไหม นมปลอดภัย มีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยาต่างๆ หรือไม่ เพื่อให้เด็กที่กินนั้นปลอดภัย Bangkok Airways ประกาศ “ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร สัมภาระก่อนบิน”         17 กันยายน 2566 หลังจากที่สายการบินต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ได้มีการออกกฎชั่งน้ำหนักและสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อสำรวจและนำมาคำนวณกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิงนั้น         ทางบางกอก แอร์เวย์ส สายการบิน ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย โดยระบุข้อความดังนี้ “เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนสากล เรื่องการใช้ข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับคำนวณน้ำหนักผู้โดยสารและสัมภาระถือขึ้นเครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักของเที่ยวบินอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำหนดน้ำหนักอากาศยานสำหรับการวิ่งขึ้นสูงสุด (Maximum Take-Off Weight) และทำการบินได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งแต่ 15 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. 66 เป็นต้นไป บริษัทขออนุญาตเก็บข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารรวมสัมภาระถือขึ้นเครื่อง ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง จึงขอความร่วมมือจากท่านผู้โดยสารชั่งน้ำหนัก นอกจากนี้  บริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานเท่านั้น มพบ.เผยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดจะได้รับเงินคืนจาก “Thai Air Asia X”         หลังจาก วันที่ 31 สิงหาคม 66 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัสเที่ยวบิน XJ บริการสายการบินราคาประหยัด เส้นทางไปต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี         15 กันยายน 2566 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ)” มีผลครอบคลุมเจ้าหนี้ทุกคนที่เป็นผู้โดยสาร ทั้งผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่างได้สิทธิรับคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องทั้ง 2กรณี ส่วนที่ก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 11 คน พากันมายื่นร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนบาทนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนให้ดำเนินการหาทนายฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทาง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ยื่นคำร้องค้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำหน่ายคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเพราะศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น คดีอื่นๆ ที่มีการยื่นฟ้องหรือบังคับคดีจึงต้องหยุดชั่วคราวเพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ศาลมีข้อแม้ว่า หากสายการบินไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา ก็จะเดินหน้าในกระบวนการทางศาลต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้หน้าอกหย่อนยานจริงหรือไม่

เต้านมหรือหน้าอก เป็นอวัยวะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้หญิง ใครมีหน้าอกเต่งตึงได้รูปสวย แน่นอนว่าจะภูมิใจเป็นพิเศษ แต่ถ้าใครมีน้อยหรือว่าเริ่มจะหย่อนคล้อย ก็ดูจะเดือดเนื้อร้อนใจอยู่ จนหลายคนต้องพึ่งพามีดหมอทำศัลยกรรมให้สวยสมใจ สาเหตุแห่งความไม่เที่ยงของเต้านมนั้น มีหลายประการ แต่ไม่น่าเชื่อเลยว่า หลายคนยังมีความเชื่อว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น อาจเป็นสาเหตุให้หน้าอกหย่อนคล้อยลงได้ ซึ่งนับเป็นมายาคติที่เป็นอุปสรรคหนึ่งในการรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระดับนานาชาติกันเลย  ความเชื่อนี้เกิดจากความไม่รู้ จนทำให้เกิดความกลัวไปก่อน ดังนั้นคราวนี้เราจะมาคุยเรื่อง “เต้า” กันล่ะนะ จะได้เลิกเชื่อผิดๆ กันเสียที ถ้าคุณผู้หญิงท่านใดเชื่อว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้เต้านมหย่อนยาน ขอบอกเลยว่า คุณต้องตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการไม่พยายามมีลูกไปเลยถึงจะถูกต้อง เพราะสาเหตุที่ทำให้เต้านมขยายตัวและเปลี่ยนรูปร่าง คือการที่คุณตั้งครรภ์ ไม่เกี่ยวกับการให้นม เพราะไม่ว่าคุณจะให้ลูกดูดนมจากเต้าหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะเต้านมที่ขยายตัวเต็มที่ในช่วงของการตั้งครรภ์(และให้นม) ก็จะค่อยๆ ฟุบลงไปเอง สิ่งนี้มันเป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ผลการวิจัย* พบว่า การให้นมลูกไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้นมยานแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่แท้จริงคือ ขนาดของหน้าอกที่ขยายและการบีบตัวของต่อมน้ำนมขณะตั้งครรภ์ต่างหากที่ส่งผลให้เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง   ผลการวิจัยสรุปไว้ว่า ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้หน้าอกหย่อนคล้อย ได้แก่ 1. อายุ เวลาที่ผ่านเลยไปทำให้คอลลาเจนและอีลาสติน ที่ช่วยพยุงให้หน้าอกเต่งตึง จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ 2. น้ำหนักตัวที่ลดลงแบบฮวบฮาบ มากกว่า 50 ปอนด์ (ประมาณ 20 กก.) ไขมันที่สูญเสียไปอย่างรวดเร็ว คือไขมันช่วงเต้านมที่จะหายไปเป็นอันดับแรก 3. ค่า BMI สูง (น้ำหนักไม่สมดุลกับส่วนสูง) 4. หน้าอกใหญ่ จะหย่อนคล้อยไวกว่าหน้าอกเล็ก อันนี้เป็นผลจากแรงโน้มถ่วงของโลก 5. การตั้งครรภ์ ยิ่งมีลูกหลายคนยิ่งเพิ่มโอกาสที่ทำให้หน้าอกเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มาก(ยืดๆ ยุบๆ) ให้นึกถึงสภาพของถุงเท้าที่ถอดเข้าถอดออกบ่อยๆ ย่อมย้วยเป็นธรรมดา 6. มีประวัติสูบบุหรี่ สารเคมีบางอย่างในบุหรี่ไปทำลายอีลาสตินในผิว ส่งผลให้หน้าอกคล้อยลง   นมแม่ดีที่สุด เมื่อคิดจะมีลูกแล้ว การให้นมลูกเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หญิงควรจะคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก การดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหน้าอกคล้อยได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นอย่าไปมัวกังวลว่าให้นมลูกแล้วหน้าอกจะหย่อนคล้อย ซึ่งมันไม่เป็นความจริง ได้โปรดรับทราบทั้งคุณพ่อและคุณแม่นะคะ   --------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องจริงของหน้าอก 1.หน้าอกของคุณผู้หญิงแทบไม่ต้องบำรุงรักษาอะไรเลย มันจะยังคงมีสุขภาพดีและเซ็กซี่ได้โดยแค่อย่าไปยุ่งกับมันมากเท่านั้น 2.การออกกำลังกายจะช่วยกระชับหน้าอกของคุณ แต่ไม่ช่วยทำให้ใหญ่ขึ้น 3.หน้าอกไม่ชอบจ็อกกิ้ง! ดังนั้นควรสวมสปอร์ตบรา หรือควรเลี่ยงไปออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น เช่น เดินเร็วหรือแอโรบิก 4.หน้าอกข้างซ้ายของผู้หญิงมักจะมีขนาดใหญ่กว่าข้างขวา เหมือนกับมือ เท้า น้อยมากที่จะเจอผู้หญิงที่มีขนาดหน้าอกสองข้างเท่ากันเป๊ะ 5.หน้าอกของผู้หญิงมีสิทธิขยายได้จนถึงอายุ 20 กว่าๆ แต่มันจะขยายได้เร็วที่สุดในช่วงเป็นวัยรุ่น และเมื่อมันขยายเต็มที่ที่ควรจะเป็นแล้ว มันก็จะไม่ขยายใหญ่ขึ้นอีก ยกเว้นแต่คุณจะอ้วนขึ้น ท้อง หรือ รับประทานฮอร์โมน   *ที่มา http://www.phdinparenting.com/2010/04/04/sagging-breasts-whats-to-blame/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 137 กระแสต่างแดน

สวรรค์ของคนเป็นแม่ กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปสำรวจสุขภาวะของบรรดาคุณแม่รอบโลก ผ่านรายงานว่าด้วยสุขภาวะของมารดาทั่วโลกประจำปี 2012 (Mother’s Index 2012) ที่องค์กร Save the Children เขาเก็บข้อมูลจาก 165 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดอันดับให้คะแนนประเทศเหล่านั้นโดยแยกประเทศเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่มก่อนจัดอันดับ ได้แก่ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 43 ประเทศ กลุ่มที่กำลังพัฒนา 80 ประเทศ และกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนาอีกมากอีก 42 ประเทศ ----- เกณฑ์การให้คะแนน สุขภาวะของเด็ก                                                 ร้อยละ 30 สุขภาพของสตรี                                                  ร้อยละ 20 สถานภาพทางการศึกษาของสตรี                          ร้อยละ 20 สถานภาพทางเศรษฐกิจของสตรี                           ร้อยละ 20 สถานภาพทางการเมืองของสตรี                            ร้อยละ 10 ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่ม “พัฒนาแล้ว” ที่มีคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงที่สุด นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม ไอร์แลนด์ 10.  เนเธอร์แลนด์ ในกรณีที่คุณสงสัย สหรัฐอเมริกาได้อันดับที่ 25 ในขณะที่ญี่ปุ่นได้อันดับ 30  ส่วนสเปน แชมป์ฟุตบอลยูโรหมาดๆ นั้นได้อันดับที่ 16 ---- คุณแม่ชาวนอร์เวย์สามารถลาคลอดได้ถึง 9 เดือน โดยยังได้เงินเดือนเต็มจำนวน และถ้าลาเพิ่มอีก 10 สัปดาห์ก็ยังได้เงินเดือนร้อยละ 80 ที่สำคัญเมื่อกลับเข้าทำงานแล้วยังสามารถขอลาไปดูแลลูกระหว่างวันได้อีก และนั่นคงเป็นสาเหตุให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นอร์เวย์สูงถึงร้อยละ 99 และร้อยละ 70 ของทารกที่นั้นยังได้กินนมแม่จนอายุ 3 เดือน ผู้หญิงชาวนอร์เวย์ได้รับการศึกษาเฉลี่ย 18 ปี และมีอายุขัยเฉลี่ย 83 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่เพื่อการวางแผนครอบครัว นอกจากนี้ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเท่าเทียมทางรายได้ของสตรีชาวนอร์เวย์ก็สูงด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีข้อกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่ใช้สิทธิลาคลอด ซึ่งเขากำหนดไว้ที่ 3 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และนอกจากนี้อัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์สูงที่สุดในกลุ่มอีกด้วย ---- 10 อันดับประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่คุณภาพชีวิตของแม่และเด็กสูงสุด คิวบา อิสราเอล บาร์เบโดส อาร์เจนตินา ไซปรัส เกาหลีใต้ อุรุกวัย คาซัคสถาน มองโกเลีย 10.  บาฮามาส ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 16 ของกลุ่ม ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 20  41  52  และ59 ตามลำดับ บราซิลอยู่อันดับที่ 12  จีนอันดับที่ 14 ส่วนอินเดียตามมาห่างๆ ที่อันดับ 76 ---- 10 อันดับท้ายซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ยังต้องการการพัฒนา ที่แม่และเด็กยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควรได้แก่ คองโก ซูดานใต้ ซูดาน ชาด เอริเทรีย มาลี กินี-บิสเซา เยเมน อัฟกานิสถาน 10.  ไนเจอร์ ประเทศกัมพูชา พม่า และลาวอยู่ในอันดับที่ 6  7 และ 11 ตามลำดับ ที่ประเทศไนเจอร์นั้น ผู้หญิง 1 ใน 30 คนมีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งครรภ์ และเด็ก 1 ใน 7 คนจะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี โดยเฉลี่ยแล้วพวกเธอได้รับการศึกษาประมาณ 6 ปี และมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายมากกว่าครึ่งหนึ่ง ---- นมแม่นานาชาติ ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยอดเยี่ยม ได้แก่ นอร์เวย์ สโลเวเนีย สวีเดน และลักเซมเบอร์ก ในขณะที่ออสเตรเลีย มอลต้า และสหรัฐฯ  เป็น 3 ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงแค่ร้อยละ 35 เท่านั้น ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำเกินไปนั้น ทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยของทารกถึง 13,000 ล้านเหรียญต่อปี   ในกลุ่มอาเซียนนั้น พม่า และกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนระดับ “ดี” ในขณะที่ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียได้ระดับ “พอใช้” ส่วนเวียดนามอยู่ในระดับ “แย่” นอร์เวย์ได้มีการนำเนื้อหาในหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารเสริมและอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) มาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการขอให้รัฐบาลของประเทศที่ร่วมลงนามนั้นมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และในขณะเดียวกันก็ห้ามการโฆษณานมผงหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่อื่นๆ ห้ามการแจกสินค้าตัวอย่างแก่ทั้งบรรดาคุณแม่และบุคลากรทางการแพทย์ และห้ามการใช้งบของระบบสุขภาพในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์นมผง เป็นต้น   ประเทศไทยของเราก็ลงนามยอมรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2524 แล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมากนัก เพราะภาพคุณแม่หมาดๆ หิ้วตะกร้าผลิตภัณฑ์นมผงที่ได้รับแจกจากผู้ผลิตในวันที่ออกจากโรงพยาบาลก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ ---- นมแม่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของทารก เพราะนมแม่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย การเป็นโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ หรือแม้แต่การตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ (SIDS: Sudden Infant Death Syndrome) ของทารกได้ และตัวคุณแม่เองก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่น้อยลงด้วย ไหนจะช่วยลดโลกร้อนได้อีก เพราะนมแม่ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดเก็บ จัดส่ง หรือแช่เย็น และมาจากแหล่งพลังงานทดแทน เรียกว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของคุณแม่ต่อสังคมด้วยนั่นเอง ----

อ่านเพิ่มเติม >