ฉบับที่ 119 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2553 2 ธันวาคม 2553นักวิจัยเตือน ผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยที่ชวนตกใจ ระบุผักที่ไฮโดรโปนิก รับประทานมากอาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง จากไนเตรทที่สะสมมากับผัก น.ส.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ นักวิจัยจากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับทีมวิจัย ร่วมกันศึกษาการสะสมไนเตรทในพืชผักที่มากเกินไป ซึ่งหากรับประทานเข้าไปไนเตรตจะไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำทำให้เกิดมะเร็ง  ผลการศึกษาพบว่าผักที่ปลูกในน้ำยาไฮโดรโปนิกมีแนวโน้มการสะสมไนเตรตสูงสุด เพราะวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกมีการเติมน้ำยาให้พืชเจริญเติบโตมากเกินความต้องการตามธรรมชาติของผัก โดยผักคะน้าไฮโดรโปนิกมีค่าเฉลี่ยของไนเตรตสูงที่สุด รองลงมาคือ ผักบุ้ง  ดังนั้นจึงอยากขอให้เกษตรกรและผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกลดปริมาณการใส่น้ำยาหรือเติมน้ำเปล่าให้มากขึ้น ผู้บริโภคควรเลือกผักไฮโดรโปรนิกจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนการปลูกผักแบบอื่นๆ ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป -------------------------------------------------------------------------------------------------------   16 ธันวาคม 2553ส่งเสริมสมุนไพรใช้รักษาโรคทั่วหน้า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมากขึ้น โดยในปี 2554 นี้ จะผลักดันนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ และให้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุแพทย์แผนไทยที่จบปริญญาตรี ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1,000 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังไม่นับรวมแพทย์พื้นบ้านทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับใบประกอบโรคศิลป์แล้วอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาและการนวดเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังเตรียมตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยทำให้สมุนไพรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำมาผลิตเป็นยาหรืออาหารเสริมอย่างถูกต้องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น -----------------------------------------------------------------------------------------------------   15 ธันวาคม 2553โฆษณานมเด็กเกินจริงมีสิทธิโดนแบน ถึงเวลาคุมเข้มโฆษณาอาหารสำหรับทารก เมื่อที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตรวจสอบการโฆษณานมผงในเด็ก 0-2 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติคุณแม่ยุคใหม่ ให้หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น  พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการชมรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 เนื่องจากมีการโฆษณาและแจกตัวอย่างนมผงในโรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งการโฆษณานมผงสำหรับทารกในปัจจุบันนี้สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ากินแล้วจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีหรือทำให้เด็กฉลาดกว่าเด็กคนอื่น ทำให้มีพ่อ-แม่จำนวนมากหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงกันมากขึ้น ดูได้จากยอดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี  พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเริ่มใช้ในปี 2555 เพื่อควบคุมการส่งเสริมการขายในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิด โดยกฎหมายฉบับนี้จะห้ามทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายใดๆ ในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กทารกถึงอายุ 2 ปี ------------------------------------------------------------------------------------------------------     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติร้องเรียนปี 53 หนี้บัตรเครดิตครองแชมป์!!! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการทำงานการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2553 ที่ผ่านมา ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด ถึง 94% รองลงมาเป็นเรื่อง บริการสาธารณะ สินค้าและบริการ โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์การรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีกระทรวงคมนาคม กรณีดอนเมืองโทลเวย์ เป็นคดีสาธารณะ สนับสนุนการฟ้องคดีให้ผู้บริโภคจำนวน 386 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 178 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 212,576,590.07 บาท และมีคดีที่สิ้นสุดแล้วจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 27,244,803.39 ล้านบาท โดยรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการช่วยเหลือทั้งสิ้น 798 คดี  สำหรับลักษณะปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตที่มาร้องเรียนนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นหนี้บัตรหลายใบ ไม่มีความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน ถูกติดตามทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นถูกฟ้องศาล แนะรัฐฯ ต้องออกกฏหมายคุ้มครองอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หรือการมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐกำกับดูแล เป็นต้น  มูลนิธิฯ ตั้งความหวังว่าจะได้เห็น องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในปี 2554 นี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐฯ เข้ามาควบคุมดูแลกิจการที่คิดทำธุรกิจแบบผูกขาด และให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการอาหารปลอดภัย ปรับปรุงคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบต่อผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------   “สบท.” เดินหน้าทำงานต่อไปในยุค “กสทช.” นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ยืนยันว่า งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะมีมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์   และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. คอยรองรับอยู่ แต่เรื่องตัวสถาบันจะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอหลังการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งแนวโน้มอาจจะถูกควบรวม และแต่งตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคใหม่  ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการ สบท.จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการทุกรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กสทช. ใหม่นี้ว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิร้องเรียนปัญหาได้ตามเดิม เพราะการจัดตั้งสบท. มีความชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เนื่องจาก สบท.มีผลสถานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงาน กทช. ยังมีสถานะอยู่ตามเดิม  นอกจากนี้ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศได้เสนอ 4 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. คือ 1. เร่งรัดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน และคงบทบาทการทำงานของ สบท. ต่อไป 2. เร่งออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ กรณี เอสเอ็มเอสรบกวน และการขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ และกำหนดมาตรการการคงสิทธิเลขหมาย ย้ายค่ายเบอร์เดิมผู้บริโภคต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย 3. เร่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ควรกำหนดอายุของบัตรเติมเงินตามประกาศของ กทช. และ 4. ขอให้ทำร่างแผนแม่บทคลื่นความถี่ที่รับผิดชอบก่อนมีกรรมการ กสทช.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 มาตรฐานขวดนมเด็ก: ถึงเวลาที่ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ เด็กและทารก เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิมากที่สุด ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานเฉพาะเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณสารเคมีอันตรายที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อและคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการเลือกซื้อ โดยจะขอยกตัวอย่างเรื่อง ขวดนม  เนื่องจากเด็กและทารกมีระดับความต้านทานต่อสารพิษได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดกว่า การเพิ่มระดับการป้องกันในเชิงกฎหมายที่เข้มข้นกว่าสินค้าทั่วๆ ไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การออกกฎหมายหรือมาตรฐานสินค้านั้นใช้เวลานานและไม่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บทความนี้จะกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กและทารก ความเสี่ยงและอันตรายของสารเคมี Bisphenol A ที่ยุโรปมีออกมาตรการที่เข้มที่สุด คือ คำสั่งห้ามผลิต ห้ามและห้ามจำหน่าย การป้องกันอันตรายจากสารเคมี และผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ตลอดจนมาตรการในการจัดการของหลายๆ ประเทศ เรื่องความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมเด็ก ซึ่งหลายๆประเทศ ได้ห้ามการจำหน่ายสินค้าประเภทขวดนมเด็ก หากตรวจพบสารเคมี Bisphenol A  จริงๆ แล้ว องค์กรผู้บริโภคในประเทศยุโรปได้เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามผลิต และห้ามขายขวดนมที่มีสาร Bisphenol A มานานแล้ว จนกระทั่งในระดับประเทศ คือ ประเทศฝรั่งเศส และ เดนมาร์ค เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้เริ่มสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายก่อน และในที่สุดกรรมาธิการยุโรปด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เกรงว่าจะเกิดการลักลั่นกัน ในประเทศสมาชิก จึงได้มีคำสั่งห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายในประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554  สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมกับผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมสำหรับเด็กนี้ ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารเคมีอันตรายแอบแฝงอยู่ และสำหรับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการอย่างรีบด่วนที่สุด เพื่อยกระดับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และเด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย   Bisphenol A ภัยร้ายในขวดนมบิสฟีนอลเอ (Bisphenol A) เป็นสารเคมีที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตโพลีคาร์บอเนต หรือพลาสติกแบบใส เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ 50 อันดับแรกที่ผลิตโดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บิสฟีนอลเอ พบได้ในสินค้าบริโภคหลากหลายชนิดรวมถึงขวดนมพลาสติกแบบใส ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านและเพื่อการบริโภคอีกหลายสิบชนิดที่มีสารบิสฟีนอลเอ เช่น ขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้บางประเภท กล่องบรรจุอาหารที่ใช้ในไมโครเวฟได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ หมวกกันน็อคใส่เล่นกีฬา เลนส์แว่นตา ฯลฯ ยังพบ บิสฟีนอลเอ ได้ใน อีพ็อกซี่เรซิน ที่พบในวัสดุอุดฟันสีขาว วงจรพิมพ์สีทาบ้าน กาว สารเคลือบในกระป๋องโลหะที่บรรจุอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ยังพบว่า บิสฟีนอลเอ เป็นสารเจือปนในพลาสติกประเภทอื่นที่ใช้ในการผลิตของเล่นเด็กด้วย   บิสฟีนอลเอก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างไร จากการศึกษาและรายงานผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการได้รับ บิสฟีนอลเอ แสดงให้เห็นว่า บิสฟีนอลเอ สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยพันธุกรรมหลายร้อยหน่วย ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อบางชนิดและขึ้นอยู่กับจำนวนเวลาที่ได้รับ อีกทั้งการศึกษาในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด บ่งชี้ว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพมากมาย รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม ภาวะอ้วนผิดปกติ ภาวะไม่อยู่นิ่ง เบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำนวนอสุจิลดลง และการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ   กลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก เด็กที่กำลังเจริญเติบโตมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะตามธรรมชาติของเด็กมักจะมีความรู้สึกไวต่อสิ่งเหล่านั้น เด็กได้รับสารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านรกในร่างกายของมารดาที่ตั้งครรภ์ได้ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดการได้รับสาร บิสฟีนอลเอ ระหว่างช่วงที่มีพัฒนาการจะไม่แสดงออกมาในขณะนั้น แต่จะปรากฏอาการภายหลังการได้รับสารดังกล่าวหลายปี ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันเด็กไม่ให้เด็กได้รับสาร บิสฟีนอลเอ จากผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาใช้อยู่ทุกวัน   บิสฟีนอลเอสามารถก่อให้เกิดความผิดพลาดในการเรียงโครโมโซม บิสฟีนอลเอเป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเรียง โครโมโซมผิดพลาด ในปี 2003 ดร.แพท ฮันท์ และทีมงานได้ค้นพบว่า บิสฟีนอลเอ สามารถทำให้โครโมโซมเรียงตัวกันผิดพลาดได้ ถึงแม้จะได้รับในปริมาณที่ต่ำมากก็ตาม โดยปกติเซลล์สืบพันธุ์จะแบ่งเป็นสองเซลล์เมื่อสร้างไข่ แล้วแบ่งโครโมโซมเท่าๆ กันระหว่างเซลล์ลูกแต่ละเซลล์ เซลล์พวกนี้สามารถเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์ และเมื่อผสมกับอสุจิ จะเกิดการปฏิสนธิขึ้น ดร.ฮันท์ แสดงให้เห็นว่าการได้รับ บิสฟีนอลเอ จะส่งผลให้โครโมโซมไม่สามารถจัดเรียงอย่างถูกต้อง ส่งผลให้การเรียงลำดับโครโมโซมผิดพลาดคล้ายกับที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome)    ขัดขวางพัฒนาการทางสมอง ในการศึกษาส่วนมาก พบว่า บิสฟีนอลเอเลียนแบบการทำงานของเอสโตรเจนในการพัฒนาประสาท อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนของสมอง บิสฟีนอลเอ มีผลในการขัดขวางกิจกรรมของเอสโตรเจน ซึ่งปกติจะเพิ่มการเจริญเติบโตและควบคุมการเชื่อมโยงระหว่างเส้นประสาทด้วยเหตุนี้ บิสฟีนอลเอจึงมีสมบัติคล้ายคลึงกับ ทาม็อกซิเฟน ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเต้านม คือกระตุ้นการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่อบางประเภท และขัดขวางการตอบสนองแบบเอสโตรเจนในเนื้อเยื่ออื่นๆ จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากบิสฟีนอลเอ คือ สารบิสฟีนอลเอ เป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้และความทรงจำ นอกจากนี้ บิสฟีนอลเอยังมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองหรือทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองในเวลาที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น จากการที่บิสฟีนอล เอเปลี่ยนแปลงพัฒนาการของสมอง จึงนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงมากมาย เช่น   ภาวะไม่อยู่นิ่ง : ดร.มาซาโตชิ โมริตะและทีมงานที่สถาบันศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติญี่ปุ่น รายงานว่า การให้สารบิสฟีนอลเอ 30 g/kg/วัน กับหนูอายุ 5 วันเพียงครั้งเดียว ทำให้หนูมีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่งนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกว่าการได้รับสารบิสฟีนอลเอ เปลี่ยนแปลงระบบส่งสัญญาณโดปามีนที่พัฒนาในเซลล์สมอง ส่งผลให้ตัวรับและตัวส่งโดปามีนน้อยลง โดปามีนเป็นตัวส่งสัญญาณประสาทที่สำคัญในสมอง และการสูญเสียประสาทที่ผลิตโดปามีนเกิดขึ้นในโรคพาร์กินสัน เพิ่มความก้าวร้าว : การได้รับสารบิสฟีนอลเอที่ปริมาณ 2 – 40 g/kg/วัน ทำให้ทารกหนูเพศผู้ในครรภ์มีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการที่ความเข้มข้นของเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น   บทสรุปและข้อเสนอแนะ ปัจจุบันผู้บริโภคมีข้อมูลไม่มากนักที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจเวลาซื้อสินค้าสำหรับครอบครัว  การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองสุขภาพและสามารถเลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย  ในส่วนของผู้ผลิตเองควรมีการติดฉลากในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ถ้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือมีศักยภาพที่จะเป็นอันตรายเป็นส่วนประกอบ นอกเหนือจากการระบุชื่อส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรืออาจเป็นอันตรายแล้ว ความเสี่ยงทางสุขภาพที่เกี่ยวกับสารเคมีดังกล่าวควรจะมีการอธิบายไว้บนผลิตภัณฑ์ด้วย   ในหลายประเทศได้มีการตระหนักถึงอันตรายที่แอบแฝงอยู่ของ บิสฟีนอลเอ จนมีมาตรการออกมาหลายอย่าง เช่น คณะกรรมาธิการด้านนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ออกประกาศห้ามบริษัทผู้ผลิตขวดนมสำหรับเด็กใช้สารเคมีบิสเฟอนอล-เอ (บีพีเอ) เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าพลาสติกทั้งหมด โดยประกาศห้ามจะมีผลบังคับใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป องค์การการกุศลด้านเด็กและครอบครัว (NCT) ประเทศอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้ติดป้ายแสดงส่วนประกอบที่ใช้ผลิตขวดนมว่ามีสารพิษที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นต้น   สำหรับในประเทศไทยเองเริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับอันตรายที่แอบแฝงอยู่ในขวดนมพลาสติกขึ้นมาบ้าง  องค์กรภาครัฐเริ่มขยับ แต่ถ้ามองจากผู้บริโภค และผู้ปกครองแล้ว กว่าจะมีประกาศห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายนั้น คงจะใช้เวลาอีกนาน  ดังนั้นการเลือกซื้อขวดนม ขอให้เลือกจากผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากว่า ปลอด Bisphenol A อย่าเห็นแกของถูก ควรศึกษาหาความรู้ในด้านวิธีการใช้งานขวดนมพลาสติกที่ถูกต้องและปลอดภัย จากแหล่งข้อมูล ที่เชื่อถือได้ และคำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพสวัสดิภาพของเด็กมากกว่าประโยชน์ทางการค้า ก็จะช่วยเด็กไทยให้มีความปลอดภัยจากสารเคมี   ---------------------------------------------------------------------------------------------- การเลือกขวดใช้ขวดนมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กควรเลือกขวดนมพลาสติกที่ปราศจาก Bisphenol A ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ ตามรูป หรือขวดนมแก้ว ขวดนมพลาสติกเกือบทั้งหมดผลิตจากโพลีคาร์บอเนตพลาสติกที่มี บิสฟีนอลเอ เพียงแค่การล้าง 50-100 ครั้ง ปริมาณของบิสฟีนอลเอ จำนวนมากสามารถรั่วออกมาปนเปื้อนสู่นมของเด็กเล็กๆ ได้ วิธีการหลีกเลี่ยง คือ เปลี่ยนไปใช้ขวดนมแก้วสำหรับการใช้งานของทารก หากยังจำเป็นต้องใช้ขวดนมพลาสติก เวลาที่จะล้างทำความสะอาดให้หลีกเลี่ยงน้ำยาล้างจานที่ความเข้มข้นสูง หรือน้ำร้อนเวลาที่ล้าง เพื่อลดการรั่วไหลของสาร BPA อย่าใส่ขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือ ในเครื่องล้างจาน และให้ทิ้งขวดนม บรรจุภัณฑ์หรือจานชามพลาสติกที่เริ่มมีรอยขีดข่วนหรือขุ่นมัว และห้ามทิ้งนมไว้ในขวดพลาสติกเป็นเวลานาน บทความนี้ ได้จัดทำขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาเวบไซต์ เพื่อการทดสอบสินค้า ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และอนุกรรมการทดสอบและพิสูจน์สินค้า  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point