ฉบับที่ 227 นมดิบ...ดีหรือไม่

        เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 มีข่าวหนึ่งกล่าวว่า ชายสูงวัยคนหนึ่งและทีมงานหลายร้อยชีวิตเดินทางไปยังสหกรณ์โคนมหนึ่งในจังหวัดราชบุรี เพื่อชมกระบวนการผลิตนมและทดลองรีดนมวัว ก่อนจะพลั้งปากกล่าวประมาณว่า “ต่อไปไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะกินนมบูดอีก ให้เอาแม่วัวไปให้เด็กที่โรงเรียน จากนั้นช่วงเช้าก็รีดนมให้เด็กกิน”          ทันทีที่ข่าวตีพิมพ์ขึ้นสู่โลกออนไลน์ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ก็มีข่าวต่อเนื่องว่า นักวิชาการหนุ่มซึ่งเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหนึ่งได้ให้ความเห็นใน facebook ถึงเรื่องการดื่มนมดิบว่า "ไม่ควรดื่มน้ำนมดิบ เพราะอาจมีอันตรายจากเชื้อโรค” พร้อมข้อมูลสรุป ซึ่งคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพรู้กันทั้งนั้นว่า นมดิบนั้นเป็นนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อก่อโรคด้วยความร้อนในระดับที่เรียกว่า พาสเจอร์ไรซ์ จึงเสี่ยงรับเชื้อโรคอันตรายซึ่งอาจจะปนเปื้อนในนมหลายชนิด เช่น บรูเซลล่า (Brucella), แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter), คริปโตสปอริเดียม (Cryptosporidium), อีโคไล (E. coli), ลิสทีเรีย (Listeria) และซาลโมเนลล่า (Salmonella) ซึ่งก่ออันตรายร้ายแรงได้ในหลายระดับต่อผู้ดื่ม และต่อมาในวันที่ 14 พฤศจิกายน รองโฆษกพรรคการเมืองหนึ่งก็ได้ให้ข่าวทำนองเดียวกัน เพื่อตอกย้ำความไม่รู้ของชายสูงวัย         ปัจจุบันคนไทยบางคนเริ่มนิยมกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปที่ปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆ หรือแม้ผ่านการแปรรูปก็ผ่านแต่น้อยซึ่งเรียกว่า Green และถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้สิ่งที่ Green นั้นเป็น Organic (อาหารอินทรีย์) ด้วย หนักไปกว่านั้นบางคนยังชอบให้ของกินเป็น Raw คือ อาหารพวกผักและผลไม้สด ต้นอ่อนของพืช เมล็ดพืช เนื้อสัตว์ ปลา ฯลฯ ที่ไม่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง ไม่มีการเติมแป้งและน้ำตาล โดยใช้ความร้อนไม่เกิน 49 องศาเซลเซียสในการปรุง         ในเรื่องการกินอาหารสดไม่ผ่านการปรุงนั้น มีบทความเรื่อง “Raw-milk fans are getting a raw deal” ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ The Globe and Mail ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2010 ให้ข้อมูลว่า พระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรทรงชอบเสวยนมดิบ (raw milk) ที่ไม่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนใด ๆ และทรงสนับสนุนว่า นมดิบนั้นป้องการอาการแพ้และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ นอกจากนี้ยังมีข่าวกล่าวกันว่า ในอดีตนั้นเคยทรงให้รีดนมดิบของวัวเลี้ยงในพระราชวังวินเซอร์ส่งไปให้พระราชนัดดา (เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่) เสวยในสมัยที่ทั้งสองศึกษาที่ Eton College การที่พระราชินีและพระราชนัดดาไม่เคยทรงป่วยทั้งที่เสวยนมดิบนั้นผู้เขียนเข้าใจว่า คงเป็นเพราะวัวทรงเลี้ยงนั้นได้รับการดูแลอย่างดีในโรงวัว ซึ่งสะอาดพร้อมภักษาหารปลอดจากภัยร้าย ต่างจากวัวชาวบ้านที่นอนกลางดินกินหญ้ากลางทราย และอาบน้ำที่มักได้จากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อบาดาล        ในหลายประเทศมีกฎหมายห้ามการจำหน่ายนมดิบ เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร เพราะในตำราจุลวิทยาทางอาหารทั่วไปมักกล่าวถึงนมดิบว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ดื่มต่อการรับเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะเชื้อหลายชนิดนั้นสร้างสารพิษออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ ในขณะที่เชื้อบางชนิดก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารด้วยตัวมันเอง         สมัยที่ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้นประถมต้น ราว 60 ปี มาแล้ว ผู้เขียนจำได้ว่า น้าสาวชอบซื้อนมสดจากแขก (อินเดีย) ซึ่งถีบจักรยานมาส่งที่บ้านเป็นประจำ น้าของผู้เขียนทำการต้มนมสดจนเดือดแล้วทิ้งให้เย็นก่อนดื่ม ซึ่งเป็นพฤติกรรมเฉพาะของคนทางเอเชียบางกลุ่ม ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเพื่อนร่วมหอพักในมหาวิทยาลัยสมัยที่ผู้เขียนเรียนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชาวจีนฮ่องกงนั้น ก็ต้มนมสดที่ซื้อจากซูเปอร์มาเก็ตก่อนดื่มเป็นประจำโดยให้เหตุผลว่า เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยและชอบกลิ่นของนมที่ผ่านการต้มแล้ว         ความชอบกลิ่นนมที่ต้มแล้วของคนไทยนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้ำนมวัวบรรจุกระป๋องโลหะที่ผ่านการสเตอริไลซ์ยี่ห้อหนึ่งของสวิสเซอร์แลนด์ขายได้ดีในไทย แต่กลับหาดื่มไม่ได้ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะคนอเมริกันชินต่อการดื่มนมพาสเจอไรซ์ และคนอเมริกันส่วนมากไม่เคยรู้เลยว่า มีการต้มนมให้เดือดเพื่อดื่มบนโลกนี้         ในนิวซีแลนด์นั้นกำหนดว่า ผู้บริโภคสามารถซื้อนมที่รีดสดจากเต้าวัวของเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับรัฐเท่านั้น โดยที่เกษตรกรเหล่านี้ต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดว่า มีความสามารถในการตรวจสอบสิ่งเป็นพิษในนม เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค มีการเก็บข้อมูลการขายและทำฉลากติดสินค้า ซึ่งต้องบอกวันผลิต คำแนะนำในการเก็บรักษา และข้อควรระวังในการดื่มนมดิบสำหรับผู้ดื่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย แต่สิ่งที่สำคัญในการซื้อขายนั้นคือ ต้องเป็นการขายตรงจากเกษตรกรสู่มือผู้บริโภค (ผู้ซื้อและผู้ขายจึงรู้จักกันดี) ห้ามขายผ่านจุดรวบรวมสินค้าเช่น ร้านของสหกรณ์ อีกทั้งผู้ซื้อต้องให้ข้อมูลที่พักอาศัยแก่เกษตรกรผู้ขาย เพื่อให้สามารถติดต่อได้อย่างทันทีทันใด ในกรณีที่ภายหลังการขายนมไปแล้วเกิดตรวจพบว่า นมนั้นไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยเกี่ยวกับการปนเปื้อน ที่น่าสนใจคือ มีข้อมูลจากบทความชื่อ Raw milk ในเว็บ www.consumer.org.nz เมื่อ 30 มิถุนายน 2016 กล่าวว่า เมื่อปี 2014 มีผู้ติดเชื้อจากการดื่มนมดิบ 41 คน ซึ่ง 9 คน อายุต่ำกว่า 15 ปี แล้วผู้ป่วย 2 คน มีอาการร้ายแรงถึงขั้นไตวาย และต่อมาในปี 2015 ก็มีรายงานของผู้ป่วยจากการดื่มนมดิบอีก 13 คน         ประเทศอื่นที่มีการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตสำหรับผู้ที่สามารถทำตามข้อกำหนดเพื่อขายนมดิบนั้นคือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีกฏหมายประจำรัฐที่ยอมให้มีการขายได้ด้วยข้อกำหนดที่ต่างกันไปในแต่ละรัฐ) อย่างไรก็ดีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาคือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ได้พยายามเตือนว่า มันเสี่ยงต่อหายนะที่มีอันตรายถึงชีวิตของผู้ดื่มนมดิบเพราะมีข้อมูลว่า ตั้งแต่ปี 1993 ในการระบาดของโรคครั้งใหญ่ในประเทศ 55 ครั้งนั้น ร้อยละ 75 ของการระบาดเกิดในรัฐที่มีการอนุญาตให้ซื้อขายนมดิบได้ตามกฎหมาย ที่น่าสังเกตคือ การเกิดโรคเนื่องจากการกินเนยแข็งในรัฐที่มีกฏหมายอนุญาตให้ขายเนยที่ทำจากนมดิบนั้นสูงเป็น 6 เท่าเมื่อเทียบกับรัฐที่ไม่อนุญาต          ผู้เขียนได้มีโอกาสดูข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน 2011 ของเว็บ เสียงจากอเมริกา (www.voathai.com) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดื่มนมดิบว่า ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกานั้น การขายนมสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีเพื่อฆ่าเชื้อเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงทำให้มีการชุมนุมประท้วงที่กรุงวอชิงตันดีซีหลังจากมีการจับเกษตรกรที่นำนมสดไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตข้ามไปขายในรัฐที่ไม่มีกฏหมายอนุญาต โดยผู้ประท้วงรายหนึ่งถึงกับนำวัวมารีดนมและให้บริการดื่มในการชุมนุมประท้วงนั้นด้วย แต่ข่าวไม่ได้กล่าวต่อว่า หลังจากการประท้วงแล้วมีคนท้องเสียหรือไม่         อย่างไรก็ดีการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารระบาดนั้น ไม่ได้มีนมดิบเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจัยอื่นเช่น การสัมผัสเชื้อจากสัตว์ต่างๆ หรือแม้แต่การสัมผัสน้ำจากปศุสัตว์ที่ไม่ได้รับการบำบัดให้สะอาดก่อนทิ้งก็ก่อให้เกิดโรคระบาดได้ ดังนั้นงานวิจัยต่างๆ จึงไม่สามารถระบุว่า ในการระบาดของโรคนั้นมีนมดิบเป็นสาเหตุหลักของโรคและที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาก็ไม่มีใครสามารถหาข้อมูลได้ว่า นมดิบที่ขายตรงต่อผู้บริโภคนั้นมีเชื้อก่อนการบริโภคหรือไม่ ที่สำคัญนมที่ผลิตเพื่อบริโภคในช่วงที่เกิดปัญหามักถูกดื่มหรือทิ้งส่วนที่เหลือไปแล้ว         ข้อมูลจากเว็บของ เสียงจากอเมริกา นั้นกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้นิยมดื่มนมดิบหลายคนในรัฐที่ไม่มีการอนุญาตให้มีการซื้อขาย ได้เลี่ยงอุปสรรคดังกล่าวด้วยการร่วมทุนเข้าหุ้นกันเลี้ยงวัวที่ฟาร์มนอกเมืองเสียเอง ตัวอย่างคือ ฟาร์มที่เฮดจ์บรูคซึ่งอยู่นอกกรุงวอชิงตันนั้น มีการขายหุ้น 25 หุ้นสำหรับวัวตัวหนึ่ง ซึ่งเจ้าของหุ้นแต่ละรายได้รับนมจากเต้าของวัวตัวนั้นซึ่งสดใหม่สมใจ (ในการเสี่ยงโรค) สัปดาห์ละราว 4 ลิตร

อ่านเพิ่มเติม >