ฉบับที่ 255 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2565

ต่อไปเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ส่วนสูงไม่เกิน 135 ซม.ต้องสวมคาร์ซีท        7 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศพระราชบัญญัติ จราจกทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565  โดยแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการจราจรทางบก ดังนี้ มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 123 ภายใต้บังคับมาตรา 123/1 ในขณะขับรถยนต์ผู้ที่อยู่ในรถต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่อไปนี้ 1. ผู้ขับขี่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะขับรถยนต์  2. คนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้าและที่นั่งแถวตอนอื่น ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาขณะโดยสาร 3.คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ 4. คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด ในส่วนกรณีผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพที่ไม่สามารถรัดร่างด้วยเข็มขัดได้ให้ได้รับการยกเว้น แต่ต้องมีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ  โดยบทบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับกับรถสามล้อ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ รถใช้ในการเกษตร ทั้งนี้ หากใครฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท         ทั้งนี้จากระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) พบว่ามีเด็กอายุแรกเกิด-6 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 ราย ในจำนวนนี้มี 221 ราย เป็นเด็กที่เสียชีวิตขณะโดยสารรถยนต์ (เฉลี่ยปีละ 44 ราย) และจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2564) พบว่ากลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-6 ปี ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีการใช้เบาะนิรภัยเพียงร้อยละ 3.46% “นมข้นหวาน” ห้ามใช้เลี้ยงทารกเด็ดขาด         กรณีคลิปในโลกออนไลน์จากผู้ใช้ Tiktok รายหนึ่งได้โพสต์คลิปนมข้นหวานผสมน้ำเปล่าให้ลูกกิน วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามคำแนะนำขององค์กรอนามัยโลก ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนควรกินเพียงนมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้นสามารถกินนมแม่คู่กับอาหารได้ตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ที่สุดสำหรับทารกและสารอาหารกว่า 200 ชนิด และได้ย้ำว่า นมข้นหวานไม่เหมาะสำหรับเป็นอาหารเด็ก เพราะมีส่วนประกอบหลักแค่ไขมัน น้ำตาล โซเดียม ซึ่งต่างจากนมแม่และนมผงดัดแปลง จึงห้ามใช้เลี้ยงเด็กทารกเด็ดขาด เพราะทำให้เด็กทารกเสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน พลังงาน สารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำและอันตรายถึงชีวิตได้ ก.คลังเร่งแก้หนี้ประชาชน 6 กลุ่ม         ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงประเด็นของบทบาทกระทรวงการคลังในการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งได้ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามนโยบายที่กำหนดว่า “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยหนี้ประชาชนส่วนใหญ่กู้มาเพื่อประกอบอาชีพ จำแนกได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.หนี้นักเรียนหรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2.หนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 3.หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 4.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์  5.หนี้นอกระบบ  6.ลูกหนี้ทั่วไป         ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะต่อไปมี 2 เรื่อง คือ 1. สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน โดยให้ความรู้ทางการเงิน  ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำแผนบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ และอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และ 2. กำกับดูแลออกนโยบายไม่จูงใจให้กับประชาชนสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องสร้างหนี้ต้องเป็นหนี้ที่เป็นทุนให้สามารถสร้างรายได้กลับมา ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ เยาวชนไทยเสี่ยงซึมเศร้า 5.34% ผลกระทบจากโควิด-19         แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ระบุว่า เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 1 ใน 7 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เยาวชนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มถึง 2 เท่า ซึ่งจากการสำรวจในประเทศไทยข้อมูลจาก Mental Health Check In กลุ่มประชากร อายุต่ำกว่า 18 ปี ช่วง 12 ก.พ. - 23 พ.ค. 65 พบว่า เสี่ยงต่อการซึมเศร้า 5.34% และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 7.99% อย่างไรก็ตามทางกรมสุขภาพจิตได้พัฒนาช่องทางช่วยเหลือเยาวชนโดยมีระบบ Mental Health Check In ที่เยาวชนสามารถนำไปใช้ประเมินความเครียดของตัวเองในเบื้องต้นได้  และออกแบบระบบการดูแลสุขภาพจิตโรงเรียนแบบดิจิทัลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ School Health HERO ที่คุณครูจะช่วยดูแลช่วยเหลือปัญหาของเด็กได้ผ่าน e-learning  หากการช่วยเหลือไม่ดีขึ้นปรึกษาได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน HERO Consultant ได้ มพบ.เผยผู้เสียหายคดีกระทะโคเรียคิงถูกฟ้องปิดปาก!         สืบเนื่องจากคดีฟ้องร้องกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริงในปี 2560 นั้น เมื่อวันที่ 6  พฤษภาคม 2565 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เสียหายท่านหนึ่ง คือคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง จากเครือข่ายผู้บริโภค จ.สตูล ซึ่งเป็นคนหนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง (โจทก์ที่ 2 ในคดีที่มีการฟ้อง บ.วิซาร์ดโซลูชั่น เป็นคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่ง) เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินจริงและสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณานั้น ได้ถูก บ.วิซาร์ดโซลูชั่น ผู้นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง (จำเลย) ฟ้องในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จ ที่ศาลจังหวัดสตูล โดยศาลนัดได้ไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 อันเป็นวันเดียวกับคดีที่ศาลแพ่งนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีแบบกลุ่ม ซึ่งคุณกัลยทรรศน์ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.พหลโยธิน เรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวนแล้วในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรณีนี้อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะการฟ้องเพื่อปิดปากผู้บริโภค         “ย้อนไปในปี 2560 กลุ่มผู้เสียหายจำนวน 72 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทไปเมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2560 ต่อศาลแพ่งและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650 บาท ต่อมา 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มเช่นกัน โดยจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ซื้อกระทะโคเรียคิงรุ่นไดมอนด์และรุ่นโกลด์ของจำเลย ภายใน 17 พฤษภาคม 2560 ปัจจุบันยังไม่ได้ตกลงรับการแก้ไขเยียวยาจากจำเลย”         ทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในกรณีดังกล่าวข้างต้น การกระทำของผู้เสียหาย ไม่ได้เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือเบิกความเท็จแต่อย่างใด ดังนั้นทาง มพบ.จะดำเนินการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หากชนะคดีแล้วก็จะต้องดำเนินคดีกับบริษัทด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานและครีมเทียมข้นหวานแบบหลอดบีบ

        ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานที่รสชาติหวานมัน นิยมเติมใส่ชา กาแฟ โอวัลติน เพื่อเพิ่มความหวาน หรือกินกับขนมปัง ปาท๋องโก๋ตอนเช้าๆ ที่ถูกใจใครหลายๆ คนนั้น  รู้หรือไม่? บางยี่ห้ออาจไม่ใช่นมข้นหวานจริงๆ เพราะมันอาจเป็น “ครีมเทียม” ก็เป็นได้         แม้รูปร่างหน้าตา สี รสชาติคล้าย “นมข้นหวาน” แต่ ยี่ห้อที่ระบุว่าเป็น ครีมเทียมข้นหวาน หากลองอ่านฉลากดูกันสักนิด จะเห็นส่วนผสมของนมที่มีปริมาณน้อยมากๆ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2556 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ของนม ได้ระบุว่า คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของนม ต้องมีเนื้อนมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ในผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งตามกฎหมายหากมีไม่ถึงจะไม่อนุญาตให้เรียกว่า นม ได้         ทั้งนี้  เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน (ครีมเทียมข้นหวาน) แบบหลอดบีบ จำนวน 13  ตัวอย่าง 5  ยี่ห้อ จากห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มาเปรียบเทียบฉลากว่า มีส่วนผสมประกอบใดบ้าง และยี่ห้อไหนกันนะเป็นครีมเทียม พร้อมสำรวจปริมาณพลังงานกิโลแคลอรี่ โซเดียมและน้ำตาล ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรมาดูกัน ผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน (ครีมเทียมข้นหวาน) แบบหลอดบีบ         1.  พบว่ามีรูปแบบของนมที่ใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ 1.นมสด (4 ตัวอย่าง) 2.นมผง (7  ตัวอย่าง) 3.นมผงขาดมันเนย (4 ตัวอย่าง) 4.นมผงพร่องมันเนย (1ตัวอย่าง) 5.เวย์ผง (11 ตัวอย่าง) โดย ยี่ห้อ จิตรลดา นมข้นคืนรูปหวาน มีปริมาณนม (ผงขาดมันเนย) มากที่สุด 24.9732% และยี่ห้อ พาเลซ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน เป็นครีมเทียมช้นหวาน อยู่เพียงยี่ห้อเดียว เพราะมีปริมาณนมผง,เวย์ผง อยู่เพียง 7%         2.  พลังงาน เฉลี่ยที่ 60-70 กิโลแคลอรี่ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะ หรือ 20 กรัม)         3.  น้ำตาล พบว่า มะลิ ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานปราศจากไขมัน ไขมัน 0% และคาร์เนชัน พลัส ผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน เพิ่มนมอีก 65%  มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดอยู่ที่ 12 กรัม ต่อหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะหรือ 20 กรัม)         4. โซเดียม ยี่ห้อ จิตรลดา นมข้นคืนรูปหวาน มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดอยู่ที่ 25 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบริโภค (1 ช้อนโต๊ะหรือ 20 กรัม)         5.  เมื่อนำทุกตัวอย่างมาเปรียบเทียบราคาในปริมาณ 1 กรัม/ราคา (บาท) พบว่า ยี่ห้อ พาเลซ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน มีราคาต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.09 บาท/กรัม และยี่ห้อตรามะลิ ผลิตภัณฑ์นมข้นหวานปราศจากไขมัน สูตรน้ำตาลน้อยกว่า ราคาสูงที่สุดต่อกรัม อยู่ที่ 0.21 กรัมข้อสังเกต        -        ยี่ห้อ ตราพาเลซ PALACE ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน ไม่มีระบุข้อมูลโภชนาการบนฉลาก        -        ทุกยี่ห้อมีหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ 1 ช้อนโต๊ะ (20กรัม)        -        พาเลซ ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน มีราคาต่ำที่สุด คือ 18 บาท และราคาเฉลี่ย/กรัมต่ำสุด  เพราะเป็นครีมเทียมไม่ใช่ นมข้นหวาน และได้ปริมาณมากที่สุด 195 กรัม        -        12 ตัวอย่าง มีส่วนผสมนมชนิดต่างๆ ในปริมาณที่รวมกันได้เกินกว่าร้อยละ 8  ครีมเทียม         ครีมเทียมในปัจจุบันมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ครีมเทียมแบบผงและครีมเทียมข้นหวานที่อยู่ตามท้องตลาด รูปแบบครีมเทียมแบบผง คือ เอาไว้ชงใส่กาแฟเพื่อเพิ่มความอร่อยหรือที่เราคุ้นเคยก็คือคอฟฟีเมตนั้นเอง ส่วนประกอบหลักครีมเทียมผง คือ กลูโคสไซรัป น้ำมันปาล์ม สารแต่งสีและกลิ่น โซเดียม สารป้องกันการเกาะตัวเป็นก้อน หรืออื่นๆ ส่วนครีมข้นหวาน คือ รูปแบบหลอดบีบหรือกระป๋องไว้กินกับขนมปังหรือใช้ผสม ชา กาแฟ โกโก้ ได้เหมือนกัน ส่วนประกอบหลัก คือ แป้ง น้ำมันปาล์มและกลูโคสไซรัป และส่วนผสมนมเพียงเล็กน้อย ซึ่ง 2 รูปแบบ มีไขมันปาล์มที่เป็นไขมันอิ่มตัวสูง และกลูโคสไซรัปซึ่งเป็นน้ำตาล ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง คำแนะนำ        หากเราจะงดบริโภคครีมเทียมเราสามารถบริโภคอะไรทดแทนได้ เราอาจจะใช้นมจืดพร่องมันเนยทดแทนครีมเทียมได้ เพราะในเมื่อเราจะกินอะไรที่เป็นรูปแบบ มันๆ อยู่แล้ว การบริโภคนมจืดพร่องมันเนยจะช่วยเพิ่มให้เราได้โปรตีนและแคลเซียมมากขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ซึ่ง ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกินปริมาณที่แนะนำ ดังนี้ เด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัม ต่อวัน (4 ช้อนชา) วัยรุ่นหญิงชาย อายุ 14 – 25 ปี ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม ต่อวัน (6 ช้อนชา)  อ้างอิงhttp://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P408.PDF       http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P352.pdf        http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/264/T_0012.PDFhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/ondemand/%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a1-%e0%b9%83%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 นมข้นหวานและบรรจุภัณฑ์ที่ชวนข้องใจ

เคยทานนมข้นหวานกันหรือไม่ ? แล้วนมข้นหวานที่ท่านรู้จักบรรจุอยู่ในภาชนะแบบไหน ? เมื่อก่อนนมข้นหวานจะบรรจุในกระป๋องโลหะเคลือบดีบุก เวลาใช้งานต้องเจาะรูสองข้าง หรือเจาะฝาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้นมข้นหวานมีชนิดที่บรรจุในหลอดพลาสติกแบบบีบ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน แต่ว่าผู้บริโภคหลายคนก็กังวลเมื่อเจอปัญหานมข้นหวานในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้           คุณภูผาซื้อนมข้นหวานชนิดบีบยี่ห้อหนึ่งมารับประทาน ทั้งรู้สึกชอบใจที่บรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้วิธีการใช้ง่ายดี บีบรับประทานได้สะดวก เมื่อใช้ไม่หมดในครั้งแรกเขาก็เก็บส่วนที่เหลือเข้าตู้เย็นและนำออกมารับประทานอีกหลายครั้ง จนนมใกล้จะหมดหลอด คราวนี้เมื่อบีบออกมาก็พบว่า นมมีกลิ่นแปลกๆ และมีจุดดำๆ ออกมาด้วย         เมื่อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ คุณภูผาจึงผ่าหลอดออกดู เขาพบว่าในหลอดมีสิ่งปนเปื้อนจุดดำๆ หลายจุดลักษณะคล้ายเชื้อรา ตกใจในสิ่งที่เห็นมากมายเขาจึงแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอให้บริษัทฯ นำสินค้าไปตรวจสอบว่า สิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นอะไรกันแน่ เมื่อมอบสินค้ากับเจ้าหน้าที่แล้ว เขาก็รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คลายกังวล  แต่แพทย์ไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากเขาไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งคุณภูผาก็ยังกังวลเพราะไม่ทราบว่า กินสิ่งที่คล้ายเชื้อราไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่         ต่อมาพนักงานของบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่า สิ่งที่คุณภูผาพบนั้นเป็นเชื้อราจริง แต่ไม่สามารถให้ผลการตรวจได้ โดยก่อนมารับตัวอย่างพนักงานของบริษัทเคยรับปากว่า จะนำผลการตรวจสอบส่งให้เขา ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตกลงก่อนมอบสินค้า คุณภูผาจึงขอคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่พนักงานคนดังกล่าวบ่ายเบี่ยง พร้อมส่งเอกสารแจ้งมาว่า “ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด” เขาจึงกังวลว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสงสัยว่ากรณีแบบนี้ บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ อย่างไร จึงสอบถามมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีหนังสือถึงบริษัทผู้ผลิตขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคุณภูผาและบริษัทฯ โดยตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ปกติเชื้อราที่พบในนมไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา เพราะร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เอง ไม่เหมือนเชื้อราอะฟลาทอกซินในถั่วที่อาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ตัวแทนบริษัทได้แสดงการขอโทษด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ผู้ร้องหนึ่งกระเช้าและเงินค่าเสียเวลาจำนวนหนึ่ง คุณภูผาเองเมื่อได้ทราบข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่ติดใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ขอให้บริษัทปรับปรุงการให้ข้อมูลของฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์         อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตของบริษัทนมข้นหวานนี้เพิ่มเติมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 จำไว้ เธอไม่ใช่นม(ข้นหวาน)

เครื่องดื่มเย็นชื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟเย็น ชาเย็น โกโก้เย็น คนขายที่เป็นแม่ค้าพ่อค้าจะปรุงด้วยส่วนผสมที่เราเรียกกันติดปากว่า “นมข้นหวาน และนมข้นจืด” แถมด้วยผง “ครีมเทียม” และน้ำตาลทราย เพื่อให้ได้รสชาติ หวาน มัน สะใจลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคนั่นเอง โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะปลอบใจตนเองจากการที่นิยมชมชอบดื่มเครื่องดื่มที่ทั้งหวานและมันจัดว่า ถึงอย่างไรก็ยังได้รับประโยชน์เชิงสุขภาพจากน้ำนมที่มีใน “นมข้นหวาน นมข้นจืด” อยู่บ้างล่ะน่า เพราะยังเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำจากน้ำนมโค ซึ่งมีสารอาหารโปรตีนและแคลเซียมคุณภาพดี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่หากได้อ่านฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาดแล้ว ผู้บริโภคอาจจะต้องตั้งคำถามใหม่ว่า นมข้นหวาน หายไปไหน เพราะฉลากที่เคยระบุเป็นนมข้นหวาน นมข้นจืด ไม่มีอีกแล้ว แต่กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์นม” “ครีมเทียมข้นหวาน” “ครีมเทียมข้นจืด????.เช็คหน่อย” กันไปหมด แล้วผลิตภัณฑ์ชื่อใหม่ๆ เหล่านี้มันคืออะไรกัน แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่อ่านฉลากก็จะไม่รู้อะไรกันเลยทีเดียว นมข้นมาจากไหนรองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่า ในประเทศที่ผลิตนมโคเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักมีน้ำนมผลิตออกมามากจนเกินความต้องการของตลาด ซึ่งนิยมถนอมรักษาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น นมผง นมข้นจืด ทั้งนี้ เพื่อมีอายุการเก็บรักษายืนยาวขึ้น ประหยัดพื้นที่การเก็บรักษาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า โดยนมข้นจืด ทำจากการนำน้ำนมไประเหยเอาน้ำออกเพื่อให้เข้มข้นขึ้น โดยการให้ความร้อนในเครื่องระเหยภายใต้ระบบสุญญากาศ คล้ายกับการต้มหรือเคี่ยวให้น้ำงวดลง น้ำที่ถูกระเหยออกไปเป็นประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) นมชนิดนี้จึงมีปริมาณสารอาหารประเภทหลักๆ ได้แก่ โปรตีน ไขมันและแร่ธาตุ เป็นสองเท่าของนมสด จึงเรียกกันว่า “นมข้น” และเพราะมีรสจืด ก็กลายเป็น “นมข้นจืด” บางทีก็เรียกว่า “นมข้นไม่หวาน” ในบางประเทศจะเรียกว่า “นมระเหย” (Evaporated Milk) โดยนมข้นจืดมักนำไปบรรจุกระป๋อง และถูกส่งไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาขาดสารอาหาร เช่น ในทวีปอัฟริกา เพื่อให้นำไปเจือจางน้ำสะอาดอีก 1 เท่า และใช้ดื่มเป็นนมสด หลายสิบปีก่อน เมื่ออุตสาหกรรมนมในประเทศไทยยังไม่พัฒนา ก็ได้มีการนำนมข้นจืดมาเจือจางและดื่มเป็นนมสดเช่นกัน คนไทยเราเลยมีความคุ้นเคยว่านมที่อยู่ในกระป๋องสูงๆ มีประโยชน์ดี ส่วนนมข้นหวานผลิตโดยใช้นมข้นจืดมาผสมกับน้ำตาลทรายในสัดส่วนประมาณ 55 ต่อ 45 มีรสหวานจัด ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น แต่ห้ามใช้ชงเลี้ยงทารก เพราะต้องเจือจางถึง 5 เท่า ถึงจะหวานพอดี สารอาหารจึงไม่เพียงพอสำหรับทารก ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงบังคับให้ระบุบนฉลากว่า “ห้ามใช้เลี้ยงทารก” สำหรับในต่างประเทศ นมข้นหวานและนมข้นจืด ใช้ทำขนมอบ พวกเบเกอรี่ เพราะเป็นน้ำนมและมีความหวานมัน คนไทยก็นิยมเติมในชา กาแฟ โกโก้ ที่เรียกกันไปต่างๆ เช่น ชานม กาแฟเย็น โอเลี้ยงยกล้อ ผู้บริโภคยังได้สัมผัสรสชาติ และสารอาหารธรรมชาติในน้ำนมตามปริมาณเติมเพื่อปรุงแต่งความอร่อย เมื่อมีการผลิตนมข้นทั้ง 2 ชนิดในบ้านเรา ผู้ผลิตไม่สามารถนำน้ำนมสดมาเป็นวัตถุดิบโดยตรง เพราะไม่มีการผลิตอย่างเพียงพอ ทำให้มีราคาสูง จึงได้นำนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศมาผสมน้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วนำมาบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจึงผลิตได้ในประเทศและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันเราไม่สามารถหาซื้อ “นมข้นหวาน” และ”นมข้นจืด” ในท้องตลาดในบ้านเราอีกแล้ว เพราะ “นมข้นหวาน” และ “นมข้นจืด” ในเมืองไทยเราเปลี่ยนชื่อเป็น ”ผลิตภัณฑ์นม.....” “ครีมเทียมข้นหวาน” และ “ครีมเทียมข้นจืด” หมดแล้ว โดยที่สภาพหน้าตาของผลิตภัณฑ์ยังคงมีรูปลักษณะเดิม แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์แตกต่างไปจากเดิม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อเรียกบนฉลากว่า “นมข้นหวาน” และ”นมข้นจืด” ดังที่เคยใช้มา แต่คนไทยเรายังคงคุ้นเคยกับชื่อเดิมและใช้เรียกอย่างทั่วไป จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคุณประโยชน์ได้ครีมเทียมคืออะไรคำว่า “ครีมเทียม” เข้ามาอยู่ในชื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างไร และมันคืออะไรกันแน่ ครีมเทียมคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเลียนแบบครีมแท้ ครีมแท้ทำมาจากน้ำนมโคที่เหวี่ยงแยกไขมันออกมา จึงมีแต่ไขมันในสัดส่วนที่สูงมาก และมีโปรตีนและสารอาหารอื่นจากนมน้อย ครีมเทียมจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นให้มีไขมันเป็นหลักแต่ไม่ใช้ไขมันนมเพื่อลดต้นทุนลง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ครีมเทียม จึงหมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ทำจากนมและมีไขมันอื่นนอกจากมันเนย เป็นส่วนที่สำคัญ ส่วนประกอบหลักในครีมเทียม จึงเป็นแป้งที่ผ่านการย่อยบางส่วนที่เรียกกันว่า กลูโคสไซรัป หรือ มัลโตเด๊กตริน (คนไทยจะคุ้นชินในชื่อ แบะแซ) ผสมกับไขมัน โดยบางยี่ห้อก็เป็นน้ำมันปาล์ม บางยี่ห้อก็เป็นน้ำมันพืชชนิดอื่นหวาน มัน ครั้งต่อไป จำไว้ เธอไม่ใช่นม นมข้นหวานและนมข้นจืด ได้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรไปจากเดิม ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งไม่ใช่เพิ่งทำ แต่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว ในระยะแรก เริ่มจากการใช้ไขมันเนยที่มีราคาแพงไปเป็นการใช้ไขมันพืชแทน เช่น การใช้น้ำมันปาล์มบ้าง น้ำมันมะพร้าวบ้าง ผสมกับนมผงขาดมันเนย ต่อมาจึงได้เริ่มมีการลดปริมาณนมผงที่เติมลงไป จนมีปริมาณนมในผลิตภัณฑ์น้อยมากจนกฎหมายไม่อนุญาตให้คำเรียกว่า “นม” เพราะผลิตภัณฑ์ที่จะเรียกว่า “นม” ได้นั้น จะต้องมีเนื้อนมไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังหลงเรียกกันว่า “นมข้นหวาน และนมข้นจืด” จึงตกจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์นม และเพื่อให้สามารถปรับปริมาณนมได้ตามอิสระมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะให้ผลิตภัณฑ์เข้าไปอยู่ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ครีมเทียม แทน เพราะทำให้สามารถปรับลดต้นทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มการใช้กลูโคสไซรัป (แบะแซ) ในปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันว่า ครีมเทียมทั้งในรูปผง ข้นจืดและข้นหวานในกระป๋อง ที่เรานิยมใส่ในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โกโก้ ทั้งร้อนและเย็น รวมทั้งที่มีในผง 3 in 1 ทั้งหลาย มีสัดส่วนของน้ำนมน้อยมากหรืออาจไม่มีเลย ถ้าจะเลือกใช้แบบที่บรรจุกระป๋อง ก็ใช้ที่ผู้ผลิตเรียกว่า “ผลิตภัณฑ์นม” ก็จะได้บริโภคเนื้อนมมากกว่า เพราะมีกฏหมายคุมอยู่บ้าง เข้าทำนอง “กำขี้ดีกว่ากำตด” จึงต้องฝึกการอ่านฉลากและส่วนประกอบไว้ให้เป็นนิสัย ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตต้องแสดงข้อความดังกล่าวเป็นร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เท่าทันคำอ้างบนฉลากเรื่องแรกที่ควรรู้ให้เท่าทันคือ สิ่งที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่ว่ายี่ห้อไหน ชอบระบุว่า “ไม่มีโคเลสเตอรอล” หรือ “ปราศจากโคเลสเตอรอล” (No Cholesterol) ในความจริงตามธรรมชาตินั้น ไขมันจากพืชไม่มีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว แต่หากเป็นไขมันอิ่มตัวเช่น ไขมันปาล์ม เมื่อบริโภคเข้าไปร่างกาย ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นโคเลสเตอรอลได้และยังมีผลในการเพิ่มไขมันตัวไม่ดี แอลดีแอล (LDL) อีกด้วย ไขมันที่ใช้ทดแทนไขมันนม ต้องการไขมันที่มีความอิ่มตัวสูง เพราะทำให้รสชาติมันอร่อย เวลาเติมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลงในเครื่องดื่มถ้วยโปรด จึงต้องใช้สติ ควบคุมอารมณ์ความยากให้ดี อย่า หวาน มัน มากเกินไป เพราะในแต่ละวันเราก็ยังมีโอกาสที่ได้รับไขมันอิ่มตัวจากอาหารมื้อหลักในปริมาณที่สูงมากได้อีกหลายทาง เรื่องที่สอง คือการสร้างความกลัวเรื่องไขมันทรานส์ สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ผลิตมักมีการกล่าวอ้างเรื่องไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ครีมเทียมว่า “ปราศจาก” ซึ่งต้องเข้าใจและไม่หลงคล้อยตาม เพราะปัญหาเรื่องไขมันทรานส์มักพบในประเทศแถบตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากการผลิตครีมเทียมด้วยน้ำมันพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัว ต้องใช้กระบวนการไฮโดรจิเนชั่น (Hydrogenation) ซึ่งจะทำให้เกิดไขมันทรานส์ ที่มีผลให้ไขมันแอลดีแอล และโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไปทำให้ไขมันตัวดีหรือเอชดีแอลลดลงด้วย แต่สถานการณ์นี้จะไม่เกิดในเมืองไทยเพราะเราใช้ไขมันอิ่มตัวที่ไม่ผ่านกระบวนการไฮโดรจิเนชั่น การกล่าวอ้างดังกล่าวจึงเป็นการกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนข้อเสียของผลิตภัณฑ์ตนเองที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว แต่เปลี่ยนเป็นการทำให้คนไทยเกิดความกลัวไขมันทรานส์จนลืมปัญหาที่แท้จริงของตนเองคือไขมันอิ่มตัว จึงต้องระวังกันให้มากเมื่อมีการใช้ครีมเทียมมาผลิตเป็น ครีมเทียมข้นหวาน ครีมเทียมข้นจืด สิ่งที่ทำให้คนเรารู้ไม่เท่าทันนั่นก็คือ หน้าตาและรสชาติที่ยังคงเดิม น้ำมันปาล์มที่ใช้ยิ่งใส่มากยิ่งได้ความมันอร่อย คนไทยกินอาหารมักคำนึงถึงความอร่อยมาก่อนสุขภาพ ปัจจุบันคนไทยจึงประสบปัญหาของไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด ตลอดจน เบาหวานและความดันโลหิตสูงมากขึ้น การอ่านฉลากก่อนซื้อจึงมีความสำคัญมาก และนั่นก็คือ การฉลาดซื้อนั่นเอง          

อ่านเพิ่มเติม >