ฉบับที่ 228 กระแสต่างแดน

หยุดมลพิษปรอท        แอนดริว เลวิทัส ผู้กำกับภาพยนตร์ “Minamata” เรียกร้องให้ออสเตรเลียหยุดเพิกเฉยต่อปัญหาพิษปรอทในสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะเมื่อ 7 ปีก่อน        ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการเปิดโปงให้โลกได้รับรู้สิ่งที่เกิดกับผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอหน์นี่ เดปป์) ช่างภาพของนิตยสาร Life ที่เสี่ยงตายเข้าไปถ่ายภาพเหยื่อ “โรคมินามาตะ” เมื่อปี 2514        ตัวการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะก็คือโรงงานสารเคมีชิสโสะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณนั้นนั่นเอง        ที่น่าเศร้าคือแม้จะพบโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2499 แต่กลับต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าบริษัทชิสโสะจะยอมชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ 10,000 กว่าราย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับการชดเชย        สารปรอทส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ ระบบย่อย และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงทำให้เกิดโรคไตและโรคหัวใจด้วย ขณะที่ทารกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมาพร้อมความผิดปกติและอาจมีไอคิวต่ำ        เลวิทัสกล่าวในเทศกาลภาพยนตร์เบอลินว่าเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างกระแสให้คนออสซี่ลุกขึ้นมากดดันให้รัฐบาลออสเตรเลียจัดการกับปัญหามลพิษปรอทโดยด่วน        ออสเตรเลียมีการปล่อยสารปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 18 ตัน หากคิดเฉลี่ยต่อหัวประชากร อัตราการได้รับปรอทของคนออสเตรเลียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงสองเท่า ส่วนใหญ่เป็นการรับปรอทเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารทะเลและปลาแม่น้ำ (สถิติการบริโภคอาหารทะเลของคนออสซี่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน)        นอกจากนี้ปรอทยังเป็นผลพลอยได้จากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และปัจจุบันยังถูกใช้ในสารเคมีฆ่าเชื้อราในต้นอ้อยด้วย           หมายเหตุ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทเช่นกันเตรียมลงดาบ        คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ACCC ประกาศว่าปีนี้จะจับตาและลงดาบธุรกิจรับจัดงานศพ หลังพบว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอมานาน        ธุรกิจรับจัดงานศพในออสเตรเลียซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) ทั้งๆที่มีผู้ประกอบการน้อยราย มักถูกร้องเรียนเรื่องค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมและการผิดสัญญากับลูกค้า           ปลายปีที่แล้ว InvoCare ถูกเปิดโปงโดยนิตยสาร CHOICE ว่าเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการชำระเงินเกินเวลา” ทั้งๆ ที่ลูกค้าจ่ายเงินตรงเวลา        บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่ของธุรกิจงานศพอีกสองแบรนด์ (White Lady Funerals และ Simplicity Funerals) รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในแต่ละรัฐของออสเตรเลียอีก 40 แบรนด์ ในปี 2561 InvoCare จัดงานศพ 36,000 งาน ทำรายได้ไป 290 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,900 ล้านบาท)        อีกเรื่องที่ ACCC ต้องตั้งรับคือการหาผลประโยชน์จากวิกฤติ เช่น การระดมทุนทางโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่า หรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงพวกที่กักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายเกินราคาด้วยบริการเสริมจากไปรษณีย์        แม้การส่งจดหมายจะลดลงเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก แต่ไปรษณีย์ฝรั่งเศส (La Poste) ยังไปได้สวยด้วยบริการ V.S.M.P หรือบริการเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง          นอกจากส่งจดหมายหรือพัสดุแล้ว พนักงานไปรษณีย์จะเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุในบ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบ นำยาตามใบสั่งแพทย์มาส่ง ช่วยสั่งซื้อของออนไลน์ นำหนังสือไปคืนห้องสมุด ซ่อมแซมปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ด้วยค่าบริการรายเดือน 37.90 ยูโร (ประมาณ 1,300 บาท)        พนักงานจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในแอป และเมื่อผู้รับบริการพอใจแล้ว (ส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที) ก็จะลงชื่อในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะแจ้งความคืบหน้าไปยังลูกหลาน          บริการนี้มาได้ถูกที่ถูกเวลา ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ ตามเมืองเล็กๆ ก็มีคนอายุมากกว่า 75 ปีอีกหลายล้านคนอยู่บ้านคนเดียว และใน 15 ปีข้างหน้า ประชากรหนึ่งในสามของฝรั่งเศสจะมีอายุมากกว่า 60 ปี        จุดเริ่มของโครงการนี้คือเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นให้ส่งพนักงานออกไปตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ต่อมาบริการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทประกันและเทศบาลท้องถิ่นว่าจ้างให้ทำงานแทนให้ และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาก็พัฒนามาเป็นบริการผ่านแอปฯ สำหรับคนทั่วไป        La Poste ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อ 10 ปีก่อน มีจดหมายให้ส่งน้อยลงเกือบ 8,000 ล้านฉบับ ปัจจุบันรายได้บริการนี้เป็นเพียงแค่ร้อยละ 28 ของรายได้รวมเท่านั้น        ข่าวร้ายสำหรับคนที่ยังรักจดหมาย ปีนี้ค่าแสตมป์ภายในประเทศปรับขึ้นจาก 78 เป็น 86 เซนต์ (ประมาณ 30 บาท) แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 กระแสต่างแดน

ค่าาเข้าชม  ผู้บริโภครายหนึ่งตื่นเต้นกับโฆษณาขายบ้านในอินเทอร์เน็ต โอ้ว... บ้านหลังโตพร้อมระเบียงกว้างใหญ่ในเขตเมืองเอช รัฐบาเซิล-ลันด์ชัฟท์ ประกาศขายในราคาเพียง 300,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 10 ล้านบาท) เธอจึง “คลิก” แสดงความสนใจ  จากนั้นเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นแพทย์ชาวสเปนชื่อแคทาลีนา ตอบกลับมาว่าเธอได้มอบอำนาจให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Partner Real Estate เป็นนายหน้าดูแลเรื่องการขาย  ต่อมา “ลอร่า วัตสัน” ตัวแทนขายก็โทรมาแจ้งว่าหากเธอต้องการ “เข้าชมบ้าน” ก็ให้ชำระเงิน 12,000 ฟรังก์(ประมาณ 4 แสนบาท) เข้ามาก่อน โดยย้ำชัดเจนว่าไม่ใช่ค่ามัดจำ  มันชักจะยังไง ลูกค้ารายนี้ลองหาข้อมูลผ่านเว็บกูเกิล แต่ก็ไม่พบชื่อของคุณหมอคนดังกล่าวในโรงพยาบาลที่อ้างว่าทำงานอยู่ เธอจึงแจ้งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ  การสืบสวนพบว่า PRE เป็นบริษัทกำมะลอที่นำโฆษณาขายบ้านจากเว็บที่ประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มาใส่ในเว็บตัวเองแล้วสวมรอยเป็นตัวแทนขายโดยเจ้าของตัวจริงไม่รู้เรื่องเลยเที่ยวบินบูมเมอแรง  เบอลินมีท่าอากาศยานสองแห่ง ทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเมือง แต่ไม่มีใครเดินทางระหว่างสองสนามบินนี้ด้วยเครื่องบิน... ยกเว้นผู้โดยสารกลุ่มนี้  เที่ยวบินของสายการบินอีซี่เจ็ทจากท่าอากาศยาน Tegel ตอนเหนือของเบอลินไปยังเมืองซูริคสวิตเซอร์แลนด์ มีกำหนดออกเดินทางเวลา 21:20 น. แต่ด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิค กว่าจะขึ้นบินได้ก็เลย 23:00 น. ไปแล้ว  สนามบินปลายทางมีช่วงเวลาเคอฟิวระหว่าง 23:30 น. และ 06:00 น. แต่กัปตันก็มั่นใจว่ามีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำเครื่องลงได้เป็นกรณีพิเศษ โชคร้าย... กัปตันเข้าใจผิด  ว่าแล้วก็เตรียมบินกลับที่เดิม แต่เวลานั้นสนามบิน Tegel ปิดแล้ว กัปตันจึงต้องนำเครื่องไปลงที่สนามบิน Schönefeld ทางตอนใต้ของเบอลิน ซึ่ง ณ เวลานั้นมีแท็กซี่ให้บริการอยู่เพียง 5 คัน สร้างความเพลียจิตให้กับผู้โดยสารทั้ง 200 คนมิใช่น้อยไม่ชอบเรียนซ้ำ  ปีการศึกษา 2018-2019 ฮานอย โฮจิมินห์ และเมืองใหญ่อื่นๆ เริ่มต้นด้วยเสียงบ่นของพ่อแม่ผู้ปกครองที่หงุดหงิดเพราะหาซื้อหนังสือเรียนให้ลูกหลานไม่ได้  รัฐบาลเวียดนามลดจำนวนการพิมพ์หนังสือเรียนลงเรื่อยๆ โดยส่งเสริมให้นักเรียนใช้หนังสือมือสองที่รุ่นพี่ฝากไว้กับโรงเรียน เพราะแต่ละปีมีหนังสือเรียนหลายร้อยล้านเล่ม (คิดเป็นมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านดอง) ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ   แม้ทางการจะยืนยันว่าเนื้อหาสาระในเล่มไม่ได้เปลี่ยน หนังสือเรียนมือสองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ มีผู้วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทำให้พ่อแม่อยากซื้อหนังสือใหม่ให้ลูก ที่สำคัญราคาหนังสือเรียนในเวียดนามก็ถูกมาก (ชุด 6 เล่มสำหรับเด็กประถมราคาไม่เกิน 108 บาท/ ชุด 13 เล่มสำหรับ ม.ต้น ไม่เกิน 200 บาท และชุด 14 เล่มสำหรับ ม.ปลาย ไม่เกิน 220 บาท)   เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้ปกครองจ่ายค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนมากที่สุด ข้อมูลระบุว่าปีนี้พวกเขาจ่ายไปเกือบหนึ่งในสามของเงินเดือนอยากดังต้องดี  จีนประกาศผลการจัดอันดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบุคคลในวงการบันเทิง ว่ากันว่านอกจากหน้าตาและความสามารถแล้ว “ความดีงาม” จะทำให้คุณไปได้ไกลในจีนแผ่นดินใหญ่  จากนักร้องนักแสดงเชื้อสายจีนทั้งหมด 100 คน มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ว่าด้วยผลงานการแสดง การร่วมงานการกุศล และการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม  อันดับหนึ่งเป็นของ สวี เจิง ดารานำจากภาพยนตร์ตลกเคล้าดราม่า Dying to Survive ที่พูดถึงความพยายามในการเสาะหายาราคาถูกให้กับผู้ป่วยมะเร็ง (หนังเรื่องนี้ทำรายได้แซง จูราสสิก เวิลด์ และทำให้รัฐบาลจีนประกาศลดค่ายารักษามะเร็งด้วย)  อันดับสองและสามได้แก่ สมาชิกวงบอยแบนด์ TFBoys ที่โดดเด่นด้านงานการกุศล  ส่วนดาราสาว ฟ่าน ปิงปิง แม้จะโด่งดังและ “อินเตอร์” ที่สุด แต่เธอเข้ามาที่โหล่เพราะกำลังถูกทางการสอบสวนในข้อหาเลี่ยงภาษีนั่นเองสงครามราคา  ในอังกฤษ โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอยู่ที่ 4,271 ปอนด์(ประมาณ 184,000 บาท) แต่ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นธุรกิจที่ไม่มีการควบคุมเรื่องราคา บริการนี้จึงค่อนข้างแพงและมักไม่ชัดเจนว่าผู้ซื้อบริการจะได้อะไรบ้าง หน่วยงานกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันจึงเริ่มสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนและความโปร่งใสในการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ ระหว่างที่รอผล เรามีคู่มวยเด็ดให้ชมไปพลางๆ ... Co-op (ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16) ออกแพคเก็จ “พิธีศพแบบเรียบง่าย” ในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งที่เน้นความหรูหราอย่างบริษัท Dignity   Dignity (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12) ไม่ยอมแพ้ ประกาศลดราคาแพคเก็จบริการของตัวเองลงมาเช่นกัน แต่ Co-op ก็ตอบโต้ด้วยการลดราคาแพคเก็จที่ถูกที่สุดลงจากเดิมอีก 100 ปอนด์  หุ้นของ Dignity ตกฮวบฮาบเพราะนักวิเคราะห์ระบุว่าหากจะสู้ราคากับ Co-op ให้ได้บริษัทจะต้องยอมขาดทุนกำไรประมาณ 1.5 ล้านปอนด์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ทันเล่ห์ประกันภัย

ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขัน และแย่งชิงลูกค้ากันสูงมาก   หากการแข่งขันนั้น เป็นการแข่งขันกันด้านคุณภาพ  สื่อตรง มีธรรมาภิบาล คงเป็นความโชคดีของผู้บริโภค   และคงสร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภค มีความต้องการที่จะทำประกันมากขึ้น  แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปรากฏชัดว่า มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น ประกันภัยผู้สูงอายุ ที่ระบุว่า ไม่ต้องถามโรค  แต่พอพบว่า เมื่อป่วยเข้าจริง หลายรายกลับถูกบอกเลิกสัญญา โดยใช้ข้อกฎหมายว่าหากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยง  บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการจ่ายคืนสินไหมล่าช้า ฯลฯ จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เข็ดขยาดกับบริษัทประกันภัยล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า  ถูกเชิญชวนให้จ่ายเงินซื้อประกันชีวิตเพิ่ม โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกจ่ายเงินไปแล้ว ต่อมาภายหลังจึงเพิ่งนึกได้ว่าน่าจะถูกหลอก  เรื่องมีอยู่ว่า “คุณมา”(นามสมมุติ)ได้ซื้อประกันชีวิตกรณีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต เบี้ยประกันปีละ 2,100 บาท(วงเงินประกัน 4 แสนบาท) จะได้เบี้ยประกันต่อเมื่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น  ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนบริษัทประกันภัย  แจ้งว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ามาให้  เพราะการซื้อประกันอุบัติเหตุนั้นหากไม่เกิดอุบัติเหตุ เงินก็จะสูญเปล่า พร้อมเชิญชวนให้ซื้อประกันแบบสะสมเป็นรายปี  เสียชีวิตจากเหตุใดก็จะได้สินไหมทันที โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 6 แสนบาท แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 14,000  บาท  ตอนถูกชวนไม่ทันคิดเลยตอบตกลงและจ่ายเงินไป   เมื่อได้กรมธรรม์จึงได้อ่านรายละเอียด ทำให้ทราบว่า กรณีจะได้เงินประกันจากเหตุใดก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างแต่จะต้องเลย 2 ปีขึ้นไป หรือ  หากตายก่อนเวลา 2 ปี ก็ต้องตายจากอุบัติเหตุถึงจะได้สินไหมจากบริษัท  แต่ถ้าตายจากโรคทั่วไปบริษัทจะไม่จ่ายสินไหม  แต่จะคืนวงเงินที่ซื้อประกันไว้พร้อมดอกเบี้ย 10%  เมื่อคิดดูแล้ว จึงรู้ว่าเสียท่าบริษัทประกันภัย เพราะต้องจ่ายเงินซื้อประกันมากกว่าเก่าถึง 5 เท่า แต่การคุ้มครองเพิ่มเพียงเล็กน้อย   กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนก็ดำเนินต่อไป  ที่เขียนมาเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ก่อนตัดสินใจซื้อประกันฯ โปรดอ่านรายละเอียดในสัญญาให้รอบคอบ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เคล็ด(ไม่)ลับ เลือกแฟรนไชส์อย่างไร ให้ไปรอด

คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย มีบริษัทแม่มาช่วยทำให้ได้กำไร ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินว่าการเริ่มทำธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเองทุกอย่าง คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งทั้งหมดด้วยตนเอง ลองผิด-ลองถูกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบสูตรสำเร็จ บางคนโชคดีหน่อยใช้ระยะเวลาค้นหาไม่นานนัก แต่ส่วนใหญ่จนเงินทุนหมดไปแล้วก็ยังไม่พบคำตอบเสียที “ธุรกิจแฟรนไชส์” จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งระบบธุรกิจทางเลือกที่เหมาะกับการลงทุนเป็นเจ้าของในยุคนี้ ที่ผมอยากนำเสนอให้ลองพิจารณา เพราะด้วยระบบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สินค้า หรืองานบริการ ที่มาพร้อมด้วยสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า การตลาดที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นแบบแผน มีการอบรมพนักงาน ให้คำปรึกษาและแนะแนวความรู้ อย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารธุรกิจไปได้ตลอดรอดฝั่ง มีคนเคยศึกษาตัวเลขพบว่า กว่าร้อยละ 70 ของคนที่เริ่มทำธุรกิจมักจะทยอยปิดตัวลง หากทุนไม่หนา ประสบการณ์ไม่มากพอ ก็ต้องยอมรับว่าอยู่ในวงการนี้ยาก แม้จะเดินตามแบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีแนวทางมาให้แล้วเสร็จสรรพก็ตาม เพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เมื่อซื้อแฟรนไชส์แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย มีบริษัทแม่มาช่วยทำให้ได้กำไร ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น  คนเป็นแฟรนไชส์ก็ต้องลงมือทำธุรกิจเองอย่างตั้งใจ ผลกำไรหรือยอดขาย จะอยู่ที่ความเอาใจใส่ของเจ้าของร้าน และการทำตามข้อแนะนำ วิธีการที่ผ่านความสำเร็จมาแล้ว ความนิยมเปิดร้านแฟรนไชส์ที่มีมากขึ้นทำให้ปัจจุบัน มีแฟรนไชส์เปิดใหม่มากกว่า 80,000 แห่งต่อปี และธุรกิจนี้มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20-25 % จากแฟรนไชส์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ปะปนกันไป เคล็ด(ไม่)ลับของการเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ให้ผิดหวังนั้นทำได้ง่ายๆ จากคำแนะนำของคุณสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย ที่ได้ให้ไว้ในการสัมมนา “Franchise Guide 2014  แนะทางรวยด้วยธุรกิจแฟรนไชส์” ดังนี้ 1. ดูอายุของธุรกิจว่าเปิดมานานแค่ไหนแล้ว ถ้า 5 ปีขึ้นไปถือว่ามีประสบการณ์ ลองผิด – ลองถูก มากพอที่พร้อมจะถ่ายทอดแนวทางการทำกำไรให้เราได้ 2. เป็นกิจการที่มีกำไร มีร้านสาขา ส่วนใหญ่สามารถทำกำไรได้ 3. มีสาขาอยู่แล้วหลายแห่ง แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการสาขา 4. มีนโยบายที่จะเป็นผู้นำตลาด บริษัทแม่ทุ่มเทในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อร้านแฟรนไชส์ซี่ด้วย 5. มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก แฟรนไชส์ที่ดีควรมีการสร้างแบรนด์และมีฐานทางการตลาดอยู่แล้ว จะทำให้เมื่อเปิดร้านขึ้นมาจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการทันที  แตกต่างจากการที่เราต้องสร้างแบรนด์เองเพราะต้องใช้ระยะเวลานาน 6. เป็นธุรกิจที่มีตลาดกว้าง สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่และมีการซื้อซ้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงกับการทำธุรกิจที่ยาวนาน เช่นธุรกิจอาหาร, บริการด้านสุขภาพ-ความงาม, สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นต้น 7. มีระบบงานที่ทันสมัย เช่น มีคู่มือการทำงานที่ดี มีระบบบัญชี มีเทคโนโลยีและให้การฝึกอบรมเจ้าของร้านและพนักงาน เป็นต้น 8. มี ผู้บริหารที่มีความสามารถ เพราะการขยายแฟรนไชส์เป็นการบริหารจัดการขนาดใหญ่ เจ้าของจำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการต่างๆ ให้บรรลุผล 9. มีทีมงานสนับสนุน แฟรนไชส์ที่ดีควรให้การสนับสนุนเพื่อช่วยเริ่มกิจการและทำให้ร้านดำเนินงานได้ต่อเนื่อง 10. การสำรวจร้านที่มีอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องลงมือทำเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด สำหรับตัดสินใจ 11. มีกำไรเพียงพอเพราะแฟรนไชส์จะมีต้นทุนจากการขายที่ต้องแบ่งให้บริษัทแม่ด้วย 12. มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง บริษัทแม่ที่ดีจะต้องมีการพัฒนาสินค้าและบริการตลอดเวลา เพื่อเอาชนะการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง สำหรับท่านผู้บริโภคที่ต้องการผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการดูบ้าง ลองนำเอาเทคนิคง่ายๆ 12 ข้อนี้ไปใช้ก่อนตัดสินใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้นะครับ   เพราะนอกจากจะทำให้ท่านกลายเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ท่านยังจะรู้จักและเข้าใจในชีวิตอีกบทบาทหนึ่งมากขึ้นด้วย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 “แชร์ลูกโซ่” ธุรกิจมอมเมาคนอยากรวย

ข่าวการจับกุมผู้บริหาร บ. ยูฟัน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน  เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาความอยากรวยของคนไทย  ซึ่งเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่ จนบางครั้งลืมไปว่า สิ่งที่ฝันนั้นไม่ได้มาง่ายๆ อย่างที่คิด ความอยากรวย จึงเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสนำมาล่อลวงสุจริตชน  วิธีการที่นิยมคือ ใช้การนำเสนอการทำธุรกิจ ที่มีรูปแบบลักษณะการทำธุรกิจคล้ายกับธุรกิจเครือข่าย MLM ซึ่งย่อมาจากคำว่า Muti-level Marketing อาจใช้เรียกเป็นภาษาไทยว่าธุรกิจขายตรงแบบหลายชั้น ที่เรียกกันว่า “ธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย“ธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM”   คือ รูปแบบทางการตลาด  ที่ต้องการนำสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ช่องทางที่ว่านี้ใช้บุคคลเป็นคนโฆษณาสินค้า บอกเล่าเรื่องราวของสินค้า นำเสนอสินค้า รวมทั้งชักชวนคนมาทำธุรกิจได้ด้วย   ลักษณะการทำธุรกิจมุ่งเน้นไปที่ให้ผู้บริโภคภักดีต่อสินค้าและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยมีลักษณะดังนี้ผู้ผลิต สินค้าที่นำมาขายในช่องทางธุรกิจเครือข่าย มีทั้งเจ้าของธุรกิจเครือข่ายผลิตเอง และ นำสินค้ามาจากผู้ผลิตสินค้ารายอื่น ๆ เข้ามาจำหน่าย ผู้จำหน่าย หรือ ตัวแทนธุรกิจ คือบุคคลทั่ว ๆ ไปที่สนใจจะมาร่วมธุรกิจ ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายสินค้า และชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจ ยิ่งจำหน่ายสินค้ามากเท่าไหร่ หรือสามารถชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจได้ การจ่ายผลตอบแทนก็จะได้มากตามลำดับขั้นของบริษัทเครือข่ายนั้น ๆ ผู้บริโภค คือปลายทางสุดท้ายที่ใช้สินค้า รวมทั้งผู้จำหน่ายเองก็ต้องเป็นผู้บริโภคด้วย รูปแบบการโฆษณาสินค้าจะใช้วิธีปากต่อปาก  มีเครื่องมือการเป็น โบชัวร์ แคทตาล็อคสินค้า และคู่มือการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องผ่านการโฆษณาและพ่อค้าคนกลาง เหมือนกับการตลาดทั่วไป ลักษณะการทำธุรกิจแบบนี้เป็นที่น่าเชื่อถือ    จึงทำให้คนสนใจเข้ามาร่วมธุรกิจเครือข่ายจำนวนมาก เพราะเปิดโอกาสให้คนที่มีทุนน้อย ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ คนที่อยากมีรายได้เสริมจากงานประจำ และยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง ก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมาก เพียงเริ่มต้นจากการใช้สินค้าที่ดี และเมื่อเกิดความประทับใจในตัวสินค้าที่ใช้ ก็ทำการแนะนำบอกต่อให้คนที่รู้จักได้ใช้สินค้าที่ดีนั้นเหมือนกับตน  เราจะเห็นการทำธุรกิจประเภทนี้ประสบความสำเร็จ เช่น  แอมเวย์  กิฟฟารีน ฯลฯ ที่เปิดสาขามากมายเพื่อให้บริการสมาชิกและบุคคลทั่วไป การทำธุรกิจเครือข่าย หรือ MLM  จึงเป็นธุรกิจการตลาดแบบตรง  ซึ่งทุกบริษัทต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ตาม พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545         แต่ บ.ยูฟันฯ ใช้กลวิธีหลอกลวงประชาชน แบบ “แชร์ลูกโซ่” ใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อ โดยไม่มีสินค้า  อ้างการทำธุรกิจนี้เป็นการลงทุน ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM    โดยการหาสมาชิกใหม่อยู่ตลอดเวลา เจ้าของบริษัทจะได้รับเงินค่าสมาชิก และนำเงินค่าสมัครสมาชิกใหม่บางส่วน มาให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับสมาชิกเดิม  ทำให้สมาชิกหลงเชื่อว่าได้รับผลประโยชน์ และเจ้าของบริษัทมักจะใช้ผลประโยชน์หลอกล่อและทำให้หลงเชื่อว่า  หากมีการสมัครสมาชิกต่อจากตัวเอง ผลประโยชน์จะได้รับเพิ่มขึ้น  จึงทำให้มีการบอกต่อและชักชวน ญาติพี่น้อง เพื่อนและคนรู้จักมาลงทุน บางคนได้รับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย จะทำอย่างไรให้ได้เยอะๆ  ก็ใช้วิธีการขายทรัพย์สินของตัวเอง หรือนำไปจำนอง เพื่อมาสมัครสมาชิกต่อตัวเอง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์  สุดท้ายเมื่อหมดคนที่ตัวเองรู้จัก  ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้  ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว  สุดท้ายผู้บริหารของบริษัทจะหนีหายไป หากไม่สามารถตรวจสอบได้  ก็จะกลับมาเปิดบริษัทเพื่อหลอกลวงต่อไปอีก  การกระทำของบริษัท ยูฟันฯ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545     ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ  โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น     ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท          แต่หากความผิดนั้นเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษหนักกว่าประมวลกฎหมายอาญา คือ  ผู้กระทำความผิดเรื่อง เรื่องการฉ้อโกงประชาชน ได้ระวางโทษผู้กระทำความผิดไว้เพียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่อัตราโทษของผู้กระทำความผิดที่เข้าข่าย ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 นี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และยังมีการปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หากมีเจ้าทุกข์จำนวนมาก ความผิดต่างกรรมต่างวาระ ต้องติดคุกถึงชาติหน้าอย่างแน่นอนคงต้องเป็นบทเรียนกับผู้ที่อยากมีรายได้เสริม หรือการประกอบธุรกิจ ว่าต้องตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วน คิดให้รอบคอบ   แม้จะมีกฎหมายช่วยเหลือ  แต่เงินที่ได้รับคืนคงไม่เท่ากับเงินที่เสียไป หรืออาจไม่ได้เงินคืนเลย ดังสุภาษิตที่ว่า “โลภมาก ลาภหาย”  นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 ธุรกิจกาแฟระดับโลกกับการดูแลสังคม

คุณรู้หรือไม่ ชาวโลกบริโภคกาแฟถึง 2,250 ล้านถ้วยในแต่ละวัน การบริโภคส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมในซีกโลกเหนือที่ดินฟ้าอากาศไม่เอื้อต่อการปลูกกาแฟ กว่าร้อยละ 90 ของเมล็ดกาแฟมาจากประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ ซึ่งมีผู้คนประมาณ 26 ล้านคนจาก 52 ประเทศอยู่ในสายการผลิตนี้ ฉลาดซื้อขอนำเสนอผลการสำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของค่ายกาแฟที่ทำตลาดในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในรูปแบบของกาแฟสำเร็จรูปและธุรกิจร้านกาแฟ ไม่ต่ำกว่า 30 แบรนด์ โดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ได้ร่วมกับ DanWatch องค์กรเฝ้าระวังเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ทำการสำรวจครั้งนี้ซึ่งมีทั้งการหาข้อมูลจากเอกสาร การตอบแบบสอบถามและการลงพื้นที่สำรวจ โดยเน้นที่ประเทศบราซิลเป็นหลัก เพราะ 1 ใน 3 ของผลผลิตเมล็ดกาแฟมาจากที่นี่ และประชากรบราซิลกว่า 5 ล้านคน (จาก 200 ล้านคน) ก็หาเลี้ยงชีพด้วยรายได้จากการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวกาแฟนั่นเอง ในการสำรวจครั้งนี้ ได้แบ่งการให้คะแนนออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้ -          นโยบายสังคมของบริษัท รวมถึงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงานของผู้จัดส่งสินค้า -          นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทและผู้จัดส่งสินค้ารายย่อย -          การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงการดูแลสนับสนุนชุมชน -          ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจรวมถึงการรายงานต่อสังคมและการให้ความร่วมมือในการสำรวจ กาแฟยี่ห้อที่คุณชื่นชม แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้โดนใจคณะกรรมการของเรามากน้อยเพียงใด ติดตามได้ในหน้าถัดไป           ข้อมูลบางส่วนจากรายงานสภาพการทำงานของคนงานในไร่กาแฟในบราซิลจาก DanWatch โรงพยาบาลโรคมะเร็งในรัฐ Minas Gerais ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกกาแฟของบราซิล มีจำนวนคนไข้โรคมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรรายย่อย สหภาพแรงงาน CRESOL บอกว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟคือโรคมะเร็ง โรคมะเร็ง 3 ประเภทที่พบอาจมีสาเหตุจากยาฆ่าแมลง หรือจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งผู้คนในบริเวณนี้ก็มีแนวโน้มจะดื่มและสูบมากกว่าผู้คนในเขตอื่น อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าอย่างรุนแรงที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ก็เพิ่มขึ้นในหมู่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ถึง 3 เท่า เป็นที่รู้กันว่าเจ้าของไรกาแฟที่นั่น ถ้าไม่ใช่นักการเมือง ก็เป็นตำรวจ หรือไม่ก็ผู้พิพากษา และอุตสาหกรรมนี้ก็ไม่ถูกตรวจสอบเข้มข้นเหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ การจ้างงานเป็นการทำ “ข้อตกลงหุ้นส่วน” ซึ่งเกษตรกรผู้เป็นฝ่ายลงแรงจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ 50 ซึ่งแจ้งกับกระทรวงแรงงานไปแต่ความจริงแล้วก็ยังเป็นการจ้างรายวันนั่นเอง คนงานซึ่งยากจนและต้องการงานทำจะไม่ถามคำถามหรือตั้งเงื่อนไขมากมาย ... แต่งานในไร่กาแฟก็ยังเป็นงานที่รายได้ดีที่สุดและทำเป็นฤดูกาลเท่านั้น ถ้าทำงานเต็มที่ก็จะหาเงินได้เดือนละเกือบ 40,000 บาท ในขณะที่ถ้าไปทำงานอื่นจะได้แค่ 9,500 บาทเท่านั้น บราซิลใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างเข้มข้น ทั้งปุ๋ยและสารกำจัดวัชพืช แต่ในขณะเดียวกันการใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากาก ถุงมือ หรือรองเท้าบู๊ต กลับมีน้อยมาก ธุรกิจสารเคมีการเกษตรทำตลาดโดยมุ่งเป้าไปที่เกษตรกรรายเล็กที่ส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ และขายสารเคมีราคาถูก (แน่นอนว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียน) ให้กับคนกลุ่มนี้ และปลูกฝังความเชื่อว่าถ้าไม่ใช้แล้วจะปลูกไม่ขึ้น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- 5 อันดับประเทศที่นำเข้ากาแฟมากที่สุดในโลก อเมริกา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเมล็ดกาแฟมาที่สุด 5 อันดับแรก บุรุนดี (ร้อยละ 59 ของรายได้จากการส่งออก มาจากกาแฟ) เอธิโอเปีย (ร้อยละ 33) รวันดา (ร้อยละ 27) ฮอนดูรัส (ร้อยละ 20) อูกานดา (ร้อยละ 18) -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ร้านกาแฟสายพันธุ์ไทย แม้การบริโภคกาแฟของคนไทยจะยังไม่ติดอันดับ 1 ใน 20 เมื่อเทียบกับคนทั้งโลก แต่เราโชคดีที่สามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้เอง (ไม่อยากจะคุยว่าผลิตได้ทั้งพันธุ์อราบิกาและโรบัสต้าด้วยนะ) และการบริโภคกาแฟของคนไทยก็กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากกาแฟแบรนด์นอกเรามาดูเครือร้านกาแฟที่ก่อตั้งในเมืองไทยและใช้เมล็ดกาแฟที่ผลิตในประเทศกันบ้าง ฉลาดซื้อขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนจากการพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มกาแฟสดมากที่สุด 2 อันดับต้นของเมืองไทยดังนี้ ซีพี รีเทลลิงค์ ผู้ประกอบการร้าน CP Retailink Coffee และ All Café ในร้านสะดวกซื้อ 7/11 และผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดกาแฟแบรนด์ “ซีพี รีเทลลิงค์” คุณนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ซึ่งเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของกาแฟแบรนด์นี้ว่าต้องการทำกาแฟสดในราคาต่ำกว่าอาหาร 1 จาน ออกมาสนองความต้องการของผู้บริโภค บริษัทจึงลดต้นทุนโดยการทำระบบห่วงโซ่คุณค่าโดยไม่กดราคารับซื้อ บริษัทให้ราคาสูงกว่าราคากลางสำหรับเมล็ดกาแฟที่คัดเกรดแล้ว ซีพี รีเทลลิงค์ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากกลุ่มเกษตรกรดอยช้างและจากไร่กาแฟในโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดน่าน คุณนริสบอกว่าเนื่องจากปลูกในที่สูง กาแฟเหล่านี้จึงมีสารตกค้างค่อนข้างน้อย  แต่ละเดือนบริษัทจะรับซื้อกาแฟประมาณ 10 ตัน เพื่อนำมา “บ่ม” ไว้ 6 เดือนก่อนที่จะนำมาคั่วในโรงคั่วของบริษัทซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่ง ถามถึงการดูแลพนักงานในร้าน CP Retailink Coffee ซึ่งจะมี 100 สาขาในปี 2558 และ “ร้าน” กาแฟ ออลล์ คาเฟ่ (All Cafe) ซึ่งเพิ่มเป็น 2,000 สาขาในปีหน้าเช่นกัน คุณนริศบอกว่าบริษัทดูแลพนักงานตามมาตรฐานการจ้างงานและเน้นการจ้างงานคนในพื้นที่ นอกจากค่าจ้างแล้วพนักงานจะได้ส่วนแบ่ง 1 บาทต่อทุกๆแก้วที่ขายได้ (โดยอีก 1 บาทจากทุกแก้วจะเป็นการนำไปสมทบทุนกิจกรรมการกุศล) กิจกรรมเพื่อการดูแลสังคมที่บริษัทภูมิใจเสนอคือ การอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ที่จัดให้กับผู้สนใจ เดือนละครั้งในพื้นที่ของบริษัทในซอยวิภาวดี 62  โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและไม่มีข้อผูกมัดใดๆให้ซื้อสินค้าของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟหรือเครื่องชงกาแฟ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 5,000 คน และมีถึงร้อยละ 30 ที่ออกไปเปิดร้าน ผู้บริหารเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เมื่อ 7 ปีก่อนบริษัทได้สำรวจติดตามผลการทำธุรกิจของร้านกาแฟรายย่อยที่ซื้อเครื่องทำกาแฟจากบริษัทไป และพบว่าร้อยละ 70 มีผลประกอบการไม่ค่อยดี บางรายขาดทุน เพราะสิ่งที่ขาดหายไปคือความรู้ในการประกอบธุรกิจนั่นเอง ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- วันนี้คุณจ่ายค่ากาแฟ แก้วละเท่าไร? ผู้บริหารของ ซีพี รีเทลลิงค์ เปิดเผยว่า ต้นทุนกาแฟร้อนของเขาอยู่ที่แก้วละ 6.50 บาท เมื่อรวมค่าบรรจุภัณฑ์แล้ว   คาเฟ่ อเมซอน ร้านกาแฟภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินกิจการมาแล้ว 12 ปี ปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 สาขา สุชาติ ระมาศ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอน เล่าถึงธุรกิจกาแฟของบริษัทว่า ร้อยละ 90 ของร้านคาเฟ่ อเมซอน เป็นแฟรนไชส์ที่ดำเนินการโดยศูนย์บริการน้ำมัน ภายใต้การดูแลและควบคุมคุณภาพโดยบริษัท ปตท. ส่วนที่เหลือ (ในห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ฯลฯ) เป็นร้านที่บริษัทดำเนินงานเอง คุณสุชาติบอกว่าบริษัทเน้นการจ้างบุคลากรในท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการดูแลบาริสต้า เพราะเชื่อว่าเมื่อคนทำกาแฟมีความสุขก็จะสามารถส่งต่อความสุขไปยังลูกค้าได้ นอกจากนี้ยังให้โอกาสก้าวหน้ากับพนักงานด้วยการจัดสอบเลื่อนระดับ การแข่งขันชิงรางวัล การมอบรางวัลเมื่อทำความดี (เช่น เก็บของคืนลูกค้า) การจัดอบรมเพิ่มเติมทั้งหลักสูตรบาริสต้าและหลักสูตรการบริหารจัดการร้าน เป็นต้น ส่วนลูกค้าก็มีช่องทางการสะท้อนความเห็น/แจ้งปัญหา ผ่านสายด่วน 1365 ถ้าไม่พอใจในบริการที่ได้รับ (อย่าลืมดูหมายเลขสาขา ที่เขาติดไว้ให้เห็นได้ชัดๆ ด้านหน้าร้านด้วย) บริษัทรับซื้อเมล็ดกาแฟจากโครงการหลวงฯ เป็นหลัก และจากการประมูลเมล็ดกาแฟจากชุมชน ในราคาที่สมเหตุสมผล บริษัทมีแผนจะเปิดโรงคั่วกาแฟของตัวเองกลางปี 2558  ปัจจุบันได้ร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวงฯ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหรือไร่กาแฟที่หมดสภาพบนดอยอินทนนท์ ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกกาแฟแซม นอกจากนี้ยังมีโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ร่วมกับเครือข่ายกรีนเน็ท ขณะนี้ทดลองขายกาแฟออกานิกในสาขาของบริษัทเอง (นอกสถานีบริการน้ำมัน) การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ การนำวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ (แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ใน 180 วัน) เดี๋ยวนี้ร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งมักจะอยู่ท่ามกลางสวนร่มรื่น (ซึ่งคุณสุชาติเล่าว่าเดี๋ยวนี้หลายปั๊มจัดสวนแข่งกัน บางแห่งลงทุนกับสวนมากกว่าตัวร้านด้วยซ้ำ) ได้กลายเป็นแหล่งพบปะของคนในชุมชนไปด้วย นี่เป็นผลพลอยได้นอกเหนือจากความตั้งใจแรกของแบรนด์ที่เน้นการเข้าถึงกาแฟสดในราคาที่เหมาะสม และคนเดินทางได้ใช้เป็นที่พักผ่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 การจัดการธุรกิจที่เข้าข่ายการพนันของ เยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการสำหรับเนื้อหาช่วง ฉลาด ช้อปในครั้งนี้ ยังคงอยู่แวดวงโทรคมนาคมครับ เพราะหลังจากการประมูลคลื่น 2.1 GHz  สังคมและเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ตั้งข้อสงสัยต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ จนสุดกำลังความสามารถหรือเปล่าในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนตามที่ได้ทุ่มทุนออก spot โฆษณา ว่าเป็นภารกิจเพื่อชาติ แต่เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลง คนที่ยิ้มได้ก่อนกลับเป็นผู้ประกอบการสามราย ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ กทค. เองที่จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นครับ ว่าการออกแบบการประมูลนั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ และไม่เอื้อประโยชน์เอกชน สำหรับผู้บริโภคนั้นคงต้องจับตาดูการทำงาน ของ กทค. ในประเด็นราคาที่จะถูกลง และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ท่านประธาน กทค.ให้สัมภาษณ์ว่าจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ องค์กรผู้บริโภคของไทยคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปครับ   สำหรับมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 3 G นั้น การใช้ช่องทางการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่นี้ ภาครัฐและองค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช.ก็ต้องฉลาด และเท่าทันกับ 3ก (เกมส์-กล-โกง) ของธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วย โดยเฉพาะในยุค 3G นั้น มีการกล่าวกันไว้ว่า 3G ที่กล่าวถึงนั้นคือ Girl, Game and Gambling ปัจจุบันนี้เราจะเห็นการโฆษณาชักจูงให้เราต้องเสียสตางค์กับเรื่องเหล่านี้มาก จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับการกำกับดูแลในประเทศเยอรมนีเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้ธรรมดาครับ องค์กรกำกับดูแลเขาเอาจริง ทำจริงเพราะมองว่า ไม่สมควรที่จะให้ธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค ล่อลวงเด็กและเยาวชนนั้นใช้เทคโนโลยีนี้เหล่านี้ทำลายคนในชาติของเขาครับ มาดูว่า กสทช.ของเยอรมันให้ความสำคัญอย่างไรกับเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค “ศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐนอร์ดไรน์เวสฟาเลน (OVG Nordrheinwestfalen) ได้ตัดสินยืนตามมติของ กสทช. แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ที่ได้สั่งระงับการคิดค่าบริการ เนื่องจากเป็นบริการที่เข้าข่ายการเล่นพนัน “คำตัดสินของศาลได้ยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช*. (die Bundesnetzagentur) ในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นเรื่องการให้บริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค (unlautere Geschäftspraktiken) และเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเราจะติดตามสอดส่องพฤติกรรม และป้องปราม การทำธุรกิจประเภทนี้” มัทเทียส คัวร์ท ประธานกสทช.ได้กล่าวย้ำถึงคำตัดสินของศาลปกครอง ในเดือนธันวาคม 2010 และเดือนมกราคม 2011 กสทช.*(die Bundesnetzagentur)  ได้สั่งห้ามผู้ประกอบการรับเงินจากผลการประกอบการ ภายใต้หมายเลข Artikel-/Leistungsnummer 61404 และ 83917 (product identity 11004 และ 12000 เนื่องจากภายใต้หมายเลขนี้ บริษัท telomax GmbH ได้ให้หลายๆ บริษัทที่เช่าเลขหมายทำการตลาด ที่อยู่ในรูปของการพนัน นอกจากนี้ ภายใต้หมายเลขนี้ หลายๆบริษัทยังได้ทำการตลาดโดยใช้การโฆษณาชักจูงทางโทรศัพท์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วย (unerlaubter Werbeanrufen) โดยบริษัทได้โฆษณาชวนเชื่อว่า เป็นผู้ได้รับรางวัลเครื่องสำอางมูลค่า 100 ยูโร ซึ่งหลังจากที่โฆษณาชักจูงผ่านโทรศัพท์แล้ว ผู้บริโภคก็จะตกเป็นเหยื่อคือ หลงสมัครเล่นพนัน ของเวบไซต์ win-finder.com หรือ glücksfinder.net หลังจากที่ กสทช. (die Bundesnetzagentur) ได้ออกคำสั่งการห้ามเรียกเก็บเงินจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว ทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแห่งมลรัฐ และศาลก็ได้มีคำตัดสินยืนตามคำสั่งของทาง กสทช. บทสรุปจากการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศเยอรมนีคือ ไม่ส่งเสริมการทำธุรกิจประเภทหลอกลวง เอาเปรียบ และผิดกฎหมาย จริงๆ องค์กรกำกับดูแลในประเทศที่เจริญแล้ว เขามีอำนาจ และประชาชนไม่เคยสงสัยหรือ ต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจที่ประชาชนให้มานั้นเลย ถ้าองค์กรกำกับดูแลใช้อำนาจในการกำกับดูแล และให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประชาชนและสังคม มากกว่าประโยชน์ในการค้าขาย ที่มา Press release of die Bundesnetzagentur 27.05.2011 หมายเหตุ Die Bundesnetzagentur ( Federal Network Agency) ทำหน้าที่ เป็นผู้กำกับดูแลโครงข่าย ขนาดใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ไฟฟ้า ท่อขนส่งก๊าซ โทรคมนาคม รางรถไฟ และไปรษณีย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อคอนโด

จากเดิมที่คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดเคยเป็นที่อยู่อาศัยที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่เฉพาะอย่างย่านธุรกิจสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ เช่น สาธร สีลม สุขุมวิท เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามาทำงาน ของคนที่อยู่อาศัยห่างออกไปในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากการจราจรที่แสนแออัด คอนโดมิเนียมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับคนที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าว แม้มีข้อจำกัดในแนวราบ แต่คอนโดสามารถทำแนวดิ่งได้หลายชั้น และแม้จะมีพื้นที่น้อยแต่สามารถแบ่งพื้นที่ใช้สอยได้จำนวนมากกว่าบ้านจัดสรร ที่สำคัญคือผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคอนโดนิเนียมในย่านธุรกิจมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจับจองเป็นเจ้าของได้ แต่ปัจจุบันการขยายตัวของแนวรถไฟฟ้า ที่เริ่มออกสู่พื้นที่ชั้นนอกแถบชานเมืองของกรุงเทพฯ ยกตัวอย่างสถานีกรุงธนบุรี – บางหว้าที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 56 ซึ่งการเกิดของเส้นทางรถไฟฟ้ามาพร้อมกับการเกิดขึ้นของคอนโดมิเนียมจำนวนมาก เชื่อหรือไม่ว่า โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่อยู่รอบรัศมี 500 เมตรจากแนวรถไฟฟ้าสถานีกรุงธนบุรีถึงสถานีบางหว้ามีทั้งสิ้นประมาณ 31 โครงการ รวมประมาณ 14,900 หน่วย ซึ่งใน 31 โครงการนี้มีที่สร้างเสร็จแล้ว 14 โครงการ และขายหมดแล้วเรียบร้อยถึง 12 โครงการ ข้อมูลจาก สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  พบว่ามีสถิติการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศ ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2540 จนถึง พฤษภาคม ปี 2557 พบว่ามีการจดทะเบียนอาคารชุดทั่วประเทศจำนวน 6,606 โครงการ เป็นจำนวนห้องหรือยูนิตรวม 624,434 หน่วย ซึ่งหากแบ่งเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ จะมีอาคารชุดที่จดทะเบียนเท่ากับ 2,460 โครงการ เป็นจำนวนยูนิต 362,553 หน่วย ต่างจังหวัด 4,146 โครงการ เป็นจำนวนยูนิต 261,878 หน่วย โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีการเกิดขึ้นของอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมมากที่สุด คือ เฉพาะในกรุงเทพฯ มีการจดทะเบียนถึง 371 โครงการ เป็นจำนวนยูนิตถึง 50,602 หน่วย   ปัญหาจากการซื้อคอนโด เรื่องร้องเรียนอันดับ 1 สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาพร้อมปริมาณที่เพิ่มขึ้นของคอนโดก็คือ เรื่องร้องเรียนจากผู้ซื้อ ผู้ที่อยู่อาศัย มีตัวเลขยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่สรุปจำนวนเรื่องร้องเรียนตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนในกลุ่มที่อยู่อาศัย ถือเป็นเรื่องร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,324 ราย จากจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,150 ราย โดยเรื่องร้องเรียนในกลุ่มที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ปัญหาจากบ้านจัดสรร 2.ปัญหาการเช่าพื้นที่ และ 3.ปัญหาจากอาคารชุดและคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด คือมีจำนวนผู้ร้องเรียนถึง 629 ราย เป็นเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,390 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเรียนส่วนใหญ่ ได้แก่ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา คอนโดนิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วไม่ตรงตามสัญญา สร้างไม่ได้มาตรฐาน คอนโดที่สร้างไม่เป็นไปตามที่โฆษณา บ้านไม่เรียบร้อยตอนโอนกรรมสิทธิ์ บ้านชำรุดบกพร่องภายหลังโอนกรรมสิทธิ์ ฯลฯ ปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเตรียมพร้อมรับมือเมื่อซื้อคอนโด 1.สร้างเสร็จช้ากว่ากำหนด คอนโดส่วนใหญ่จะมีการเปิดให้จองก่อนที่สร้างแล้วเสร็จ บางโครงการเปิดให้จองตั้งแต่ยังไม่ลงเสาเข็ม ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมาก็คือ คอนโดสร้างเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดที่ได้แจ้งไว้กับผู้ซื้อเมื่อตอนที่มีการตกลงทำสัญญา ผู้ซื้อย้ายเข้าอยู่ไม่ได้ ซึ่งผู้ซื้อบางรายมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ตามช่วงเวลาที่ตกลงไว้แต่แรก เมื่อย้ายเข้าไปอยู่ไม่ได้ก็จึงกลายเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ซื้อ บางรายก็ต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อหาที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพราะคอนโดก็จ่ายเงินซื้อไปแล้ว ผ่อนมาก็หลายเดือนยังไงก็คงต้องรอ ปัญหานี้ ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยได้ เพราะเป็นการผิดสัญญา ซึ่งผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้ชัดเจนตั้งแต่ตอนทำสัญญา เพราะในหนังสือสัญญาต้องมีการระบุด้วยว่า หากเป็นการสร้างคอนโดเสร็จล่าช้าไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยโดยคิดดอกเบี้ย เป็น % จากเงินต้นทั้งหมดที่ได้จ่ายไป ซึ่งในสัญญาเจ้าของโครงการต้องมีการระบุไว้ การก่อสร้างอาจมีการล่าช้ากว่าที่กำหนดได้ไม่เกินกี่เดือนหรือหากเกิดปัญหาสุดวิสัย อย่าง เกิดภัยธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งทางโครงการต้องมีการแจ้งให้ผู้ซื้อทราบล่วงหน้า Tip วิธีแก้ปัญหาคือ ผู้ซื้อต้องส่งจดหมายแบบตอบรับถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการ (โดยเก็บสำเนาไว้กับตัวเอง 1 ชุด) พร้อมแนบสำเนาหลักฐานต่างๆ เช่น เอกสารการทำสัญญา หลักฐานการซื้อขาย แผ่นโฆษณาหรือหนังสือสัญญาที่มีการแจ้งรายละเอียดการรับผิดชอบกรณีสร้างคอนโดนแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด หากไม่ได้รับการตอบรับความรับผิดชอบจากโครงการ ให้นำเรื่องฟ้องต่อ สคบ. ซึ่งหากท้ายที่สุดต้องมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ ก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ 2.โครงการไม่ได้รับอนุญาตให้สร้าง สิ่งที่ผู้ซื้อคอนโดหลายคนอาจยังไม่รู้และอาจจะมองข้ามไป คือเรื่องของการขอใบอนุญาตก่อสร้างและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment (EIA) Report) ซึ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มีข้อกำหนดให้อาคารชุดที่มีที่อยู่อาศัยรวมกันตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป รวมถึงอาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่อยู่ใกล้ หรือในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  คือ รายงานที่โครงการก่อสร้างต่างๆ ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพิจารณาถึงความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการดังกล่าว หากพบว่าโครงการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะไม่ได้รับใบอนุญาติก่อสร้างจากสำนักโยธาธิการในพื้นที่ Tip เพราะฉะนั้นหากคอนโดใดที่มีห้องมากกว่า 80 ห้อง ผู้ซื้อต้องไม่ลืมสอบถามเรื่องใบขออนุญาตก่อสร้าง เพราะโครงการนั้นเข้าข่ายต้องมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยิ่งเดี๋ยวนี้คอนโดส่วนใหญ่เปิดจองตั้งแต่ยังไม่เริ่มมีการก่อสร้าง ซึ่งการทำรายงานอาจทำในภายหลัง หากโครงการนั้นไม่ผ่านเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โครงการต้องหยุดการก่อสร้าง ผู้ซื้อคอนโดก็จะได้รับความเสียหาย ต้องมาเสียเวลาเรียกร้องขอเงินคืน และก็ไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าจะได้รับเงินคืนทั้งหมดภายในระยะเวลานานแค่ไหน สามารถตรวจสอบเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างโครงการได้ที่ จากกรมโยธาธิการ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สำนักโยธาธิการจังหวัด   3.เชิดเงินจองหนี สาเหตุของการถูกเชิดเงินจองหรือเงินมัดจำจองซื้อห้องคอนโด มักจะเกิดจากการที่หลงเชื่อนายหน้าหรือตัวแทนขายที่มาเสนอขายคอนโด จนตกลงทำสัญญาซื้อขายกันโดยที่สัญญาดังกล่าวไม่ไปถึงบริษัทที่รับผิดชอบโครงการ พอผู้ซื้อจะไปติดต่อแสดงตัวเป็นเจ้าของห้อง ก็พบว่าไม่มีการทำสัญญาใดๆ ไว้ นายหน้าหรือตัวแทนขายที่ได้ตกลงจ่ายเงินกันไว้ก็หนีหายไปพร้อมเงิน กลายเป็นว่าทุกข์ก็ตกมาอยู่กับผู้ซื้อ สุดท้ายก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีกันไป ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เป็นคดีความบนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง Tip การป้องกัน เวลาตกลงทำสัญญาใดๆ มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ต้องทำกับบุคคลหรือบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีเอกสารยืนยันรับรองชัดเจน แสดงที่มาที่ไป หรือหากไม่มั่นใจสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทกับทาง สคบ.หรือที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์   4.สร้างเสร็จแต่ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการที่คอนโดเปิดให้จองตั้งแต่ยังไม่ดำเนินงานสร้าง ผู้ซื้อส่วนใหญ่จึงได้แต่มองดูห้องตัวอย่างหรือภาพโฆษณานำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อคอนโดสร้างเสร็จเรียบร้อยพร้อมย้ายเข้าไปอยู่ก็มักเจอเข้ากับปัญหา เมื่อสภาพห้องจริงๆ ไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ Tip ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2551 มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาอาคารชุด ที่ช่วยให้ผู้ซื้อไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากการโฆษณาของผู้ประกอบการเจ้าโครงการ โดยใน พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า ใหข้อความหรือภาพที่โฆษณาหรือหนังสือชักชวนเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อ-ขาย หากข้อความหรือภาพใดในโฆษณามีความหมายขัดแย้งกับข้อความในสัญญาให้ตีความเป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ ป้องกันการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ โดยเจ้าของโครงการต้องมีการเก็บสำเนาเอกสารที่เป็นสื่อโฆษณาทุกประเภท ทุกชิ้นไว้ จนกว่าจะขายห้องชุดหมด และต้องมีการส่งสำเนาให้นิติบุคคลอาคารชุดเก็บไว้อย่างน้อยหนึ่งชุด นอกจากนี้ข้อความและภาพโฆษณาจะต้องตรงกับหลักฐานและรายละเอียดที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ ซึ่งต้องมีการระบุรายละเอียดเรื่องของทรัพย์สินส่วนกลางเอาไว้ด้วย   กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ที่เป็นข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้ซื้อบ้านและห้องชุดในอาคารชุด ผ่านการควบคุมการโฆษณา ได้มีการกำหนดรายละเอียดข้อความโฆษณาขายคอนโดที่ลงในหนังสือพิมพ์ แผ่นพับ โบร์ชัวร์ ซึ่งคอนโคที่ดีควรมีข้อความดังต่อไปนี้อยู่ในโฆษณา -ข้อความที่แสดงว่าโครงการได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้องเรียบร้อยแล้วหรือยัง -เดือน ปีที่เริ่มต้นก่อสร้างและที่กำหนดว่าจะก่อสร้างอาคารชุดแล้ว -ข้อความที่แสดงว่าจะไปจดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ -ตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนที่ของที่ดินของโครงการ และแผนผัง -ข้อความที่แสดงว่าที่ดินและอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน บุคคล หรือนิติบุคคลใด หรือไม่ -จำนวนชั้นและจำนวนห้องชุดของอาคารชุดนั้น -ข้อความที่แสดงที่ว่าในอาคารชุดหลังเดียวกันนี้ มีห้องชุดเพื่อใช้เป็นเฉพาะที่อยู่อาศัย หรือใช้เป็นเฉพาะสำนักงาน หรือเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและสำนักงาน -ข้อความที่แสดงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากรที่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุด มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด -รายการและขนาดของทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลและทรัพย์ส่วนกลาง ในกรณีที่มีการโฆษณาว่าจะจัดให้มีทรัพย์ส่วนบุคคลภายนอกห้องชุดหรือทรัพย์ส่วนกลาง นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด รวมทั้ง เดือน ปี ที่เริ่มต้นก่อสร้างหรือจัดหาและที่กำหนดว่าจะก่อสร้างหรือติดตั้งทรัพย์สินนั้นแล้วเสร็จ -ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจอาคารชุด ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องระบุทุนจดทะเบียน ทุนชำระแล้ว ชื่อกรรมการผู้จัดการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจ ลงลายมือชื่อผูกพันนิติบุคคล -ข้อความที่แสดงว่าภาพโฆษณาเป็นภาพของจริงหรือภาพจำลองจากของจริง   5.ถูกบังคับให้โอนกรรมสิทธิทั้งที่ยังสร้างไม่เสร็จ คอนโดบางแห่งอาจมีการยื่นข้อเสนอให้ผู้ซื้อรีบรับโอนกรรมสิทธิห้อง ทั้งๆ ที่ตัวห้องยังสร้างไม่แล้วเสร็จดี โดยทางเจ้าของโครงการมักจะมีข้อเสนอต่างๆ มาเย้ายวนยั่วใจแก่ผู้ซื้อห้อง ทั้งส่วนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอน ลดค่าส่วนกลาง ทำให้ผู้ซื้อหลายคนตัดใจยอมโอนกรรมสิทธิทั้งที่ห้องยังไม่เสร็จ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ตรวจดูห้อง ซึ่งพอถึงเวลาย้ายเข้าไปอยู่จริงเมื่อเจอปัญหาความบกพร่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากอุปกรณ์เครื่องใช้ทั้งหลาย ระบบประปา ไฟฟ้า ฯลฯ ถึงเวลานั้นการเรียกร้องการแก้ปัญหาก็จะยิ่งเป็นปัญหา เพราะการเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการก็เป็นเรื่องยาก เพราะเขาก็จะอ้างว่าห้องได้ถูกโอนให้เป็นกรรมสิทธิของผู้ซื้อแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้การแก้ปัญหาก็จะต้องกลายเป็นภาระของผู้ซื้อ คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ อย่ารับโอนกรรมสิทธิห้องหากผู้ซื้อยังไม่เห็นห้องที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เพื่อผู้ซื้อจะได้มีโอกาสตรวจสอบคุณภาพของห้อง หากพบจุดชำรุดบกพร่องจะได้มีการแจ้งให้ทางโครงการทำการแก้ไขให้แล้วเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมาเป็นภาระของผู้ซื้อในภายหลัง Tip หากผู้ซื้อเจอกับกรณีที่เจ้าของโครงการพยายามบังคับหรือใช้ข้อกำหนดใดๆ มาบังคับให้ผู้ซื้อต้องรีบทำการรับโอนกรรมสิทธิห้อง ทั้งๆ ที่ผู้ซื้อเห็นว่าสภาพห้องยังไม่แล้วเสร็จเรียบร้อย หรือยังมีข้อบกพร่องที่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งข้อชำรุดบกพร่องในบางจุดอาจเสี่ยงตาอความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ผู้ซื้อสามารถแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ. หรือ กรมที่ดิน เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าของโครงการเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย   6.พบความเสียหายในคอนโดหลังโอนกรรมสิทธิ ปัญหาบางอย่างถ้าไม่ได้เข้าไปอยู่เสียก่อน ก็คงไม่มีโอกาสได้รู้ ผู้ซื้อหลายๆ คนต้องเจอปัญหาหนักใจหลังจากย้ายข้าวย้ายของเข้าไปอยู่ บางคนอยู่มาเป็นปีถึงเจอ บางคนไม่กี่เดือน บางคนซ้ำร้ายย้ายไปอยู่ไม่ทันข้ามคืนก็เจอเข้ากับปัญหาซะแล้ว ซึ่งปัญหาต่างๆ มี่เกิดขึ้นแน่นอนว่าต้องดำเนินการแก้ไข แต่ใครละเป็นผู้รับผิดชอบ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ในส่วนของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด (อ.ช. 22) ในข้อที่ 8 ได้มีการกำหนดเรื่องความรับผิดชอบของผู้ขายหรือเจ้าของโครงการในส่วนของความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้ 1.ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของอาคารชุดหรือห้องชุด ในกรณีดังต่อไปนี้ 1.1 กรณีที่เป็นโครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบอาคารที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด 1.2 กรณีส่วนควบอื่นนอกจากโครงสร้างและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบอาคารตามข้อ 1.1 ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี 2.ผู้ขายต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่องของอาคารชุดที่เกิดขึ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้ซื้ออาคารชุดได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ผู้ขายต้องดำเนินการแก้ไขในทันทีที่ได้รับแจ้ง หากผู้ขายไม่ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องดังกล่าวข้างต้น ผู้ซื้อมีสิทธิดำเนินการแก้ไขเองหรือจะให้บุคคลภายนอกแก้ไขให้ก็ได้ โดยผู้ขายยินยอมชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องดังกล่าว   Tip หากพบเจอปัญหาความชำรุดบกพร่องภายในคอนโดนหลังโอนกรรมสิทธิ ซึ่งเป็นความบกพร่องในส่วนที่ทางเจ้าของโครงการต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไข ให้ลองสอบถามเจ้าของห้องรายอื่นๆ ในโครงการ ว่าพบปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่ เพราะหากมีผู้เสียหายหลายๆ รายที่พบปัญหาในลักษณะเดียวกันแล้วรวมตัวกันเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ประกอบการ พลังในการต่อร้องจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น หากยังไม่ได้รับการรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการ ก็ให้รวมตัวไปแจ้งต่อ สคบ. ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่กลุ่มผู้อาศัยในคอนโดรวมตัวกันไปฟ้องร้องเรียกร้องเงินชดเชยจากเจ้าของโครงการผ่าน สคบ. สำเร็จมาแล้ว   หัวใจของการซื้อคอนโด -เข้มเรื่องสัญญา สัญญาคือเอกสารหลักฐานที่สำคัญที่ผู้ซื้อสามารถนำมาใช้เป็นข้อยืนยันกรณีที่เกิดปัญหาจากการซื้อขาย เพื่อใช้เรียกร้องต่อรองกับผู้ขายหรือเจ้าของโครงการ เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในสัญญา โดยต้องให้สัญญานั้นเป็นธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากที่สุด ซึ่งทาง สคบ. ได้มีออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยหลักเกณฑ์ของสัญญาซื้อขายคอนโดที่ดีควรมีรายละเอียดดังนี้ 1.สัญญาที่ผู้ขายทำกับผู้ซื้อต้องมีข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัด มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร 2.ข้อสัญญาที่รองรับว่าผู้ขายมีกรรมสิทธิในที่ดิน และมีคำมั่นว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จและจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือดำเนินการก่อสร้างอาคารชุด หรือก่อสร้างอาคารชุดเสร็จแล้วจะนำไปจดทะเบียนอาคารชุด หรือมีกรรมสิทธิห้องชุดในอาคารชุดและผู้ลงนามในสัญญาเป็นผู้มีอำนาจลงนามผูกพันตามสัญญาไว้ท้ายสัญญาแล้ว 3.ข้อสัญญาต้องแสดงว่าที่ดิน อาคารและห้องชุดในอาคารชุดมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน หรือบุคคลใด 4.บอกตำแหน่งที่ดิน เลขที่ของโฉนดที่ดิน จำนวนเนื้อที่ของที่ดินโครงการ แผนผังแสดงเขตที่ดินหรือที่ตั้งของอาคารชุด 5.ต้องแจ้งราคาขายต่อตารางเมตร และพื้นที่ห้องชุดที่จะซื้อขาย 6.ราคาซื้อขายที่ทำการตกลงกัน การชำระเงิน วิธีการ ระยะเวลา ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ 7.วัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ทุกส่วนของอาคารชุด รายละเอียดที่เกี่ยวข้องของห้องชุดในอาคารชุด รายการและขนาดของทรัพย์ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวก 8.ข้อมูลการก่อสร้าง ลักษณะ ยี่ห้อ ชนิด รุ่น คุณภาพ ขนาด สี ของวัสดุ ผิวพื้น ผิวหนัง ผิวเพดาน หลังคา สุขภัณฑ์ต่างๆ ประตูหน้าต่าง และอุปกรณ์ประกอบประตูหน้าต่าง ตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ถ้าหากไม่สามารถหาวัสดุตามที่กำหนดไว้จากท้องตลาดได้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดหาวัสดุที่มีคุณภาพดีกว่าหรือเทียบเท่ามาใช้ก่อสร้างแทน โดยผู้ขายจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบและรายการที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย นอกจากนี้ผู้ขายจะต้องเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งมาตรวัดปริมาตร และปริมาณการใช้สาธารณูปโภคทั้งในส่วนกลางและส่วนที่แยกต่อภายในห้องชุด กรณีมาตรวัดในส่วนที่แยกต่อภายในห้องชุดผู้ขายเป็นผู้ดำเนินการขอติดตั้งโดยชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไปก่อน และเมื่อได้โอนกรรมสิทธิห้องชุดให้แก่ผู้ซื้อโดยโอนมาตรวัดให้เป็นชื่อของผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายจึงจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากผู้ซื้อได้แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายไปก่อนนั้น 9.รายละเอียดเบี้ยปรับ กรณีผิดนัดชำระของผู้ซื้อ การบอกเลิกสัญญา 10.การชดเชยกรณีผู้ขายสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา หรือมีการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งใดไปจากที่เคยตกลงกันไว้ในสัญญา   ใบโบชัวร์ แผ่นพับ หรือแม้แต่สปอร์ตโฆษณาทางทีวี อินเตอร์เน็ต ก็ถือเป็นเอกสารหลักฐานชิ้นสำคัญ เพราะการโฆษณาต่างๆ ถูกนับร่วมเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสัญญาที่ผู้ขายได้ทำกับผู้ซื้อ หากผู้ซื้อพบว่าคอนโดที่ซื้อจากผู้ขายสภาพจริงไม่ต้องตามที่ได้โฆษณาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ดำเนินงานสร้าง หรือแม้แต่สาธารณูปโภคต่างๆ หากไม่เป็นตามที่โฆษณาไว้ สามารถนำหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อโฆษณามาใช้ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้   -จริงจังเรื่องการเงิน การวางแผนการชำระเงินถือเป็นขั้นตอนสำคัญ หากต้องการเป็นเจ้าของห้องพักในคอนโดสักห้อง สิ่งสำคัญก็คือการสำรวจสถานภาพการเงินของตัวเองให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อคอนโด ดูความสามารถในการรับภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ความมีวินัยในการผ่อนชำระเงินในแต่ละงวด ซึ่งอย่างน้อยควรมีเงินออมที่สามารถนำมาใช้ผ่อนชำระได้นาน 3 – 6 เดือน ในกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย หรือขาดรายรับ เพื่อให้การชำระเงินค่างวดยังสามารถดำเนินต่อไปได้ หากผู้ซื้อผิดนัดชำระค่างวด จ่ายไม่ตรงตามกำหนดที่ได้ทำสัญญาไว้กับผู้ขาย ผู้ซื้อก็มีสิทธิ์           ถูกบอกเลิกสัญญา ซ้ำร้ายอาจถูกริบเงินมัดจำที่จ่ายไว้เมื่อตอนตกลงทำสัญญา   -ให้ความสำคัญเรื่องส่วนกลาง-สาธารณูปโภค พื้นที่และสาธารณูปโภคส่วนกลาง ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ผู้ซื้อคอนโดต้องให้ความสำคัญและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะค่าส่วนกลางที่จะต้องมีการเรียกเก็บกับผู้อยู่อาศัยในคอนโด จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผูกมัดตลอดการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้นหากเห็นว่าบริการส่วนกลางใดที่มีอยู่ในคอนโดแล้วต้องเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย อย่างเช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส โซนพักผ่อน ห้องประชุม ฯลฯ หากเราคิดว่าไม่ค่อยได้ใช้ หรือคงใช้ได้ไม่คุ้มกับค่าส่วนกลางที่ต้องจ่ายทุกเดือน ก็ควรเลือกคอนโดที่ไม่มีสาธารณูปโภคส่วนกลางที่เราไม่ต้องการ ลองเปรียบเทียบราคาค่าส่วนกลางเทียบกันหลายๆ โครงการ เลือกสิ่งที่เราต้องการและราคาที่เหมาะสมกับกำลังเงินของเรา แต่ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญการบริการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นอย่าง ที่จอดรถ ที่ต้องมีเพียงพอให้กับเจ้าของห้องทุกห้อง อย่างน้อย 1 ห้องต่อ 1 คัน ระบบรักษาความปลอดภัย ที่โครงการต้องระบุให้ชัดเจนว่ามีระบบและอุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยอะไรบ้างในโครงการ ไม่ว่าเป็น การทำงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ระบบป้องกันอัคคีภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบคอนโด ที่เหมาะแก่การเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใกล้แหล่งอันตราย หรือเสี่ยงอาชญากรรม   -ตรวจรับต้องรอบคอบ การตรวจรับคอนโดถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะหากตรวจรับไม่ดีมีปัญหาในภายหลังก็จะกลายมาเป็นปัญหาปวดใจ ได้บ้านหลังใหม่แต่ก็ต้องอยู่ไปแบบไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ต้องมีการตรวจรับคอนโด ผู้ซื้อควรสละเวลาในการตรวจรับให้มากที่สุด ตรวจดูความเรียบร้อยต่างๆ ภายในห้องให้ครบถ้วนทุกซอกทุกมุม ควรมีผู้รู้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการตรวจรับคอนโดมาช่วยตรวจ โดยต้องเตรียมอุปกรณ์อย่าง กล้องถ่ายรูป สมุด ปากกาไว้สำหรับจดความชำรุดบกพร่องต่างๆ ที่พบจากการตรวจ เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลแจ้งให้กับผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลแก้ไข สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในตรวจรับคอนโดประกอบด้วย วัสดุปูพื้น ผนัง เพดาน ประตู หน้าต่าง บันได การติดตั้งสุขภัณฑ์ ระบบสุขาภิบาล ระบน้ำ การปั้มน้ำ การระบายน้ำ การรั่วซึม ระบบไฟฟ้า การเดินสายไฟทั้งตามผนัง และบนฝ้า รวมทั้งเรื่องแสงสว่างของหลอดไฟ ระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ สัญญาณโทรศัพท์ ตรวจดูโครงสร้างอาคาร ต้องไม่มีรอยร้าว การแอ่น – เอียงของโครงสร้าง ดูงานสี สีที่ทามีความสม่ำเสมอของเนื้อสี ความกลมกลืน ไม่มีรอยด่าง เนื้อสีไม่หลุดลอกหรือปูดโป่ง วัสดุที่ทำด้วยเหล็กไม่ร่องรอยสนิม ส่วนวัสดุที่ทำด้วยไม้ก็ต้องไม่มีสภาพผุกร่อน -มีปัญหาต้องร้องเรียน ข้อมูลจาก คณะอนุกรรมการด้านที่อยู่อาศัย โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point