ฉบับที่ 273 ทำไมคุกถึงเต็ม..วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบ

        การได้รับสารตะกั่วอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความบกพร่องของระบบไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตช้า แต่ประเด็นที่สำคัญสุดคือ ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการสัมผัสสารตะกั่วอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาทหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานของการรับรู้โดยรวมของสมองลดลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลบ เชาวน์ปัญญา (IQ) ลดลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ความจำไม่ดีพร้อมกับความเข้าใจและการอ่านบกพร่อง ตะกั่วในสิ่งแวดล้อมมาจากไหนถึงเข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ได้ คนไทยมีคำตอบนี้ทุกคนหรือไม่         ปัญหาการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากัน ผลกระทบของการสัมผัสสารตะกั่วต่อเด็กมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูดซึมสารตะกั่วทางสรีรวิทยาในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบทางระบบประสาทที่ไม่สามารถบำบัดให้หายได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US. Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า "ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลดค่าอ้างอิงสารตะกั่วในเลือดจาก 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เป็น 3.5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรม         มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรมคือ บทความเรื่อง Association of Childhood Blood Lead Levels With Criminal Offending (การเชื่อมโยงผลของระดับสารตะกั่วในเลือดในวัยเด็กในการก่อความผิดทางอาญา) ในวารสาร JAMA Pediatrics ของปี 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาซึ่งติดตามกลุ่มประชากรของนิวซีแลนด์ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 1972 ถึง 31 มีนาคม 1973 (ประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว) โดยมีผู้เข้าร่วมหญิง 255 คนและชาย 298 คน ตั้งแต่เด็กจนมีอายุ 38 ปี (ธันวาคม 2012) โดยเมื่ออายุ 11 ปีผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วแล้วพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.01 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 154 คน (27.8%) มีความผิดทางอาญา, 86 คน (15.6%) ถูกพิพากษาลงโทษซ้ำ และ 53 คน (9.6%) มีความผิดฐานกระทำความผิดรุนแรง และเมื่อพิจารณาถึงอายุที่ก่อความผิดพบว่า เริ่มเพิ่มขึ้นที่อายุ 15 ปี จนถึงจุดสูงสุดที่อายุ 18 - 21 ปี และจากนั้นลดต่ำลงเท่าที่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 38 ปี อย่างไรก็ดีแม้เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติโดยรวมแล้วกลับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารตะกั่วในเลือดและการก่ออาชญากรรมนั้นมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของงานวิจัยนี้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารตะกั่วในเลือดและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นผลสืบเนื่อง         ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ในประเด็นเดียวกันซึ่งทำวิจัยแบบ meta-analysis ของนักวิจัยจาก George Washington University เรื่อง The association between lead exposure and crime: A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วกับอาชญากรรม) ในวารสาร PLOS Global Public Health ของปี 2023 ซึ่งได้พิจารณาบทความ 17 บทความจาก 617 บทความที่เลือกมาพิจารณาตอนเริ่มต้น โดยผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการสัมผัสสารตะกั่วทั้งในขณะอยู่ในครรภ์หรือในช่วงวัยเด็กกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีพฤติกรรมในการก่ออาชญากรรมในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยนี้ระบุในท้ายที่สุดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสารตะกั่วและรูปแบบการก่อความเสียหายต่อพฤติกรรมเมื่อเด็กโต แม้ว่าความเข้มข้นของสารตะกั่วในเลือดจะต่ำมากก็ตาม         เนื้อหาและประเด็นสำคัญในงานวิจัยของนักวิจัยจาก George Washington University ดูน่าสนใจมาก เพราะผู้วิจัยได้ทำการทบทวนการศึกษา 17 เรื่องซึ่งระบุถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งรวมถึงการก่ออาชญากรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในหลายประเทศแล้วสรุปการพบหลักฐานว่า การสัมผัสสารตะกั่วมีความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางชีวภาพในเด็กที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ทำวิจัยเน้นว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยต่อการสัมผัสสารตะกั่วสำหรับเด็ก และประเทศต่างๆ ควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กและสตรีมีครรภ์จากการได้รับสารตะกั่ว เพื่อส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาหรือไม่         เป็นที่รู้กันในวงนักวิชาการว่า การสัมผัสสารตะกั่วอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น ขยะอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รีไซเคิล สีที่มีสารตะกั่ว แหล่งอาหารต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ของเล่นเด็กบางประเภท เครื่องครัว และถ้วยชามเซรามิกหรือกระเบื้องเคลือบ ประเด็นสำคัญคือ หน่วยราชการและองค์กรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของไทยมีความตระหนักถึงปัญหาเนื่องจากสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างไร          เว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.mnre.go.th) มีบทความเรื่อง ภัยร้ายใกล้ตัวจากพิษของตะกั่ว และเว็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th) มีเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษตะกั่วในกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งทั้งสองบทความได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายจากตะกั่วอย่างลึกซึ้ง แสดงว่า หน่วยราชการเข้าใจดีถึงภัยและแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการต่างๆ นั้นไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับตะกั่ว เพราะมีประกาศสำคัญคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีการบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฏหมายนี้ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงปัญหาสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น เช่น รายงานการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณใน พ.ศ. 2542 เรื่อง การปนเปื้อนของตะกั่วและโครเมียมในน้ำทิ้งจากการย้อมสีกระจูดที่ทะเลน้อย ที่พบว่า ปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.050-0.123 พีพีเอ็ม ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.082 พีพีเอ็ม ตัวเลขดังกล่าวนี้เกินค่ามาตรฐานที่ยิมยอมให้มีได้คือ 0.05 พีพีเอ็ม และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจากงานวิจัยใดที่บอกว่า ปริมาณตะกั่วและโครเมียมในทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงนั้นลดหรือเพิ่มแต่อย่างใด         คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งของตะกั่วที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ข้อมูลที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภา (https://library.parliament.go.th/th) ซึ่งมีบทความเรื่อง ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เรียบเรียงโดย วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยบทความดังกล่าวออกอากาศเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา          ข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า มีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำเศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 จึงทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย”         ข้อมูลล่าสุด (https://workpointtoday.com, 23 ก.พ. 2566) ที่ดูน่าจะพอทำให้ใจชื้นได้บ้างว่า รัฐบาลที่ผ่านไปแล้วได้ประกาศว่า “ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกันอย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ” ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูว่า มันจะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านเอกสาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ดาวน์โหลดมาอ่านได้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1775920210326023304.pdf) เรื่อง สังเขปค่าอ้างอิงทางสุขภาพสำหรับการประเมินความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพจากตะกั่วด้วยตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจพอทำให้เห็นภาพว่า อนาคตเกี่ยวกับปริมาณตะกั่วในเลือดคนไทยนั้นเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป รวมทั้งต้องร่วมกำหนดนโยบายของผู้บริโภคเองด้วยปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องการกับการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ที่คนไทยเราได้ร่วมกันพิทักษ์รักษามาตลอดที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ร้อยละ 56 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซฯที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันสักหน่อย รวมทั้งที่มา และราคา ดังรูปข้างล่างนี้  ว่ากันตามรูปเลยนะครับผมขอสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยมาจาก 3 แหล่งคือ(1)          จากประเทศไทยเราเอง(ทั้งในอ่าวไทยและบนบก) ราคาในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ  239 บาทต่อล้านบีทียู เราเริ่มใช้ก๊าซในยุคที่เขาคุยว่า “โชติช่วงชัชวาล” ประมาณปี 2524(2)          จากประเทศเมียนมาร์ ผ่านท่อก๊าซฯ ราคา 375 บาทต่อล้านบีทียู  เริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2543(3)          ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทางเรือ ราคา 599 บาทต่อล้านบีทียู เริ่มนำเข้าครั้งแรกปี 2553 และโปรดสังเกตว่า ราคาแปรผันมาก จาก 717 เป็น 599 บาทต่อล้านบีทียูในเวลาเดือนเดียว จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ราคา LNG  สูงกว่าราคาในประเทศไทยมากกว่า 2 เท่าตัว ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า จะให้ใคร หรือกลุ่มไหนได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซทั้ง 3 แหล่งที่มีราคาแตกต่างกันมากขนาดนี้ผมไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมีการนำเข้า LNG ทางกระทรวงพลังงานได้คิดราคาก๊าซจาก 2 แหล่งอย่างไร แต่หลังจากปี 2553 ที่ได้นำก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ทางกระทรวงฯได้นำราคาก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแยกก๊าซ(หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และภาคยานยนต์(เอ็นจีวี) ใช้ในราคาที่เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่า ราคา Pool Gasแต่โรงแยกก๊าซหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้ใช้ในราคาที่ผลิตจากประเทศไทย ถ้าในภาพข้างต้นก็ราคา 239 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายในราคา 376 บาทโดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 129 หน่วย ดังนั้น หากต้องใช้ Pool Gas ต้นทุนค่าก๊าซ(อย่างเดียว)จะเท่ากับ 376/129  หรือ 2.91 บาทต่อหน่วยแต่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ก๊าซจากประเทศไทยซึ่งเป็นของคนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก่อน โดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 239/129 หรือ 1.85 บาทต่อหน่วยเห็นกันชัดๆเลยใช่ไหมครับว่า ต้นทุนนี้ลดลง 1.06 บาทต่อหน่วยแต่เนื่องจากไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซ 56% ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงถึง 59 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าล้นเกินเลยที่นำไปสู่ค่าความพร้อมจ่ายทั้งที่ไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตเลยในปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วย หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนนโยบายว่า ก๊าซฯจากประเทศไทยให้คนไทยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าก่อน ก็จะทำให้มูลค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคแต่ปัจจุบันนี้เงินก้อนนี้ได้ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของธุรกิจปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากสงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นโยบายพรรคการเมืองด้านไฟฟ้า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคการเมืองค่อยๆทยอยเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากผมยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอในเวทีปราศรัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบันถ้ารวมภาษีด้วย  5.33 บาทต่อหน่วย)หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเพราะเรามีกำลังผลิตสำรองล้นเกิน หลายโรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ก็ยังได้รับเงิน  ซึ่งเป็นความจริงคุณหญิงสุดารัตน์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมพร้อมด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “เป็นสัญญาทาสทำค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทั้งประเทศ แบบนี้ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยจะนำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยกเลิกสัญญาทาส ที่ปล้นประชาชนไปให้นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง ไปเสวยสุข นักการเมืองบางคนเอาเงินที่โกงประชาชนไปใช้เป็นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง แล้วเข้ามาโกงพี่น้องประชาชนต่ออีกรอบ” (ไทยรัฐออนไลน์ 15 ม.ค. 66)ต้องขอขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศและเป็นภาระที่ไม่จำเป็นธรรมของประชาชนมายาวนานแล้วสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยนำเสนอวิธีการแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบให้กับรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบและไม่ตอบสนองแต่อย่างใดในประเด็นเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินและเป็น “สัญญาทาส” แบบไม่ผลิตเลยก็ยังได้รับเงินจากผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอให้รัฐบาลเปิดเจรจากับคู่สัญญาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเชื่อว่าการเจรจาที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่เรียกว่าแบบ Win-Win แต่พรรคไทยสร้างไทยเลือกที่จะให้ “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ก็ว่ากันตามความเชื่อของพรรคนะครับแต่สิ่งที่สังคมไทยควรหยิบมาพิจารณาเป็นบทเรียนก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่วินิจฉัยด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (ถึงร้อยละ 68 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมด) เป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56ผมว่านโยบายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่พรรคการเมืองควรนำเสนอนอกเหนือจากเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องกำลังผลิตสำรองล้นเกินเชื้อเพลิงที่ว่านี้ก็คือแสงอาทิตย์ โดยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและราคาถูกลง สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6-8 ปีเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ ผลิตได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ แต่ทราบไหมว่า ในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวนกว่า 85,000 และ 48,000 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เพียง 4,800 ล้านหน่วยเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมดที่ใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วย) แต่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติกว่า 1.1 แสนล้านหน่วยต่อปี โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะถูกปั่นราคาให้สูงลิ่วจากสถาการณ์สงครามแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วยกล่าวเฉพาะออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน แต่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 3 ล้านหลัง โดยใช้ระบบหลักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นการแลกหน่วยไฟฟ้ากัน(ในราคาที่เท่ากัน)ระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตลอดอายุขัยของอุปกรณ์ 30 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปีที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามอำเภอใจด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จำนวน 2 ล้านหลัง ปีละ 5 แสนหลังเมื่อครบจำนวนแล้วผู้บริโภคจำนวนดังกล่าว หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์ (ผลิตได้ปีละ 1,380 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าปีละกว่า 42,000 ล้านบาทนโยบายแบบนี้สามารถตรวจสอบได้ และไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาล  หากเอาตามแนวทางพรรคไทยสร้างไทยเสนอ สมมุติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆที่ได้ตัดสินใจกาบัตรให้ไปแล้ว เหมือนกับหลายนโยบาย(ของหลายพรรค) ที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลยในคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ความจริงแล้ว เรื่องนโยบายหักลบกลบหน่วย มติคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการณ์โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พร้อมกับได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนป่านนี้ 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยมีคำสั่งใดที่ด่วนกว่า “ด่วนที่สุด” ไหมครับเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชาชนเราต้องรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองและกลไกของระบบราชการทุกส่วนให้มากกว่าเดิม รวมทั้งทุกศาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 อะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติ ปี 2565

        สารอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (Aflatoxin M1) M หมายถึง Milk ก็คืออะฟลาท็อกซินที่พบในน้ำนมสัตว์เมื่อโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็งที่สร้างจากเชื้อรา จะถูกแปลงเป็นอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แล้วหลั่งออกมาในน้ำนม หากผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆ ดื่มนมที่ปนเปื้อนนี้เข้าไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้         ในฉลาดซื้อฉบับที่ 203 (มกราคม 2561) ได้เผยผลทดสอบปริมาณสารอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติจากร้านค้าทั่วไป จำนวน 27 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แต่อยู่ในปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX)         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติจำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็น นมโรงเรียน 8 ตัวอย่าง จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และผลิตภัณฑ์นมรสธรรมชาติจำนวน 16 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ จากร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายนม เมื่อเดือนมกราคม 2565 นำมาทดสอบโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อดูว่ายังมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 อยู่หรือไม่ ถ้ามี มีปริมาณเท่าไรเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่  414)  พ.ศ. 2563  เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ระบุว่า น้ำนม คือ น้ำนมดิบจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเติมแต่งส่วนผสมอื่น  มีลักษณะเป็นของเหลวสำหรับการบริโภคโดยตรง หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปก่อนการบริโภค กำหนดให้มีอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในน้ำนมได้ไม่เกิน 0.5  ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลการทดสอบ         จากนมทั้งหมด 24 ตัวอย่าง พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ใน 20 ตัวอย่าง พบปริมาณในช่วง < 0.20 – 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และไม่พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้นทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดสรุปเปรียบเทียบผลทดสอบปี 2561 กับปี 2565         จากตารางการเปรียบเทียบนี้พบว่า เปอร์เซ็นต์ตัวอย่างนมที่พบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ปริมาณที่พบในนมโรงเรียน และปริมาณน้อยที่สุดที่พบในนมที่ขายทั่วไปนั้น ต่างก็มีค่าตัวเลขที่ลดลง แต่ปริมาณที่พบสูงสุดในนมที่ขายทั่วไปกลับมีค่าเพิ่มขึ้น 0.12 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาโดยไม่รวมยี่ห้อเดียวที่มีปริมาณสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้เข้าไปด้วย ในตัวอย่างนมที่ขายทั่วไปอื่นๆ จะพบปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 อยู่ที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 รู้เท่าทันโรคขาดธรรมชาติ

        เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 มีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (อังกฤษ: 2021 United Nations Climate Change Conference) หรือรู้จักในชื่อย่อว่า COP26  เป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร  เป้าหมายสำคัญของการประชุมคือ การคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส         ปัจจุบัน ความรุนแรงของภัยธรรมชาติเกิดจากหายนะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ใช่จากภัยธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียงเล็กน้อยจะส่งผลทำให้เกิดหายนะอย่างรุนแรงไปทั่วโลก และมีผลทำให้ภูมิอากาศของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถคาดเดาได้ พายุ น้ำท่วม ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง น้ำทะเลขึ้นสูง ไฟไหม้ป่า ต่างๆ เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  และมนุษยชาติส่วนใหญ่จะยังไม่ตระหนักถึงภัยร้ายจนกว่าจะจะสายเกินแก้ไข         ผลกระทบต่อสุขภาพของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีตั้งแต่ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม          ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี ที่มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่ต้องกินยาประจำบางชนิด จะเกิดความเสี่ยงสูงสุด โรคระบาดที่เกิดจากแมลงจะเพิ่มสูงขึ้น อาหารจะมีคุณค่าทางอาหารลดลง         อีกประเด็นหนึ่งที่ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และเริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อาการของโรคขาดธรรมชาติ          โรคขาดธรรมชาติเกิดจากการที่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเริ่มห่างไกลหรือสัมผัสธรรมชาติน้อยลง วิถีชีวิตที่อยู่ในเมือง รวมถึงการไม่มีเวลาหรือไม่ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า การไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสต่างๆ ลดลง การขาดความสุขและคุณค่าของชีวิต         เมื่อไปพบแพทย์เพื่อหาโรคหรือความผิดปกติ ก็อาจไม่พบอะไรทางกายภาพที่ผิดปกติ การตรวจเลือด เอกซเรย์ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอก็อาจจ่ายยาลดความเครียด ยาบำรุง ทำให้ต้องพึ่งยาแผนปัจจุบันมากขึ้น จนเมื่อไม่กินยาก็ไม่มีความสุข         อาการของโรคขาดธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกเมื่อ ริชาร์ด ลุฟว์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง Last Child in the Wood ในปีพ.ศ. 25485 ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยชื่อ เด็กคนสุดท้ายในป่า ในปีพ.ศ. 2563 ทำให้คนไทยเริ่มรู้จักคำว่า โรคขาดธรรมชาติ         ต่อมา นายแพทย์ยามาโมโตะ ทัดสึทาเกะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำการรักษาผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นที่มีอาการขาดธรรมชาติจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือเรื่อง โรคขาดธรรมชาติ ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมูลนิธิเพื่อเด็กพิการร่วมกับสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง แปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2564 เพื่อเผยแพร่ให้รู้จักโรคนี้และการเยียวยารักษา         ธรรมชาติที่ผิดปกติ ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ส่งผลทางมหภาคต่อโลกใบนี้อย่างรุนแรง ในขณะเดียวกัน การขาดและห่างเหินขาดธรรมชาติที่แท้จริง ก็ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางกายภาพและจิตใจ         สุขภาวะของมนุษย์ในปีพ.ศ. 2565 ที่มาถึง นอกจากการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติรอบตัวเราอีกด้วย เราต้องฟื้นฟูการปลูกป่า การไม่ตัดไม้ใหญ่ที่มีอยู่ การสร้างสวนป่า สวนสาธารณะ และหาเวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 Plant-Based Food ทางเลือกของเรา ทางรอดของโลก

        เมื่อปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ของชาวโลก ผู้บริโภคต่างหันมาดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกินด้วยวิถีธรรมชาติกันมากขึ้น เน้นกินพืชผักและลดเนื้อสัตว์ ตามแนวทาง ’กินสู้โรค’ และ’กินเปลี่ยนโลก’ ในรูปแบบต่างๆ กัน อาหารทางเลือกจึงถูกพัฒนาให้มีความหลากหลาย อย่างล่าสุดกระแส plant-based food ที่กำลังมาแรงในตลาดอาหารสุขภาพ ก็ว่ากันว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตฟีลกู๊ดที่ดีต่อเรา ดีต่อโลก และดีต่อใจด้วย         Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช         เนื้อทำจากขนุนอ่อน หมูสับจากเห็ดแครง เบค่อนจากเส้นใยเห็ด นมจากข้าวโอ๊ต ไข่จากถั่วเขียว         ผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้คือตัวอย่าง plant-based food กลุ่มอาหารโปรตีนทางเลือกที่นำพืชโปรตีนสูง เช่น ถั่วและธัญพืชต่างๆ เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต แอลมอนด์ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบหลักใช้ผลิตอาหารให้มีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากที่สุด โดยคิดค้นและผลิตขึ้นมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขาดแคลนอาหารในระยะยาว เป็นอาหารทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ต้องการลดหรือลด ละ เลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ความชอบ หรือความจำเป็นส่วนตัวใดๆ ก็ตาม กินได้อย่างสบายใจ มีทั้งในรูปแบบเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ           เนื้อไร้เนื้อ เปิดใจผู้บริโภค ปลุกเทรนด์อาหารจากพืช         ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตพลิกแพลงพืชผักผลไม้กลายมาเป็นอาหารที่คล้ายมาจากสัตว์จริงๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์จากพืช (plant -based meat) ที่พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และสีสัน เสมือนเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ กุ้ง และอาหารทะเลต่างๆ จริงๆ นั้น เชิญชวนให้ผู้บริโภคเปิดใจลิ้มลอง สอดคล้องกับกลุ่มคนกินผักก็ดีกินเนื้อก็ได้ (Flexitrain) ที่มากขึ้น อย่างในไทยเอง 1 ใน 4 ของประชากร หันมาลดกินเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ 65% เพื่อควบคุมน้ำหนัก 20% โดยส่วนใหญ่จะงดกินในวันพระหรือวันเกิด ประกอบกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้ม และกังวลการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ปลุกตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกให้คึกคัก โดยศูนย์วิจัยกรุงไทย COMPASS ประเมินไว้เมื่อปี 2563 ว่า ตลาดเนื้อจากพืชในไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ต่อปี และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะที่ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567         ในช่าง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื้อสัตว์จากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป ในรูปแบบเป็นวัตถุดิบและอาหารสำเร็จรูป ปัจจุบันมีให้เลือกหลายยี่ห้อทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในไทย เช่น  BEYOND MEAT, OmniMeat, NEVER MEAT, Meat Avatar, Let’s Plant Meat, More Meat, OMG Meat, MEAT ZERO, VG for Love และ Healthiful เป็นต้น         โปรตีนทางเลือก...ดีต่อเรา         ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ต่างต้องการโปรตีนเป็นองค์ประกอบในอาหารเพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การกินเนื้อ นม ไข่ ที่ผลิตจากพืชจึงเป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่เหมาะต่อสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่แพ้โปรตีนจากสัตว์ ทั้งยังย่อยง่าย มีใยอาหารสูง มีไขมันดี(ไขมันไม่อิ่มตัว) ให้พลังงานต่ำ มีคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ต่ำ จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายดี ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น         พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่น้อย  ผู้บริโภคควรเลือกกินอาหารจากพืชที่หลากหลายเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับโปรตีนเพียงพอ ในแต่ละวันคนทั่วไปควรได้รับโปรตีน 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะพร่องโปรตีน ร่างกายต้องสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อบางส่วนมาทดแทน ทำให้อาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้         สำหรับคนที่แพ้ถั่วควรเลี่ยง เพราะอาหารจากพืชส่วนใหญ่ใช้ถั่วและธัญพืชต่างๆ เป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคนที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีอาการมือเท้าชา ควรกินอาหารอื่นๆ ที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เสริมด้วย เพราะในพืชมีธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 น้อยกว่าเนื้อสัตว์         แม้ plant - based food จะเน้นคุณค่าทางโภชาการและความปลอดภัยเป็นสำคัญ คัดเลือกวัตถุดิบมาผลิตอย่างดีไม่ให้มีสารปนเปื้อนอันตราย เลี่ยงใช้พืชตัดต่อพันธุกรรม และพยายามคงคุณค่าของสารอาหารจากธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารแปรรูป หรือ Highly Process Food อย่างโบโลน่า เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ที่ทำจากพืชนั้น ในบางผลิตภัณฑ์อาจมีสารปรุงแต่งรสสีผสมอาหาร และเกลือโซเดียมในปริมาณสูง          ลดก๊าซเรือนกระจก...ดีต่อโลก         ลดกินเนื้อสัตว์ ลดทำปศุสัตว์ ลดภาวะโลกร้อน         อุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์เป็นต้นทางของก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการใช้ที่ดินทั้งหมดในโลก เราต้องใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ถึง 77% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด เพื่อผลผลิตเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภค         ในขณะที่การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47%-99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72%-99% ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% ดังนั้นการเปลี่ยนแนวทางมาบริโภคอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จะช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้         องค์การสหประชาชาติก็มีแนวทางส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารใช้ส่วนประกอบของพืชแทนเนื้อสัตว์ ผลิตอาหารออแกนิค เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ตั้งเป้าสู่ “Net Zero” ให้คาร์บอนไดออกไซค์เป็นศูนย์ เพราะอุตสาหกรรมอาหารนั้นปล่อยคาร์บอนฯออกมากว่า 30-40% ของปริมาณคาร์บอนฯทั้งหมด         หากการใช้ที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์ถูกแทนที่ด้วยแปลงผักเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตอาหารจากพืช จะช่วยฟื้นฟูให้สภาพแวดล้อมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งยังรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้ด้วย         สร้างความมั่นคงทางอาหาร...ดีต่อใจ         การกินอาหารจากพืชเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้         คาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีจำกัดอยู่เท่าเดิม ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติร้ายแรงและโรคระบาดขั้นวิกฤติ การขาดแคลนอาหารจึงกลายเป็นความกังวลของคนทั่วโลก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องจึงมองว่าการผลิตอาหารจากพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการดี ในปริมาณมากพอและราคาที่คนทั่วไปเข้าถึง โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (food security) ได้         ผู้ผลิตอาหารส่วนใหญ่เริ่มคิดหาวิธีการทำให้อาหารเพียงพอต่อประชากรโลก พร้อมลดขั้นตอนการผลิตอาหารที่เป็นตัวทำลายสภาพแวดล้อม จนพบว่าการผลิตอาหารจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ การฟื้นฟูเกษตรกรรมตามวิถีธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยให้มากขึ้นและยั่งยืนได้ในอนาคต         อีกแนวคิดหนึ่งที่สร้างเนื้อจากพืชขึ้นมาก็เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ หรืออุตสาหกรรมที่สร้างความลำบากให้กับสัตว์ด้วย นอกจากนี้การกินอาหารจากสัตว์น้อยลงยังช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้ โดยมีการวิจัยพบว่าผู้ที่เคยกินเนื้อสัตว์เป็นประจำทุกวันมีแนวโน้มอารมณ์ดีขึ้นและเครียดน้อยลงหลังจากกินมังสวิรัติได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อสัตว์มีส่วนประกอบของกรดไขมันสายยาว (Long-chainofomega-6 fattyacid )ที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้า จึงทำให้คนกินมังสวิรัติส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดีกว่า (Nutrition Journal, 2010, 2012)        เมืองนวัตกรรมอาหาร หนุนผลิตภัณฑ์จากพืช        หลายหน่วยงานภาครัฐเองก็เข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจผลิตอาหารจากพืช ให้คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ลดลง         เมืองนวัตกรรมอาหารที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ออกแบบแพลตฟอร์มให้บริการภาคเอกชนไว้ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การผลิต การขอขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา(อย.) และปัจจัยเรื่องการตลาด รวมทั้งตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ช่วยสนับสนุนการผลิตให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพด้วย โดยการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกนี้จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์         ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีวัตถุดิบพื้นถิ่นอีกมากที่จะเลือกเป็นแหล่งโปรตีนใหม่จากพืชได้ เมื่อนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ การเก็บรักษา การนำไปทำอาหารได้สะดวก และถูกปากถูกใจผู้บริโภคแล้ว อุตสาหกรรมอาหารจากพืชนี้น่าจะเติบโตได้ดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก           ความปลอดภัยใน ‘อาหารใหม่’         อาหารจากพืชที่ผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่นั้นส่วนใหญ่จัดเป็น ‘อาหารใหม่’ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย         เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel food โดยกล่าวว่าในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้         1) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี         2) อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (level of undesirable substances)         3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1) และ ข้อ 2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารใหม่นี้จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและต้องส่งมอบฉลากให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจอนุมัติก่อนนําไปใช้         หน่วยงานที่ประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ ได้แก่        1) ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล        2) สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข        3) สถาบันอาหาร สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม         อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะผลิตเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เช่น คำเตือนที่แสดงว่าอาหารใหม่นั้นไม่เหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมถึงการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน          ในต่างประเทศ หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐสภาและคณะกรรมการสหภาพยุโรป เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาหารใหม่ มีหลักสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านอาหาร โดยที่ยังทำให้ผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารและเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภค         นอกจากนี้สมาคมอาหารจากพืช (Plant Based Foods Association) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดูแลตลาดการค้าสินค้าอาหารจากพืชในสหรัฐฯ ยังได้ริเริ่มโครงการแสดงตราสินค้า “Certified Plant Based” เพื่อรับรองสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยผู้ประกอบการยื่นเอกสารเพื่อขอใช้ตราสัญลักษณ์ได้ที่ The Public Health and Safety Organization         ล่าสุดองค์กร Chinese Institute of Food Science and Technology (CIFST) ได้ร่างมาตรฐานกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (T/CIFST 001-2020) เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำไปใช้ในธุรกิจของตน โดยมาตรฐานดังกล่าวได้นิยามและข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งในแง่องค์ประกอบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการติดฉลาก กำหนดประกาศใช้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2564          ดูฉลากอย่างฉลาด        ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS สำรวจพฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยปี 2561 พบว่า 53% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ขณะที่อีก 45% สนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปกินอาหารแบบมังสวิรัติ วีแกน และอาหารจากพืชมากขึ้น         ไม่ว่าผู้บริโภคจะเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากความอร่อยที่ต้องพิสูจน์ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล โดยพิจารณารายละเอียดบนฉลากสินค้าเป็นสำคัญ        1.ต้องมีสัญลักษณ์ อย. เพื่อแสดงว่าได้ผ่านมาตรฐานอาหารปลอดภัยมาแล้ว        2.ดูวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยต้องเรียงวันเดือนปีตามลําดับ และมีข้อความว่า “ผลิต” “หมดอายุ” หรือ “ควรบริโภคก่อน” กํากับไว้ด้วย        3.ดูวัตถุดิบจากพืชที่นำมาผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถั่วและเห็ดต่างๆ หากแพ้ควรเลี่ยง        4.ดูข้อมูลโภชนาการว่าให้ปริมาณโปรตีนมากพอที่ต้องการไหม มีพลังงานเท่าไหร่ รวมทั้งปริมาณโซเดียมและไขมันเท่าไร เพราะเนื้อสัตว์จากพืชก็มีโซเดียมและไขมันได้เหมือนกัน        5.ดูปริมาณคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลประกอบด้วย พืชบางชนิดให้แป้งมากกว่าโปรตีน        6.ถ้าระบุว่ามีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ หรือเพิ่มวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืชด้วย เช่น วิตามินบี 12 วิตามินดี โอเมก้า-3 สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น ก็เป็นตัวเลือกดีที่ช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการในอาหาร        7.ควรเลือกผลิตภัณ์ที่เติมสารปรุงแต่งหรือผ่านกระบวนการแปรรูปน้อยที่สุด        8.ควรเลือกวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีการตอบแทนต่อสังคมด้วยก็ดี เช่น ใช้วัตถุดิบที่เอื้อให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ เป็นต้น         ปัจจุบันตลาด plant-based food มีการแข่งกันเสนอผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้ออาหารจากพืชที่หลากหลาย มีคุณภาพและราคาถูกลง  ทั้งยังน่าจะช่วยชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่รอดปลอดภัยได้นานขึ้นอีกสักหน่อยด้วย    ข้อมูลอ้างอิงKrungthai COMPASS ฉบับตุลาคม 2020เว็บไซต์ สอวช. (https://www.nxpo.or.th)เว็บไซต์ สมอช. (https://warning.acfs.go.th)https://pharmacy.mahidol.ac.thhttps://workpointtoday.com/plant-based-food-warhttps://marketeeronline.co/archives/210350https://www.sarakadeelite.com/better-living/plant-based-meat/https://brandinside.asia/whole-foods-plant-based-protein/https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945907

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

                มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม         สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน         ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์         คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไปข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ         ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0)         Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง         ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ         สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต         สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019)          สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ธรรมชาติปลอดภัยกว่าหรือดีกว่า...หรือ

        ผู้คนจำนวนมากมีอคติในความเชื่อว่า อาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติย่อมดูดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งมักถูกมองว่าไม่ปลอดภัย อคติดังกล่าวนี้เกิดเนื่องจากความไม่รู้ว่า สารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ที่สัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมักต้องถูกประเมินความปลอดภัย ด้วยวิธีการที่มีจุดประสงค์ในการเผยศักยภาพของการก่อความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีการใช้สัตว์ทดลองต่างๆ เป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงมนุษย์ ในการนำสารสังเคราะห์มาใช้ในการผลิตเป็นสินค้านั้น สารสังเคราะห์แต่ละชนิดจะถูกประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลในสัตว์ทดลองก่อน ว่า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในระดับใด ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงในการก่อมะเร็งนั้นมักใช้ระดับว่า ในล้านคนจะมีคนเสี่ยงเป็นมะเร็งเท่าใด แล้วสังคมของผู้บริโภคยอมรับในความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่          ในกรณีสารที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์หรือสัตว์ทั่วไปเคยกินมาแล้วในอดีต ส่วนใหญ่มักไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่ออันตรายของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่เคยมีข้อมูลว่าก่ออันตรายใดๆ มาก่อน ทั้งที่ความจริงแล้วสารที่ได้จากธรรมชาติบางชนิดอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ถ้ามีการนำมาใช้ในลักษณะที่ต่างจากวิธีการที่ใช้ในเวลาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นที่ขนาดการใช้หรือรูปแบบการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่มีข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์คือ เรื่องอันตรายในการถ่ายพยาธิด้วยสารสกัดจากผลมะเกลือ          ผลมะเกลือนั้น ชาวบ้านใช้ในการย้อมผ้าให้ได้ผ้าสีดำที่คงทนมาแต่โบราณ และได้มีการนำผลสดมาคั้นน้ำแล้วผสมกับกะทิกินทันทีเพื่อถ่ายพยาธิ แต่ปัญหาเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีกินเป็นยานั้นอย่างถูกต้อง จนเกิดพิษทำให้เสี่ยงต่อการที่ตาบอดได้ โดยเมื่อคั้นน้ำไว้แล้วไม่ดื่มทันทีหรือใช้วิธีคั้นด้วยน้ำปูนใส สารสำคัญบางชนิดได้เปลี่ยนไปเป็นสารพิษในกรณีแรก  หรือมีสารบางชนิดถูกดูดซึมได้ดีกว่าปรกติเมื่อถูกสกัดออกมาในน้ำปูนใส การที่คนรุ่นเก่าผสมสารสกัดจากผลมะเกลือกับกะทินั้นเข้าใจว่า เป็นการยับยั้งไม่ให้สารที่อาจก่อพิษถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต แต่เคลื่อนลงไปจัดการกับพยาธิในทางเดินอาหารตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ         อคติในความชอบของบุคคลต่อสิ่งที่มาจากธรรมชาติเหนือสิ่งที่ประดิษฐนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้องใช้สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง เช่น กรณีของผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่ผสมสารสกัดอัลคาลอยด์จากสมุนไพรชื่อ หมาหวง (Ma Huang หรือ Ephedra) ซึ่งมีการจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยปราศจากการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง         หมาหวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้หอบ ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพถึงผลกระทบในคนกล่าวว่า สมุนไพรดังกล่าวมีสารอัลคาลอยด์ ephedrine ชึ่งมีผลกระทบหลายประการต่อสิ่งมีชีวิต สิ่งที่สำคัญสุดคือ การกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้นและเป็นตัวเร่งในการเผาผลาญไขมัน ผู้ประกอบการบางคนจึงหวังว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากหมาหวงเป็นองค์ประกอบนั้นควรช่วยลดน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลข้างเคียงของการใช้สมุนไพรนี้ในขนาดสูงกว่าที่แพทย์แผนจีนกำหนดได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงของอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น (ถึงขั้นอาจหัวใจวายได้) หรือมีอาการทางจิตเวช ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี ephedrine ผสมนั้นถูกห้ามจำหน่ายโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004 แต่ตัวสมุนไพรนั้นยังขายได้ในบางรัฐ         ด้วยเหตุที่ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจของผู้บริโภคต่อคำโฆษณาสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นไม่เท่ากัน หน่วยงานด้านการแพทย์ทางเลือกและการบูรณาการเพื่อสุขภาพหรือ The National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ซึ่งสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health หรือ NIH) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Health and Human Services) ได้มีบทความเรื่อง “Natural Doesn't Necessarily Mean Safer, or Better”เพื่อให้ผู้บริโภคได้สังวรณ์ถึงความแตกต่างในความหมายระหว่างคำว่า ธรรมชาติ และ ปลอดภัย         เนื้อหาของบทความนั้นกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีต่อมนุษย์ ธรรมชาติเอื้อให้มีการผลิตยาแอสไพริน (จากใบหลิว) และมอร์ฟีน (จากฝิ่น) ช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้ยังมียาบำบัดโรคอื่นๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีประวัติการใช้ที่ยาวนาน ส่งผลถึงการปรับปรุงสุขภาพของมนุษย์ แต่ความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไม่ได้บ่งบอกว่า มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเสมอไปเพราะมีปัจจัยอื่นมากำหนดด้วย          นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาถึงประสิทธภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรบางชนิดแต่ก็พบว่า ตัวอย่างที่ได้จากท้องตลาดนั้นหลายส่วนล้มเหลวในการแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ดังที่โฆษณา เช่นการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรชื่อ เอ็กไคนาเซีย (Echinacea) ซึ่งไม่พบหลักฐานว่า มีประโยชน์ในการบำบัดไข้หวัดดังที่โฆษณา แต่กลับมีผลข้างเคียงบางอย่างในผู้บริโภคบางคน เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง เจ็บคอ ปากแห้ง ปวดศีรษะ ลิ้นชา วิงเวียน หลับยาก สับสน ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ หรือแม้กระทั่งก่อการอักเสบของตับด้วย อีกตัวอย่างคือ การศึกษาผลของใบแปะก๊วยที่มีอาสาสมัครสูงอายุกว่า 3,000 คน เข้าร่วมแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีใบแปะก๊วยเป็นองค์ประกอบนั้นไม่ช่วยป้องกันหรือชะลอภาวะสมองเสื่อม         หลายคนคิดว่า ยา“ธรรมชาติ” ไม่ได้มีผลข้างเคียงมากเหมือนยาสังเคราะห์ ซึ่งหลายครั้งแสดงความเป็นพิษได้ และอาจรวมถึงการมีสารก่อมะเร็งปนเปื้อนเนื่องจากการผลิตที่ควบคุมไม่ดี แต่แนวความคิดดังกล่าวนั้นไม่จริงเสมอไป ตัวอย่างเช่น  คาวา (kava) ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ที่มีสารสำคัญคือ “คาวาแลคโตน (kavalactone)” ซึ่งมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและสงบระงับ จึงมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความวิตกกังวล แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า สารธรรมชาติดังกล่าวมีผลข้างเคียงหลายประการและที่น่ากังวลคือ มีความเป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด ดังนั้นก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากคาวาจึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง         มีบทความเรื่อง Adverse Events Reported to the US Food and Drug Administration for Cosmetics and Personal Care Products ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเครื่องสำอาง ซึ่งมักผสมองค์ประกอบธรรมชาตินั้น ควรได้รับการปรับปรุง เพราะสินค้ากลุ่มนี้ขาดการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนการออกสู่ตลาด ผู้ผลิตเครื่องสำอางนั้นไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลการเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์เนื่องจากสินค้าไปยัง FDA และ CFSAN (The Center for Food Safety and Applied Nutrition ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างจากเครื่องมือแพทย์ ยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพที่อาจร้ายแรงเนื่องจากเครื่องสำอางจึงเกิดได้บ่อยครั้ง ดังนั้นวุฒิสมาชิก Diane Feinstein ของรัฐแคลิฟอร์เนียจึงได้เสนอ Personal Care Products Safety Act (PCPSA) สู่วุฒิสภาในปี 2017         ความจริงกฏหมายในลักษณะเดียวกันเคยมีวุฒิสมาชิกท่านอื่นเสนอแล้วในปี 2011 เพื่อให้อำนาจ FDA ในการสั่งให้เจ้าของสินค้าเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยและต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นต่อผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งต้องทำการทบทวนความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอาง อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดให้เพิ่มงบประมาณในการทดสอบความปลอดภัยขององค์ประกอบในเครื่องสำอางแก่ National Toxicology Program ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทดสอบความปลอดภัยของสารเคมีที่ผู้บริโภคต้องสัมผัส อีกทั้งในปี 2019 ร่างกฏหมายดังกล่าวก็ยังวนเวียนเป็นสัมภเวสีไม่ได้คลอดออกมาบังคับใช้ดังปรากฏในข่าว The Introduction of the Personal Care Products Safety Act 2019 in the United States Senate ซึ่งมีข้อมูลที่ท่านที่สนใจสามารถอ่านได้ที่ www.modernsoapmaking.com/personal-care-products-safety-act-2019

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 รู้เท่าทันการอยู่กับธรรมชาติ

ฉบับนี้ขอนำเรื่องเบาๆ แต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากมาเล่าสู่กันฟัง คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การกินสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาบำรุงต่างๆ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นตลาดธุรกิจด้านนี้จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล ความจริงแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นอย่างมากมายโดยที่ไม่ต้องเสียเงินทองไปซื้อหา นั่นคือ การอยู่กับธรรมชาติวันละ 20 นาที เรามารู้เท่าทันกันเถอะ จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการอยู่กับธรรมชาติจึงจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ        จริงๆ แล้วทุกคนรู้ว่าธรรมชาติดีต่อร่างกาย แต่ที่สำคัญคือ จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารแนวหน้าทางจิตวิทยา นักวิจัยพยายามศึกษาว่า เวลาที่ใช้อยู่กับธรรมชาติที่เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิตประจำวันนั้นควรเป็นเท่าไหร่         แพทย์แผนปัจจุบันจำนวนมากหันมาสั่งให้ผู้ป่วยใช้ธรรมชาติบำบัดอาการเครียดและเสริมสร้างสุขภาพ และเรียกชื่อว่า “ธรรมชาติโอสถ” ศาสตราจารย์แมรี่แครอล ฮันเตอร์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “การศึกษาพบว่า เราควรใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะนั่งหรือเดินในสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ประมาณ 20-30 นาที จะเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ก่อให้เกิดความเครียด”         ธรรมชาติโอสถมีราคาถูก และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อย ศาสตราจารย์ฮันเตอร์และทีมงานทำการศึกษาผู้อยู่อาศัยใน 36 เมือง โดยให้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างน้อยวันละ 10 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทำการเก็บน้ำลายผู้เข้าร่วมการวิจัยทุก 2 สัปดาห์ เพื่อวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ก่อนและหลังสัมผัสธรรมชาติโอสถ พบว่า เพียงแค่ 20 นาทีที่สัมผัสกับธรรมชาติจะลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ช่วงระยะเวลาที่เหมาะที่สุด จะอยู่ระหว่าง 20-30 นาที การอยู่กับธรรมชาติสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงในสวนและป่าจะเสริมสร้างสุขภาพเป็นอย่างดี         งานวิจัยในวารสารนานาชาติ  International Journal of Environmental Health Research พบว่า การอยู่กับธรรมชาติ 20 นาทีในสวนสาธารณะทำให้เกิดความสุข โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายร่วมด้วย ในญี่ปุ่นมีการอาบป่าเพื่อสุขภาพ         ในญี่ปุ่นนั้นมีกิจกรรมการอาบป่าหรือป่าบำบัด  โดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ ค.ศ.1980  เรียกว่า ชินริน โยขุ (Shinrin yoku) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก  ป่าบำบัดหรือการอาบป่า(Forest Bathing) เป็นวิถีทางที่ทรงพลังในการเสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความเรียบง่ายของป่าบำบัดคือ การใช้ช่วงเวลาและห้วงคำนึงในป่า จมดิ่งอยู่กับผัสสะต่างๆ ที่เกิดขึ้น        ป่าบำบัดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ การได้สัมผัสธรรมชาติ การเจริญสติ ในการอาบป่าหลอมรวมให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ การเดินในป่าทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยเร็วขึ้น และลดความดันเลือด  ลดความเครียด เพิ่มสมาธิ และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล         การอาบป่าถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพื่อลดความเครียดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ กิจกรรมที่เป็นที่นิยมคือ การเดินป่าในวันหยุดสุดสัปดาห์           สรุป  ธรรมชาติโอสถวันละ 20-30 นาทีจะเป็นยาที่ดีที่สุด ถูกที่สุดในการลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 203 อะฟลาทอกซินเอ็มวัน ในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอะฟลาทอกซินเอ็มวันในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน นมโคเป็นอาหารที่มีสารอาหารเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมในนมนั้นมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่ร่างกายเสื่อมไป จึงเหมาะเป็นอาหารสำหรับคนทุกวัย การบริโภคนมของไทยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี โดยในปี 2559 มีมูลค่าการตลาดประมาณ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีจึงมีการส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมฟรีหรือที่เรียกว่า นมโรงเรียนด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอาสาสอดส่องเรื่องของนม โดยลำดับแรกเป็นเรื่องของการทดสอบหาปริมาณสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (อะฟลาทอกซิน ชนิด บี 1 ถ้าอยู่ในน้ำนมจะเรียกว่า อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1) ซึ่งเป็นสารพิษธรรมชาติชนิดร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งแม้ได้รับในปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ การเก็บตัวอย่างครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 6 ภูมิภาครวมทั้งอาสาสมัครผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ช่วยเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง และทีมฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติทุกประเภทจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้ออีกจำนวน 13 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 27 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 การทดสอบใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยค่าต่ำสุดที่สามารถระบุได้คือ 0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลทดสอบทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลทดสอบพบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งของไทย และโคเด็กซ์(CODEX) โดยเกณฑ์มาตรฐานของไทยนั้นยังไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงของค่าปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในน้ำนม จึงใช้อิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้ไม่เกิน 20 พีพีบี (20  ส่วนในพันล้านส่วน) หรือ 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ USFDA และ CODEX กำหนดไว้อย่างชัดเจนเรื่อง ปริมาณอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนม ต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างจำนวน 27 ตัวอย่างนั้น ตรวจพบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในช่วง น้อยกว่า 0.03-0.08 ไมโครกรัม/กิโลกรัม การตรวจพบในปริมาณที่น้อยนี้นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 เส้นทางสายออร์กานิก

ฉันเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าผ่อนอารมณ์จากไอแดดด้านนอก ข้าวของสารพันถูกจัดเรียงบนชั้นไว้อย่างสวยงาม ยั่วความ อยากได้ อยากมี เป็นอย่างดี ของพื้นๆหลายอย่างมักดูดีขึ้นในห้างเสมอ ฉันคิดในใจ พลันที่สายตาเหลือบไปเห็นกองผักหลากชนิดที่ถูกจัดวางอยู่ไม่ไกล ยังไม่ทันที่จะก้าวเข้าไปดูใกล้ๆ ความรู้สึกขัดแย้งในใจก็ปรี่เข้ามาอย่างช่วยไม่ได้  ข่าวหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า ของที่ประทับ”ตราออร์แกนิก” ที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง ถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐาน ผลตรวจสอบคงเป็นที่ผิดหวังของหลายฝ่าย จึงกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงเสียใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ หรือในโลกโซเชียล ฉันนึกกระหยิ่ม และอยากจะพูดดังๆ ว่า “เพิ่งรู้กันหรอกหรือ”จริงๆ แล้วด้วยความที่ฉันเรียนเรื่องอาหาร และผูกพันอยู่กับวงการอาหารมาบ้าง ความเข้าใจที่ว่าความเป็นออร์แกนิกมันเป็นวิถีชีวิต มากกว่าการตีตราด้วยสัญลักษณ์เพียงไม่กี่อย่าง ก็ค่อยๆถูกซึมซับเข้าไปในแก่นความคิด ปรัชญาออร์แกนิกที่ฉันเข้าใจคือ การหวนกลับไปสู่ความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมให้มากที่สุด ให้ลองย้อนกลับไปดูว่าคนโบราณเขาปลูกพืชอย่างไร ทำอย่างไรให้ดินสมบูรณ์ในโลกที่สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ยังไม่เป็นที่รู้จัก การหว่านเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศถือว่าเป็นการเพาะปลูกที่พึ่งพาธรรมชาติล้วนๆ การสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชโดยมีมนุษย์และสรรพสัตว์ในธรรมชาติเป็นผู้ช่วยทีขาดไม่ได้ แน่นอนว่ามันอาจไม่ได้ให้ผลผลิตมากเท่าการเกษตรในยุคปัจจุบัน  แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพ และคุณค่าอาหารของพืชผล แต่ในปัจจุบันเมื่อเกษตรกรรมถูกทำให้กลายเป็นอุตสาหรรมกลายๆ  เรื่องราวของการปลูก การหว่าน ผู้คนที่ผ่านเข้ามาทำในวงจรการปลูก ก็ค่อยๆหายไป พร้อมๆกับการเข้ามามีส่วนร่วมของพ่อค้าคนกลาง การตัดตอน ต่อ เติม เรื่องราวการผลิตเพื่อเน้นค้ากำไร ทำให้ผู้บริโภคสมัยใหม่เกิดความหวาดระแวง จนต้องหันมาพึ่งพากับสิ่งที่เรียกว่า “มาตรฐานออร์แกนิก” แทน กระนั้นก็ตาม มาตรฐานความเป็นออร์แกนิกที่ผู้บริโภคหวังจะพึ่งพา ก็ถูกฉีกออกด้วยกำลังเงินที่หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมออร์แกนิก  ที่กำลังเนื้อหอมในตลาดปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับคุณลุงฝรั่งคนหนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญ คุณลุงเป็นคนตัวไม่ใหญ่นัก แต่ดูทะมัดทะแมง ลุงแกเล่าว่า แกเป็นเจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่งในเมืองที่ไม่ได้ไกลออกไปนัก เมื่อฉันถามว่าฟาร์มของลุงปลูกพืชแบบออร์แกนิกมั้ย แกกล่าวว่า“ออร์แกนิกเหรอ มันก็แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นแหละ สิ่งที่ผมทำมันยิ่งกว่าออร์แกนิกเสียอีก” คุณลุงกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมให้เหตุผลว่า ผักทุกอย่างที่ปลูกที่ฟาร์มล้วนแล้วแต่ได้รับการดูแลอย่างดีเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว โดยลูกแก แฟนของลูก เพื่อนของลูก มาช่วยกันลงแขก แกไม่สนใจกับมาตรฐานออร์แกนิกที่ถูกกำหนดขึ้น เพราะการขอจดมาตรฐานไม่เพียงแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น(การขอจด USDA Organic ในฟาร์มอย่างแกมีค่าใช้จ่ายปีละเกือบล้านบาทเลยทีเดียว) แต่ยังทำให้ราคาสินค้าของแกสูงขึ้นมากจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหาได้ นอกจากนี้แกก็ไม่เห็นถึงความสำคัญว่าต้องหาที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าให้ใหญ่โต แกบอกว่า มีกลุ่มคนที่เข้าใจ และเชื่อใจในการปลูกของแกที่คอยอุดหนุนกันอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แกแนะว่าแกขายของผ่าน Farmers’ Market (ตลาดนัดเกษตรกร) ซึ่งต้องการสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึง CSA (Community Supported Agriculture) ที่คล้ายๆกับเครือข่ายการสนับสนุนการเกษตรที่จะทั้งกลุ่มจะไปเหมาผลิตภัณฑ์ฟาร์มมาทั้งปี โดยที่ทางฟาร์มจะส่งผักผลไม้ที่ได้ตามฤดูกาลไปให้สมาชิกอาทิตย์ละครั้ง ด้วยการสนับสนุนจากชุมชนเช่นนี้ ทำให้ฟาร์มของแกอยู่ได้ แม้จะไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็อยู่อย่างมีความสุข เพราะเหมือนเป็นการเผยแพร่ปรัชญาออร์แกนิกไปในตัวฉันเข้าใจได้ดีว่าในความหมายของคุณลุง Farmers’ Market เป็นอย่างไร มันคือตลาดที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวตั้งตัวตี มักจัดขึ้นบนลานโล่งแจ้งหรือทางข้างถนน ไม่ว่าหน้าฝนหน้าหนาว แดดจะออก หิมะจะตก ทุกวันอาทิตย์ ชาวบ้านร้านช่อง เกษตรกร หรือคนธรรมดา ก็จะมารวมตัวกันในที่ที่นัดไว้แล้วเปิดหลังรถขายของขึ้น เพราะบางคนก็ขนของมาเต็มกระบะ แล้วก็โยนผักผลไม้มาให้คนที่จะมาซื้อได้ชิม ไม่มีการแต่งตัวสวยงามใดๆ จากผู้ขาย ไม่มีการเช็ดพืชผลแบบเช็ดแล้วเช็ดอีก เพราะบางรายก็เพิ่งเด็ด ขุด เอาพืชพันธุ์ของตนเองออกมาเมื่อตอนเช้าของวันนั้นเอง หัวแครอทยังมีคราบดิน ผลไม้ก็จะมีให้ชิมเป็นหย่อมๆ ลูกที่สุกเต็มที่ ดูเหมือนจะเริ่มเน่า เป็นลูกที่หวานที่สุด และก็ราคาถูกที่สุด เพราะต้องรีบขายให้ออก ไม่เพียงแค่พืชผักเท่านั้นยังมีสินค้าอื่นอีกมาก ทั้งแยม โยเกิร์ต ขนมปัง ซึ่งคนที่นำมาขายก็จะมีเต้นท์เป็นของตัวเอง เมื่อคนขาย พบคนซื้อ บทสนทนาที่มาที่ไปของอาหารต่างๆ ก็เกิดขี้นอย่างช่วยไม่ได้ “ผักนั้นเอามาจากไหน ปลูกยังไง เนื้อหมูนี้ออร์แกนิกหรือเปล่า ทำไมถึงออร์แกนิก ทำไมถึงไม่ทำออร์แกนิก ให้อะไรเป็นอาหารไก่ ผลไม้นี้ตอนปลูกใช้อะไรเป็นปุ๋ย เอาไปทำอะไรกินดี ส่วนไหนที่อร่อยที่สุด นมนี้เป็นหางนมหรือไม่ ชีสนี้ใช้นมแพะ หรือนมวัว ขนมปังนี้ใช้แป้งอะไรทำ คนแพ้ Gluten ทานได้มั้ย บลา บลา บลา”   บทสนทนาล้วนดeเนินไปอย่างมีอรรถรส ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย คำถามมักติดตามมาด้วยคำอธิบายยาวเหยียด พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้ฉันสัมผัสได้ดีถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน ความภูมิใจ และความรู้สึกผูกพัน ที่คนขาย มีต่อผลผลิตของเขาเมื่อฉันก็ย้อนกลับมามอง Farmers’ Market ในบ้านเรา ฉันพบว่ามันไม่ได้เป็น ตลาดของเกษตรกรตรงตัวแบบที่เราเข้าใจกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ขายผลิตผลทางการเกษตรตรงๆ ส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ขายมักเป็นอาหารแปรรูป ทั้งของกินเล่น เครป ขนมปัง วัฟเฟิ้ล ชา กาแฟ ไอศกรีม เบอร์เกอร์ หรือผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือตกแต่งซึ่งล้วนแล้วแต่เน้นสินค้าทำมือให้เข้ากับรสนิยมต่างชาติ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองไทย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นคนไทยซึ่งมักส่งสำเนียงภาษาต่างชาติออกมาเป็นประจำ ทำให้ฉันสามารถบอกได้เกือบจะทันทันทีว่าเขาเหล่านี้หาได้เป็นคนไทยทั่วๆไปไม่แน่นอนว่าการผลิตสินค้าเพื่อเอาใจคนกลุ่มนี้ ผู้ผลิตและผู้ขายย่อมต้องมีต้นทุนพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ หรือ ต้นทุนความรู้ ทั้งความรู้ในการผลิต และความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเกษตรกรไทยทั่วไปที่ยังต้องเก็บหอมรอมริบเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คงไม่สามรถยกระดับตัวให้กลายเป็นผู้ขายในตลาดนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกันกับที่ Farmers’ Market ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเมืองกรุง ผู้คนมากมายต่างพากันมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าคลีนๆที่ว่านึ้ เกษตรกรหลายรายที่ไม่ได้ขัดสนได้ถือเอาตลาดแห่งนี้เป็นที่พบปะกับผู้บริโภค เรียนรู้ตลาดและความต้องการที่หลากหลาย แต่ใช่ว่าผู้ขายสินค้าการเกษตรทั้งหมดจะเห็นตรงกัน เพราะพร้อมๆกับที่ชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ได้มีมากขึ้น บริษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยที่ค่อยๆ กินรวบทั้งระบบการผลิต การค้าส่ง และค้าปลีก ก็เล็งเห็นช่องทางการขายแบบใหม่ ที่ให้กำไรดีกว่าสินค้าเดิม ก็ได้หาเหตุแอบแฝงมาในนามเกษตรกรรายย่อย และขายสินค้าของตนเองอย่างภาคภูมิใจด้วยถือว่าตนเองก็เป็น “ออร์แกนิก” เช่นกัน ฉันถอนหายใจอย่างปลงๆ พร้อมกับรู้สึกกระอักกระอ่วนเล็กๆ อาจเป็นเพราะมีเค้าลางส่อว่า “เงิน” มีค่ามากกว่า “ปรัชญา” ที่ฉันเคารพหรือเปล่า ฉันคิดไปว่า “เงิน” สามารถ “ซื้อ” ปัจจัยการผลิตได้ตั้งแต่ ที่ดิน นักวิชาการ แรงงาน วัตถุดิบ ฯลฯ เพื่อเอามาสร้างความร่ำรวยให้เพิ่มขึ้นได้อย่าง “ง่ายดาย” แล้วอะไรคือ หยาดเหงื่อแรงงานของคนผลิตที่ฉันอยากสนับสนุน “เงิน” ของฉันจะถูกนำไปใช้เพียงเพื่อต่อ “เงิน” ให้คนอื่นที่ไม่ได้ขัดสนอะไรเท่านั้นหรือ แล้วความภูมิใจที่ฉันอยากมอบให้แรงงาน เหมือนกับคุณลุงเจ้าของฟาร์มคนนั้นมันอยู่ไหน ฉันรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง มันช่วยไม่ได้ ก็เมื่อความคิด จินตนาการมันสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงฉันเดินค่อยๆเดินถอยออกมาจากชั้นผัก “ออร์แกนิก” พร้อมๆ กับยิ้มเยาะให้กับตัวเลือกที่จำกัดของผู้บริโภคชาวกรุงยังอีกไกล...ที่คนบ้านเราจะเห็นออร์แกนิกเป็นปรัชญามากกว่าเป็นเพียงสินค้าสุขภาพยังอีกไกล...กว่าปรัชญาจะแทรกซึมให้เข้าไปถึงเบื้องลึกในใจของคนไทยยังอีกไกล...ที่แรงงานภาคเกษตรจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่าเม็ดเงินยังอีกไกล...ที่ตราออร์แกนิกจะสิ้นความหมายเพราะความเชื่อใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กันยังอีกไกล...ที่  Farmers’ Market จะเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน อย่างแท้จริงฉันคงได้แต่เพียงหวังว่า “วันนั้น” จะมาถึง ก่อนที่จะสายเกินไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 141 เที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว

ถ้าให้นึกถึงความรู้สึกของการได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ได้พบกับประสบการณ์แปลกใหม่ เชื่อว่าทุกคนต้องคิดถึงภาพช่วงเวลาแห่งความสุข การได้พักผ่อนท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แค่คิดภาพตามก็ชักอยากจัดแจงแพ็คกระเป๋าเดินทางแล้วออกไปหาที่เที่ยวแบบธรรมชาติๆ บรรยากาศสบายๆ สักที่ แต่อย่างที่เคยมีใครบางคนบอกไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้มักมีสองด้านเสมอ เพราะแม้การได้ออกเดินทางท่องเที่ยวจะสร้างความสนุกสุขใจให้กับเรา แต่ในทางตรงกันข้ามเราในฐานะนักท่องเที่ยวกลับกำลังทำลายธรรมชาติและโลกใบนี้ผ่านการทำกิจกรรมที่ทั้งทำร้ายและรบกวนทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งทุกวันนี้การท่องเที่ยวถูกผูกรวมเข้ากันกับเรื่องของธุรกิจ เศรษฐกิจ เลยไปถึงระบบอุตสาหกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศกลายเป็นดาบสองคม เพราะถึงแม้ประเทศเราจะร่ำรวยขึ้นแต่ทรัพยากรธรรมชาติก็เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ “แล้วแบบนี้สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามจะอยู่กับเราไปได้นานอีกสักแค่ไหน” ถึงเวลาต้องคิดใหม่ทำใหม่ ท่องเที่ยวอย่างใส่ใจ ไม่ทำร้ายธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเรา   ท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ – รักษา สร้างสรรค์ และยั่งยืน “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” (sustainable tourism) ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คงต้องให้นึกถึงการท่องเที่ยวในเชิงของการอนุรักษ์ ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยเราล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ทะเล ภูเขา ป่าไม้ และยังรวมไปถึงชุมชนต่างๆ ที่ยังคงมีวิถีชีวิตเชื่อมโยงเข้ากับธรรมชาติ เหล่านี้คือเสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสของงดงาม แต่ธรรมชาติก็มีวันเสื่อมสลายไปตามเวลายิ่งเมื่อต้องรองรับการมาถึงของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม การจัดการดูแลเพื่อให้ทั้งการสร้างรายได้และความสมบูรณ์ของธรรมชาติสามารถจับมือเดินคู่กันไปได้อย่างสมดุล ประเทศไทยเราเริ่มจริงจังกับการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการประกาศให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว แม้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศจะประสบความสำเร็จสามารถทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นมีต้นทุนหลักก็คือ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งหากนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และประชาชนเจ้าของพื้นที่ ขาดจิตสำนึกที่จะดูแลรักษาธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งหลายจะอยู่กับเราไปได้นานสักแค่ไหน? องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นหน่วยที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เพื่อดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ มีหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ทั้งรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับชาวบ้านในชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ อพท. ก็ได้ให้การสนับสนุนดูแล 5 แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในประเทศ ให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย -หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง -เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี -เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง -อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร -จังหวัดเลย โดย อพท. จะเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ ชาวบ้านในพื้นที่ และขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยกันทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน อย่างในหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ซึ่งมีปัญหาเรื่องของปริมาณขยะที่มีเป็นจำนวนมากยากต่อการจัดการ ซึ่งเกิดจากทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปีและชาวบ้านในพื้นที่ที่ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการ ที่สำคัญคือจิตสำนึกร่วมกันในดูแลรักษาสภาพแวดล้อม อพท. จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างโรงงานคัดแยกขยะขึ้นบนเกาะช้างเมื่อปี 2549 ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการจัดเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ขยะมูลฝอยอินทรีย์ที่ได้ยังถูกแปรรูปไปเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย แม้จะเป็นปริมาณไม่มากแต่ก็ถือเป็นการบริหารการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อพท. ได้นำพันธุ์สัตว์ป่าจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนำไปเพราะพันธุ์ที่ห้วยทรายขาว จ.ลำพูน เพื่อเป็นการคืนธรรมชาติที่เหมาะสมให้กับพื้นป่าชุมชนห้วยทรายขาวซึ่งมีโอกาสพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ในอนาคต ขณะที่เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงก็จะถูกปรับภาพลักษณ์ให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากขึ้น พัฒนาการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ถือเป็นสถานที่ต้นแบบในการจัดทำพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้านประวัติศาสตร์ ขณะที่ จ.เลย ถือเป็นพื้นที่สำคัญมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติจำนวนมากและเริ่มมีนักท่องมาเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อพท. จึงเห็นเหมาะสมที่จะเริ่มวางแนวทางการท่องเที่ยวยั่งยืนตั้งแต่เนินๆ นอกจากทั้ง 5 แห่งที่กล่าวมาแล้วในอนาคตข้างหน้าก็จะมีอีกหลายพื้นที่หลายชุมชนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนการรูปแบบท่องเที่ยวสู่แนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศึกษาข้อมูลของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้ง 5 แห่งเพิ่มเติมได้ที่ www.dasta.or.th/th/Sustain/sub_sustain_area.php)   “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” (Creative Tourism) การท่องเที่ยวสร้างสรรค์จะเน้นให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของแต่ละสถานที่ ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าบ้านอย่างผู้คนในท้องถิ่นเองก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว อย่างการทดลองทำอาหารขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น การทดลองทำหัตถกรรม OTOP ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ พักแบบ Home Stay ตลอดจนการทดลองใช้ชีวิตตามแบบอย่างผู้คนในชุมชน เพื่อให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ของผู้คนและสถานที่นั้นๆ ผ่านประสบการณ์ตรง เรียกว่าเป็นเวทีการเรียนรู้แบบมีชีวิต การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นอกจากจะดีกับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะเป็นการช่วยให้ชุมชนสำนึกรักในบ้านเกิดของตัวเอง รู้จักและเข้าใจในเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของตัวเองอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้นำมาใช้ถ่ายทอดต่อให้กับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทั้งสร้างสรรค์และยั่งยืน   “นักท่องเที่ยวสีเขียว” ใครๆ ก็เป็นได้ เตรียมตัวก่อนออกเที่ยว -ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทรัพยากรในพื้นที่ ประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรม รวมถึงปัญหาในพื้นที่ เพื่อเราในฐานะนักท่องเที่ยวจะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมและไม่ทำอะไรที่เป็นรบกวนสถานที่ที่เราไปเที่ยว -เวลาจัดกระเป๋าสัมภาระต้องจัดอย่างสร้างสรรค์ รับรองว่าช่วยลดโลกร้อนได้เหมือนกัน ง่ายๆ ด้วยการขนของที่จะใช้ไปเท่าที่จำเป็น ยิ่งกระเป๋าใบใหญ่ใส่ของแยะน้ำหนักเยอะก็ยิ่งสิ้นเปลืองพลังงานในการขนย้าย ยิ่งขนของไปเที่ยวมากๆ ก็มีสิทธิไปสร้างขยะทิ้งไว้ในสถานที่ที่เราไปเที่ยว -แต่ของใช้จำเป็นหลายๆ อย่างถ้านำไปเองได้ก็น่าจะช่วยลดการสร้างขยะ เช่นพวก สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม เพราะถ้าไปใช้ของที่โรงแรมที่พักเขาเตรียมไว้มักจะต้องเปลี่ยนให้ใหม่ทุกวัน แต่ของจะที่เอาไปขอให้เป็นแบบที่ชนิดเติมจะได้ไม่ต้องเพิ่มขยะขวดพลาสติก แถมการที่เรานำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปเองก็ช่วยให้มั่นใจว่าเราจะเกิดอาการแพ้   เลือกการเดินทาง -ศึกษาเส้นทางให้ดีก่อนการเดินทาง ใช้เส้นทางที่มีระยะสั้น ประหยัดเวลา ใช้พลังงานน้อย -เลือกวิธีการเดินทางให้เหมาะสม หากเป็นการท่องเที่ยวในประเทศและพอมีเวลา แนะนำให้ลองใช้บริการสาธารณะอย่างรถไฟเพราะประหยัดพลังงาน มากกว่ารถทัวร์ เครื่องบิน หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนตัว -เครื่องบิน เป็นวิธีการเดินทางที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด -ถ้ารถส่วนตัวก็ควรเดินไปด้วยกันหลายๆ คน ไปกันเยอะๆ สนุกกว่า ประหยัดพลังงานกว่า -ถ้าไปกับบริษัทนำเที่ยวก็ควรเลือกโปรแกรมนำเที่ยวที่รบกวนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด -การตรวจให้สภาพรถยนต์ให้สมบูรณ์พร้อมสำหรับการเดินทาง จะสามารถช่วยให้เรื่องของการประหยัดการใช้พลังงาน และที่สำคัญยังสามารถช่วยในเรื่องของความปลอดภัย -ไม่บรรทุกน้ำหนักมากเกินไป เพราะพาหนะที่ใช้เดินจะยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้น   เลือกที่พักสไตล์คนรักษ์โลก -ลองพักแบบ โฮมสเตย์ (Home Stay) หรือรีสอร์ทชุมชน ทั้งใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรม และเป็นการสร้างร้ายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง แถมที่พักแบบนี้มักเป็นที่พักขนาดเล็กๆ ไม่ใช้พลังงานเกินความจำเป็น -ทิ้งความคิดเดิมๆ ที่ว่า เวลาไปพักตามห้องพักหรือโรงแรม เมื่อเสียความเช่าไปแล้วต้องใช้ให้คุ้มค่า ด้วยการเปิดน้ำเปิดไฟเปิดเครื่องปรับอากาศแบบเต็มที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น หากเวลาที่ไม่ได้อยู่ในห้องก็ขอให้ปิดดีกว่า ใครที่รู้ตัวว่ามีพฤติกรรมแบบนี้รีบปรับเปลี่ยนโดยด่วน Green Leaf โรงแรมใบไม้เขียว เราสามารถเลือกพักในโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกที่พักที่มีตราสัญลักษณ์ “โรงแรมใบไม้เขียว” ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิใบไม้เขียว โดยเราสามารถหาข้อมูลโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อติดต่อจองห้องพักก่อนการไปเที่ยวได้ที่ www.greenleafthai.org/th/green_hotel/ กิจกรรมไม่ทำร้ายธรรมชาติ -เลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ธรรมชาติ สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ สินค้าประหยัดพลังงาน รวมทั้งเลือกสินค้าของฝากต่างๆ ที่ผลิตในท้องถิ่น สินค้าตามฤดูกาล ซึ่งช่วยลดพลังงานในการขนส่งและจัดเก็บ -อยากมักง่ายทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง -ซื้อและบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น และพยายามทานแต่พอดี เพราะถ้าทานเหลือไม่ใช่แค่น่าเสียดายเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นขยะ -การท่องเที่ยวโดยการเดินหรือขี่จักรยาน สามารถช่วยรถการใช้พลังงานและการสร้างก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก -ถ้าต้องการไกด์ควรเลือกไกด์ที่อยู่ในท้องถิ่น เพราะทั้งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องราวในพื้นที่อย่างแท้จริง สนับสนุนการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และประหยัดพลังงานเพราะเป็นไกด์ในท้องถิ่นไม่ต้องเดินทางไกล -หากไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ต้องไม่ทำอะไรที่เป็นการรบกวนสภาพแวดล้อม เช่น ไม่เก็บพวกต้นไม้ ซากพืชซากสัตว์ หรือแม้แต่เปลือกหอย กลับมาเป็นที่ระลึก เพราะสิ่งเหล่ามี่ผลต่อธรรมชาติทั้งสิ้น ต้นไม้เล็กๆ วันข้างหน้าก็อาจเติบโตเป็นไม้ใหญ่เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศ ส่วนซากเปลือกหอยก็สามารถเป็นบ้านใหม่ของสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น ปูเสฉวน -ถ้าไปเจอปลาในสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เราไม่ควรให้อาหารปลาเหล่านั้น เพราะปลาในธรรมชาติหาอาหารเองได้ แถมอาหารที่เราให้จะไปทำให้น้ำเน่าเสียเปล่าๆ   องค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ได้ประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประเภทต่างๆ ของภาคการท่องเที่ยว ดังนี้ การคมนาคมทางอากาศ 40% การคมนาคมทางบก 32% การคมนาคมขนส่งอื่นๆ 3% ที่พัก 21% กิจกรรมท่องเที่ยว 4% ที่มา : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อยากเที่ยวหัวใจสีเขียว แต่ไม่รู้จะไปไหน ฉลาดซื้อมีมาแนะนำ รวบรวมจากแหล่งท่องเที่ยวรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 8 ประจำปี 2553 แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ดอยฟ้าห่มปกเป็นยอดดอยที่มีความสูงเป็นอันดับสองของประเทศ มีพันธุ์ไม้หลากหลายสายพันธุ์ ทำให้มีนกนานาชนิดอาศัยเป็นจำนวนมาก แถมยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมจากชุมชนชาวเขามาเอาใจนักท่องเที่ยว น้ำตกคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองลาน ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชรอุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำน้ำหลายสาย มีการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างการสำรวจแมลงและผีเสื้อ รวมถึงพันธุ์ไม้แห้งต่างๆ เพื่อนำมาศึกษาเป็นความรู้   แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ปราสาทสัจธรรม ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ปราสาทไม้ที่รวบรวม ความรู้ ปรัชญา และงานสถาปัตยกรรมงานไม้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พิพิธภัณฑสถานแสดงตัวหนังใหญ่ที่มีอายุกว่า 100  ปี เป็นทั้งสถานที่แสดง ศูนย์ฝึกหัดเยาวชนในท้องถิ่น แหล่งผลิตแกะสลักหนังใหญ่   แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิสาหกิจชุมชนเพลินไพรศรีนาคา ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ที่นี่มี “ดอกพลับพลึงธาร” ไม้น้ำหายาก ซึ่งพบได้แห่งเดียวในประเทศไทยที่คลองนาคา ซึ่งชาวชุมชนในพื้นที่ตั้งใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลน ที่จากเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนเคยเป็นนากุ้งร้าง จากนั้นจึงถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นแหล่งนิเวศที่สมบูรณ์เหมาะกับการศึกษาและท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ต.บ้านปรก อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม กลุ่มชาวบ้านที่เห็นคุณค่าของธรรมชาติวิถีชีวิตริมน้ำ รวบรวมและรื้อฟื้นเอกลักษณ์ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมชุมชน ในรูปแบบฐานการเรียนรู้จากภูมิปัญญาชุมชน ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์น้ำตาลมะพร้าว กลุ่มอนุรักษ์เรือพาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดสารแบบพอเพียง กลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทย ชุมชนพอเพียง บ้านบางพลับ หมู่ 4 ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ด้วยกิจกรรมที่คงความเป็นเอกลักษณ์และวิถีชีวิตชุมชนที่พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว อาทิ ตักบาตรขนมครก การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทุกกิจกรรมล้วนสอดคล้องไปกับธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านนาหมอม้า ต.นาหมอม้า อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานและพอเพียง ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้หลักการทำการเกษตรรูปแบบต่างๆ และชมการผลิตงานฝีมือจากกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งมีสินค้าขึ้นชื่ออย่างเสื่อกกลายมัดหมี่ ไร่องุ่นไวน์ งามล้ำยุค กราน-มอนเต้ ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สวนเกษตรที่ผสมผสานระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการปฏิบัติงานด้านองุ่นและไวน์ ไปชมกรรมวิธีการผลิตไวน์ที่มากพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัย   ------------------------------------------------------------------------------------- ท่องเที่ยวโดยไม่ดูแลธรรมชาติ...สักวันอาจไม่มีธรรมชาติให้ไปท่องเที่ยว เมื่อเราเดินทางท่องเที่ยว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดกระบวนการการบริโภคทั้งที่จำเป็นและฟุ่มเฟือย (ส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างหลัง) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการสร้างขยะซึ่งมีผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อม และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ต้นเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน สุดท้ายแล้วปัญหาทั้งหมดก็จะย้อนกลับมาทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนจนเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญๆ ของแหล่งท่องเที่ยวถูกทำลาย ทำให้ขาดเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญญาณเตือนที่โลกบอกให้รู้ว่า ถึงเวลาที่ผู้ที่รักการท่องเที่ยว รักธรรมชาติ และรักโลกใบนี้ทุกคน ต้องใส่ใจดูแลโลกของเราใบนี้อย่างจริงจังสักที จากการประเมินของคณะกรรมการของรัฐบาลนานาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 5% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แม้เป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่แนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีแต่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีเอี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นตัวสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะภาคการขนส่ง ที่มา : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)   เที่ยวไหนก็ได้ถ้าหัวใจสีเขียว 7 Greens “ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำเสนอมุมมองใหม่ในการท่องเที่ยวที่ทั้งเป็นมิตรกับธรรมชาติ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งซึมซับประสบการณ์ความสุขจากการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิด 7 Greens  ซึ่งประกอบด้วย 7 แนวคิดท่องเที่ยวสีเขียว Green Heart หัวใจสีเขียว : เที่ยวด้วยหัวใจ คือใส่ใจลงไปในการท่องเที่ยว ใส่ใจดูแลรักษาธรรมชาติที่ไปเที่ยวชม คิดเสมอว่าจะไม่ทำอะไรที่จะเป็นการทำร้ายธรรมชาติ Green Logistics การขนส่งสีเขียว : เลือกรูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลือกเดินทางโดยรถสาธารณะก่อนรถส่วนตัว Green Attraction เยือนแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว : ท่องเที่ยวธรรมชาติ ด้วยใจที่รู้คุณค่า ดูแลรักษาเพื่อความยั่งยืน Green Activity กิจกรรมสีเขียว : เลือกทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่รบกวนธรรมชาติ ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก Green Community ท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว : เข้าใจในวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น ในฐานะผู้เยือนที่ดีต้องเคารพรักษาเพื่อให้ความงดงามอันเอกลักษณ์ของแต่ละท้องที่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน Green Service บริการสีเขียว : เลือกใช้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนผู้ประกอบการสีเขียว Green Plus เพิ่มสีเขียว : คืนชีวิตให้ธรรมชาติ เริ่มง่ายๆ แค่ลงมือทำ ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่าง เก็บขยะตามริมชายหาด ปลูกป่า พร้อมบอกต่อสิ่งดีๆ เพื่อการท่องเที่ยวสีเขียวให้กับคนอื่นๆ ใครที่สนใจหลากหลายกิจกรรม หลากหลายแหล่งท่องเที่ยว “7 Greens ท่องเที่ยวสดใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ของ ททท.สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://7greens.tourismthailand.org

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point