ฉบับที่ 274 ‘จัดการการเงินส่วนบุคคล’ ต้องวางแผนแบบภาพรวม

        พอถึงช่วยท้ายปี บรรดาธนาคาร บริษัทประกัน และบริษัทจัดการกองทุนฯ ก็ขึ้นโฆษณากันพรึ่บพรั่บให้เรารีบซื้อกองทุนรวม รีบซื้อประกันชีวิต เพื่อจะได้เอาไว้ลดหย่อนภาษี คนที่มีรายได้สูงพอต้องเสียภาษีเลยหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุดด้วยการซื้อทุกสิ่งอย่างที่ได้รับการแนะนำ         ในแง่การจัดการการเงินส่วนบุคคลการวางแผนภาษีอย่างการลดหย่อนเป็นอะไรที่ต้องคิดคำนึง อันนี้เถียงไม่ได้         แต่ๆๆ อย่าลืมว่าการลดหย่อนภาษีไม่ใช่ทั้งหมองของการจัดการการเงินส่วนบุคคล         ทำไมต้องพูดเรื่องที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว? ก็เพราะบางคนหรือไม่รู้น่ะสิ         มีเคสตัวอย่างคนรู้จักที่จะเล่าสู่กันฟัง เขาเป็นคนที่มีรายได้ต่อเดือนราว 1 แสนบาท เลยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเยอะ ด้วยความที่ไม่อยากเสียภาษีให้รัฐบาลเพราะไม่เชื่อว่าจะใช้เงินภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงหาทางลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด         เขาจึงเลือกซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี เท่านั้นยังไม่พอ ยังซื้อประกันชีวิต แถมยังมีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่ต้องฝากให้ครบกำหนดตามเงื่อนไขของธนาคารถึงจะได้ดอกเบี้ยเต็มๆ แบบไม่ต้องแบ่งให้รัฐ         ปัญหาก็คือพอสนใจแต่จะลดหย่อนภาษี ก็เลยใช้เงินไปกับเรื่องนี้เยอะเกินไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้เงินคืนในตอนท้ายก็เถอะ แต่กลายเป็นว่าสภาพคล่องในแต่ละเดือนต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไหนจะต้องส่งประกันชีวิต ส่งเงินฝากประจำ แล้วค่าใช้จ่ายเดิมก็มีอยู่แล้ว         บอกหลายครั้งแล้วว่าสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญ การมีเงินสดในมือเพียงพอสำหรับการจับจ่ายและรับมือเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ต้องจัดการให้ดี ยิ่งถ้าไม่มีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้เร็ว สุดท้ายมันจะพาตัวเองไปสู่วงจรหนี้         เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าต้องจัดการการเงินส่วนบุคคลแบบมองภาพรวมทั้งหมด อย่าแยกออกมาเป็นเรื่องๆ จะลดหย่อนอย่างเดียวแบบกรณีนี้ก็พาลทำให้สภาพคล่องตึง แต่ถ้ามีเงินสดในมือมากเกินกว่าจำเป็นก็ลดโอกาสเพิ่มดอกผลอีก         ย้ำอีกที การจัดการการเงินส่วนบุคคลต้องวางแผนแบบภาพรวม มองทุกองค์ประกอบ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้แผนการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแบบของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 กระแสต่างแดน

เงินไม่ถึง         ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ประกาศคืนเงินให้กับผู้ซื้อ “ที่ทับกระดาษ” จากร้านขายสินค้าที่ระลึกของธนาคารเมื่อหกปีก่อน หลังพบว่าสิ่งที่อยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลาก         ของที่ระลึกดังกล่าวซึ่งอยู่ในรูปลักษณ์ของแก้วบรรจุธนบัตรมูลค่า 1,000 เหรียญฮ่องกงที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย วางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2560 ในราคาชิ้นละ 100 เหรียญ (ประมาณ 450 บาท)         ฉลากและการประชาสัมพันธ์ของธนาคาร ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าที่ทับกระดาษคอลเล็คชันนี้ ทำขึ้นจากแบงก์พันเก่าจำนวน 138 ใบ รวมเป็นมูลค่า 138,000 เหรียญ         ล่าสุดธนาคารฯ ออกมายอมรับว่าได้ใส่กรวดเข้าไปเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เท่ากับว่าในนั้นมีธนบัตรน้อยกว่าจำนวนที่แจ้ง ข้อมูลที่ให้ไว้จึงไม่ตรงตามความจริง ธนาคารฯ จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ซื้อไปมาติดต่อขอรับเงินคืนได้         รายงานระบุว่าที่ทับกระดาษรุ่นดังกล่าวยังมีขายออนไลน์ในราคาระหว่าง 420 – 600 เหรียญ   เอาที่ไหนมาพูด        องค์กรผู้บริโภคสหภาพยุโรปร่วมกับ Consumentenbond องค์กรผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์  และองค์กรผู้บริโภคในอีก 12 ประเทศ  ยื่นขอให้มีการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของบริษัทโคคาโคลา และบริษัทเนสท์เล่ เรื่องการรีไซเคิลขวดพลาสติก         เนื้อหาของข้อความที่เป็นปัญหาได้แก่ “100% ของขวดน้ำพลาสติกในยุโรปสามารถรีไซเคิลได้” และ “ขวดน้ำนี้ใช้วัสดุรีไซเคิล 100%”         นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาพประกอบที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าขวดน้ำพลาสติกไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย         การกล่าวอ้างแบบข้างต้นถือว่าผิดระเบียบสหภาพยุโรป เพราะไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง         ปัจจุบันยุโรปมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ร้อยละ 55 เท่านั้น ในขณะที่อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่อยู่ที่ร้อยละ 30 และขยะบริเวณชายหาดของยุโรปส่วนใหญ่คือขวดน้ำพลาสติกนั่นเอง  ไม่หยุดบิน         สมาคมผู้ประกอบการสายการบินของสเปน ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ยกเลิกเส้นทางบินระยะใกล้ที่สามารถเดินทางด้วยรถไฟภายในเวลาไม่เกินสองชั่วโมงครึ่ง         โดยให้เหตุผลว่าจะยกเลิกก็ต่อเมื่อมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ครอบคลุมเมืองหลัก รวมถึงมีรถไฟเชื่อมต่อกับสนามบินหลักอย่างเพียงพอ เช่น เส้นทางระหว่างเมืองมาดริดและบาราคัสควรจะมีรถไฟวันละ 8-10 เที่ยวต่อชั่วโมง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าเจ็ดปี         การสำรวจโดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 35 ของเที่ยวบินในสเปน (ที่ส่วนใหญ่ตั้งต้นจากเมืองมาดริด) สามารถถูกยกเลิกได้ และจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 10         รัฐบาลสเปนเริ่มแผนลดเที่ยวบินระยะสั้น (ไม่เกินสี่ชั่วโมง) โดยนำรถไฟความเร็วสูงเข้ามาแทนที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว หลังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาร่วมทำกิจการรถไฟ และดูเหมือนรถไฟของ Iryo และ Ouigo จะมีผลประกอบการดีกว่ารถไฟของรัฐฯ อย่าง Renfe ด้วย  ลดกระดาษ         พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเดนมาร์กอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปลงทะเบียนขอปิดบังข้อมูล “ที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์” กับกรมทะเบียนกลางได้ โดยคำขอดังกล่าวจะมีอายุครั้งละหนึ่งปี           การกระทำดังกล่าวจะทำให้กรมฯ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่อยู่ของประชาชนให้กับเอกชนรายใดได้ และกฎหมายเดียวกันก็ห้ามผู้ประกอบการส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับผู้อื่น รวมถึงไม่สามารถขอที่อยู่จากกรมฯ ได้ ยกเว้นกรณีติดตามทวงหนี้         ส่วนโบรชัวร์โฆษณาชนิดไม่ได้ระบุชื่อที่อยู่ผู้รับ เขาก็มีทางออกให้เช่นกัน ใครที่ไม่อยากได้กระดาษล้นตู้จดหมายก็สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการ “ขอบใจ แต่ขอไม่รับ” แล้วจะได้รับสติ๊กเกอร์ประกาศิตมาติดตู้จดหมาย รับรองว่าใครเห็นก็ไม่กล้าแจก         แน่นอนว่าเรื่องนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะดีลลดราคาหรือโฆษณาต่างๆ ก็สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อยู่แล้ว   รวมกันเราอุ่น         ปัจจุบันมีห้องเช่าจำนวนไม่น้อยในฝรั่งเศสที่ยังใช้ระบบให้ความร้อนจากส่วนกลาง หมายความว่าผู้ “สั่งเปิด” ฮีตเตอร์ ได้คือเจ้าของตึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารให้มีอุณหภูมิเหมาะกับการอยู่อาศัยนั่นเอง         หลักการคือถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเกินหนึ่งวัน ให้ถือว่าเข้าข่าย “หนาวเกินไป” และควรเปิดเครื่องทำความร้อน แม้กฎหมายจะไม่ระบุช่วงเวลาเปิดฮีตเตอร์ แต่ที่ปฏิบัติกันมาคือระหว่าง 15 ตุลาคม ถึง 15 เมษายน ของทุกปี         ใครที่รู้สึกหนาวก่อนนั้นก็สามารถยื่นคำร้องไปขอความเห็นชอบจากกลุ่มผู้เช่าได้ แต่ถ้าเพื่อนบ้านไม่หนาวด้วย หรือไม่อยากจ่ายค่าไฟเพิ่ม ก็ต้องทำใจ ใส่เสื้อหนาวเพิ่มหรือไปซื้อฮีตเตอร์มาใช้เอง         ฟังดูเป็นเรื่องทรมาน แต่วิธีนี้จะทำให้ทุกคนในตึกจ่ายค่าไฟน้อยลง เพราะการเปิดระบบให้ความร้อนตามเวลาที่ตกลงกันไว้กับบริษัทพลังงานจะได้อัตราค่าไฟที่ถูกกว่า และยังประหยัดพื้นที่วางฮีตเตอร์ ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงโดยไม่มีคนร่วมแชร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 พนักงานธนาคารหลอกผู้บริโภคช่วยซื้อหน่วยลงทุน แต่กลับเอาเงินไปส่วนตัว ธนาคารต้องร่วมรับผิดหรือไม่

        ทุกวันนี้ หลายคนคงตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของธนาคาร ว่าเมื่อเราฝากเงินไว้ในบัญชีของธนาคาร ธนาคารควรมีหน้าที่ดูแลเงินของเราให้ดี เพราะเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องสร้างความไว้วางใจเพื่อให้คนเอาเงินมาไว้กับตน แต่ตามข่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดปัญหาถูกขโมยข้อมูลและมีการดูดเงินออกจากบัญชี ธนาคารกลับไม่ได้รับผิดชอบ ผู้บริโภคอย่างเราเสียเองต้องไปดิ้นรนแจ้งความดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเอง ซึ่งถ้ามองในมุมกฎหมายแล้ว การที่เราเอาเงินไปฝากธนาคาร “เงินที่นำเข้าบัญชีธนาคาร” ถือเป็น “เงินของธนาคาร” ตามสัญญาฝากเงิน เพียงแต่ธนาคารมีหน้าที่ตามสัญญาฝากเงินต้องนำเงินจำนวนเดียวกันกับที่ฝากมาคืนเรา ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจความรับผิดของธนาคาร จึงขอหยิบยกคดีเรื่องหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาเป็นกรณีศึกษา          เป็นกรณีธนาคารพาณิชย์ จัดให้มีบริการพนักงานธนาคารเพื่อคอยดูแลลูกค้าคนสำคัญ ไปหาลูกค้าถึงที่เพื่อช่วยจัดการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ของลูกค้า และต่อมาพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ไปหลอกให้ลูกค้าคือผู้บริโภคจัดทำเอกสารอ้างว่าจะไปซื้อหน่วยการลงทุน แต่กลับนำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุน ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท ผู้บริโภคในฐานะเจ้าของเงินและเป็นลูกค้าของธนาคารจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ธนาคารรับผิด          ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารต้องรับผิดในผลการกระทำของพนักงานธนาคารคนดังกล่าว ในฐานะนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง เพราะการที่ธนาคารจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับธนาคารถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของธนาคารด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของธนาคารเพื่อประโยชน์ในกิจการของธนาคารเอง ธนาคารจึงสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2565         จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อ จ. พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่ จ. อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้ จ. ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้ จ. เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่ จ. รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจ จ. ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้ จ. กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ จ. เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่า จ. เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่         ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าว จ. ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของ จ. ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อ จ. นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ จ. ลูกจ้างของจำเลยกระทำไป ในทางการที่จ้างโจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่า จ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้ จ. เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย         การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อมากกว่า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์สองในสามส่วน เป็นเงินรวม 14,333,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 3,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 6,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดรวม 21,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อศาลฎีกาแก้ไขจำนวนเงินที่ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ถอนเงินไม่ได้ มาขอให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือ

        ผู้ร้องรายนี้ มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่ง จู่ๆ วันหนึ่ง เมื่อปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ ทำให้สมองเบลอ จึงปล่อยทิ้งบัญชีไว้นานหลายปี กระทั่งเดือน มกราคม 2566 ต้องการไปปิดบัญชี เพื่อนำเงินใช้เงินรักษาตัว จึงให้ ญาติ พาไปแบงก์เพื่อถอนเงิน         เจ้าหน้าที่ตรวจสอบยอดเงินฝากทั้งหมด เหลืออ,ยู่ในบัญชี 4,978 ร้อยบาท แต่ ! แบงก์ให้ถอนได้แค่ 378 บาท เท่านั้น ที่เหลืออีก 4,600 ไม่ให้ถอน         อ้าว ! ทำไมเป็นแบบนี้ ? เจ้าของบัญชี ซักถาม แต่เจ้าหน้าที่ กลับไม่มีคำตอบใดๆ อ้างแค่ว่า จะต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ ให้ตรวจสอบสาเหตุ         แต่รอแบงก์มานานเกิน 1 เดือน กลับยังไม่ได้คำตอบใดๆ ไม่ได้การล่ะ ญาติ เกรงว่า จะไม่ได้เงินคืน จึงโทรศัพท์ มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเล่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นให้ฟัง         เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซักถามว่า มีหนี้สิน ค้างชำระกับแบงก์ หรือไม่ ผู้ร้อง ยืนยัน ไม่มี เพียงแต่ ทิ้งบัญชีไว้นานหลายปี ไม่มีการเคลื่อนไหว ฝาก- ถอน แนวทางการแก้ไขปัญหา         เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ได้โทรศัพท์ ไปที่ ผู้จัดการสาขา ของ แบงก์ที่เกิดเหตุทันที ถามว่า ทำไม ไม่ให้เจ้าของบัญชีถอนเงิน จะเอาไปรักษาตัว ถ้าหากเป็นอะไรไปถึงขั้นเสียชีวิต เท่ากับ ฆ่ากันทางอ้อม จะรับผิดชอบมั้ย ! ถ้าแบงก์ไม่ยอมให้ถอนเงิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะทำหนังสือร้องเรียนไปถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาตรวจสอบ         ผู้จัดการแบงก์ ตอบ “ อย่าให้เรื่องใหญ่โตขนาดนั้นเลย “ พร้อมยื่นข้อเสนอ วันที่ 13 มกราคมนี้ จะจัดการให้ ส่วนเหตุที่เรื่องเกิดความล่าช้า เพราะต่างชาติ เป็นเจ้าของธนาคาร การติดต่อจะยาก ต้องใช้เวลานิดหน่อย         พอถึง 13 มกราคม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับแจ้ง ว่า เจ้าของบัญชีก็สามารถถอนเงินของตัวเองได้ จึงทำการปิดบัญชี ทันที ส่วนปมเหตุที่ตอนแรก ไม่ให้ลูกค้าถอนเงิน ทางแบงก์อ้างว่า เพราะ เจ้าของบัญชี เมื่อครั้งฐานะยังดี ได้มาเช่าตู้เซฟ เพื่อเก็บทรัพย์สินมีค่า ทางแบงก์จึงห้ามลูกค้าถอนเงินในบัญชี ที่เหลืออยู่ ( อ้าว ในเมื่อแบงก์รู้สาเหตุตั้งแต่ต้น ทำไม ไม่ยอม บอกกับ ลูกค้า ? )        หลายคนอาจจะบอกว่า แค่เงิน 4 พันกว่า จะอะไรนักหนา แต่อย่าลืมว่า เงินจำนวนนี้ สำคัญกับชีวิต ของหลายคน ! ... หลังจาก ได้รับความช่วยเหลือจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ร้อง โทรศัพท์มาขอบคุณที่ช่วยเหลือเป็นอย่างดี และ ยังเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ตกทุกข์ได้ยากมีช่องทางได้รับความยุติธรรม         ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง

พูดถึงข้อมูลส่วนบุคคล ถอยไปก่อนโซเชียลมิเดียและสมาร์ทโฟนถือกำเนิด มันเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ค่อยให้ความใส่ใจเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าถึงได้ง่ายดายและข้อมูลที่จะโยงกับมาสู่ตัวเจ้าของก็ใช่ว่าจะมีมากมาย ตัดกลับมาปัจจุบัน ข้อมูลของเรากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่ตัวเราเองเป็นผู้บอกให้โลกรับรู้         ข้อมูลกลายเป็นสิ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ มันถูกซื้อขายได้ประหนึ่งสินค้า วันดีคืนดีเราอาจได้รับโทรศัพท์หรืออีเมล์จากองค์ธุรกิจเสนอขายสินค้าหรือบริการให้โดยที่ตัวเรายังงุนงงว่าเอาช่องทางติดต่อมาจากไหนกัน         เมื่อข้อมูลที่สามารถสืบสาวกลับเพื่อระบุอัตลักษณ์ตัวบุคคลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาล ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม กฎหมายจึงต้องวิวัฒน์ตามเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีกและกำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายนนี้คือกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมจากการใช้ข้อมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ ในฐานะผู้บริโภคนี่จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ควรทำความเข้าใจเพื่อใช้ปกป้องสิทธิ         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้สนทนากับ ผ.ศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี FIP, CIPM, CIPP/US, CIPP/E (GDPR), CIPP/A, EXIN/PECB Certified Data Protection Officer ว่าด้วยหลักการ แนวคิดของกฎหมาย และผู้บริโภคจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร อะไรคือข้อมูลส่วนบุคคล ขอบเขตมันกว้างแค่ไหน         ในตัวพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือที่เรามักจะเรียกกันว่า PDPA ในมาตรา 6 บอกไว้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลธรรมดาซึ่งทำให้สามารถระบุตัวคนนั้นได้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ที่กฎหมายไทยเขียนไว้แค่นี้คือการเขียนที่สอดคล้องกับ GDPR รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศที่เอา GDPR ไปเขียนเป็นกฎหมาย เขียนแบบปลายเปิด นี่คือความยาก มันทำให้บทนิยามคำว่าข้อมูลส่วนบุคคลในทางการบังคับใช้มีต้นทุนสูง เพราะมันเป็นปลายเปิดมาก ๆ ถ้าเราไปดูของฝั่งสหภาพยุโรป ตัว GDPR เขาเขียนแบบนี้เหมือนกัน แต่เขามียกตัวอย่างไว้ด้วย เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขประจำตัว ข้อมูลสถานที่ สิ่งต่างๆ ที่ระบุอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ของคุณ Username Password Cookie ID ข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เชื่อมโยงมาแล้วบอกได้ว่าเป็นตัวคุณ         ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราดู PDPA มาตรา 26 ซึ่งเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว กฎหมายให้ตัวอย่างของ Identifier บางอย่างที่ใช้เชื่อมโยงหรือระบุตัวบุคคลได้ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งพวกนี้เป็น Sensitive Data ซึ่งกฎหมายคุ้มครองมากขึ้นเป็นพิเศษ ดังนั้นเวลาเราพูดถึงความหมายคำว่าข้อมูลส่วนบุคคล เราจะบอกว่าต้องดูจากบริบทการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น เอาจริงๆ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลแทบทุกอย่างเป็นข้อมูลส่วนบุคคลได้หมดขึ้นอยู่กับบริบทการใช้งานว่าคุณเอามาใช้แล้วมันเชื่อมโยงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลที่เชื่อมโยงกลับมาไม่ได้ก็ไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคล แต่ความสามารถในการ Linkable หรือ Identifiable มันเป็นเรื่องที่พูดยากในบริบทของกิจกรรมการประมวลผลที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่าง Cookie ID ออนไลน์แทร็คกิ้ง  Location Data ถามว่าเรารู้ไหมว่าเป็นใคร เราไม่รู้ แต่มี Operator รู้ มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีบางหน่วยงานที่สามารถ Identify ได้ เพราะฉะนั้นกฎหมายเลยบอกว่าข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อมโยงกลับไปได้ว่าหมายถึงใคร เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ผมต้องบอกด้วยว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใช้บังคับกับผู้ควบคุมของข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทุก ๆ ประเภท ทุก ๆ ธุรกิจ เว้นแต่บางกิจการหรือกิจกรรมที่กฎหมายอาจจะยกเว้นให้ ดังนั้น บริบทมันกว้างกว่า Operator ความหมายของผมก็คือทุกหน่วยงานทุกองค์กรที่เก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีโอกาสเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทั้งสิ้น         ในบริบทระหว่างผู้รับบริการหรือผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ผู้ให้บริการคือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ดังนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจึงหมายถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้าน ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต  ธนาคารพานิชย์ บริษัทประกันภัย อี-คอมเมิร์ส ทุกผู้ประกอบการมีการใช้ข้อมูลของผู้บริโภค เขาจึงมีหน้าที่ตามกฎหมาย หน่วยงานรัฐถือเป็นผู้ควบคุมด้วยหรือไม่         PDPA ไม่ได้แยกระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานเอกชน องค์กรใดๆ ก็ตามที่เข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แต่มีข้อยกเว้นหลักๆ อยู่ 2 ข้อ หนึ่ง คุณได้รับการยกเว้นโดยกิจการ สอง คุณได้รับยกเว้นโดยองค์กรของคุณ มีหน่วยงานรัฐบางองค์กรหรือหน่วยงานเอกชนบางกิจการที่ได้อาจได้รับการยกเว้น อาทิถ้าเป็น กิจการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน คุณได้รับการยกเว้นกฎหมายฉบับนี้เฉพาะในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรมตามวิชาชีพ เพราะนี่คือการรักษาสมดุลระหว่าง 2 เรื่อง ประการแรก คือหน้าที่ของสื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยความจริง เป็น Freedom of Expression คือหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรอง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคล คุณเอาข้อมูลของคนมาเปิดเผยไม่ได้หรือมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล ปัญหาจะเกิดทันทีเพราะว่าคุณไม่สามารถนำเสนอข่าวสารเพื่อการตัดสินใจของประชาชนได้ หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา กรรมาธิการต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่กฎหมายยกเว้นให้แต่ถ้ากฎหมายไม่ได้เขียนยกเว้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 องค์กรใดๆ ก็แล้วแต่ที่เข้าบทนิยามคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หรือ ‘ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ คุณมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA         คราวนี้ในกฎหมายคำว่า ‘ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล’ หมายถึงอะไร มันหมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล คำว่าเก็บรวบรวมใช้ เปิดเผย ในทางปฏิบัติเราใช้คำรวม ๆ ว่า ‘การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล’ ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าไม่ใช่องค์กรที่กฎหมายยกเว้นให้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับองค์กรเอกชน  เพียงแต่เงื่อนไขการประมวลผลและฐานทางกฎหมายที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ใช้หรือผู้บริโภค มีบทบาทหน้าที่อะไรบ้างที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง?         PDPA เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ คุณหรือผมในฐานะเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นคนที่กฎหมายให้สิทธิ PDPA เป็นกฎหมายที่กำหนดว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง แต่ไม่มีหน้าที่ของเราเลย ตัวกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้ว่าด้วยหน้าที่ของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้กับคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ ซึ่งก็คือผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล คิดง่าย ๆ ก็คือผู้ให้บริการทั้งหลาย ภาคธุรกิจที่เอาข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ทั้งหมดนั่นแหละที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย         หน้าที่ของเขา ผมขอใช้คำหนึ่ง เรียกว่า Responsible Use การใช้ข้อมูลอย่างมีความรับผิดชอบ เขาต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Accountability มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม เช่นมีหน้าที่จัดให้มีมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสม มีหน้าที่ที่ต้องใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่จำกัด และชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการใช้ข้อมูลนอกวัตถุประสงค์ที่เขาแจ้งเราไว้ เป็นต้น           ถามว่าในแง่ของผู้บริโภคเราในฐานะผู้ใช้บริการควรจะมีส่วนร่วมยังไงบ้างในการปกป้องดูแลข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องก็อาจมีความจำเป็น ตัวอย่างเช่นการตั้ง Password การปกป้องตัวเองในโลกออนไลน์ ไม่ให้คนมาเอาข้อมูลของเราไปโดยมิชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่เราดูแลตัวเราเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการหรือคนที่เอาข้อมูลเราไปใช้ไม่มีหน้าที่         การใช้ข้อมูลต้องถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่นเราใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการสามารถใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเราและสัญญาให้บริการติดต่อเรา ส่งใบแจ้งหนี้ ใช้ที่อยู่เรา โทรหาเรา SMS ถึงเรา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา แต่สิ่งที่ทำไม่ได้หรือถ้าจะทำคุณต้องมีขั้นตอนเพิ่มเติม สมมติว่าค่ายมือถือเพิ่มธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ถามว่าเขาจะเอาลูกค้ามาจากไหน ง่ายสุดก็ลูกค้าเดิม มีชื่อ มีนามสกุล มีที่อยู่ มีเบอร์โทรทุกอย่างแล้ว การที่จะเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในกลุ่มสัญญานี้มาใช้กับตลาดใหม่ของเขา จะทำได้ก็ต่อเมื่อขอความยินยอมจากเราใหม่แยกต่างหากจากสัญญาหลัก เพราะนี่คือการเปลี่ยนจากวัตถุประสงค์เดิม ข้อมูลใช้ได้ แลกเปลี่ยนได้ เพียงแต่คุณมีหน้าที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรมกับข้อมูลส่วนบุคคล โปร่งใสคือเอาไปทำอะไรต้องบอก เป็นธรรมแจ้งให้เราทราบด้วย แล้วก็ใช้ภายใต้เงื่อนไขที่เราอนุญาต เวลาผู้บริโภคสมัครใช้แอพลิเคชันของธนาคาร จะมีข้อความยาวๆ ขึ้นมาให้กดยินยอม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้อ่าน แต่ถ้าไม่กดยินยอมก็ใช้แอพฯ ไม่ได้ กฎหมายพูดถึงประเด็นนี้อย่างไรบ้าง         อาจมี 2 เรื่อง เวลาที่เรากดรับความยินยอม กรณี Application ต้องแยกให้ออกว่ามันคือความยินยอมในแง่การเข้าทำสัญญา คือ Terms and Conditions หรือเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ คือเรายินยอมเพื่อเข้าทำสัญญาการใช้ Application นั้น เราเคยได้ยินเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม หรือสัญญาสำเร็จรูป คือ สัญญาที่ผู้ประกอบการเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียว ผู้บริโภคทำได้แค่เซ็นหรือไม่เซ็น อันนั้นมาในรูปของ Terms and Conditions ของสัญญาหรือบางกรณีก็พ่วงมากับการขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลด้วยซึ่งจะกลายเป็นสัญญาพ่วงแบบ Consent ซึ่งหลักการนี้ค่อนข้างมีปัญหาอยู่ ถ้าเป็นฝั่ง GDPR ‘ความยินยอม’ กับ ‘สัญญา’ คุณต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ถ้าเป็นการตกลงให้ความยินยอมเพื่อเข้าทำสัญญา มันไม่ใช่เรื่องความยินยอมในการใช้ข้อมูล มันคือเรื่องสัญญา แต่ถ้าคุณจะขอความยินยอมในการใช้ข้อมูลก็เป็นเรื่องความยินยอมตาม PDPA มันคนละวงเล็บกันตามกฎหมายเลย มันคือคนละฐานในการประมวลผล ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลถูกองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ ซื้อขายต่อ และกลายเป็นปัญหารบกวน ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้บริโภคจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องสิทธิของตน         ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริง ๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         แต่ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน         หรือ ณ ขณะนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าภาคธุรกิจบางส่วนเองก็รับรู้แล้ว แต่ด้วยความที่กฎหมายยังไม่ใช้บังคับทั้งฉบับ ขาดผู้กำกับดูแลที่จะบังคับใช้กฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวและโกยข้อมูล แต่ทันทีที่กฎหมายใช้บังคับเต็มรูปแบบ ทุกองค์กรต้องตอบได้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน ผู้บริโภคมีสิทธิตั้งคำถามกับคนที่โทรมาว่าคุณเอาข้อมูลมาจากไหน อย่างไร และถ้าคุณไม่พอใจให้เขาติดต่อมาอีก ก็บอกว่าขอให้ยุติการประมวลผล หรือขอให้ลบข้อมูลของคุณเสีย นี่เป็นสิทธิของผู้บริโภคเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 เงินใครไม่รู้เข้าบัญชีเราต้องทำยังไง

        ถ้าเงินในบัญชีธนาคารของเรา จู่ๆ ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการด่วน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แล้วในทางกลับกันอยู่ดีๆ มีเงินใครจากที่ไหนไม่รู้มาเข้าบัญชีของเรา เราจะเอาเงินนี้ไปใช้ได้หรือไม่ ก็ลาภลอยเห็นๆ ตรงนี้ขอฝากให้คิด เพราะการนำเงินที่ไม่รู้ที่มานี้ไปใช้อาจนำเรื่องร้ายมาให้ก็เป็นได้         ขณะที่คุณจริงใจกำลังทำงานอย่างมุ่งมั่น ข้อความจากเอสเอ็มเอสแจ้งมาว่า มีเงินถูกโอนเข้ามาให้คุณจริงใจ 5,000 บาท คุณจริงใจก็งงว่า ใครว่ะ เพราะเธอก็ไม่มีใครที่เป็นลูกหนี้หรือใครจะมาหยิบยื่นเงินทองให้ตั้ง 5,000 บาท แต่เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจก็ลองโทรศัพท์ถามคนใกล้ชิดว่ามีใครโอนเงินมาให้หรือไม่ ก็ไม่พบว่ามีใครโอนมาให้ ตอนแรกคิดว่าเออ เอาเงินนี้ไปใช้ดีไหม แต่ไม่ดีกว่าเพราะยังไงก็ไม่ใช่เงินเราและหากมีใครโอนผิดมาเดี๋ยวธนาคารก็คงโทรศัพท์ติดต่อมา แต่รออยู่สามวัน ก็ไม่มีใครติดต่อมา จึงปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ควรดำเนินการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีมีเงินไม่ทราบที่มาเข้ามาอยู่ในบัญชีเรา สิ่งแรกที่ต้องจำไว้คือ อย่านำเงินดังกล่าวไปใช้ และไม่ควรดำเนินธุรกรรมใดๆ กับเงินในบัญชีจนกว่าจะได้เคลียร์ตัวเองก่อน         สิ่งที่เป็นไปได้อย่างแรกในกรณีที่เราไม่รู้ว่ามีเงินเข้ามาในบัญชีของเรา ซึ่งอาจเกิดจากมีคนโอนเงินผิดบัญชีโดยไม่ตั้งใจ ปกติคนที่โอนผิดจะรีบติดต่อกับธนาคารเพื่อขอให้เราคืนเงินให้ ซึ่งคนที่จะติดต่อกลับมาคือพนักงานธนาคารเพื่อแจ้งเรื่องการโอนผิดและนัดหมายให้เรายินยอมให้ทางธนาคารดึงเงินกลับไปยังบัญชีต้นทาง โดยที่เราไม่ต้องโอนเงินเอง และธนาคารจะแจ้งผลการดำเนินการหรือการทำรายการให้เราเก็บไว้เป็นหลักฐาน         อย่างที่สองเช่นกรณีคุณจริงใจ ที่มีเอสเอ็มเอสแจ้งมา คุณจริงใจควรติดต่อกลับไปยังธนาคารเพื่อแจ้งว่ามีเงินที่ไม่ทราบว่าเป็นเงินโอนจากที่ไหนเข้ามาในบัญชีเรา เพื่อขอให้ทางธนาคารช่วยติดต่อประสานงานให้ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันก็ปฏิบัติไปตามคำแนะนำของพนักงาน ซึ่งอาจจะยุ่งยากสักหน่อยเพราะเราต้องเป็นฝ่ายไปติดต่อเรื่องเอง (บางทีคนที่โอนผิดก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองโอนเงินผิด)        ทั้งสองกรณีนี้เราไม่ควรยุ่งกับเงินที่ไม่ใช่ของเรา เพราะหากเจ้าของเงินตามกลับมาแล้วเราไม่คืนให้ อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงได้         มีกรณีที่ควรต้องระวังคือ อาจเป็นการตั้งใจโอนเงินผิดเพื่อให้เราเป็นทางผ่านของเงินที่มีที่มาที่ไปไม่ถูกกฎหมาย เช่น อยู่ๆ ก็มีการติดต่อมาจากบุคคลที่เราไม่รู้จักโดยตรงและบอกให้เราโอนเงินกลับไปให้ ถ้าเรารีบร้อนโอนเงินกลับไป กรณีนี้เราอาจกลายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดร่วมกับพวกมิจฉาชีพได้ ดังนั้นไม่ควรโอนเงินกลับไปเอง ควรดำเนินเรื่องผ่านธนาคาร และควรไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ด้วยเป็นการยืนยันว่าเรามิได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการโอนเงินเข้ามาผิดนี้แต่อย่างใด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 จี้ธนาคารคืนเงินให้ผู้บริโภคทันที

จี้ธนาคารคืนเงินให้ผู้บริโภคทันทีเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตน พร้อมรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมให้ผู้บริโภค หลังผู้บริโภคหลายรายถูกหักเงินจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ- - - - -        จากกรณีที่มีผู้บริโภคจำนวนมากถูกหักเงินหรือถูกเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคาร เนื่องจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตถูกลักลอบใช้โดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงและปฏิเสธ ว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติและจะเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารนั้น        บริการบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ถือเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้กับผู้บริโภคไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคารของผู้บริโภค หรือกรณีที่ผู้บริโภคถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที รวมทั้งกรณีที่ผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือแจ้งว่าบริการที่ถูกหักเงินไปเกิดจากการลักลอบใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทั้งในออนไลน์หรือออฟไลน์อีกด้วย         “ธนาคารไม่ควรอ้างเหตุผลการตรวจสอบเพื่อประวิงเวลาในการคืนเงินให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหักเงินจากบัญชี และต้องรับผิดชอบคืนเงินผู้บริโภคเต็มจำนวนทันที เนื่องจากเป็นหน้าที่ของธนาคารในการดูแลรักษาเงิน นอกจากธนาคารจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังได้”โดยปกติการทำธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง แต่ปัจจุบันธุรกรรมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมากไม่มีการแจ้งยืนยันตัวตนก่อนการสั่งจ่าย จึงอาจเป็นช่องว่างให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้ จึงต้องการให้ ธปท. และสมาคมธนาคารฯ เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนในการโอนเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรณีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินหายไปจากบัญชีจนหมดนั้นอาจจะกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จนสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ธนาคารผู้รับฝากเงินของผู้เสียหายควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแสดงความรับผิดชอบของธนาคารผู้รับฝากเงินเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 กระแสต่างแดน

ต้องมีสักวัน        ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปจะถือเอาวันที่ 23 กันยายนเป็น “วันออกานิก” เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่เลือกแนวทางนี้         รัฐสภายุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป เลือกวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (วันอิควิน็อกซ์ฤดูใบไม้ร่วงหรือวันศารทวิษุวัต) เพื่อสื่อถึง “สมดุล” ระหว่างการทำเกษตรและการรักษาสิ่งแวดล้อม          โปรเจคฟาร์มทูฟอร์ก (Farm2Fork) ของสหภาพยุโรป ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 ร้อยละ 25 ของพื้นที่เกษตรในกลุ่มประเทศสมาชิกจะทำการเกษตรแบบออกานิก         ปัจจุบันออสเตรียล้ำหน้าไปแล้ว ด้วยพื้นที่เกษตรออกานิกร้อยละ 26 ส่วนที่ใกล้เป้าหมายได้แก่ สวีเดนและเอสโตเนีย (ร้อยละ 20) ตามด้วยอิตาลี ลัตเวีย และสาธารณรัฐเชค (ร้อยละ 15)         ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง บัลกาเรีย โรมาเนีย โปแลนด์ มอลต้า เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ยังต้องเร่งมืออีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอร์แลนด์ที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพียงร้อยละ 2  เมื่อวัคซีนมา ฉันจะไป         ปีที่แล้วร้อยละ 90 ของบริษัทประกันในอเมริกา ยกเว้นการร่วมจ่ายสำหรับผู้เอาประกันที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคโควิด-19         ถือเป็นการลดภาระให้กับผู้บริโภคที่อาจต้องจ่ายเองถึง 1,300 เหรียญ (ประมาณ 44,000 บาท) หากอาการไม่รุนแรง หรืออาจมากถึง 50,000 เหรียญ (ประมาณ 1.7 ล้านเหรียญ) กรณีที่ป่วยหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน         แต่หลังจากสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้ บริษัทเหล่านี้จะกลับมาใช้นโยบายร่วมจ่ายเหมือนเดิม เนื่องจากอเมริกามีการจัดฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างทั่วถึง ทำให้ทุกคนมีโอกาสที่จะป้องกันตัวเองจากการป่วยหนัก         เรื่องนี้อาจเป็นสิ่งจูงใจให้คนที่ยังลังเล “ไม่อยากเสี่ยง” หรือไม่ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ยอมไปรับวัคซีนกันมากขึ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักหากได้รับเชื้อ รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายสูงลิ่วที่ตามมาด้วย ไม่มีสิทธิเก็บ         ลูกหนี้เงินกู้ซื้อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวน 150,000 คนในนิวซีแลนด์รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม ขอให้ธนาคาร ASB และ ANZ คืนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บไป         ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมได้ หากไม่ได้ชี้แจงข้อตกลงและเงื่อนไขให้ผู้บริโภคทราบ         ก่อนหน้านี้ทั้งสองธนาคารได้ทำข้อตกลงยอมรับผิดกับคณะกรรมการการค้า ในข้อหาไม่ให้ข้อมูลกับผู้บริโภค โดย ANZ ตกลงจ่ายค่าปรับ 35 ล้านเหรียญ (ประมาณ 847 ล้านบาท) สำหรับความผิดระหว่าง 30 พฤษภาคม 2015 ถึง 25 พฤษภาคม  2016 ในขณะที่ ASB ตกลงจ่าย 8.1 ล้านเหรียญ (ประมาณ 189 ล้านบาท) สำหรับความผิดระหว่าง 6 มิถุนายน 2015 ถึง 18 มิถุนายน 2019         อย่างไรก็ตาม ทนายความที่ทำคดีนี้กล่าวว่าผู้บริโภคยังมีสิทธิตามกฎหมายสัญญาเงินกู้และสินเชื่อผู้บริโภค ที่จะเรียกร้องขอเงินที่ธนาคารเก็บเป็นค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยในช่วงดังกล่าว รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญคืนด้วย  นิสัยใหม่         ข้อมูลการใช้เงินของผู้คนในเมืองซิดนีย์และเมลเบิร์นของออสเตรเลีย ระบุว่าสิ่งที่คนเหล่านี้ “เปย์” หนักขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงล็อกดาวน์ปีนี้คือการพนันออนไลน์         การตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินรายสัปดาห์โดยบริษัท Accenture และ illion  พบว่าปีนี้การเล่นพนันออนไลน์เพิ่มขึ้นจากระดับปกติร้อยละ 329 มากกว่าปีที่แล้วที่ร้อยละ 215 ทั้งนี้เพราะการพนันยุคนี้กลายเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้มือ รวมกับการที่ผู้คนอยู่บ้านนานจนเบื่อ แถมยังมีเงินเหลือใช้เพราะไม่ได้ไปเที่ยว         อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวมองว่าการใช้จ่ายดังกล่าวยังอยู่ในระดับของความบันเทิงที่หาได้ง่ายในช่วงล็อกดาวน์ แต่จะถึงขั้นเสพติดจนน่าวิตกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป          การสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวรี่ปีนี้เพิ่มขึ้นจากปกติถึงร้อยละ 203 เช่นกัน (จากสถิติร้อยละ 132 ในช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว) สินค้าอีกสองประเภทที่ผู้คนสองเมืองนี้นิยมซื้อมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง      สะอาดพอไหม        ในวิดีโอแนะนำ “ปารีสโอลิมปิก 2024” ฝรั่งเศสได้เปิดเผยต่อชาวโลกว่าจะจัดแข่งขันไตรกรีฑาในส่วนของการว่ายน้ำ ในแม่น้ำแซนบริเวณใต้สะพานเจน่า (Pont d’ lena) โดยมีฉากหลังเป็นหอไอเฟิล ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า แม่น้ำแซนสะอาดพอที่จะลงว่ายได้แล้วหรือ         ประชากรกว่าร้อยละ 30 ของประเทศตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำแซน ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลัก 4 สายของฝรั่งเศส จึงเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาลที่จะทำให้แม่น้ำนี้ใสสะอาดปราศจากมลพิษ         ปริมาณแบคทีเรียในแม่น้ำอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ไม่เป็นปัญหา ที่ต้องแก้ไขคือการปนเปื้อนของสารเคมีการเกษตร โดยเฉพาะไนเตรต ขณะเดียวกันยังมีเศษพลาสติกปะปนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณปากแม่น้ำ เนื่องจาก 2 ใน 5 ของโรงงานผลิตพลาสติกรายใหญ่ของประเทศตั้งอยู่บนแม่น้ำสายนี้         แต่อาเธอร์ เจอร์เมน (ลูกชายของแอนน์ ฮิลกาโก นายกเทศมนตรีเมืองปารีส) ที่ลงว่ายในแม่น้ำแซนเป็นระยะทางรวม 800 เมตร โดยใช้เวลารวม 50 วัน พร้อมอุปกรณ์ทดสอบคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ บอกว่าตัวเขาไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ไม่เป็นสิวและไม่ปวดท้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 การปิดหนี้บัตรเครดิตที่เหมือนโดนเอาเปรียบ

        คุณสาวน้อยเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง  จำนวนเงินประมาณ 75,000 บาท เพราะเธอมีปัญหาเรื่องการเงินจึงไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ในเวลาที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามต่อมาเธอพอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอตัดหนี้ปิดบัญชี โดยเธอได้ต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมา ต่อรองไปต่อรองมาธนาคารตกลงให้เธอปิดหนี้กับธนาคารด้วยยอดเงินจำนวน 50,000 บาท หลังจากนั้นธนาคารได้ส่งใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาตามที่เธอต่อรองไว้มาให้เธอเรียบร้อย แต่...หลังจากนั้นไม่นานเรื่องกลับไม่เรียบร้อย เพราะเธอได้รับเอกสารคำฟ้องจากศาล คุณสาวน้อยจึงไม่รู้ว่าเธอควรดำเนินการอย่างไรดี จึงขอคำปรึกษา         แนวทางในการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เมื่อผู้ร้องได้ใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสามารถไปโอนเงินให้กับธนาคารตามข้อตกลงได้ทันที โดยผู้ร้องจะต้องไปโอนเงินที่ธนาคาร ห้ามโอนเข้าไปในบัญชีของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากจะไม่มีหลักฐาน         การโอนที่ธนาคารจะมีใบเสร็จหรือสลิปการโอนเงินหรือเปย์อิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน ย้ำต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ร้องต้องโทรแจ้งเจ้าหนี้ หรือธนาคารให้ทราบว่า ผู้ร้องได้โอนเงินตามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ร้องโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะเป็นศูนย์หรือบรรลุตามข้อตกลงแล้ว         หลังจากนั้นผู้ร้องต้องร้องขอให้ธนาคารส่ง ใบปิดบัญชี ของผู้ร้องมาไว้เป็นหลังฐานยืนยันว่า ได้รับเงินและได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว (ส่วนเอกสารใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาแล้ว ซึ่งธนาคารส่งมาให้ในตอนแรกนั้น ยังไม่ใช่ใบปิดบัญชี ใบลดหนี้เป็นเพียงแต่หลักฐานที่แสดงว่าทางเจ้าหนี้ได้ลดหนี้ให้กับผู้ร้องเท่านั้น)         เมื่อชำระหนี้ตามสัญญากับเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้ร้องต้องให้เจ้าหนี้ถอนฟ้องจากศาล เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องจะค้างอยู่ที่ศาล โดยนัดกันไปที่ศาลและทำคำร้องเพื่อขอถอนฟ้อง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องให้เจ้าหนี้ไปด้วยในฐานะผู้ฟ้อง (โจทก์)  ผู้ร้องจะไปขอถอนคนเดียวไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 241 ถูกหลอกให้กรอก OTP ผ่านลิงค์ธนาคารปลอม เงินหาย 88,000

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์กันทั้งนั้น เพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่เรื่องความปลอดภัยนั้นต้องระมัดระวังให้มาก เพราะแม้จะมี OTP ( One Time Password) หรือชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียวที่ระบบของผู้ให้บริการแต่ละแห่งสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย โดยที่ระบบจะส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ เพื่อใช้ตรวจสอบและยืนยันการเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง ก่อนจะเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนได้แล้วก็ตาม แต่ความพยายามของเหล่าแฮ็กเกอร์ที่จะล่อลวงล้วงเงินออกจากบัญชีธนาคารของเหยื่อโดยใช้รหัส OTP นี้ก็ยังมีปรากฏให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ          วิรัตน์เองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อ เขาได้รับอีเมลที่เหมือนกับส่งมาจากธนาคารกรุงไทย แจ้งให้เขาเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านโดยกดในลิงค์ที่แนบมา เขาจึงทำตาม หน้าจอปรากฏให้ใส่เลข OTP และข้อความว่าอย่าเปิดเผยรหัสนี้กับบุคคลอื่นเพื่อความปลอดภัย ในจังหวะต่อเนื่องกันเขาก็ได้รับเลข OTP ทางข้อความจากเบอร์โทรศัพท์ที่ธนาคารกรุงไทยเคยส่งมาปกติ จึงไม่ได้เอะใจอะไร แต่พอใส่ตัวเลข OTP เข้าไปในลิงค์ แล้วจู่ๆ หน้าลิงค์ก็หายไป เขารู้ทันทีว่าต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ         วิรัตน์รีบเข้าไปตรวจสอบบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร แล้วก็จริงดังคาด บัญชีของเขาถูกแฮ็ก! เงินหายไป 88,000 บาท เขาบึ่งไปแจ้งความที่สถานีตำรวจจรเข้น้อยในบ่ายวันนั้นเลย ซึ่งตำรวจสืบได้ว่าเงินของเขาถูกโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง จากนั้นปลายทางใช้เอทีเอ็มกดเงินออกไปที่ต่างประเทศในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก         เหตุการณ์ผ่านไปเกือบเดือน ตำรวจสืบจนเจอตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีที่เงินถูกโอนเข้าไป สมมติว่าชื่อนางดวงใจ ตำรวจจึงแจ้งให้วิรัตน์ไปพบ โดยนางดวงใจได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ที่สถานีตำรวจว่าจะใช้เงินคืนให้ทั้งหมด แต่วิรัตน์ยังกังวลว่าจะได้เงินคืนจริงหรือเปล่า เขาจึงได้มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเหตุการณ์นี้ วิรัตน์ทำถูกต้องแล้วที่รีบไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานและติดตามหามิจฉาชีพได้ ในส่วนของธนาคารกรุงไทยนั้น ตอนแรกวิรัตน์โทรศัพท์แจ้งไปที่คอลเซ็นเตอร์แต่ก็เงียบหาย ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบเรื่องนี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารได้แจ้งวิรัตน์ว่าจะดำเนินการเยียวยาให้ ต่อมาทราบว่าวิรัตน์ได้รับเงินคืนจากนางดวงใจ 88,000 บาทครบตามจำนวนแล้ว         อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนออกมาอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ไม่มีธนาคารไหนที่จะติดต่อไปให้ลูกค้าอัปเดตข้อมูลส่วนตัวในทุกช่องทางการสื่อสาร แล้วถ้าคุณไม่ได้กำลังทำธุรกรรมออนไลน์กับธนาคารอยู่ในขณะนั้น ธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นต้องส่ง OTP ไปให้ ดังนั้นหากใครเจอกรณีเช่นเดียวกันนี้แสดงว่ากำลังมีคนพยายามแฮกเข้าบัญชีธนาคารของคุณอยู่ จึงหาสารพัดวิธีลวงให้คุณเข้าไปอัปเดตข้อมูลส่วนตัว แล้วหลอกขอรหัส OTP ไป เพื่อจะขโมยเงินของคุณนั่นเอง ดังนั้นทุกครั้งที่คุณทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ต้องรอบคอบ และหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ธนาคารหักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด

        หลายคนเคยเป็นหนี้บัตรเครดิต การชำระคืนอาจจะจ่ายขั้นต่ำบ้าง จ่ายมากกว่าขั้นต่ำบ้าง จ่ายเต็มจำนวนบ้างซึ่งแล้วแต่สถานการณ์การเงินช่วงนั้น แต่กรณีไม่จ่ายเต็มแน่นอนว่าต้องเสียดอกเบี้ยไปตามระยะเวลาและเงื่อนไขของบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามบางครั้งเกิดกรณีรู้สึกว่า ทำไมธนาคารเอาเปรียบเราแบบไม่มีเหตุผล การขัดขืนและใช้สิทธิเพื่อต่อสู้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ         ภูผา นำสมุดบัญชีธนาคารของตนเองไปปรับยอดบัญชีทุกเดือน แต่ล่าสุดเมื่อเขานำสมุดไปปรับยอดแล้วพบว่าเงินหายจากบัญชีไปประมาณ 4,000 บาท เขาจึงรีบไปสอบถามธนาคารว่า เงินเขาหายไปไหน 4,000 บาท ทั้งที่เขาไม่ได้เบิกเงิน ธนาคารบอกว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ประมาณ 40,000 บาท ธนาคารจึงหักเงินฝากของเขาชำระหนี้ของธนาคาร เขาไม่แน่ใจว่าธนาคารสามารถหักเงินในบัญชีของเขาได้จริงเหรอ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีของคุณภูผา เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้เขาทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามไปยังธนาคารว่าเงินในบัญชีหายไปไหน เมื่อธนาคารตอบกลับมาเป็นหนังสือจึงทำให้ทราบว่า ปัจจุบันหนี้ของคุณภูผาถึงกำหนดชำระแล้ว ธนาคารจึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายและข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรเพื่อใช้หักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝากของเขา จำนวนเงิน 4,000 บาท (สงสัยกันใช่ไหมว่า ข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรเพื่อใช้หักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝาก เราไปตกลงกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเราได้เซ็นเอกสารการขอใช้บริการบัตรเครดิต ข้อตกลงพวกนี้จะแทรกอยู่ในเอกสารต่างๆ ที่ธนาคารส่งให้เราเซ็นลายมือชื่อ)         คุณภูผาให้ข้อมูลว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตประมาณ 40,000 บาทจริง แต่เป็นปัญหาที่ยังค้างคากันในชั้นศาล เนื่องจากตอนที่เขาใช้บัตรเครดิตนั้น เขาจ่ายเงินชำระหนี้แบบมากกว่าขั้นต่ำแต่ไม่เต็มจำนวน และในช่วงเวลาที่บัตรเครดิตของเขาใกล้หมดอายุ ธนาคารไม่ได้ส่งบัตรใหม่มาให้ แต่มีพนักงานธนาคารโทรศัพท์มาบอกให้ชำระหนี้ทั้งหมดแทน  เขารู้สึกเหมือนว่าธนาคารไม่ไว้ใจให้เขาใช้บัตรเครดิตของธนาคารอีกหรือไม่ จึงไม่ส่งบัตรใหม่ให้และเรียกให้คืนเงินทั้งหมด เมื่อลองเจรจาว่าขอผ่อนชำระอย่างเดิมได้ไหม พนักงานบอกเขาว่าไม่สามารถผ่อนได้ต้องชำระเต็มจำนวนเท่านั้น เขาจึงกลายเป็นลูกหนี้ของธนาคาร ทั้งที่เขาก็สามารถผ่อนจ่ายบัตรเครดิตตรงงวดมาโดยตลอดไม่ใช่ว่าไม่เคยจ่ายจนเสียเครดิต  ตรงนี้เขาก็ไม่เข้าใจธนาคารเหมือนกันว่า ทำไมถึงทำกับเขาแบบนี้        จากนั้นเมื่อเขาได้สอบถามถึงเรื่องคะแนนสะสมในบัตรเครดิต ซึ่งบัตรนี้มีคะแนนอยู่ในบัตร 10,000 กว่าคะแนน ธนาคารตัดบัตรเขาอย่างนี้แล้วคะแนนในบัตรที่เขาสะสมไว้จะทำอย่างไร ส่วนนี้ธนาคารไม่มีคำตอบให้กับเขา เขาจึงไม่ต้องการจ่ายเงินให้ธนาคารจนกว่าจะได้คำตอบ เมื่อธนาคารทวงถามหนี้อยู่เรื่อยๆ และยืนยันว่าต้องชำระเต็มจำนวนไม่เช่นนั้นธนาคารจะฟ้องร้องดำเนินคดี เขาก็ตัดสินใจว่าคงต้องใช้วิธีสู้กันในศาล สุดท้ายจึงเป็นคดีกันในท้ายที่สุด         ณ เวลานั้น คุณภูผาไปขึ้นศาลต่อสู้คดีตามกฎหมาย ในชั้นศาล ทนายของธนาคารซึ่งเป็นทั้งทนายและผู้รับมอบอำนาจช่วงของธนาคาร ได้เจรจาและทำข้อตกลงกับคุณภูผาว่า ให้เขาชำระหนี้จำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยภายในเดือนนี้(เดือนที่มีการเจรจากันในชั้นศาล) ถ้าชำระเรียบร้อยนัดหน้าทนายจะมาถอนฟ้อง ซึ่งศาลก็บันทึกในรายการกระบวนพิจารณาคดีพร้อมลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและนัดหมายครั้งถัดไป หลังกลับจากศาลเขาก็นำเงินไปชำระกับธนาคารตามข้อตกลงแต่พนักงานธนาคารบอกว่า เขาไม่สามารถชำระได้ต้องชำระยอดเต็มเท่านั้น(ยอดเต็มคือ 40,000 บาท) เขาพยายามอธิบายว่าเขาได้ไปขึ้นศาลและตกลงกับผู้รับมอบอำนาจของธนาคารแล้ว แต่ธนาคารก็ยืนยันว่ารับชำระหนี้ยอด 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ตามที่ตกลงกับผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ ต้องชำระตามยอดเต็มตามฟ้องเท่านั้น         คุณภูผาได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายว่า ให้นำเงินที่ต้องชำระ(ตามข้อตกลง) จำนวน 21,000 บาทไปทำเรื่องขอวางเงินไว้ที่ศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ต่อมาเมื่อถึงวันที่ศาลนัดหมาย คุณภูผาถามทนายซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารว่า เขาไปชำระหนี้ตามที่ตกลงกันแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ ทนายความกลับบอกเขาว่า ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ จะขอนำเรื่องลดยอดหนี้ไปปรึกษากับธนาคารว่าจะลดให้เขาได้มากน้อยเพียงใด เขาก็สงสัยว่าในเมื่อทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจก็ต้องถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารแล้ว เมื่อผู้รับมอบอำนาจทำข้อตกลงก็ต้องผูกพันถึงธนาคารด้วยในฐานะตัวแทน ทำไมมาให้เหตุผลย้อนแย้งอีก หลังจากนั้นก็มีการนัดมาศาลอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทนายความยืนยันให้เขาชำระเงินตามยอดที่ฟ้องมาให้ได้ สุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ภูผาชำระหนี้จำนวน 40,000 กว่าบาท ตามที่ธนาคารฟ้องมา คุณภูผาก็งงไปว่า การตกลงของเขากับทนายความที่รับมอบอำนาจและศาลก็บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งทั้งเขาและทนายก็เซ็นชื่อยอมรับข้อตกลงนี้ด้วยแล้ว ทำไมศาลถึงพิพากษาให้เขาต้องชำระหนี้จำนวนเต็มตามที่ฟ้องอีก         เมื่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นออกมาแบบนั้น คุณภูผาก็ขอสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์เพื่อให้คลายสงสัยว่า ข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานไม่สามารถใช้บังคับได้จริงหรือ        แต่ในขณะที่รอคำตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์ธนาคารกลับมาหักเงินจากบัญชีของเขาไปก่อน ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงทำหนังสือให้ธนาคารยุติการหักเงินและคืนเงินให้แก่คุณภูผาก่อน เพราะถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด         ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้เพียง 21,000 บาท ตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณา เพราะถือว่าข้อตกลงในรายการกระบวนพิจารณาเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันตามกฎหมาย         ดังนั้นแล้ว ธนาคารจะใช้สิทธิในการหักเงินจากบัญชีธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้หนี้จำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยไม่ได้ ธนาคารต้องรับยอดหนี้ที่คุณภูผาฝากไว้ที่ศาล 21,000 บาทไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิทราบว่า ธนาคารได้จัดการคืนเงินที่หักจากบัญชีธนาคารคืนกลับให้แก่คุณภูผาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฏาคม 2563

5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยใบหน้าสำเร็จ        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียว 5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำเร็จ จากทดสอบทั้งหมด 14 ราย พร้อมออกหลักเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ให้บริการทางการเงิน         นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และซีไอเอ็มบี ไทย ได้ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ภายหลังจากธปท.ได้เปิดทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคาร บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติในการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้บริการเป็นวงกว้าง         “จากการทดสอบเราจะดูความแม่นยำของการยืนยันตัวตน ซึ่งในการทดสอบประมาณ 99.50% สามารถยืนยันได้แม่นยำ และอีก 0.50% อาจจะมีเรื่องของแสงของภาพอาจมืดไป หรือใบหน้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ประชาชนไปอัพเดตข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อจะได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น”         ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง  คาดธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเติบโตขึ้นรับยุคนิวนอร์มัล        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ อาจมีธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปลูกที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึง COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของคนเมือง         โดยทำเลที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัยหรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจและพร้อมเต็มใจจ่ายกับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร ส่วนในระยะต่อไปกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โรงเรียนสังกัดกทม.ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ขนมกรุบ ลดภาวะฟันผุในเด็ก         นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. เปิดเผยว่า จากการสำรวจนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับสุขภาพทางช่องปาก พบเด็กนักเรียนมีฟันผุในระยะเป็นรูถึงร้อยละ 50 เฉลี่ย 1-2 ซี่/คน ดังนั้นสำนักการศึกษา กทม. จึงวางแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียนสังกัด กทม. ในเรื่องการจำหน่ายอาหารว่าง เครื่องดื่มในโรงเรียน โดยห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด อาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาดมีโภชนาการต่ำและไม่ปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาหารจะต้องมีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สะอาดและปลอยภัยแก่นักเรียน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการจำหน่ายอาหารแก่บุคลากรและร้านค้าทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน ตลอดจนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ อบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมให้คำแนะนำนักเรียนหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน เครือข่ายผู้ป่วยยื่นคัดค้าน ประกาศแพทยสภา 10 หน้าที่อันพึงปฏิบัติ        ตามที่แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยได้กำหนดหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไว้ 10 ข้อ และมีผลในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น         8 กรกฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ (Healthy Forum) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ยกเลิกประกาศแพทยสภา เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เนื่องจากพบว่า การออกประกาศดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศฯ นั้นไม่ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการออกคำสั่งให้ผู้ป่วยหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย          ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยในหลายข้อ มีประเด็นปัญหาที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สะท้อนทัศนคติทางการแพทย์ที่คับแคบ มองว่าประชาชนไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร และปัญหาสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น           นอกจากนี้กระบวนการในการจัดทำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยนี้นั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเอง  ภาครัฐและประชาชนร่วมใจพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล        กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลด้านยา (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบวิชาชีพและสถานบริการสุขภาพ (กลางน้ำ) และ ประชาชน ครอบครัวและชุมชน (ปลายน้ำ) ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ วัคซีน ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้เพื่อการรักษา ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ และยาสำหรับสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งหมายใช้เป็นยา         คนไทยทุกคนสามารถมาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ (new normal) เพื่อ ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือเรียกว่า “Rational Drug Use country” ได้โดยยึดหลักว่าความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ซึ่งมีสมุทัยคือสาเหตุของการเกิดโรค การแก้ไขต้องเริ่มจากเหตุเพื่อนำไปสู่ความสุขทั้งกายและใจ เริ่มจากการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อไม่นำโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคไต ตลอดจนโรคจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด มาสู่ตน รวมไปถึงการนำบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวไปรับวัคซีนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด การกระทำเช่นนี้จะลดโอกาสป่วย ลดความจำเป็นในการใช้ยาลงได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องทำความรู้จักกับยาที่ได้รับและตั้งใจที่จะใช้ยานั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ไม่หยุดยาเอง ไม่เลือกกินหรือไม่กินยาบางชนิด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้หรือไม่ประสงค์จะใช้ยาต่อต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >