ฉบับที่ 149 กรณีพิพาท ลักไก่...แอบต่อท่อระบายน้ำ

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็คือ  นายเขมไชยและบริษัทเค. อาร์. แอสเซ็ทส์ จำกัด เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 93428 และ 93933  ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองแปลงนี้ เป็นทางภาระจำยอม แก่ที่ดินของคนในหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ โดยบริษัท สาดีเวล๊อปเมนต์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด  เป็นผู้จัดสรรที่ดินและจัดให้มีทางพิพาทเป็นภาระจำยอมเพื่อเป็นทางเข้าออกระหว่างหมู่บ้านกับถนนพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ  จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดข้างต้นซึ่งอยู่ติดกับทางพิพาท จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารบนที่ดินทั้งสองแปลงนี้โดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการก่อสร้างอาคารได้มีการต่อท่อระบายน้ำจากอาคารเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำเดิมของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิติ้ซึ่งฝังอยู่ใต้ทางพิพาท  และมีการรื้อรั้วลวดหนาม ต้นไม้ และทางเท้าบนทางพิพาทเพื่อเปิดเป็นช่องทางเข้าออกระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับทางพิพาท   โจทก์ทั้งเจ็ดสิบ(ลูกบ้านในหมู่บ้านการ์เด้นซิตี้)ไม่ยินยอม   จึงมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากบริเวณถนนทางเท้าและท่อระบายน้ำอันเป็นภาระจำยอมของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบให้จำเลยทั้งสี่ทำถนนทางเท้า ท่อระบายน้ำ ต้นไม้ และลวดหนามกลับสู่สภาพเรียบร้อยดังเดิม ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งเจ็ดสิบฎีกา  มาดูกันซิว่าศาลฎีกาจะว่าอย่างไร  ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2942/2555 วินิจฉัยว่า ภาระจำยอมอันเป็นประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบที่มีเหนือที่ดินพิพาทเป็นประเภทเดียวกับภาระจำยอมอันเป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ที่มีเหนือที่ดินพิพาท กล่าวคือ ประโยชน์ที่ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ  แต่ผู้ใช้ทางพิพาทแต่ละคนก็ไม่อาจใช้สิทธิให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้ทางพิพาทร่วมกันนั้นได้ การที่โจทก์ทั้งเจ็ดสิบไม่อาจใช้ทางเท้าบริเวณที่มีการทำทางเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับทางพิพาทนั้น  ก็เป็นการสูญเสียทางเท้าเพียงบางส่วนเป็นระยะทาง 7 เมตร เท่านั้นยังสามารถใช้ทางเท้าส่วนใหญ่ที่เหลือนั้นได้  จึงไม่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมของโจทก์ทั้งเจ็ดสิบที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทลดไปหรือเสื่อมความสะดวก  การรื้อทางเท้าเพื่อทำทางเชื่อมระหว่างที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับทางพิพาทนั้น จึงไม่เป็นการกระทำโดยละเมิด  แต่การสร้างท่อระบายน้ำใต้ทางพิพาท  โดยการต่อท่อระบายน้ำจากอาคารบนที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งเจ็ดสิบและผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านก่อน แม้ทางพิพาทดังกล่าวจะตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ทำให้ท่อระบายน้ำที่อยู่ในทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปด้วย เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดสิบและผู้ที่อาศัยในหมู่บ้านไม่ยินยอม  การต่อท่อระบายน้ำดังกล่าวเข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านจึงเป็นการกระทำโดยละเมิด พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยุ่งเกี่ยวกับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ที่อยู่ในทางพิพาท  ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรื้อท่อระบายน้ำที่จำเลยที่ 1 ทำเชื่อมต่อเข้ากับท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้ และทำให้ท่อระบายน้ำของหมู่บ้านปิ่นเกล้าการ์เด้นซิตี้กลับคืนสู่สภาพเรียบร้อยดังเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งเจ็ดสิบ ---------- ภาระจำยอมคืออะไร  ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิประเภทหนึ่งที่ตัดทอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น  อันทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนอำนาจกรรมสิทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น  

อ่านเพิ่มเติม >