ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >