ฉบับที่ 263 หลอกลงทุนทิพย์ แต่หมดตัวจริง

        บ่อยครั้ง ที่เราได้ยินได้ฟังข่าวเกี่ยวกับการจับกุมบรรดาพ่อข่ายแม่ข่ายชวนลงทุนแล้วเชิดเงินหนี และมีคนเสียหายหลายสิบล้าน จากเดิมที่ชวนลงทุนในสินค้าขายปลีก ก็มาสู่การลงทุนผ่านออนไลน์ แม้ช่องทางหรือสินค้าที่นำมาหลอกให้ลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจแต่รูปแบบการหลอกลวงก็ยังเหมือนเดิม คือหลอกให้ร่วมทำธุรกิจ อ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ความจริงเน้นหาสมาชิกและนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า จนเมื่อหมุนเงินไม่ไหวก็จะพังลง และจะหนีหายไปทิ้งไว้แต่หนี้สินให้เป็นของดูต่างหน้า ลักษณะเช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรง เพราะในการกระทำความผิดในแต่ละครั้งเกิดความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งล่าสุดที่กำลังเป็นข่าวช่วงต้นปี 2566 คือกรณี น.ส.พิชญ์นรี ตันติวิทย์ หรือ ‘เม พรีมายา’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ชื่อแบรนด์ PRIMAYA (พรีมายา) และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ลักษณะเชิญชวนอ้างว่าลงทุน 6,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้เงิน 15 ล้านบาท พร้อมโพสต์ภาพหญิงคนหนึ่งคู่กับรถหรูในโชว์รูม ในลักษณะเชิญชวน ซึ่งต่อมาโดนหมายจับ พ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งการหลอกลวงเช่นนี้ เกิดขึ้นตลอด         หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2560 หลายคนคงรู้จัก “ซินแสโชกุน” อายุเพียง 34 ปี ร่วมกับพวก หลอกให้ร่วมลงทุนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองจะพาสมาชิกไปทัวร์ญี่ปุ่น สุดท้ายลอยแพกลางสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีคนถูกหลอกกว่าแปดร้อยราย ความเสียหายมากกว่าร้อยล้านบาท ท้ายที่สุดศาลก็สั่งจำคุกซินแสโชกุนกับพวก เนื่องจากมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 3 ปี 4 เดือน โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง จึงจำคุก คนละ 2,903 ปี 4 เดือน ส่วนโชกุนโดนจำคุก 4,355 ปี  แต่เมื่อรวมโทษจำคุกตามกฎหมายแล้ว จำคุกสูงสุดคนละ 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรืออีกคดีกรณี “เมจิกสกิน”   เป็นคดีรีวิวเครื่องสำอางเมจิกสกินและจำหน่ายสินค้าปลอม มีการฟ้องในฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.บ เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ศาลตัดสินปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 175,000 บาท  จำเลยที่ 2 และ 3 จำคุกคนละ 20 ปี 5 เดือน และปรับ 170,500 บาท จำเลยที่ 4 -6 จำคุกคนละ 20 ปี และปรับ 147,500 บาท         ช่วงปี 2561 นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อายุ 80 ปี อดีตประธานกก.ดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ฯ ลงทุนแชร์ล็อตเตอรี่ สูญเงินกว่า 187 ล้านบาท จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงลงโทษฐานการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทหนักสุดให้ลงโทษ ทุกกรรมกรรมละ 5 ปี จำเลยรับสารภาพลงโทษเหลือกรรมละ 2 ปี 6 เดือน การกระทำจำเลยเป็นความผิด 100 ครั้ง คงลงโทษจำคุกจำเลย ทั้งหมด 200 ปี 600 เดือน เเต่ตามกฎหมายคงจำคุกจริงมีกำหนด 20 ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)         หรือเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีมหากาพย์คดี Forex-3D  ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 พัวพันกับบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก หลอกให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) มีผู้หลงเชื่อตกเป็นผู้เสียหาย 9,824 คน ความเสียหายเกือบ 2,500 ล้านบาท ซึ่งคดีก็ยังอยู่ในขั้นตอนของหน่วยงานรัฐที่สอบสวนเพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ           ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อยากให้ทุกท่านได้เห็นว่า ความเสียหายจากการหลอกลวงไม่ว่าจะมาในลักษณะชวนลงทุนโดยใช้ข้อความชวนเชื่อจูงใจให้ลงทุนน้อยๆ อ้างได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว หรืออาศัยคนมีชื่อเสียงเพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือก็ตาม เมื่อหลงเชื่อไปแล้ว สุดท้ายเกิดความเสียหายกับคนจำนวนมากที่โดนหลอกเงิน การดำเนินคดีก็มุ่งไปที่การลงโทษผู้กระทำผิดที่ฉ้อโกงหลอกลวงให้ติดคุก ซึ่งเราก็เห็นจากตัวอย่างคดีต่างๆ ที่กล่าวมาว่า ต่อให้ศาลมีกำหนดโทษจำคุกมากถึงร้อยปีพันปี แต่สุดท้ายกฎหมายอาญาก็ให้ลงโทษจำคุกจริงสูงสุดเพียง 20 ปี  เพียงเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งการชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนที่ถูกหลอก กลับไม่เป็นจริง โอกาสที่จะไปติดตามเส้นทางการเงินหรือหาเงินมาชดเชยความเสียหายเป็นไปได้ยาก         ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือ การมีสติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะลงทุนใดๆ และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีลักษณะชวนเชื่อที่อ้างการใช้เงินลงทุนน้อยๆ แต่ได้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือกิจการที่ชอบโชว์ชีวิตแบบหรูหรา ใช้ของแพง เที่ยวต่างประเทศ เหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงวิธีการให้หลงเชื่อเพื่อหลอกเอาเงิน หากเจอการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบดังกล่าว ควรร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐหรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อช่วยตรวจสอบ แจ้งเตือนภัย เพื่อไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อภัยลงทุนทิพย์เหล่านี้ ประมวลกฎหมายอาญา         มาตรา 91  เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้         (1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี         (2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี         (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ่านเพิ่มเติม >