ฉบับที่ 216 จดหมายถึงบอกอ

เคยอ่านเจอในเพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่อื่นๆ ว่า ทิชชูเปียกไม่สามารถย่อยสลายได้จริงหรือไม่คะ จะรอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้นะคะ ตุ๊กตา  ตอบ            ขอบคุณท่านสมาชิกที่ติดตามอ่านฉลาดซื้อนะคะ เรื่องทิชชูเปียกเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ เราควรเลือกใช้เท่าที่จำเป็น หากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ควรเก็บใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ  แล้วนำกลับมาฝังกลบที่บ้านหากสามารถทำได้นะคะ  เพราะทิชชูเปียกไม่ใช่วัสดุที่จะย่อยสลายอย่างรวดเร็ว เพราะมันมีส่วนประกอบของเส้นใยพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ เมื่อมันถูกทิ้งลงก้นทะเล มันจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่สัตว์ทะเลเลือกกินและเป็นอันตรายไม่ต่างจากถุงพลาสติก        จากการศึกษาของวอเตอร์ ยูเค (Water UK) องค์การที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำและน้ำเสียในอังกฤษ พบว่า ทิชชูเปียก เป็นสาเหตุหลักถึงร้อยละ 93 ที่ทำให้ท่อน้ำในอังกฤษอุดตัน ซึ่งปัญหาท่ออุดตันนี้ทำให้อังกฤษต้องใช้จ่ายงบประมาณราวปีละ 100 ล้านปอนด์ หรือ 4,355 ล้านบาท โดยเมื่อเดือนเมษายนปี 2561 ที่ผ่านมา ทางการอังกฤษพบทิชชูเปียก 5,453 แผ่นในพื้นที่ 116 ตารางเมตรของแม่น้ำเทมส์ คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ทิชชูเปียกทุกประเภททั่วโลก จะมียอดขายสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 641,000 ล้านบาท ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ฉลาดซื้อจะนำมาฝากต่อไปค่ะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 “ทิชชู่เปียก” เลือกใช้เท่าที่จำเป็น

ปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายหลากหลายประเภท ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันชนิดหนึ่งก็คือ ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย” หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “ทิชชู่เปียก” (Wipes) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอเนกประสงค์ ใช้เช็ดทำความสะอาดได้ทั้งผิวกาย ผิวหน้า ใช้ลบรอยเครื่องสำอาง บางชนิดบางยี่ห้อก็สามารถนำไปทำความสะอาดผิวกายของทารกได้ด้วย หตุผลที่ผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย หรือ ทิชชู่เปียก ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน น่าจะมาจากความรู้สึกของผู้ใช้ที่รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้สามารถทำความสะอาดได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่าจะใช้แค่กระดาษชำระธรรมดา ทั้งนี้เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ มีส่วนประกอบหลักคือ “น้ำ” ทำให้เวลาที่เช็ดทำความสะอาดนอกจากคราบสกปรกจะถูกเช็ดออกได้หมดจดมากกว่าแล้ว ยังทำให้ผิวของผู้ใช้รู้สึกถึงความชุ่มชื่น นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว สารฆ่าเชื้อโรค สารที่ช่วยบำรุงผิว จึงอาจทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและนิยมมากกว่ากระดาษทิชชู่แต่การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะส่วนใหญ่มักมีส่วนประกอบของสารเคมีในกลุ่มของสารที่ใช้ฆ่าเชื้อ (กลุ่ม Antiseptics หรือสารเคมีที่ใช้ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่อยู่ภายนอกร่างกายสิ่งมีชีวิต ไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ) แม้ว่าจะเป็นสารที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้เพราะผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่เป็นอันตราย แต่ผิวของแต่ละคนไม่เหมือนกันอาการแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงอาจเกิดขึ้นได้นอกจากนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประกาศว่าพบผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ มีบางตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐานด้านจุลชีววิทยาจำนวน 2 ตัวอย่าง(จาก 44 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 4.5 เนื่องจากมีจำนวนรวมของแบคทีเรีย ยีสต์ และ รา ที่เจริญเติบโตโดยใช้อากาศมากกว่า 1,000 cfu/g ซึ่งอาจมีสาเหตุจากกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ให้ถูกวิธี ฉลาดซื้อ ฉบับนี้จะพาไปดูผลการเปรียบเทียบของผลิตภัณฑ์ “ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย” ว่าแต่ละยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด มีจุดดีจุดเด่นอะไรกันบ้าง ผลการสำรวจ-จากการสำรวจพบว่า มีการกล่าวอ้างบนฉลากว่า “ไม่มีการใช้แอลกอฮอล์” แทบจะทุกยี่ห้อ อย่างไรก็ตาม แอลกอฮอล์ที่ถูกอ้างถึง น่าจะหมายถึง เอทานอล (ethanol) ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค แต่ก็เป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย แต่จากการสังเกตบนฉลากในส่วนประกอบบางยี่ห้อที่อ้างว่าปราศจากแอลกอฮอล์นั้น ก็มีการระบุว่า มีการใช้ Dichlorobenzyl alcohol ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ ชนิดหนึ่งเช่นกัน ซึ่งนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อในช่องปาก และบางยี่ห้อมีการใช้ Phenoxyethanol ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่เข้มข้นอาจเกิดอาการแพ้ได้-พบว่า มีการใช้คำอ้างว่า ลดการสะสมของแบคทีเรีย แอนตี้แบคทีเรีย สูตรแอนตี้แบคทีเรีย ในหลายยี่ห้อ แต่มีเพียง 4 ยี่ห้อที่ ระบุลดการสะสมของแบคทีเรีย 99.9% คือยี่ห้อ เดทตอล ซึ่งระบุวิธีการทดสอบ จากผลการทดสอบในหลอดทดลองระยะเวลาสัมผัสเชื้อ E.coli, S.aureus นาน 60 วินาที (เรกคิทท์ เบนคีเซอร์, 2558)ยี่ห้อ เซลล็อกซ์ พิวริฟาย อ้างว่าลดการสะสมของแบคทีเรีย(S.aureus,K.pneumoniae) 99.9% ด้วยเทคโนโลยีเจิร์มเคลียร์พลัส แต่ไม่มีรายละเอียดวิธีการทดสอบเหมือนเดทตอลยี่ห้อ แคริสม่า อเนกประสงค์ อ้างว่า มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อไวรัส รา และแบคทีเรียได้ถึง 99.99% แต่ไม่มีการบอกถึงลักษณะของการทดสอบว่าใช้วิธีการใด อ้างเพียงว่า ผ่านการรับรองโดยนักวิจัยจากห้องทดลองชั้นนำ ใน UK และ VIRUSOLVE+ นอกจากนี้ยังไม่มีการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลากด้วยยี่ห้อ แคริสม่า ผ้าเช็ดผิวแบบเปียก สูตรยับยั้งแบคทีเรีย มีการใช้ภาพเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า Antibacterial 99.9% โดยไม่ระบุวิธีการทดสอบแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเข้าข่ายฉลากที่ชวนให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ โดยกล่าวอ้างเกินจริง ว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 99.9 %ฉลาดซื้อแนะนำ- ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย หรือ ทิชชู่เปียก จัดอยู่ในกลุ่มของเครื่องสำอาง ต้องมีการจดแจ้งเพื่อผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทยชัดเจนครบถ้วน มีเลขที่ใบรับแจ้ง รวมถึงระบุผู้ผลิตชัดเจน และควรสังเกตหากใช้แล้วมีอาการแพ้ เป็นผื่นแดง บวม อักเสบ ต้องหยุดใช้ และไปพบแพทย์ทันที- ควรใช้ให้ถูกวิธีและปฏิบัติตามคำเตือนบนฉลาก เช่น ไม่ควรเช็ดรอบบริเวณดวงตา ไม่ทิ้งลงในชักโครก - ชนิดที่ระบุว่า ฆ่าเชื้อโรคได้ 99% ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่อาจก่อให้เกิดเชื้อโรคดื้อยาในสิ่งแวดล้อม - ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย ที่ถึงแม้จะโฆษณาว่า อ่อนโยนต่อผิวทารก ไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีน้ำหอม ใช้แล้วไม่ระคายเคืองต่อผิว แต่ก็ควรใช้แต่พอดีใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อไม่เป็นการสร้างขยะ และการทิ้งเชื้อโรคไว้ในทิชชู่เปียก ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกใช้วิธีทำความสะอาดแบบธรรมดาอย่างการใช้สบู่และน้ำจะดีกว่า ประหยัดกว่า- มีข้อมูลจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) ว่า ได้มีการเรียกเก็บผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดแบบเปียกบางยี่ห้อคืนจากท้องตลาด เนื่องจากพบจุลินทรีย์ในกลุ่ม Pseudomonas ปนเปื้อน ดังนั้นก็ใช่ว่า ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดแล้ว จะสะอาดเสมอไป เพราะอาจได้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่เพิ่มเข้ามาด้วย - ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายที่ใช้แล้วควรทิ้งทันที เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เมื่อเช็ดทำความสะอาดผิวของตัวเราแล้วไม่ควรนำไปเช็ดทำความสะอาดผิวของคนอื่นอีก- การอ้างว่า ผ่านการทดสอบโดยสถาบันหรือผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังมาแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวนั้น อย่าได้วางใจ 100% เพราะผิวของแต่คนแตกต่างกัน โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีอย่างผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายถือว่ามีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำเตือน เมื่อเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีทิชชู่เปียก ทำลายสิ่งแวดล้อม?ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายที่ใช้แล้ว ถือเป็นขยะที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายช้า ว่ากันว่าต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปีในการย่อยสลาย เช่นเดียวกับพลาสติก มีหลายคนที่นำผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกายที่ใช้แล้วทิ้งลงในชักโครก ซึ่งการเป็นต้นเหตุให้เกิดการอุดตันในท่อระบายน้ำ อย่างที่ประเทศอังกฤษบรรดาบริษัทด้านระบบประปาต่างรบตัวกันออกแคมเปญ “อย่าทิ้งทิชชู่เปียกลงในชักโครก” ส่วนในอเมริกาก็มีกรณีฟ้องร้องให้บริษัทผู้ผลิตทิชชู่เปียกจำนวน 6 บริษัท ยกเลิกข้อความบนผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า “ทิ้งลงชักโครกได้” เพราะเมื่อทิ้งลงไปแล้ว ตัวทิชชู่เปียกไม่ได้ถูกย่อยสลาย แถมจะไปอุดตันตามท่อ ถ้าออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมสารประกอบหลักในผลิตภัณฑ์ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย1.  น้ำ ใช้เพื่อทำเป็นตัวทำละลายสารต่างๆ ถือเป็นส่วนประกอบหลัก ในฉลากผลิตภัณฑ์อาจจะใช้คำที่หลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น water, Puriffed water, Pure Water และ Aqua2.   สารที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค ที่พบบ่อย Ethanol, Dichlorobenzyl Alcohol, Benzalkonium Chloride Isopropyl Methylphenol เป็นต้น3. สารลดแรงตึงผิว(Surfactants) มีคุณสมบัติเพื่อช่วยให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากพื้นผิวโดยง่าย เช่น lauryl hydroxysultaine และสารลดแรงตึงผิวบางชนิดมีคุณสมบัติทำลายเชื้อโรคพ่วงด้วย ที่พบใช้อยู่ในหลายผลิตภัณฑ์ก็คือ Benzalkonium Chloride นอกจากนี้ยังมีสารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นอย่าง Panthenol และสารที่ได้จากกรดผลไม้อย่าง Malic Acid (สารสกัดจากแอปเปิล), Citric Acid (สารสกัดจากส้ม) หรือ Ascorbic Acid (วิตามินซี)4.  น้ำหอม ใส่เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมเชิญชวนให้น่าใช้มากขึ้น บนฉลากจะใช้คำว่า Fragance, Perfume หรือ Parfum5.  วัตถุกันเสีย (Preservative) มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณภาพก่อนกำหนด สารที่นิยมใช้คือ Sodium Benzoate เป็นได้ทั้งวัตถุกันเสียและมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน และสารในกลุ่ม Paraben เช่น Methylparaben และ Ethylparaben ซึ่ง พาราเบนเป็นสารที่ยังมีข้อสงสัยในหมู่นักวิจัยว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ยังเป็นสารที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ โดยอ้างว่าปริมาณที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อยู่ในปริมาณที่น้อยมากจนไม่น่าส่งผลกระทบใดๆ แต่ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจำนวนไม่น้อย ที่เลิกใช้สาร Paraben เพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้บริโภคผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวกาย ทำมาจากผ้าที่มีชื่อเรียกว่า Spunlance Nonwoven เป็นผ้าชนิดที่ไม่มีการถักการทอตามลักษณะโดยทั่วไป แต่เกิดจากการยึดติดกันของเส้นใยโดยการใช้สารเคมี และยึดโดยการใช้ความร้อน อัดติด หรือการทำให้เส้นใยยึดติดเกาะกันเองด้วยกระบวนการทางเคมี เชิงกล ความร้อน สารละเลย หรือหลายๆ อย่างรวมกัน มีคุณสมบัติเป็นผ้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม เส้นใยไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้ใช้ ดูดซึมน้ำและของเหลวได้ดี น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2557 เด็กไทย...เหยื่อโฆษณาอาหาร มีเดียมอนิเตอร์ร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว ซึ่งโฆษณาที่เป็นปัญหามักใช้กลยุทธ์ต่างๆ ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง ใช้การ์ตูน ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง กระตุ้นให้กินเกินความจำเป็น บ้างก็อ้างถึงขนาดว่ากินแทนอาหารมื้อหลักได้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการโฆษณาไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก อย., กสทช. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะโภชนาการไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน ขาดสารอาหาร และรุนแรงถึงขั้นเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน หัวใจ ไต ความดัน   ใช้ “ทิชชู” ซับน้ำมัน เสี่ยงอันตราย!!! จริงหรือ ใครที่ชอบใช้กระดาษทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร ต้องระวังให้ดี เพราะกรมอนามัยได้ออกมาเตือนว่า ในกระดาษทิชชูมีสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมัน ทำให้มีฤทธิ์กัดกร่อน หากหายใจเข้าไปจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ หากสัมผัสถูกผิวหนังจะระคายเคืองรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารก่อมะเร็ง หากกินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายกับกระเพาะอาหาร กระบวนการผลิตกระดาษทิชชู นิยมใช้กระดาษมาหมุนเวียนใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วมาผลิตกระดาษทิชชู ซึ่งการตีวัตถุดิบให้เป็นเนื้อเยื่อต้องใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือ โซดาไฟ และเพื่อความขาวน่าใช้ จึงมีการใช้สารคลอรีนฟอกขาว ซึ่งมีสารไดออกซินเป็นส่วนประกอบ การใช้ทิชชูซับน้ำมันจากอาหาร กระดาษจะสัมผัสกับอาหารโดยตรง จึงควรเลือกใช้กระดาษที่ผลิตมาเพื่อใช้กับอาหารโดยเฉพาะ และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล เช่น HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร แต่หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ออกมาโต้แย้งในข้อมูลดังกล่าว ว่า กระดาษ อนามัยหรือกระดาษทิชชูนั้น ไม่ได้มีความน่ากลัวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด และแทบจะไม่มีโซดาไฟ และสารไดออกซินอยู่เลย ดร.ภูวดี ตู้จินดา อธิบายผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ว่า สารพิษที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นไดออกซินหรือโซเดียมไฮดร็อกไซด์ ไม่ได้เกิดขึ้น ใน "กระบวนการผลิตกระดาษ" แต่ถูกใช้ใน "กระบวนการฟอกเยื่อ" ดังนั้นการจะมีโซดาไฟปริมาณมากพอ ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในเยื่อกระดาษธรรมดาๆ นั้นว่าน้อยแล้ว สำหรับกระดาษทิชชูนั้นยิ่งน้อยกว่า อีกทั้งโรงงานฟอกเยื่อเกือบทั้งหมดในประเทศไทยใช้สาร "คลอรีนไดออกไซด์" ซึ่งอาจทำให้เกิดสารพิษที่เรียกสั้นๆ ว่า AOX แต่ไม่เกิด "ไดออกซิน" เมื่อ "เยื่อกระดาษ" ไม่มีโซดาไฟ และ(แทบ)ไม่มีไดออกซิน กระดาษทิชชูจึงแทบไม่มีไดออกซินด้วย   ปรากฏการณ์ “คุกกี้ รัน” ดูดเงินแสน ถือเป็นเรื่องระดับ Talk of the Town เมื่อจู่ๆ มีผู้บริโภคนับ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และผู้ปกครอง พร้อมใจกันออกมาโวยว่าตัวเองถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์แพงจนน่าตกใจ บางรายถูกเรียกเก็บหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นผลมาจากการเล่นเกมชื่อดังบนมือถือ อย่าง “คุกกี้ รัน” ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการซื้อของต่างๆ ที่อยู่ในเกม เด็กที่เล่นเกมไม่รู้ว่าเมื่อกดซื้อแล้วจะต้องเสียเงิน ทำให้ถูกเรียกเก็นเงินเป็นจำนวนมากรวมไปกับค่าบริการปกติ การแก้ปัญหา ทาง สคบ.ได้เชิญผู้เสียหายมาเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันเพื่อหาทางออก แม้เบื้องต้นทางผู้ให้บริการจะยอมยกเลิกการเรียกเก็บเงิน เพราะเห็นว่าเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้โทรศัพท์ แต่ดูแล้วมีโอกาสที่ปัญหาในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำ ทาง สคบ.จึงร่วมกับ กสทช. เตรียมปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาโดยเพิ่มข้อกำหนดของสัญญาการให้บริการให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือถูกเรียกเก็บค่าใช้บริการเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งจะมีการจัดการปัญหาข้อความเอสเอ็มเอส ต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดูดวง ทายหวย หรือการโฆษณาต่างๆ ที่ส่งมาให้ผู้บริโภคโดยใช้กลยุทธ์บริการฟรี 7 วัน พอถึงวันที่ 8 ก็ต่ออายุอัตโนมัติและคิดเงินทันทีโดยที่ผู้ใช้มือถือไม่รู้ ซึ่งตามกฏหมาย สคบ.ก็มีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของโฆษณาที่สร้างความรำคาญ มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ   สคบ. เตรียมตั้ง “ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการทำงานของ สคบ.ครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการรวบรวมงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ 10 กระทรวงและ 20 กรม เข้ามารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น ตั้งกองทุนเยียวยาผู้บริโภค คอยทำหน้าที่จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้ผู้บริโภคในช่วงที่คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้อง โดยศูนย์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งตามแผนแม่บทการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจากการที่ สคบ. ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายของ สคบ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมกับแผนดังกล่าว คาดว่าศูนย์นี้จะดำเนินงานได้ภายใน 3 - 6 เดือน โดยจะให้นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกที่นายกฯ มอบหมายมาเป็นประธานศูนย์ฯ หน้าที่ของหลักศูนย์ฯ จะรวบรวมงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน ที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค มาเร่งแก้ไขในจุดเดียวลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า พร้อมทั้งมีหน่วยงาน สคบ.ระดับภูมิภาครับเรื่องร้องเรียน และไกล่เกลี่ยให้จบภายในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายระดับท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากมีศูนย์ดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใจ เข้าถึง สคบ.มากขึ้น ปริมาณเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาก็น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีละแค่ 8,000-10,000 เรื่อง เป็น 100,000 เรื่อง   8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ร้อง คสช.- ดีเอสไอ เอาผิดบอร์ดและ ผอ.องค์การเภสัช 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้ยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาปลดและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มี นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม มีพฤติกรรมส่อทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเป็นคดีพิเศษ โดยมี 2 ประเด็นที่ให้ดีเอสไอพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ คือ ปัญหาการก่อสร้างโรงงานผลิตยาที่รังสิต ขององค์การเภสัชกรรมที่ ผอ. และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการเอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยได้ทักท้วงมา นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็น คือเรื่องการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ดปลด นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรมในขณะนั้นไปแล้ว กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็วตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด สาเหตุจากการที่ ผอ.อภ. และบอร์ด อภ. แก้ไขปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ของรัฐราว 80% ของที่ใช้กับคนไข้ในประเทศ นอกจากนี้ อภ. ยังขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยา ต่อไปคนไข้อาจขาดยา นอกจากนี้ นพ.สุวัช ยังเสนอตัดงบเรื่องการทำงานวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ.ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 เช็คปริมาณกระดาษเช็ดหน้า

กระดาษทิชชู่ หรือ กระดาษชำระ ถือเป็นกระดาษอเนกประสงค์ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีกระดาษทิชชู่ให้เลือกใช้สารพัดอย่างแบ่งตามประเภทการใช้งาน ทั้งกระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดมือ ฯลฯ คิดว่าคนส่วนใหญ่คงตัดสินใจเลือกซื้อกระดาษทิชชู่จาก ยี่ห้อ ราคา หรือแม้แต่สีสันของบรรจุภัณฑ์ และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายๆ คนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อกระดาษทิชชู่ นั้นคือ “จำนวนแผ่นกระดาษทิชชู่” เปรียบเทียบดูว่ายี่ห้อไหนมีจำนวนที่คุ้มค่าคุ้มราคากว่ากัน แต่จะมีใครมั้ย? ที่เคยลองตรวจสอบดูว่าจำนวนกระดาษทิชชู่ที่อยู่ในกล่องกับตัวเลขที่ระบุบนฉลากข้างกล่องถูกต้องตรงกันหรือเปล่า ฉลาดซื้อเราจึงขอรับอาสาเช็คความถูกต้องของกระดาษทิชชู่ โดยเราเลือกกระดาษเช็ดหน้าชนิดบรรจุกล่องมาลองนับกันแบบแผ่นต่อแผ่นว่าแต่ละยี่ห้อที่เรานำมาสำรวจมีปริมาณแผ่นกระดาษเช็ดหน้าตรงกับที่แจ้งไว้หรือเปล่า   วิธีการทดสอบ เราใช้อาสาสมัคร 3 คน เพื่อตรวจนับจำนวนแผ่นกระดาษเช็ดหน้า อาสาสมัครทั้ง 3 คนจะนับกันคนละ 1 ครั้งต่อ 1 ตัวอย่าง เท่ากับว่าแต่ละตัวอย่างเราจะทำการตรวจนับจำนวนแผ่นกระดาษเช็ดหน้าถึง 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบจำนวนและทวนความถูกต้อง ผลการทดสอบ เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่กระดาษเช็ดหน้าทุกยี่ห้อที่เรานำมาสำรวจจำนวนแผ่นกระดาษ พบว่าทั้งหมดตรงตามจำนวนที่ระบุไว้ในรายละเอียดข้างกล่อง แถมฉลาดซื้อยังพบว่ามีหลายยี่ห้อให้จำนวนกระดาษมาเกินกว่าที่ระบุเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ยี่ห้อ เชลล็อกกระดาษเช็ดหน้าโรชี่ ที่ระบุจำนวนไว้ว่า 150 แผ่น แต่จากการสำรวจเรานับจำนวนได้ 154 แผ่นทั้ง 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมียี่ห้อ ซิลค์ ที่เรานับจำนวนได้ 124 แผ่น แต่ข้างกล่องระบุไว้ 120 แผ่น, ยี่ห้อ เลดี้สก๊อตต์ ที่นับจำนวนได้ 152 แผ่น ขณะที่ข้างกล่องระบุไว้ 150 แผ่น และยี่ห้อ เทสโก้ (กล่องเล็ก) ที่นับได้ 52 แผ่น แต่ระบุจำนวนที่ข้างกล่องไว้ 50 แผ่น ถือว่าเป็นกำไรของผู้บริโภค ตารางแสดงผลการสำรวจจำนวนแผ่นกระดาษเช็ดหน้า เปรียบเทียบกับจำนวนที่แจ้งไว้บนบรรจุภัณฑ์ ชื่อสินค้า จำนวนที่นับได้ จำนวนที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ ขนาดแผ่น วัน/เดือน/ปีที่ผลิต ราคา (บาท) เชลล็อกกระดาษเช็ดหน้าโรชี่ 154 150 - 27 03 13 42 เลดี้สก๊อตต์ 152 150 - 16 04 13 - คุ้มค่า 150 150 20x20 ซม. 04 04 56 18.50 บิ๊กซี 150 150 20x20 ซม. 14 02 56 - แฮปปี้บาท 150 150 20x20 ซม. 30 03 56 - คลีเน็กซ์ 150 150 - 07 04 13 54 ซิลค์ 124 120 - 13 04 13 27 สก็อต 120 120 - 14 04 13 94 เทสโก้ กล่องเล็ก 52 50 13x20 ซม. 02 01 13 42   ฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อกระดาษชำระ -กระดาษชำระที่ดี เนื้อของกระดาษแต่ละแผ่นต้องมีสีที่สม่ำเสมอกัน -ไม่มีรอยตัด ฉีกขาด (ยกเว้นรอยปะสำหรับฉีก) -ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในกระดาษ -กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ และกระดาษชำระ ถือเป็นสินค้าควบคุมฉลาก -บนฉลากต้องแสดงขนาดความกว้าง – ยาว ของแผ่นกระดาษ เป็นเซนติเมตร -ถ้าในฉลากมีการระบุประเภทของกระดาษ เช่น “กระดาษเช็ดหน้า” “กระดาษเช็ดปาก” “กระดาษเช็ดมือ” หรือ “กระดาษชำระ” กระดาษนั้นก็ต้องมีคุณลักษณะที่ตรงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำหนดไว้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของกระดาษ -เพราะฉะนั้นเราควรใช้กระดาษชำระให้ถูกต้องตามประเภทการใช้งาน เพราะกระดาษแต่ละชนิดถูกผลิตออกมาเพื่องานที่แตกต่างกัน ความหนานุ่ม ความยืดหยุ่น และการดูดซับน้ำ รวมถึงเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จึงมีความแตกต่างกัน ที่มา: ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2526) เรื่อง กำหนดกระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ และกระดาษชำระ เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก   ---------------------------------------------------------------------------------------------------------- การแสดงปริมาณสินค้าบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม การแสดงปริมาณสินค้าบนฉลากถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคอย่างเราควรรู้ ลองมาดูกันดีกว่าว่าแบบไหนคือการแสดงปริมาณสินค้าบนฉลากหรือบนผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสมได้ใจผู้บริโภค 1.ต้องแสดงปริมาณสุทธิหรือจำนวนที่แท้จริงของสินค้า โดยต้องไม่รวมน้ำหนักของสิ่งที่ใช้บรรจุหรือสิ่งที่ห่อหุ้มอยู่ 2.ต้องแสดงปริมาณตามมาตราชั่ง มาตราตวง หรือมาตราวัด ในระบบเมตริกหรือแสดงเป็นหน่วย (กรัม, มิลลิกรัม, ชิ้น, แผ่น ฯลฯ) แล้วแต่ชนิดของสินค้าหีบห่อ โดยใช้ตัวเลขไทยหรือตัวเลขอารบิคและอักษรไทย 3.มีข้อความภาษาไทยว่า “ปริมาณสุทธิ” หรือที่มีความหมายเช่นเดียวกัน อยู่หน้าปริมาณของสินค้า 4.แสดงปริมาณของสินค้าไว้บนฉลาก บรรจุภัณฑ์ ให้สามารถมองเห็นได้ง่ายและชัดเจน ตัวเลขและตัวอักษรมีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร และต้องติดอยู่ถาวรไม่ลบเลือน 5.แสดงปริมาณของสินค้าทุกแห่งให้ตรงกันในกรณีที่มีการแสดงปริมาณไว้หลายแห่ง 6.ในกรณีที่เป็นสินค้าที่เป็นห่อใหญ่แล้วบรรจุมีสินค้าชนิดเดียวกันที่มีปริมาณเท่ากัน ตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป และแต่ละห่อสามารถขายแยกต่างหากจากห่อใหญ่ได้ การบรรจุสินค้าห่อใหญ่ดังกล่าวจะต้องแสดงจำนวนห่อเล็กและปริมาณของสินค้าในห่อเล็กด้วย ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดชนิดและวิธีการแสดงปริมาณของสินค้าหีบห่อ พ.ศ. 2543 ---------------------------------------------------------------------------------------------------------- รู้มั้ยว่า? ปริมาณสินค้าที่แจ้งบนฉลากกับปริมาณสินค้าจริงๆ อาจไม่ตรงกันเสมอไป!!! แม้เรื่องของปริมาณสินค้าจะเป็นเรื่องสำคัญที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องแจ้งกับผู้บริโภค แต่บางครั้งปริมาณของสินค้าจริงๆ กับปริมาณที่แจ้งไว้อาจไม่ตรงกันก็ได้ แต่อย่าเพิ่งตกใจ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้นั้นเป็นเพราะกฎหมายเขาอนุโลมให้การแสดงปริมาณสุทธิของสินค้าต่างๆ สามารถแสดงปริมาณแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดได้ ----------------------------------------------------------------------------------------------------------   อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับสินค้าที่แสดงปริมาณโดยนับเป็นหน่วย ปริมาณที่แสดงบนหีบห่อ อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดร้อยละของปริมาณที่แสดง ไม่เกิน 35 หน่วย - มากกว่า 35 หน่วย แต่ไม่เกิน 50 หน่วย 3 มากกว่า 50 หน่วย ขึ้นไป 2   อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับสินค้าที่แสดงปริมาณเป็นมาตราชั่ง ปริมาณที่แสดงบนหีบห่อ อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดร้อยละของปริมาณที่แสดง ไม่เกิน 200 กรัม 6 มากกว่า 200 กรัม แต่ไม่เกิน 1 กก. 3 มากกว่า 1 กก. แต่ไม่เกิน 5 กก. 2 มากกว่า 5 กก. แต่ไม่เกิน 15 กก. 1.5 มากกว่า 15 กก. แต่ไม่เกิน 50 กก. 1 ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดชนิดและวิธีการแสดงปริมาณของสินค้าหีบห่อ พ.ศ. 2543

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 มาวัดความยาวกระดาษทิชชูกัน

ทดสอบภาส พัฒนกำจรผลทดสอบนี้ทำขึ้นโดยทีมผลิตรายการกระต่ายตื่นตัว และออกอากาศไปเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้นก็เถอะบางท่านก็อาจพลาดชมรายการ และหลายท่านคงอยากรู้ว่า กระดาษทิชชู ที่เราท่านใช้กันอยู่นี้ ซื่อตรงหรือคดโกงมากน้อยแค่ไหน ทีมงานกระต่ายฯ จึงนำมาเรียบเรียงใหม่ในฉลาดซื้อฉบับนี้ กระดาษทิชชูหรือกระดาษชำระ เป็นตัวช่วยสำคัญในการขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ เป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดที่นิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งในเมืองไทยของเราไม่ค่อยมีใครบันทึกเรื่องราวการใช้กระดาษทิชชูเอาไว้มากนัก ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นแดนอาทิตย์อุทัย ที่เรื่องของกระดาษทิชชูไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่มองข้ามไปได้เพราะมีการประมาณการว่า ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งใช้กระดาษชำระปีละ 55 ม้วน ต่อคนเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนสุขาสาธารณะที่เพิ่มขึ้นยังทำให้การใช้กระดาษชำระเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้วย ฟังดูแล้วน่าตกใจอยู่นะครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มีนักสถิติสำนักไหนบันทึกถึงปริมาณการใช้กระดาษทิชชูในเมืองไทยว่ามีมากหรือน้อยกว่าที่ญี่ปุ่น แต่ทางออกในระยะยาวของเราๆ ชาวฉลาดซื้อก็คือ การใช้ผ้าที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช็ดแทนทิชชูให้มากขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เอ้า !!! ช่วย ๆ กัน เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลกกันนะครับ เราทดสอบยี่ห้ออะไรบ้างคราวนี้มาดูกันครับว่าผลการทดสอบความยาวของเจ้ากระดาษทิชชูเจ้าไหนจะให้ความคุ้มค่ากับคนซื้ออย่างเรามากที่สุด โดยทางทีมงานได้เลือกกระดาษทิชชูมาทดสอบทั้งหมด 7 ยี่ห้อ 8 แบบ ได้ผลทดสอบ ดังนี้ จากการวัดทั้งหมดยี่ห้อละ 3 ม้วน เพื่อหาค่าเฉลี่ย ยี่ห้อที่ยาวน้อยกว่าที่ฉลากบอก ได้แก่ Silk cotton วัดได้ยาว 16.33 เมตร ต่ำกว่า 0.67 เมตร Cellox Fancy วัดได้ยาว 22.46 เมตร ต่ำกว่า 0.54 เมตร Dion วัดได้ยาว 22.64 เมตร ต่ำกว่า 0.36 เมตร Scott select วัดได้ยาว 17.26 เมตร ต่ำกว่า 0.34 เมตร ส่วนยี่ห้อที่วัดแล้วเกินมาจากที่ระบุ ได้แก่ Home Fresh Mart Economy วัดได้ 18..30 เมตร เกินมา 1.3 เมตร Ha-ne วัดได้17.73 เมตร เกินมา 0.73 เมตร Home Fresh Mart พรีเมี่ยม วัดได้ 17.56 เมตร เกินมา 0.56 เมตร Pinn Plus วัดได้ 17.26 เมตร เกินมา 0.26 เมตร สรุป โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละยี่ห้อนั้นความยาวจะไม่เกินหรือต่ำกว่าบนฉลาก (+ - ) 0.59 เมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าทางผู้ผลิตเขาก็ซื่อสัตย์กับผู้บริโภคในเรื่องความยาวพอสมควร ยี่ห้อ จำนวนม้วน/แพ็ค ราคา(บาท) เฉลี่ยราคาต่อ 1 ม้วน (บาท) ความยาวที่ระบุบนฉลาก (เมตร) ความยาวที่วัดได้จริง (เมตร) น้อย/เกิน (เมตร) การกระจายตัวในน้ำ ความยาวเกินฉลากระบุ Home Fresh Mart Economy 6 ม้วน 29 4.83 17 18..30 เกินมา 1.3 สูง Pinn Plus 8 ม้วน 29.50 4.91 17 17.26 เกินมา 0.26 ต่ำ Ha-ne 6 ม้วน 32 5.33 17 17.73 เกินมา 0.73 สูง Scott select คุ้มค่า 6 ม้วน 35.25 5.875 17 17.56 เกินมา 0.56 ต่ำ ความยาวน้อยกว่าฉลากระบุ Home Fresh Mart premium 6 ม้วน 40 6.66 17.6 17.26 น้อยกว่า 0.34 ต่ำ Cellox Fancy 6 ม้วน 57 9.5 23 22.46 น้อยกว่า 0.54 ปานกลาง Silk cotton 6 ม้วน 35.25 5.89 17 16.33 น้อยกว่า 0.67 ปานกลาง Dion 6 ม้วน 52 8.66 23 22.64 น้อยกว่า 0.36 ต่ำ ข้อสังเกต ถึงดูว่าเขาซื่อสัตย์ แต่ความจริงถ้าว่ากันตาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก. ที่กำหนดเอาไว้ว่า สินค้าประเภทกระดาษชำระนั้นต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 31 เมตร ต่อม้วนนั้น พบว่า ไม่มีผู้ผลิตกระดาษทิชชูเจ้าไหนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกระดาษชำระ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เห็นสัญลักษณ์ มอก. แปะอยู่ที่สินค้ายี่ห้อใดเลย มาตรฐานกระดาษชำระ ได้รับเลขที่ มอก. 214-2530 เป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) จัดอยู่ให้อยู่ในประเภท มาตรฐานทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการกำหนดให้มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไปไม่มีการบังคับคือจะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าได้รับเครื่องหมายก็แสดงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ การกระจายตัวในน้ำ นอกจากทดสอบเรื่องความยาวแล้ว เราได้ทดสอบเรื่องการกระจายตัวในน้ำของกระดาษทิชชูด้วยโดยเราจะแช่กระดาษไว้ในน้ำ แล้วทิ้งไว้ 30 วินาที แล้วลองดึงขึ้นมาด้วยความแรงพอประมาณนะครับ หลังจากนั้นเราก็จะจุ่มลงแช่อีก 30 วินาทีแล้วดึงขึ้นมาดูผลอีกรอบ (การทดสอบวิธีนี้นำมาจากวารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 19 มิถุนายน-กรกฎาคม 2540) ผลทดสอบ พบได้ว่ามีอยู่เพียงสองยี่ห้อเท่านั้นที่มีการกระจายตัวในน้ำสูง ชนิดที่เพียง 30 วินาทีแรกก็เริ่มแตกรุ่ยเมื่อหยิบขึ้นมา คือ Home Fresh Mart Economy และ ฮาเนะ ส่วนสองยี่ห้อที่เราจัดว่าปานกลางเพราะจะเริ่มขาดรุ่ยเมื่อยกขึ้นมาใน 30 วินาทีที่สอง คือ Cellox Fancy และ Silk Cotton ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่เราจะจัดว่าการกระจายตัวในน้ำต่ำ เพราะเอาขึ้นมาสองครั้งก็ยังคงรูปกระดาษเป็นแผ่นอยู่คือ Scott พินน์พลัส ดิออน และ Home Fresh Mart Premium ที่บอกได้ว่าเนื้อกระดาษนั้นแตกต่างกับแบบ Economy จริงๆ ทางเราพอตั้งข้อสังเกตได้ว่า เนื่องจากกระดาษชำระในตลาดนั้นจะใช้ชนิดสองชั้นแทบทุกยี่ห้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดซึมเวลาที่ต้องใช้เช็ดหรือทำความสะอาดอะไร แต่มีข้อเสียเพราะเมื่อโดนน้ำจะห่อรวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้ง่ายๆ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำว่า ไม่ควรที่จะทิ้งกระดาษชำระลงในชักโครกหรือลงท่อน้ำใดๆ ถ้าไม่อยากเจอปัญหาท่ออุดตันอย่าลืมนะครับ ใช้กระดาษทิชชูเฉพาะที่จำเป็น เลือกการใช้ผ้าที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกทดแทนบ้างเพื่อลดปัญหาเรื่องขยะล้นโลกครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 102 กระดาษชำระ ใช้ให้ถูกงาน…เรื่องไม่บานปลาย

เรื่องทดสอบ 2 กองบรรณาธิการ ถ้าพูดถึง ทิชชู่ (tissue) หรือกระดาษทิชชู่ ส่วนใหญ่เราจะเหมารวมว่า เป็นกระดาษสีขาว เนื้อบางเบาที่มีคุณสมบัติซึมซับน้ำได้ดี ถือเป็นสินค้าจำเป็นประจำครัวเรือน สำนักงาน ร้านอาหารหรือเกือบจะเป็นสถานที่ทุกแห่งที่มีคนอยู่อาศัยก็ว่าได้ ทิชชู่ช่วยให้คนส่วนใหญ่รู้สึกสะอาดขึ้นเมื่อเกิดสภาพที่จำเป็นต้องเช็ดหรือเก็บคราบสกปรกต่างๆ จริงๆ แล้วกระดาษทิชชู่มีด้วยกันหลายประเภท โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ กระดาษชำระ (toilet tissue) กระดาษเช็ดหน้า (facial tissue) กระดาษเช็ดปาก (napkin) กระดาษเช็ดมือ (hand towel) และกระดาษอเนกประสงค์ แต่ดูเหมือนว่าคนไทยเราจะใช้กระดาษทิชชู่โดยไม่ค่อยได้แบ่งชนชั้นวรรณะมากนัก กระดาษชำระบางทีก็ไปตั้งอยู่บนโต๊ะอาหารได้ หรือใช้เช็ดหน้าเช็ดตาได้ ห่ออาหารก็เคยเห็น โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้นึกรังเกียจแต่อย่างใด ด้วยความที่เราใช้กระดาษชำระ ชำระกันไปเสียเกือบทุกอย่างดังที่กล่าวมา เลยมีคนตั้งข้อสงสัยว่า กระดาษชำระมันสะอาดปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน หลังจากไปพลิกคู่มือมาตรฐานอุตสาหกรรม กระดาษชำระดูแล้ว ก็พบว่า ตามมาตรฐานจะให้ความสำคัญในเรื่องการซึมซับน้ำ การย่อยสลาย ขนาด ความยาวและจุดสกปรก คือไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในม้วนกระดาษชำระ ซึ่งเท่าที่ดูด้วยตาเปล่าเราก็ไม่พบเห็นสิ่งผิดปกติใดๆ แต่ในระดับที่มองไม่เห็นล่ะ มันมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ฉลาดซื้อส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์กระดาษชำระทั้งเกรดเอ เกรดบี จำนวน 24 ตัวอย่าง เข้าห้องทดสอบของบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางประเทศไทย จำกัด เพื่อทดสอบหาปริมาณจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค ได้แก่ Bacillus cereus. Staphylococcus aureus, Escผลการทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ แต่ในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดโรคภัยใดๆ herichia coli, Salmonella, Yeast and mold และ Total Plate Count หรือการตรวจปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวอย่าง แต่ก็ถือว่ามี ดังนั้นเราก็ควรใช้งานกระดาษชำระให้ถูกประเภท นิสัยที่ชอบเอากระดาษชำระไปเช็ดทุกอย่าง(นอกจากเช็ดก้น) เช็ดหน้า เช็ดมือ เช็ดผลไม้ เช็ดจาน เช็ดช้อน ฯลฯ อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในวัตถุหรือพื้นผิวที่เราเอากระดาษชำระไปเช็ดได้ และหากทิ้งไว้เป็นเวลานานเมื่อมีสภาวะที่เหมาะสมเชื้อก็สามารถขยายตัวได้เป็นจำนวนมากๆ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดาวโหลดตาราง สำเร็จรูป ดาวโหลด file ตาราง แบคทีเรียที่มักก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่เกิดจาก Salmonella, Staphylococcus aureus, Clostridium perfringens, รองลงมาได้แก่ Bacillus cereus, Shigella, Campylobacter และ Clostridium botulinum Campylobacter, Escherichia coli  แบคทีเรียเมื่อได้รับอาหาร น้ำ อากาศ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วมาก ในระยะเวลาไม่นานเพียง 2-6 ชั่วโมงก็สามารถเพิ่มจำนวนมหึมาจนสร้างปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้ อย่างไรก็ตามแบคทีเรียจะไม่สร้างปัญหาให้กับมนุษย์มากนัก หากหมั่นชำระล้างร่างกาย มือ ให้สะอาด การรับประทานอาหารต้องเป็นอาหารที่สุก สะอาด ผักผลไม้ที่จะรับประทานสด ก็ต้องล้างน้ำให้สะอาดด้วยเช่นกัน กระดาษชำระสืบประวัติได้ยาวนานไปถึงหลายร้อยปีราวศตวรรษที่ 14 โดยมีความนิยมใช้กันในราชสำนักของจีนแต่ก็เฉพาะบรรดาเชื้อพระวงค์เท่านั้น โดยคนธรรมดาทั่วไปสิ่งของที่นำมาใช้เช็ดก้นหลังปลดทุกข์นั้นก็มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่ก็เป็นใบไม้ เศษผ้า ยุคหลังๆ มาหน่อยก็นิยมกระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิวต่างๆ จนมีนักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อนายโจเซฟ กาเย็ตตี้ เป็นคนแรกที่ได้ผลิตกระดาษชำระออกวางขายในปี ค.ศ. 1857 แต่ก็ขาดทุนไปในที่สุดเพราะคนยังนิยมของเดิมคือกระดาษเก่าๆ ที่ไม่ต้องเสียสตางค์ อีก 20 ปีต่อมา สองพี่น้องสกุลสก๊อตจึงได้ผลิตกระดาษชำระออกวางขายอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า สก๊อตทิชชู่ ในขณะนั้นส้วมชักโครก และห้องน้ำภายในอาคารเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้คนใช้กระดาษชำระมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้สะดวก เนื้อนุ่มและยังเข้ากับการตกแต่งห้องส้วมอีกด้วย จากนั้นเป็นต้นมา ตลาดกระดาษชำระก็เริ่มเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับวิวัฒนาการที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่กระดาษชำระเคยเป็นของใช้ระดับไฮคลาสสำหรับผู้มีอันจะกิน ปัจจุบันก็กลายมาเป็นสินค้าที่ใครๆ ก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไป (ข้อมูลจากหนังสือ 108 ซองคำถาม) Total Plate Count หรือ Standard Plate Count คือ การตรวจสอบจำนวนประชากรจุลินทรีย์ เป็นการตรวจปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวอย่าง การตรวจสอบนั้นถ้าพบว่ามีจุลินทรีย์มากเกินค่ามาตรฐาน หรือค่าที่กำหนดให้มีได้ในผลิตภัณฑ์ แสดงให้เห็นว่าตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบไม่ควรนำมาบริโภคหรือนำออกจำหน่าย เช่น น้ำดื่มต้องมีค่าจำนวนประชากรจุลินทรีย์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point