ฉบับที่ 267 ‘ทัวร์เกาหลี’

        ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดย ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาของประชาชนจากการซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวยังประเทศเกาหลี ทำให้สูญเสียเงิน หรือไม่ได้ท่องเที่ยวตามที่หวังไว้ หลายลักษณะ         ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) ในเดือน มิถุนายน ปี 2023 เผยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวเกาหลีมากถึง 570,000 คน/ปี สูงเป็นลำดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไต้หวันแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากขึ้นต่อเนื่อง แต่การท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนขนาดใหญ่ การเดินทางโดยการซื้อทัวร์ยังมีความสำคัญ และยังได้รับความนิยม เรื่องเด่นฉบับนี้รวมประเด็นสำคัญที่ประชาชนควรได้รู้ก่อนตัดสินใจซื้อบริการทัวร์ท่องเที่ยวหลายลักษณะปัญหาที่พบจากเรื่องร้องเรียนกรณีซื้อทัวร์เกาหลีที่เข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค        -          จองทัวร์ไปท่องเที่ยวประเทศเกาหลีระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม 2563 แต่ถูกเลื่อนเพราะจากสถานการณ์โควิด จ่ายเงินครบจำนวน 139 ,491 บาท แต่ไม่ได้ท่องเที่ยวต่อมาได้เจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทได้เสนอเป็นเครดิตท่องเที่ยวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567         -          ซื้อทัวร์แบบกลุ่มไปเที่ยวเกาหลีกับเพื่อนร่วมงาน แต่ลงทะเบียนระบบ K-ETA (ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติท่ีต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า) ไม่ผ่าน บริษัททัวร์ไม่ได้แจ้งเงื่อนไขในสัญญาว่าถ้าลงทะเบียนไม่ผ่าน ไม่สามารถเดินทางได้        -          ซื้อทัวร์ไปเที่ยวกับครอบครัวและญาติๆ รวมจำนวน 9 คน แต่ลงทะเบียนระบบ K-ETA ผ่านเพียง 4 รายเป็นเด็กเล็ก 3 รายและมีผู้ใหญ่เพียงคนเดียวและไม่ได้เป็นผู้ปกครองของเด็ก จึงจำต้องยกเลิกทัวร์ ถูกบริษัททัวร์หักเงินไปจำนวนมาก        -          จองทัวร์เพื่อไปเที่ยวลานสกีที่เกาหลี แต่เมื่อไปเที่ยวกลับไม่ได้ไปที่ลานสกีเพราะปิดบริการ บริษัทจึงพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชดเชยในจุดอื่นๆ แต่นักท่องเที่ยวไม่พอใจเพราะไม่ได้เล่นสกีตามที่ทัวร์ได้โฆษณาไว้ จึงร้องขอเงินคืนในส่วนที่ทัวร์ไม่ได้จัดโปรแกรมให้เล่นสกี  เจาะเรื่องจริง ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์         กรณีของคุณพฤกษ สามกษัตริย์ ได้ซื้อทัวร์ไปเที่ยวแบบกลุ่มกับครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมจำนวน 9 ราย ในราคาโปรโมชั่น 1 แถม 1 จากราคา 34,999 เฉลี่ยลดลงมาที่รายละ 17,499.5 บาท เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 5 วัน 3 คืน  คุณพฤกษซื้อทัวร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีกำหนดเดินทางท่องเที่ยวในช่วงกลางเดือนมีนาคม         ปัญหาของคุณพฤกษเริ่มเกิดขึ้นในช่วงของการลงทะเบียนระบบ K-ETA (ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติท่ีต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า) ซึ่งคุณพฤกษได้เลือกให้บริษัททัวร์เป็นผู้ดำเนินการให้ แต่แล้วจากการลงทะเบียนมีผู้ลงทะเบียนผ่านเพียง 4 ราย คือ คุณพฤกษ และลูกๆ ของญาติ เหตุนี้จึงทำให้คุณพฤกษ์ไม่อาจเดินทางไปท่องเที่ยวได้ จำต้องยกเลิกโปรแกรมทัวร์         อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปแรกเมื่อบริษัทเสนอขายโปรแกรมทัวร์ให้แบบโปรโมชั่นคุณพฤกษ์ได้สอบถามถึงการตรวจ K-ETA  ตั้งแต่แรกเจ้าหน้าที่ของบริษัททัวร์กลับให้ข้อมูลว่า “ใช่ค่ะ ต้องทำค่ะ แต่จะรบกวนจองทัวร์เข้ามาก่อนได้ไหม  เพราะว่าเดี๋ยวโปรฯ มันจะหมด” และขอให้คุณพฤกษรีบตัดสินใจ โอนเงินให้บริษัทแบบเต็มจำนวน คือ 151,796 บาท และย้ำถึงเรื่องการลงทะเบียนระบบ K-ETA  ว่า “ไม่น่ามีปัญหาค่ะ เดี๋ยวจัดการให้เลย” “ไม่น่ามีปัญหานะคะ เพราะว่าไม่เคยมีใครมีประวัติอะไรเลย ดังนั้นทำคิดว่าน่าจะผ่าน”         เมื่อผลการลงทะเบียน K-ETA  ไม่ผ่าน คุณพฤกษจึงขอคืนเงินค่าทัวร์ที่ได้จ่ายไปเต็มจำนวน บริษัททัวร์จึงแจ้งว่าจะหักเงินไว้รวมจำนวน 33,732 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่บริษัทจะหักจากผู้ที่ลงทะเบียนK-ETA  ผ่านร้อยละ 50 ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านจะถูกหักรายละ 500 บาท          แน่นอนว่า คุณพฤกษไม่พอใจที่ถูกหักเงินไว้จำนวนมาก ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่เมื่อศึกษาข้อมูลจากเอกสารของโปรแกรมท่องเที่ยวที่บริษัทได้ให้ไว้ คุณพฤกษพบว่า หลักเกณฑ์ ข้อกำหนดเหล่านี้ถูกระบุไว้ทั้งหมดในเงื่อนไขท้ายโปรแกรม เพียงขณะที่ซื้อทัวร์การสื่อสารของพนักงานบริษัทได้เร่งเร้าให้รีบซื้อและรีบจ่ายเงินเต็มจำนวน นี่คือความผิดพลาดที่ผู้ซื้อทัวร์อาจไม่ทันเฉลียวใจที่คุณพฤกษ์อยากบอกต่อเพราะประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้สูญเงินไปได้เปล่าๆ จำนวนมากและยังไม่ได้เที่ยว!           "เขาเขียนชัดเจนครับ  คือเขาระบุเลยนะว่า กรณีที่เราจ่ายเงินแล้ว และลงทะเบียนไม่ผ่าน เขาจะคืนเงินให้ 50% แต่กรณีผ่านแล้วมีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ไปเขาจะหักไว้ครึ่งนึงแล้วกำหนดเวลาคุณจะต้องทำลงทะเบียน K-ETA เข้าประเทศเกาหลีใต้ให้ผ่าน คือในเอกสารเขามี แต่การขายทัวร์ของเจ้าหน้าที่ของเขาไม่สื่อสารเราแบบนี้"         "ผมอยากให้บริษัททัวร์สื่อสารกับนักท่องเที่ยว กับผู้ซื้อทัวร์ให้ชัดเจน  สื่อสารความเสี่ยงให้ชัดเจนเลยว่า เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเรื่องอะไรบ้าง ให้เน้นเรื่องนี้ตัวแดงบันทึกไว้ทุกที่เลย"  เมื่อเกิดปัญหาจากการซื้อทัวร์ท่องเที่ยว ประชาชนควรทำอย่างไร         เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  มูลนิธิฯ จะแนะนำให้ประชาชนผู้เดือดร้อนติดต่อไปยังสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์กลาง กรมการท่องเที่ยว พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการจองทัวร์ดังกล่าว  โดยกรมการท่องเที่ยวจะดำเนินการดังนี้        o  การสอบข้อเท็จจริง โดยจะนัดหมายบริษัท และประชาชนผู้ซื้อบริการท่องเที่ยวเข้ามาสอบข้อเท็จจริง นายทะเบียนจะพิจารณาข้อสาระสำคัญฝ่ายใดเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายให้เกิดขึ้น เช่น บริษัทนำเที่ยวปฎิบัติตามสัญญาในการนำเที่ยวหรือไม่ หรือมาจากเหตุส่วนตัวของผู้ซื้อทัวร์เอง        o  เมื่อสอบข้อเท็จจริงแล้วจะเจรจาไกล่เกลี่ย หากบริษัทเป็นผู้ทำให้ความเสียหายเกิดขึ้น เช่น คีย์ข้อมูลของนักท่องเที่ยวผิดพลาด ทำให้การลงทะเบียน K-ETA ไม่ผ่าน นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ บริษัทย่อมต้องคืนเงินให้แก่นักท่องเที่ยว        o  กรณีบริษัททัวร์ไม่จ่ายเงินคืน หรือหักเงินนักท่องเที่ยวไว้ส่วนใด บริษัทมีหน้าที่ที่จะต้องแสดงหลักฐานว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนใดเกิดขึ้นอันเป็นความเสียหายต่อบริษัทอย่างชัดเจน หากไม่สามารถระบุได้ บริษัทต้องคืนเงินให้กับนักท่องเที่ยว        o  หากฝ่ายบริษัทเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายกับนักท่องเที่ยว แต่ไม่ยอมชดใช้ความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยว นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หักเงินหลักประกันของบริษัททัวร์นำมาชดเชยความเสียหายให้กับนักท่องเที่ยวไปพรางก่อน หากเงินหลักประกันยังไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด กรมการท่องเที่ยวจะส่งเรื่องนี้ไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียน หาทางออกเพื่อชดเชยความเสียหายของนักท่องเที่ยวในส่วนที่เหลือต่อไป        o  ข้อแนะนำจากกรมการท่องเที่ยวก่อนที่ประชาชนตัดสินใจซื้อโปรแกรมทัวร์คือให้ศึกษาเงื่อนไขท้ายโปรแกรมอย่างละเอียด เพราะส่งผลต่อส่วนได้ ส่วนเสียกับนักท่องเที่ยวอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม >