ฉบับที่ 193 ผลประโยชน์ทับซ้อน

หลายครั้งที่ผลงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งดูมีประโยชน์มากต่อประชาชน จากนั้นความรู้ดังกล่าวก็ได้ถูกใช้ในแวดวงวิชาการอย่างแพร่หลาย ตราบจนวันหนึ่งก็พบความจริงว่า ความรู้ที่ได้จากบทความเหล่านั้นถูกต้องแบบมีการปกปิดซ่อนเร้นความบกพร่องในการเผยแพร่ผลงานวิชาการนั้น อาจเกิดเพราะผู้เผยแพร่ต้องการละเว้นในการแสดงผลงานที่ได้ประจักษ์ทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจาก ถ้าแสดงผลงานครบแล้วอาจไม่ถูกใจผู้ให้ทุนทำวิจัย และยิ่งถ้าเป็นงานวิจัยที่ทำในหน่วยงานของเอกชนที่หวังผลกำไร (Profit organization) การตีพิมพ์ผลงานนั้นต้องผ่านการกลั่นกรองจากองค์กรว่า ไม่กระทบถึงสิ่งที่องค์กรได้ประโยชน์ การปกปิด/เบี่ยงเบน/ละเว้นในการแสดงความจริงในผลงานวิชาการนั้น หลายท่านคงเดาได้ว่ามันคือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจเกิดขึ้น โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาหรือไม่เจตนา หรือบางเรื่องเป็นการปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนไม่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดแต่อย่างใด พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการกระทำความผิดทางจริยธรรมเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์หรือความอยู่รอดของตนเองตัวอย่างของผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพของพลเมืองอเมริกันและพลเมืองในหลายประเทศของดาวโลกดวงนี้คือ การก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่อต้องการลดการได้รับพลังงานในอาหารเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจนั้นให้กำจัดไขมันแล้วเปลี่ยนไปรับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตโดยเฉพาะน้ำตาลทรายแทน เรื่องราวเป็นอย่างไรนั้นขอท่านผู้อ่านโปรดติดตามวารสารออนไลน์ของนิตยสาร Time ได้เสนอบทความของ Alexandra Sifferlin เรื่อง How the Sugar Lobby Skewed Health Research เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2016 ซึ่งกล่าวถึงบทความของนักวิจัยท่านหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดลำดับเลขตัวเดียวของสหรัฐอเมริกาว่า ในช่วงต้นปี 1950 ถึงปลายช่วงปี 1960 อุตสาหกรรมน้ำตาลนั้นได้มีส่วนในการเบี่ยงเบนความเชื่อทางโภชนาการของผู้บริโภคเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจหรือ coronary heart disease (CHD) โดยให้นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยแนวหน้าแห่งหนึ่งทำวิจัยแล้วกล่าวว่า โรคนี้เกิดเนื่องจากไขมันและโคเลสเตอรอล ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งหลายยอมเออออห่อหมกว่า การกินอาหารที่มีไขมันต่ำน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต้นตอของบทความที่ Alexandra Sifferlin นำมาเขียนนั้น เป็นบทความทางวิชาการเรื่อง Sugar Industry and Coronary Heart Disease Research: A Historical Analysis of Internal Industry Documents ของทันตแพทย์ Cristin E. Kearns และคณะ ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อมูลออนไลน์ใน JAMA Internal Medicine เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 บทความนี้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนในวงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากระบุว่า ก่อนปี ค.ศ. 1980 นั้นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดให้ระบุถึงการที่ผู้ทำวิจัยมีผลประโยชน์ทับซ้อนประการใดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันนี้วารสารที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ได้กำหนดให้ผู้เขียนบทความวิจัยต้องระบุเสมอว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่า ผู้ทำวิจัยไม่ได้รับทรัพย์มาทำวิจัยเพื่อกำหนดให้งานออกมาแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้เงินทุนเป็นการเฉพาะทันตแพทย์ Kearns กล่าวว่า ความจริงแล้วได้มีงานวิจัยที่ส่งสัญญานเตือนว่า น้ำตาลทรายนั้นส่อว่าเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตั้งแต่ในช่วงปี 1960 ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้กระตุ้นให้องค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้ค้าน้ำตาลทรายในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งทันตแพทย์ Kearns ระบุชื่อไว้แต่ผู้เขียนไม่ประสงค์จะออกนาม) อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเริ่มตั้งทุนเพื่อทำการทำวิจัยถึงสาเหตุว่า อะไร (ซึ่งต้องไม่ใช่น้ำตาลทราย) คือตัวปัญหาที่ก่อให้เกิดโรคที่บั่นทอนสุขภาพนี้ กว่า 60 ปีมาแล้วที่องค์กรผู้ค้าน้ำตาลในสหรัฐอเมริการณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยใช้พื้นฐานความรู้ที่ได้จากนักวิจัยด้านโภชนาการที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกินอาหารที่มีไขมันสูงและการเพิ่มขึ้นของโคเลสเตอรอลว่า เป็นต้นเหตุของการตีบตันของเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ซึ่งทำให้บุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วโลกแนะนำให้ประชาชนลดปริมาณไขมันในอาหาร ความจริงคำแนะนำนี้ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการค้นพบว่าผักและผลไม้นั้นให้ประโยชน์อย่างมหาศาลต่อร่างกาย ดังนั้นส่วนของไขมันในอาหารที่ถูกลดไปจึงถูกจับจ้องจากกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลว่า เป็นโอกาสที่พลังงานจากน้ำตาลทรายจะเข้าไปแทนที่ ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์อันมหาศาลที่ตามมาท่านผู้อ่านหลายท่านคงพอทราบว่า ด้วยน้ำหนักที่เท่ากันนั้นไขมันให้พลังงานกว่าสองเท่าของคาร์โบไฮเดรต ดังนั้นการเข้าไปแทนที่ไขมันด้วยน้ำตาลทรายนั้น จำต้องใช้น้ำตาลทรายในน้ำหนักที่เป็นสองเท่าของไขมัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้พลังงานเท่าที่ร่างกายต้องการ ประเด็นสำคัญคือ วันหนึ่งเราต้องการพลังงานเท่าไร เว็บของคนไทยบางเว็บกล่าวว่า ผู้หญิงไทยต้องการพลังงานเฉลี่ยวันละ 1500 กิโลแคลอรี ส่วนผู้ชายไทยต้องการ 2000 กิโลแคลอรี ส่วนเว็บฝรั่งมักแนะนำให้ผู้หญิงได้รับพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี และผู้ชายควรได้รับวันละ 2500 กิโลแคลอรี ความแตกต่างนั้นมีผู้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากฝรั่งมีโครงสร้างร่างกายใหญ่กว่าคนไทย ในความเป็นจริงนั้นค่าความต้องการพลังงานของร่างกายคนเราจริง ๆ นั้นไม่ควรเป็นตัวเลขตัวเดียวโดด ๆ  แต่ควรเป็นช่วงของตัวเลข เพราะความต้องการพลังงานในแต่ละวันของมนุษย์นั้นขึ้นกับ ขนาดของร่างกาย อายุ และอุปนิสัยการใช้งานร่างกายว่า ขยับเขยื้อนมากน้อยเพียงใดดังนั้นสิ่งที่น่าจะบอกว่า เราได้รับพลังงานและสารอาหารจำเป็นในแต่ละวันพอหรือไม่นั้นน่าจะสังเกตุได้จากน้ำหนักตัวว่า อยู่ในช่วงที่เหมาะสมของค่า BMI (ดัชนีมวลกาย) ระหว่าง 18.5-24.9 หรือไม่ แม้ว่ามีนักวิชาการไทยบางคนกล่าวว่า คนไทยมีโครงสร้างเล็กกว่าฝรั่ง ค่า BMI ควรเป็น 18.5-22.99 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้คนไทยซึ่งมีค่า BMI 23-24.99 หมดกำลังใจในการลดน้ำหนักเพราะกลายเป็นคนท้วมไปก็อย่าไปสนใจมากนักเลย เพราะถ้าใช้เกณฑ์สากลเขาเหล่านี้จะยังเป็นผู้มีค่า BMI ปรกติอยู่ ค่า BMI ควรเป็นเท่าไรนั้นไม่ใช่เรื่องตายตัว เนื่องจากหลายคนที่มีค่า BMI สูงเกิน 25 ก็ยังปรกติได้เพราะมีมวลกล้ามเนื้อสูงกว่าปรกติ เนื่องจากเขาผู้นั้นเป็นนักเพาะกายหรือเล่นกีฬาที่จำเป็นต้องมีความหนาของกล้ามเนื้อเพื่อความแข็งแรงในการปะทะ ดังนั้นการพิจารณาค่า BMI ควรมองพร้อมไปกับเส้นรอบเอว ซึ่งเป็นตัวบอกความจริงบางประการเกี่ยวกับไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้อง อย่างไรก็ดีปริมาณไขมันหน้าท้องก็แปรเปลี่ยนไปตามอายุ เนื่องจากคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไปนั้นหายากที่หน้าท้องแบนดังนั้นเมื่อร่างกายต้องใช้พลังงานเพื่อดำรงชีวิต เราจึงต้องได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันจากอาหาร แต่เมื่อมีข้อมูลที่กล่าวว่าไขมันและโคเลสเตอรอลเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน จึงเปิดทางสะดวกให้มีการใช้น้ำตาลทรายและน้ำตาลอื่นเป็นแหล่งพลังงานแทน จึงทำให้หลายคนมีโอกาสได้น้ำตาลสูงกว่าความต้องการ เพราะความหวานของอาหารนั้นก่อให้เกิดการเสพติด น้ำตาลนั้นเมื่อถูกกินมากเกินความต้องการ ร่างกายสามารถเปลี่ยนมันเป็นไขมันและโคเลสเตอรอลได้ ดังระบุไว้ในงานวิจัยเรื่อง Dietary fats, carbohydrates and atherosclerotic vascular disease.ของ R.B. McGandy และคณะ ซึ่งตีพิมพ์มานานแล้วในวารสาร New England Journal of Medicine ฉบับที่ 277 หน้าที่ 186-192 ปี 1967นอกจากนี้ในปี 1972 J. Yudkin (ซึ่งได้ทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของน้ำตาลทรายต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ) ได้พิมพ์หนังสือเรื่อง Pure, White and Deadly: The Problem of Sugar (สำนักพิมพ์ Davis-Poynter แห่งกรุงลอนดอน)  ออกมาเพื่อกระตุ้นสังคมให้นึกถึงน้ำตาลทรายบ้างไม่ใช่กลัวแค่ไขมันและโคเลสเตอรอลเท่านั้นสรุปแล้วการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและความอ้วนในปัจจุบันนี้  ควรต่างไปจากเดิม เพราะการระวังเพียงพลังงานจากอาหารอย่างเดียวนั้นดูจะไม่ได้เรื่องเท่ากับการมองว่า พลังงานนั้นมาจากอาหารชนิดใดในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ การเน้นประเด็นเพื่อลดพลังงานลงโดยไปจัดการกับไขมันเป็นหลักนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่นของชาวอเมริกันในปัจจุบัน เพราะแม้จะพยายามกินอาหารที่มีไขมันต่ำลงเพียงใด (แต่เพิ่มน้ำตาลเป็นแหล่งให้พลังงาน) ก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้สักที จนสุดท้ายต้องปล่อยไปตามยถากรรม

อ่านเพิ่มเติม >