ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”

        ในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลเนื่องจากความขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการที่มักง่ายนำวัตถุอันตรายมาใช้กับอาหารเพื่อหวังผลในการป้องกันการเน่าเสียโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค         อาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักพบการปนเปื้อนฟอร์มาลินคือ อาหารทะเล ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปลอมปนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง (ร้อยละ 5.02) โดยพบมากที่สุดในปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ ปลาหมึก ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ  1.55 และกุ้งร้อยละ 0.14 ตามลำดับ          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่าง หมึกกรอบ จำนวน  14 ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง และร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง  แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ        จาก “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ        1) 1576.63 มก./กก. จากตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์ม SHOPEE ร้าน PPN seafood wishing           2) 1238.63 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด อตก. กรุงเทพฯ ร้านคุณจอย ไข่สด        3) 1072.17 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด ปากน้ำ สมุทรปราการ ร้าน หญิง & เต๋อ          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตารางผลทดสอบ        ผลทดสอบสารฟอร์มาลินในหมึกกรอบจำนวน 14 ตัวอย่าง        เก็บตัวอย่างเดือน เมษายน 2566        ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น         วิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน        1.ไม่ซื้อหมึกกรอบที่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก        2.ล้างให้สะอาดก่อนรับประทานด้วยการแช่น้ำนาน 5-10 นาทีแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำอีกสองถึงสามครั้งหรืออาจแช่ด้วยน้ำที่ละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ        3.กรณีกินในร้านอาหารควรรับประทานในปริมาณไม่มาก หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาดอาหารอย่างดีก่อนนำมาเสิร์ฟลูกค้าขอบคุณข้อมูลจากฟอร์มาลิน-ฟอร์มัลดีไฮด์ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)ขอบคุณข้อมูลจากคลิป สูตรปลาหมึกกรอบจากปลาหมึกแห้ง ทำเองไม่ง้อร้าน (trueid.net)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ปัญหาของการทำประมงในอียู และบทบาทของผู้บริโภค

สำหรับประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทำประมงในบ้านเรา ที่เคยถูกอียูแบนสินค้าประมงที่เรียกว่า IUU (Illegal, Unreported und Unregulated ) ซึ่งเป็นมาตรการและนโยบายของทางอียู ในการที่จะรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ให้มีความยั่งยืนไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีมีชีวิตในทะเล ซึ่งนโยบายของอียูที่เคยให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้จนกระทั่งรัฐบาลไทย ได้แสดงความเจตจำนงและตั้งใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวจนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงได้ในที่สุด         ถึงแม้ว่าอียูจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรจากท้องทะเลมากเกินไปก็ตาม แต่สถานการณ์เรื่องนี้ในกลุ่มประเทศอียูก็ไม่ได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภค ต่างก็ยังคงมีข้อกังวลในเรื่องนี้ ในกรณีของประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแฮริง ที่เป็นที่นิยมของบริโภคชาวเยอรมัน สถิติการบริโภคปลาและอาหารทะเลของคนเยอรมัน คือ 13.7 กิโลกรัมต่อประชากร 1 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ปลาทุกชนิดได้ถูกจับขึ้นมาในอัตราความเร็วที่สูงกว่าจนการเกิดและการเติบโตของปลาไม่ทันกับการบริโภค         เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรป อียู จึงได้กำหนดมาตรการ และจำกัดปริมาณการจับปลาในทะเลแอตแลนติก เหนือ และแอตแลนติกตะวันออก (North- East Atlantic Sea)  ทะเลเหนือ (North Sea) และทะเลตะวันออก (East Sea) ปริมาณที่กำหนดในการจับมาจากคำแนะนำขององค์กรทางวิชาการระดับนานาชาติอย่าง International Council for the Exploration of the Sea: ICES) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ปริมาณสัตว์น้ำ ฟื้นตัวได้ทันก่อนปี 2020 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่าไม่สามารถบรรลุได้ทันตามคำคาดการณ์ของที่ปรึกษานโยบายการประมงของสหภาพยุโรป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)1         (1https://www.test.de/Ratgeber-Fischkauf-Arten-schuetzen-Qualitaet-erkennen-1746195-0/) มีปลาหลายชนิดที่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนพีซและWWF แนะนำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ และบางชนิดควรหลีกเลี่ยง เพราะจะไปสนับสนุนการจับปลาแบบทำลายล้าง ซึ่งได้ทำเป็นคู่มือ2 และ application ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่อง การบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2https://issuu.com/greenpeacede/docs/greenpeace_fischratgeber_2016)         ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบกับปริมาณปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในทะเล ก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดสภาพความเป็นกรดมากขึ้นส่งผลให้ปะการังตาย ซึ่งปะการังเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่สำคัญ การตายของปะการังเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ในทะเล และแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของมนุษย์ที่มีแหล่งกำเนิดจากท้องทะเลที่ลดลง         การทำประมงแบบ Aqua Culture (การเลี้ยงปลาในทะเล) จะมีบทบาทที่สำคัญในการทำประมงยุคใหม่ จากรายงานล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ระบุว่า ปลาที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปัจจุบันนี้ครึ่งหนึ่งเป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แบบ Aqua Culture และมีอัตราการขยายตัวของการเลี้ยงปลาแบบนี้ ปีละ 6 % การเลี้ยงปลาในทะเลแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าชายเลนหรือการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่จำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์น้ำบางชนิด ทำให้เกิดความเสียหายในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และ มีปัญหาในด้านสารเคมีตกค้างหรือการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม         จากกรณีปัญหาเรื่องการประมงนี้ในฐานะผู้บริโภค คงต้องกลับมามีสติและบริโภคทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลและต้องช่วยกันรณรงค์บริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่ออนุรักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่นี้  เพื่อส่งมอบให้กับลูกหลานของเราต่อไป (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 12/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ห้างไทยเขาจัดการอย่างไรกับถุงก๊อบแก๊บ

            ทุกวันนี้นักช้อปทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วหรือถุงก๊อบแก๊บปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านใบ เฉลี่ยคนละ 150 ใบ พันรอบโลกได้ถึง 4,200 รอบ (www.oceancrusaders.org) และที่น่าเป็นห่วงคือพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวเหล่านี้ถูกใช้งานเฉลี่ยเพียงแค่ใบละ12 นาที แต่อาจยังเป็นขยะอยู่บนผิวโลกได้ถึง 400 ปี           แม้มันจะทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่สถานการณ์ขยะล้นทั้งบนดินและในทะเลทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินการใช้เพื่อลดการพึ่งพาพลาสติกลง รัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ประเทศไทยซึ่งรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ก็จะเริ่มแบนตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 (ยกเว้นถุงใส่แกง ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์) ในขณะที่หลายประเทศก็ใช้วิธีทำให้ถุงพลาสติกไม่ใช่ของ “ฟรี” อีกต่อไป    “แล้วผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรามีความตื่นตัวเรื่องการลดขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง” จากการสอบถามไปยังผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทย ฉลาดซื้อ ได้รับคำตอบดังนี้ เทสโก้ โลตัส  เทสโก้ โลตัส เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกใน โครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 บริษัทลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 190 ล้านใบ และมอบแต้มคลับการ์ดให้กับลูกค้าที่ไม่รับถุงไปทั้งสิ้น 5,900 ล้านแต้ม ยกเลิกการใช้ถาดโฟมในทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562  มีนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้นในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และ เทสโก้ โลตัส ตลาด ทั้งหมด 1,800 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 เปิดตัว “กรีนเลน” ช่องทางชำระเงินพิเศษปลอดถุงพลาสติก ในสาขาใหญ่ 200 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านค้าปลอดถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 10 แห่ง  ................ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนและทุกวันพุธ  รวมทั้งงดการแจกถุงพลาสติกทั่วประเทศในวันสิ่งแวดล้อมไทย (4 ธันวาคม)  ตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติก 100 ล้านใบ ภายใน 5 ปี ให้คะแนนพิเศษเมื่อลูกค้าช้อปสินค้าที่บิ๊กซีครบตามกำหนด และ ลูกค้าใช้ “ถุงผ้า” หรือ “ตะกร้า” หรือ ลูกค้านำถุงผ้ารักษ์โลกบิ๊กซี กลับมาใช้  หรือ “วิธีการอื่นที่ไม่ใช้ถุงพลาสติก”  ใช้กาบกล้วย ใบตอง วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ภาวชนะโฟม ใน 25 สาขา เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ รัชดา พระราม 4 และวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรมีแผนยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์โฟม สำหรับสินค้าที่บิ๊กซีเป็นผู้ผลิตหรือบรรจุ ในทุกสาขาตั้งแต่ปี 2563เป็นศูนย์กลางรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว เช่น กล่องนม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ และ กล่องน้ำดื่ม ที่บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ทั้ง 107 สาขาทั่วประเทศ เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ประกอบเป็นแผ่นหลังคาเพื่อผู้ประสบภัย อันเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม............... ซีพี ออลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น เริ่มโครงการรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติก ผ่านโครงการ 7 Go Green (เซเว่น โก กรีน) ตั้งแต่ปี 2550  โครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ลดการใช้ถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 663  ล้านใบ คิดเป็นยอดบริจาคกว่า 132 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2562) โดยได้ส่งมอบเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษและแก้วแบบย่อยสลายได้ ใน 300 สาขา ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และแหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ และจะขยายผลไปยังสาขาอื่นๆ ต่อไป โครงการ “รักษ์อันดามัน ร่วมใจลดใช้ถุงพลาสติก” ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว เครือเจริญโภคภัณฑ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติบนเกาะต่างๆ ชุมชนในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการแล้วบนเกาะลันตา เกาะยาวน้อย-เกาะยาวใหญ่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี รวมถึงเกาะเต่า เกาะเสม็ด และเกาะพีพี โครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง ผ่านการสร้างเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก”  ขยายโครงการไปสู่สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นโครงการนำร่องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและสังคม โครงการ “ปฏิเสธถุง...ได้บุญ” หนึ่งในการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในร้านเซเว่นฯ ในโรงพยาบาล เมื่อลูกค้าปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ร้านจะสะสมยอดค่าใช้จ่ายไว้ 0.20 บาทต่อถุง และมอบให้กับโรงพยาบาล ปัจจุบันดำเนินงานในโรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์  และจะมีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง  การนำขยะพลาสติกกลับมาให้ชุมชนใช้ประโยชน์ Recycled Plastic Road จากแนวคิดเศรษฐกิจ หมุนเวียนหรือ Circular Economy ซึ่งนอกจากผลต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ช่วยพัฒนาชุมชน เริ่มที่สาขาสายไหม ซอย 3 และสาขาราษฎร์ พัฒนา ซอย 24 โดยจะพัฒนาและขยายในสาขาต่อๆไป    ........................... เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศเจตนารมณ์เป็นห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยโครงการ THE MALL GROUP GO GREEN ; GREEN EVERYDAY ที่งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน และรณรงค์ให้ลูกค้านำถุงผ้ามาเอง หากมีความจำเป็นต้องใช้ ขอความร่วมมือบริจาค 1 บาทต่อถุง 1 ใบ เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับ WWF-ประเทศไทย............................ กลุ่มเซ็นทรัล จัดแคมเปญ Central Love the Earth ‘Say No to Plastic Bags’ เพื่องดแจกถุงพลาสติกพร้อมประกาศเป็นห้างค้าปลีกรายแรกในไทยที่ปลอดถุงพลาสติกภายในปี 2562 ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกให้ได้กว่า 150 ล้านใบ จัด Green Checkout แคชเชียร์ช่องพิเศษ สำหรับลูกค้าที่งดรับถุงหรือนำถุงผ้ามาเอง    ..................................... สถานการณ์ปัจจุบันในไทย -          คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน (ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ) -          คนไทยสร้างขยะวันละ 1.14 กิโลกรัม มากกว่าร้อยละ 60 เป็นขยะอาหารซึ่งสร้างก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของโลกร้อนเช่นกัน -          ทุกวันมีขยะพลาสติกและโฟมเกิดขึ้น 7,000 ตัน สถานการณ์โลก-          ร้อยละ 50 ของพลาสติกที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา จากเคยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตันในปี 1950 เราผลิตพลาสติกได้ถึง 448 ล้านตันในปี 2015-          ชาวโลกผลิตขยะพลาสติกปีละ 300 ล้านตัน-          โดยรวมแล้ว ประชากรในประเทศที่ร่ำรวยจะสร้างขยะพลาสติกมากกว่าประเทศที่ยากจน คนเยอรมันและคนอเมริกันทิ้งขยะมากกว่าคนในอินเดียและเคนย่าถึง 10 เท่า แน่นอนขยะที่เกิดขึ้นมักถูกส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่แนวโน้มนี่อาจเปลี่ยนไปเมื่อหลายประเทศประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะ-          ในปี 2017 คนยุโรปสร้างขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 32.74 กิโลกรัม ในนั้นมีถ้วยกาแฟแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอยู่ 16,000 ล้านใบ (www.statista.com)  และถึงแม้จะบริหารจัดการขยะได้ดีกว่าที่อื่นๆ ร้อยละ 60 ของขยะในยุโรปก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล-          ร้อยละ 30 ของขยะจากครัวเรือนและสำนักงานในอเมริกา เป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์-          ข้อมูลจาก Ocean Conservancy ในปี 2017 ระบุว่าร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกในทะเล มาจากจีน และสี่ประเทศในอาเซียน (ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย)  -          แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิแห่งชมพูทวีป รองรับขยะพลาสติกปีละ 540 ล้านกิโลกรัม -          ข้อมูลจาก Alliance to end plastic ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาเท่านั้นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่  --- “อย่าลืม” โปรดพกถุงผ้าติดตัวไว้เสมอ เพราะห้างร้านส่วนใหญ่เริ่มการรณรงค์งดให้ถุงพลาสติกแล้ว บางห้างงดทุกวัน บางแห่งงดในวันที่ 4 ของเดือน---

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กันแดดแบบไม่ทำร้ายปะการัง

   จริงๆ เรื่องครีมหรือโลชั่นกันแดดมีผลต่อการตายของปะการัง ได้ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่เพราะเราหลายคนยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า อะไรจะขนาดนั้น ครีมกันแดดปริมาณเพียงเล็กน้อยจากตัวเราจะถึงกับทำให้ปะการังในทะเลซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้    จนเมื่อทางการไทยประกาศว่าจำต้องปิดอ่าวมาหยา บนหมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวที่เคยติดอันดับต้นๆ ของโลก ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ปิดไปแล้วสามเดือนแต่ไม่พบสัญญาณที่ดีขึ้นของการฟื้นฟูของธรรมชาติบริเวณอ่าวดังกล่าว ประเด็นครีมกันแดดกับการตายของปะการังจึงกลายเป็นกระแสอีกครั้ง อะไรในครีมกันแดดที่ฆ่าปะการังสารเคมีสี่ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาวคือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว  ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี    บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด  แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมากและกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังในระยะยาว             บางคนก็ว่าไม่ได้ว่ายน้ำในทะเลเสียหน่อย ไม่เป็นไรน่า อย่าลืมสิว่าเวลาเราอาบน้ำบรรดาสารเคมีอันตรายก็ไหลไปกับท่อน้ำทิ้งและลงสู่ทะเลเช่นเดียวกัน   เพื่อให้สวยอย่างฉลาดและรักษ์โลกไปพร้อมกัน เวลาเลือกใช้ครีมกันแดด ควรมีแนวทางดังนี้  - เปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากสาร Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben    -  ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า    -  ทาครีมกันแดดเฉพาะบริเวณนอกเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ มือ บางกรณีเราอาจใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่มเพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ    -  ร่วมกันรณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนาครีมกันแดดที่ปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 รู้เท่าทันการกินม้าน้ำ

ม้าน้ำ เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในทะเล การแพทย์จีนนิยมนำมาทำเป็นตำรับยาจีนดั้งเดิม เพราะเชื่อว่าช่วยบำรุงกำลังและเสริมสมรรถนะทางเพศ ชะลอความแก่ ต้านมะเร็งเต้านม รักษาหอบหืด อ่อนแรง เป็นต้น จากความนิยมทำให้มีการจับม้าน้ำในมหาสมุทรเพื่อมาจำหน่ายเพราะมีราคาสูง ระหว่าง 18,000-90,000 บาทต่อกิโลกรัม ในแต่ละปี มีการล่าม้าน้ำมาทำยาถึง 150 ล้านตัว คาดว่า ม้าน้ำจะสูญพันธุ์ภายใน 20-30 ปีข้างหน้านี้ จึงต้องมารู้เท่าทันกันเถอะรู้จักม้าน้ำม้าน้ำเป็นปลาชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hippocampus ม้าน้ำเป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์ต่อความรัก เพราะมันจะมีคู่ตัวเดียวตลอดชีวิต ตัวผู้จะมีกระเปาะหน้าท้อง ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 50 ฟองใส่กระเปาะหน้าท้องตัวผู้ ตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อผสมกับไข่ และคอยดูแลไข่จนฟักออกมาเป็นตัว ใช้เวลาระหว่าง 14 วัน – 4 สัปดาห์ อายุของม้าน้ำในธรรมชาติเฉลี่ย 1-5 ปีม้าน้ำกับการแพทย์จีน ม้าน้ำและสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิดถูกนำมาใช้เป็นยาในการรักษาโรคต่างๆ ในการแพทย์จีนใช้ม้าน้ำมาทำเป็นยาบำรุงร่างกายหรือยาดอง ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มความเป็นยินมากขึ้นตามหลักการเรื่องยินหยาง ม้าน้ำยังเกี่ยวกับพลังของตับและไต จึงใช้รักษาหอบหืด หลอดเลือด หย่อนสมรรถภาพทางเพศ โคเลสเตอรอลสูง นอนไม่หลับ และโรคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นพอที่จะยืนยันประสิทธิผลดังกล่าวในสมัยก่อน การใช้ม้าน้ำในหมู่คนจีนเป็นการซื้อจากตลาดชุมชนท้องถิ่นและนำกลับไปปรุงยาที่บ้านเพื่อรักษาตนเอง คนในครอบครัว คนในชุมชน เป็นหลัก แต่ปัจจุบัน ธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงการใช้และการผลิตยาจากม้าน้ำ โดยมีการบดและบรรจุเป็นยาเม็ดขายกันทั่วไป ยาเม็ดดังกล่าวจะมาจากม้าน้ำที่ยังเล็ก ยังไม่โตเต็มวัย ทำให้ม้าน้ำสูญพันธุ์ได้ง่าย ถ้าเป็นม้าน้ำตัวผู้ซึ่งเป็นตัวที่ฟักไข่ที่หน้าท้อง โดยเก็บไข่ของตัวเมียไว้ที่กระเปาะหน้าท้องและฉีดน้ำเชื้อผสม และดูแลไข่จนฟักออกมาเป็นตัว ทำให้ลูกม้าน้ำจำนวนหลายร้อยตัวตายพร้อมกับพ่อม้าน้ำไปด้วยมีงานวิจัยทางการแพทย์รับรองประสิทธิผลหรือไม่ได้พยายามทบทวนงานวิจัยในวารสารวิชาการในต่างประเทศ มีการศึกษาเรื่องม้าน้ำในด้านต่างๆ มากพอควร แต่ไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับประสิทธิผลในการรักษาโรคมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ พบว่า มีคุณสมบัติในการรักษาข้ออักเสบและการอักเสบ เอนไซม์คาเทปซินมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อน อย่างไรก็ตาม ยังต้องการงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพื่อยืนยันขีดความสามารถทางชีวการแพทย์ดังกล่าวเมื่อค้นคว้าใน Cochrane Library ไม่พบว่ามีการทบทวนศึกษาประสิทธิผลของม้าน้ำสรุป แม้ว่าการแพทย์จีนดั้งเดิมเชื่อว่า ม้าน้ำมีสรรพคุณมากมาย รักษาตั้งแต่ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ชะลอความแก่ มะเร็งเต้านม หอบหืด จนถึงตับไต แต่ก็ไม่มีหลักฐานการศึกษาวิจัยที่จะยืนยันประสิทธิผลดังกล่าว จึงไม่ควรส่งเสริมยาจีนที่ทำจากม้าน้ำ เพราะไม่ยืนยันผล และยังเป็นการทำลายม้ำน้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 ผักจากทะเลของโต๊ะโตะจัง

สาหร่ายทะเลแห้ง เป็นสินค้าผักชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนไทย(ยกเว้นผู้เขียนซึ่งไม่ใคร่ชอบกลิ่นทะเล แม้จะชอบอ่านหนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง ก็ตาม) เพราะเป็นอาหารที่มีไอโอดีนและธาตุอาหารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณสูง ที่นิยมกันสุดๆ คือ ปรุงเป็นแกงจืดสำหรับผู้ที่ชอบผักมีกลิ่นคาวและได้ผงชูรสธรรมชาติ หรือเป็นขนมกินเล่นแต่ได้ประโยชน์ สาหร่ายทะเลนั้นเป็นพืชขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่มีแสงแดดส่องถึง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามเม็ดสีภายในเซลล์ คือ สาหร่ายสีแดง สาหร่ายสีน้ำตาล และสาหร่ายสีเขียว คนส่วนใหญ่คุ้นกับสาหร่ายที่ฝรั่งเรียกว่า เคลป์ (kelp) ซึ่งเป็นสาหร่ายสีน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก คนเอเชียที่อยู่ริมทะเลนั้นเก็บสาหร่ายกินกันเหมือนคนอยู่ชายขอบป่าเก็บผักหวานป่ากิน ชาวตะวันตกในอเมริกาและยุโรปเป็นกลุ่มคนท้ายๆ ที่เพิ่งตาสว่างเห็นว่าสาหร่ายทะเลมีประโยชน์ สาหร่ายเป็นแหล่งของโปรตีนคล้ายเนื้อสัตว์ (แต่คุณค่าด้อยกว่า) ชาวญี่ปุ่นและชาวจีนเป็นชาติแรกๆ ที่เห็นคุณค่าของสาหร่าย อาหารญี่ปุ่นและจีนมีเมนูอาหารที่ใช้สาหร่ายเป็นส่วนผสมมาก คนจีนเรียกสาหร่ายทะเลว่า “จีฉ่าย” นิยมปรุงเป็นแกงจืดใส่เต้าหู้หมูสับ มีสาหร่ายทะเลอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกตัดเป็นแผ่นบางรูปสี่เหลี่ยม บรรจุซองพลาสติก ซองละ 4-5 แผ่น เด็กๆ ชอบซื้อกินอาจด้วยชอบรสชาติที่ปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆ   สำหรับคุณค่าสารอาหารของสาหร่ายทะเลนั้นเคยมีผู้ศึกษาพบว่า ทั้งชนิดแผ่นกลมไม่ปรุงรส (จีฉ่าย) และชนิดปรุงรสบรรจุซองมี โปรตีนระหว่าง 10-40 กรัมต่อ 100 กรัม ใยอาหารตั้งแต่ 27-41 กรัมต่อ 100 กรัม (www.healthtodaythailand.net) มีไขมันและแป้งต่ำจึงให้พลังงานราว 366-382 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม ข้อมูลทางวิชาการที่พอเชื่อถือได้ (แต่ก็ต้องฟังหูไว้หูอย่าเชื่อจนงมงาย) กล่าวถึงประโยชน์ของสาหร่ายทะเลว่า การเติมสาหร่ายทะเลเข้าไปในอาหารสามารถชะลอหรือแก้ไขโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้การบริโภคสาหร่ายทะเลนั้นยังมีประโยชน์ในด้าน ขับโลหะหนักและสารรังสี (โดยอาศัยใยอาหารเป็นตัวขัดขวางการดูดซึม แต่ต้องไม่กินสาหร่ายทะเลจากจังหวัดฟูกูชิมะของญี่ปุ่น ซึ่งมีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าปรมาณูรั่วไหล) ขับสารพิษเช่น ไดออกซินและพีซีบีออกจากร่างกาย (เข้าใจว่าเพราะสาหร่ายทะเลคงดูดซึมสารพิษเหล่านี้ไว้ในปริมาณน้อยจึงกระตุ้นระบบทำลายสารพิษของผู้กินเข้าไปให้ตื่นตัว ดังนั้นข้อมูลว่าช่วยขับสารพิษจึงไม่น่าแปลกใจ และมีนักวิจัยญี่ปุ่นตีพิมพ์ใน Journal of Agriculture and Food Chemistry ชุดที่ 50 หน้าที่ 910-917 ในปี 2002 ว่า ใยอาหารในสาหร่ายทะเลช่วยจับสารพิษในทางเดินอาหารไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิตได้) ส่งเสริมระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง (เพราะสาหร่ายทะเลมักมีโปรตีน เบต้าแคโรทีน และสังกะสีซึ่งเป็นสามเสาหลักของระบบภูมิต้านทาน) ป้องกันคอหอยพอก (เพราะสาหร่ายทะเลเป็นแหล่งสะสมไอโอดีนซึ่งจำเป็นต่อการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) ลดน้ำหนัก (เนื่องจากใยอาหารในมื้ออาหารลดปริมาณอาหารที่ให้พลังงานสูงจึงลดการสร้างไขมันในร่างกาย) จึงพบว่าคนเอเชียมักมีรูปร่างบางกว่าคนตะวันตก   ชาวตะวันตกนั้นมักกังวลกับความสะอาดของสาหร่ายทะเล อาจเนื่องจากเคยได้กลิ่นเหม็นเขียวออกเค็มที่หลอนหลังได้พบสาหร่ายเน่าทับซ้อนกันตามชายทะเลในฤดูร้อนช่วงน้ำลงตามชายหาด และมีข้อมูลการวิเคราะห์ปริมาณสารหนูในสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลซึ่งตีพิมพ์ใน Environmental Health Perspective ฉบับที่ 4 ของชุดที่ 115 หน้า 606-608 ในปี 2007 ที่สรุปว่าการกินสาหร่ายทะเลนั้นน่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ เกือบสิบปี (2548) มาแล้วเคยมีผู้ให้ข้อมูลว่า หน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้ตรวจสอบสาหร่ายทะเลแห้งที่มีการปรุงแต่งรสและกลิ่นให้ถูกปากคนไทยมีสารแคดเมียมปนเปื้อนเกิน 2 มก./กก. ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่หลายประเทศกำหนดไว้ ดังที่กล่าวแล้วว่า สาหร่ายทะเลสามารถดูดซับสารเคมีที่อยู่ในทะเลได้ หากขึ้นในบริเวณมีขยะปนเปื้อน ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งโรงงานตามริมทะเลที่มีนิสัยมักง่ายทิ้งลงทะเล สาหร่ายก็ดูดซับสารเหล่านั้นเข้ามาไว้ในเซลล์ ทั่วไปแล้วสาหร่ายทะเลแห้งมีสารหนูประมาณ 30 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งกล่าวได้ยากว่าอันตรายหรือปลอดภัย ในเภสัชตำหรับของยุโรป (Europian Pharmacopia) ยอมให้สาหร่ายเคลป์ที่ใช้ทำยาแผนโบราณมีสารหนูปนเปื้อนได้ถึง 90 ส่วนในล้านส่วน เพราะสารหนูในสาหร่ายทะเลนั้นอยู่ในรูปสารหนูอินทรีย์ซึ่งพิษค่อนข้างต่ำ แม้คนไทยไม่ได้บริโภคสาหร่ายทะเลเป็นอาหารหลักเหมือนกับคน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือ จีน แต่เพื่อความปลอดภัยจึงมีผู้แนะนำในเน็ทว่า ให้กินสาหร่ายแห้งในปริมาณที่ไม่มากเกินปกติ ซึ่งกรณีสาหร่ายแห้งปรุงรสน่าจะไม่เกิน 1- 2 ซองต่อวัน และอย่ารับประทานติดต่อกันหลายวันนัก เพื่อลดโอกาสการสะสมของสารพิษที่อาจมี สำหรับผู้เขียนซึ่งเป็นแฟนพันธุทาง(คือดูบ้างไม่ดูบ้าง) ของเว็บพันทิปดอทคอมได้พบกระทู้ใน ห้องที่เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ ถามว่า “คือช่วงนี้ติดสาหร่ายทอดมากๆ ที่กินบ่อยมากๆ คือ ยี่ห้อXXXX  ค่ะ วันนึงประมาณ 3-4 ถุงใหญ่ค่ะ (ถุงนึงประมาณ 20 แผ่นมั้ง) ทำแบบนี้มาประมาณเดือนนึงละ จะมีอันตรายอะไรไหมคะ กลัวเรื่องเกลือเหมือนกันว่าจะมีโซเดียมเยอะ แต่ก็อร่อย แฮะๆ” มีผู้เข้ามาให้คำตอบประมาณว่า “พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ไขมันเยอะ อ้วน ผงชูรสเยอะมาก เกลือโซเดียมก็เยอะมาก ควรทำตามคำแนะนำข้างซอง บริโภคแต่น้อย ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” ที่น่าสนใจคือมีสาวหนึ่งกล่าวว่า “สาหร่ายปรุงรสพวกนี้มีโลหะหนักปนเปื้อนค่ะ พวกสารหนู แคดเมียม ตะกั่ว ขึ้นอยู่กับแหล่งเพาะเลี้ยง ถ้าใกล้แหล่งอุตสาหกรรม สาหร่ายก็จะดูดซับโลหะหนักเข้าไปมาก แต่จากการสุ่มตรวจพบในปริมาณไม่เยอะค่ะ เพราะส่วนใหญ่จะล้างก่อนเข้ากระบวนการ แต่ก็ไม่ควรทานเยอะ โลหะหนักพวกนี้มันสะสมในร่างกาย นานๆ เข้าก็เป็นอันตราย ยิ่งเด็กเล็กจะมีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพค่ะ” (สาวท่านนี้คงเข้าใจผิดว่า สารพิษที่อยู่ในอาหารทะเลนั้นเหมือนธุลีดินที่ติดเสื้อผ้า) ที่น่ากังวลใจคือ มีข้อมูลกล่าวว่า “ระวังจะเจอสาหร่ายปลอมด้วยนะคะ เคยเห็นในกระทู้ไหนจำไม่ได้แล้ว พี่จีนเอาถุงก๊อบแก๊บมาตี ๆ ปั่น ๆ แล้วอัดมาเป็นสาหร่ายก๊อปเกรด A” ดังนั้นการบริโภคสาหร่ายทะเลย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่ดีนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่เลวได้ถ้ามันมากเกินไปและบ่อยเกินไป เพราะพาราเซลซัสบิดาแห่งวิชาพิษวิทยาได้กล่าวว่า อะไร ๆ ก็ตามในโลกนี้มีทั้งข้อดีและข้อเลว ขึ้นกับปริมาณและความถี่ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการเดินสายกลางในด้านการกินจึงเป็นข้อปฏิบัติที่ดีสำหับผู้บริโภค //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 98 หมูยืดอายุ พรานทะเล ยอมจ่ายหนึ่งหมื่นชดใช้ผู้บริโภค

จากกรณีร้องเรียนเรื่อง “หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่ออายุได้” ซึ่งตีพิมพ์ในฉลาดซื้อฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บัดนี้มีข้อยุติแล้ว หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการห้างเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเลฯ ได้มีหนังสือชี้แจงแสดงความรับผิดชอบตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเยียวยาข้อบกพร่องในการบรรจุสินค้าเป็นเงิน 5,000 บาทกับผู้ร้อง ซึ่งคิดเป็นเงิน 100 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป (ยำ 2 แพ็ค รวมมูลค่า 40 บาท) และชี้แจงเรื่องคุณภาพของอาหารว่า ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ร้องเข้าใจความผิดพลาดในกระบวนการบรรจุว่าเนื้อหมูแดงดังกล่าวยังไม่หมดอายุแต่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผ่านกระบวนการถนอมสภาพด้วยวิธีแช่แข็งทำให้เก็บได้นาน 18 เดือน แต่ซองบรรจุระบุวันหมดอายุก่อนเพราะแต่เดิมผลิตแบบซีล(แช่เย็น) ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต่อมาผู้ร้องได้โทรศัพท์ติดต่อบริษัทฯ ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปมากหลายเท่า บริษัทฯ จึงได้ต่อรองขอให้ผู้ร้องมารับค่าเสียหายไปจำนวน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธ...บริษัทฯ จึงเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความเป็นธรรมและให้ช่วยประสานงานให้ผู้ร้องมารับเงินซึ่งบริษัทยินดีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ร้องว่า ยินดีที่จะรับเงินเยียวยาความเสียหายตามที่บริษัทฯเสนอมาหรือไม่ ได้รับคำตอบจากผู้ร้องว่ายินดีและพร้อมที่จะถอนแจ้งความบริษัทด้วย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้บริโภคกับฝ่ายเจ้าของสินค้าได้ไปส่งมอบเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง สถานีย่อยในนิคมเมืองใหม่บางพลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2552 เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผู้บริโภคที่ไม่มองข้ามปัญหาที่บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภครายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และใช้สิทธิร้องเรียนโดยทันที จนได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ต้องฟ้องร้องกัน ในขณะเดียวกันต้องขอชมเชยบริษัทพรานทะเลฯ ที่ผิดแล้วก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยรวดเร็ว งานนี้ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทั้งสองฝ่าย มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัย หรือติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำคือให้เร่งดำเนินการคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายรูป มีพยานบุคคล หรือการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยทันทีเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็นการร้องเรียนที่มีเจตนาไม่ชอบ และประสานไปยังผู้ขายหรือผู้ผลิตให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นอาจให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และควรมีการเรียกค่าเสียหายที่ชัดเจนตามสมควร หากผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ถ้าต้องการเรียกค่าเสียหายสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งจะช่วยเหลือทั้งการเจรจาและการช่วยเขียนคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ส่วนความผิดในทางอาญานั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โทษส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการได้รับคือการถูกปรับเป็นเงินเข้ารัฐทั้งหมด ส่วนผู้เสียหายอาจได้เงินค่าสินบนนำจับจำนวนหนึ่งหลังจากคดีเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข่าวจาก อย. ว่าได้จ่ายเงินสินบนนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนแต่ละปีเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ช่วยลงประกาศในเว็บไซต์ของ อย. ก็ยังดี ชาวบ้านจะได้ตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างมีชีวิตชีวา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้

เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552 คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551 “ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า “การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ” จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ผลทดสอบ เห็ดหอม เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายทะเล

ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอรายงานผลการทดสอบของแห้งสำหรับปรุงอาหารยอดนิยม 3 ชนิดคือ เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายทะเลแห้ง ครับผลการทดสอบที่จะนำเสนอคราวนี้มาจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกันยายน และครั้งที่สอง เดือนพฤศจิกายน 2552 โดยเก็บตัวอย่างจากทั้งในห้างสรรพสินค้าและในตลาดสด ของพื้นที่ดำเนินงานโครงการฯ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สตูล และสงขลา เห็ดหอมแห้ง จำนวนรวมของตัวอย่างที่ทดสอบ คือ 17 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ครั้งที่ 1 จำนวน 9 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 จำนวน 8 ตัวอย่าง 1. การทดสอบสารตกค้างทางการเกษตรประเภทยากันรา พบยากันรา (คาร์เบนดาซิม: Carbendazim) 12 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง + ทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 2 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมด ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.33 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณที่พบสูงสุด 3 อันดับแรก ดังนี้ (1) 1.71 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อและไม่ระบุผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น (2) 0.67 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่มียี่ห้อ และไม่ทราบผู้ผลิต เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูล (3) 0.54 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตราตะวัน บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เก็บตัวอย่างจากบิ๊กซี จังหวัดมหาสารคาม 2. การทดสอบสารเคมีตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate) พบตัวอย่างที่ปนเปื้อนสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต 9 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 5 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 4 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.016 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณสารเคมีที่พบซึ่งมีค่าสูงกว่า 0.02 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 2 ตัวอย่าง คือ (1) ยี่ห้อเทสโก้ โลตัส ปริมาณที่พบ 0.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาจังหวัดสมุทรสงคราม และ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.035 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ 3. การทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน จำนวน 5 จาก 17 ตัวอย่าง จากการทดสอบครั้งที่ 1 จำนวน 3 ตัวอย่าง และ จากการทดสอบครั้งที่ 2 จำนวน 2 ตัวอย่าง หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวอย่างทั้งหมด มีปริมาณเฉลี่ยที่พบเท่ากับ 5.42 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (เทียบเท่ากับ 1 ใน 4 ของปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ซึ่งระบุไว้ว่าไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม) โดยมีปริมาณอะฟลาทอกซินทั้งหมดที่พบสูง 3 อันดับดังนี้ (1) ตราคุ้มค่า ของ บ. ตะวันพืชผล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ปริมาณที่พบ 11.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สาขาบางประกอก กรุงเทพฯ (2) ยี่ห้อ บิ๊กซี ของ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต ปริมาณที่พบ 8.1 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างบิ๊กซี สาขาพระราม 2 กรุงเทพฯ (3) ยี่ห้อ เทสโก้ โลตัส ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด กรุงเทพฯ ปริมาณที่พบ 5.0 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 7 ตัวอย่าง จาก 17 ตัวอย่าง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เชื้อรา (Mold) ซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดในกระบวนการผลิต และมีอัตราเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 1,764.3 โคโลนี/กรัม (เกณฑ์มาตรฐานกรมวิทย์ฯ เท่ากับ 500 โคโลนี/กรัม)2. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่าง (อีก 15 ตัวอย่าง ไม่ได้วิเคราะห์) ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินมาตรฐาน โดยทั้งสองตัวอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบ 2,379.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่พบเท่ากับ 2,065.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม3. ผลิตภัณฑ์กว่า 3 ใน 4 ของที่เก็บตัวอย่างไม่สามารถระบุวันผลิตและวันหมดอายุได้ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีอายุแค่ไหน เหมาะสมแก่การบริโภคหรือไม่4. ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากห้างค้าส่งหรือค้าปลีกขนาดใหญ่หรือผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสด ล้วนมีความเสี่ยงจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร อะฟลาทอกซิน หรือแม้กระทั่งซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่แตกต่างกัน ** อย่างไรก็ตามปริมาณการปนเปื้อนในเห็ดหอมแห้งที่พบโดยภาพรวมยังถือว่ามีปริมาณไม่มากนัก และไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายฉับพลันจากการบริโภค ยกเว้น แต่ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจจะพบอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจจากการบริโภคเห็ดหอมแห้งที่มีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูงได้   เห็ดหูหนูขาว เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 16 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน และครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 ครั้งละ 8 ตัวอย่าง) 1.พบการปนเปื้อนของยากันรา – คาร์เบนดาซิม 2 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ทั้งหมดพบในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 2552 คิดเป็นร้อยละ 12.5 โดยตัวอย่างที่พบ ได้แก่ ยี่ห้อปลาทอง ของ บ. เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาสตูล ปริมาณที่พบ 0.282 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดพะเยา ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2.พบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร กลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 6 จาก 16 ตัวอย่าง โดยทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ค่าเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.073 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารเคมีที่พบ มี 2 ชนิดคือ Methamidophos (จำนวน 2 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 0.28 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ตามลำดับ) และ Chlorpyrifos (จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.0037 – 0.0027 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจาก ห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม, ตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพฯ, ห้างแมคโคร เชียงใหม่, และตลาดเมืองพะเยา 3.พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในตัวอย่างทั้งสิ้น 12 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ ปริมาณเฉลี่ยที่พบ 1,638.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มี 8 ตัวอย่างที่พบมีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานวัตถุเจือปนอาหาร (1,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ดังนี้ (1) ตัวอย่างนำเข้าจากประเทศจีนไม่ทราบยี่ห้อ ที่เก็บจากตลาดนิวกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3,588 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ยี่ห้อ Tai Liang Yao เก็บตัวอย่างจากตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพ ฯ ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,978.7 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(3) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 3 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,585 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ของ บ. ทริปเปิ้ลทู มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ สาขารังสิต ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 เดือน กันยายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,226.6 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,250.49 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (6) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,183.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการเก็บตัวอย่างครั้งทื่ 2 เดือนพฤศจิกายน 2552 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2,038.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเทศบาล 2 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 1526.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4.พบสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน 1 จาก 16 ตัวอย่างที่ทดสอบ โดยเป็นตัวอย่างที่เก็บจากการเก็บต้วอย่างครั้งที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 52 ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม สารพิษที่พบ คือ อะฟลาทอกซิน ชนิด B1 ปริมาณที่พบ 0.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ข้อสังเกต1. มีผลิตภัณฑ์จำนวน 1 ตัวอย่างจากทั้งหมด 16 ตัวอย่างที่พบค่าเชื้อรา (Mold) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสะอาดจากการผลิตเกินมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ไม่เกิน 500 โคโลนี/ต่อกรัม) ที่จำนวน 5,800 โคโลนี/กรัม โดยเป็นตัวอย่าง ยี่ห้อตะวัน ของ บริษัท บ.เอกชัยดิสทริ บิวชั่นซิสเทม เก็บตัวอย่างจากห้างเทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม2. ผลิตภัณฑ์ที่เก็บส่วนใหญ่ ( 14 จาก 16 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 87.5) ไม่มีการระบุวันผลิตและวันหมดอายุ สาหร่ายทะเลแห้ง เก็บตัวอย่างทั้งสิ้น 22 ตัวอย่าง (ครั้งที่ 1 เดือนกันยายน 52 จำนวน 7 ตัวอย่าง และ ครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 15 ตัวอย่าง) ผลทดสอบ1.ไม่พบการปนเปื้อนของสารกันรา – คาร์เบนดาซิม ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ2.พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต 10 จาก 22 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 52 จำนวน 2 ตัวอย่างและตัวอย่างที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 52 จำนวน 8 ตัวอย่าง ปริมาณเฉลี่ยของสารเคมีที่พบเท่ากับ 0.005 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณบริโภคปกติจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย3.ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ 4.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก ตะกั่ว (Lead) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.57 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของ ค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนด (ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) เมื่อนำมาตรฐานมาเทียบพบว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ตัวอย่างมีค่าตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐาน (ร้อยละ 13.6) โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนกันยายน 2552 จำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ เขียวธรรมชาติ เก็บตัวอย่างจาก เทสโก้ โลตัส สมุทรสงคราม ปริมาณที่พบ 1.31 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อ Seaweed ผลิตโดย Poo tradind and export ,Pinang , Malaysia เก็บตัวอย่างจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 1.88 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อ ใบเขียว ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ปริมาณที่พบเท่ากับ 1.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5.พบการปนเปื้อนของโลหะหนัก แคดเมียม (Cadmium) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบเท่ากับ 1.86 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ เกือบสิบเท่าของมาตรฐานอาหารสากลกำหนด (CODEX ใบผัก – 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแคดเมียมสูงกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีทั้งสิ้น 9 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากตลาดสดมหาสารคาม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เดือนพฤศจิกายน 52 ปริมาณที่พบเท่ากับ 5.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 4.66 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Donghu seaweed เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองสตูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณที่แคดเมียมที่พบ เท่ากับ 3.93 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(4) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเมืองพะเยาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 3.26 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(5) ผลิตภัณฑ์ที่เก็บตัวอย่างจากตลาดเทศบาล 2 จังหวัดขอนแก่น เดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(6) สาหร่ายทะเลแห้งยี่ห้อปลาทองของ บ.เฮอริเทจ สแน็ค แอนด์ฟู้ด เก็บตัวอย่างจากเทสโก้ โลตัส สาขาสมุทรสงคราม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.3 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(7) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเป็นภาษาจีน เก็บตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.11 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(8) ผลิตภัณฑ์นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบเท่ากับ 2.09 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(9) สาหร่ายทะเลแห้งตราแมกซ์ นำเข้าโดย บจก.แมกซ์เมริตี้ เก็บตัวอย่างจากห้างสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2552 ปริมาณแคดเมียมที่พบ เท่ากับ 2.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ข้อมูลที่ต้องลงกำกับไปพร้อมกับตาราง • ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดลภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่นคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่ -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ฉลาดซื้อ “ของแห้ง”1. ทั้ง เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาวและสาหร่ายแห้ง ส่วนมากเป็นอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงยากที่เราจะทราบเรื่องวันเดือนปีที่ผลิต ดังนั้นวิธีการง่ายๆ ที่เราพอจะทำได้ในการสังเกตคุณภาพของอาหารแห้งเหล่านี้ก็คือ ดูที่บรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ไม่มีร่องรอยฉีกขาด หรือดูไม่สะอาดจนน่าสงสัย2. ขึ้นชื่อว่าอาหารแห้ง ตัวผลิตภัณฑ์ก็ต้องอยู่ในสภาพที่แห้งจริงๆ ไม่มีความชื้น เพราะถ้าหากมีความชื้นปนเปื้อนมาในอาหารแห้งที่เราซื้อ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าสินค้าตัวนั้นไม่มีคุณภาพ3. เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูขาว และสาหร่ายแห้ง ที่ซื้อมาควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย แช่น้ำให้นานๆ ก่อนนำไปปรุงอาหาร ช่วยกำจัดได้ทั้งฝุ่นและแมลงตัวเล็กๆ ที่มักปนเปื้อนมากับอาหารแห้ง รวมทั้งยังช่วยชะล้างสารเคมีบางชนิดได้ด้วย 4. ไม่เลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูขาวจนผิดธรรมชาติ เพราะมีการปนเปื้อนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกขาวแน่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 108 สาหร่ายทะเลอบกรอบ

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านนิตยสารฉลาดซื้อทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับหนังชีวิตเรื่องยาวของการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค ฉบับก่อนผมนำเสนอข้อมูลผลการทดสอบนมโรงเรียนไป ก็ปรากฎว่ายังมีปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนมโรงเรียนประเภทพาสเจอร์ไรส์ และจนถึงขณะนี้เราได้เก็บตัวอย่างเพิ่มอีกสองครั้งแล้ว ไว้คอยติดตามผลกันนะครับ ส่วนในฉบับนี้ผมขอนำเสนอทุกท่านด้วยเรื่อง สาหร่ายอบกรอบ ของกินเล่นอาหารว่างเทรนด์ใหม่มาแรง สาหร่ายทะเลอบกรอบ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา ด้วยว่ามีคุณสมบัติและคุณประโยชน์ที่มากมาย จัดเป็นแหล่งอาหารที่มีไอโอดีนและแร่ธาตุอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูง แต่ว่าไม่มีอะไรดีไปทั้งหมด สาหร่ายทะเลพบแร่ธาตุอาหารที่ดีมากก็จริง แต่ก็พบสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพด้วยครับ จากการเฝ้าระวังเรื่องการปนเปื้อนของสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในสาหร่ายทะเลในอดีตพบว่า ปัญหาสำคัญที่พบในสาหร่ายทะเลกินเล่นก็คือ การปนเปื้อนของสารแคดเมียม ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายในปริมาณที่น่ากังวลครับ ดังนั้นการเก็บตัวอย่างสาหร่ายทะเลอบกรอบครั้งนี้ จึงเน้นที่การปนเปื้อนของสารแคดเมียม ตะกั่ว อะฟลาท็อกซินและปริมาณของโซเดียมครับ การเก็บตัวอย่าง เราสุ่มเก็บตัวอย่างได้ทั้งสิ้น 21 ตัวอย่าง 18 ยี่ห้อ จากพื้นที่ 8 จังหวัดดำเนินงาน โดยมีรายชื่อยี่ห้อสินค้าดังนี้ ซาลิมิ รสเข้มข้น (2 ตัวอย่าง), ซีเฟรนด์, แมกซ์, เทสโก้, ซันวา, ชนิชา, คุณฟิล์ม (2 ตัวอย่าง คือรสดั้งเดิมและรสต้มยำ), ตะวันแดง, โชกุเนะ (รสต้มยำ), ซีลีโกะ (รสต้นตำรับ), แม่โจ้, เถ้าแก่น้อย ( 2 ตัวอย่าง, Japanese panda, ชุมชนวัดแจ้ง, คาบูกิ, BI-NO ZAMBAI, A.JINTSUKE NORI, และ ยังบัน   ผลการทดสอบ1. พบเชื้อ อะฟลาท็อกซินเล็กน้อย ในผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากจังหวัดสงขลา 2 ยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ A.JINTSUKE NORI ที่ปริมาณ 0.08 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และยี่ห้อ ยังบัน ที่ปริมาณ 0.11 ไมโครกรัม/กิโลกรัม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529) 2. สาหร่ายเกือบทุกตัวอย่างที่ตรวจหาสารตะกั่ว (19 ตัวอย่าง) พบว่ามีตะกั่วสะสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.162 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีสาหร่ายยี่ห้อใดมีค่าเฉลี่ยสูงเกินค่าตะกั่วสูงสุดที่รับได้ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ (1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม :ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529) 3. พบแคดเมียมปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ตรวจ (19 ตัวอย่าง) และทุกตัวอย่างมีค่าแคดเมียมสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานสากล (CODEX) 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 2.323 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และมีตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 8 ตัวอย่าง (7 ยี่ห้อ) มีค่าแคดเมียมสูงกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ได้แก่ ซีลีโกะ (ต้นตำรับ) 6.91 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, เถ้าแก่น้อย 5.368 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, A.JINTSUKE NORI 4.551 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, เทสโก้ 3.99 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, แมกซ์ 3.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ซันวา 2.95 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, และ ซาลิมิรสเข้มข้น จำนวน 2 ตัวอย่าง พบค่าแคดเมียมที่ 2.91 และ 2.399 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ ข้อสังเกตจากการทดสอบเราได้ตรวจพบสารเคมีการเกษตรตกค้างในผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่เก็บจากจังหวัดพะเยา และ จังหวัดเชียงใหม่ โดยพบสารเคมีกลุ่ม ออร์กาโนฟอสเฟต ชนิด Ethion ในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเถ้าแก่น้อยที่เก็บจากจังหวัดพะเยา และผลิตภัณฑ์สาหร่ายทอดแม่โจ้ ที่เก็บจากจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังพบสารเคมีและกลุ่ม Organophosphorus ชนิด Triazophos กับ Triphenyl phosphate ในผลิตภัณฑ์สาหร่ายทอดแม่โจ้ที่เก็บจากจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตามปริมาณสารเคมีที่พบในตัวอย่างทั้งสองที่เก็บจากจังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงใหม่ นั้นถือว่าอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก คือไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กินแต่น้อย อร่อยพอดีๆ สาหร่ายทะเลอบกรอบ อย่างไรก็ยังจัดว่าเป็นของกินเล่นที่ดี เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ให้ระวังอย่ารับประทานมากเกินไป กินแต่น้อย อร่อยพอดีๆ นะครับ เพราะหนึ่ง รสชาติเค็ม จะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมสูง สองจากการทดสอบจะเห็นว่า มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณค่อนข้างสูง แม้เมื่อเทียบในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอาจจะถือว่าเล็กน้อย แต่เราก็ไม่ควรสะสมสารโลหะหนักในร่างกายให้มากไป จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพในภายหลังครับ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------เรื่องน่ารู้เกี่ยวแคดเมียมแคดเมียม คือโลหะที่เป็นเงาวับใช้ทำสิ่งของต่างๆ เช่น เส้นลวด กันชนรถยนต์ และกิจการอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีประมาณร้อยละ 50 ใช้ในการเคลือบเงาด้วยไฟฟ้าที่เรียกว่า Electroplated coating จะได้ผิวโลหะที่เคลือบด้วยแคดเมียมเป็นเงางามและทนต่อการกัดกร่อนไม่เป็นสนิม โลหะที่เคลือบด้วยแคดเมียมจะใช้ในอุปกรณ์รถยนต์ต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนของเครื่องยนต์และส่วนประกอบอื่นๆ รวมไปถึงน๊อตและสกรูด้วย นอกจากนั้นโลหะเคลือบแคดเมียมยังใช้เป็นชิ้นส่วนของเครื่องบิน วิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น และอื่นๆ อีกมากมาย จากการใช้อย่างกว้างขวางทำให้พบโลหะแคดเมียมปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม บรรยากาศ และในอาหารที่คนเรากินโดยทั่วไป ดังนั้นมนุษย์เราจึงได้รับแคดเมียมเข้าไปในร่างกายได้หลายทางโดยไม่รู้ตัว เช่น คนงานที่ทำงานใช้โลหะแคดเมียมจะได้รับทางการหายใจเป็นส่วนใหญ่ คนทั่วๆ ไปจะได้รับจากอาหารที่กินเข้าไปเป็นหลัก และได้รับจากอากาศเล็กน้อย ขึ้นกับความสะอาดของอากาศ แต่คนที่สูบบุหรี่จะได้รับโลหะแคดเมียมจากบุหรี่มากพอสมควร แคดเมียมในอาหาร จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งผลิตอาหารและการปนเปื้อนของแคดเมียมในสิ่งแวดล้อมซึ่งเข้าไปปนอยู่ในน้ำและในดิน บริเวณใดที่มีโลหะแคดเมียมในดินสูงและมีการปลูกพืชบริเวณนั้น จะมีปริมาณแคดเมียมในพืชนั้นสูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น กรณีของบางเมืองในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณตอนใต้ของการทำเหมืองแร่ จะมีโลหะแคดเมียมถูกชะลงมาตามน้ำและสะสมในดิน เมื่อปลูกข้าวในบริเวณนั้นจะพบว่ามีปริมาณของแคดเมียมในข้าวสูงมาก จนทำให้คนญี่ปุ่นที่รับประทานข้าวจากบริเวณนั้นป่วยเป็นโรคพิษจากแคดเมียม กันมากมาย เพราะฉะนั้นน้ำจึงเป็นตัวพาแคดเมียมไปสะสมในที่ต่างๆ ถ้ายิ่งน้ำฝนที่เป็นกรดด้วยก็จะเพิ่มปริมาณการสะสมแคดเมียมในดิน พืชจึงดูดไปสะสมได้มากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานปลอดภัยในการได้รับแคดเมียมไว้ว่า คนปกติไม่ควรได้รับแคดเมียมเกิน สัปดาห์ละ 0.40 - 0.50 มิลลิกรัม ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   พิษของ แคดเมียมและโรคที่เกิดขึ้นการได้รับแคดเมียมจำนวนมากอาจทำให้ เกิดพิษเฉียบพลันได้ แต่ส่วนใหญ่โรคที่เกิดจากแคดเมียมมักเป็นชนิดเรื้อรัง โดยการได้รับแคดเมียมติดต่อกันเป็นเวลานาน โรคที่เกิดอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้ 1. โรคปอดเรื้อรัง การได้รับแคดเมียมนานๆ และในปริมาณมากโดยเฉพาะจากการหายใจ จะทำให้เกิดการอุดตันภายในปอด ผู้ที่มีความเสี่ยงมากคือคนทำงานกับผงแคดเมียมโดยตรง เช่น โรงงานแบตเตอรี่ขนาดเล็ก 2. โรคไตอักเสบ จะแสดงออกโดยมีการอักเสบของไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท่อในไตซึ่งจะพบแคดเมียมในปัสสาวะสูง มีโปรตีน กลูโคสสูงในปัสสาวะ การทำงานทางท่อในไตเสียการทำงาน พบว่ามีการสะสมของแคดเมียมที่หมวกไตก่อให้เกิดการอักเสบและเป็นอันตรายต่อไป และอาจเป็นไตวายได้ในที่สุดการเกิดโรคไตอักเสบนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ว่าจะไม่ได้รับแคดเมียมต่อไปแล้ว แต่ไตก็ยังไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาดังเดิมได้ 3. โรคกระดูก แคดเมียมทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมออกมาในปัสสาวะสูง และอาจมีแคดเมียมเข้าไปสะสมในกระดูกทำให้กระดูกพรุน และมีอาการปวดกระดูกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการปวดกระดูกสะโพก เช่นที่เกิดกับชาวญี่ปุ่นที่เมืองฟูซู ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า อิไตอิไต (itai itai) หรือ เอาซ์ เอาซ์ (ouch ouch) 4. โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ พบว่าแคดเมียมทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมากและมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการร่วมกันกับโรคไตดังที่กล่าวมาแล้ว 5. โรคมะเร็ง มีข้อมูลการศึกษาติดตามคนงานที่ทำงานสัมผัสกับแคดเมียม เช่น โรงงานทำแบตเตอรี่แห้งขนาดเล็ก พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด สูงกว่าคนทั่วไปและอาจมีผลต่อการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งของต่อมลูกหมากด้วย   ตารางผลทดสอบสาหร่ายอบกรอบกินเล่น   มาตรฐาน Aflatoxin  (µg/kg) < 20 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) Lead (mg/kg) < 1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) Cadmium (mg/kg) ประเทศไทยยังไม่กำหนด ส่วนมาตรฐานของโคเด็กซ์ กำหนดไว้ ไม่เกิน 0.2 mg/kg     สาหร่ายอบกรอบปรุงรส     วันผลิต/ วันหมดอายุ % Salt Aflatoxin Lead Cadmium Yeast Mold     (µg/kg) (mg/kg) (mg/kg) (cfu/g) (cfu/g)   ซาลิมิ รสเข้มข้น 03-08-2009/03-08-2010 5.27 Not detected 0.363 2.91 < 10 3 X 10 กรุงเทพ ซีเฟรนด์ 25-03-2010 2.88 Not detected 0.074 0.342 < 10 < 10   แมกซ์ 30-09-2010 4.35 Not detected 0.245 3.04 < 10 < 10   เทสโก้ 09-09-09/09-10-10 4.74 Not detected 0.287 3.99 < 10 < 10   ซันวา ไม่ทราบ 5.28 Not detected 0.221 2.95 < 10 < 10 สมุทร ชนิชา ไม่ทราบ 1.51 Not detected 0.097 1.26 < 10 < 10 สงคราม คุณฟิลม์ ไม่ทราบ 1.01 Not detected 0.032 1.32 < 10 < 10   ตะวันแดง ไม่ทราบ 4.72 Not detected 0.078 1.17 < 10 < 10   คุณฟิล์ม (รสต้มยำ) 16/07/09 16/01/10 1.41 Not detected 0.2 0.65 < 10 13 ขอนแก่น โชกุเนะ (รสต้มยำ) 8/5/2009 08/03/10 1.46 Not detected 0.07 0.54 13 10   ซีลีโกะ (ต้นตำรับ) 11/4/2009 11/04/10 2.94 Not detected 0.16 6.91 < 10 10 เชียงใหม่ แม้โจ้ ไม่แสดงวันหมดอายุ ไม่ได้วิเคราะห์ Not detected ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้วิเคราะห์ < 10 15 พะเยา เถ้าแก่น้อย ไม่ทราบ ไม่ได้วิเคราะห์ Not detected ไม่ได้วิเคราะห์ ไม่ได้วิเคราะห์ < 10 < 10   Japanese panda ไม่ทราบ 0.7 Not detected Not detected 1.33 < 10 สตูล เถ้าแก่น้อย ไม่ทราบ 3.34 Not detected 0.297 5.368 < 10   ชุมชนวัดแจ้ง ไม่ทราบ 2.32 Not detected 0.053 1.238 < 10   คาบูกิ ไม่ทราบ 2.85 Not detected 0.2 1.872 < 10   BI-NO  ZAMBAI ไม่ทราบ 3.01 Not detected 0.113 1.565 < 10   A.JINTSUKE NORI ไม่ทราบ 2.74 0.08 0.203 4.551 < 10 สงขลา ยังบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 ทะเลไฟ : เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น

    นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เรอเน่ เดการ์ตส์ เคยประกาศคำขวัญคำคมเอาไว้ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อันเป็นการวางศิลาฤกษ์ให้กับห้วงสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ว่า “I think, therefore I am” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็น”     สังคมตะวันตกที่ก่อรูปก่อร่างมากับกรอบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เชื่อในหลักการที่ว่า การเข้าถึง “ความจริง” ในชีวิตของมนุษย์ จะเกิดจากการนั่ง “มโน” หรือดำริคิดเอาเองไม่ได้ หากแต่ต้องคิดอย่างแยบคายและมีเหตุผลบนหลักฐานที่จับต้องรองรับได้แบบเป็นรูปธรรมเท่านั้น    ดังนั้น ข้อสรุปของเดการ์ตส์จึงถูกต้องที่ว่า “เพราะฉันคิด” แบบมีหลักการเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ และมีหลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ “ฉันจึงเป็น” หรือกลายมาเป็น “มนุษย์” ที่มีตัวตนอยู่ตราบถึงทุกวันนี้    แต่อย่างไรก็ดี เมื่อได้นั่งชมละครโทรทัศน์เรื่อง “ทะเลไฟ” อยู่นั้น คำถามแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวสมองก็คือ ตรรกะหรือคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะใช้ได้หรือไม่กับสังคมไทยที่ไม่ได้ผ่านการปฏิวัติวิทยาศาสตร์มาอย่างเข้มข้นแบบเดียวกับโลกตะวันตก    หาก “ทะเลไฟ” คือภาพวาดที่สะท้อนมาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้ว ดูเหมือนว่า ความคิดเชื่อมโยงแบบมีเหตุมีผล และความคิดที่ใช้ตรรกะจากประจักษ์พยานหลักฐานมาพิสูจน์ อาจไม่ใช่สิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบคิดของตัวละครหลักที่ชื่อ “พศิกา” และ “เตชิน” เท่าใดนัก    ด้วยเพราะผิดหวังในความรักเป็นจุดเริ่มเรื่อง บุตรสาวของปลัดกระทรวงใหญ่อย่างพศิกาจึงตัดสินใจหนีไปทำงานเป็นเลขานุการที่รีสอร์ตบนเกาะไข่มุกของ “อนุพงศ์” ผู้เป็นบิดาของพระเอกเตชิน ก่อนที่อนุพงศ์จะส่งเธอไปเรียนต่อยังต่างประเทศ     อันที่จริงแล้ว เมื่อเริ่มต้นเรื่อง พศิกากับเตชินได้เคยพบเจอกันมาก่อนในต่างแดน และต่างก็แอบชอบพอกัน เพราะประทับใจในตัวตนจริงๆ ที่ได้รู้จักกันในครั้งนั้น แต่ทว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อทั้งคู่มีเหตุให้ต้องกลับมาเมืองไทยโดยไม่ได้ร่ำลา และได้โคจรมาพบกันอีกที่เกาะไข่มุก    กับการพบกันใหม่อีกครั้ง เตชินเกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้หญิงที่เขาแอบรักอย่างพศิกามีสถานะเป็นภรรยาน้อยของบิดาตนเอง กอปรกับการถูกเป่าหูโดยคุณแม่แห่งปีอย่าง “นลินี” ที่หวาดระแวงตลอดเวลาว่า สามีของเธอจะแอบซุกกิ๊กนอกใจเป็นหญิงสาวรุ่นลูกอย่างพศิกา    เพราะหูสองข้างที่ต้อง “หมุนวนไปตามลมปาก” ของมารดา ทำให้เตชินโกรธเคืองพศิกาโดยไม่ต้องสืบสาวหรือค้นหาเหตุผลความเป็นจริงใดๆ มาอธิบาย และกลายเป็นชนวนแห่งความชิงชังในแบบละครแนว “ตบๆ จูบๆ” ที่พระเอกต้องทารุณกรรมนางเอก (แม้จะหลงรักหล่อนอยู่ในห้วงลึก) ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จนสาแก่ใจ    ในขณะเดียวกัน “อันอารมณ์หากเหนือเหตุผล ความแค้นก็แน่นกมล กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้” นลินีจึงยังคงติดตามราวี และจ้างวานบุคคลรอบข้างหรือใครต่อใครให้ระราน และลงมือทำทุกอย่างเพื่อเขี่ยพศิกาออกไปจากเกาะไข่มุก และออกไปจากชีวิตของเตชิน ที่ต่อมาภายหลังก็เริ่มมีสติที่จะเรียนรู้ว่า พศิกาอาจไม่ใช่ผู้หญิงร้ายกาจแบบที่มารดาคอยเสี้ยมหูยุแยงเขาอยู่ตลอด    และที่สำคัญ เมื่ออคติเข้ามาบดบังนัยน์ตา คุณแม่ดีเด่นอย่างนลินีจึงมองข้ามข้อเท็จไปว่า บรรดาตัวละคร “บ่างช่างยุ” ที่อยู่รายรอบชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทที่เป็นผู้จัดการแผนกต้อนรับอย่าง “สุดารัตน์” หรือเครือญาติที่สุดารัตน์เอามาช่วยงานอย่าง “สง่า” รวมไปถึงพนักงานในรีสอร์ตคนอื่นๆ อย่าง “ทรงศักดิ์” “นวลพรรณ” “เอกรัตน์” และอีกหลายคน แท้จริงแล้วคนเหล่านี้ต่างหากที่ไม่เคยหวังดี และเบื้องหลังก็แอบคอร์รัปชั่น พร้อมกับทำลายกิจการเกาะไข่มุก เพราะเคียดแค้นอนุพงศ์มาตั้งแต่ครั้งอดีต    ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและฝังลึกอยู่ในโครงสร้างใหญ่ของสังคม ดูจะไม่ใช่ปัญหาที่เคยเข้ามาอยู่ในสายตาหรือห้วงสำนึกของตัวละครคนชั้นกลางกลุ่มนี้เสียเลย ตรงกันข้าม ปัญหาจุกจิกแบบเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หรือชิงรักหักสวาทต่างหาก ที่คนเหล่านี้สนใจและมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งในชีวิตเสียนี่กระไร    กว่าที่เตชินและนลินีจะค่อยๆ หวนกลับมาเจริญสติ และคิดใคร่ครวญด้วยปัญญา เหตุผล และการใช้หลักฐานต่างๆ พิสูจน์สัจจะความจริง และกว่าที่ทั้งคู่จะพบกับคำตอบจริงๆ ว่า เรื่องราวของพศิกากับอนุพงศ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการ “มโน” และ “ฟังความไม่ได้ศัพท์ แต่ดันจับไปกระเดียด” ขึ้นเท่านั้น เกาะไข่มุกที่อยู่กลางสมุทรก็แทบจะลุกฮือกลายเป็น “ทะเลไฟ” ไปจนเกือบจะจบเรื่อง    หากภาพในละครจำลองมาจากภาพใหญ่ที่ฉายมาจากฉากสังคมจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องเหล่านี้ ก็เผยให้เห็นว่า สำหรับสังคมไทยที่ “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” นั้น “เหตุและผล” ไม่ได้เป็นระบบคิดที่หยั่งลึกในสำนึกของคนไทย เพราะวิธีการได้มาซึ่งความรู้หรือความจริงของสังคมเรานั้น มักจะเป็นแบบ “คิดไปเอง” “เชื่อไปเอง” “มโนไปเอง” หรือแม้แต่ “ฟังเขาเล่าว่าต่อๆ กันมา”     และผลสืบเนื่อง “เพราะไม่คิด ฉันจึงเป็น” เช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาในสังคมไทยจึงมักเป็นการสาละวนอยู่กับปัญหาแบบปลอมๆ ปัญหากระจุกกระจิก และไม่ใช่แก่นสาระหลักในชีวิตแต่อย่างใด     ในทางตรงกันข้าม การตั้งคำถามเชิงพินิจพิเคราะห์ไปที่ปัญหาแท้จริง ซึ่งฝังรากลึกๆ อยู่ในโครงสร้างของสังคมอย่างปัญหาคอร์รัปชั่น หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ เหล่านี้มักกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม และทิ้งให้ปัญหานั้นยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสืบต่อมา    ก็อย่างที่บทเพลงเพื่อชีวิตเขาเคยกล่าววิจารณ์สังคมไทยในท่ามกลางความสับสนว่า “คืนนั้นคืนไหนใจแพ้ตัว คืนและวันอันน่ากลัวตัวแพ้ใจ ท่ามกลางแสงสีศิวิไลซ์ อาจหลงทางไปไม่ยากเย็น...”    ตราบเท่าที่ตัวละครอย่างเตชินและนลินียังคง “แพ้ตัวและแพ้ใจ” หรือ “ฝันไกลไปลิบโลก” และตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ลองหันมาขบคิดถึง “ความจริง” รอบตัวกันด้วย “เหตุและผล” และเบิ่งตาดู “ความเป็นจริงที่แท้จริง” แล้ว สังคมเราก็คงต้องว่ายเวียน “อับโชค” และตกลงกลาง “ทะเลไฟ” อยู่นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point