ฉบับที่ 252 ‘Stop Loss’ วินัย วินัย และวินัย

        เดี๋ยวนี้การเทรดเป็นอาชีพที่มีคนสนใจกว้างขวาง หุ้น ทองคำ คริปโตฯ เยอะขนาดว่าบางคนต้องเขียนบรรยายโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียว่าไม่สนใจเพราะมักจะมีนักเทรดมาขอเป็นเพื่อนเพื่อชักชวนเข้าสู่วงการ         เทรดเดอร์ (Trader) หรือนักเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาอยู่คนละฟากฝั่งกับนักลงทุน (Investor) พวกเขาเน้นถือหุ้นระยะสั้น เข้า-ออกตามจังหวัดกำไร-ขาดทุน เฝ้าดูและวิเคราะห์กราฟเพื่อหาหุ้นที่น่าเข้าไปเล่น ซื้อๆ ขายๆ เพื่อทำกำไร ฟังดูเหมือนงานง่าย รายได้ดี ไม่หรอก เทรดเดอร์ทุกคนผ่านช่วงเวลาเสียหายหนักๆ มาแล้วทั้งนั้น ใช้เวลาไปมากมายกับการเรียนรู้ การอ่านกราฟ การดู Bid และ Offer กับอีกสารพัด         ไม่ว่าคุณคิดจะเดินสายไหนก็จำเป็นต้องหาความรู้เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณเก่งจริงก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ ดูอย่างจอร์จ โซรอส ผู้เก็งกำไรในทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่หุ้นยันค่าเงิน        พื้นที่นี้เคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่าจะเทรดเดอร์หรือนักลงทุน สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันคือวินัย         ถ้าคุณจะใช้วิธีลงทุนแบบ DCA หรือซื้อเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกเดือนในหุ้นหรือกองทุนรวม คุณก็ต้องมีวินัยในการทำตามแผนการออมระยะยาว เทรดเดอร์ก็เช่นกัน และวินัยที่สำคัญมากๆ หรืออาจจะสำคัญที่สุดก็คือการ Stop Loss หรือตัดขาดทุน         อธิบายให้ง่ายที่สุด คุณเป็นเทรดเดอร์เข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 10 บาท ถ้าหุ้นราคาขึ้นคุณก็ปล่อยให้กำไรวิ่งไปเรื่อยๆ Let’s Profit Run แต่ถ้าจะขาดทุน คุณวางเกณฑ์ไว้เลยว่าถ้าขาดทุน 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ขาดทิ้งทันที ถ้าหุ้นตัวนี้ลงไปที่ 9 บาทก็ถึงเวลาที่คุณต้องขายโดยไม่มีเยื่อใย         อันนี้แบบเข้าใจง่ายๆ เทรดเดอร์มืออาชีพนี่เขาวิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกว่าจะตัดขาดทุนราคาไหน ไม่หมูแบบนี้หรอก        แต่คนส่วนใหญ่ทำตรงกันข้าม         พอกำไรนิดๆ หน่อยๆ รีบขาย เช่นขึ้นไป 12 บาท กำไร 20 เปอร์เซ็นต์เชียวนะ ขายเลย สุดท้ายราคาไปต่อ 15 บาท 17 บาท 19 บาท ศัพท์ในวงการเรียกขายหมู         ตรงข้าม พอขาดทุนถึงจุดที่ต้อง Stop Loss แล้วกลับเสียดาย เข้าข้างตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็กลับขึ้นมาอีก กอดหุ้นจนตัวตาย สุดท้ายแทนที่จะขาดทุนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์ 70 เปอร์เซ็นต์ วงการติดดอย สูงด้วย         ถึงบอกไงว่าความรู้สำคัญที่สุดและต้องมาควบคู่กับวินัยที่สำคัญพอๆ กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ว้าย สร้อยทองมีตำหนิ

        คุณอรวรรณซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท จากร้านขายทองแห่งหนึ่ง จากนั้นได้นำไปเก็บไว้ในตู้เซฟ ที่บ้าน หนึ่งสัปดาห์ต่อมาคุณอรวรรณนำสร้อยเส้นดังกล่าวออกมาเพื่อสวมใส่แทนเส้นเดิมที่ใส่ประจำ และขณะที่กำลังสลับจี้เพชรใส่สร้อยเส้นใหม่ เธอสังเกตว่า สร้อยทองเส้นดังกล่าวมีตำหนิที่ตรงรอยต่อ          คุณอรวรรณจึงรีบนำสร้อยกลับไปขอเปลี่ยนกับทางร้าน แต่พนักงานบอกกับคุณอรวรรณว่า หากจะเปลี่ยนสร้อยเส้นใหม่ ต้องเสียค่าเปลี่ยนเพิ่มอีก 800 บาท “เอ้า ของมีตำหนิ ทำไมไม่เปลี่ยนให้ แถมคิดเงินเพิ่มอีก” คุณอรวรรณรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเลย จึงโทรขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพบว่าทองที่ซื้อมามีตำหนิ ร้านส่วนใหญ่จะมีใบรับประกัน เราสามารถใช้เงื่อนไขในคำรับประกันนำไปขอเปลี่ยนหรือคืนเงินได้ หากร้านทองจะคิดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนควรต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บเพิ่มนั้นเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น เป็นค่ากำเหน็จกรณีเปลี่ยนสร้อยทองลายใหม่หรือไม่  ถ้ามีเหตุผลก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภค หากไม่พอใจควรขอคืนสินค้า คุณอรวรรณจึงนำสร้อยทองไปร้านและขอคืนเงินเพราะไม่ต้องการของมีตำหนิ ซึ่งร้านยินดีคืนเงินให้ เรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ทองคำบริสุทธิ์ช่วยฟื้นฟูผิวหน้าให้เต่งตึงได้ จริงหรือ?

  ทองคำ นับเป็นอัญมณีล้ำค่าตลอดกาล มนุษย์มักจะให้ความสำคัญกับอัญมณีที่มีค่าและหายากมาสัมพันธ์กับสุขภาพกายและความงามเสมอ มีประวัติการนำทองคำบริสุทธิ์มาดัดแปลงใช้กับส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้า โดยเชื่อว่าจะช่วยชะลออายุผิวพรรณตั้งแต่ครั้งยุคของพระนางคลีโอพัตรา และมีใช้ในระดับผู้นำสูงสุดอีกหลายทวีป เช่น จีน อัฟริกา รวมทั้งยุโรป  แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ว่าทองคำจะช่วยชะลอความเหี่ยวย่นของผิวหนังได้อย่างไร แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของทองคำได้ออกสู่ตลาดในหลายรูปแบบ ทั้งครีมทาผิว ครีมพอกหน้า รวมทั้งแผ่นทองคำเปลวบริสุทธิ์ 24 เค สำหรับพอกหน้า เราจะมาดูว่ามีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้างที่พอจะเชื่อถือได้ว่าทองคำมีส่วนดีต่อสุขภาพทางกายและความสวยงาม และก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้หรือไม่ การนำทองคำมาใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่มจากหลักฐานทางการวิทยาศาสตร์ พบว่าโลหะทองคำบริสุทธิ์ จะไม่มีปฏิกิริยากับสารเคมีใดๆ หรือต่อเซลล์ของร่างกายเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรืออาการข้างเคียง สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้รับรองและอนุญาตให้ทองคำจัดอยู่ในกลุ่มสารเติมแต่งผสมในอาหารได้ (Food Additives) ในประเทศเยอรมนีและยุโรปหลายประเทศ มีการนำแผ่นทองคำเปลวหรือในรูปผงบดละเอียดมาประยุกต์ใช้ตกแต่งอาหาร รวมทั้งการผสมในเครื่องดื่มยี่ห้อเก่าแก่   เช่น  Goldschläger, Gold Strike, and Goldwasser. ซึ่งจัดอยู่ในประเภทเครื่องดื่มสุขภาพที่แพงจัด ในประเทศทางแถบเอเชีย เช่น บาหลี มีการนำทองคำมาผสมในการทำขนมหวาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากโลหะทองคำมีคุณสมบัติเฉื่อย จึงไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อมในร่างกาย  ดังนั้นจึงไม่มีรสชาติ และไม่มีคุณค่าทางอาหาร และจะถูกขับออกจากร่างกายได้โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงใดๆ   ทองคำกับการรักษาโรค เป็นความเชื่อของคนยุคโบราณว่าทองคำมีศักยภาพของการสมานโรค (Healing power) ช่วยให้สุขภาพที่แย่ดีขึ้น ทางการแพทย์ได้มีการทดลองนำแร่ทองคำมาเตรียมให้อยู่ในรูปของเกลือ (Goldsalts) พบว่าอนุพันธ์ดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบและบวมช้ำของโรคเก๊า (Rheumatoid arthritis) ซึ่งได้มีการทดลองนำมารักษาโรคดังกล่าวไม่น้อยกว่า 80 ปีที่ผ่านไป กลไกยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าแร่ทองคำสามารถต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากข้อกระดูกที่อักเสบ ทำให้บรรเทาความเจ็บปวดและบวมช้ำได้ผล อย่างไรก็ตาม การฉีดแร่ทองคำในรูปแบบของเกลือหรือโกลด์ซอล์ท จะก่อให้เกิดอันตรายข้างเคียงในการยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวได้ และยังมีผลสะสมในตับและไตอีกด้วย ผู้ที่ได้รับการรักษาจึงควรจะคอยตรวจเช็คเลือดอย่างสม่ำเสมอ   ทองคำกับการลดเลือนริ้วรอยจากการค้นพบทางการแพทย์ที่ว่า ทองคำสามารถต้านอนุมูลอิสระได้และส่งผลให้เกิดกลไกในการต้านอาการอักเสบของข้อกระดูกในโรคเก๊าได้ผลดี ทำให้นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเชื่อว่า “ด้วยกลไกเดียวกันนี้โลหะทองคำน่าจะมีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสสระของผิวหนังและต้านอาการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากรังสียูวีได้” จึงมีการนำทองคำมาประยุกต์ใช้ผสมในเครื่องสำอางที่มีราคาแพงในรูปแบบต่างๆ เพื่อประโยชน์ของการยืดอายุผิวพรรณและลดเลือนริ้วรอยแห่งวัย ปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดทางวิทยาศาสตร์ว่าประสิทธิภาพการชะลออายุผิวพรรณเมื่อใช้ทองคำเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆว่าจะคุ้มราคาหรือไม่   ความเป็นพิษและอาการข้างเคียงแม้ว่าแร่ทองคำบริสุทธิ์ไม่เป็นพิษหรือไม่ระคายเคืองต่อเซลล์ร่างกาย แต่ถ้าแร่ทองคำได้ถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการทางเคมีให้อยู่ในรูปของเกลือหรือโกล์ดซอล์ท จะมีอันตรายต่อไต ต่อตับ และยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดหากได้รับเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนั้นยังพบว่าแร่ทองคำมีผลทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองผิวหนังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงดังกล่าวมักพบในผู้หญิง จนได้รับการโหวตให้เป็นสารก่อภูมิแพ้ในปี 2001 โดยสมาคมโรคผิวหนังของสหรัฐอเมริกา   เอกสารอ้างอิง1. Gold: From Wikipedia, the free encyclopedia2. Rheumatoid arthritis and metal compounds—perspectives on the role of oxygen radical detoxification Analyst, January 1998, Vol. 123 (3–6).

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 “มูลค่า” ในกายทองคำ

  “มูลค่า” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “value” นั้น เป็นหัวใจหลักหรือเป็นคุณค่ามูลฐานที่สำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมแห่งการบริโภค  แล้ว “มูลค่า” กลายมาเป็นมูลฐานแห่งชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไร? เราอาจควานหาคำตอบได้จากโฆษณาผลิตภัณฑ์ประทินผิวยี่ห้อหนึ่งที่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์  โฆษณาชิ้นนี้เปิดฉากมาด้วยความอลังการของราชสำนักจีนในอดีตอันไกลโพ้น โดยเริ่มด้วยภาพของขุนนางนายหนึ่งส่งถวายแหวนทองคำให้แด่พระจักรพรรดิ แล้วพระองค์ก็นำแหวนมาร้อยเป็นสร้อยคล้องคอของราชินีรูปงาม ทันใดนั้นพระศอของพระนางก็เปล่งฉัพพันรังสีแห่งทองคำออกมาในบัดดล  เสียงผู้บรรยายสตรีก็พูดขึ้นในโฆษณาว่า “ผู้ใดได้ครอบครองทองคำ ผู้นั้นจะคงความเปล่งประกายแห่งวัยและความรักชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงกลายเป็นสุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด…”   ภาพตัดกลับมาที่ราชินีรูปงามขี่ม้าหนีศัตรูที่ตามล่าไปถึงหน้าผาแห่งหนึ่ง เมื่อพระนางจวนตัวและกำลังจะถูกชิงแหวนทองคำไป พระนางจึงกระชากแหวนทองออกจากพระศอ แล้วเขวี้ยงลงไปในหุบผา พร้อมกับเสียงผู้บรรยายกล่าวต่อไปว่า “...และแล้วฟ้าก็ลิขิตให้มันสูญหายไปในกาลเวลา...” จากนั้นโฆษณาก็ตัดมายังภาพแหวนที่กลิ้งลงไปด้านล่างของหน้าผา แล้วสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ประทินความงามบรรจุขวด พร้อมเสียงบรรยายว่า “…จนถึงวันที่อานุภาพแห่งทองคำกลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อสานต่อความรักให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์...” บัดนี้ราชินีนางนั้นได้กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน เธอเดินอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ และเอื้อมไปหยิบแหวนทองคำขึ้นมาเชยชม พร้อมกับมีรัศมีออร่าเปล่งออกมาจากเรือนกายของเธอ ชายหนุ่มเดินเข้ามาในร้านวัตถุโบราณ เขาถึงกับตะลึงงันและสัมผัสได้ถึงอดีตชาติที่แฝงอยู่ในรัศมีทองคำที่เคลือบกายของหญิงสาวนางนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แต่เธอก็ยังมี “ผิวที่เปล่งประกายดุจวัยเยาว์” ก่อนที่โฆษณาจะจบลงด้วยภาพของผลิตภัณฑ์ที่เปล่งรัศมีออร่าสีทองฉานต่อสายตาของผู้ชม จากโฆษณาข้างต้น ดูเหมือนว่า “ทองคำ” มิใช่จะเป็นแค่ “ทองคำ” หรือเป็นแค่ธาตุทางธรณีวิทยาชนิดหนึ่งที่ชำแรกอยู่ในสายแร่เหมือนกับโลหะชนิดอื่น ก่อนที่มนุษย์เราจะเพียรขุดค้นแร่ธาตุดังกล่าวนั้น ขึ้นมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย แต่ทว่า “ทองคำ” ดูจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เรา “เสกมนตรา” ให้มีมูลค่าบางอย่างที่มากเกินโลหะวัตถุ และจะมีก็แต่เฉพาะมนุษย์บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น ทองคำจึงมิใช่วัตถุที่มีไว้สำหรับปัจเจกบุคคลทั่วไป แต่เป็นวัตถุที่จำเพาะไว้ก็แต่ราชินีรูปงามที่จะมีไว้คล้องพระศอของพระนางเท่านั้น และยิ่งเมื่อมาถึงในกาลปัจจุบัน ทองคำจากพระศอของราชินีงามได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของสาวๆ รุ่นใหม่ ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์เราได้กำหนดมูลค่าบางอย่างที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นให้กับวัตถุอย่างทองคำ ในอดีตนั้น มูลค่าที่มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนนั้น จะเป็นบรรดามูลค่าที่เกิดจากอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทุกครั้งที่มนุษย์เราเสพหรือบริโภควัตถุใดๆ เป้าหมายเบื้องแรกสุดของเราก็มักจะเป็นการใช้วัตถุแห่งการบริโภคเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด หรือเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์บางประการต่อตัวเรา   ตัวอย่างของมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์นี้ก็เช่น เรากินข้าวบริโภคอาหารก็เพื่อให้อิ่มท้อง เราสวมเสื้อผ้าก็เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เราใช้ครีมชะโลมผิวก็เพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวกาย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบริโภคข้าว เสื้อผ้า และครีมบำรุงผิว ก็คือการบริโภคใน “มูลค่าใช้สอย” ของวัตถุต่างๆ ดังกล่าว จนเมื่อยุคสมัยผ่านไป ดูเหมือนว่า การบริโภคเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่ออิ่มท้อง อาจไม่ใช่เป้าหมายเดียวและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของผู้คนอีกต่อไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้เริ่มรู้จักมักคุ้นที่จะพัดพาเอามูลค่าแบบใหม่มาฉาบเคลือบให้กับชีวิตของตนเอง ด้วยเหตุดังกล่าว ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงได้สร้างวัตถุอย่างทองคำขึ้นมา ก็เพื่อให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ทองคำธรรมดาๆ หรือเป็นทองคำที่ผนวกมูลค่าเชิงความหมายหรือ “สัญญะ” ที่จะบอกคนอื่นว่า หากใครได้ครอบครองสัญญะแห่งทองคำแล้ว คนนั้นก็จะ “เปล่งประกายแห่งวัยเยาว์และความรักชั่วนิรันดร์”   ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรจีนโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จึงไม่ได้ไล่ล่าแค่วัตถุแบบทองคำ แต่เป็นการทั้งไล่และทั้งล่าตามหา “สัญญะ” หรือมูลค่าเชิงความหมายที่แนบมาในทองคำ เพราะมูลค่าเชิงสัญญะที่อยู่ในทองคำนี่เอง จะทำให้ผู้ครอบครองมูลค่าดังกล่าวมีอำนาจเปล่งประกายรัศมีเหนือผู้อื่น และเป็นรัศมีออร่าที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา   และที่น่าสนใจก็คือ ในยุคอาณาจักรจีนโบราณนั้น แม้จะมีการกำหนดคุณค่าแห่งสัญญะเอาไว้ในวัตถุอย่างทองคำ แต่มนุษย์เราหรือราชินีรูปงามก็พร้อมจะสลัดมูลค่าดังกล่าวทิ้งลงหุบเหวไป หากแม้นว่าสัญญะดังกล่าวได้ผันกลายเป็น “สุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด” ที่จะเข้ามาครอบงำมวลมนุษย์เอง   แต่ในยุคแห่งการบริโภคแล้ว อำนาจแห่งสัญญะนั้น จะมืดหรือจะสว่างก็คงไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนว่า จะเป็นมนุษย์เรานั่นเองที่จับเอามูลค่าสัญญะในทองคำมาบรรจุเอาไว้ในขวด ก่อนที่เราเองก็จะเลือกเอาสัญญะนั้นมาฉาบเคลือบชะโลมผิวพรรณให้เปล่งประกาย   มูลค่าเชิงสัญญะที่เคลือบเอาไว้ถ้วนทั่วสรรพางค์กายเช่นนี้ จึงทำให้มนุษย์เราติดกับอยู่ในวังวนของสิ่งปลอมๆ เพราะมันมิใช่การบริโภคของจริงที่เป็นรูปธรรม(แบบข้าวปลาอาหารที่เป็นอรรถประโยชน์ใช้สอยจริง ๆ) แต่ทว่า การบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงการเสพความหมายเชิงนามธรรม ที่ยิ่งกินยิ่งประทินยิ่งเสพ เราเองก็จะถูกลวงล่อว่าดูดีมีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น มนุษย์เรามีต่างเพศต่างผิวพรรณกันเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว แต่หากในวันนี้ ผู้หญิงรูปงามบางคนเริ่มใช้ผิวกายที่เปล่งรัศมีทองคำออกมาแสดงความหมายว่า เธอดูดีดูเด่นดูมีคุณค่ากว่าบุคคลอื่น ๆ บางทีเราเองก็อาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า แล้วมูลค่าในกายทองคำเป็นมูลค่าอันแท้จริงของอิสตรีกันจริงหรือ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point