ฉบับที่ 111 ลิขสิทธิ์ = ปิดโอกาส?

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพูดถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เรามักจะได้ยินกันจนชิน คือเรื่องของเทปผี ซีดี/ดีวีดีเถื่อน ที่ว่าด้วยการสูญเสียผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสำนักพิมพ์ ค่ายหนัง ค่ายเพลง ฯลฯ เสียมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักคือเรื่องของลิขสิทธิ์จากมุมมองของผู้บริโภค เช่นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถซื้อได้ หรือสิทธิในการทำสำเนาเพื่อแบ่งปันงานลิขสิทธิ์ที่ผู้บริโภคได้ซื้อมาอย่างถูกต้อง รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐให้มีการสร้างหรือใช้ประโยชน์จากงานที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการแบ่งปันอีกเป็นต้น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางการรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขต/ระยะเวลาการคุ้มครอง การเพิ่มระดับการปราบปราม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัสดุเพื่อการเรียนรู้มีราคาแพงขึ้นหรือหาได้ยากขึ้นสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังต้องอาศัยการต่อยอดจากงานที่มีการสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังถูกปฏิเสธเสรีภาพในการใช้สินค้าในแบบที่ควรจะสามารถทำได้อีกด้วย ว่าแล้วเรามาดูกันว่าถึงวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไหนจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้ของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน A2K Global surveyสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคของกฎหมายลิขสิทธิ์ของ 34 ประเทศจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในประเด็นต่อไปนี้ • ขอบเขต/ระยะเวลาคุ้มครอง  • อิสระในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ • เสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน • การบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายเราพบว่า• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีกฎหมายที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากกว่า (ในอันดับที่ 13 19 และ 20 ตามลำดับ)• สถานภาพทางเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาไม่ใช่ตัวแปรชี้วัดการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สวีเดน อเมริกา บังคลาเทศและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในสิบอันดับต้น  ในขณะที่อังกฤษและเคนย่าต่างก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับยอดแย่• ประเทศส่วนใหญ่ยังทำคะแนนได้น้อยในเรื่องของเสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน  ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างงานที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สนับสนุนการใช้ ครีเอทีฟ คอมมอน และซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และใช้ประโยชน์จากงานที่ยังไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ให้มากขึ้น• โดยรวมแล้วสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีก็คือเรื่องของการเข้าถึงและการใช้โดยสื่อมวลชน (แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อยมาก เพราะสื่อเหล่านี้มีงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) Top ten ประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้มากที่สุด 10 อันดับ1. อินเดีย2. เลบานอน3. อิสราเอล4. สหรัฐอเมริกา5. อินโดนีเซีย 6. อัฟริกาใต้7. บังคลาเทศ 8. โมรอคโค 9. สวีเดน 10. ปากีสถาน กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเหล่านี้ ระบุข้อยกเว้นไว้อย่างกว้างๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานจากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เรียกข้อยกเว้นนี้ว่า “การใช้งานอย่างเป็นธรรม” ในขณะที่สวีเดนและเลบานอนเรียกว่า “การทำสำเนาเพื่อการใช้ส่วนตัว” (โดยไม่ได้ระบุว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถใช้เพื่อการบันเทิงได้ด้วย) Bottom tenประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด 10 อันดับ1. ชิลี2. จอร์แดน 3. อังกฤษ 4. เคนยา5. ไทย6. อาร์เจนตินา7. บราซิล8. แซมเบีย9. อียิปต์ 10. ญี่ปุ่น   ประเทศไทยได้เกรดเฉลี่ย C- โนอา เมทธินี  นักกฎหมายอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในการสำรวจครั้งนี้บอกว่า โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีในสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เนท รวมถึงยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้บริโภคไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยยังต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอย่างอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอียู ซึ่งต้องการกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขึ้น  ขณะนี้นักศึกษาสามารถทำสำเนาตำราเรียนเพื่อใช้ส่วนตัวได้ แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การจะทำสำเนาได้จะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและยากขึ้น  ----- หมายเหตุ  ถ้าดูจากตาราง สหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำข้อตกลงทางการค้ากับเราและเรียกร้องให้เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มขึ้นนั้น ให้อิสระกับประชาชนในประเทศในการทำสำเนา และคัดลอกไฟล์ มากกว่าบ้านเรามากทีเดียว ประโยชน์ของภาคธุรกิจกับสิทธิผู้บริโภค ... สมดุลที่ต้องตามหา ภาคธุรกิจมักอ้างว่าควรมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายจากเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์ทางเน็ท แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแชร์ไฟล์เป็นสาเหตุหลักของการขาดทุนของธุรกิจเพลง แต่มีหลักฐานว่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ทางเลือกของภาคธุรกิจ• ในแคนาดา สมาคมนักแต่งเพลงของแคนาดาเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อให้คนสามารถแบ่งปันเพลงกันได้อย่างถูกกฎหมาย • บริษัทวอร์เนอร์สาขาประเทศจีน ออกแผ่นดีวีดีไม่กี่วันหลังภาพยนตร์ออกฉาย โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 70 บาท• หลายประเทศให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตัลด้วยค่าบริการที่สมเหตุสมผล เช่น Spotify (www.spotify.com)  หรือ Hulu (www.hulu.com) เป็นต้น • ปล่อยฟรีไปเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็นผลงานสังกัดค่ายเพลงอินเตอร์เน็ท (netlabel)  เช่น เพลงของ Radio Head หรือ Nine Inch Nails ซึ่งการปล่อยฟรีในที่นี้เท่ากับเป็นการโปรโมทให้ผลงานของตนเองเป็นที่รับรู้โดยผู้ฟังจำนวนมาก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- COPY COPY COPY  เมื่อการทำสำเนามีค่าใช้จ่าย  ในแคนาดา เสปน ยูเครน สวีเดน จะคิดภาษีเพิ่มในอุปกรณ์เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่ใช้สื่อบันทึก อย่างแผ่นซีดี ดีวีดีเปล่า เป็นต้นแต่นั่นยังเข้มไม่เท่าที่อิตาลี ที่ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 100 ยูโร (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อ “สิทธิในการทำสำเนาเพื่อใช้เอง” ซึ่งได้แก่ภาษีที่ต้องเสียเมื่อซื้อซีดี ดีวีเปล่า เมมโมรี่สติ๊ก หรือมือถือมัลติมีเดีย และค่าธรรมเนียมในการดาวน์โหลดจากร้านเพลงออนไลน์ และภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ในการทำสำเนาด้วย) เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมจะยั่งยืนได้ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ถูกจำกัด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้  ติดตามการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงความรู้ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลและความเคลื่อนไหวขององค์กรสมาชิกได้ที่ http://a2knetwork.org/ ---พบกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไทย เรื่องของอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ในฉลาดซื้อฉบับ 112 (มิถุนายน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point