ฉบับที่ 133 กระแสต่างแดน

  เที่ยวบินขาขึ้น สายการบินที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลแล้วยังอยู่ดีมีแฮงนั้นยังพอมีอยู่ในโลก สายการบินโบลิเวียนา ของรัฐบาลประเทศโบลิเวีย เป็นหนึ่งในนั้น ถ้ายังจำกันได้สายการบินอาลิตาเลีย (Alitalia) ของอิตาลี ถูกขายให้กับเอกชนไปในปี 2551 ตามด้วยสายการบินโอลิมปิก (Olympic) ในปีต่อมา หรือแม้แต่สายการบินแห่งชาติของอาร์เจนตินา ก็ต้องได้รับการต่อลมหายใจด้วยเงินภาษีกว่า 23,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว โบลิเวียนา นั้นนอกจากจะไม่ขาดทุนแล้วยังกลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 50 ของเที่ยวบินในประเทศ เบียดสายการบินเอกชน ไอโรซูร์ (Aerosur) ที่เคยผูกขาดบริการนี้ตกเวทีไปเลย โบลีเวียนาแทรกเข้ามาขอส่วนแบ่งตลาดที่มีลูกค้าประมาณ 1.5 ล้านคนได้เพราะเมื่อ 5 ปีก่อน สายการบิน Lloyd Aereo Boliviano (ซึ่งเป็นของรัฐบาลเช่นกัน) ปิดตัวไปเพราะล้มละลายและไม่มีเอกชนสนใจเข้ามาซื้อกิจการไปทำต่อ ด้วยเงินตั้งต้น 800 ล้านบาท โบลิเวียนาเปิดตัวด้วยโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 และยึดนโยบายขายตั๋วถูกมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังประกาศยกเลิกที่นั่งเฟิร์สทคลาสเพื่อขายตั๋วในราคาเดียวกันหมดทุกที่นั่ง เพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปท์ “ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน” ที่ประธานาธิบดี อีโว โมราเลสเคยประกาศไว้ ตัวอย่างเช่น ตั๋วไปกลับระหว่างเมืองลาปาซกับเมืองซานตาครูส ของสายการบินไอโรซูร์อยู่ที่ 7,500 บาท ในขณะที่โบลิเวียนาขายเพียง 5,800 บาทเท่านั้น  แต่เดี๋ยวก่อน เด็กและผู้สูงอายุยังมีสิทธิได้รับส่วนลดเพิ่มอีก ใจป้ำขนาดนี้เลยขาดทุนไป 185 ล้านบาทในปีแรก แต่ปีต่อมาทำกำไรได้ 123 ล้านบาท (หลังหักภาษีเข้ารัฐไปแล้วกว่า 1,000 ล้าน) โบลิเวียนากำลังเพิ่มเส้นทางการบินและซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 6 ลำ เอาไว้รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกขณะ(สถิติระบุว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนชาวโบลิเวียที่เดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35) ก็ใครจะไม่อยากบินล่ะ ... ทั้งถูก ทั้งทั่วถึงขนาดนี้ ...   “วัดแห่งนี้สีเขียว” นี่ไม่ใช่ป้ายสติ๊กเกอร์ติดหน้าวัด แต่เป็นคำอธิบายกิจกรรมรักษ์โลกที่เกิดขึ้น ณ วัดฮินดูแห่งหนึ่ง ในเมืองทีรุมาลา รัฐอันตระประเทศของอินเดีย วัดทีรุปาตีแห่งนี้ ติดอันดับท็อปเท็นของวัดที่รวยที่สุดในแดนภารตะ ด้วยรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ที่มาจากการบริจาคโดยญาติโยมชาวฮินดู ที่มาสักการะองค์เทพเวงกเฏศวร(อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) ประมาณวันละ 50,000 ถึง 100,000 คนนั่นเอง ที่นี่จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรณรงค์เรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ในประเทศที่มีความต้องการพลังงานสูงมากอย่างอินเดีย ที่ร้อยละ 45 ของรายได้จากการส่งออกสินค้า ต้องถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการนำเข้าพลังงาน โรงครัวหลังมหึมาที่วัดนี้เปิดบริการอาหารฟรี 24 ชั่วโมง โดยใช้พลังงานที่ส่งลงมาจากแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาตึก ในแต่ละวัน “พลังเบื้องบน” นี้สามารถผลิตไอน้ำอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ได้ถึง 4,000 กิโลกรัม จึงช่วยทำให้การหุงข้าวและต้มถั่วประมาณ 50 ตันต่อวัน เป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัด เขาประเมินคร่าวๆ ว่าสามารถประหยัดการใช้น้ำมันดีเซลไปถึง 500 ลิตรต่อวัน เมื่อวัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากครัวของตัวเองได้ 1,350 กิโลกรัม จึงนำโควตาดังกล่าวไปขายให้กับรัฐบาลประเทศเยอรมนี มีรายได้เข้าวัดอีกมิใช่น้อย ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในวัดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกังหันลมที่บริษัทซูสลอน ของอินเดีย และเอ็นเนอคอน ของเดนมาร์ก ได้ร่วมกันบริจาคตั้งต้นไว้ ทางวัดบอกว่าการใช้วิธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนี้ น่าจะได้ผลดีกว่าการโฆษณาหรือการรณรงค์ของรัฐบาลด้วยซ้ำไป ญาติโยมท่านใดสนใจจะทำทานในรูปแบบของพลังงานหมุนเวียน ก็ซื้อกังหันลมไปบริจาคให้กับทางวัดได้ เขาจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้ฟาร์มกังหันลมข้างๆ วัด (ลืมบอกไปว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขา) ยังว่างอยู่อีกเยอะ ทำบุญกันมากๆ ก็ช่วยให้โลกเย็นได้นะพี่น้อง   ถ้ารู้ (กู) พกไปนานแล้ว คอกาแฟไต้หวันคงฉุนไปตามๆ กัน ถ้ามารู้ทีหลังว่า ความจริงแล้วตนเองควรจะต้องได้ส่วนลดถ้านำถ้วยพลาสติกที่เคยได้จากทางร้าน กลับมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านนั้นอีกครั้ง เรื่องนี้มีผลสำรวจยืนยัน องค์กรผู้บริโภคของไต้หวันพบว่า ร้อยละ 14 ของบรรดาร้านแฟรนไชส์เครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่ได้ติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาจะได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าตนเองมีนโยบายส่งเสริมการนำถ้วยกาแฟกลับมาใช้ซ้ำ ข่าวบอกว่าในไต้หวัน มีแก้วพลาสติกถูกทิ้ง (ทั้งๆ ที่ยังใช้ได้) ถึงปีละ 1,500 ล้านแก้ว รัฐบาลจึงออกเป็นกฎหมายว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2554 เป็นต้นไป ร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายเครื่องดื่มทั้งหลายจะต้องให้ส่วนลดกับลูกค้าที่นำแก้วของทางร้านกลับมาซื้อเครื่องดื่มอีก หรือไม่เช่นนั้นก็จ่ายเงิน 1 หรือ 2 เหรียญไต้หวันให้กับลูกค้าที่นำแก้วกลับมาคืนให้ทางร้าน และที่สำคัญ จะต้องติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วย กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้ว่าร้านไหนไม่ทำตาม จะมีโทษปรับ 60,000 – 300,000 ดอลล่าร์ไต้หวันแต่ข่าวไม่ได้บอกว่าบรรดาร้านเหล่านั้นโดนปรับกันไปคนละเท่าไร ซื้อสร้างสุข สมาชิกฉลาดซื้อหลายคนคงจะเลือกซื้อช็อกโกแลต โดยอ้างอิงคะแนนความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตที่เราเคยลงไว้ในเล่มกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว หลายคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อช็อกโกแลตที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออกานิก หรือแฟร์เทรด ซึ่งเราขอบอกว่าคุณทำถูกแล้ว ผลผลิตโกโก้ในตลาดโลก 3 ล้านตันต่อปีนั้น มาจากแรงงานของเกษตรกร 6 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยวันละไม่ถึง 100 บาท ในขณะที่ราคาโกโก้นั้นไม่ต่ำกว่า 700 บาทต่อกิโลกรัม ในไร่โกโก้นั้น มีแรงงานเด็กอยู่ประมาณ 200,000 คน ในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีรายได้ใดๆ เพราะถูกซื้อขาดมาจากครอบครัวแล้ว จากการสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กๆ ที่ทำงานในไร่โกโก้ในไอโวรี่ โคสต์ (ผู้ผลิตโกโก้อันดับหนึ่งของโลก) ถูกใช้งานให้แบกน้ำหนักเกินตัว ส่วนที่ประเทศกาน่า (อันดับสอง) นั้นเกือบร้อยละ 50 ของเด็กๆ ในฟาร์มโกโก้ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตราย ที่สำคัญ 1 ใน 4 ของเด็กเหล่านี้ทำงานโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ใดๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมีเลยด้วย การเลือกสนับสนุนช็อกโกแลต ออกานิก หรือแฟร์เทรด นั้นจะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาให้ความใส่ใจดูแล เลือกซื้อเฉพาะเมล็ดโกโก้จากไร่ที่ไม่เอาเปรียบแรงงาน ไม่ใช่สารเคมี และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >