ฉบับที่ 154 กระแสต่างแดน

เครื่องดื่มบำรุงคลัง สภาล่างของฝรั่งเศสผ่านกฎหมายรับรองการเก็บภาษี “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” ด้วยเหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนสูงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน เพราะมันส่งต่อการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ถ้ากฎหมายนี้ผ่านการรับรองของวุฒิสภา รัฐบาลฝรั่งเศสจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60 ล้านยูโร(ประมาณ 2,647 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีในอัตรา 1 ยูโร(44 บาท) ต่อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง 1 ลิตร ฝรั่งเศสซึ่งเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมาได้สองปีแล้ว เพิ่งจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังได้เพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมกีฬาต่างๆ และการทำตลาดทางโซเชียลมีเดีย เครื่องดื่มดังกล่าวก็เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ทั้งในผับ คอนเสิร์ต และสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ   ข่าวบอกว่ามีชาวฝรั่งเศสที่เป็นลูกค้าเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่ประมาณ 9 ล้านคน และ 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้อายุระหว่าง 14 – 25 ปี ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและยาฝรั่งเศสได้ออกคำแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเรดบูล มอนสเตอร์ เบิร์น และ ร็อคสตาร์ และเตือนว่าไม่ควรดื่มพร้อมกับแอลกอฮอล์ หรือดื่มหลังการออกกำลังกาย ถ่ายมากลืมหมด งานวิจัยเขาพบว่าการถ่ายภาพเก็บทุกรายละเอียดในช่วงเวลาดีๆ อย่างวันเกิด วันรับปริญญา วันแต่งงาน ฯลฯ มันจะทำให้เราจดจำเรื่องราวในวันนั้นได้น้อยลง ดร. ลินดา เฮนเคล จากมหาวิทยาลัยแฟร์ฟิลด์ ที่ทำการวิจัยครั้งนี้บอกว่า การที่เราวุ่นวายกดชัตเตอร์อยู่นั้น เราจะประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์ตรงหน้าน้อยลง และนั่นทำให้เราจำรายละเอียดของช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร ข้อสรุปนี้เขาได้จากการทดลองพานักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินชมภาพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งพร้อมฟังการบรรยาย เขาบอกให้นักศึกษาจดจำรายละเอียดของภาพต่างๆ ให้ได้ ใครอยากจะถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยก็ไม่ว่ากัน เช้าวันต่อมามีการทดสอบความจำ ปรากฏว่านักศึกษาที่ดูภาพอย่างเดียว กลับจำรายละเอียดของภาพได้ดีกว่าคนที่ใช้กล้องบันทึกภาพไว้ แล้วสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย มีผลต่อความจำของเราหรือไม่? ดร. เฮนเคลบอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าตอนถ่ายรูปนั้นคุณตั้งใจสำรวจวัตถุและพื้นหลังในขณะนั้นจริงๆ หรือไม่ เพราะงานสำรวจอีกชิ้นของเธอพบว่า การ “ถ่ายเจาะ” ไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะทำให้เราจดจำมันได้ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราถ่ายเจาะมาเท่านั้น แต่เราจะจำได้ว่าเรากันอะไรออกไปนอกเฟรมด้วย   ภาระผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุชาวจีนคงจะไม่สามารถเปิดกรุเงินเก็บมาใช้เที่ยวต่างประเทศ หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ใช้เงินมากได้ เพราะยังคงมีภาระต้อง “เลี้ยง” ลูก ลี ชวน ในวัย 57 ยังต้องช่วยลูกชายจ่ายค่าผ่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาก็มีรายได้ประมาณ 30,000 – 45,000 บาทต่อเดือนแล้วเชียว(ลืมบอกไปว่าลูกชายเขาเพิ่งจะแต่งงาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ เพราะอยู่ในเมืองที่ ค่าบ้านแพงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนถึง 28 เท่า) ผู้สูงวัยเหล่านี้อยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดี จึงยินดีให้เงินช่วยเหลือ ถ้าไม่มีเงินก็จะใช้วิธีเปิดบ้านให้ลูกและครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่เป็นการประหยัดรายจ่าย การสำรวจโดยบริษัทประกัน HSBC Life Insurance ระบุว่าร้อยละ 76 ของชาวจีน จะยังต้องให้เงินสนับสนุนลูกหลานเมื่อตัวเองเข้าสู่วัยเกษียน งานสำรวจครั้งในทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาด 16,000 คน ใน 15 ประเทศ มีคนจีนเข้าร่วมการสำรวจ 1,000 คน งานสำรวจนี้พบว่า ร้อยละ 40 ของคนจีนวัยเกษียนยังคงต้องอุปการะลูก ร้อยละ 28 ยังต้องเลี้ยงพ่อแม่ และร้อยละ 9 ยังต้องรับผิดชอบเลี้ยงหลาน เฮ้อ! รวมๆ แล้วเงินเก็บเพื่อความสุขส่วนตัวของผู้สูงอายุเหลือน้อยลง แถมยังต้องทำงานหาเงินหลังวัยเกษียนอีกด้วย   แผนปรองดอง หลังจากพยายามหาทางออกกันมากว่า 20 ปี ในที่สุดอิสราเอล จอร์แดน ปาเลสไตน์ ก็ตกลงกันได้ ... เรากำลังพูดถึงข้อตกลงเรื่องโครงการนำน้ำจากทะเลแดงมาใช้ ข่าวบอกว่าโครงการที่ไปเซ็นสัญญาที่ธนาคารโลก สาขาใหญ่ในกรุงวอชิงตันนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 240 ล้านเหรียญ(7,700 ล้านบาท) ตามแผนแล้วเขาจะสร้างโรงบำบัดน้ำที่เมืองอคาบา ในจอร์แดน เพื่อเปลี่ยนน้ำเค็มจากทะเลแดงให้เป็นน้ำจืดเพื่อรองรับชุมชนทางตอนใต้ของอิสราเอลและจอร์แดน สองประเทศนี้จะได้น้ำไปใช้กันคนละ 8,000 – 13,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนต่อปี ส่วนน้ำเกลือที่เป็น “น้ำเสีย” จากการผลิตจะถูกส่งผ่านท่อในจอร์แดนขึ้นเหนือไปประมาณ 100 ไมล์ เพื่อปล่อยลงในทะเลสาบเดดซี นั่นหมายความว่าต้องมีการจับตาดูการบริหารจัดการน้ำเค็มนี้ให้ดี ไม่อย่างนั้นทะเลสาบเดดซีจะกลายเป็นทะเลสาบมรณะไปจริงๆ นอกจากนี้อิสราเอลจะต้องส่งน้ำจืด 13,000 พันล้านแกลลอน จากทะเลกาลิลีทางตอนเหนือของประเทศ ให้กับอัมมานเมืองหลวงของจอร์แดน และปาเลสไตน์ก็คาดหวังว่าจะสามารถซื้อน้ำได้อีก 8,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนจากอิสราเอลในราคาพิเศษด้วย ที่มาของข้อตกลงนี้คือการพยายามแก้ปัญหาหลักๆ สองประการคือ 1) การขาดแคลนน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจอร์แดน และ 2) การลดลงของระดับน้ำในทะเลสาบเดดซีปีละกว่า 3 ฟุต เพราะน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำจอร์แดน ถูกเบี่ยงเส้นทางออกไปยังชุมชนและไร่นาในอิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย จึงทำให้แทบไม่มีน้ำไหลเขามาในทะเลสาบ แถมยังมีอุตสาหกรรมโปแตช สองฝั่งทะเลสาบอีกด้วย   ศึกคุ้มครองผู้บริโภค ที่เมียนมาร์ไม่ได้มีแค่ศึกซีเกมส์ เขายังมีแมทช์องค์การอาหารและยา ปะทะ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ลุ้นกัน ด้าน อย. นั้นเตรียมจะฟ้องสมาคมฯ โทษฐานแอบอ้างอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขในการออกตรวจแผงขายอาหาร ส่วนสมาคมฯ ก็ขู่จะฟ้อง อย. ที่พยายามลดความน่าเชื่อถือของสมาคมฯ ซึ่งเพิ่งจะได้รับการก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วให้มาช่วย อย.ทำงานด้านอาหารปลอดภัยและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สองหน่วยงานนี้ไฝ่ว์กัน ล่าสุดเมื่อมีสายมารายงานว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตกะปิจากปลา เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการหมัก(ซึ่งปกติจะนานถึง 12 เดือน) จึงมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดสอบ ผลปรากฏว่าห้องแล็บของอย. พบยูเรียในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 3 ตัวอย่าง แต่อย. ไม่ยอมเปิดเผยปริมาณที่พบ เพียงแต่แถลงข่าวว่าพบในปริมาณปกติทั่วไป ส่วนสมาคมฯ นั้นตีพิมพ์ผลทดสอบทั้งหมด ให้รู้กันไป จึงสร้างความหงุดหงิดใจให้กับ อย.และบรรดาผู้ประกอบการ ที่อ้างว่ายอดขายกะปิปลาของเขาลดลงทั้งๆ ที่เขาได้รับการรับรองความปลอดภัยจาก อย.แล้ว หมัดเด็ดอยู่ตรงที่ สมาคมฯ ประกาศว่าจะเปิดห้องปฏิบัติการของตัวเองเพื่อทดสอบอาหาร เพราะรู้สึกไม่เชื่อในผลการทดสอบจากอย. แล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >