ฉบับที่ 267 กระแสต่างแดน

ปรับปรุงมารยาท          หนึ่งในเรื่องร้องเรียนบริการแท็กซี่กรุงโซลอันดับต้นๆ คือ มารยาทของคนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดจาไม่ดีกับผู้โดยสาร เพื่อสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริการขนส่งสาธารณะ เทศบาลกรุงโซลจึงออกระเบียบที่เข้มขึ้น ก่อนหน้านี้ค่าปรับอยู่ที่ 100,000 วอน (2,700 บาท) แต่ระเบียบใหม่เพิ่มค่าปรับเป็น 200,000 วอน และเพิ่มโทษให้ “หยุดขับ” เป็นเวลาหนึ่งเดือน รวมถึงอาจยกเลิกใบอนุญาตขับแท็กซีด้วย คนขับแท็กซีบุคคลยังต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และถูกตัดเงินช่วยเหลือรายเดือนจากเทศบาล (2,500 วอน หรือ 65 บาท) เป็นเวลาหกเดือน ส่วนคนขับที่สังกัดบริษัทจะถูกตัดเงินช่วยเหลือ (5,000 วอน) เป็นเวลา 2 เดือน หากถูกร้องเรียนเข้ามา 10 ครั้ง ผู้โดยสารก็มีโอกาสถูกปรับเช่นกัน ระเบียบที่เริ่มใช้เมื่อแปดปีที่แล้วกำหนดให้ผู้โดยสารที่อาเจียนในรถแท็กซีต้องจ่ายค่าปรับ 150,000 วอน เช่นกัน งดจ่ายยา         ข่าวครูอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตนิวไทเปให้ยากล่อมประสาทกับเด็ก จนเด็กมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง นำไปสู่การรวมตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองหน้าศาลากลางเมืองไทเป เพื่อเรียกร้องให้รัฐดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และกำหนดบทลงโทษให้หนักขึ้น สารที่ตรวจพบในเลือดของเด็กคือฟีโนบาร์บิทัล ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มักใช้ในการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล คาดว่าเด็กน่าจะได้รับยาดังกล่าวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา ข่าวนี้ส่งผลให้สังคมไต้หวันออกมาวิพากษ์วิจารณ์รวมถึง “บุลลี่” โรงเรียนและคุณครูอนุบาลอย่างหนัก และเกินเลยไปจากโรงเรียนและครูที่เป็นข่าว สหภาพโรงเรียนอนุบาลจึงออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้สมาชิกยกเลิกรับภาระดูแล “ให้ยา” กับนักเรียนที่ป่วย โดยขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้านเอง รถไฟเชื่อมสัมพันธ์         ประชาชนและผู้อยู่อาศัยถาวรในฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีอายุระหว่าง 18 – 27 ปี สามารถลงทะเบียนขอรับ “ตั๋วรถไฟฟรี” เพื่อใช้เดินทางเป็นเวลา 7 วันโดยไม่กำหนดจำนวนเที่ยว ตั๋วดังกล่าวมีทั้งหมด 60,000 ใบ (แจกในเยอรมนี 30,000 ใบให้ไปขึ้นรถไฟเที่ยวในฝรั่งเศส และแจกในฝรั่งเศส 30,000 ใบเพื่อให้นำไปใช้เดินทางในเยอรมนี) ใครมาก่อนได้ก่อน โดยเขาจะส่งตั๋วในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปทางอีเมล โครงการดังกล่าวเป็นการฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก และยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศด้วยรถไฟ ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มากขึ้นด้วย เงื่อนไขการใช้ตั๋วก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ไปได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกขบวน ไม่เว้นแม้แต่รถไฟความเร็วสูง เพียงแต่ถ้าขึ้นขบวนที่มี “ค่าธรรมเนียมการจอง” ก็ต้องจ่ายเอง   ไม่ง่ายตลอด          คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission ฟ้องบริษัท Amazon ต่อศาลเมืองซีแอตเทิล ด้วยข้อกล่าวหาว่าบริษัท “หลอก” ให้ผู้บริโภคต่ออายุบริการ Amazon Prime โดยไม่ได้ให้ความยินยอม (เพราะไม่รู้ตัว) และยังออกแบบระบบให้การขอยกเลิกบริการเป็นเรื่องยาก FTC ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องความซับซ้อนของระบบ ที่ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนกว่าจะยกเลิกได้(หากใช้คอมพิวเตอร์) และ 6 ขั้นตอน (หากทำผ่านมือถือ) ทั้งนี้ FTC ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าวในอนาคตด้วย บริษัทให้ข้อมูลว่าเขาตั้งใจออกแบบให้ทั้งการสมัคร ต่ออายุ และการยกเลิกบริการเป็นเรื่องง่ายเพื่อเอาใจสมาชิก และบอกว่าการฟ้องร้องดังกล่าวมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง Amazon Prime เป็นผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และมีรายได้ต่อปี 25,000 ล้านเหรียญ ค่าเสียหายหนักมาก        นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนชาวอิตาลีสองคนจากองค์กร Last Generation ถูกศาลวาติกันสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 28,000 ยูโร (หนึ่งล้านกว่าบาท) หลังไปประท้วงชูป้าย “ไม่เอาก๊าซ ไม่เอาถ่านหิน” ใต้ประติมากรรมหินอ่อนโบราณ “เลโอคูนและลูกชาย” ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีค่าปรับ 1,620 ยูโร (62,400 บาท) และโทษจำคุกรอลงอาญาอีกเก้าเดือน พวกเขาบอกว่าโทษดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้แตะต้องตัวรูปปั้นเลย แค่พยายามใช้กาวเพียงเล็กน้อยติดเข้ากับฐานของรูปปั้นเท่านั้น และการกระทำของพวกเขาก็สะท้อนเจตนารมณ์ของพระสันตปาปาฟรานซิสที่ต้องการให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปปั้นดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์วาติกัน เป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประติมากรรมเดวิด และวีนัส  

อ่านเพิ่มเติม >