ฉบับที่ 143 ผ่าตัดเกินพอดี

นิตยามีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ไปเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วอยู่ในถุงน้ำดี จึงทำการผ่าตัดออก และนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 6 วันแพทย์จึงให้กลับบ้าน แต่เมื่อกลับไปพักที่บ้านได้ 1 อาทิตย์ เกิดอาการผิดปกติตัวเหลืองตาเหลืองไม่มีแรง นิตยาจึงเข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิอีกครั้ง แพทย์ได้เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาว่ามีนิ่วไปอุดท่อถุงน้ำดีอีกหรือไม่ และแจ้งว่าหากอาการผิดปกติยังไม่หายจะส่งตัวผู้ร้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศิริราชจากนั้นจึงให้เธอกลับไปรอดูอาการที่บ้าน“อาการของดิฉันรู้สึกแย่ลงมาก ตัวเหลือง ตาเหลืองมากขึ้น อีกประมาณ 10 วัน หมอนัดตรวจอาการ แต่เป็นหมอคนใหม่บอกว่ามารักษาแทนหมอคนเดิมที่ทำการผ่าตัด ดิฉันบอกกับหมอที่มารักษาแทนว่า หมอคนเดิมบอกว่าถ้าพบสิ่งผิดปกติจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วทำไมถึงเงียบ หมอถามว่า หมอคนเดิมบอกแบบนั้นหรือ ดิฉันก็ตอบว่าใช่ค่ะ แล้วคุณหมอท่านนั้นก็บอกว่าผมจะส่งคุณไปเอง”นิตยาถูกทำเรื่องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อมา แต่ก็พบปัญหาว่าผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่ส่งมานั้นดูผลได้ไม่ชัดต้องเอ็กซเรย์ใหม่ แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าเอ็กซเรย์เองหากจะให้ศิริราชดำเนินการ     นิตยาจึงต้องย้อนกลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลแห่งเดิม ซึ่งได้แจ้งให้เธอไปเอ็กซเรย์กับโรงพยาบาลในเครืออีกแห่งแล้วถึงได้นำผลเอ็กซเรย์ไปให้โรงพยาบาลศิริราชวินิจฉัยทำการรักษาต่อไปนิตยาใช้เวลาในการเดินเรื่องขั้นตอนนี้กว่า 2-3 เดือน ขณะที่สภาพร่างกายแย่มากขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะได้รับการผ่าตัดอีกครั้งจากโรงพยาบาลศิริราช“ก่อนผ่าตัดคุณหมอบอกว่า การผ่าตัดครั้งนี้ต้องตัดไส้มาเย็บต่อน้ำดี เนื่องจากว่าท่อน้ำดีถูกตัดสั้นจนเกินไป(จากการผ่าตัดครั้งที่ผ่านมา) เลยทำให้การเย็บต่อก่อให้เกิดการตีบตันของทางเดินเลือด จึงเป็นสาเหตุทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลดจาก 55 เหลือ 44 กิโลกรัม” ปัญหาจากการผ่าตัดครั้งแรกทำให้น้ำหนักตัวของนิตยาลดลงถึง 11 กิโลกรัมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จากตัวเหลืองก็กลายเป็นดำและคันตามตัวเป็นอย่างมากและตาก็เหลืองมากขึ้น ด้วยร่างกายที่อ่อนแอลงทำให้เธอไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ขณะที่ต้องรับภาระส่งลูกเรียกระดับ ปวช. ส่งค่าบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารก่อให้เกิดหนี้สินมากมายเพราะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ในช่วงรักษาตัวและทำการผ่าตัด ทำให้นิตยาต้องร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรก แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ภายหลังการยื่นเรื่องตามคำแนะนำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยาได้รับพิจารณาเงินช่วยเหลือจำนวน 50,000 บาท  ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัดในครั้งแรก ได้รับคำร้องเรียนของนิตยาและรับที่จะรับผิดชอบเยียวยาในความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลได้ทำประกันภัยความเสี่ยงจากการรักษาพยาบาลไว้กับบริษัทประกันภัย ในที่สุดนิตยาได้รับการพิจารณาเยียวยาความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท เรื่องจึงเป็นอันยุติโดยมิต้องดำเนินการฟ้องร้องให้เป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >