ฉบับที่ 263 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (2)

        จากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่าในปีนี้ประเทศไทยได้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 หรือบริโภคไม่เกิน 700 - 800 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ภายในปี พ.ศ. 2568         ฉลาดซื้อฉบับที่ 261 (พฤศจิกายน 2565) ได้สำรวจโซเดียมในถั่วอบเกลือ (1) พบปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม ในฉบับนี้เราจะมาสำรวจต่อในกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดขวัญใจคนรักสุขภาพกัน               นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ ถั่วอัลมอนด์ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 19 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน และราคา นำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 19 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ 5 ตัวอย่าง ถั่วอัลมอลด์ 5 ตัวอย่าง และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 9 ตัวอย่าง พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 160 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อทองการ์เด้น อัลมอนด์อบเกลือ (มีโพแทสเซียม 220 มิลลิกรัมด้วย) และเจดีย์คู่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ส่วนยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ในขณะที่ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม (แต่มีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม)          - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 9 กรัม ในยี่ห้อเจดีย์คู่ พิสตาชิโออบเกลือ   ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม         - ยี่ห้อคาเมล พิสทาชิโออบรสธรรมชาติ ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 40 กรัม ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 15 กรัม (ไม่รวมเปลือก) ราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย ราคาแพงสุดคือ 1.15 บาท ส่วนยี่ห้อสแนคทาวน์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ราคาถูกสุดคือ 0.67 บาท  ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจฉลากตัวอย่างถั่วอบเกลือ 2 กลุ่ม           จากตารางนี้พบว่า ตัวอย่างถั่วกลุ่มเปลือกแข็ง (Nut) มีปริมาณโซเดียมและโปรตีนต่อหน่วยบริโภคน้อยกว่าตัวอย่างถั่วกลุ่ม (1) แต่มีราคาสูงสุดต่อปริมาณ 1 กรัมแพงกว่าประมาณ 4.4 เท่า ข้อสังเกต         - มี 1 ตัวอย่างที่ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” คือ ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม หรือ 633.33 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์นี้ ได้แก่ ยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มี 31.25 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย มี 66.67 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม         - มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อคาเมล เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ และยี่ห้อลูคาส เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วเกลือ ฉลาดซื้อแนะ        - รสชาติเค็มๆ มันๆ ของถั่วอบเกลือ ทำให้ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน หากเผลอกินมากไปอาจได้รับพลังงานและโซเดียมเกินจำเป็นได้ ปริมาณที่แนะนำกันคือ 30 กรัมต่อวัน (ถั่วพิสทาชิโอ 30 เม็ด อัลมอนด์ 20 เม็ด และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 15 เม็ด อาจมากน้อยกว่านี้นิดหน่อยได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ดถั่วด้วย)         - แม้ไม่มีคำว่าเกลือในชื่อก็ไม่แน่ว่าจะไม่มีโซเดียม จึงควรพิจารณาส่วนประกอบและข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคไตและความดันสูง         - ถ้าเลือกได้ ควรเลือกถั่วอบที่ไม่ปรุงรสใดๆ เลย จะดีต่อสุขภาพมากที่สุด         - ควรเคี้ยวถั่วให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ หากเป็นถั่วเปลือกแข็งเมล็ดใหญ่ควรตำหรือบดให้เล็กลง เพื่อป้องกันการติดคอ สำลัก หรือฟันหักได้         - หากซื้อถั่วถุงใหญ่ ควรแบ่งบริโภคให้พอเหมาะ และเก็บถั่วที่เหลือในภาชนะที่ปิดมิดชิด วางไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความชื้นข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.th (เลือกกิน “ถั่ว” ให้ถูก ดีต่อสุขภาพแน่นอน)https://www.pobpad.com (ถั่วพิสตาชิโอ อาหารลดน้ำหนักและบำรุงสุขภาพ/ กินอัลมอนด์อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ/ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของว่างเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (1)

        จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดขนมขบเคี้ยวประเภท “ถั่ว” ในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 12.3% มูลค่าประมาณ 4,562 บาท เป็นลำดับ 3 รองจากมันฝรั่งและขนมขึ้นรูป (ที่มา:Marketeer ) แต่เชื่อว่าด้วยกระแสความนิยมบริโภคโปรตีนจากพืชที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องอยู่ตอนนี้ หากถามถึงของว่างกินเล่นเพื่อสุขภาพในดวงใจของหลายๆ คนแล้ว ถั่วต่างๆ น่าจะมาวินอย่างแน่นอน เพราะในถั่วแต่ละชนิดนั้นมีโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี เส้นใยอาหาร และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สำคัญอร่อยเคี้ยวเพลิน         ทว่าในถั่วที่ผ่านการปรุงรสต่างๆ อย่าง “ถั่วอบเกลือ” รสชาติเค็มๆ มันๆ นั้น หากเคี้ยวเพลินเกินพอดี ร่างกายอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูงและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้           นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถัวปากอ้า(ถั่วฟาบา) และถั่วเขียวเลาะเปลือก ซึ่งผู้บริโภครู้จักกันดี หาซื้อง่ายและราคาถูก จำนวน 13 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน พลังงานและราคานำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 13 ตัวอย่าง  ได้แก่ ถั่วลิสง 6 ตัวอย่าง ถั่วลันเตา 3 ตัวอย่าง ถั่วปากอ้า 3 ตัวอย่าง ถั่วเขียวเลาะเปลือก(ถั่วทอง) 1 ตัวอย่าง  พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงเยื่อแดงโรยเกลือ และพี่รี่ ถั่วลันเตาอบกรอบ รสดั้งเดิม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ มีน้อยที่สุด คือ 20 มิลลิกรัม (แต่มีโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค)         - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้อมารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วปากอ้าอบเกลือ และถั่วฟาบาโรยเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 6 กรัม         - ยี่ห้อทองการ์เด้น  ถั่วลันเตาเขียวอบเกลือ  ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 45 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วฟาบาโรยเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 25 กรัมราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ราคาแพงสุดคือ 0.26 บาท ได้แก่ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ และทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือข้อสังเกตน่าสนใจ        - ด้านการแสดงฉลากโภชนาการ พบว่า การแสดงปริมาณค่าพลังงานทั้งหมดของ มารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน น่าจะให้ข้อมูลผิด โดยเมื่ออ่านฉลากโภชนาการด้านหลังซอง ระบุ ค่าพลังงานทั้งหมด (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม) คือ 520 กิโลแคลอรี แต่ในสัญลักษณ์ด้านหน้า (รูปกระบอก) ระบุว่า ทั้งซอง (ปริมาณบรรจุ 160 กรัม) ซึ่งแบ่งบริโภค 5 ครั้งนั้น มีพลังงานรวม 1040 กิโลแคลอรี หมายความว่า เมื่อหารด้วย 5 ค่าพลังงานต่อหน่วยบริโภคจะเท่ากับ 280 กิโลแคลอรีเท่านั้น  และเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นก็พบว่ามีความสอดคล้องกันว่าน่าจะเป็นการแสดงฉลากผิดพลาด ทำให้ข้อสังเกตส่งผลถึงเรื่องปริมาณของโซเดียมด้วย เพราะด้านหน้าของซองระบุปริมาณโซเดียม 130 มิลลิกรัมหากนำมาหารด้วยหน่วยบริโภคคือ 5 ครั้ง ควรมีค่าโซเดียมในฉลากโภชนาการเพียงแค่ 26 มิลลิกรัมแต่ในฉลากโภชนาการด้านหลังกลับระบุว่า 65 มิลลิกรัม         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า ยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่มีปริมาณโซเดียมเข้าเกณฑ์นี้ คือ 52.63 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียมอยู่ 320 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม หรือ 842 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมต้องระวัง ฉลาดซื้อแนะ         - ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ         -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวเกินวันละ 2 มื้อ          - หากซื้อถุงใหญ่ แนะนำให้แบ่งใส่ภาชนะแต่พอดี แล้วปิดถุง เก็บไว้ไกลมือ จะได้ไม่เผลอหยิบเข้าปากเคี้ยวเพลินจนหมดถุง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น         - ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วปากอ้า ถั่วเขียวเลาะเปลือก และถั่วลันเตา ตามลำดับ         - ถั่วปากอ้ามีเส้นใยอาหารสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วเขียวเลาะเปลือก ตามลำดับ     ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thairath.co.th ("โรคแพ้ถั่วปากอ้า" หรือ "ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD" โรคที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้)https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1365(มารู้จักโซเดียมกันเถอะ)https://planforfit.com (เลือกถั่วให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง)https://www.gourmetandcuisine.com(ถั่วกับประโยชน์ต่อสุขภาพ)http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=756 (กินถั่วอย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด)https://www.pobpad.com (อาหารโปรตีนสูง ทางเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพ)   

อ่านเพิ่มเติม >