ฉบับที่ 264 ถอนเงินไม่ได้ มาขอให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือ

        ผู้ร้องรายนี้ มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่ง จู่ๆ วันหนึ่ง เมื่อปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ ทำให้สมองเบลอ จึงปล่อยทิ้งบัญชีไว้นานหลายปี กระทั่งเดือน มกราคม 2566 ต้องการไปปิดบัญชี เพื่อนำเงินใช้เงินรักษาตัว จึงให้ ญาติ พาไปแบงก์เพื่อถอนเงิน         เจ้าหน้าที่ตรวจสอบยอดเงินฝากทั้งหมด เหลืออ,ยู่ในบัญชี 4,978 ร้อยบาท แต่ ! แบงก์ให้ถอนได้แค่ 378 บาท เท่านั้น ที่เหลืออีก 4,600 ไม่ให้ถอน         อ้าว ! ทำไมเป็นแบบนี้ ? เจ้าของบัญชี ซักถาม แต่เจ้าหน้าที่ กลับไม่มีคำตอบใดๆ อ้างแค่ว่า จะต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ ให้ตรวจสอบสาเหตุ         แต่รอแบงก์มานานเกิน 1 เดือน กลับยังไม่ได้คำตอบใดๆ ไม่ได้การล่ะ ญาติ เกรงว่า จะไม่ได้เงินคืน จึงโทรศัพท์ มาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเล่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นให้ฟัง         เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซักถามว่า มีหนี้สิน ค้างชำระกับแบงก์ หรือไม่ ผู้ร้อง ยืนยัน ไม่มี เพียงแต่ ทิ้งบัญชีไว้นานหลายปี ไม่มีการเคลื่อนไหว ฝาก- ถอน แนวทางการแก้ไขปัญหา         เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ได้โทรศัพท์ ไปที่ ผู้จัดการสาขา ของ แบงก์ที่เกิดเหตุทันที ถามว่า ทำไม ไม่ให้เจ้าของบัญชีถอนเงิน จะเอาไปรักษาตัว ถ้าหากเป็นอะไรไปถึงขั้นเสียชีวิต เท่ากับ ฆ่ากันทางอ้อม จะรับผิดชอบมั้ย ! ถ้าแบงก์ไม่ยอมให้ถอนเงิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะทำหนังสือร้องเรียนไปถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาตรวจสอบ         ผู้จัดการแบงก์ ตอบ “ อย่าให้เรื่องใหญ่โตขนาดนั้นเลย “ พร้อมยื่นข้อเสนอ วันที่ 13 มกราคมนี้ จะจัดการให้ ส่วนเหตุที่เรื่องเกิดความล่าช้า เพราะต่างชาติ เป็นเจ้าของธนาคาร การติดต่อจะยาก ต้องใช้เวลานิดหน่อย         พอถึง 13 มกราคม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับแจ้ง ว่า เจ้าของบัญชีก็สามารถถอนเงินของตัวเองได้ จึงทำการปิดบัญชี ทันที ส่วนปมเหตุที่ตอนแรก ไม่ให้ลูกค้าถอนเงิน ทางแบงก์อ้างว่า เพราะ เจ้าของบัญชี เมื่อครั้งฐานะยังดี ได้มาเช่าตู้เซฟ เพื่อเก็บทรัพย์สินมีค่า ทางแบงก์จึงห้ามลูกค้าถอนเงินในบัญชี ที่เหลืออยู่ ( อ้าว ในเมื่อแบงก์รู้สาเหตุตั้งแต่ต้น ทำไม ไม่ยอม บอกกับ ลูกค้า ? )        หลายคนอาจจะบอกว่า แค่เงิน 4 พันกว่า จะอะไรนักหนา แต่อย่าลืมว่า เงินจำนวนนี้ สำคัญกับชีวิต ของหลายคน ! ... หลังจาก ได้รับความช่วยเหลือจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ร้อง โทรศัพท์มาขอบคุณที่ช่วยเหลือเป็นอย่างดี และ ยังเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ตกทุกข์ได้ยากมีช่องทางได้รับความยุติธรรม         ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กสิกรไทยหาดใหญ่ ชุ่ย ยอมให้เด็กเก้าขวบถอนเงินเอง

คุณวราภรณ์ เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ตนได้ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่ให้กับลูกชาย 2 คนคนหนึ่งอายุ 9 ขวบ อีกคนอายุ 6 ขวบ เปิดเป็นบัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ระยะเวลาฝาก 24 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็นยอดรวมเงินฝากทั้งสิ้น 120,000 บาท คุณวราภรณ์ผู้เป็นแม่เปิดบัญชีให้ลูกคนละบัญชี โดยใช้ชื่อของลูกชายทั้งสองคนเป็นชื่อเจ้าของบัญชี และมีเงื่อนไขการถอนเงินจากบัญชีว่าให้ลงลายมือชื่อของลูกที่เป็นเจ้าของบัญชีนั้นเพียงคนเดียว“ตลอดมาดิฉันได้มอบหมายให้นางกาญจนา เส้งสุข พี่เลี้ยงของเด็กเป็นผู้ดูแลนำเงินเข้าฝากให้ทุกเดือน จนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ดิฉันพบว่านางกาญจนา ได้ยักยอกเงินส่วนหนึ่งของดิฉันแล้วหนีหายไปไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ดิฉันได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554”คุณวราภรณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ลูกชายคนโตอายุ 9 ขวบได้พูดเปรยขึ้นมาว่า นางกาญจนาเคยให้ตนกับน้องไปเซ็นเอกสารบางอย่างที่ธนาคาร“จึงเอะใจขึ้นมาค่ะ พอตรวจสอบไปที่ธนาคารปรากฏว่าได้มีการถอนเงินปิดบัญชีเงินฝากของเด็กทั้งสองคนไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ตั้งแต่วันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ 2554”“ดิฉันได้สอบถามกับพนักงานธนาคารและผู้จัดการ(ธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่) ก็ได้รับคำตอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบธนาคารแล้ว เพราะเด็กเจ้าของบัญชีเป็นคนมาเซ็นชื่อถอนเงินเอง โดยหลักฐานที่พี่เลี้ยง(นางกาญจนา)นำมาด้วยมีเพียงสำเนาบัตรประชาชนของแม่และสำเนาทะเบียนบ้านของเด็ก ผู้จัดการสาขาให้คำแนะนำแค่ว่าให้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหากต้องการให้ธนาคารรับผิดชอบก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของธนาคาร” คุณวราภรณ์เล่าด้วยอารมณ์เซ็งสุดขีดที่เห็นธนาคารปัดความรับผิดชอบออกมาแบบนั้น “ดิฉันขอร้องเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรมแทนเด็กทั้งสองเพราะได้รับความเสียหายที่เกิดจากความประมาทของพนักงานธนาคารที่ให้เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะทำธุรกรรมการเงินได้โดยไม่มีผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายไปให้ความยินยอมด้วย และขอให้ธนาคารแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานด้วย” แนวทางแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่า มีการเบิกถอนเงินของลูกอายุ 9 ขวบเป็นเงิน 50,123.57 บาท และลูกคนเล็กของคุณวราภรณ์เป็นเงิน 50,124.57 บาท จากนั้นจึงได้นำเรื่องปรึกษาในข้อกฎหมายกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และท้ายสุดได้มีข้อแนะนำให้คุณวราภรณ์ทำจดหมายแสดงเจตนาบอกล้างนิติกรรมการฝากถอนเงิน เนื่องจากการปิดบัญชีเงินฝากและเบิกถอนเงินของเด็กทั้งสองที่ธนาคารยินยอมให้เด็กผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกระทำไปนั้น เป็นการกระทำที่ปราศจากความยินยอมของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้รับความเสียหาย และขอให้ธนาคารคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งหากพ้นกำหนดคุณวราภรณ์และสามีซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถดำเนินคดีกับธนาคารได้ตามกฎหมายต่อมาในเดือนเมษายน มูลนิธิฯ ได้ทราบความคืบหน้าจากคุณวราภรณ์ว่า ได้รับเงินคืนเต็มตามจำนวนทั้งหมด 100,274.72 บาท โดยธนาคารขอให้ผู้ร้องเซ็นหนังสือสัญญาว่าจะไม่ติดใจเอาความใดๆกับธนาคารฯ คุณวราภรณ์เห็นว่าตนได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่หายไป และธนาคารฯ รับปากว่าจะตามหาพนักงานที่กระทำผิดมาลงโทษ คุณวราภรณ์จึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไว้แต่เพียงเท่านี้เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญกับผู้บริโภคทุกคนว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน และต้องเพิ่มด้วยว่า “อย่าวางใจธนาคาร” ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 เมื่อคนร้ายงัดบ้าน เอาสมุดฝากเงินกับบัตรฯ ไปถอนเงิน

สำหรับฉบับนี้เป็นอุทาหรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการฝากเงินไว้กับธนาคาร และเหตุตามอุทาหรณ์อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในยุคโจรผู้ร้ายชุกชุม ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534  โจทก์ทำสัญญาฝากเงินและเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไว้กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์  ต่อมาวันที่ 25  มีนาคม 2549  มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการรวมทั้งบัตรประชาชนและสมุดฝากเงินดังกล่าวไป  ในวันนั้นโจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันที  และในวันเดียวกันเวลา 17.34 นาฬิกา โจทก์โทรศัพท์แจ้งศูนย์กรุงไทยโฟน หมายเลข 1551  ให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งว่ารับแจ้งอายัดเฉพาะบัตรถอนเงินและบัตรเครดิต ไม่รับแจ้งอายัดเงินฝาก หากจะแจ้งอายัดเงินฝากต้องแจ้งที่สาขาที่โจทก์เปิดบัญชีไว้  โจทก์ไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่สาขาชนแดน เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันเสาร์  ต่อมาวันที่ 26  มีนาคม 2549  ซึ่งเป็นวันอาทิตย์มีหญิงคนหนึ่งนำสมุดเงินฝากของโจทก์ไปถอนเงินจำนวน  280,000  บาท  ที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี  โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่สาขาย่อยฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หญิงคนดังกล่าวไป โจทก์จึงได้มาฟ้อง จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ธนาคารผู้เป็นนายจ้างให้ร่วมกันรับผิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน  จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลายประเด็น  แล้วผลจะเป็นอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2556  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า.....คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 1  มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลละเมิดแล้วโจทก์ยังบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคาร โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลอื่นที่แสดงตัวเป็นโจทก์ ทำให้โจทก์สูญเสียเงินในบัญชีเงินฝาก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลฝากทรัพย์ด้วย  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นความรับผิดเฉพาะในมูลละเมิดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับฝากเงินต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ฝากเงินตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 659  วรรคสาม นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อไปว่า ถ้าโจทก์เก็บรักษาบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับตัวคนร้ายก็ไม่สามารถปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่ออยู่ด้วยนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่ามีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินไปหลายรายการ  บ้านเป็นเคหสถานซึ่งปกติบ่อมเป็นที่ปกป้องเก็บรักษาทรัพย์สินได้ การที่มีคนร้ายงัดบ้านโจทก์แล้วลักทรัพย์สินภายในบ้านโจทก์ รวมทั้งนำสมุดฝากเงินและบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไปใช้ถอนเงินไปใช้ถอนเงินจากจำเลยที่ 2 จะถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อมิได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฯลฯ พิพากษายืน

อ่านเพิ่มเติม >