ฉบับที่ 229 ซ่อนเงารัก : และแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของคนต่างวัย

                ไม่มีพื้นที่ใดในอาณาบริเวณทางสังคมที่จะปราศจาก “การเมือง” หรอก เพราะแม้แต่ในพื้นที่ที่ดู “ปลอดการเมือง” ที่สุดอย่างโลกบันเทิงคดีเฉกเช่นละครโทรทัศน์ ก็ยังเป็นสนามที่คลุกเคล้าไว้ด้วยภาพ “การต่อสู้ทางการเมือง” อย่างเข้มข้นทีเดียว        แม้ในทางรัฐศาสตร์มักจะเชื่อกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในปริมณฑลกว้างๆ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแสดงหลักคือภาครัฐและนักการเมืองทั้งหลาย แต่ทว่าในบางครั้งเอง การเมืองก็ปรากฏอยู่ได้แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา         และรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเล็กๆ ก็ฉายออกมาผ่านสมรภูมิความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย หรือต่างเจนเนอเรชัน แบบที่เราได้รับชมผ่านความบันเทิงของละครโทรทัศน์เรื่อง “ซ่อนเงารัก” นี่เอง        โดยโครงของละครแนวโรแมนติกดราม่าเรื่องนี้ ผูกเรื่องราวของ “เพียงขวัญ” หญิงสาวผู้มีอดีตอันเลวร้ายที่ถูกกระทำจาก “แทนไท” ที่ขืนใจจนเธอตั้งท้องโดยไม่เต็มใจ และ “เจ้าสัวธำรง” พ่อของแทนไทเอง ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่สั่งฆ่ามารดาของเพียงขวัญ เธอจึงหลบหนีจากคฤหาสน์ของเจ้าสัวธำรง และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นลิน” เพื่อลบความทรงจำในอดีตทิ้งไปจนหมดสิ้น        แต่ปมของเรื่องได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อนลินคลอดลูกฝาแฝดชายหญิงออกมา และยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่า เจ้าสัวธำรงกดดันให้แทนไทมีทายาทชายไว้สืบตระกูลและสืบต่อธุรกิจกลุ่มทุนจีน นลินจึงต้องการแก้แค้นโดยปกปิดความจริงเรื่องลูกชาย และจงใจเลี้ยงลูกทั้งสองให้เป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ โดยตั้งชื่อลูกว่า “ขวัญเอย” กับ “ขวัญมา” พร้อมอำพรางไม่ให้ใครรู้ว่าขวัญเอยมีโครโมโซมแบบ XY         เพียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และความปรารถนาในอำนาจของกลุ่มคนรุ่นก่อน ได้ก่อกลายเป็นชนวนที่ขยายไปสู่ “การเมือง” ชนิดใหม่ อันเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับตัวละครรุ่นลูกหลานอย่างขวัญเอย ขวัญมา รวมไปถึง “ดุจดาว” น้องสาวต่างมารดาของฝาแฝดชายหญิง        เพราะความต้องการเอาชนะบิดาของลูกฝาแฝดกลายเป็นทิฐิที่แบกเอาไว้อยู่บนบ่า ภายหลังจากให้กำเนิดหนึ่งในบุตรแฝดเป็นเพศชาย นลินก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกในสิ่งที่ลูกเป็น เธอเข้ามาเข้มงวดกับชีวิตขวัญเอย ไม่ให้เขาได้เข้าโรงเรียนหรือไปพบปะกับโลกภายนอก ล่วงจนถึงบังคับให้ขวัญเอยกินยาคุม เพื่อเปลี่ยนให้ร่างของลูกชายกลายสภาพเป็นผู้หญิง         ในแง่ดังกล่าวนี้ ยาคุมที่บังคับให้ขวัญเอยกิน จึงไม่เพียงถูกใช้เป็นกุศโลบายที่จะเอาชนะแทนไทและเจ้าสัวธำรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกควบคุมเพศสรีระ เพื่อที่แม่จะได้มีอำนาจปกครองร่างกายและจิตใจของลูกชายให้อยู่ใต้อาณัติบงการนั่นเอง         แต่เพราะปัจเจกบุคคลไม่ได้มีด้านที่ยอมจำนนแก่อำนาจเสมอไป ดังนั้น แม้จะถูกมารดากำหนดบงการร่างกาย แต่จิตวิญญาณอันเสรีก็ทำให้ขวัญเอยดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแอบเอายาคุมไปทิ้ง การแอบไปเล่นเตะฟุตบอลแบบเด็กผู้ชายกับ “อนุชิต” คุณลุงข้างบ้าน รวมไปถึงการสืบค้นจนพบเจอกับแทนไทบิดาผู้ให้กำเนิดของตน         ภายหลังเมื่อได้ย้ายมาอยู่กับบิดาและเจ้าสัวธำรงผู้เป็นอากง ทั้งขวัญเอยและขวัญมาก็ยิ่งตกไปอยู่ท่ามกลางการสัประยุทธ์กันของบุพการีและญาติผู้ใหญ่ โดยมี “เหนือเมฆ” พระเอกหนุ่มของเรื่องถูกลากโยงเข้ามาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองของคนรุ่นก่อน         และเพราะคนรุ่นก่อนสนุกสนานกับการขับเคี่ยวช่วงชิงชัยชนะระหว่างกัน โดยไม่สนใจเลยว่า การต่อสู้ห้ำหั่นกันดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชะตากรรมหรืออนาคตของลูกหลานแต่อย่างใด ถึงที่สุดแล้ว ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่คนรุ่นก่อนต้องหันมาเผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยไปโดยปริยาย         เหมือนกับที่ขวัญมามิอาจรับได้ที่นลินพยายามพรากชายคนรักอย่างเหนือเมฆให้ไปคบหากับขวัญเอย โดยปิดบังความลับเรื่องเพศกำเนิดไม่ให้พระเอกหนุ่มรับรู้ ดังฉากที่เธอระเบิดอารมณ์ใส่มารดาว่า “แม่ตั้งใจจะแก้แค้นป๊า ตั้งใจจะให้ป๊าเจ็บ...แม่ไม่เคยห่วงความรู้สึกของเอยเลย ปากแม่ก็บอกว่ารักเราสองคน แต่ดูสิ่งที่แม่ทำสิ แม่ทำลายชีวิตของเราสองคน...แม่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น...”         เฉกเช่นเดียวกับที่เจ้าสัวธำรงบริภาษต่อว่าขวัญเอยที่ “ลดศักดิ์ศรี” ของบุรุษเพศไปแต่งตัวเป็นหญิง จนดุจดาวน้องสาวต่างมารดาปะทุอารมณ์ใส่คุณปู่เจ้าสัวว่า “สมัยนี้นะคะอากง ผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องลดศักดิ์ศรีหรืออะไรเลย แล้วอากงรู้หรือยังว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ดาวว่าอากงไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าอากงโลกแคบใจแคบ...”         และแม้ในภายหลัง ขวัญเอยจะเลือกหนีจากเกมการเมืองของคนรุ่นก่อน โดยไปแต่งงานอยู่กินกับ “ริต้า” สาวน้อยรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจอดีตหรือเพศวิถีของสามี เพียงเพราะ “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม” แต่นลินก็ยังเดินเกมกีดกันความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และขัดขวางไม่ให้ริต้ามีหลานไว้สืบสกุล จนมุมมองของผู้ชมหลายคนอาจจะต้องเลือกติดแฮชแท็ก “#saveริต้า” กันเลยทีเดียว        ภาพของการเมืองระหว่างเจนเนอเรชันที่ละครได้ฉายให้เห็นอยู่เป็นระลอกแล้วระลอกเล่าเยี่ยงนี้ แท้จริงแล้วก็สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝักฝ่าย ที่ฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นก่อนอย่างนลินผู้อ้างความชอบธรรมว่า “ฉันอุ้มท้องให้แกเกิดมา...” หรือ “แม่เลี้ยงของแม่มา...” และคุณปู่เจ้าสัวผู้สำทับวิธีมองโลกแบบที่ว่า “คนในตระกูลชั้น ชั้นจะทำอะไรก็ได้...” กับอีกฝั่งหนึ่งของคนต่างรุ่นที่พยายามจะสื่อความว่า ชะตาชีวิตของตนหรือคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นพวกเธอและเขาที่มีสิทธิ์และอำนาจจะกำหนดเดินได้เอง         ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตรรกะอันแตกต่างกันคนละขั้วเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว ละครก็เลือกเสนอทางออกของปัญหาด้วยโศกนาฏกรรมการจบชีวิตลงของขวัญเอยในตอนท้ายเรื่อง กว่าที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะได้ย้อนหวนกลับมาคิดทบทวนตนเอง         หากละครโทรทัศน์เป็นแอ่งรองรับประสบการณ์ร่วมกันแห่งยุคสมัยของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว การเมืองระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีตัวแสดงเป็นฝาแฝดพี่น้อง ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราลองหันมาสะท้อนย้อนคิดถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ไปจนถึงภาพที่กว้างขึ้นของสังคมไทยโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >