ฉบับที่ 117 น้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกับเรื่องที่ต้องระวัง

คนเราทุกคนต้องดื่มน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินไปเป็นปกติ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่อาจขาดน้ำได้ เพราะการขาดน้ำย่อมหมายถึงการสิ้นสุดของชีวิตโดยทั่วไปร่างกายได้น้ำมาจากน้ำดื่ม เครื่องดื่มและอาหาร น้ำที่เราใช้ดื่มกินมาจากหลายแหล่ง ทั้งที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำบาดาล และที่ผ่านกระบวนการผลิต เช่น น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งอย่างหลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจในน้ำประปาว่า สะอาดเพียงพอสำหรับการดื่มกิน อย่างไรก็ตาม น้ำดื่มบรรจุขวดนั้นมีราคาแพงมาก น้ำดื่มขนาด 600 มิลลิลิตรที่วางจำหน่ายทั่วไปมีราคาสูงถึง 7 บาทต่อขวด และยังอาจมีราคาสูงไปได้อีกหากจำหน่ายในร้านอาหารที่ไม่มีการควบคุมราคาน้ำดื่ม ดังนั้นหากเป็นการซื้อมาไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน น้ำดื่มบรรจุขวดอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับครอบครัวที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย การติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่บางครอบครัวเลือกใช้ แต่สำหรับบางครอบครัวหรือบางคนที่ไม่ได้มีบ้านพักถาวร เช่นผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในหอพักหรือห้องเช่า น้ำดื่มที่กำลังมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ น้ำดื่มที่ได้มาจากตู้หยอดเหรียญ ที่ปัจจุบันมีกระจายติดตั้งอยู่ทั่วไปในย่านชุมชนที่มีหอพักจำนวนมาก เพราะทั้งสะดวกในการใช้บริการและมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด โดยน้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญจะมีราคาอยู่ที่ประมาณลิตรละ 70 – 85 สตางค์ เท่านั้น __________________________________________________________________________ ตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นการพัฒนาระบบบริการน้ำดื่มให้ครอบคลุมความต้องการ โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอยู่จำนวนมาก เช่น หอพัก ห้องเช่า ตลาด หรือบริษัทห้างร้านที่มีประชาชนจำนวนมาก พบได้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนในพื้นที่เขตเมือง เขตเทศบาลและแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จากการศึกษาล่าสุดโดยกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประมาณการว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีมากถึง 20,000 ตู้ และส่วนใหญ่เป็นตู้น้ำดื่มที่ใช้กระบวนการรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญปลอดภัยหรือไม่ โดยวิธีการและแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญน่าจะมีความปลอดภัยเหมาะสำหรับการบริโภค เพราะใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพและความสะอาดที่ดี แต่จากการวิจัยของหลายหน่วยงานในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พบว่า น้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ข้อมูลจากศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ทำการศึกษาเชิงสำรวจคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากพื้นที่ 30 เขตของกรุงเทพฯ จำนวน 546 ตัวอย่างจาก 20 ตราผลิตภัณฑ์ ในช่วง มี.ค. – มิ.ย. 2548 โดยอาศัยเกณฑ์ประเมินคุณภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มอก. 257-2521 ของกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2534) และมาตรฐานของการประปานครหลวง ในภาพรวมพบว่า มีน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 289 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 52.9 โดยมีประเด็นที่น่าสังเกตคือเมื่อจำแนกตามตรายี่ห้อผลิตภัณฑ์ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้ง 20 ตราผลิตภัณฑ์พบว่าไม่มีกลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากตรายี่ห้อใดเลยที่ผ่านเกณฑ์ได้ทั้งหมด และในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของตราผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจของแต่ละตราผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2549 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตรวจตู้น้ำหยอดเหรียญจาก 9 จังหวัด (รวม กทม. และนนทบุรี) พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (แบคทีเรีย) ของกรมอนามัย จำนวน 3 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 33 ตัวอย่าง) และพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) จำนวน 1 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22 ตัวอย่าง) ในปี 2550 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคน้ำจากเครื่องผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากเขตพื้นที่ต่าง ๆ ใน กทม. จำนวน 350 ตัวอย่าง (50 เขต ๆ ละ 7 ตัวอย่าง) ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 พ.ศ. 2524 และฉบับที่ 135 พ.ศ. 2534) จำนวน 264 ตัวอย่าง ซึ่งหมายความว่ากว่าร้อยละ 25 ของกลุ่มตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ และในจำนวนนี้พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องกรด – ด่าง (pH) และความกระด้างร้อยละ 20.9 พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) ร้อยละ 5.43 และ อี. โคไล (E.coli) ร้อยละ 0.57 นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม บริเวณหัวจ่ายน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญถึงร้อยละ 23.41 และมีตะไคร่เกาะอยู่ที่หัวจ่ายน้ำกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2552 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนอีกครั้ง โดยสุ่มตรวจน้ำดื่มเพื่อการบริโภคประเภทต่างๆ ของครัวเรือน จาก 19 จังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ทั้งเขตเมืองและชนบท ซึ่งได้มีการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญด้วยจำนวน 6 ตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์แบคทีเรีย จำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งจากการทบทวนการสำรวจทั้งหลายที่กล่าวมา พบว่า สาเหตุสำคัญที่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียและโคลิฟอร์ม เนื่องจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์กรองน้ำ ภาชนะที่เก็บน้ำและการเก็บน้ำที่กรองออกมาจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างไม่ถูกสุขลักษณะนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนี้ในบางจุดยังพบสาหร่ายและตะไคร่ในบริเวณหัวจ่ายน้ำอีกด้วย __________________________________________________________________________ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่จังหวัดสงขลา สมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ทำการสำรวจคุณภาพของน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญจำนวน 13 ตัวอย่าง 11 ตราผลิตภัณฑ์ ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ในเดือน กันยายน และ พฤศจิกายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยส่งทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค 4 ชนิด ได้แก่ เสต็ฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (เอส.ออเรียส/S. aurius) ซัลโมเนลล่า (Salmonella ) อี.โคไล (E.coli) และ โคลิฟอร์ม (Coliform) ผลการทดสอบพบว่า มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ผ่านการทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 8 ได้แก่ตัวอย่างยี่ห้อสยามวอเตอร์ จากหอพักณัชชา อพาร์ทเม้นท์ ในการเก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2553 พบโคลิฟอร์มจำนวนมากกว่า 22 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร ซึ่งตามมาตรฐานในประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 และ ฉบับที่ 135 ระบุไว้ว่าไม่เกิน 2.2 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร (ข้อมูลจาก โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ./TUHPP) __________________________________________________________________________ ใครรับผิดชอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในรายงานการศึกษาทบทวนองค์ความรู้ทางด้านน้ำกับความปลอดภัยด้านอาหาร โดย โปรแกรมศึกษาระบบความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ (FSN) สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ร่วมกับ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับดูแลน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะทางด้านหน่วยงาน/องค์กรหรือด้านตัวกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็ยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลน้ำดื่มเพื่อการบริโภคที่ได้จากตู้น้ำหยอดเหรียญโดยตรงเลย มีก็เพียงเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มทั่วไปในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันเริ่มมีความพยายามที่จะเข้าควบคุมกำกับดูแลคุณภาพบ้างแล้ว เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการให้สัมภาษณ์ของ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ  ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ระบุว่า มีผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญมาลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเขต ทั้งสิ้น 2,000 ตู้ ซึ่งต่อไปนี้ทางสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่จะเข้มงวดให้ผู้ประกอบการทุกรายมาขึ้นทะเบียน โดยเตือนว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องมาลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หากตู้น้ำใดไม่มีการขึ้น ทะเบียน หรือไม่มีใบจดทะเบียนที่สำนักงานเขตออกให้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย อาจจะถึงขั้นไม่ให้ตั้งตู้น้ำในพื้นที่นั้นๆ เลย และยังกล่าวอีกว่า “ขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ให้ ช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย หากพบว่าตู้น้ำดื่มใดไม่มีใบขึ้นทะเบียนจากทางสำนักงานเขตก็อย่าได้ไว้ วางใจกดน้ำมาบริโภค” ถึงกระนั้น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงทางกฎระเบียบข้อบังคับเท่านั้น แต่การเฝ้าระวัง การกำกับดูแลและการตรวจสอบที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินงานหรือการสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ยังไม่การวิจัยหรืองานวิชาการเรื่องฐานความรู้ในเรื่องสำคัญๆ ที่จะเกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ อย่างเช่น ลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มที่ดีควรเป็นเช่นไร หัวจ่ายที่ใช้ในการจ่ายน้ำต้องมีความปลอดภัยแค่ไหนหรือแม้แต่มาตรฐานของวิธีการบำรุงรักษาว่าควรเป็นเช่นใด ถึงตรงนี้ผู้บริโภคก็ต้องทำใจรอกันล่ะ ว่าเมื่อไหร่ผู้มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเร่งศึกษาวิจัยและจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกันเสียที ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาบานปลายแก้ไขไม่ทัน เพราะปัจจุบันธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกำลังเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก   ฉลาดซื้อแนะ การเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1. สภาพภายนอกของตู้น้ำดื่ม : ควรเลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ไม่มีฝุ่นผงหรือคราบสกปรก ผู้ประกอบการมีการปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ ตู้ โดยเฉพาะตรงจุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำจะต้องสะอาด ไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ และควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง ซึ่งแสงแดดมักจะก่อให้เกิดตะไคร่ขึ้นภายในหัวบรรจุ 2. การควบคุมคุณภาพของน้ำ : ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อจะมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มโดยผู้ ดูแลตู้จะเข้ามาทำการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง จากนั้นจะทำการแปะสติ๊กเกอร์แสดงข้อความบอกวัน เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่ 3. การสังเกตกลิ่น สี รส : ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นด้วยตน เอง จากการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าเป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ใช้อยู่เป็นประจำ เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยน ก็ควรที่จะเปลี่ยนตู้ใหม่ หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรอง เสียก่อน 4. ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ : ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ 5. ไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด : เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในน้ำดื่ม   __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) อันตรายจริงหรือ เนื่องจากน้ำจากตู้หยอดเหรียญส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า รีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) ที่เคยมีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นน้ำดื่มที่มีอันตรายเพราะ เป็นน้ำดื่มที่มีความบริสุทธิ์สูงนั้น ในความเป็นจริงยังไม่มีวิจัยไหนมารับรองว่าการกินน้ำ RO จะทำให้เกิดโทษหรือเกิดประโยชน์ไปมากกว่าน้ำปกติ กระบวนการผลิตน้ำบริโภคด้วยระบบ รีเวอร์ส ออสโมซิส เป็นการกรองน้ำให้มีความบริสุทธิ์เกือบ 100% ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ได้น้ำที่สะอาดปลอดภัยวิธีหนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตน้ำแบบใดก็ตาม หากน้ำผ่านการกรองที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ตามองค์การอนามัยโลก น้ำนั้นจะไม่มีอันตราย __________________________________________________________________________ คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล ตีพิมพ์ใน วารสารโภชนาการปีที่ 43 ฉ.1 มค.-มีค. 51 ถาม : คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?ตอบ : กองอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ได้ทำการสำรวจคุณภาพน้ำบริโภคจากแหล่งต่างๆ คือ ประปาขนาดใหญ่ ประปาขนาดกลาง ประปาขนาดเล็ก บ่อบาดาล และบ่อตื้นทั่วประเทศ ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจคุณภาพในแง่กายภาพ เคมี และแบคทีเรีย พบว่าน้ำบริโภคจากแหล่งน้ำเหล่านี้ประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้มาตรฐาน แม้แต่ในกรณีประปาขนาดใหญ่ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 27.2 ที่ได้มาตรฐานทั้ง 3 ด้านคุณภาพของน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน ยกเว้นอีกประมาณร้อยละ 8 ที่จ่ายให้ในบางพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำประปาไม่เพียงพอ จึงต้องใช้น้ำบาดาลแทน น้ำบาดาลเหล่านั้นมักไม่ได้มาตรฐานทั้งในด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย สรุปแล้วน้ำบริโภคจากทั้ง 5 แหล่งในชนบท มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเหมาะกับการบริโภค ส่วนน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานครประมาณร้อยละ 90 ได้มาตรฐาน   ถาม : การต้มหรือกรองน้ำประปาจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้เหมือนกับคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่? ตอบ : การต้มช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำและลดความกระด้างโดยเฉพาะในน้ำกระด้างชั่วคราว นอกจากนี้ยังช่วยลดกลิ่นคลอรีนด้วย คุณภาพจึงน่าจะใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนน้ำประปาที่ผ่านระบบกรองที่นิยมใช้อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งก็ประกอบด้วยถ่านและเรซิน เหมือนกับกระบวนการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ยกเว้นไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือก๊าซโอโซน อย่างไรก็ตามถ้าน้ำประปาที่ใช้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนในปริมาณที่เพียงพอ น้ำที่กรองจากเครื่องมือเหล่านั้นก็มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >