ฉบับที่ 276 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ สำรวจซ้ำรอบใหม่ปัญหาไม่ลดลง

        ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดมาของผู้บริโภค คือ น้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด   ทำให้การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญที่ประชาชนควรได้บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะไม่มีสารปนเปื้อนใด ๆ จึงได้ริเริ่ม ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปีนั้น พบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มี/ไม่พบใบอนุญาตแสดง ณ จุดให้บริการ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเฝ้าระวังอยู่ และเฝ้าระวังต่อ โดยร่วมกับ “ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ ครั้งนี้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 1,530 ตู้         พบว่ามีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ1,380 ตู้         มีตู้น้ำดื่มไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ จำนวน 1,392 ตู้  คิดเป็นร้อยละ 91         อีกทั้งยังสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน 33 เขตดังกล่าวจำนวน 3,041 ราย   เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อฟังเสียงของประชาชน (ดูผลสำรวจได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260) การสำรวจครั้งใหม่        ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่องค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้อง “ติดฉลาก” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมฉลาก         เมื่อสถานการณ์ความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่ได้รับการยกระดับ หน่วยงานยังไม่ตอบรับกับผลการสำรวจของภาคประชาชน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค 33 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกครั้งระยะเวลาการสำรวจ          มิ.ย. - ก.ค. 2566 พื้นที่การสำรวจ        33 เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางบอน,ลาดพร้าว,หนองจอก,แรงงานหนองจอก,คลองเตย,คลองสาน,คันนายาว,จตุจักร,จอมทอง,ดอนเมือง,ทุ่งครุ,สาทร,บางเขน,บางกอกใหญ่,บางขุนเทียน,บางคอแหลม,บางนา,บางพลัด,บึงกุ่ม,ประเวศ,พระโขนง,มีนบุรี,ยานนาวา,ราษฎร์บูรณะ,ลาดกระบัง,วัฒนา,สวนหลวง,สะพานสูง,สายไหม,หลักสี่,ห้วยขวาง,คลองสามวาและแรงงานนอกระบบเขตลาดกระบังแนวทางการการสำรวจ         การสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดำเนินการในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การขออนุญาตประกอบกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 (2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ (3) คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุุขเรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553         กรอบการสำรวจมีดังนี้ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2.สถานที่ตั้ง 3.ลักษณะทางกายภาพ 4.แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต 5.การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และ 6.การติดฉลาก   ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (2566)1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ          93 % ไม่พบการติดใบอนุญาตประกอบกิจการ (เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ไม่พบการติดใบอนุญาต 91 %) 2.สถานที่ตั้ง         30% บริเวณที่ตั้งมีฝุ่นมาก           8% อยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียหรือมีน้ำขัง         2% พบแมลงหรือสัตว์พาหนะนำโรคบริเวณตู้น้ำ  3.กายภาพของตู้น้ำ         31%  ตู้น้ำไม่สะอาด         6%  ไม่มีฝาปิดจ่ายน้ำ         5%  ไม่มีฝาปิดช่องหยอดเหรียญ         31% หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด 4. แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต        96%  ใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำดื่ม5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาด          57 %  ไม่มีการล้าง ทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในทุกเดือน  6.การติดฉลาก         93%   มีชื่อยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต หรือเบอร์ติดต่อ         26%   ไม่มีข้อแนะนำ หรือวิธีการใช้งาน         85%   ไม่มีบันทึกการเปลี่ยนไส้กรอง         87%    ไม่มีรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ         42% ไม่มีแสดงราคาน้ำดื่มต่อลิตร         56%    ไม่มีคำเตือนระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”                  ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ          1. เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข         2. ให้มี “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หากเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้น้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ผู้ให้เช่าพื้นที่จะต้องร่วมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบใดบ้าง เป็นต้น         3. เสนอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ขยายผลเรื่อง การตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น ........................................... เลือกใช้ 'ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ' อย่างไร ให้ปลอดภัย        1. บนตู้น้ำดื่มต้องแสดง 'ใบอนุญาตประกอบกิจการ' ไว้ที่ตู้ให้เห็นชัดเจน (มีอายุ 1 ปี)        2. สถานที่ตั้งห่างไกลจากท่อระบายน้ำ ตลาดสด แหล่งขยะ ปลอดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างหนู แมลงวัน แมลงสาบ        3. ตู้ยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตร สภาพตู้น้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นจับหนา ไม่ผุกร่อน รั่วซึม หรือเป็นสนิม        4. แสดงการจดบันทึก วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองทุกครั้ง        5.แสดงวันเดือนปีที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีคำเตือน'ตัวอักษรสีแดง'บนพื้นสีขาวระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ"        6. ห้องจ่ายน้ำไม่มีคราบสกปรกตะไคร่น้ำหรือน้ำขังสภาพฝาปิดห้องจ่ายน้ำไม่ชำรุดแตกหัก        7.หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบตะไคร่น้ำหรือสนิมจับและควรล้างภาชนะให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำขณะรองน้ำปากภาชนะไม่จ่อติดหัวจ่ายน้ำ "น้ำดื่มต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ" ข้อมูลจาก: คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กิจการที่กฎหมายควบคุมแต่พบเถื่อนใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น         น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล  แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง         ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ         2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต         2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4)         2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15         ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า           อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง                   ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565         การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน        1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า         มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91         2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน  ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้        ·     คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70         ·     ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย        ·     สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58        ·     สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำได้จริง

กลางเดือน กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” และได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ  และเรื่องผังเมือง         ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญก่อนการจัดเวทีและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ คือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง        ฉลาดซื้อพูดคุยกับ คุณก้อ ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ทำงานเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าแม้สถานการณ์คุณภาพของตู้ดื่มน้ำหยอดเหรียญจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องตู้น้ำมีความสำคัญอย่างไรมาเริ่มทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร         เรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราเริ่มเห็นว่าตู้สกปรกมาก ฝุ่นเกาะ  หรือเอากระป๋องนมที่ขึ้นสนิมมารอง แบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  เพราะประชาชนเสียเงิน เขาควรได้รับความปลอดภัย         เราทำงานมาตั้งแต่ปี 2559 -2560 ทำงานและสื่อสารตั้งแต่ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบของตู้น้ำคืออะไร  ตอนนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนภาษี การขออนุญาตตอนแรกตู้ละ 2,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย เขาบอกว่า เขาไม่ไปจดทะเบียนนะเพราะบางตู้ คนมากดยังไม่ถึงเลย  พอได้เงินแล้วเขาต้องหักค่าไฟ ค่าน้ำ ตอนหลังการจดทะเบียนไม่ถึง 2,000 บาทแล้ว เหลือ 500 บาทในตู้แรก ตู้ต่อไป 25 บาท 2 ตู้จ่าย 525 บาท ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทำงานอย่างไรบ้าง         การทำงานคล้ายๆ อสม. แต่ศูนย์สิทธิฯ เรารับเรื่องร้องเรียน สถานที่จะเป็นที่สาธารณะ หรือที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มาสามารถมาร้องเรียนหรือ เล่าเรื่องของเขาได้ ปัจจุบันศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ก็ทำงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย ตามมาตรา 50 (5) เป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CRM แล้วเราไม่ได้นั่งรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ลงตรวจคุณภาพน้ำด้วย เราสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจโคลิฟอร์ม เรากำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ว่าในพื้นที่ที่แต่ละคนดูแลอยู่จะต้องสุ่มตรวจอย่างน้อยกี่ตู้ พอได้ผลเป็นอย่างไร เราจะคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต เขตก็ลงมาตรวจตู้ ถ้าน้ำไม่สะอาดเขาต้องไปเปลี่ยนไส้กรอง การทำงานที่ผ่านมา พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร           เราพบจากการสำรวจว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังไม่รู้นะ ว่าต้องไปขออนุญาต ไม่มีคนมาแนะนำว่าเขาต้องไปจด เขาถามว่าทำไมเราต้องลงไปสำรวจ เราก็บอกว่าเราทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บางทีเจ้าของตู้ก็ด่า บางทีเจ้าของบ้าน เขาก็เป็นเจ้าของเองหน้าบ้านเขาก็ตั้งตู้น้ำดื่ม เขาจะได้กินด้วย มีรายได้ แล้วพอไปตรวจ เขาก็กลัวว่าเราไปจับผิดเขา เพราะว่าที่เราลงไป เรามีการทำหนังสือ เหมือนเขาก็เดือดร้อนว่าต้องไปจดใบอนุญาต แล้วเมื่อผ่านได้ใบอนุญาตมาแล้ว ทางเจ้าของจะกลัวว่า จะถูกสุ่มลงมาตรวจ ไม่ได้ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรองไหม เขาเลยตั้งตู้เฉยๆ อยู่แบบนั้นไม่ไปจด คนที่ขอไปแล้ว แต่ไม่ไปเอาใบอนุญาตจึงเยอะ  เพราะเขากลัวว่าเรื่องจะเยอะตามมา         แล้วหากน้ำไม่สะอาด การล้างแต่ละครั้งต้องมีช่างมาล้าง  เจ้าของตู้เขาต้องใช้เงินจากกำไร ที่เขาต้องได้เป็นพันก็ต้องมาจ่ายตรงนี้ แต่ก่อนจากที่เขาได้กำไรเยอะตอนที่ตู้ยังน้อย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมีตู้เยอะขึ้น แล้วเวลามีข่าวตู้น้ำดื่มไม่สะอาด คนก็หันมาติดตั้ง เครื่องกรองน้ำที่บ้านมากขึ้น         ส่วนชาวบ้านเขาก็คิดว่า แล้วทำไมต้องมาจด รัฐบาลไม่มีเงินเลยจะมาเอาเงินภาษี แบบนี้ก็มี แต่คนทำงานมองว่าสถานการณ์คุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเริ่มดีขึ้น         ใช่ ทำงานตอนแรก ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้ประกอบการ เขาไม่ได้สนใจเลย ชาวบ้านด้วยก็ไม่ได้สนใจ แต่พอเรารณรงค์มากขึ้น ชาวบ้านเขาเริ่มรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องแอบนะเพราะเขาเริ่มรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาเห็น เขาก็มาเช็ดๆ ตู้ เราก็บอกเขาว่าไม่ใช่ ต้องทำความสะอาดข้างในด้วย เขาก็ทำด้วย เราบอกว่ากลัวว่ากดไปดื่มแล้วจะท้องเสีย         แล้วบางทีจุดตั้งตู้อยู่ใกล้ถังขยะ เปิดแล้วหนูก็วิ่งขึ้นไป คือตอนที่สำรวจอาจจะยังไม่เจอหนูก็จริง แต่สภาพแวดล้อม สถานการณ์มันมีได้         ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงคือเราเห็นตู้ใหม่ๆ เยอะ การขอใบอนุญาตไม่ยากแล้ว   สำนักงานเขตจะมีข้อมูล ผู้ประกอบการที่เขายอมเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร           เขาไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บางทีเราชี้แจง แล้วตัวเขาบางทีเขากดไปกินน้ำด้วย เขาตั้งตู้แล้วเขาก็กินเองด้วย เขาก็แก้ไข บางคนเขาดีนะ เราบอกแล้วเขาก็แก้ไข บางทีเขาไม่รู้ว่า ตู้น้ำต้องไปขอใบอนุญาต  เขาก็กลัวว่าเขาจะมีความผิดเหมือนกัน  บางคนเขาทำแล้ว มาบอกเราให้ไปทดสอบเลยว่า คุณภาพดีขึ้นไหม  มาตรวจเลย         แล้วผู้ประกอบการบางคนเขามีใบอนุญาตนะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องนำมาติดไว้ที่ตู้ ทำงานมาเรื่อยๆ เขาก็รู้มากขึ้น         การทำงานที่ผ่านมา เราคิดว่า ทางเขตตอบรับเราดี ลงมาตามเรา เขาบอกว่าถ้ามีอะไร ให้เขาลงไป  เขายินดี ถ้าเราจะไปสำรวจอะไร เขาดีใจที่มีอาสาสมัครมาทำงานแบบนี้ แล้วจริงๆ เขตเขามีคนน้อย การทำงานของศูนย์สิทธิผู้บริโภค ช่วยให้เขตทำงานได้ถูกจุดมากขึ้น         ใช่       การทำงาน เมื่อเราแจ้งเขต เป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วย พอเราส่งข้อมูลให้เขต เขตบอกว่าจะไปตรวจ  ตอนแรกเขาจะตักเตือนก่อน  แต่ตักเตือนแล้วยังไม่ทำ  เขาก็จะฟ้อง เพราะมีกฎหมาย เขาเลยจะเตือนมาก่อนตอนนี้ กทม. มีเทศบัญญัติ แล้ว เทศบัญญัติที่มีเกิดจากการทำงานของเครือข่าย         เทศบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ ปี 2562 เกิดจากการทำงานของเครือข่าย  ไปผลักดันจนเกิดนโยบาย ช่วงปี 60- 61 พี่ไปที่สำนักงานเขต ถามเขาว่า ถ้าเกิดเจอตู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตบอกว่า หัวหน้าสิ่งแวดล้อมบอกว่าเขาจะตักเตือน ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วยังไม่มา เขาจะลงไปเอาโซ่ล่าม การฟ้องมันใช้เวลา ส่วนมากจะจบที่การไกลเกลี่ย เขาไม่อยากถูกฟ้อง เขาก็ต้องทำ         การทำงานที่ผ่านมาเรายังได้ ประสานกันหลายฝ่าย เราก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย  น้ำที่ไม่สะอาด พอเอาโคลิฟอร์มมาตรวจ น้ำจะเปลี่ยนสีเลย น้ำที่ได้มาตรฐาน จะเป็นสีส้ม น้ำที่ตรวจเจอแล้วเป็นสีเหลือง มันมีอันตรายอย่างไร คือเป็นน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ท้องร่วงได้ เราก็ให้ศูนย์สาธารณสุขมาให้ความรู้กับ อาสาสมัครเราด้วย         พี่เลยมองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้น ผู้ประกอบการเขาก็มีความตระหนักขึ้นนะ แล้วการทำงานร่วมกันในพื้นที่ก็มีส่วนเสริมกัน เรามองว่าช่วยกันได้ แล้ว อาสาสมัครถ้าทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้พัฒนาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

        หลายคนคงเคยใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เนื่องจากราคาถูก ง่ายต่อการใช้บริการ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หาง่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ แต่จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครพบว่ามีหลายตู้ตกมาตรฐาน        คุณต้นไม้ พักอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งใจกลางลาดพร้าว 101 เขามักซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นประจำ เพราะรู้สึกว่า ถูก ง่าย สะดวก เอาขวดน้ำที่ดื่มน้ำหมดแล้วมากรอกได้เลย แต่อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็มาหยอดเหรียญโดยนำขวดมากรอกน้ำเหมือนเคย แต่พอดื่มเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ารสชาติผิดปกติ ไม่เหมือนที่เคยดื่ม ลองเอามาดมก็มีกลิ่นแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม เพราะทุกทีน้ำไม่มีกลิ่น เขาจึงลองไปหยอดเหรียญกรอกอีกรอบ ก็ยังพบว่าน้ำดื่มมีความผิดปกติทั้งรสชาติและกลิ่นไม่เหมือนที่เคยดื่ม ดังนั้นเลยลองเสิร์ชดูในกูเกิลเจอว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยออกข่าวเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรก จึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ช่วยตรวจสอบเนื่องจากมีคนในคอนโดใช้บริการจำนวนมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซึ่งกำหนดให้มีการขออนุญาตก่อน หากมีการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องมีการเปลี่ยนไส้กรอง การซ่อมบำรุง และต้องรายงานคุณภาพน้ำด้วย เมื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วต้องมีสติ๊กเกอร์การได้รับอนุญาต ผลคุณภาพน้ำ ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรอกติดไว้ที่ตู้ด้วย         ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตบางกะปิ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ช่วยตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้ที่ผู้ร้องคือคุณต้นไม้ได้ร้องทุกข์ไว้ ทราบต่อมาว่าทางเขตบางกะปิได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังกล่าวแล้วและทางเขตสั่งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ตู้น้ำดื่มมีคุณภาพน้ำที่สะอาดสำหรับการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 219 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตอนที่2)

        หลังจากฉบับที่แล้วเราได้พิจารณารูปโฉมโนมพรรณภายนอกของเจ้าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไปแล้ว เรามาล้วงลูกผ่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูภายในกันเลย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ภายใน จะแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นถังเก็บน้ำ และส่วนที่ติดตั้งระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อโรค                      จะเห็นได้ว่าส่วนที่จะส่งผลทำให้น้ำดื่มที่จะจ่ายออกมาสะอาดหรือไม่ คือ ถังเก็บน้ำมันสะอาดจริงหรือ? และระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อมันยังคงมีประสิทธิภาพเหมือนตอนผลิตใหม่ๆ หรือไม่? คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องสอบถามหาคนรับผิดชอบ หรือสอบถามคนใกล้เคียง เพื่อหาข้อมูลการดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ให้มั่นใจ โดยสอบถามในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการดูแล บำรุงรักษา ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้        1. ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ แล้วมาดูแลอย่างไร บ่อยแค่ไหน           การดูแลนั้น ไม่ใช่แค่มาดูว่าตู้ฯพังหรือไม่? หรือมาเปิดเพื่อเก็บเงิน แต่ต้องมาดูแลเช็ดถู ทั้งภายนอกและภายใน ของตู้ฯให้สะอาด        2. มีการดูแลระบบและอุปกรณ์ที่การกรอง และฆ่าเชื้อตามระยะเวลาตามที่ติดไว้บริเวณด้านหน้าของเครื่องหรือไม่ เช่น มีการล้างไส้กรอง มีการเปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด หรือหลอดยูวีตามวัน เดือน ปี ที่ระบุหรือไม่         3. มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้นี้บ้างหรือไม่ อย่างไร        โดยการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะทำได้สองแบบ         (1) การตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น ซึ่งควรจะทำการทดสอบให้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ ทดสอบความเป็นกรด-ด่าง (ผลที่ได้ควรมีค่าอยู่ในช่วง 6.5 – 8.5) ทดสอบความกระด้าง (ผลที่ได้ไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม/ลิตร) และทดสอบเชื้อโรคด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (ผลที่ได้ไม่ควรพบเชื้อโรค)         (2) การเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลบ เพื่อยืนยันว่าน้ำดื่มได้มาตรฐานจริงๆหากสอบถามแล้วเรายังไม่ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ก็เหมือนการยอมเสียเงินเพื่อได้น้ำดื่มที่เราไม่รู้ว่าสะอาดหรือไม่มาบริโภคนั่นเอง          ไม่มั่นใจหรือสงสัย สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ(ตอนที่1)

        แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะหาซื้อน้ำดื่มบรรจุในขวดหรือบรรจุในถังมาบริโภคได้ไม่ยาก แต่ในต่างจังหวัดหรือในชุมชนต่างๆ กลับพบว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาติดตั้งมากมาย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนต่างๆที่ชุมชนเลือกดำเนินการ แต่เมื่อได้ติดตั้งตู้ฯ ไประยะหนึ่งแล้ว มักพบว่าตู้เหล่านี้เหมือนถูกทอดทิ้งชอบกล บางตู้ไม่มีผู้ดูแลประจำ บางตู้แม้มีการมอบหมายคนดูแล แต่คนดูแลก็ไม่ค่อยมาใส่ใจดูแลสม่ำเสมอ สุดท้ายผู้บริโภคที่มาหยอดเหรียญซื้อน้ำ เลยไม่รู้ว่าตนเองได้น้ำสะอาด หรือน้ำแถมเชื้อโรคกันแน่ ดังนั้นหากเราเป็นผู้บริโภคที่จะต้องเสียเงินซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อนำมาบริโภคแล้ว เราควรรู้เท่าทันมัน จะได้คุ้มค่าและได้น้ำที่สะอาดจากตู้ฯ มาบริโภค         การผลิตน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็คล้ายๆ กับการย่อโรงงานผลิตน้ำดื่มให้เล็กลงแล้วยัดลงไปในตู้ หากมองจากภายนอก เราจะเห็นว่ามันมีช่องให้หยอดเหรียญ มีบริเวณให้วางภาชนะเพื่อรองรับน้ำที่ไหลออกมาจากหัวจ่าย  ดังนั้นอันดับแรกก่อนจะเสียเงิน ให้มองดูฮวงจุ้ยของตู้ฯ เสียก่อน ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งใกล้ถังขยะ ใกล้แหล่งน้ำขังน้ำเน่า หรือใกล้จุดที่มีฝุ่นละอองต่างๆ มาก ถือว่าเป็นอัปมงคลแห่งทรัพย์ที่จะเสีย เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่สิ่งสกปรกเหล่านี้จะมาปนเปื้อนที่ตัวตู้ฯ อย่างแน่นอน ที่น่ากลัวคือบริเวณหัวจ่ายน้ำ หากพบว่าหัวจ่ายสกปรก มีคราบตะไคร่คราบฝุ่นติดมากมาย (ทดสอบโดยการนำเอากระดาษทิชชู่เช็ดที่หัวจ่าย) แสดงว่าสิ่งสกปรกเหล่านี้กำลังรอที่จะผสมลงไปในน้ำดื่มที่ตู้ฯ กำลังจะจ่ายให้เรา        เสร็จจากดูฮวงจุ้ยของตู้น้ำหยอดเหรียญแล้ว ถ้ามันผ่านก็อย่าเพิ่งรีบดีใจจนเนื้อเต้น ให้ตั้งสติหันมาดูรายละเอียดที่บริเวณด้านหน้าของตู้ฯด้วย เพราะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่  31  (พ.ศ.  2553) กำหนดให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงรายละเอียด ติดไว้ที่ด้านหน้าของตู้ให้อ่านได้ชัดเจน คงทนถาวร และมีรายละเอียดครบถ้วนดังนี้         1. ข้อแนะนําในการใช้  ต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้                    (ก) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ                (ข) ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะ ไม่ถูกสุขอนามัย                    (ค) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ                    (ง) ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ                    (จ) ไม่ควรนําภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ        2. ระบุวัน  เดือน  ปี  ที่เปลี่ยนไส้กรอง  แต่ละชนิด        3. คําเตือน  ต้องระบุว่า  “ระวังอันตราย  หากไม่ตรวจสอบวัน  เดือน  ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง  และตรวจสอบคุณภาพน้ำ”  โดยข้อความที่เป็น  “คําเตือน”  ต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า  1  เซนติเมตร  บนพื้นสีขาว            ดังนั้นหากเราดูภายนอกแล้วพบว่าตู้น้ำหยอดเหรียญนี้ไม่แสดงฉลาก แสดงว่าตู้นี้เป็นตู้ที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522   แจ้งเจ้าหน้าที่ สำนักงานจังหวัดที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522 ที่ศาลากลางจังหวัดที่ตู้นั้นตั้งอยู่ได้เลย        หากเราตรวจสอบลักษณะภายนอกของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังข้างต้นแล้ว พบว่าถูกต้องครบถ้วน อย่าเพิ่งไว้ใจ ฉบับต่อไปเราจะชวนผู้บริโภคผ่าตู้ให้รู้ทันกันไปเลยว่าข้างในมีอะไร อย่าลืมติดตามอ่านในฉบับต่อไปนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลงานดีๆ เพื่อผู้บริโภคไทยของ คอบช.

คอบช. คือใครคอบช. เป็นชื่อย่อของ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำลองรูปแบบของ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านผู้บริโภค 302 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองทำหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปี 2558-2559 มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามผลงานและดาวน์โหลดรายงานประจำปีของ คอบช. ได้ที่ www.indyconsumer.org--------------------------------------------------------------------------3 ผลงานดีๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2559• ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ• ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา การฟ้องขับไล่กรณีบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ จากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ผลักดันด้านนโยบาย ให้ อย.ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากพืชดัดแปรพันธุกรรม1 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน แม้ดูเหมือนมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลและเฝ้าระวังปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น คนไทยยังเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำดื่มไม่ปลอดภัยจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันดังนั้นในปี 2559 คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระทำการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 855 ตู้ พื้นที่ 17 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้ด้านการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้นเรื่องสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถูกวางไว้ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก (ริมถนน ริมฟุตบาท) ร้อยละ 76.3 วางอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 และวางอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ซึ่งมีสัตว์พาหะนำโรคอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ร้อยละ 22 วิธีการติดตั้งพบว่า มีตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ 52.3 และมีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9เรื่องการติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) พบว่า มีการแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพียง ร้อยละ 6 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรอง ร้อยละ 7 มีการแสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ ร้อยละ 20 มีการแสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 และแสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตัวตู้ไม่สะอาด ร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตู้เป็นสนิม ร้อยละ 29.4 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 ตู้มีรูรั่วซึม ร้อยละ 11.2 สำหรับในส่วนของเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น พบว่า มีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือน เพียงร้อยละ 43.3สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งน้ำที่ใช้สู่ความร่วมมือคอบช. ได้นำผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลายหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดให้มีการตรวจติดตามตู้น้าดื่มหยอดเหรียญไว้ในแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าแล้ว กรณีที่พบการกระทำความผิดจะส่งเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายทันที และในส่วนของแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2559 ทาง สคบ.จะกำหนดให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการตรวจสอบด้วยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผลการศึกษาของ คอบช.เพื่อนำไปประกอบการทำร่างเทศบัญญัติการควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยินดีที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา และจัดทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อไปนอกจากนี้ ข้อเสนอจากผลการศึกษายังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ในปี 2559 ด้วยสรุปข้อเสนอจากงานวิจัย • ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง• ข้อเสนอต่อหน่วยงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ และเสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ถูกต้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีแผนการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศฯ ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 รวมถึงติดตามการติดฉลากของผู้ประกอบการว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง ควรลงโทษให้เด็ดขาด2 บ้านเอื้ออาทรกับการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่อาศัยคือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ใช้พักผ่อนหลับนอน แต่ยังเป็นศูนย์รวมของครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในอดีตรัฐเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งในแบบเช่าซื้อและซื้อ โดยโครงการบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่การเคหะฯ เป็นผู้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลในยุค พ.ศ. 2546บ้านเอื้ออาทร ในนิยามของการเคหะฯ คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท สามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ต่อมาโครงการนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นนโยบายประชานิยมมีนัยเพื่อซื้อใจคนที่มีรายได้น้อย ให้มีความหวังกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการวางแผนไว้อย่างดีสำหรับโครงการนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีช่องว่างมากมายจนทำให้เกิดการทุจริต (ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น) และท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาดีมานด์เทียมขึ้น จนก่อให้ซัพพลายหรือตัวอาคารที่สร้างเสร็จค้างไว้ ไม่มีผู้มารับโอนตามจริง เป็นภาระหนักให้การเคหะฯ ต้องขวนขวายหากลยุทธ์ในการระบายสต็อกในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีค้างอยู่ให้หมด และยังมีปัญหาที่ผู้ซื้อมือแรกไปต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้สูญ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดปัญหาในการชำระค่างวดให้ตรงเวลา หรือขาดส่งค่างวดตามที่สัญญาระบุไว้ติดๆ กัน จนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมปัญหาการถูกการเคหะแห่งชาติบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคของ คอบช. พบว่า ปัญหาเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร จะมีสัญญาเกิดขึ้น 3 ฉบับ คือ สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน โดยผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ ผู้บริโภคทำสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และการเคหะฯ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้บริโภคและยอมรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้บริโภคผิดพลาดในการส่งเงินค่างวดตามสัญญากู้เงิน สถาบันการเงินจะส่งเรื่องให้ผู้ค้ำประกัน คือการเคหะฯ ทราบเรื่องเพราะถือเป็นลูกหนี้ร่วม การเคหะฯ จะดำเนินการจ่ายหนี้แทนผู้บริโภคและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยินยอมออกจากบ้าน(ที่บางคนก็อยู่มาหลายปีแล้ว) ก็ตามมาด้วยการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้พิจารณาในตัวสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งสามฉบับ กลับพบว่า มีจุดที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จนทำให้หลายคนเสียบ้านไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทาง คอบช. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของการเคหะฯ ดังนี้1.ขอให้การเคหะแห่งชาติแก้ไขสัญญาเรื่องผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน 2.ขอให้การเคหะแห่งชาติ บังคับใช้ข้อสัญญา เรื่องห้ามให้เช่าช่วงอย่างเคร่งครัด 3.ขอให้การเคหะแห่งชาติกับสถาบันการเงิน ปฏิบัติตามสัญญากู้เงินในเรื่องการให้แก้ไขข้อผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญา“ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่า การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่สัญญากู้ยืมเงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้กู้หรือผู้บริโภคทำกับสถาบันการเงินไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี”หลังการนำข้อเสนอข้างต้นเข้าหารือ การเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้1.หากผู้ซื้อผิดนัดและไม่มีเงินชำระก็ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ ที่จะนำเงินที่เหลือมาผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อได้2.การเคหะแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามต่างๆ ให้ผู้ซื้อทราบก่อนทำสัญญา และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก3.การเคหะแห่งชาติได้ประสานกับสถาบันการเงิน และตกลงให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ทราบเรื่องการผิดสัญญาและให้ผู้ซื้อได้แก้ไขข้อผิดสัญญาในระยะเวลาอันสมควร ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา และก่อนที่สถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งการเคหะแห่งชาติให้ชำระหนี้แทน3 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือที่ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องความปลอดภัยแต่ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ไม่อาจสังเกตได้ในระดับปกติ ต้องใช้การทดสอบเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในทางกายภาพ การแจ้งบนฉลากอาหารจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ แต่มีอยู่ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพด เท่านั้นฉลากจีเอ็มโอต้อง ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพดสิ่งนี้คือข้อเสนอที่ คอบช. ได้พยายามผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ เพราะการปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ที่นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด วางจำหน่ายตามท้องตลาด ย่อมไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอซึ่งปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอในนั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก มีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใดในประเทศไทย กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจนในปี 2559 คอบช.ได้ทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ. ....(พืช GMOs) โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งยังได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศควบคุมฉลากแสดงสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs ) ที่ก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติ ปี พ.ศ.2545-----------------------------------------------------ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2556 ตรวจสุขภาพ...อาจทำร้ายสุขภาพ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) รายงานว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจที่ไม่เหมาะสม เป็นการตรวจสุขภาพโดยการสุ่มตรวจหรือการตรวจแบบ “เหวี่ยงแห” นอกจากจะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่น นำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า การตรวจสุขภาพหรือการคัดกรองสุขภาพ(ไม่รวมการตรวจสุขภาพที่เกี่ยวกับการยืนยันโรค หรือเพื่อรักษาโรคนั้น) ควรหลีกเลี่ยงการคัดกรองแบบเหวี่ยงแห ที่เป็นการตรวจแบบไร้จุดเป้าหมาย เพราะมีโทษมากกว่าประโยชน์ และสามารถก่ออันตรายต่ออวัยวะอื่น เช่น การเอกซเรย์ การตรวจการทำงานของตับ ไต หรือการใช้เครื่องซีทีสแกน ซึ่งมีรังสีมากกว่าการเอกซเรย์ 100 เท่า เป็นต้น โดยทาง HITAP ได้ทำวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและราชวิทยาลัยต่างๆ จัดเป็นโปรแกรมการตรวจคัดกรอง 12 เรื่อง เตรียมเสนอให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 12 เรื่องที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจมีอย่างเช่น การตรวจโลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ตรวจสายตา ฯลฯ พร้อมกับกำหนดช่วงวัยที่เหมาะสมและจำนวนการตรวจ ซึ่งประชาชนควรได้รับทราบข้อดี ข้อเสียของการตรวจสุขภาพ ก่อนเข้ารับการตรวจ     ตู้น้ำดื่มตกมาตรฐาน ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เลือกบริโภคน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าบรรดาตู้น้ำดื่มทั้งหลายที่ตั้งให้บริการอยู่นั้น ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับหน้าที่ดูตรวจสอบความปลอดภัยที่ชัดเจน แถมล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุมตรวจความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่าเกินครึ่งตกมาตรฐาน อย. ได้เปิดเผยข้อมูลการสุ่มตรวจตัวอย่างคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขต กทม.จำนวน 300 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐาน 129 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 43 ตกมาตรฐาน 171 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 57 โดยรายการที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด คือ ค่าความเป็นกรดด่าง ซึ่งอาจมาจากระบบการกรองของตู้ (Reverse Osmosis) ซึ่งไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนด ซึ่ง อย. ออกมาเปิดเผยว่าไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหานี้ โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อกำหนดคุณภาพของน้ำบริโภคที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติโดยตรง ขณะนี้เหลือเพียงรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมบังคับใช้ในปี 2557 ซึ่งเมื่อมีผลตามกฎหมายหากพบตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติของผู้ประกอบการรายใดไม่ได้มาตรฐานจะมีโทษทันที   อย.มั่นใจนมผงไทยไม่มีเชื้อแบคทีเรีย หลังจากมีข่าวที่ชวนให้ตกใจ เรื่องการพบเชื้อแบคทีเรียในเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้นที่ผลิตจากบริษัท ฟอนเทียร่า ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้นนี้ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์นมต่างๆ โดยเฉพาะนมผง โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบการปนเปื้อนมีอันตรายหากมีการบริโภคเข้าสู่ร่างกาย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรวจสอบปัญหาดังกล่าวเพื่อคลายความกังวลของผู้บริโภคในประเทศไทย ทั้งการตรวจเข้มการนำเข้า เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ เชิญผู้ประกอบการมาชี้แจงหามาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัย สำหรับกรณีที่ บริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย ที่มีบางผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบจากบริษัท ฟอนเทียร่า บริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย จึงได้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์บางตัว ประกอบด้วย 1.ดูโปร สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2556 ถึง 28 มิถุนายน 2556 หมดอายุในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ถึง 28 ธันวาคม 2557, 2. ไฮคิว สูตร 1 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 09 พฤษภาคม 2556 ถึง 15 กรกฎาคม 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 09 พฤศจิกายน 2557 ถึง 15 มกราคม 2558, 3. ไฮคิว สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2556 ถึง 25 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ถึง 25 ธันวาคม 2558, 4. ไฮคิว ซูเปอร์โกลด์ สูตร 1 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 ถึง 14 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึง 14 ธันวาคม 2557 และ 5. ไฮคิว ซูเปอร์โกลด์ สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 ถึง 28 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึง 28 ธันวาคม 2557 ส่วนผลิตภัณฑ์นมดัดแปลงและอาหารทารกสำหรับเด็กเล็กจากบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าอื่นๆ รวม 73 รายการ ที่แจ้งกับทาง อย. ทาง อย. ยืนยันว่าไม่มีบริษัทใดนำเข้าหรือใช้เวย์โปรตีนล็อตที่เป็นปัญหาเป็นวัตถุดิบแต่อย่างใด   เตรียมปรับฉลากอาหาร ปริมาณ “น้ำตาล – เกลือ” ต้องอ่านง่าย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการจัดทำฉลากอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือใหม่ จากเดิมที่ระบุปริมาณเป็นมิลลิกรัม ซึ่งอ่านเข้าใจยาก โดยเฉพาะในฉลากขนมที่มีน้ำตาลและเกลือสูง หวังช่วยให้เด็กๆ มี่ซื้อรับประทานอ่านฉลากมากขึ้น โดยฉลากแบบใหม่ต้องปรับให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย อาจใช้รูปสัญลักษณ์ในการบอกค่า เช่น รูปช้อน แทนปริมาณน้ำตาล 1ช้อน หรือ 2 ช้อน พร้อมกับระบุวิธีการเผาผลาญออกจากร่างกาย และผลกระทบ ผลเสีย หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายด้วย เช่น น้ำตาล 2 ช้อน การเผาผลาญต้องวิ่งเป็นเวลา 20 นาที หรือ เกลือ หากได้รับปริมาณมากเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยอาจจะทำเป็นสติกเกอร์ติดที่ซองอาหารเพิ่มเติมจากฉลากเดิมที่มีอยู่แล้ว ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนไทยเราเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ มากขึ้น โดยในปี 2554 ข้อมูลจากการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 22.2 ล้านคน พบผู้ป่วยเบาหวาน 1,581,857 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน 277,020 ราย โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางไตมากที่สุด เช่น ไตวาย ร้อยละ 25 รองลงมาคือแทรกซ้อนทางตา เช่น ตาต้อกระจก ต้อหินร้อยละ 23 คาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ไทยจะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 ราย แนวโน้มพบในเด็กมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยเผชิญความอ้วนมากขึ้น   พลังคนไทยทวงคืนพลังงานชาติ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อร่วมแสดงพลังเรียกร้องความเป็นธรรม หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อชุมนุมคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี พร้อมทั้งล่ารายชื่อ 5 หมื่นชื่อ ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการกระทรวงพลังงานทั้งสิ้น 5 คน เนื่องจากนโยบายการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศเดือดร้อน ซึ่งการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อรวมคัดค้านนั้น จะกระจายไปทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าให้ได้จังหวัดละ 1 พันรายชื่อ เพื่อแสดงพลังของประชาชนที่คัดค้านการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและจะนำรายชื่อไป ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป ก๊าซแอลพีจี หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวสำหรับภาคครัวเรือน เริ่มปรับขึ้นราคาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน รวมแล้วขึ้นราคาเป็น 6 บาท จากเดิมที่ราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 24.82 บาทต่อกิโลกรัมใครที่อยากร่วมลงชื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการกระทรวงพลังงาน สามารถเข้าไปโหลดเอกสารลงรายชื่อได้ที่ลิงค์ http://www.gasthai.com/pengout.pdf และติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมและข้อมูลต่างๆ เรื่องความไม่เป็นธรรมของธุรกิจพลังงานในไทยได้ที่เฟซบุ๊ค Goosoogong   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ

    ตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติเป็นสิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในย่านชุมชน หลายคนต้องพึ่งพาตู้เหล่านี้เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดในราคาย่อมเยา ธุรกิจตู้น้ำดื่มก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะใครๆ ก็ทำได้ แค่มีพื้นที่หน้าบ้านบวกกับเงินลงทุนเริ่มต้นอีกไม่เกิน 3 หมื่นบาทเราก็เป็นเจ้าของตู้พวกนี้ได้แล้ว มีทั้งแบบขายขาดให้เจ้าของพื้นที่ดูแลเองและแบบที่มีบริษัทส่งพนักงานมาซ่อมบำรุงให้ แต่น้ำที่ได้จากตู้พวกนี้สะอาดจริงหรือ?   การเก็บตัวอย่างน้ำ 2,025 ตัวอย่างจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึง กันยายน 2555 พบว่าเกือบร้อยละ 40 ไม่ผ่านมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด น้ำดื่มเหล่านี้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่าความกระด้างเกินเกณฑ์ และยังพบเชื้อโคลิฟอร์ม และ E.coli  ในน้ำดื่มถึง 319 ตัวอย่างด้วยปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการดูแลรักษา แล้วการกำกับดูแลธุรกิจหรือการควบคุมมาตรฐานของอุปกรณ์เหล่านี้ดีพอที่จะรับประกันคุณภาพหรือความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคแล้วหรือยัง?เครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  ได้ทำการสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติในกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจเกี่ยวกับ สถานที่ตั้ง การติดฉลาก คุณลักษณะ แหล่งน้ำที่ใช้ และการบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 855 ตู้จาก 18 เขตของกรุงเทพมหานคร ทีมสำรวจพบว่า ...•    มีเพียงร้อยละ 8.24 ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในการสำรวจ (855 ตู้)  ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ  … นั่นหมายความว่ายังมีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกมากที่ดำเนินการขายน้ำดื่มโดยยังไม่ได้รับใบอนุญาต (ใบอนุญาตดังกล่าวมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าแพงเกินไป!!)•    ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ร้อยละ 76.3      ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ริมถนน บนทางเท้า ร้อยละ 47.7    ไม่มีการยกระดับตู้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อย  10 เซนติเมตรร้อยละ 28.3     ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำขัง/แหล่งระบายน้ำเสีย (บางครั้งพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในบริเวณใกล้กัน)ร้อยละ 22    ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงสาบ หนู แมลงวัน•    ตู้กดน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการติดฉลากบอกข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน หรือ วัน เดือน ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง หรือมีแต่ก็ไม่ครบถ้วน•    ทีมสำรวจพบทั้งตู้เก่าและตู้ใหม่ บางตู้ติดตั้งมานานและไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบกิจการ มีสนิม มีรูรั่วซึม มีการผุกร่อน บางตู้ไม่มีฝาปิดช่องจ่ายน้ำ บางตู้มีตะไคร่เกาะที่หัวจ่ายน้ำด้วย•    ร้อยละ 93.8 ของน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มในตู้เหล่านี้เป็นน้ำประปา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะน้ำประปาเป็นน้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว•    มีเพียงร้อยละ 58.7 ของตู้เหล่านี้ที่ได้รับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดถังเก็บน้ำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง•    มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ผู้สำรวจไม่สามารถติดตามพบเจ้าของผู้รับผิดชอบได้   -------------------------------------------------------------------------------------------------วิธีการเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ: ข้อเสนอแนะจากทีมสำรวจสภาพภายนอก >> เลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ จุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ ควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดมักทำให้เกิดตะไคร่ภายในหัวบรรจุการควบคุมคุณภาพน้ำ >>  ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มเป็นประจำ เมื่อผู้ดูแลตู้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรองแล้วจะติดสติ๊กเกอร์แจ้งวัน/เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่การสังเกตกลิ่น สี รส  >>  ผู้บริโภคสามารถตรวจดูสภาพของน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นได้ด้วยการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ควรเปลี่ยนตู้ใหม่เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองเสียก่อนภาชนะที่นำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ >> ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม------------------------------------------------------------------------------------------------กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 362 พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 28 ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ------------------------------------------------------------------------------------------------ความนิยมของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ร้อยละ 40.9 ของน้ำดื่มที่คนไทยบริโภค มาจากน้ำบรรจุขวดและตู้น้ำดื่มยอดเหรียญผลสำรวจของกรมอนามัยในปี 2556 ระบุว่า ร้อยละ 14 ของประชาชนจัดหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ ร้อยละ 17 ดื่มน้ำฝนที่กักเก็บไว้ ร้อยละ 24 ดื่มน้ำประปา และร้อยละ 32 นิยมดื่มน้ำบรรจุขวด ที่เหลือเป็นน้ำดื่มที่ได้จากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้น------------------------------------------------------------------------------------------------น้ำดื่มคุณภาพ: หน่วยงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง•    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา >> กำกับดูแลคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522•    สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค >> กำกับดูแลการโฆษณาคุณภาพและควบคุมการติดฉลากของเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522•    สำนักอนามัย สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร >> ติดตามการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 •    สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม >> กำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำประเภทต่างๆที่กำหนดภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ------------------------------------------------------------------------------------------------น้ำดื่มที่ดีไม่ได้หมายถึงน้ำดื่มบริสุทธิ์ปราศจากแร่ธาตุใดๆ เพียงแต่ปริมาณแร่ธาตุเหล่านั้นจะต้องไม่เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับน้ำบริโภคกำหนดไว้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://plan.dgr.go.th/school/5.pdf------------------------------------------------------------------------------------------------การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดของประชากรอาเซียน    มหาวิทยาลัยเยล ร่วมกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและ World Economic Forum จัดทำ Environmental Performance Index (EPI) ขึ้นในปี 2014 จากการสำรวจและประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 178 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในหัวข้อสำรวจคือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด ซึ่งหมายถึง ประปา แหล่งน้ำบาดาล น้ำฝน เท่านั้น (ไม่นับน้ำดื่มบรรจุขวดหรือสั่งซื้อ) เรามาดูกันว่ากลุ่มประเทศอาเซียนทำได้ดีแค่ไหนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน  เรียงจากมากไปน้อยตามนี้100        สิงคโปร์ 100         บรูไน 91.94        มาเลเซีย60.55        ไทย59.47        เวียดนาม48.38        ฟิลิปปินส์32.45        อินโดนีเซีย 32.27        เมียนมา 17.34        ลาว 15.52        กัมพูชา ข้อมูลจาก http://epi.yale.edu/epi/issue-ranking/water-and-sanitation  

อ่านเพิ่มเติม >