ฉบับที่ 234 ‘โควิด-19’ ภาพสะท้อนการจัดการขยะติดเชื้อของไทย

พอจะพูดได้ว่า เวลานี้เราผ่านช่วงตึงเครียดของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาแล้ว มาตรการล็อคดาวน์ทยอยไขกุญแจออกทีละส่วน (แต่ทำไมไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน?) อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอก 2 ยังต้องเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุขย้ำเตือนบ่อยครั้งว่าการ์ดห้ามตก         ประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่มากคือเรื่องขยะติดเชื้อ         ขยะติดเชื้อไม่ใช่ปัญหาใหม่ ตรงกันข้าม มันเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานแรมปี ลองดูตัวเลขจาก ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ.2559-2564)’ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่า ในปี 2557 มีมูลฝอยติดเชื้อทั่วประเทศประมาณ 52,147 ตัน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2553 ที่มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพียง 40,000 ตันเท่านั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 57 มาจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่อีกร้อยละ 43 มาจากโรงพยาบาลเอกชนและสถานบริการขนาดเล็ก ได้แก่ คลินิก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือสถานีอนามัย และสถานพยาบาลสัตว์        ตัวเลขที่ชวนให้ตั้งคำถามและเรียกร้องคำตอบจากภาครัฐอยู่ที่ว่า ในปี 2557 มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อที่ได้รับการจัดการอย่าง ‘ถูกต้อง’ โดยการเผาไม่น้อยกว่า 35,857 ตันต่อปี หรือร้อยละ 70 ของปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมด         ขยะติดเชื้ออีก 16,290 ตันไปไหน?         ล่วงเลยถึงปี 2563 ขยะติดเชื้อคาดได้ว่าเพิ่มปริมาณขึ้นจากเมื่อ 6 ปีก่อนแน่นอน การกำจัดอย่างถูกต้องรองรับได้แค่ไหน คงต้องบอกว่าเสียใจที่งานชิ้นนี้ไม่มีคำตอบให้ แต่เราจะพาไปสำรวจสถานการณ์ในปัจจุบัน ภาพจากอดีต และความคาดหวังเล็กๆ ในอนาคต         ปริมาณขยะติดเชื้อช่วงโควิด        กลางเดือนเมษายนเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจสัมภาษณ์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เนื้อหาช่วงหนึ่งระบุว่า กรมอนามัยได้เฝ้าระวังและติดตามสถานะการณ์ขยะติดเชื้อใน 2 กลุ่มเป้าหมาย         กลุ่มแรกคือผู้ป่วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้จำนวนขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระบบของการรักษาพยาบาล พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 คนมีอัตราการเกิดมูลฝอยติดเชื้อประมาณ 2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน ส่งผลให้ประเทศต้องดูแลระบบติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเป้าหมายนี้         กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ถูกกักกันหรือการกักตัวเอง ซึ่งมีการกำจัดขยะแบบขยะติดเชื้อ เมื่อรวมขยะติดเชื้อของ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ถือว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น         ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวผ่านเว็บไซต์ของทางสถาบันว่า ขยะติดเชื้อที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทั่วประเทศมีประมาณ 1.5–2 ล้านชิ้นต่อวัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.7 ตันต่อวัน เมื่อรวมขยะติดเชื้อที่รวบรวมได้จากสถานพยาบาลต่างๆ และนำไปกำจัดโดยเตาเผาที่มีประสิทธิภาพวันละ 50 ตัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้อ 43 ตันต่อวัน          แต่ยังมีข้อมูลอีกชุดที่น่าสนใจ...         นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า หลังจากมีสถานการณ์โควิด-19 ระบบติดตามขยะติดเชื้อในสถานบริการหรือหน่วยต่างๆ พบว่า โดยปกติก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณที่มีการจัดการและกำจัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3,900 ตันต่อเดือน แล้วมาขึ้นสูงช่วงที่มีการพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อวันที่ 12 มกราคม         “แล้วคงมีการตื่นตัว ระมัดระวังในการให้บริการกับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าปกติ เพราะเดิมจาก 3,900 ตันต่อเดือนมันไหลลงมาอยู่เกือบ 3,700 ตันต่อเดือนแล้วก็กลับขึ้นไปประมาณ 4,000 ตันต่อเดือนอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม พอเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,600-3,700 ตันต่อเดือน         แต่ข้อมูลตรงนี้ผมอยากเรียนเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เห็น ในเดือนกุมภาพันธ์ไม่ดูตามจำนวนยอดใหญ่ แต่ดูจากภาพรวมที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณมูลฝอยขยะติดเชื้อลดลงจากฐานเดิมที่เคยมีอยู่ประมาณ 6.98 เปอร์เซ็นต์ เดือนมีนาคมลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.22 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของเดือนเมษายนและพฤษภาคมกำลังรวบรวมอยู่”         ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยนอกต่อเดือนจากเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปี 2562 มีจำนวนประมาณ 26 ล้าน 28 ล้าน และ 30 ล้านครั้งต่อเดือน และขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ที่ประมาณ 31 ล้านครั้งต่อเดือน แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมาบวกกับการปรับตัวของโรงพยาบาลเพื่อลดความแออัด เพราะเริ่มมีความกังวลว่าการไปรับบริการที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับเชื้อ ทำให้ยอดผู้ป่วยนอกของเดือนกุมภาพันธ์ตกลงมาอยู่ประมาณ 26 ล้านครั้งต่อเดือน และ 23 ล้านครั้งต่อเดือนในเดือนมีนาคม ซึ่งจำนวนขยะติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ที่มาโรงพยาบาล         “ถ้าเป็นข้อมูลที่เราได้จากสถานบริการจะเป็นข้อมูลที่แม่นยำกว่าและมีระบบการรายงานในส่วนของการคาดการณ์ต่างๆ และตัวเลขจากห้องแล็บต่างๆ ที่มีมาในช่วงแรกๆ ยังไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ยังมีปริมาณการตรวจไม่มากนัก เนื่องจากห้องแล็บที่จะตรวจได้มีจำกัด แล้วตอนหลังก็มีการประเมินและให้ห้องแล็บโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลจังหวัดตรวจเพิ่มขึ้น ดังนั้นปริมาณของขยะติดเชื้อก็เป็นเรื่องของนิยามส่วนหนึ่งว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มาจากห้องปฏิบัติการติดเชื้อก็ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นสูงในช่วงเดือนเมษายนเพราะว่าเริ่มตรวจเยอะขึ้นและห้องแล็บมีปริมาณเยอะขึ้น” นพ.ดนัย กล่าว          ว่าด้วย ‘นิยาม’ ขยะติดเชื้อ คืออะไรกันแน่?         นพ.ดนัย เอ่ยถึง ‘นิยาม’ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปริมาณขยะติดเชื้อ          “ในส่วนของครัวเรือนหลายคนอาจคิดว่าก็เป็นมูลฝอยติดเชื้อ แต่ในข้อเท็จจริงก็ไม่สามารถอธิบายได้ ผมเรียนว่า ถ้าเป็นการใส่หน้าอนามัยโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อแล้ว ส่วนนี้ยังไงก็ต้องจัดการแบบมูลฝอยติดเชื้อ แต่กรณีการใส่หน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วย ถ้าจะให้คำจำกัดความว่าหน้ากากอนามัยเหล่านี้เป็นมูลฝอยเชื้อด้วย มันคงจะเป็นปริมาณมหาศาลและในเชิงระบบของเราก็ไม่สามารถรองรับได้ หมายความว่าทุกเคสที่เราวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโควิดหรือสงสัยว่าเป็น เราจะรับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลและมีการตรวจ ดังนั้นข้อมูลขยะติดเชื้อจึงเป็นข้อมูลที่เกิดจากการให้บริการผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าป่วย สิ่งต่างๆ ที่เราใช้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกอย่างจะถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ”         ด้วยนิยามดังกล่าว ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อจะมากจริงหรือไม่ ต้องดูข้อมูลของผู้มารับบริการที่เป็นโควิด แต่ถ้าประชาชนทั่วไปขยะที่มาจากหน้ากากอนามัยถือว่าเป็นขยะทั่วไป ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ เพียงแต่ถ้าจะให้เกิดความเหมาะสมก็ควรมีการคัดแยกและทิ้งให้เป็นสัดส่วน ส่วนการกำจัดก็ทำเหมือนขยะทั่วไป เพราะความเสี่ยงที่หน้ากากเหล่านี้จะสัมผัสกับเชื้อถ้าเทียบเคียงแล้วถือเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย         ถึงจุดนี้เราจะเห็นประเด็นปัญหาเรื่องนิยาม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยมองว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนทั่วไปใส่เป็นขยะติดเชื้อ แต่กรมอนามัยมองว่าไม่ใช่ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ต้องถกเถียงอภิปรายกันขนานใหญ่ทีเดียว         ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นว่าหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใส่ก็ถือเป็นขยะติดเชื้อด้วย เธอกล่าวว่า         “ภายใต้สถานการณ์โควิดเกิดการตั้งคำถามว่าขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ถุงมือ ขวดน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับทั้งประเทศอยู่ในช่วงต้องตื่นตัว โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐก็จะตื่นตัวกับเรื่องนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไปได้สักพักหนึ่งกรมอนามัยก็มีหนังสือแนะนำแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภท แล้วกรมส่งเสริมก็มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัด จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัดก็จะมีหนังสือแจ้งไปยัง อปท. ว่ากรมอนามัยได้มีข้อแนะนำมาอย่างนี้ๆ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นคำแนะนำทั่วๆ ไป”         เพ็ญโฉมคิดว่า ถ้าพิจารณาถึงมาตรการในการรับมือและการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งแตกต่างไปจากสถานการณ์ปกติ คำแนะนำดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับความใหญ่โตของระบบราชการที่ต้องส่งคำสั่งเป็นทอดๆ ที่อาจทำให้การรับมือล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น          อาการหมักหมมของปัญหาขยะติดเชื้อในไทย         “พูดถึงปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเรา ซึ่งเป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว เท่าที่เราเคยสำรวจดูการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบางพื้นที่ เราพบว่าระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลบางแห่งที่เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานที่รับรองได้ว่าจะมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปกติขยะติดเชื้อมีส่วนผสมหลายอย่างจะถูกส่งเข้าเตาเผา สิ่งที่กังวลมากเวลาเผาขยะติดเชื้อก็คือการปลดปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม เพราะขั้นตอนที่จะสามารถกำจัดควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาต้องใช้อุณหภูมิประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส แต่เราพบว่าการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเราหลายพื้นที่น่าจะยังไม่ได้มาตรฐานเรื่องการควบคุมมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาวัสดุต่างๆ”          ปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อประการที่ 2 เนื่องจากประเทศไทยมีคลินิกเอกชนกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ต้องดูว่า อปท. ในแต่ละพื้นที่มีมาตรการเก็บขนและการกำจัดอย่างไร บางพื้นที่จะมีการจ้างบริษัทเอกชนให้เป็นผู้รับขยะติดเชื้อไปกำจัดในเตาเผา แต่จะขึ้นกับปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากสถานพยาบาลแต่ละแห่งถ้าเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ บริษัทเอกชนที่ให้บริการรับขนจะมาเก็บขนเป็นล็อตๆ แต่เนื่องจากว่าเรามีคลินิกเอกชนและสถานพยาบาลขนาดกลาง ขนาดเล็กทั่วประเทศ ตรงนี้ตรวจสอบไม่ได้เลยว่ามีการเก็บขนและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างไร ทำให้มีข่าวว่ามีการทิ้งขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลบางแห่งปะปนกับขยะมูลฝอยจากชุมชนที่นำไปทิ้งตามหลุมฝังกลบของเทศบาลต่างๆ         “การเก็บขนขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ของรัฐหรือของเอกชนทุกวันนี้ เราบอกไม่ได้ว่ามีการเก็บขนที่ครบถ้วนสมบูรณ์และนำไปสู่การจัดการที่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ถ้ามองในเชิงสถานการณ์โควิค ปัญหาที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่ดีขึ้น ปัญหาใหม่ก็ทับถมเข้ามา ถ้าพูดโดยสรุปคือการจัดการมูลฝอยติดเชื้อของบ้านเรายังไม่อยู่ในภาวะที่สามารถรับมือและนำไปสู่มาตรการการเก็บขนและกำจัดได้อย่างมีมาตรฐานที่ปลอดภัยเพียงพอทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม”          ความพยายาม         นพ.ดนัย กล่าวถึงปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อว่า ทางกรมอนามัยพยายามติดตามและดำเนินการอยู่โดยในอดีตขยะติดเชื้อสามารถกำจัดได้ด้วยเตาเผาขยะที่โรงพยาบาล แต่ 10 ถึง 20 ปีให้หลังมานี้ โรงพยาบาลของเราอยู่ในที่ชุมชน รวมถึงปริมาณขยะติดเชื้อก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นจึงไม่สามารถเผาในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งต้องเป็นเตาเผาคุณภาพสูงและเผาด้วยความร้อนสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้การรวบรวมขยะติดเชื้อไปกำจัดในแหล่งที่ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ไม่ได้มีทั่วไปในทุกจังหวัด         เหตุนี้จึงต้องใช้บริการเก็บขนจากบริษัทเอกชนที่มีอยู่ประมาณ 24 รายที่ไปรับจากโรงพยาบาลต่างๆ มาส่งยังแหล่งกำจัด 10 กว่าแห่งที่มีการดำเนินการ         “เรากำกับในส่วนของบริษัทเอกชนกับเตาเผาขยะโดยการใช้ระบบ Manifest Online ข้อมูลขยะติดเชื้อที่มีการเก็บมาจากโรงพยาบาลมีจำนวนเท่าไหร่และนำส่งไปที่เตาเผาจำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเชื่อมกัน ซึ่งตอนนี้สามารถดำเนินการได้ในระดับหนึ่งอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยู่ในเป้าหมายที่เราดำเนินการได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และยังเหลืออีกจำนวนหนึ่งที่เรากำลังเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งเรากำลังพัฒนาโปรแกรมอื่นๆ อยู่ซึ่งยังต้องลงทุนอีกเยอะ         มาตรการที่เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ เราพยายามกำหนดบทบัญญัติต่างๆ ให้มีความรัดกุมมากขึ้นโดยมีมาตรการการกำจัดเก็บขนในการบังคับให้หน่วยต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เรากำหนด แต่อาจจะมีผลบังคับใช้จริงภายในเดือนกันยายนปีนี้เพราะมีขั้นตอนในเชิงกฎหมาย และเรากำลังปรับปรุงระบบกำกับติดตามการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อให้มีความทันสมัย สามารถติดตามดูว่ารถขนส่งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกําเนิดไปยังแหล่งกำจัดมีเส้นทางและมีการดำเนินการที่ถูกต้อง”          สร้างทางเลือกใหม่ๆ         1,000 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิที่เพียงพอจะกำจัดขยะติดเชื้อโดยไม่ปล่อยสารไดออกซินสู่สิ่งแวดล้อม แต่ ดร.สมไทย วงษ์พาณิชย์ ผู้ก่อตั้งโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บอกกับเราว่า ขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลที่ส่งให้บริษัทที่รับอนุญาตนำไปกำจัดโดยการเผามี 2 ระบบคือ 400 องศาและ 800 องศา เพื่อเผาขี้เถ้าให้หมดสิ้นไปเป็นการจัดการที่ถูกวิธีเบื้องต้น         “แต่ขยะติดเชื้อที่อยู่นอกสถานพยาบาล ที่อยู่ในทุกหมู่บ้าน ทุกหน่วยงานราชการ มีการทิ้งปะปนไปกับขยะชุมชนเป็นสิ่งที่ต้องสนใจเฝ้าดูว่ามันจะอันตรายแพร่กระจายเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราไม่ทราบ”         ดร.สมไทย มองปัญหาขยะติดเชื้อในไทยว่า กลไกและระเบียบของภาครัฐในการจัดการขยะติดเชื้อของไทยยังไม่ทันสมัย และเรายังไม่เคยมีความรอบรู้มาก่อนในกรณีมีภัยคุกคามจากโรคระบาดต่างๆ ว่าจะมีการป้องกันในระยะยาวอย่างไร         ส่วนการจัดการขยะติดเชื้อของ 20 กว่าบริษัทในไทย ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพียงแค่จัดการได้เบื้องต้นเท่านั้น การตรวจเตาเผาขยะติดเชื้อที่ปลายปล่องต้องส่งไปตรวจยังต่างประเทศ ซึ่งเรายังไม่มีห้องปฏิบัติการเพียงพอสำหรับงานนี้         “ในเยอรมนี ฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์จะไม่เผาขยะติดเชื้อ แต่ใช้วิธี steam ด้วยความร้อนสูงพันกว่าองศา ขยะที่ถูกฆ่าเชื้อและมีความเสถียรแล้ว เขานำมารีไซเคิลได้โดยไม่ต้องเผา นอกจากนี้ยังมีการทำบ่อซีเมนต์เป็นผนังคอนกรีตหนาที่ซีนแล้วไม่มีรั่วเลย เป็น secure landfill ซึ่งบริษัทในไทยที่รับจัดการขยะติดเชื้อยังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้”         ด้านเพ็ญโฉมแสดงทัศนะว่า สิ่งที่พอจะเริ่มต้นได้ทันทีคือการรณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าขยะติดเชื้อคืออะไรและควรจัดการอย่างไร ในส่วนภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งกับหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทผู้ก่อมลพิษและประชาชน         โควิด-19 เป็นปัจจัยภายนอกที่แทรกซ้อนเข้ามาโดยไม่คาดคิด ตอกย้ำให้เห็นสถานการณ์และปัญหาการจัดการขยะติดเชื้อในไทย แน่นอนว่าด้วยพื้นที่อันจำกัดย่อมไม่สามารถฉายภาพทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยผู้บริโภคอย่างเราคงได้เห็นภาพคร่าวๆ และการแสวงหาความรู้และนำไปปฏิบัติของตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทุเลาปัญหาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 รู้เท่าทันการกินฉี่

การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อเป็นการบำบัดโรคนั้น เคยเกิดกระแสนิยมในสังคมไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือกและในสายของผู้ปฏิบัติธรรม ต่อมาลดความนิยมลง แต่ยังมีการปฏิบัติกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมและผู้รักสุขภาพบางกลุ่ม ในบางช่วงก็เกิดกระแสนิยมเป็นครั้งคราว เหตุที่การดื่มน้ำปัสสาวะไม่ก่อกระแสรุนแรงเหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ นั้น อาจเป็นเพราะ ทุกคนเป็นเจ้าของน้ำปัสสาวะ ไม่ต้องซื้อขาย จึงไม่มีกระแสธุรกิจที่จะมาขายน้ำปัสสาวะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรามารู้เท่าทันน้ำปัสสาวะกันดีกว่าความเป็นมาการดื่มหรือการใช้น้ำปัสสาวะของคนหรือของสัตว์เพื่อการบำบัดโรคนั้นมีการใช้กันทั่วโลกมานานกว่าพันปี ในพระธรรมวินัย กำหนดแนวทางยังชีพหรือนิสัย 4 ให้ภิกษุฉันน้ำมูตเน่า(น้ำปัสสาวะ) มีหลักฐานการจารึกในอิยิปต์โบราณ กรีก โรม คัมภีร์โยคะของอินเดีย ตำราการแพทย์จีน ดังนั้นการดื่ม การใช้น้ำปัสสาวะจึงเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่เก่าแก่หลายพันปีบทความในวารสาร Nephrology เดือน พ.ค. - มิ.ย. 2011 เขียนว่า ผู้คนที่ใช้น้ำปัสสาวะเชื่อว่า น้ำปัสสาวะไม่เป็นของเสียของร่างกาย แต่เป็นสิ่งที่กลั่นจากเลือดและมีสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ถูกเรียกเป็น “ทองคำจากเลือด” และ “ยาอายุวัฒนะ” การดื่มน้ำปัสสาวะมีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และมีการใช้มานานหลายศตวรรษและหลายวัฒนธรรมบทบรรณาธิการในวารสาร Pan Afr. Med J. เผยแพร่ ออนไลน์ 25 พค. 2010 เขียนว่า จากการค้นหาเกี่ยวกับ “การดื่มน้ำปัสสาวะ” ในกูเกิ้ลเกือบ 100,000 รายการและในวิดีทัศน์ 150 รายการ ยืนยันว่า “การดื่มน้ำปัสสาวะ ยังคงเป็นที่นิยมและกลับมานิยมในทุกวันนี้”ในน้ำปัสสาวะมีของล้ำค่าอะไรบ้างน้ำปัสสาวะส่วนใหญ่เป็นน้ำ มียูเรีย (25g/d), กรดยูริก (1g/d), ครีเอตินีน (1.5g), แร่ธาตุต่างๆ (10g/d ส่วนใหญ่เป็น เกลือโซเดียม), ฟอสเฟตและกรดอินทรีย์ (3g/d) , มีโปรตีนเล็กน้อย (40-80 mg/d, ส่วนใหญ่เป็นอัลบูมิน, ฮอร์โมนเล็กน้อย, กลูโคส และวิตามินที่ละลายน้ำน้ำปัสสาวะจะบริสุทธิ์ ปราศจากเชื้อโรคเมื่อเกิดขึ้นในไต แต่เมื่อปล่อยออกจากร่างกายแล้วมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคมีการใช้น้ำปัสสาวะรักษาโรคอะไรในบทความ Nephrology ปี 1999 เขียนว่า มีการดื่มน้ำปัสสาวะในตอนเช้าเพื่อเป็นการรักษาโรคจำนวนมาก เช่น การติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย อาการที่เกิดขึ้นระหว่างวันแรกๆ ที่ดื่มน้ำปัสสาวะ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย หรือไข้ สารสำคัญจำนวนมากในปัสสาวะได้แก่ ยูเรีย กรดยูริก ไซโตไคน์ (เป็นโปรตีนหรือไกลโคโปรตีนที่มีขนาดเล็ก สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น) ฮอร์โมน มีการใช้น้ำปัสสาวะกับภายนอก ได้แก่ การชโลม การทา การประคบก้อนเนื้องอก การอาบน้ำปัสสาวะ หรือแช่เท้าในน้ำปัสสาวะ การหยอดตา หยอดหู และทำความสะอาดแผล จาการค้นหาการทบทวนการใช้น้ำปัสสาวะในการบำบัดจากวารสารวิชาการต่างๆ ไม่พบว่ามีการทบทวนประสิทธิผลของการใช้น้ำปัสสาวะต่อร่างกายสรุป การดื่มและใช้น้ำปัสสาวะเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่มานานหลายพันปี ใช้กันทั่วโลก ผู้คนเชื่อว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืน รักษาโรคได้ มีความเห็นตรงกันว่า ให้ดื่มน้ำปัสสาวะของตนเอง ควรเป็นน้ำปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทั้งวันหรือดื่มแทนน้ำอย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการทบทวนทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ ทั้งในแง่ประโยชน์ในการบำบัดโรค หรือโทษระยะยาวจากการดื่มน้ำปัสสาวะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 เขาเอาท่านมาขายกับผู้ป่วยติดเชื้อ เอชไอ วี

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปอบรมความรู้ให้กับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี ที่โรงพยาบาลในจังหวัด โดยได้แนะนำความรู้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยถูกหลอกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ และยังได้ชวนผู้ติดเชื้อเหล่านี้ให้มาเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วย ก่อนกลับ น้องพยาบาลได้มอบตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ยาสมุนไพรเกตุเพชร MAX CD4 บำรุงโลหิต ที่มีผู้จะมาแนะนำแก่ผู้ติดเชื้อให้ผมตรวจสอบ แค่เห็นชื่อยาก็น่าจะเดาได้ว่าเขาต้องการขายแก่กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี ผมพลิกดูข้างกล่อง พบเลขทะเบียนยาแผนโบราณและมีการแสดงฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณ บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บรรเทาอาการปวดเมื่อยอ่อนเพลีย ตัวยาสำคัญ ได้แก่ ชะเอมเทศ โสม โด่ไม่รู้ล้ม กำลังวัวเถลิง เถาวัลย์เปรียง ดูไปแล้วก็คือยาบำรุงร่างกายนั่นเอง แต่ที่น่าสนใจคือ เขามีเอกสารประกอบการขายแนบมาเป็นเล่มหนา เนื้อหาภายในระบุในทำนองว่า ยาบำรุงนี้สามารถรับประทานได้กับบุคคลทั่วไป รวมทั้งบุคคลที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี และเมื่อพลิกหน้าต่อๆ ไป ก็กลายเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย HIV ในการรับประทาน แต่ที่เด็ดคือ มีการนำผลการตรวจเลือดของห้องแลบจากโรงพยาบาลต่างๆ มาเผยแพร่ด้วย โดยมีการเปิดเผยชื่อ นามสกุล ของผู้ป่วยชัดเจน แถมในเอกสารผลการตรวจเลือดของผู้ป่วย(บางราย) ยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสและยารักษาโรคแทรกซ้อนใดๆ เลย นอกจากนี้ยังมีสำเนาเอกสารการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณอยู่ในเล่มด้วย แต่ที่เด็ดสะระตี่สุดๆ คือ มีสำเนาหนังสือ กลุ่มงานประสานการเมือง สำนักงานรัฐมนตรี ตอบกรรมการผู้จัดการบริษัทว่า ตามที่บริษัทได้นำเสนอยานี้เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี โดยขอรับโอกาสในการเข้ามานำเสนอข้อมูลรายละเอียด และนำผู้ติดเชื้อที่ได้ใช้ยามาเล่าประสบการณ์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบเรื่องแล้ว และได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาต่อไป (แค่รับเรื่องนะครับ) เห็นจุดสังเกตมั้ยครับ ขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณบำรุงร่างกาย แต่เอกสารที่เผยแพร่ในการขายมีนัยยะที่โน้มน้าวให้ใช้ในผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี (แม้กระทั่งข้อความ MAX CD4 บนฉลาก) นอกจากนี้ยังนำสำเนาหนังสือราชการที่ บริษัทอ้างชัดเจนว่า ต้องการเสนอให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี สรุปว่าขึ้นทะเบียนยาบำรุงร่างกาย แต่ไหงตอนขายกลายมาเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี ล่ะครับ แถมหนังสือราชการก็ไม่ได้รับรองอะไร แต่ก็ดันเอามาเผยแพร่อีก เอาล่ะซิ ผมไม่รู้ว่าเอกสารชิ้นนี้จัดทำโดยใคร แต่ก็ขอรายงานเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นให้ผู้อ่านทราบ หากเจออะไรที่น่าสงสัย น่าเฝ้าระวัง แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตรวจสอบโดยด่วนนะครับ และหากบริษัทไม่รู้เห็นก็ช่วยทางราชการกวดจับผู้แอบอ้างด้วยนะ มิงั้นจะเสียหายถึงบริษัทด้วยนะจะบอกให้

อ่านเพิ่มเติม >