ฉบับที่ 276 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ตำรวจไซเบอร์ แนะวิธีสังเกตเพจหลอกจองที่พัก ขายของออนไลน์        ตำรวจไซเบอร์ระบุ  ปัจจุบันมีผู้เสียหายจำนวนมากจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในออนไลน์ ทั้งการใช้วิธีการสร้างเพจปลอมเป็นโรงแรมที่พักหรือการขายของออนไลน์หลอกลวงประชาชน จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 28 มิ.ย. 66 พบว่า มีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการมากถึง 108,383 ครั้ง         ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) จึงแนะนำวิธีการสังเกตเพจปลอมต่างๆ ดังนี้             1. เพจต้องได้รับยืนยันเครื่องหมายรับรองตัวตน (Verified badge)             2.ตรวจสอบรายละเอียดเพจได้ วันที่สร้างเพจ เคยเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่? หากเพจสร้างขึ้นมาไม่นานแต่มีการเปลี่ยนชื่อเพจเสี่ยงต่อการเป็นเพจปลอม             3. ยอดผู้กดถูกใจโพสต์ เนื่องจากเพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อย มิจฉาชีพมักสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ มองผ่านๆ จะคล้ายจำนวนผู้ติดตามจริง            4. ชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ มิจฉาชีพมักทำเลียนแบบหากไม่สังเกตอาจทำให้ถูกหลอกลวง              5. โพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ จำนวนคนกดถูกใจ คอมเมนต์ จะมีการโต้ตอบน้อย และคอมเมนต์เชิงตำหนิ เช่น สั่งสินค้าไปไม่ได้รับของเลย             6. สังเกตที่ URL ของ มักเป็นคำแปลกๆ ไม่มีความหมาย พบข้อมูลคนไทยโดนประกาศขายดาร์กเว็บ 20 กว่าล้านบัญชี        จากกรณี Resecurity บริษัทความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รายงานว่าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลของคนไทยรั่วไหลและถูกนำมาประกาศขายในบนเว็บไซต์ข้อมูลผิดกฎหมายกว่า 27 ล้านบัญชี โดยกลุ่มข้อมูลที่มาจากกรมกิจการผู้สูงอายุ รั่วไหลมากถึง 19.7 ล้านบัญชีนั้น         นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ตรวจพบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ แล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุให้รับทราบถึงกรณีข้อมูลของหน่วยงานรั่วไหลเกือบ 20 ล้านบัญชี แต่ยังหาสาเหตุของการรั่วไหลไม่ได้ ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เตรียมเข้าตรวจสอบเกี่ยวกับลักษณะการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวแล้ว  สั่งค่ายมือถือ “ระงับซิมไม่ยืนยันตัวตน” กรณีมีเกิน 100 เบอร์         จากกรณีที่ กสทช. ได้ออกมาตรการบังคับใช้ เมื่อ 16 มกราคม 2567 สำหรับผู้ที่ใช้บริการซิมมือถือต้องทำการยืนยันตัวตนตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้กับผู้ที่ถือซิม 6-100 เบอร์ ต้องยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ 101 หมายขึ้นไป ภายใน 30 วันนั้น         15 กุมภาพันธ์ 2567  กสทช. ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงบริษัทผู้ให้บริการ ถึงมาตรการยืนยันตัวตนของซิมการ์ด  และข้อมูลการใช้บริการของผู้ถือครองซิม หลังพ้นกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครอง 101 เบอร์ ขึ้นไป ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กสทช. จึงได้มีคำสั่งเร่งรัดให้ค่ายมือถือ ดำเนินการตามเงื่อนไขระงับการใช้บริการรวมถึงการโทรออก ส่งข้อความ SMS และการใช้งานอินเทอร์เน็ต และจะอนุญาตเพียงเบอร์โทรฉุกเฉินเท่านั้น            “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” ไม่มีฉลากระวังอันตราย        หลังจากที่บนโลกออนไลน์มีการรีวิวขนม “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” อย่างมากมาย ทำให้เป็นขนมยอดฮิตในกลุ่มเด็กและคนทั่วไป จนมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และวางขายตามหน้าโรงเรียนเกลื่อน         ภก. เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบขนมเลียนแบบเยลลี่องุ่นที่มีจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี โดยมีการนำมารีวิวผ่านโซเชียลออนไลน์ ซึ่งลักษณะบรรจุในถุงคล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งลูกกลมๆ และมีวิธีการกินคือใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มให้ถุงแตกออกมาแล้วจึงนำมารับประทานได้ มีหลายรสชาติ แต่ไม่มีเลขอย. และฉลาก จึงขอเตือนว่า ไม่ควรซื้อมารับประทานเพราะอาจลักลอบนำเข้าหรือผลิตเพื่อขายในสถานที่ต่างๆ และไม่มีฉลาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวอาหาร อาจเสี่ยงได้รับสารอันตรายที่เป็นผลต่อสุขภาพได้ เช่น สี วัตถุกันเสีย วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด การบรรจุอาหารในถุงมือยางหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผลิต นำเข้าเพื่อขายสถานที่ต่างๆ ไม่มีฉลาก มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  มพบ.เสนอการบินพลเรือนเร่งจัดการปัญหาเที่ยวบินเทผู้โดยสาร         หลังจากสายการบิน  Air Japan ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน NQ2 เส้นทางสุวรรณภูมิ - นาริตะ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เวลา 00.15 น.  ซึ่งเป็นการยกเลิกแบบกะทันหัน (ก่อนหน้ามีการดีเลย์กว่า 3 ชั่วโมง) หลังจากนั้นทางสายการบินได้รับผิดชอบผู้โดยสารเพียงแค่คืนค่าตั๋วเดินทาง แต่ไม่ได้ชดเชยเยียวยาความเสียหายในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าโรงแรมที่พักของผู้โดยสารที่ได้ทำการจองไว้อีกด้วย         23 กุมภาพันธ์ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ได้กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าวที่ให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยไปดำเนินการยื่นเรื่องเองกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้โดยสาร เพราะสำนักงานการบินพลเรือน อยู่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งควรออกมาตรการกำหนดให้สายการบินจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้ต้องไปเรียกร้องที่ สคบ. และการยกเลิกเที่ยวบินแล้วคืนเฉพาะค่าโดยสารถือเป็นการเอาเปรียบผู้โดยสารที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งสายการบินควรต้องชดเชยค่าใช้จ่ายที่เสียหายจริงทั้งหมด เช่น ค่าตั๋วใหม่ ค่าโรงแรม ค่ารถที่ได้ทำการจองไปแล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ         อีกประเด็น คือ ทางสายการบินมีเครื่องบินให้บริการเพียง 1 ลำ ถือเป็นเรื่องที่สำนักงานการบินพลเรือนต้องตรวจสอบรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยเรียกร้องไปยังสำนักงานการบินพลเรือนให้ออกประกาศคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินในเส้นทางบินต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากยังไม่มีประกาศฉบับดังกล่าว แต่กลับไม่เป็นผล จนกระทั่งมาเกิดเหตุซ้ำซากแบบเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสต่างแดน

เปลี่ยนแล้วปังปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นเริ่มหันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น นี่คือข้อสรุปจากรายงานของ Baptist World Aid Australia ที่สำรวจแบรนด์เสื้อผ้า 407 แบรนด์มีผู้ได้คะแนนสูงสุด (A+) แปดราย แต่ที่น่าสนใจคือแบรนด์ที่เคยได้คะแนน B- เมื่อห้าปีก่อนอย่าง Cotton On สามารถเพิ่มคะแนนจริยธรรมการประกอบการของตนเองขึ้นมาเป็นระดับ A ได้สวยๆ  บริษัทยอมรับว่าผลสำรวจคราวก่อนเป็นแรงผลักดันให้คิดใหม่ทำใหม่ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ บริษัทแสดงรายชื่อโรงงานกว่า 2,500 แห่งที่ผลิตสินค้าของบริษัทให้ผู้สนใจเข้าดูได้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนไร่ฝ้ายในเคนยาที่มีการจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 1,500 คน และมีโครงการรับเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ากลับไปรีไซเคิลด้วย  ในขณะเดียวกันรายที่ได้คะแนนต่ำอ้างว่าการสำรวจนี้ให้เวลาน้อยเกินไป ถามคำถามจุกจิก และเกณฑ์ของผู้สำรวจไม่ตรงกับเกณฑ์ที่บริษัทใช้อยู่ อืม...นะ(เผื่อคุณสงสัย... Zara และ H&M ได้คะแนน A- และ B+ ตามลำดับ)  ปิดบัญชีตำรวจเซี่ยงไฮ้กำลังจับตาบัญชีธนาคารที่ไม่มีเงินฝาก เพราะมีแนวโน้มจะเป็นบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้หลอกลวงให้คนโอนเงินผ่านมือถือหรืออินเทอร์เน็ต ล่าสุดเขาสั่งปิดบัญชีแบบนี้ไป 405 บัญชี หน่วยปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และโทรคมนาคมของเซี่ยงไฮ้ พบว่ามีโทรศัพท์ “น่าสงสัย” วันละไม่ต่ำกว่า 2,000 สาย โดยคนที่โทรมามักแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นผู้ดูแลที่อยู่อาศัยที่ ทางการส่งมา การหลอกลวงรูปแบบนี้แพร่ระบาดมากขึ้น สองปีก่อนตอนที่เริ่มก่อตั้งหน่วยฯ สถิติโทรศัพท์โทรศัพท์หลอกลวงอยู่ที่วันละ 100 สายเท่านั้น นอกจากจะตามปิดบัญชีเปล่าแล้ว หน่วยนี้ยังจัดการอบรมให้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ นักศึกษา มหาวิทยาลัย และพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทต่างๆ ด้วย  “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดี กฎหมาย Fair Housing Act ของอเมริกาจึงห้ามการโฆษณาขายหรือให้เช่าที่อยู่อาศัยแบบเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ความพิการ หรือสถานะครอบครัว  ล่าสุด กลุ่มผู้รณรงค์ด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันฟ้อง facebook ที่ยอมให้มีการเจาะจงเลือกเสนอโฆษณาขายหรือให้เช่าบ้านกับคนบางกลุ่ม ในขณะที่ “ผู้หญิง” และ “ครอบครัวที่มีเด็ก” เสียโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยเพราะไม่สามารถมองเห็นโฆษณานั้นได้  องค์กรพัฒนาเอกชน ProPublica เคยทดลองปลอมเป็นตัวแทนขายบ้านและซื้อโฆษณากับ facebook โดยระบุเงื่อนไขว่าไม่ต้องแสดงโฆษณาดังกล่าวกับ คนเชื้อสายยิว ชาวต่างชาติจากอาร์เจนตินา คนที่พูดภาษาสเปน คนที่เคยแสดงความสนใจเรื่องทางลาด และคุณแม่ชาวอัฟริกันอเมริกันที่มีลูกกำลังเรียนมัธยมปลาย สิ่งที่เขาพบคือ facebook ยินดีจัดให้ตามนั้นจริงๆ  จัดก่อนจรการใช้จักรยานร่วมกัน (bike sharing) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในเยอรมนี ขณะนี้มีผู้ให้บริการไม่ต่ำกว่าสิบบริษัทในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ แน่นอนการเปลี่ยนมาใช้จักรยานเช่านั้นมีข้อดีหลายอย่าง ตามข้อตกลงการใช้ ผู้ขับขี่สามารถจอดจักรยานไว้ตรงไหนก็ได้เพื่อให้คนที่ผ่านมาใช้แอปเปิดล็อกและใช้ต่อได้เลย แต่สิ่งที่เริ่มเป็นปัญหาตอนนี้คือ จักรยานที่จอดเกะกะอยู่ทั่วทั้งเมือง ตั้งแต่กลางทางเท้า เลนจักรยาน หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะ เมื่อจำนวนจักรยานดูเหมือนจะมากเกินพื้นที่จอด หลายเมืองในเยอรมนีจึงต้องรีบออกมาจัดระเบียบ เมืองโคโลญกำหนดโซนห้ามจอดจักรยานแล้ว ในขณะที่มิวนิคและแฟรงค์เฟิร์ตจัดพิมพ์คู่มือให้ผู้ประกอบการนำไปใช้กำหนดพื้นที่จอด รวมถึงจำนวนจักรยานที่อนุญาตให้จอดได้ต่อหนึ่งจุดด้วยด้านสมาคมจักรยานก็กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่จอดจักรยานเสียเลย วนิลาบุกป่าไม่นานมานี้ มาดากัสการ์เบียดเม็กซิโกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตวนิลาอันดับหนึ่งของโลก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา(ปัจจุบันกิโลละประมาณ 16,000 บาท) ใครๆ ก็อยากปลูกสิ่งที่เกิดตามมาคือการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกวนิลา และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การลักขโมยผลผลิต การข่มขู่รีดไถโดยกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงการลงมือทำร้ายหรือสังหาร “ผู้ร้าย” โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพาตำรวจพืชที่ให้กลิ่นรสหอมหวานนี้ยังกลายเป็นสินค้าหลักในการฟอกเงินของขบวนการลักลอบค้าไม้พยูงไปยังประเทศจีนอีกด้วย  ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เกาะมาดากัสการ์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 Delivery Traffic รู้ทันตำรวจจราจร

รถชน!!! ความวุ่นวายในชีวิตก็จะเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่สำรวจว่าตนเองบาดเจ็บหรือไม่ ตรวจสภาพรถว่าเสียหายมากน้อยแค่ไหน แจ้งความกับตำรวจ เรียกประกันมาประเมินราคา และอะไรอีกน้า??? คุณผู้อ่านเคยเป็นไหม พอเกิดเหตุการณ์รถชน ความตื่นเต้น สับสน ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง จะหันไปหาเพื่อนร่วมเดินทาง ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเหมือนกัน วันนี้ผู้เขียนจึงนำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ประโยชน์ได้ทั้งคนขับและคนโดยสาร แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Delivery Traffic หรือเรียกว่า กฎหมายจราจรเดลิเวอรี่ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้ผู้ที่ขับรถ หรือแม้แต่คนที่ขับรถไม่จำเป็นก็สามารถเรียนรู้แอพพลิเคชั่นนี้ไว้ได้เช่นกัน ข้อมูลใน Delivery Traffic จะให้ความรู้และความเข้าใจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นบนท้องถนนได้อย่างดี   Delivery Traffic  เป็นของกองบังคับการตำรวจจราจร  โดยภายในแอพพลิเคชั่นจะแบ่งเป็น 6 ส่วน ในส่วนแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกร็ดความรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำผิดกฎจราจร อย่างเช่น มีคำถามว่าตำรวจจราจรเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ได้หรือไม่ เมื่อคลิกเข้าไปก็จะมีคำอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ในส่วนที่สอง จะเป็นการบอกความหมายของเครื่องหมายจราจรบนท้องถนน ส่วนที่สามเป็นเรื่องคำถามและคำตอบเกี่ยวกับอัตราค่าปรับเมื่อกระทำความผิด ซึ่งจะบอกว่าผู้อ่านรู้ว่าถ้าทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ จะต้องมีโทษอย่างใด หรือปรับเป็นเงินเท่าไร ส่วนที่สี่เป็นแผนผังรูปภาพเพื่ออธิบายการปฏิบัติตนเมื่อได้รับใบสั่ง ส่วนที่ห้า เป็นเรื่องของสิ่งที่ควรรู้ น่ารู้และต้องรู้เกี่ยวกับการจราจร ในส่วนนี้จะอธิบายเป็นวิดีโอแอนนิเมชั่น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ส่วนสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้ทันแอลกอฮอล์ สำหรับนักดื่มที่ต้องใช้รถ โดยมีการอธิบายถึงปริมาณในการดื่มแต่ละครั้งว่าควรดื่มปริมาณเท่าไรที่จะขับรถได้ ซึ่งไม่ให้มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้อ่านที่ต้องการติดตามวิดีโอแอนนิเมชั่นที่แนะนำวิธีต่างๆ สามารถคลิกเข้า youtube และ facebook ภายในแอพพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ทันที สามารถที่จะดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Delivery Traffic ได้ที่  https://itunes.apple.com/th/app/delivery-traffic/id409994187?mt=8 สำหรับ iPhone, iPod touch และ iPad  และที่ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.smileapp.deliverytraffic สำหรับ android ลองดาวน์โหลดมาอ่านดู เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้ทันกับการทำงานของตำรวจจราจร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 ใกล้ชิดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กับแอพฯ Thai Police Phonebook

“เหตุด่วน เหตุร้าย แจ้งศูนย์รับบริการแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191” ประโยคเด็ดที่ใครหลายคนจำได้ขึ้นใจ เวลามีเหตุการณ์คับขัน ดูไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน หมายเลข 191 ต้องผุดอยู่ในความคิดเป็นอันดับแรก  เพราะน้อยคนนักที่จะทราบเบอร์สถานีตำรวจในพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะโทรแจ้งเหตุการณ์ต่างๆ ในเวลาอันสั้นและทันท่วงทีได้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กันสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “Thai Police Phonebook” ผลิตขึ้นโดย กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นแอพฯ ที่เก็บข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ติดต่อข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนถึง สารวัตร จากทุกกองบัญชาการทั่วประเทศ   ขั้นตอนแรกผู้อ่านต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “Thai Police Phonebook” โดยคลิกที่ App Store หรือ Android Market บนโทรศัพท์มือถือ หรือคลิกโหลดได้ที่ play.google.com สำหรับระบบแอนดรอยด์ หรือคลิกโหลดที่  http://itunes.apple.com/th/app/thai-police-phonebook/id544328261?mt=8  สำหรับระบบ iOS  แบบไม่ต้องเสียค้าใช้จ่ายใดๆ ภายในแอพพลิเคชั่น จะมี 2 เมนู คือ เมนูสมุดโทรศัพท์ตำรวจ (Police Phonebook) ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของข้าราชการตำรวจแต่ละท่าน ทั้งตำแหน่ง สังกัด เบอร์โทรศัพท์สำนักงาน เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพียงพิมพ์ชื่อหรือนามสกุลบุคคลที่ต้องการในช่องค้นหา หรือถ้าต้องการค้นหาแบบละเอียดก็สามารถคลิกแถบด้านบนขวามือ เท่านี้ก็จะทราบรายละเอียดของข้าราชการตำรวจคนนั้น อีกเมนู คือ เมนูเกี่ยวกับกองสารนิเทศ (About us) เป็นเมนูบอกสถานที่ตั้งของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบอร์ติดต่อ เมล พร้อมเมนูลิ้งไปยังเว็บไซต์ facebook  twitter และ Google Map เพื่อแสดงแผนที่ที่ตั้งของหน่วยงาน แม้ว่าเหตุการณ์คับขันไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อย่างน้อยการมีเบอร์โทรหรือเบอร์สำนักงานตำรวจของพื้นที่ที่อยู่อาศัย และบริเวณสถานที่ทำงาน ก็ถือว่าช่วยเพิ่มความอุ่นใจขึ้นมาระดับหนึ่ง อ้อ เอาไว้ตรวจสอบพวกชอบแต่งตัวเป็นตำรวจมาหลอกชาวบ้านได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 แก้หนี้นอกระบบ ต้องพบตำรวจดีที่สุด

คุณพรมีอาชีพค้าขาย โดยปกติของคนที่ประกอบอาชีพนี้ซึ่งมีกิจการไม่ใหญ่โตอะไรนักจะไปขอกู้เงินเพื่อลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จึงเป็นธรรมดาที่ต้องมีการพึ่งพาเจ้าหนี้นอกระบบบ้าง ทั้งๆ ที่รู้ว่าดอกมันโหดแสนโหด แต่เพื่อความอยู่รอดก็ต้องยอมคุณพรไปทำสัญญาเงินกู้กับคนรู้จักกัน และก็เป็นปกติของพวกปล่อยกู้ที่จะอ้างว่าผู้หนุนหลังเป็นคนมีสีหรือผู้มีอิทธิพลลักษณะใดลักษณะหนึ่ง สำหรับเจ้าหนี้รายนี้อ้างว่ามีสามีเป็นตำรวจทางหลวง คุณพรตกลงทำยอดกู้ 30,000 บาท ถูกหักเป็นค่าดำเนินการ 18,000 บาท ได้รับเงินจริง 12,000 บาท ทางผู้ให้กู้ให้ทำสัญญาเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่ผู้กู้ต้องจ่ายเงินคืนรายวันๆ ละ 180 บาท โดยคุณพรได้ชำระมากว่า 7 เดือนแล้ว แต่หลักฐานทั้งหมดอยู่กับเจ้าหนี้ต่อมาคุณพรได้ติดต่อกับเจ้าหนี้บอกว่าจะขอคืนเงินต้น 20,000 บาทได้ไหมแล้วปิดบัญชีกัน แต่ทางเจ้าหนี้ไม่ยอมบอกต้องชำระเต็ม 30,000 บาทตามสัญญา ถ้าหากยังไม่ชำระเงินต้นคืนก็ต้องจ่ายดอกรายวันไปจนกว่าจะมีเงินต้น 3 หมื่นบาทมาคืนให้เจ้าหนี้“เมื่อครู่นี้เองค่ะน้อง พี่ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหนี้รายนี้ เขาบอกว่าจะส่งตำรวจมาเก็บเงินให้เตรียมไว้ ถ้าไม่เคลียร์ต้องมีเรื่องแน่นอน ตอนนี้พี่กับสามีพี่ไม่กล้าอยู่ที่บ้านแต่ห่วงแม่ที่เฝ้าบ้านอยู่ จะทำอย่างไรดีน้อง” คุณพรโทรศัพท์เข้ามาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่คาบเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั้งเรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายและการข่มขู่ กรรโชก สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือ การไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุครั้งแรกที่คุณพรได้รับคำแนะนำ ก็คิดเหมือนกับลูกหนี้นอกระบบโดยทั่วไปว่าเจ้าหนี้มีคนมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องไปแจ้งความกับตำรวจจะได้เรื่องได้ประโยชน์อะไร แต่ท้ายสุดได้ลองทำตามคำแนะนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท กลับพบสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยเวรให้บริการด้วยความประทับใจ ทั้งรับแจ้งความและช่วยสืบเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเจ้าหนี้นอกระบบรายนี้ด้วย ซ้ำยังให้นามบัตรและเบอร์มือถือส่วนตัวให้อีก พร้อมกับแจ้งกับคุณพรว่า ให้ติดต่อได้ทันทีหากเจ้าหนี้ส่งคนไปคุกคามท้ายที่สุดเจ้าหนี้รายนี้เมื่อรู้ว่าจะต้องเจอตำรวจตัวจริงเข้า ก็ยอมที่ยุติเรื่องตกลงเรียกเก็บหนี้ตามที่ตกลงกันไว้แต่แรกเท่านั้น ไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยรายวันอีกต่อไป เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและอาจติดคุกได้ถ้าหากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีจริง ๆ  

อ่านเพิ่มเติม >