ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 รู้เท่าทันการล้างพิษตับ ตอนที่ 5

ประเด็นข้อโต้แย้งของการแพทย์แผนปัจจุบันโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม จากศิริราชพยาบาล และนักวิทยาศาสตร์ที่เขียนบทความวิชาการออกมาโต้แย้งทางสื่อต่างๆ  โดยบอกว่า การล้างพิษตับเพื่อการขับนิ่วในท่อน้ำดีนั้น ไม่มีความเป็นไปได้ในทางการแพทย์ และชี้แจงว่า ก้อนนิ่วสีเขียวและสีต่างๆ ที่ถ่ายออกมานั้น เกิดจากไขมัน(น้ำมันมะกอก) ทำปฏิกิริยากับน้ำดีซึ่งเป็นด่าง ทำให้จับเป็นก้อนเหมือนกับกระบวนการทำสบู่ ก้อนเหล่านี้จะลอยน้ำ  ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีนั้นจะเป็นก้อนแข็งและจมน้ำ  ไม่มีทางที่จะขับออกมาได้จากการล้างพิษตับ ต่อมาก็มีการโต้แย้งจากฝ่ายที่นิยมการล้างพิษตับว่า กระบวนการเกิดสบู่นั้น ต้องใช้ด่างที่มีค่า pH 14  ในน้ำดีนั้นมีค่า pH เพียง 7.5-8.8 เท่านั้น  ไม่สามารถเกิดสบู่ได้ และเรียกร้องให้ทำการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่า กระบวนการเกิดก้อนนิ่วนั้น เกิดจากกระบวนการทำสบู่หรือไม่ ผู้เขียนพยายามค้นหาบทความทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ พบว่ามีงานวิจัยที่ตีพิมพ์จำนวนมาก ที่น่าสนใจ เป็นบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet : volume 365, Issue 9468, p. 1388. วันที่ 16 April 2005. เรื่อง Could these be gallstone?  สรุปสาระสำคัญดังนี้ เมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่าก้อนนิ่วที่ผู้ป่วยถ่ายออกมาจากการล้างพิษตับไม่มีลักษณะเป็นผลึก หลอมละลายเป็นของเหลวสีเขียวในอุณหภูมิ 40 องศาเซนติเกรด  และไม่มีโคเลสเตอรอล น้ำดี หรือแคลเซียม  ก้อนอุจจาระเหล่านี้ประกอบด้วยกรดไขมันประมาณร้อยละ 75 ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า เมื่อผสมกรดโอเลอิก(ส่วนประกอบหลักของน้ำมันมะกอก) กับน้ำมะนาวในปริมาณเท่าๆ กัน แล้วเติมโปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ปริมาณเล็กน้อย จะทำให้เกิดก้อนสีขาว กึ่งแข็ง จำนวนมาก  เมื่อปล่อยให้แห้งในอุณหภูมิห้อง ก้อนเหล่านี้จะค่อนข้างแข็ง คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่า “ก้อนนิ่ว” สีเขียวเหล่านี้ เกิดจากปฏิกิริยาของน้ำย่อยไขมันในกระเพาะอาหาร (gastric lipase) รวมตัวกับ tricylglycerols (ในน้ำมันมะกอก)  ปฏิกิริยานี้เกิดจากกระบวนการเกิดสบู่ทำให้เกิด potassium carboxylates  หรือ “นิ่วสบู่” คณะผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นว่า “การขับนิ่วในถุงน้ำดี” หรือ “การทำความสะอาดตับ” ที่มีอยู่มากมายในเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมากนั้น เป็นเพียงแค่ความเชื่อ  และการอวดอ้างโดยบางคนนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด คณะผู้วิจัยขอยืนยันว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด สรุปเพื่อให้รู้เท่าทันการล้างพิษตับ ก. การล้างพิษในร่างกาย รวมถึงการล้างพิษตับนั้น มีอยู่ในการแพทย์ดั้งเดิมทั้งตะวันตกและตะวันออก  ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ข. การล้างพิษตับ หรือการขับนิ่วในถุงน้ำดีนั้น มีการประยุกต์และต่อยอดไปตามศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมและความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม  แต่โดยหลักแล้ว ก็ใช้หลักของการขับถ่าย ระบาย สิ่งที่เชื่อว่ามีพิษ และทำให้ร่างกายไม่สบายนั้นออกไป ค. นิ่วที่ขับถ่ายออกมานั้น ไม่ใช่นิ่วที่เป็นนิ่วแข็งในถุงน้ำดีที่ก่อปัญหาให้เกิดการอุดตันท่อน้ำดี  จึงควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ตรงกัน  และไม่ควรนำไปอวดอ้างสรรพคุณและประโยชน์ของการล้างพิษตับ ง. นิ่วที่เกิดขึ้น อาจเรียกว่าเป็น “นิ่วสบู่”  ซึ่งเชื่อว่ายังคงมีข้อสงสัยอยู่บ้าง  ทางที่ดีที่สุด ควรที่สถาบันทางวิทยาศาสตร์ในไทยที่เป็นกลาง จะใช้หลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า น้ำมันมะกอก โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ (ยาระบาย) ที่ใช้ในการล้างพิษตับนั้น ก่อให้เกิดก้อนนิ่วสบู่ได้หรือไม่  ซึ่งการพิสูจน์นั้นเป็นเรื่องง่าย   สุดท้าย ผู้เขียนขอออกตัวว่าเขียนขึ้นจากการศึกษา การเข้าประชุมวิชาการ และการทบทวนวรรณกรรมต่างๆ  จึงอาจยังไม่สมบูรณ์และไม่รอบด้าน  คงต้องขอให้ผู้ที่มีความรู้ช่วยกันทำให้กระจ่างแจ้งเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 รู้เท่าทันการล้างพิษตับ ตอนที่ 4

ประเด็นที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับการล้างพิษตับว่า มีประโยชน์หรือเป็นการหลอกลวงนั้น  ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การขับนิ่วในถุงน้ำดี ฝ่ายที่สนับสนุนและเห็นก้อนนิ่วออกมาจำนวนมากในอุจจาระก็ยืนยันว่านิ่วถูกขับออกมาจำนวนมาก  อีกฝ่ายหนึ่งที่คัดค้านก็บอกว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน ก้อนที่ถ่ายออกมานั้นไม่ใช่นิ่วน้ำดี แต่เป็นกระบวนการจับตัวไขมันกับด่างเกิดเป็นก้อนเหมือนสบู่ ประเด็นเรื่องนี้เกิดการถกเถียงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  เราลองมาทำความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเท่าที่จะมีข้อมูลที่หาได้ นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร จากข้อมูลสุขภาพของมูลนิธิหมอชาวบ้าน กล่าวว่า  ถุงน้ำดี มีหน้าที่เก็บสะสมน้ำดีที่ตับสร้าง ไว้ใช้ประโยชน์ในการย่อยอาหารไขมัน น้ำดีประกอบด้วยสารโคเลสเตอรอล กรดน้ำดี สารฟอสโฟไลปิด และสารอื่นๆ ในบางคนสารเคมีเหล่านี้จะมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน เป็นเหตุให้ตกผลึกจนจับตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นได้ ก้อนนิ่วอาจมีขนาดเท่าเม็ดทรายจนถึงลูกปิงปองจำนวนอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางคนอาจมีก้อนนิ่วขนาดเม็ดทรายเป็น 100 เม็ดก็ได้ ในรายที่มีอาการปวดท้องจากนิ่วน้ำดี จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีโรคแทรกซ้อนตามมาได้ นิ่วในถุงน้ำดี(gallstone หรือ cholelithiasis) เกิดจากมีการตกตะกอนของโคเลสเตรอลและเม็ดสีในน้ำดีจับตัวกัน เนื่องจากมีโคเลสเตอรอลมากเกินไป หรือถุงน้ำดีไม่สามารถขับตะกอนเหล่านี้ออกหมด (เกิดจากถุงน้ำดีไม่หดตัว หรือหดตัวได้น้อย น้ำดีจึงคั่งในถุงน้ำดี) ก็จะค่อยๆ จับตัวเป็นก้อน เกิดเป็นก้อนนิ่วขึ้น  ผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินที่พยายามลดน้ำหนักร่างกายอย่างรวดเร็วมักจะเกิดนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วถุงน้ำดีอาจแบ่งตามลักษณะได้ 2 ประเภท คือ นิ่วโคเลสเตอรอล มักจะมีสีเขียวเหลือง พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของนิ่วถุงน้ำดีทั้งหมด  อีกประเภทได้แก่ นิ่วเม็ดสีน้ำดี มีขนาดเล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าจากสีของบิลิรูบิน นิ่วในถุงน้ำดีจะเป็นผลึก อาจมีขนาดเล็กเหมือนเม็ดทรายจนถึงขนาดเท่ากับลูกกอล์ฟ  อาจแข็งหรืออ่อน เรียบหรือขรุขระ  เราอาจมีนิ่วในถุงน้ำดีเม็ดเดียวหรือหลายเม็ดก็ได้   องค์ประกอบทางเคมีของนิ่วในถุงน้ำดี โดยรวมนิ่วในถุงน้ำดีประกอบด้วยโคเลสเตอรอล โคเลสเตอรอลจะมีสีขาวอมเหลือง เป็นไขมัน ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์  นิ่วในถุงน้ำดีแม้ว่าจะมีโคเลสเตอรอลเป็นหลัก(ร้อยละ 70-95) แต่ก็ยังมีเม็ดสีของน้ำดีผสมอยู่ด้วย  บางก้อนอาจมีโปรตีน(ร้อยละ 5-30 เป็นเม็ดสีและโปรตีน)  นิ่วในถุงน้ำดีอาจมีโปรตีน(มิวโคโปรตีน) ซึ่งจะทำให้ก้อนนิ่วน้ำดีมีลักษณะแข็ง  เฉพาะก้อนนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตปริมาณมากจะทำให้ก้อนนิ่วมีความแข็ง อย่างไรก็ตาม ก้อนนิ่วน้ำดีที่แข็งนั้นพบได้น้อย  แต่คนส่วนมากเข้าใจว่า ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีมีลักษณะแข็งและเป็นเหมือนก้อนหินนั้นเป็นเพราะว่า ในหลายร้อยปีที่ผ่านมา ก้อนนิ่วที่แข็งเป็นเหมือนหินปูนนั้นมักจะทำให้เกิดการอุดตันท่อน้ำดี  ทำให้เกิดความเจ็บปวด  และนำไปสู่การผ่าตัดเพื่อเอานิ่วออก  ดังนั้นคนทั่วไปจึงเข้าใจว่า นิ่วในถุงน้ำดีนั้นมีลักษณะแข็งเป็นก้อนหินปูน เนื่องจากก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้มากกว่านิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่แข็ง  นอกจากนี้ ก้อนนิ่วที่มีหินปูนจะตรวจพบได้ง่ายด้วยการเอ็กซเรย์ โดยสรุปแล้ว ก้อนนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่เป็นนิ่วไขมันหรือโคเลสเตอรอล และมีส่วนประกอบของเม็ดสีหรือน้ำดี  บางก้อนอาจมีส่วนประกอบเป็นโปรตีนทำให้มีลักษณะแข็งขึ้น  นิ่วที่เป็นก้อนแข็งเพราะมีหินปูนจะมีน้อยกว่านิ่วที่เป็นไขมันแต่ก่อให้เกิดอาการปวดได้มากกว่า สีของนิ่วในถุงน้ำดี ส่วนใหญ่มีสีเขียว แต่อาจพบได้หลายสี ตั้งแต่ ขาว เหลือง แดง น้ำตาล เขียว ฟ้า ดำ หน้ากระดาษไม่พออีกแล้ว คงต้องขอต่อฉบับหน้า ซึ่งน่าจะสรุปเรื่องนี้ได้ระดับหนึ่ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 163 รู้เท่าทันการล้างพิษตับ ตอนที่ 3

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า เรื่องการล้างพิษตับนั้นมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก พวกหนึ่งซึ่งมีทั้งแพทย์ ผู้รักสุขภาพ และผู้ที่ผ่านประสบการณ์การล้างพิษตับต่างเห็นว่าการล้างพิษตับนั้นมีประโยชน์ ทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน  ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งก็มีทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกันออกมาคัดค้านว่าเป็นเรื่องหลอกลวงและไม่มีทางที่จะขับนิ่วในท่อน้ำดีได้ ในฉบับนี้ เราลองมาฟังความเห็นของผู้ที่มีประสบการณ์ตรงและเกิดผลเชิงประจักษ์จากการล้างพิษตับ และในฉบับหน้าจะนำความเห็นของผู้ที่เห็นตรงกันข้ามมาลงให้ผู้อ่านรับฟัง กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดเวทีวิชาการเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 ในหัวข้อเกี่ยวกับการล้างพิษตับ  และได้เชิญนายแพทย์ผู้มีประสบการณ์ตรง 3 ท่านในการล้างพิษตับทั้งกับตนเองและผู้อื่น  และได้เชิญแพทย์ฝ่ายที่มีความเห็นคัดค้านมาร่วมด้วย แต่ไม่สามารถมาร่วมได้ จึงเป็นการนำเสนอข้อมูลจากด้านที่เห็นว่ามีประโยชน์เป็นหลัก นอกจากนี้มีนักวิชาการเข้าร่วมการประชุมประมาณสามสิบคนซึ่งได้ร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมด้วย โดยสรุป ความคิดเห็นเกี่ยวกับการล้างพิษตับมีสาระสำคัญดังนี้ 1. การล้างพิษตับมีประโยชน์หรือมีผลดีหรือไม่? แพทย์ทั้งสามท่านเห็นว่ามีผลดีอย่างแน่นอน ทั้งจากการทบทวนเอกสารวิชาการและประสบการณ์เชิงประจักษ์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 2. ทำไมจึงเกิดกระแสนิยมการล้างพิษตับอย่างมาก ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย? เกิดจากแนวโน้มคนพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพมากขึ้น  อิทธิพลของสื่อออนไลน์ที่สื่อสารกันอย่างแพร่หลาย  มีชุมชนมังสวิรัติที่เป็นผู้นำการล้างพิษตับ  และสุดท้ายที่สำคัญคือ ผลดีที่เกิดขึ้นจากการล้างพิษตับ เพราะถ้าไม่เกิดผลดีแล้ว ความนิยมก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง 3. การล้างพิษตับเหมาะกับผู้ใด หรือปัญหาสุขภาพอะไร? เป็นประโยชน์กับผู้ที่อ้วน ไขมันสะสมที่ตับ ไขมันในเลือดสูง  ตับอักเสบจากการกินยาลดไขมัน 4. การล้างพิษตับไม่ควรหรือห้ามทำในผู้ป่วยแบบใด หรือปัญหาสุขภาพใด? ผู้ที่เป็นมะเร็งเพราะจะมีสุขภาพอ่อนแอ  ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะไม่สามารถหลุดออกมาและอาจเกิดอาการปวด  ก่อนการล้างพิษตับจึงควรทำอัลตร้าซาวด์ก่อนว่ามีนิ่วหรือไม่ 5. ข้อควรระวังในการส่งเสริมการล้างพิษตับ ที่สำคัญมีการจัดกิจกรรมการล้างพิษตับอย่างกว้างขวางและหลากหลาย  มีการอวดอ้างสรรพคุณอย่างมากมาย สามารถรักษาได้แทบทุกโรคตั้งแต่ การขับนิ่วในถุงน้ำดี การรักษามะเร็ง และโรคอื่นๆ  ซึ่งจะเป็นการทำให้ประชาชนสับสนและไม่เชื่อถือ  ดังนั้นจึงต้องไม่อวดอ้างสรรพคุณมากเกินจริง  และไม่ควรอ้างว่าการล้างพิษตับสามารถขับนิ่วในท่อน้ำดีได้ เพราะนิ่วที่เกิดขึ้นจากการล้างพิษตับนั้นไม่ใช่นิ่วในถุงน้ำดีของการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้เกิดการโต้แย้งจากแพทย์ที่ไม่เห็นด้วย 6. การล้างพิษตับนั้นควรมีการกำหนดมาตรฐานและความปลอดภัยหรือไม่? การล้างพิษตับนั้นมีหลากหลายรูปแบบและวิธีการ จึงควรมีมาตรฐานโดยยึดหลักวิชาการทางการแพทย์และความปลอดภัยของผู้รับบริการ  ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจในการเลือกใช้บริการต่างๆ ที่มีอยู่ ฉบับหน้าเรามาดูข้อมูลของฝ่ายที่เห็นว่าการล้างพิษตับเป็นการหลอกลวงประชาชน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รู้เท่าทันการล้างพิษตับ ตอนที่ 2

ตอนที่ 2 นี้ขออธิบายเกี่ยวกับหน้าที่ของตับเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า ตับทำหน้าที่อะไร  สารพิษอะไรบ้างที่ตับทำลาย และตับสร้างหรือผลิตสารอะไร ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิต ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารเคมีจำนวนมาก (หลายร้อยชนิด) ที่จำเป็นต่อร่างกาย  ในขณะเดียวกันตับก็เป็นต่อมที่ผลิตและหลั่งสารเคมีที่ร่างกายนำไปใช้   ตับทำหน้าที่อะไรบ้าง การย่อยอาหาร ตับมีบทบาทสำคัญในกระบวนการย่อยอาหารด้วยการผลิตน้ำดี  น้ำดีประกอบด้วย น้ำ เกลือ โคเลสเตอรอล และสีของดี  เซลล์ตับ (hepatocytes) ผลิตน้ำดีและส่งไปตามท่อน้ำดีไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี  เมื่ออาหารที่มีไขมันมาถึงบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น เซลล์ที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะปล่อยฮอร์โมนออกมาเพื่อกระตุ้นให้ถุงน้ำดีปล่อยน้ำดีออกมาย่อยไขมัน ทำให้ไขมันแตกตัวเล็กลงและถูกย่อยได้ง่าย บิลิรูบิน (bilirubin) ในน้ำดีเป็นผลิตผลจากเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุและถูกตับย่อยสลาย  ธาตุเหล็กจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกย่อยไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ จึงถูกเปลี่ยนไปเป็นบิลิรูบินและอยู่ในน้ำดีเพื่อที่จะถูกขับออกจากร่างกาย  บิลิรูบินทำให้น้ำดีมีสีเขียว  แบคทีเรียในลำไส้จะเปลี่ยนบิลิรูบินไปเป็นสเตอร์โคบิลิน (stercobilin) ซึ่งสีน้ำตาล  ทำให้อุจจาระมีสีน้ำตาล   เมแทบอลิซึม เซลล์ตับทำหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับเมแทบอลิซึมของร่างกาย  เนื่องจากเลือดทั้งหมดที่มาจากระบบการย่อยอาหารจะไหลผ่านทางหลอดเลือดดำที่เข้าตับ ตับจึงทำหน้าที่ในการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนให้เป็นสารชีววิทยาที่มีประโยชน์ ระบบย่อยอาหารจะย่อย “คาร์โบไฮเดรต” ให้เป็นกลูโคส ซึ่งเซลล์จะนำไปใช้เป็นพลังงาน  เลือดที่ไหลเข้าตับจะมากไปด้วยกลูโคส เซลล์ตับจะดูดซึมกลูโคสและเก็บไว้ในรูปของไกลโคเจน ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ตับสามารถเก็บกลูโคสได้ในปริมาณมาก และปล่อยออกมาได้อย่างรวดเร็วในระหว่างมื้ออาหาร  ทำให้ร่างกายสามารถรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ การย่อย “กรดไขมัน” กรดไขมันในเลือดจะถูกเซลล์ตับดูดซึมและย่อยสลาย เพื่อไปสร้างพลังงาน  ไขมันบางส่วนจะถูกเซลล์ตับเปลี่ยนไปเป็นกลูโคส  นอกจากนี้ เซลล์ตับยังสร้างไขมัน เช่น โคเลสเตอรอล และส่วนประกอบไขมันอื่นๆ ซึ่งถูกเซลล์อื่นทั่วร่างกายนำไปใช้  โคเลสเตอรอลจำนวนมากที่สร้างขึ้นจากเซลล์ตับจะถูกกำจัดออกจากร่างกายในรูปของส่วนประกอบของน้ำดี การย่อย “โปรตีน” โปรตีนจากอาหารจะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน ก่อนที่จะส่งผ่านเข้าหลอดเลือดดำที่เข้าตับ  กรดอะมิโนจะถูกย่อยสลายที่ตับก่อนจึงจะนำไปใช้สร้างพลังงานได้  เซลล์ตับจะเอากลุ่มเอมีนออกจากกรดอะมิโนและเปลี่ยนไปเป็นแอมโมเนียและยูเรียในที่สุด  ยูเรียเป็นพิษน้อยกว่าแอมโมเนียและขับถ่ายออกทางปัสสาวะได้  กรดอะมิโนส่วนที่เหลือ(หลังจากเอากลุ่มเอมีนออก) จะแตกตัวไปเป็นพลังงานหรือกลับไปเป็นกลูโคสใหม่ การกำจัดความเป็นพิษ เอนไซม์ในเซลล์ตับจะย่อยสลายสารที่เป็นพิษต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ และยา ให้เป็นสารที่ไม่เป็นอันตราย  ตับยังย่อยสลายฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายและขจัดออกจากกระแสเลือด เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของฮอร์โมนในเลือด การเก็บสารต่างๆ ตับทำหน้าที่ เก็บสารอาหารสำคัญ วิตามิน และเกลือแร่ จำนวนมากที่มาจากเลือดที่เข้าตับ  ตับเก็บสะสมกลูโคสในรูปไกลโคเจน กรดไขมันจากไตรกลีเซอไรด์ที่ถูกย่อย  และยังเก็บวิตามินและแร่ธาตุจำนวนมากได้แก่ วิตามิน A, D, E, K, B12  และ เหล็กกับทองแดง การผลิต ตับสร้างส่วนประกอบโปรตีนที่สำคัญของพลาสม่า ได้แก่ โปรตีนที่เป็นปัจจัยให้เลือดแข็งตัว  โปรตีนอัลบูมินซึ่งจำเป็นในการรักษาสภาวะของเหลวในระบบไหลเวียนเลือด ภูมิคุ้มกัน ตับยังทำหน้าที่เสมือนอวัยวะของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยผ่านการทำงานของคุปเฟอร์เซลล์ (Kupffer cells)  คุปเฟอร์เซลล์จะจับและย่อยแบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ เม็ดเลือดที่ฉีกขาด และซากเซลล์ต่างๆ   จากหน้าที่ของตับในการขจัดสารที่เป็นพิษ การย่อยสลายโปรตีนและเกิดแอมโมเนียและยูเรีย การเก็บสะสมสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะ ไกลโคเจน กรดไขมันในตับ  จึงเป็นที่มาของความเชื่อว่า ตับมีการสะสมสารพิษต่างๆ ต่อตับและร่างกายไว้จำนวนมาก  การล้างพิษตับจะช่วยให้ตับปราศจากหรือลดสารพิษในตับได้ ติดตาม ตอน 3 ในฉบับหน้า    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 161 รู้เท่าทันการล้างพิษตับ ตอนที่ 1

ความนิยมในการล้างพิษตับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศก็เกิดความนิยมในการล้างพิษตับอย่างมากมายเช่นเดียวกัน โดยถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่ง  การล้างพิษตับเกิดประโยชน์จริงหรือไม่  มีโทษหรืออันตรายหรือเปล่า เราคงเห็นในเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งฝ่ายที่เห็นว่ามีประโยชน์มากมาย ทำให้ตับดีขึ้น มีการถ่ายเป็นนิ่วออกมาจำนวนมาก และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบรรดาหมอและนักวิชาการที่ออกมาคัดค้านและอธิบายว่านิ่วที่ถ่ายออกมาเกิดจากอะไร  เราลองมารู้เท่าทันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แนวคิดเรื่องการล้างพิษ ความเชื่อหรือทฤษฎีเรื่องร่างกายมีสารพิษตกค้างมีมานานหลายพันปี  สารพิษในสมัยโบราณนั้นหมายถึงอาหารการกิน เหล้า ยาสูบ น้ำดื่มที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะอาหารเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก(อย่าลืมว่าในสมัยโบราณไม่มีตู้เย็น และเชื้อเพลิงที่ดีพอ)  อาหารที่กำลังกลายเป็นอุจจาระหรือในทางพุทธศาสนาเรียกว่า อาหารเก่า(กรีสัง) นั้นเกิดจากการย่อยอาหารใหม่และนำไปใช้เป็นพลังงานและซ่อมเสริมส่วนต่างๆ ของร่างกาย  อาหารที่เหลือจะกลายเป็นอาหารเก่า มีการเน่าเปื่อยและเป็นสิ่งปฏิกูล  จึงเชื่อว่ามีสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกายและเป็นเมือกเกาะอยู่กับผนังลำไส้ถ้าไม่ขับถ่ายออกมาหรือมีการตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่  ดังนั้นการสวนล้างเพื่อทำความสะอาดลำไส้ใหญ่จึงเป็นวิธีการในการทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ เพื่อล้างสิ่งปฏิกูลหรือซากอุจจาระที่ติดอยู่กับผนังลำไส้ใหญ่เพื่อไม่ให้ปล่อยสิ่งที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกาย จึงเป็นต้นกำเนิดของการสวนล้างลำไส้ที่แพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ สารพิษที่ว่า ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่  การอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไม่มีแรง   การสวนล้างลำไส้ (ใหญ่) การรักษาด้วยการสวนล้างลำไส้(ใหญ่) มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ในอินเดีย และในอีกหลายๆ เมืองโบราณ  ในสหรัฐอเมริกาเกิดความนิยมตั้งแต่ทศวรรษ ค.ศ. 1920 และ 1930  แต่เนื่องจากขาดทฤษฎีทางการแพทย์สนับสนุนจึงเริ่มเสื่อมความนิยมไป  จนเมื่อเร็วๆ นี้ การสวนล้างโดยใช้ น้ำชา เอ็นไซม์ หรือล้างด้วยน้ำ เริ่มกลับมานิยมอีกครั้ง   การสวนล้างลำไส้ดีหรือไม่? คำตอบก็คือ  ยังหาข้อยุติไม่ได้ ทั้งนี้เพราะนักวิจัยยังไม่ได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป การสวนล้างลำไส้อาจทำได้ 2 ทาง คือ การกินสารต่างๆ ที่ไปทำความสะอาดทางปาก และอีกทางหนึ่งคือทางทวารหนัก  ทั้งสองทางมีเป้าหมายเดียวกันคือ การไปขับอาหารและสิ่งตกค้างต่างๆ ในลำไส้ใหญ่  สารที่ใช้สวนล้างลำไส้ในประเทศต่างๆ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามอินเตอร์เน็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา  สารเหล่านี้ได้แก่  น้ำยาสวนทวารหนัก ยาระบาย ชาสมุนไพร เอนไซม์ และ แมกนีเซียม รวมทั้งการใช้น้ำ น้ำผลไม้ กาแฟ และอื่นๆ อีกมากมาย  เนื่องจากมีการประยุกต์ไปตามการใช้ของบุคคลและกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง   การล้างพิษตับ การล้างพิษตับที่กำลังโด่งดังอยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศในขณะนี้  ก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันว่า สารพิษต่างๆ กำลังมีผลกระทบต่อร่างกายของเรา  สารพิษเหล่านี้เป็นได้ตั้งแต่ สารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตราย  สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  หมอกควัน และอื่นๆ เช่น  แอลกอฮอล์ กาเฟอีน ยา เครื่องปรุงรสอาหารต่างๆ น้ำตาล น้ำที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น  และเชื่อว่าร่างกายสะสมสารพิษเหล่านี้ไว้ในทางเดินอาหาร ต่อมน้ำเหลือง รวมทั้งในผิวหนังและเส้นผม  ทำให้เกิดอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และ โรคเรื้อรังต่างๆ ความเชื่อเรื่องสารพิษในร่างกายจึงเป็นที่มาของแนวทางการใช้อาหารเพื่อล้างพิษ ตั้งแต่การอดอาหารเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารพิษเพิ่ม และค่อยกินอาหารที่ปลอดจากสารพิษเข้าไปแทน  วิธีการต่างๆ มีได้ตั้งแต่ การกินอาหารเหลวประมาณวันสองวัน หลังจากนั้นเริ่มกินข้าวกล้อง ผลไม้ ผักที่นึ่งหรือต้ม  และค่อยเพิ่มอาหารอื่นมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีวิธีการอีกหลากหลายตามลีลาชีวิตของแต่ละประเทศและวัฒนธรรม การสวนล้างลำไส้และการใช้อาหารธรรมชาติเพื่อขับสารพิษออกจากร่างกาย จึงเป็นแนวความคิดสำคัญที่ก่อรูปและพัฒนามากลายเป็น การล้างพิษตับที่เป็นที่นิยมและถกเถียงกันทั่วโลกในปัจจุบันนี้       //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 126 กระแสต่างแดน

  โชคดีที่ไม่ร้อนเงินเขาว่ากันว่าหน้าร้อนที่สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ (ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 40 ถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่แปลกสำหรับประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันออกกลาง  แต่ที่เป็นประเด็นก็เพราะผู้คนที่นี่เขาออกจะมีฐานะล่ำซำกันอยู่สักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในศูนย์กลางการค้าอย่างเมืองดูไบ ซึ่งประชากรประมาณ 2 ล้านคนของเขาไม่ยี่หระกับบิลค่าไฟฟ้าที่แพงลิบลิ่ว  คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้นิยมเปิดเครื่องปรับอากาศที่บ้านไว้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าตัวเองจะออกไปทำงานหรือไปทำธุระที่อื่น รวมๆ แล้วค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานต่อหัวของคนที่ประเทศนี้เลยสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก สูงกว่าการบริโภคไฟฟ้าต่อหัวของสเปนซึ่งมีประชากรถึง 47 ล้านคน ถึง 3 เท่า และสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวก็สูงกว่าคนอเมริกัน 2 เท่า เรียกว่า ร้อยละ 70 ของจากพลังงานที่ผลิตได้ถูกใช้ไปกับการทำความเย็นนี่เอง และเมื่อมีการบริโภคไฟฟ้าในเมืองดูไบสูงขนาดนั้น ไฟฟ้าในเขตอื่นๆ ของประเทศจึงอยู่ในภาวะติดๆ ดับๆ รัฐบาลเขาจึงออกมารณรงค์ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว แต่ข่าวบอกว่ายังไม่ประสบผล คงจำกันได้ว่าตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างตึกเบิร์จ คาลิฟะห์ หรือที่เราเรียกกันว่าตึกดูไบเบิร์จ ก็อยู่ที่เมืองดูไบด้วย ตึกนี้ตึกเดียวก็ใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 10 ของกำลังผลิตของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว นอกจากร้านรวงหรือสำนักงานต่างๆ แล้ว ในตัวตึกยังมีเนินสำหรับเล่นสกี ที่มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 3 สนามฟุตบอล และต้องทำอุณหภูมิที่ – 8 องศาเซลเซียสตลอดเวลา เพื่อทำให้เกิดหิมะ นอกจากนี้ยังมีลานสเก็ตขนาดมาตรฐานโอลิมปิกที่ต้องทำความเย็นไว้รองรับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนวันละกว่า 150,000 คนด้วย ปัจจุบัน ร้อยละ 85 ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศนี้มาจากก๊าซธรรมชาติ (ที่เหลือมาจากน้ำมัน) แต่เขากำลังมีแผนจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ทั้งหมด 4 เตา บนชายฝั่งของเมืองอาบูดาบีซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ และคาดว่าเตาแรกจะเริ่มใช้งานได้ในอีก 6 ปีข้างหน้า   ลุ้นโชครับลุคใหม่เกิดกระแสฮือฮากันไปทั่วในหมู่นักท่องราตรีเมืองผู้ดี เมื่อคลินิกศัลยกรรมแห่งหนึ่งประกาศจัดงานลุ้นรับบริการศัลยกรรมความงามมูลค่า 4,000 ปอนด์ (ประมาณ 200,000 บาท) ฟรี   งานที่ว่า ใช้ชื่องานว่า “My Big Fat Plastic Surgery” นี้เขาวางแผนจะจัดเดือนละครั้ง หมุนเวียนไปตามไนต์คลับในเมืองต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร โดยเริ่มจากลอนดอนเป็นเมืองแรกแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับท่วมท้น  แต่เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูของสมาคมศัลยกรรมเพื่อความงามของอังกฤษเข้า ทางสมาคมฯ ก็รีบออกมาสกัดดาวรุ่งว่าการจัดงานอย่างนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการพึ่งมีดหมอเพื่อความงามนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะผ่านการวางแผนไตร่ตรองมาอย่างถี่ถ้วน ไม่สมควรนำมาเป็นของรางวัลจากการจับฉลากลุ้นผู้โชคดี เพราะคนที่ได้รางวัลอาจจะไม่ได้มี “จุดบกพร่อง” อย่างแท้จริง อาจเพียงแค่ต้องการจะรักษาสิทธิก็ได้ ไหนๆ ก็ฟรีแล้ว   เพราะเพียงแค่เสียค่าบัตรผ่านประตูเข้าไนต์คลับ (ราคา 25 ปอนด์หรือประมาณ 1,200 บาท) คุณจะได้รับสิทธิร่วมลุ้นรับศัลยกรรมความงามฟรีโดยอัตโนมัติ และผู้โชคดีจะต้องปรากฏตัวขึ้นรับรางวัลทันที แต่ผู้จัดเขาบอกว่าไม่ได้เร่งรัดนะ แค่ให้ขึ้นไปรับรางวัลและถ่ายรูปเป็นหลักฐานเอาไว้ก่อน จากนั้นผู้โชคดีคนดังกล่าวก็จะมีเวลาไปขบคิดอีก 2 อาทิตย์ว่าจะให้หมอลงมีดอัพลุคตนเองที่ส่วนไหนดี ลาภจะได้ไม่กลายเป็นทุกขลาภไป  เรื่องนี้คงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้อีกพักใหญ่ เพราะข่าวบอกมาว่าการลุ้นรับโชคทำศัลยกรรมความงามฟรีนั้นกำลังเป็นที่นิยมมากในอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นในนิตยสาร ในอินเตอร์เน็ตก็นิยมให้คนมาร่วมสนุกด้วยวิธีนี้ หรือแม้แต่ “ล็อตเตอรี่ความงาม” ก็มีให้ซื้อกันแล้ว   โซฟา โซเฟคถ้าเราจะลงทุนซื้อของแบรนด์เนมทั้งที เราคงเลือกซื้อจากร้านที่ดูหรูหราน่าเชื่อถือกันหน่อย เพราะทางร้านเขาคงจะกลัวเสียชื่อจึงต้องคัดมาเฉพาะของแท้เท่านั้น …แต่มันจริงหรือ? ถ้าไปถามโทรทัศน์ CCTV ของประเทศจีนตอนนี้เขาคงจะตอบว่าไม่ เพราะเขาเพิ่งจะออกมาเปิดโปงร้านขายเฟอร์นิเจอร์ไฮโซแห่งหนึ่งว่า ในร้านนั้นมีทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้าจากอิตาลี และเฟอร์นิเจอร์ประทับตรา “นำเข้าจากอิตาลี” ที่ผลิตมาจากโรงงานแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของจีนนี่เอง  ร้านที่ว่านั้นมีชื่อว่า ดาวินชี่ ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ที่สิงคโปร์ เป็นร้านที่เศรษฐีชาวจีนแผ่นดินใหญ่นิยมไปหาซื้อเฟอร์นิเจอร์แบรนด์หรู อย่างเวอซาเช่ หรือเฟนดิ ไปประดับบ้าน สนนราคาของสินค้าที่นี่เขาก็ไม่ธรรมดา ถ้าอยากได้เฟอร์นิเจอร์ชุดห้องนอนก็ต้องพกเงินไปประมาณ 100,000 เหรียญ (หรือประมาณ 3 ล้านบาท) ทีเดียว  มาดามดอริส พัว ซีอีโอของบริษัท ดาวินชี่ รีบออกมาแถลงข่าวทันที ว่าบริษัทถูกใส่ร้ายชัดๆ พูดไปก็ร้องไห้ไปน่าเห็นใจอย่างยิ่ง แต่วันเดียวกันนั้นเอง สถานีโทรทัศน์ CCTV ก็ออกข่าวการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ศุลกากรคนหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ ที่มีหลักฐานยืนยันว่าดาวินชี่ ไปเช่าโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์ไว้ในเขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียว ในเซี่ยงไฮ้เอาไว้  ถ้าเก็บของที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศก็ไม่มีปัญหา แต่ที่เก็บอยู่นั้นมันเป็นเฟอร์นิเจอร์ “เมดอินไชน่า” ที่ถูกส่งมาพักเพื่อเปลี่ยนสถานภาพนั่นเอง  ในทางเทคนิคแล้ว สินค้าที่ถูกส่งไปเก็บในคลังที่เขตการค้าเสรีไว่เกาเฉียวนั้น ถ้ามันถูกเก็บไว้เกินหนึ่งวัน มันจะสามารถกลับออกมาพร้อมกับตราประทับว่าเป็นสินค้า “นำเข้า” ได้   กรุณางดกินตับอาหารเหลาเลื่องชื่อที่หลายคนใฝ่ฝันอยากลิ้มรสอย่าง ฟัวกราส์ ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าแล้ว เมื่อผู้จัดงานเทศกาลอาหารอานูกา ที่จะจัดขึ้นที่เมืองโคโลจน์ ทางตะวันตกของประเทศเยอรมนีในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ประกาศว่าปีนี้จะไม่มีการเสิร์ฟฟัวกราส์ (ที่เราเรียกกันว่า “ตับห่าน”) ในงานเด็ดขาด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สัตว์ที่ไม่เห็นด้วยกับการได้มาซึ่ง “ตับ” ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง 10 เท่า ด้วยกรรมวิธีที่ออกจะโหดร้ายไปหน่อย บรรดาเป็ดหรือห่านอับโชคพวกนี้จะถูกขังในกรงแคบๆ จนไม่สามารถขยับปีกได้ แล้วก็จะถูกบังคับ  ป้อนอาหารตลอดเวลา ผ่านทางหลอดให้อาหารที่สอดผ่านจงอยปากของพวกมันเข้าไปโดยตรงเพื่อให้ ตับของพวกมันโตไวๆ  แต่กระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสเขารับไม่ได้ งานใหญ่ขนาดนี้จะไม่ให้นำเสนอตำรับอาหารเลื่องชื่อของตนเองได้อย่างไร ว่าแล้วรัฐมนตรีเกษตรของเขาจึงทำจดหมายไปขอร้องให้เยอรมนีทบทวนการตัดสินใจอีกครั้ง มิเช่นนั้นจะเขาจะบอยคอตด้วยการไม่เข้าร่วมพิธีเปิด แต่ทางรัฐบาลเยอรมนีตอบกลับไปว่าเรื่องนี้มันต้องแล้วแต่ผู้จัดงานเขา รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้  ความจริงแล้วปีนี้สหภาพยุโรปเริ่มใช้กฎเกณฑ์ในเรื่องการเลี้ยงเป็ดหรือห่านเพื่อเป็นวัตถุดิบของฟัวกราส์แล้ว แต่องค์กรพิทักษ์สัตว์เขาบอกว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของฟาร์มในฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 75 ของฟัวกราส์ทั้งหมดในโลก) เท่านั้นที่เลี้ยงตามเกณฑ์ดังกล่าว หมายเหตุ ที่เรียกกันว่า “ตับห่าน” นั้นคงจะไม่ตรงความจริงเท่าไรนัก เพราะสถิตระบุว่าในการผลิตฟัวกราส์ ของฝรั่งเศสในแต่ละปีเขาจะใช้เป็ดประมาณ 37 ล้านตัว ในขณะที่ใช้ห่านเพียง 7 แสนตัวเท่านั้น  น้ำมันปาล์มต้อง (โปร่ง) ใสปาล์มน้ำมันก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่กลุ่มนักอนุรักษ์กำลังจับตาดูเป็นพิเศษ   คนออสเตรเลียกำลังลุ้นว่าร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการระบุลงว่าส่วนผสมในอาหารที่เรียกว่า “น้ำมันพืช” นั้นจริงๆ แล้วเป็นน้ำมันจากพืชชนิดใด จะผ่านการยอมรับโดยสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่  ผู้ที่รณรงค์ให้เกิดกฎหมายนี้บอกว่า คนออสซี่นั้นบริโภคน้ำมันปาล์มเฉลี่ยคนละ 10 กิโลกรัมในแต่ละปี โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย เพราะในฉลากอาหารของออสเตรเลียขณะนี้ มีเพียงคำว่า “น้ำมันพืช” ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูลในการเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมันปาล์มเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ออสเตรเลียนำเข้าน้ำมันปาล์มปีละ 130,000 ตันจากมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 85 ของน้ำมันปาล์มที่ใช้กันทั่วโลก (อันดับสามคือประเทศไทยเรานี่เอง) สองประเทศนี้จึงเป็นที่จับตามองของบรรดานักเคลื่อนไหวจากกรีนพีซ WWF (World Wildlife Fund) และแม้แต่องค์การสวนสัตว์วิคตอเรีย ในออสเตรเลีย เป็นพิเศษ  ทั้งนี้เพราะการเคลียร์พื้นที่เพื่อทำสวนปาล์มในอินโดนีเซียและมาเลเซียนั้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าไม่น้อย  รายงานของสหประชาชาติเมื่อสี่ปีที่แล้วระบุว่า ร้อยละ 98 ของป่าฝนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย จะหายไปภายในปี ค.ศ. 2022 โดยปัจจัยสำคัญได้แก่การผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ทำให้พื้นที่ป่าขนาดประมาณ 300 สนามฟุตบอลหายไปทุกๆ หนึ่งชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >