ฉบับที่ 103 จากตลาดสีเขียวเมืองกรุง สู่ fair trade ชุมชนสนามชัยเขต

วันแถลงข่าวเปิดตัวมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 ที่จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 2 – 6 กันยายน 52 ที่เมืองทองธานีนั้น  ปีนี้มีชื่อคอนเซ็ปต์งานว่า “ผักพื้นบ้าน สร้างเศรษฐกิจไทย  กู้ภัยหวัด”   ในงานมีลานวัฒนธรรมที่นำเสนอ “ลานผักพื้นบ้าน  อาหารกู้โลก”  ของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับองค์กรชุมชนในแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร  กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา   ซึ่งใกล้กรุงเทพฯ กว่าใครรับอาสาเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ นำเสนอผักพื้นบ้านกว่า 130 ชนิด และเมนูจากผักพื้นบ้านมาแสดง  อย่างคับคั่ง รวมทั้งเปิดตัวกับสื่อสาธารณะทั้งในรายการทีวี และสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่างคึกคัก ชาวบ้านกลุ่มนี้ นับเป็นกลุ่มร่วมบุกเบิกเปิดตลาดสีเขียวกับเครือข่ายตลาดสีเขียว ซึ่งมีการนำสินค้าออร์แกนิคมาจำหน่ายกับผู้สนใจที่ตึกรีเจนท์ ราชดำริในทุกวันพฤหัสมาเมื่อ 2 ปีก่อน แล้วตะลอนไปขายกับเครือข่ายในทุกงานที่มีโอกาส เพื่อให้เกิดการขยายตัวของการตอบรับของผู้บริโภคเรียกว่าเป็นหน่วยผลิตแนวหน้ากล้าตายที่สามารถสู้กับตลาดกระแสหลักได้ทั้งในเรื่องข้าว ผักเศรษฐกิจ และผักพื้นบ้าน  ก่อนงานมหกรรมฯ ทีมทำสื่อได้ยกโขยงกันไประดมถ่ายรูปผักและเมนูอาหารกู้โลกเพื่อนำมาผลิตเป็นการ์ดเซ็ตสวยๆ ขายราคาต้นทุนในลานผักพื้นบ้านฯ  ฉันเลยได้ติดสอยห้อยตามเขาไปดูกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านคู้ยายหมี ที่อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กับเขาด้วยตอนไปถึงเป็นช่วงก่อนมื้อเที่ยงเล็กน้อย กับข้าวหลายอย่างออกมาวางเรียงรายรอช่างภาพมาถ่ายภาพ  ทำให้ฉันที่เป็นคุณพลอยเลยได้เก็บรูปมากะเขาด้วยหลายผัก หลายตำรับ  ทั้งข้าวสวยสีฟักข้าวแดงระเรื่อ ต้มหมูชะมวง  ต้มข่าอ่อนไก่บ้าน  ต้มยำไก่บ้านใส่เต่ารั้ง  ต้มกะทิสายบัวลูกมะดัน  แกงขี้เหล็กกับหอยจุ๊บไม่ใส่กะทิ  แกงขี้เหล็กใส่กะทิกับข่าอ่อน  ตอนที่ไปถึงแม่ครัวเรากำลังผัดสายบัวกับกุ้งแม่น้ำพอดี  และยังมีการเตรียมอุปกรณ์และเครื่องปรุงสาธิตสดๆ การยำเต่ารั้งสูตรมังสวิรัติ และตำผลไม้ใส่มะอึก  เห็นกับข้าวจากวัตถุดิบดีๆ ฝีมือปรุงดีๆ อย่างนี้ทำเอาน้ำลายสอ กลืนลงคอถี่ๆ และอยากให้ภาระกิจการถ่ายภาพเหล่านี้เสร็จสิ้นโดยไวกันทั้งคณะ   ถ่ายภาพอาหารและผักที่เตรียมตัดมารอไว้เสร็จ ทีมงานก็เดินลุยแดดเปรี้ยงๆ ลงไปในสวนอีก 2 – 3 สวน  เพื่อเก็บภาพให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้ง  ฉันเองเดินไปได้แค่รอบๆ อาคารสำนักงาน กับสวนด้านหลัง ก็เหน็ดเหนื่อยกับแดดแผดร้อนมหาโหดพอแรง  นั่งบ่นเรื่องอากาศร้อนๆ อยู่ พี่ยุพิน คะเสนา หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มบอกว่าปีนี้แล้งเหลือหลาย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนจนไม่แน่ใจว่าปีหน้าจะมีข้าวพอกินหรือเปล่า?  จริงสินะ....ขนาดชาวบ้านที่สร้างอาหารตัวเองได้รายรอบบ้านแบบนี้ยังมีความตื่นตัวเพราะใกล้ชิดและเห็นผลพวงที่ปรากฏตามธรรมชาติ  แต่เราที่อยู่กันแบบห่างไกลจนใกล้จะเรียกว่าตัดขาดจากสภาพธรรมชาติที่แท้กับไม่รับรู้  ลืมและหลงระหว่างรอทีมช่างภาพกลับมา  ฉันเลยมานั่งคุยกับพี่นันทวัน หาญดี เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของกลุ่ม ซึ่งควบรวมตำแหน่งผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา ที่มีสมาชิก 350 ครัวเรือนใน 9 หมู่บ้าน 3 ตัวบน ของอำเภอพนมสารคาม โดยใน 350 ครอบครัวนี้มี 50 ครอบครัวที่เป็นแหล่งผลิต ข้าว ผัก ปลา หมูอินทรีย์ ในพื้นที่รวม 1,300 ไร่   ที่บ้านคู้ยายหมีที่เรามานี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มเท่านั้นด้วยกำลังผลิตประมาณนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้ฉันไม่แปลกใจเลยที่จะมีผลผลิตดีๆ ออกไปจำหน่ายอย่างต่อเนื่องที่ตลาดสีเขียวในกรุงเทพฯ โดยพี่ต้อย พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ช่วยประสานการวางแผนงานตลาดคนเมือง  แต่กลุ่มจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเป้าหมายที่แท้ที่กลุ่มอยากสร้างคือ “ตลาดท้องถิ่นของชุมชน”“เราอยากให้ทั้งคนมีและคนจนในชุมชนของเราเข้าถึงอาหารคุณภาพดีๆ ที่เราผลิตได้ในราคาที่ไม่แพง แต่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพื่อที่คนกินจะได้หันมากินของดีๆ ของเรา  ได้รู้จัก พูดคุย สร้างความสัมพันธ์และเข้าใจอันดีต่อกัน” สั้นๆ ง่ายๆ ที่พี่นันบอกมาพี่นันยังเล่าอีกว่า มีพี่จิ๋ม หรือเภสัชกรหญิงศิริพร จิตประสิทธิ์ศิริ ที่ทำงานร่วมกันมาได้ช่วยกันผลักดันโดยนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับ นายแพทย์สมคิด วิระเทพสุภรณ์  ผอ.รพ.สนามชัยเขต  จนทำให้เกิดมีตลาดนัดสีเขียวในโรงพยาบาลทุกวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่สำรวจพบว่ามีผู้เข้ามารับบริการจากโรงพยาบาลมากที่สุด โดยเริ่มจำหน่ายกันมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว  สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสำเร็จ และอาหารตามสั่ง และมีเมนูเด็ดที่ขายประจำคือขนมจีน 4 สี จากข้าวเหลืองประทิวอินทรีย์ที่ยอดจำหน่ายเริ่มพุ่งจากจันทร์ละ 15 กก.เป็น 18 กก. โดยมีน้ำยา 3 รส คือน้ำยาหวาน น้ำยากะทิ และน้ำยาป่าเป็นตัวยืน  เมนูอีกอันที่ฮิตติดกระแสคือยำผักกูด ซึ่งตอนนี้กำลังขยายความคุ้นเคยของผู้บริโภคไปสู่ยำผักพื้นบ้านสมุนไพรตัวอื่นๆ อย่างยำสี่สหายและยำเต่ารั้ง แผนที่จะทำกับกลุ่มโรงพยาบาลต่อ คือโครงการเมนูสุขภาพ  ซึ่งเครือข่ายจะเตรียมจัดเมนูอาหารกลางวันอินทรีย์ดีๆ อร่อยๆ ให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีประมาณ 200 กว่าคน ให้ได้รับประทานกันในราคาประหยัด  ในทุกวันทำงานตั้งแต่จันทร์ – ศุกร์  ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในกลางเดือนกันยายนนี้และคาดหวังว่าแผนการดีๆ อย่างนี้จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อให้เกิดการขยายตัวในการผลิตอาหารอินทรีย์ของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายเพิ่มขึ้น    ยำสี่หสายเมนูรสเยี่ยม เปี่ยมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่รับประกันว่ารับประทานแล้วช่วยให้สวยตลอดเรือนร่างเพราะเป็นเมนูไร้ไขมัน จาก ผักกูด (แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ แก้ไอ) , ดอกอัญชัน (บำรุงดวงตา ทำให้ตาสว่าง) , พริก หอม กระเทียม (ช่วยลดโคเลสเตอรอลและแก้ไขหวัด) , คื่นฉ่าย (ช่วยสร้างภูมิต้านทาน) ดอกโสน (อุดมด้วยสารเบต้าแคโรทีน) , เห็ดนางฟ้าลวก (เสริมโปรตีนจากพืชผัก) , ไผ่ตง (ขับปัสสาวะ และเต่ารั้ง (โปรตีนและธาตุสังกะสีสูง) การเตรียมผัก ผักที่ลวกสุกได้แก่ ผักกูด และหอมแดง และเห็ดนางฟ้า ผักที่ต้มได้แก่หน่อไม้ไผ่ตง ผักกินสดได้แก่ ดอกอัญชัน โสน คื่นฉ่าย น้ำยำ : ใช้พริกขี้หนูโขลกกับกระเทียมพอแหลก ปรุงรสด้วยน้ำกระเทียมดอง เกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำตาล และมะนาว ตามชอบใจ การยำ : ใส่ทุกอย่างเท่าๆ กัน แล้วตักน้ำยำราด คลุกเคล้าให้ทั่ว โรยหน้าด้วยงาขาว งาดำ คั่วใหม่ๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point