ฉบับที่ 225 ด้ายแดง : เพราะเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ

                ธรรมชาติของเหรียญก็ต้องมีสองด้านเสมอ แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามีเหรียญหนึ่งอันวางอยู่ คนเราก็มักจะมองเห็นเพียงด้านหนึ่งของ “หัว” หรือ “ก้อย” ที่หงายขึ้น โดยอาจจะหลงลืมไปว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่คว่ำไว้โดยที่เรามองไม่เห็น เฉกเช่นเดียวกับโลกทัศน์หรือวิธีคิดของคนเราที่มีต่อโลก ก็เป็นประดุจดังเหรียญสองด้าน ซึ่งหากเราเลือกพลิกด้านหนึ่งของเหรียญหรือโลกทัศน์บางอย่างมามองดูโลกรอบตัวแล้ว เราก็มักไม่สำเหนียกว่า ยังมีเหรียญอีกด้านที่มองต่างมุมกันออกไป         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ด้ายแดง” ก็คือ บทพิสูจน์การมีอยู่ของเหรียญที่มีสองด้านในความคิดของสังคมเช่นกัน โดยเริ่มต้นเปิดฉากขึ้นที่คฤหาสน์จีนหลังใหญ่ของตระกูลมหามงคล กับภาพของตัวละคร “เหม่ยอิง” คุณนายใหญ่ของบ้านที่นั่งถักทอ “ด้ายแดง” เพื่อเอาไว้มอบให้เป็นสิริมงคลแก่ “หลงเว่ย” ผู้เป็นบุตรชาย         เสียงก้องในห้วงคำนึงของเหม่ยอิงที่มีสีหน้าอิ่มเอิบ ในขณะที่ผูกสานเส้นด้ายสีแดงไว้ให้ลูกชาย เป็นคำพูดที่กล่าวขึ้นว่า “คนจีนเรามีคำพูดว่า ด้ายในมือแม่ไม่มีวันหมด เพราะคนเป็นแม่ต้องปะชุนเสื้อผ้าให้ลูกไปจนวันตาย แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของคำๆ นี้มันลึกซึ้งกว่านั้น ในเมื่อเกิดมาเป็นแม่ลูกกันแล้ว แม่ก็ต้องปกป้องดูแลลูก ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ความรักของแม่ก็เหมือนเส้นด้ายที่ยืดยาวไม่มีวันหมดสิ้น...ตลอดกาล...”         การเปิดฉากด้วยภาพเช่นนี้อาจตีความเป็นความหมายสองนัย โดยนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า เส้นเรื่องหลักของละครได้ผูกรัดให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่มารดาจะถักร้อยให้กับบุตรชายด้วยความรักแบบไม่มีวันสิ้นสุด        แต่โดยอีกนัยหนึ่งนั้น เบื้องหลังของคฤหาสน์จีนหลังใหญ่ซึ่งมีม่านประเพณีปฏิบัติกันมาช้านาน ก็บ่งบอกด้วยว่า ขณะที่แม่ผูกทอความสัมพันธ์มายังลูกชายนั้น ระบบค่านิยมที่สลักฝังอยู่ในพรมแดนของบ้าน ก็คืออีกตัวแปรหนึ่งที่เข้ามากำกับชีวิตของหลงเว่ยภายใต้เส้นด้ายสีแดงที่ร้อยรัดข้อมือของเขาไว้ด้วยเช่นกัน         ตามท้องเรื่องเดิมนั้น ตระกูลมหามงคลมี “เจ้าสัวหม่า” เป็นประมุขใหญ่ของบ้าน โดยมีภรรยาสองคนคือ “เลี่ยงจิน” ภรรยาหลวงหรือเป็นคุณนายใหญ่ที่คนในครอบครัวจีนรับรู้โดยทั่วไป กับตัวของเหม่ยอิงที่มีสถานภาพเป็นคุณนายรอง         ด้วยความเชื่อตามจารีตเดิมของครอบครัวจีนขนาดใหญ่นั้น มักยึดมั่นยึดติดกับเรื่องดวงชะตาที่กำหนดชีวิตของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อซินแส “สินอู่” ได้ทำนายดวงชะตาของหลงเว่ยว่าจะชงกับพี่ชายต่างมารดา และคำทำนายนั้นก็เกิดเป็นจริงขึ้นมา เพราะ “เทียนอี้” ลูกชายคนโตเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของหลงเว่ย เจ้าสัวหม่าจึงส่งหลงเว่ยไปเรียนที่ฮ่องกงเพื่อให้ห่างไกลบ้านมหามงคล         ต่อมา เมื่อเจ้าสัวหม่าและคุณนายใหญ่เลี่ยงจินได้ถึงแก่กรรมลง เหม่ยอิงจึงได้ขึ้นครองเป็นคุณนายใหญ่แห่งบ้านมหามงคลแทน แต่เพราะผู้หญิงที่ไม่เคยถือครองอำนาจมาก่อน ต้องก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในฐานะผู้นำของบ้าน คุณนายใหญ่คนใหม่ก็ต้องพบว่า ขนบธรรมเนียมที่ตระกูลมหามงคลและแม้แต่ตัวเธอเองยึดมั่นอยู่นั้น ต้องฝ่าแรงคลื่นพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาปะทะถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่าเพียงใด             โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลงเว่ยถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อให้สืบทอดกิจการของตระกูล พลันที่เขาและ “ซูซี่” ภรรยาชาวฮ่องกงที่กำลังตั้งท้องอยู่ ได้ย่างเหยียบเข้ามาในคฤหาสน์หลังใหญ่ สงครามระหว่างตัวแทนแห่งม่านประเพณีอย่างเหม่ยอิง กับโลกทัศน์แบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของซูซี่ ก็ได้เริ่มต้นฉากสัประยุทธ์ขึ้นทันที         แม้ว่าจริงๆ แล้ว บ้านมหามงคลจะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระลอกๆ ตั้งแต่ตัวเรือนของบ้านที่ออกแบบให้ผสมผสานสไตล์ตะวันตก ตัวละครชายที่เลือกสวมเครื่องแต่งกายในชุดสากล หรือการพูดภาษาไทยโดยไม่ติดสำเนียงจีนแบบดั้งเดิม เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นจีนเองก็มีมุมที่ปรับปรนปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว         แต่เมื่อต้องมาเผชิญคลื่นลมระลอกใหม่ๆ อย่างตัวละครซูซี่ผู้ “ไม่แคร์เวิร์ลด์” หรือมิได้ใส่ใจกับประเพณีปฏิบัติโบร่ำโบราณเท่าใดนัก ตั้งแต่การเมินเฉยต่อธรรมเนียมกินข้าวร่วมโต๊ะ การแต่งตัวที่ไม่ยึดติดขนบจารีตเดิม อากัปกิริยาสมัยใหม่ที่แสดงออกได้แม้แต่ในที่สาธารณะ ไปจนถึงการแต่งงานอยู่กินกันก่อนจะเข้าพิธียกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ แบบแผนปฏิบัติที่ขัดกับศีลาจารวัตรเดิมๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เหม่ยอิงมิอาจยอมรับได้          และแน่นอน บททดสอบความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมจีนที่สายอนุรักษนิยมสุดขั้วยึดมั่นมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นแรงปะทะที่มีต่อความเชื่อในโชคชะตา ที่ฝังรากเอาไว้ในธรรมเนียมนิยมหลักของครอบครัวจีน ดังคำที่เหม่ยอิงพูดอยู่เสมอว่า “คนคำนวณ ไม่สู้ฟ้าลิขิต”         ดังนั้น อีกครั้งเมื่อซินแสสินอู่ได้ทำนายว่า ลูกในท้องของซูซี่จะเป็นกาลกิณีต่อหลงเว่ยผู้เป็นพ่อ เหม่ยอิงจึงทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดลูกของซูซี่ และนำหลานในไส้ไปทิ้งศาลเจ้าให้ไกลจากบ้านมหามงคล เหมือนกับที่เธอพูดกับ “อาจู” สาวใช้คนสนิทว่า “ถ้าคนหนึ่งจะมา แล้วอีกคนจะไป คนที่จะไปต้องไม่ใช่ลูกฉัน”         จากนั้น ปฏิบัติการผลักไสให้ซูซี่ทิ้งหลงเว่ยกลับฮ่องกง และยัดเยียดให้ “เพ่ยเพ่ย” หญิงสาวอีกคนมาเป็นภรรยาของหลงเว่ยจึงอุบัติขึ้น โดยที่ทั้งหลงเว่ยและเพ่ยเพ่ยหาได้ยินยอมพร้อมใจแต่อย่างใดไม่        ระบบคิดแบบอนุรักษนิยมที่คอยจะจับวางใครต่อใครให้มาเป็นหมากเบี้ยบนกระดาน จึงไม่ต่างจากภาพที่คุณนายเหม่ยอิงหยิบเอาเส้นด้ายสีแดงมาถักทอร้อยรัดข้อมือบุตรชายเอาไว้ด้วยความรัก แต่ในท้ายที่สุด กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เพ่ยเพ่ยเองได้กระทำอัตวินาตกรรม และหลงเว่ยก็รู้ความจริงว่า มารดาของตนอยู่เบื้องหลังการจับชีวิตเขาร้อยไว้ด้วยกฎเกณฑ์ทางประเพณีแบบไม่ให้ดิ้นหลุดได้เลย         ฉากที่หลงเว่ยกระชากด้ายแดงจนขาด เพื่อสลัดตนออกจากความขัดแย้งสองแพร่งของอุดมคติแบบอนุรักษนิยมและอุดมการณ์แบบเสรีนิยม จึงไม่ต่างจากประโยคที่เขากล่าวกับมารดาว่า “เลิกทำเพื่อผมเสียที ผมไม่ต้องการให้แม่มาดูแลปกป้องผมอีกแล้ว ความรักความห่วงใยของแม่มันรัดคอจนผมหายใจไม่ออกแล้ว สักวันผมคงจะต้องตายด้วยความหวังดีของแม่...”         จนมาถึงในเจนเนอเรชั่นรุ่นถัดมา ชะตากรรมของ “หลิงหลิง” หลานสาวในไส้ที่ถูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้าตั้งแต่แรกคลอด กับ “ป่อป้อ” ลูกติดท้องของเพ่ยเพ่ยก่อนแต่งงานมาเป็นสะใภ้เหม่ยอิง ก็ยิ่งสำทับภาพปัจเจกบุคคลที่ต้องมาอยู่กลางสนามรบของโลกทัศน์ความคิดที่สุดขั้ว ไม่ต่างจากที่รุ่นพ่อและแม่เคยเผชิญมาอีกเช่นกัน        จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่เช่นนี้ ตราบใดที่ “เหรียญสองด้าน” ของขั้วความคิดที่แตกต่าง ไม่ยอมลดทอนมิจฉาทิฐิลงเสียบ้าง ยังเป็นอนุรักษนิยมที่เพิกเฉยต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือเป็นเสรีนิยมที่ไม่ไยดีต่อธรรมเนียมปฏิบัติเดิมกันเลย บทสรุปของด้ายแดงที่ถูกสะบั้นขาดออกไปด้วยมือของหลงเว่ย ก็คงคุ้นๆ คล้ายๆ กับภาพสังคมการเมืองแบบที่เราก็เห็นอยู่ตรงหน้าทุกวัน

อ่านเพิ่มเติม >