ฉบับที่ 245 รู้จักแผนจัดการเชื้อดื้อยา กำจัดจุดอ่อนก่อนเข้าสู่แผนปี 2565-2569

        ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงต้องพูดถึง ย้อนกลับไปวันที่ 6 กันยายน 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นลงนามในปฏิญญานครชัยปุระว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อๆ มากระทั่งเกิดเป็น ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 แต่กว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติก็ล่วงเลยถึง 10 มีนาคม 2560         พอถึงเดือนธันวาคม 2562 มีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าระยะครึ่งแผนออกมา ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว 7 เดือน ทั้งเป็นปีสุดท้ายของแผนยังไม่มีการจัดทำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19         ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2565-2569 กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะชวนมาทำความรู้จักแผนดังกล่าว ความคืบหน้า จุดอ่อน และสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 5 เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ซึ่งเป็นส่วนที่ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายเข้ามามีบทบาท         ทำไมต้องมีแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา         เรามาทำความรู้จัก ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ อย่างย่นย่อกันก่อน         ข้อมูลจากแผนฯ ระบุว่ามีผู้คนประมาณ 700,000 คนต่อปีเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ปี 2593 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดย 4.7 ล้านคนอยู่ในทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3.5 พันล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 38,000 คน 4.2 หมื่นล้านบาทคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นี่คือที่มาของแผน         ตัวแผนกำหนดเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงในปี 2564 ไว้ 5 ข้อคือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล        โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม         ยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน         ผลสำรวจดูดี แต่ในรายละเอียดนั้น...         เราจะไปดูความคืบหน้าจากรายงานระยะครึ่งแผน ‘ความรู้และความตระหนักเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประชาชนในประเทศไทย: ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2562’ จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program หรือ IHPP) ว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ         ข้อแรก-การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่าประชาชนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 21.5 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.8 จากการสำรวจในปี 2560 โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ได้รับข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์         หัวข้อที่ 2 ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่า ประชาชนมีความเรื่องนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.7 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 24.3 ในปี 2562 แต่ข้อที่น่าสังเกตคือประชาชนมากกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามตอบคำถามไม่ถูกต้องในประเด็น ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาไข้หวัด’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ’ และ ‘การได้รับยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย’         ข้อที่ 3 ตระหนักเรื่องความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ โดยคะแนนในส่วนนี้เท่ากับ 3.3 จาก 5 คะแนน ประชาชนร้อยละ 89.6 เห็นว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรสั่งให้เท่านั้น ถึงกระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดในบางประเด็น เช่น ร้อยละ 83.3 เชื่อว่าหากใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องเชื้อดื้อยา เป็นต้น         และข้อที่ 4 การใช้ยาปฏิชีวนะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนร้อยละ 6.3 ใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบการกินในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยประชาชนร้อยละ 98.1 ได้รับยาปฏิชีวนะจากบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังมีร้อยละ 1.9 ที่ซื้อจากร้านขายของชำ ทั้งนี้สาเหตุการใช้ยาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ใช้เพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสม เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 27.0 ในปี 2560                ข้อสังเกตจากเภสัชกร         นอกจากนี้ ปี 2563 กลุ่มนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ยังได้ทำการสำรวจออนไลน์ในหัวข้อ ‘ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์’         ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนักวิชาการประจำศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) อธิบายผลสำรวจว่า         “เรามีการถามว่าในช่วงปี 2563-2564 ก่อนสำรวจ 6 เดือนมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเปล่า ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเคย ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสื่อสารเราเน้นเรื่องหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะจึงมีคำถามด้วยว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่บอกว่าใช้ยาปฏิชีวนะ คุณได้ใช้รักษาอาการเจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดหรือเปล่า ก็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าใช้         “ในส่วนความรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาและความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ผลโดยภาพรวมคนส่วนมากจะตอบข้อความรู้ได้ถูกต้องเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นข้อหนึ่งที่น่าสนใจที่ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ คือคนยังคิดว่ายาปฏิชีวนะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายาแก้อักเสบ เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่ยังตอบผิดอยู่คือ 56 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนเรื่องทัศนคติส่วนใหญ่ค่อนข้างดีว่าต้องทานยาปฏิชีวนะจนครบ         “ส่วนในเรื่องของพฤติกรรมส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางๆ คนที่ตอบว่าเคยซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองส่วนใหญ่เคยประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์อันนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจ และร้อยละ 50 ซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเองตามที่เคยได้รับจากหมอ ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ เช่นการแกะแคปซูลเอายามาโรยแผลยังน้อยอยู่ อาจเพราะเราใช้สื่อออนไลน์กลุ่มประชาชนที่เข้าถึงแบบสำรวจอาจเป็นประชาชนที่มีการศึกษา”         คนทำงาน         คราวนี้เราจะกลับมาที่ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือจากหลายเครือข่ายที่เข้ามาร่วมทำงานอย่างศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานรัฐ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นต้น         ยุทธศาสตร์นี้มี 3 กลยุทธ์คือ ส่งเสริมบทบาทขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม สื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมอ ส่งเสริมและพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มวัยทำงาน และสุดท้าย เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย         ภก.ชินวัจน์ อธิบายว่า หน่วยงานรับผิดชอบประกอบไปด้วยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งในกรมนี้จะมี 2 กองย่อยคือกองสนับสนุนบริการสุขภาพทำหน้าที่ดูแล อสม. ทั่วประเทศ อีกกองหนึ่งคือกองสุขศึกษาทำหน้าที่จัดทำสื่อหรือเผยแพร่สื่อให้ อสม. นำไปใช้กระจายความรู้ให้กับประชาชน        ในส่วนผู้รับผิดชอบส่วนที่ 2 คือ สสส. ทำหน้าที่ให้ความรู้ในระดับกว้างทั้งประเทศผ่านสื่อออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ รถไฟฟ้า ใน สสส. ยังมีภาคีเครือข่าย เช่น กพย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น         “ในส่วนของ กพย. เราจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์เรื่องการรู้และตระหนักการใช้ยาต้านแบคทีเรีย แล้วก็ชวนแต่ละที่มาร่วมกันตรงนี้เพื่อทำเป็นแคมเปญ นอกจากนี้ กพย. ก็ผลิตสื่อด้วย เช่น กระจกส่องคอ ยาวิพากษ์ แผ่นพับต่างๆ กระจายไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายของ กพย.”        ส่วนที่ 3 คือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีมติให้ ‘วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ’ เป็นประเด็นที่ต้องจัดการในการประชุมครั้งที่ 8 ปี 2558 แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ        สิ่งที่ต้องแก้ไขในแผนปี 2565-2569         จากตอนต้นถึงบรรทัดนี้ การขับเคลื่อนประเด็นเชื้อดื้อยาดูจะดำเนินไปด้วยดี แม้บางข้อจะยังมีความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ในมุมมองของ ภก.ชินวัจน์ กลับเห็นว่ามีหลายสิ่งอย่างที่ต้องจัดการและแก้ไข         เบื้องต้น ผลการสำรวจปี 2562 ออกมาถือว่าไม่เลว อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูในรายละเอียดยังมีหลายจุดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วนหนึ่งมาจากแผนการสื่อสารที่ยังไม่ชัดเจน         “ผมคิดว่าข้อที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการสื่อสารของภาครัฐยังแย่อยู่ เป็นการสื่อสารแบบราชการที่ประชาชนเข้าใจยาก คุณตั้งยุทธศาสตร์ขึ้นมาและต้องการภาคประชาชนในการสนับสนุน แต่การสื่อสารการให้ข้อมูลที่ถูกต้องคุณยังไม่ชัดเจน แล้วสื่อที่คุณผลิตออกมามันไม่ใช่สื่อที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ” ภก.ชินวัจน์ วิพากษ์วิจารณ์         ประเด็นที่ 2 การสื่อสารของภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นบางครั้งต้องอาศัยหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลในส่วนของสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พบว่างบประมาณสนับสนุนให้บุคลากรของโรงพยาบาลหรือ สสจ. ลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนยังน้อย ภก.ชินวัจน์ กล่าวว่าหน่วยงานราชการไม่มีงบประมาณให้ในการทำสื่อหรือกิจกรรม แม้กระทั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็ไม่มีงบประมาณเพื่อทำตามยุทธศาสตร์นี้         ในส่วนของภาคประชาชน ภก.ชินวัจน์ แสดงความคิดเห็นว่าภาคประชาชนมีเครือข่ายที่เหนียวแน่น เครือข่ายเหล่านี้ควรมีแกนนำที่เข้ามาร่วมทำงานกับภาครัฐ เพราะขณะที่ภาครัฐยังทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หากภาคประชาชนช่วยกันส่งเสียงสะท้อนปัญหาก็น่าจะมีส่วนเร่งความกระตือรือร้นในการทำงานได้         อีกด้านหนึ่ง ภก.ชินวัจน์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการสื่อสารกับประชาชนยังไม่มีการจำแนกกลุ่มที่ชัดเจนเพื่อผลิตสื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย สื่อที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะเน้นกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับกลุ่มประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง        และจุดนี้จะเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนจะมีการหารือต่อไปเพื่อกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2565-2569 ต่อไป         หมายเหตุ การสัมภาษณ์ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี เกิดขึ้นก่อนมีการประชุมหารือเพื่อวางแนวทางยุทธศาสตร์ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทุก 15 นาที คนไทย 1 คนจะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา

ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงถี่ขึ้นตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง น่าแปลกที่สถานการณ์กลับไม่ทุเลาลงสักเท่าไหร่ ตรงกันข้าม มันดูจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมีการใช้ยาปฏิชีวนะลามไปถึงในพืชแล้ว        ‘ฉลาดซื้อ’ พูดคุยกับ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาสมเหตุผล กันแบบตั้งต้นนับ 1 ใหม่ เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจนน่ากังวล       ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ข้อมูลว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งและเบาหวานรวมกัน ส่วนในไทยปัจจุบัน ทุกๆ 15 นาที จะมีคนไทย 1 คนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา นับเป็นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งภาครัฐกำลังดำเนินการ        อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วความตระหนักรู้ของเราทุกคนมีส่วนสำคัญอย่างมากมายที่จะยับยั้งเรื่องนี้ อยากเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานว่า เวลาพูดว่าดื้อยา เชื้อดื้อยา หมายถึงอะไร        เวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยา เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่าเชื้อในที่นี้ก็คือเชื้อโรคซึ่งมีหลายชนิด ที่สำคัญคือเชื้อแบคทีเรียกับเชื้อไวรัส ยาที่ใช้กับเชื้อแบคทีเรียเรียกว่ายาปฏิชีวนะ ยาที่ใช้กับเชื้อไวรัสเรียกว่ายาต้านไวรัส ซึ่งยา 2 กลุ่มนี้เมื่อใช้ไป แม้จะใช้อย่างถูกวิธีหรือผิดวิธีก็ตาม เชื้อที่ว่านี้ก็จะพยายามต่อต้าน ซึ่งเวลาเราพูดเรื่องเชื้อดื้อยาจะเน้นที่เชื้อแบคทีเรียเป็นสำคัญ ในทางการแพทย์เมื่อเราใช้ยาด้วยความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งถ้าเชื้อไม่ดื้อยา เราจะฆ่าแบคทีเรียฆ่าไวรัสได้เสมอเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อมาเชื้อจะกลายพันธุ์จนมีความสามารถเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทำให้ความเข้มข้นของยาเท่าเดิมแต่รักษาโรคไม่ได้อีกแล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะไม่มีความเข้มข้นใดเลยที่ออกฤทธิ์ต่อแบคทีเรียหรือไวรัสนั้น อันนี้เรียกว่าดื้อยาอย่างสมบูรณ์ ในทางการแพทย์ถ้าเชื้อดื้อยาในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ หมอจะเริ่มไม่สบายใจ เพราะโอกาสหายแค่ 7 คนอีก 3 คนไม่หาย แต่ปัจจุบันอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทั่วไป โอกาสที่จะรักษาหายต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แทบทั้งสิ้น ยาปฏิชีวนะบางชนิดถูกดื้อยาในอัตราสูงถึง 80-90% นี่คือวิกฤตที่เกิดขึ้น ภาวะเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นได้อย่างไร         การดื้อยา กรณีที่หนึ่ง เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตเมื่อมีสิ่งใดมาคุกคาม มันก็ต้องพัฒนาการโดยการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่มีความสามารถต่อต้านยาที่จะมาฆ่ามัน ยกตัวอย่างวิธีการหนึ่งที่ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียได้คือเมื่อยาสัมผัสโดนแบคทีเรียแล้ว มันจะไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย แล้วแบคทีเรียก็จะตาย จากนั้นสิ่งที่แบคทีเรียทำคือมันจะสร้างเอนไซม์ออกมาห้อมล้อมตัวมัน เพื่อทำลายยาที่กำลังจะสัมผัสตัวมัน พอยามาโดนสารนี้มันจะสลายไป ไม่สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรียได้อีก แบคทีเรียมีวิธีในการดื้อยามากมายหลายวิธี แม้ว่าเราจะใช้ยาอย่างถูกต้องก็ตามการดื้อยาจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การดื้อยาตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป         กรณีที่สองเกิดขึ้นจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล อัตราและความรุนแรงในการดื้อยาของแบคทีเรียจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับสิ่งที่เรียกว่าการคุกคาม หมายความว่าถ้าเราไม่ใส่ยาปฏิชีวนะเข้าไปเยอะๆ ในคนจำนวนมาก แบคทีเรียก็ไม่โดนคุกคามเกินจำเป็น มันก็ไม่ดื้อมาก แต่ถ้าเราใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง การดื้อยาจะค่อยเป็นค่อยไปและเราจะไม่เดือดร้อนเลย แต่ปัจจุบันเราใช้ยามากกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว ทำให้แบคทีเรียสัมผัสยาปฏิชีวนะในอัตราที่ผิดธรรมชาติ จึงเกิดอัตราเร่งในการดื้อยาขึ้น         การใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุสมผลมี 4 แบบ หนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นคือใช้ไม่ตรงกับโรค เช่นการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัด ไอ เจ็บคอ ซึ่งโรคเหล่านี้เกือบทั้งหมดเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส สองคือใช้ยาปฏิชีวนะแล้วหยุดยาก่อนกำหนด เพราะขณะที่หยุดยาเชื้อแบคทีเรียยังไม่หมดไปจากร่างกาย แต่มันสัมผัสโดนยาแล้ว ทำให้มันรู้จักยาและหาวิธีดื้อยาจนสำเร็จ ข้อที่ 3 ใช้ยาในขนาดต่ำเกินไป คือเรารู้ว่ายาปฏิชีวนะจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ต้องมีความเข้มข้นที่ค่าค่าหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าเรากินยาไม่ตรงตามโดส เช่น เราควรจะกินยา 2 เม็ด แต่กินแค่เม็ดเดียว ปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายและสัมผัสโดนแบคทีเรียจะต่ำลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แต่เปิดโอกาสให้เชื้อดื้อยา และข้อที่ 4 ใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินจำเป็น ยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์กว้างขวางไม่เท่ากัน ประชาชนควรทราบว่าในร่างกายเรามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด เช่นปกคลุมตามผิวหนัง อาศัยในช่องปาก ในอุจจาระที่ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าเป็นโรคที่ใช้ยาออกฤทธิ์แคบได้ เราไม่ใช้ ดันไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง แบคทีเรียที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เมื่อโดนยาก็จะพยายามดื้อยา เท่ากับสร้างกลุ่มของแบคทีเรียที่ดื้อยาให้กว้างขวาง และสะสมไว้ในร่างกายของเรารอวันของการประทุเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรง เช่น การติดเชื้อที่ไต และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น  สถานการณ์เชื้อดื้อยาทั้งในระดับโลกและในประเทศรุนแรงแค่ไหน         รุนแรงมากครับ ในระดับโลกมีการคำนวณไว้ว่าในปี 2050 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากเบาหวานและมะเร็งรวมกัน เขาคำนวณไว้ประมาณ 10 ล้านคนต่อปี เมื่อคำนวณกลับมาเท่ากับจะมีคนเสียชีวิต 1 คน ทุกๆ 3 วินาที และครึ่งหนึ่งของ 10 ล้านคนจะอยู่ในทวีปเอเชียซึ่งหมายถึงประเทศไทยด้วย          ส่วนในประเทศไทยเองมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากมาย ในปีหนึ่งจะมีคนที่ติดเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 1.2 แสนกว่าคนและในจำนวนนี้จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 28,000 คน ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก เท่ากับมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 15 นาทีต่อ 1 คน ที่สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมาก         อีกปัญหาหนึ่งคือคนไข้ที่ติดเชื้อดื้อยาจะออกจากโรงพยาบาลได้ช้า หมายความว่าถ้าเชื้อไม่ดื้อยา รักษาแค่ 5 วัน 7 วันก็กลับบ้านแล้ว แต่พอเป็นเชื้อดื้อยาก็ต้องใช้เวลานาน เช่น ใช้ยาตัวแรกไม่หาย เปลี่ยนเป็นตัวที่ 2 ถ้าเปลี่ยนทันก็ดี เปลี่ยนไม่ทันหรือเชื้อดื้อต่อยาทุกชนิดในโรงพยาบาลก็เสียชีวิต กรณีแบบนี้ทำให้ผู้ป่วยแสนกว่าคนยึดครองเตียงเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านวัน หมายความว่าผู้เจ็บป่วยรายใหม่จะเข้าก็เข้าไม่ได้เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยายึดครองเตียงไว้         ปัจจุบันเราพบเชื้อดื้อยาได้มากมายมหาศาลในทุกโรงพยาบาล ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อดื้อยาแล้วเสียชีวิตลงก็ไม่ได้หมายความว่าเชื้อดื้อยาหมดไปพร้อมกับผู้เสียชีวิต แต่เชื้อยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม เช่น คนไข้คนหนึ่งเสียชีวิตในห้องไอซียูของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เชื้อดื้อยาสุด ๆ ตัวนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปในห้องไอซียูนั้น ใครเข้ามาติดเชื้อตัวนั้นก็อาจตายอีก อันนี้คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น แสดงว่าสถานการณ์ในไทยตอนนี้เลวร้ายและก็จะเลวร้ายลงไปอีก         เลวร้ายอย่างยิ่ง ซึ่งเราอยากจะสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ คนที่รู้คือหมอ พยาบาลและเภสัชกรในโรงพยาบาลที่เห็นคนไข้เสียชีวิตเป็นประจำจากเชื้อดื้อยา แต่ประชาชนอยู่ข้างนอกไม่รู้ เราจึงต้องสื่อสารให้คนเกิดความตระหนักว่าเราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะที่พูดถึงสาเหตุของเชื้อดื้อยา ประชาชนช่วยได้เยอะเลย เช่น การใช้ยาเกินจำเป็น ประชาชนช่วยได้ ใช้ยาแล้วหยุดก่อนกำหนด ประชาชนก็ช่วยได้ เป็นต้น แต่เวลาประชาชนไปซื้อยาตามร้านขาย เภสัชกรก็จะรู้ว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะไม่ใช่หรือ         ใช่ นี่เป็นประเด็นสำคัญมาก ผมจะพูดรวมไปถึงหมอด้วย ที่คนไข้เจ็บคอมาแล้วสั่งยาปฏิชีวนะให้เลย เป็นการกระทำที่เรียกว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผล การใช้ยามี 2 แบบคือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เช่น เราติดเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพราะรักษาด้วยอีกวิธีหนึ่ง ยาปฏิชีวนะรักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าคุณหมอหรือร้านขายยาจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับเรา แปลว่าเขากำลังใช้ยาไม่สมเหตุสมผล และกำลังใช้ยาโดยขาดความรับผิดชอบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา         เชื่อหรือไม่องค์การอนามัยโลกบอกว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่สมเหตุผล ทั้งโดยแพทย์และเภสัชกร         ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ขณะนี้โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่เรียกว่า service plan  ได้กำหนดตัวชี้วัดว่าในโรค หวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย โรงพยาบาลสั่งยาปฏิชีวนะได้ไม่เกิน 2 คนใน 10 คน ซึ่งในอดีตใช้อยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นโยบายนี้ชื่อว่าโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital) แปลว่าเดิมมีการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลอยู่จึงต้องมีนโยบายเช่นนี้ ถ้าโรงพยาบาลใดมีการสั่งยาปฏิชีวนะเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีกระบวนการต่างๆ ทำให้ลงมาต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านตัวชี้วัด บอกให้รู้ว่าโรงพยาบาลรัฐเริ่มต้นแล้ว เพราะเห็นความสำคัญ ขณะนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เกือบ 10,000 แห่งใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในคนไข้เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ และท้องร่วง ท้องเสีย แล้ว แล้วในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก?         ภาครัฐเรารู้อยู่แล้วว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ภาคเอกชนก็คาดได้ว่าน่าจะเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อันนี้แหละคือปัญหาที่เราอยากจะแก้ไข การแก้ไขเราทำทั้งฝั่งโรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยาด้วย แต่มีความยากตรงที่หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการที่จะออกกฎระเบียบให้ภาคเอกชนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็พยายามอยู่ในการหาช่องทางต่างๆ เท่าที่เป็นไปได้ในการอุดช่องโหว่นี้เพื่อให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง         แต่อีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้คือการทำให้ประชาชนตระหนักว่าโรคส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเลย เมื่อเข้าใจแล้วประชาชนก็จะแสดงท่าทีตั้งแต่แรกว่าต้องการคำอธิบายมากกว่าต้องการยาปฏิชีวนะและจะสอบถามถึงความจำเป็นในการจ่ายยาปฏิชีวนะ ขอคำอธิบายว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ยังไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะได้ไหม และรอก่อนได้ไหม         ประโยคหลังนี้สำคัญมาก เนื่องจากคุณหมอหรือเภสัชกรในจิตสำนึกของเขาต้องการให้คนไข้หายไวๆ แต่ถ้าเราบอกว่าเรารอได้ ถ้าเป็นไวรัส เดี๋ยวมันก็หาย ถ้าเป็นแบคทีเรียแล้วอาการกำเริบ เขากลับมาอีกครั้งก็ได้ คุณหมอและเภสัชกรก็ไม่ต้องรีบสั่งยาปฏิชีวนะให้         การหายเร็วหรือช้ายังเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวของประชาชนด้วย กล่าวคือ โรคที่เกิดจากไวรัสเป็นโรคที่หายได้เองจากภูมิต้านทานของเรา ถ้ายังนอนดึกอยู่ ยังสูบบุหรี่อยู่ ยังดื่มเหล้า ยังโดนฝน ยังตากแดด โรคที่เกิดจากไวรัสก็หายช้า คุณหมอที่กลัวจะโดนต่อว่าก็จะสั่งยาปฏิชีวนะไปก่อน นี่คือปัญหาที่เกิดจากประชาชน ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเชื้อดื้อยาอย่างไร เพราะเอาเข้าจริงก็มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานแล้ว         สิ่งที่น่ากังวลข้อหนึ่งคือการรณรงค์และการให้ความรู้ต่างๆ มักไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่นเรารณรงค์ว่าเมาห้ามขับรถ แต่ถ้าเราไม่มีกฎระเบียบใดๆ เลยก็ยังมีคนเมาแล้วขับรถอยู่ คนจะเลิกดื่มเหล้าแล้วขับก็ต่อเมื่อมีการตั้งด่านตรวจอย่างสม่ำเสมอและรู้ว่าถ้าดื่มแล้วขับ ตรวจเจอ คุณติดคุก ที่ต่างประเทศจึงค่อนข้างจะประสบความสำเร็จหมายความว่าเราต้องมีกฎระเบียบในการทำให้คนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างพร่ำเพรื่อ เช่นในต่างประเทศประชาชนจะซื้อก็ซื้อไม่ได้ เภสัชกรจะจ่ายยาปฏิชีวนะที่ร้านขายยาก็จ่ายเองไม่ได้แต่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ คุณหมอจะสั่งก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ เป็นต้น ปัจจุบันมีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา         ขณะนี้เรามีนโยบายข้อหนึ่งที่ อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) กำลังดำเนินการ คือการทำบัญชีสถานะของยาปฏิชีวนะ ในต่างประเทศ ถ้าคุณเดินไปร้านขายยา คุณจะขอซื้อยาปฏิชีวนะไม่ได้ จะซื้อได้ต่อเมื่อคุณต้องพบแพทย์ก่อน แล้วหมอเป็นคนเขียนใบสั่งยา ขณะนี้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น ที่เราทำอยู่คือแบ่งระดับยาปฏิชีวนะออกเป็นกลุ่มๆ อย่างยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างส่งผลกระทบมากต่อปัญหาเชื้อดื้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ร้านขายยา ร้านขายยาควรจะเหลือเฉพาะยาพื้นฐานที่ช่วยคนไข้ที่จำเป็นที่ยังไม่มีเวลาไปหาหมอ เป็นการออกกฎระเบียบเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น ลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไปจนส่งผลกระทบต่อปัญหาเชื้อดื้อยา อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่         และยังมีข้อกำหนดต่อไปด้วยว่าเมื่อมีการจัดกลุ่มยาปฏิชีวนะใหม่แล้ว เภสัชกรร้านยายังต้องผ่านการประเมินหรือการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้มีความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (RDU Pharmacy) เช่นเดียวกันกับแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วผ่านนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital)         อีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามทำคือให้ร้านขายยาและคลินิกมีฉลากยามาตรฐาน ที่บอกผู้ใช้ยาว่ายาตัวนั้นชื่ออะไร และถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็ต้องระบุไว้ให้เห็นชัดเจน ส่วนโรงพยาบาลต่าง ๆ จะระบุชื่อยาไว้ที่ฉลากยาอยู่แล้ว และมักมีข้อความระบุว่าเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกำกับไว้ แต่ประชาชนมักจะทราบทางอ้อมว่าเป็นยากลุ่มนี้เมื่อเห็นข้อความว่า “รับประทานยานี้จนหมด”         อย่างไรก็ตามการเขียนข้อความสั้น ๆ ว่า รับประทานยานี้จนหมด นั้นเป็นการสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลอยู่ กล่าวคือ หากยาปฏิชีวนะนั้นถูกสั่งใช้มาอย่างไม่สมเหตุผล ประชาชนต้องหยุดยานั้นในทันทีที่ทราบ ไม่ใช่กินต่อจนหมดตามที่ฉลากยาระบุไว้ ทั้งนี้เพราะเมื่อเป็นการจ่ายยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นย่อมหมายความว่าประชาชนไม่ต้องใช้ยานั้นตั้งแต่แรก การกินต่อไปจะยิ่งรบกวนแบคทีเรียตามจุดต่าง ๆ ในร่างกาย และยิ่งก่อปัญหามากขึ้นตามปริมาณยาและระยะเวลาที่ยังคงใช้ยาอยู่ ใจความที่ถูกต้องคือ “ควรกินยาปฏิชีวนะจนครบตามแพทย์สั่งในกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แต่หากพบว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสควรหยุดยาทันที ไม่ควรกินต่อ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม และการจัดการ

1. เกริ่นนำ ความห่วงใยเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาเดิมเริ่มจากผลกระทบและปัญหาที่พบในโรงพยาบาล  และไทยก็มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในมนุษย์ ส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก ต่อมาเริ่มเห็นปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในชุมชน  และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร  รวมถึงมีคำอธิบายความเชื่อมโยงของการดื้อยาทั้งในคน สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ปัจจุบันทั้งนักวิชาการ และฝ่ายนโยบายจึงให้ความสำคัญมากขึ้น กับสิ่งที่เรียกว่า one health โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะและการปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม บทความนี้ทบทวนสถานการณ์ถึงความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านนี้ ต่อเนื่องจากบทความในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 เรื่องยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร พบว่า มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายและวิชาการทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย  แต่ขณะเดียวกันก็มีความน่ากลัวของสถานการณ์การดื้อยาที่รุนแรงขึ้น จากห่วงโซ่อาหารมาสู่คนและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนล้วนยอมรับว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ และต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบทั้งสุขภาพและกระทบต่อการผลิตอาหารในระยะยาวในวงจรอาหารมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็น one health  ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาควรมองการป้องกันและจัดการอย่างบูรณาการ ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยา (Epidemiology of Antimicrobial Resistance)  สะท้อนแหล่งผลิตเชื้อดื้อยาหรือยีนดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา  มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อม   อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือสองทิศทางก็ได้ ที่สำคัญๆ มีได้ 7 จุด ได้แก่ มนุษย์(โรงพยาบาล สถานีอนามัย ชุมชน และการท่องเที่ยว) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร(วัว หมู แกะ เป็ดไก่ ฯลฯ) สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม สัตว์โชว์(เช่นสุนัข แมว ไก่ชน ฯลฯ) การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผลิตเม็ลดพันธ์(ส้ม ส้มโอ มะนาว มันเทศ ฯลฯ) การประมง(ปลา กุ้ง ฯลฯ) โรงงานผลิตยา สารเคมี และสารเคมีใช้ในบ้าน(อาจปล่อยยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีลงสิ่งแวดล้อม) การผลิตแอลกอฮอล์จากพืช(มีการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะด้วย) ในการเชื่อมโยง แพร่ปัจจัยการเกิดเชื้อดื้อยา มีทั้งสัมผัสตรงหรือได้ทางอ้อม จุดเชื่อม เช่น มูลสัตว์และน้ำจากฟาร์ม การขายทำปุ๋ย หรือปล่อยลงดิน การลงแม่น้ำ นำไปสู่ ทะเลหรือทะเลสาบ มีการนำไปบริโภค แหล่งบำบัดน้ำเสียจากจุดปล่อย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น     2. MCR-1 gene เรื่องใหญ่ของโลกและของไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558  มีรายงานจากประเทศจีนที่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious     เป็นการค้นพบยีน (gene) ที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ที่ชื่อว่า mcr-1 gene เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่เป็นการพบว่า ยีนการดื้อยานี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากยีนดื้อยาเดิม คือชนิดใหม่เกิดบน plasmid มีการถ่ายทอดพันธุกรรมในลักษณะเป็น Horizontal Gene Transfer สามารถถ่ายทอดสายพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ได้  การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษา การดื้อยาโคลิสติน มาแล้วหลายรายงาน แต่รายงานดั้งเดิมพบยีนดื้อยาที่มีลักษณะแบบ Vertical Gene Transfer  ทั้งนี้ยาโคลิสตินเป็นหนึ่งในยากลุ่ม polymyxin   เนื่องจากความเป็นพิษต่อมนุษย์ จึงมีการแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์(หมูและไก่) แต่ในขณะเดียวกัน ยาโคลิสตินก็เป็นยากลุ่มสำคัญที่มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ดื้อต่อยาอื่นๆ  การค้นพบครั้งนี้ จึงสะท้อนปัญหาการดื้อยาที่เกิดในห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อสุขภาพของคนและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หลังรายงานฉบับแรก ได้เพียง 3 เดือน พบรายงานถึงการพบ mcr-1 gene ในอย่างน้อยใน 19 ประเทศ และเพียงกลางปี พ.ศ. 2559 พบรายงานแล้วกว่า 32 ประเทศ  จากการที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยและข่าวต่างๆ จากทั่วโลกในช่วงเวลาสองปีย้อนหลัง(พฤศจิกายน พ.ศ. 2558-ตุลาคม พ.ศ. 2560) พบว่ามีการรายงานการพบ mcr-1 gene แล้วถึงมากกว่า 42 ประเทศ กระจายทุกภูมิภาค(ตารางที่ 1) คาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ตารางที่ 1 รายชื่อประเทศ ที่มีรายงานตรวจพบ mcr-1 gene และยีนในกลุ่มเดียวกัน (mcr-1 gene ถึง mcr-5 gene)จากรายงานวิจัยที่รวบรวม พบว่าแหล่งของยีนเชื้อดื้อยามาจากหลากหลายแหล่ง เช่น จากฟาร์ม (อุจจาระ เลือด สารคัดหลั่ง หรือการ swab ทวารหนัก ของหมู วัว ไก่ในฟาร์ม) จากเนื้อสัตว์แหล่งต่างๆ  (หมู ไก่ วัว)  จากพืชผัก (ตรวจที่ปลายทางที่ประเทศนำเข้า ส่วนไทยยังไม่ได้ตรวจ)   จากสิ่งแวดล้อม(แม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำระหว่างการบำบัด) รวมถึงตัวอย่างเชื้อที่แยก จากผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่เพาะและแช่แข็งเก็บไว้ และต่อมาพบในผู้ป่วย ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)  หรือในอาสาสมัครปกติ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)   ความห่วงใยต่อการปนเปื้อนของ mcr-1 gene หรือ แบคทีเรียที่มี mcr-1 gene  ในสิ่งแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ เพราะหลังจากตรวจพบ mcr-1 gene ในสัตว์ ในคน ก็เริ่มพบว่ามีการแพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ลักษณะ นอกจากนี้  มีข่าวบางข่าวจากต่างประเทศสะท้อนความห่วงใยการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะยาหรือยีนเชื้อดื้อจากโรงงานผลิตยา และจากโรงพยาบาล  ยังพบต่อมาว่าเกิดยีนส์อีกหลายชนิดที่เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน รวมแล้วปัจจุบันพบยีนดื้อยาโคลิสตินชนิดร้ายแรงนี้ ได้แก่ mcr-1, mcr-2, mcr-3, mr-4, mcr-5  และในบางครั้งพบยีนดื้อยาที่รวมกันหลายชนิดในสายพันธุกรรมเดียวกันด้วยที่มาจากผู้ป่วย  ส่วนสถานการณ์ของไทย พบว่ามีรายงานต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ที่เก็บ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555   โดยพบในคนไทย  2 ราย จากตัวอย่างคนไทยที่ตรวจทั้งหมด 3 ราย ที่ยังไม่ได้แสดงอาการ และเห็นความเชื่อมโยงว่าอาจแพร่จากหมูมาสู่คนได้ต่อมามีรายงานในผู้ป่วย ตามที่ปรากฎในบทความ ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก   ที่ระบุว่า  มีเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชาย ข้อความดังนี้  "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ คาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล”ทั้งนี้ต่อมามีรายงานวิชาการระบุการพบเชื้อดื้อยาที่ชื่อ Escherichai coli (E coli) จากปัสสาวะของผู้ป่วยชายไทยอายุ 63 ปี ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  การตรวจเบื้องต้นพบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึงกว่า 30 ชนิด เมื่อทำการตรวจยีนพบทั้ง mcr-1 gene ที่ดื้อต่อโคลิสตินและยีนดื้อยารุนแรงอื่น   หมายเหตุ ผู้เขียน เข้าใจว่าตัวอย่างนี้น่าจะเป็นชายคนเดียวกับที่รายงานในคมชัดลึก มีรายงานจากต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ผัก จากไทย(ชะอม) และเวียดนาม (โหระพา) ที่ส่งไปขายในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวอย่างเก็บเมื่อพ.ศ. 2557 รายงานการตรวจพบ mcr-1 gene ในไทยจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากหมู  ในช่วงพ.ศ. 2547, 2554-2557 จาก 4 จังหวัด พบ mcr-1 gene ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (1 จังหวัด) และพบต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2555-2556 (2 จังหวัด) และพ.ศ.2557 (1 จังหวัด)  รายงานข่าวในคมชัดลึก ถึงการสำรวจฟาร์มหมู และการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวด รวดเร็ว ที่ลงต่อเนื่อง  3. นานาชาติเขาทำอะไรกันบ้าง เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  Antibiotic Awareness Week/Day 2017วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดเป็นวัน antibiotic awareness day  ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 โดยเริ่ม European Antibiotic Awareness Day ด้วยการประสานงานของ European Center for Diseases Prevention and Control  ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เป็นการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลและอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเดิมเป้าหมายมุ่งที่การใช้ยาในคน แต่ต่อมาขยายสู่การใช้ในสัตว์และในพืชด้วย  ซึ่งงานนี้ก็แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยนับได้ว่าเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชีย ที่จัดงานนี้ ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก ประกาศ ให้ World Antibiotic Awareness Week 2017  คือ ช่วง 13-19 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จัดเป็นงานใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ทั้งวิชาการและงบประมาณ  นอกจากนี้ กพย. สสส. ให้การสนับสนุน ทั้งงานส่วนกลาง และงานพื้นที่ เพราะ กพย. ได้เคยจัดงานนี้ มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ถึง 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) ในชื่อวัน(สัปดาห์) รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย  มีประเด็นหลักแตกต่างกันไป  ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือปี พ.ศ.2558  และมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และต่อเนื่องมาจนผลักเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2558 และต่อมาจึงมียุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศองค์การอนามัยโลก เน้นเฉพาะสุขภาพของมนุษย์ มีมติสมัชชาอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง ออกรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลก และมีการรับรอง Global Action Plan อย่างไรก็ดี สุขภาพมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่มาจากสัตว์และสัตว์เลี้ยง จึงมีการประกาศร่วมในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2559  Resolution adopted by the General Assembly   และให้ทำงานร่วม ระหว่าง 3 หน่วยงาน WHO, FAO และ OIEองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกแผนปฏิบัติการต่อสู้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ   เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 มีหัวใจสำคัญ ๔ ข้อ  ได้แก่ (ก) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารรับทราบ   และ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชำนาญในเรื่องนี้ (ข) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพ และปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิต อาหารและสินค้าเกษตร (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร (ง) สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร และ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวังล่าสุดองค์การอนามัยโลก ออกคู่มือการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความสำคัญด้านการแพทย์ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  4. สถานการณ์ของไทย ข้อมูลจากพื้นที่ งานวิชาการ และมาตรการนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในวงจร ห่วงโซ่อาหาร ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช มีงานสำรวจการพบเชื้อในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างการสำรวจการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในเชียงใหม่  พบว่าเกษตรกรที่สำรวจเกือบทั้งหมดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายการยาปฏิชีวนะ 5 อันดับแรกของการเลี้ยงสัตว์แต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ ในโคนม ได้แก่ oxytetracycline, penicillin, sulphamethoxydiazine, cloxacillin + ampicillin (ยาดราย), kanamycinในหมู  ได้แก่ amoxicillin, enrofloxacin, oxytetracycline, gentamycin, neomycin ในไก่ไข่ ได้แก่ enrofloxacin, Sulfadimethoxine , cocidiocidal triazinetrione โดยที่ในรายงานมิได้กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์ผสมยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน แต่ได้ระบุว่ามีการใช้โคลิสตินผสมน้ำให้ดื่มตั้งแต่เป็นลูกสุกรทุกวัน เรียกว่าวิตามิน ทั้งนี้ข่าวจากคมชัดลึก สะท้อนว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูจริง ใช้ตั้งแต่แรกเกิดมีการสำรวจแหล่งขายยาหรือขายอาหารผสมยาชัดเจนนอกจากนี้จากการรวบรวมรายงานวิชาการ การสำรวจหรือสอบถามคนพื้นที่ และติดตามข่าว พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าลำต้นผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี ชัยนาท  โดยต้นส้ม  ต้มส้มโอ มะนาว หรือแม้แต่พ่นยากับต้นมันเทศ ยาที่ใช้ในไทย เช่น แอมพิซิลลิน เอม๊อกซี่ซิลลิน เตตร้าไซคลิน สเตรปโตมัยซิน หรือการใช้ เพนนิซิลลิน จี สำหรับจุ่มตา หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นทุเรียน  ส่วนในต่างประเทศบางประเทศก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน เช่นจีน   ที่น่าเป็นห่วงคือการตกค้างในผลไม้และการไหลค้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการการศึกษาอย่างจริงจัง  ถึงระบาดวิทยาการดื้อยา ผลกระทบต่อมนุษย์พร้อมทั้งศึกษาหาสาเหตุและวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ  ในมิติมุมมองผู้บริโภค พบมีการเคลื่อนไหว สำรวจและรณรงค์ให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร เมื่อ 2 มีนาคม 2559 มพบ. แถลงข่าวรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เรียกร้องให้บริษัทขายอาหารฟาสต์ฟู้ด เลิกใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกของเครือข่ายสมาชิกองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  ได้ ร่วมแถลงข่าวพบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ14 มี.ค.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รายงานผลการเก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างค้าปลีก รวม 15 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบเนื้อหมูมียาปฏิชีวนะตกค้างถึงร้อยละ 13 พบจาก 2 ตลาดสด   เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยมีความพยายามของเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ หันมาเลี้ยงหมูเสรี หมูปลอดภัย หมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้ยา เลี้ยงปลาปลอดสาร หรือสารเคมีต่าง ๆ มีตัวอย่างที่นครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ มหาสารคาม เป็นต้น   รัฐบาลควรได้มีการส่งเสริมความรู้ แก่ทั้งเกษตรกร สนับสนุนการจัดตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข และ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2559ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกยาโคลิสติน ชนิดรับประทานสำหรับคน และมีความพยายามทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ(กพย. ได้จัดแถลงข่าวและทำหนังสือถึง รมว.สธ. เรียกร้องให้ทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาสูตรที่ไม่เหมาะสม ด่วน) แต่ผลยังไม่มีความคืบหน้านักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558  ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์5. ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมาขยายไปอีกหลายกระทรวงวิสัยทัศน์  แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการกําหนดวิสัยทัศน์คือ การป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาลดลง และกําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 (ซึ่งสามารถนําไปใช้คํานวณผลกระทบต่อสุขภาพและเชิง เศรษฐกิจ) การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยงยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีรองนายกเป็นประธาน และคณะกรรมการมีมติรับรองแผนปฏิบัติการเบื้องต้น และให้มีการปรับปรุงต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมประกาศกลยุทธ์ 5 ด้าน  ได้แก่ ก. การลดใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง ข. ลดเชื้อ ดื้อยาในห่วงโซ่การผลิต อาหาร ค. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ง.  พัฒนาต้นแบบสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง จ. พัฒนาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ผู้เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 10 พฤติกรรม ที่มีส่วนทำให้เชื้อดื้อยา

1. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินตามคนอื่นคนแต่ละคนอาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคต่างชนิดกัน การซื้อยาต้านแบคทีเรีย มารับประทานเอง อาจได้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ และยังส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้2. เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรีย เมื่ออาการดีขึ้นยาต้านแบคทีเรีย ต้องรับประทานติดต่อหลายวันตามที่กำหนด หากเราหยุดรับประทาน อาจมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่และเชื้อโรคจะพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้3. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งก่อนๆยาต้านแบคทีเรีย แต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแต่ละชนิดต่างกัน การใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่เลือกให้เหมาะกับชนิดของเชื้อโรค นอกจากจะทำให้ไม่หายแล้ว อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้4. เคยอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย การใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และต้องใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด การอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ยังเป็นการใช้ยาที่เกินจำเป็น และอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้5. เคยเปลี่ยนไปซื้อยาต้านแบคทีเรีย ที่แรงกว่าทานเองเมื่อรับประทานยาต้านแบคทีเรีย ชนิดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้นทันใจการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลา บางครั้งอาการเจ็บป่วยของเราต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรอาการถึงจะดีขึ้น การเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรีย ตัวอื่นๆ ที่แรงกว่า อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้6. เคยแกะแคปซูลเอายาต้านแบคทีเรีย ไปโรยแผลนอกจากจะเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสมแล้ว ยังทำให้แผลสกปรกและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแผลอักเสบลุกลามได้ เพราะผงในแคปซูลไม่ได้มีแต่ตัวยาเท่านั้น ยังมีผงแป้งผสมอยู่ด้วย และยังอาจทำให้เชื้อโรคที่แผลพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้7. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย ผสมในอาหารสัตว์ตามคำบอกเล่าเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วยเป็นการใช้ยาที่ผิด และอาจไม่ได้ผลด้วย เนื่องจากขนาดยาไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้8. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่ทราบชื่อสามัญของยานอกจากจะเสี่ยงที่จะได้รับยาที่เคยแพ้แล้ว อาจได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อโรค อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้9. เคยไปซื้อยาแก้อักเสบกินเองอาการอักเสบตามความเข้าใจของคนทั่วไปมีหลายแบบ เช่น อาการปวดอักเสบ อาการอักเสบจากแผลหนอง อาการอักเสบเจ็บคอ บางครั้งเมื่อเราอักเสบจากการปวดและไปซื้อยาโดยระบุว่าต้องการยาแก้อักเสบกินเอง เราอาจได้ยาต้านแบคทีเรีย มาแทนยาแก้ปวดอักเสบ เป็นการใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างไม่จำเป็นเพราะไม่ได้อักเสบจากการติดเชื้อ การได้รับยาเกินจำเป็น อาจทำให้เชื้อโรคดีๆ ในตัวเรา พัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้10. ไม่แนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างผิดให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมการเพิกเฉยของเรา เท่ากับปล่อยให้มีการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม สุดท้ายเมื่อเชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยา ปัญหานี้ก็จะกลับมาส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?

ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีคุณประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ แม้ว่าการค้นหาและสังเคราะห์ยาต้านจุลชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ทว่าจากปัญหาการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียปรับตัวดื้อยามากขึ้น ยาหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้อีกต่อไป จนปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก จุลชีพที่เป็นปัญหาการดื้อยาอย่างมากคือ แบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นแล้วจะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง ยืนยันได้จากการตรวจพบยีนดื้อยาปฎิชีวนะต่างๆ ที่แพร่กระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วโลกองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคน เพราะมีแนวโน้มว่าพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนน่าหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ (post antibiotic era) ซึ่งไม่มียาที่มีประสิทธิภาพใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้ออีกต่อไป สำหรับประเทศไทย มีรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นจากการศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยารวม 17 แห่ง แล้วได้ประมาณการว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 87,751 ครั้ง เสียชีวิต 38,481 ราย ทั้งๆ ที่มีมูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาโรคสูงถึงประมาณปีละ 6,084 ล้านบาท มีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาทองค์การอนามัยโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความร่วมมือดำเนินการอย่างจริงจัง มีมาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่มียาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่สำคัญต่างๆ อีกต่อไป ในความเป็นจริงการแก้ปัญหานี้จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนผู้บริโภค เพราะมิสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเท่านั้น ในฐานะผู้บริโภค เรามาทำความรู้จักกับแบคทีเรีย กลไกการดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบจากการดื้อยาของแบคทีเรียแบคทีเรียคืออะไรแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ชีวิตขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีรูปร่างไม่ซับซ้อน แต่แตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ทุก 15 นาที เช่น เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือเรียกย่อๆ ว่า อี โคไล แต่เชื้อบางชนิดก็ต้องใช้เวลานานในการเพิ่มประชากร เช่น เชื้อวัณโรค มีการเพิ่มจำนวนทวีคูณทุก 15 ชั่วโมง เป็นต้น แบคทีเรียมีสารพันธุกรรม ที่สำคัญ คือโครโมโซม เพียง 1 ชุด ที่ควบคุมคุณสมบัติต่างๆ การเพิ่มจำนวนการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด แบคทีเรียอาจมีสารพันธุกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น พลาสมิด ทรานส์โปซอน อินทิกรอน ซึ่งจะทำให้มีความสามารถต่างๆ รวมทั้งการดื้อยาเพิ่มขึ้น เป็นต้นแบคทีเรีย พบได้ทั่วไป ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ในคน สัตว์ พืช มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์ และชนิดที่ก่อโรค จึงมีการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียชนิดดีมาอย่างยาวนาน ส่วนแบคทีเรียก่อโรค มนุษย์ก็พยายามแสวงหาวิธีการรักษา จนการค้นพบยาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคนั้นๆการดื้อยาปฏิชีวนะแบคทีเรียแต่ละชนิดถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียแตกต่างกันไป และกลไกออกฤทธิ์เพื่อทำลายแบคทีเรียของยาก็แตกต่างกัน เช่น การทำลายผนังเซลล์ การยับยั้งการสร้างโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเชื้อ การขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ การขัดขวางการทำงานของสารพันธุกรรม การขัดขวางการแบ่งตัว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เชื้อจึงมีการพัฒนาความสามารถในการต้านทาน หรือทำลายฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ โดยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า การดื้อยาการดื้อยาของแบคทีเรียจำแนกเป็น การดื้อยาตามธรรมชาติ เช่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดไม่ถูกทำลายด้วยยาบางชนิดตั้งแต่ต้น เพราะมีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ไม่เพียงพอจะทำลายแบคทีเรียได้ การดื้อยาแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต่อการใช้ยารักษาโรคติดเชื้อ เพราะเป็นความรู้พื้นฐานของการเลือกใช้ยาที่ทราบกันทั่วไป เช่น ยาเพนิซิลลิน ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ต้องใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษา เป็นต้นการดื้อยาของแบคทีเรียที่เป็นปัญหาต่อการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรค คือ การกลายพันธุ์ และการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยาจากแบคทีเรียอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแบคทีเรียในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเองการดื้อยาโดยการกลายพันธุ์ กระบวนการนี้ เกิดขี้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออย่างน้อย 1 ตำแหน่งบนโครโมโซม เกิดขึ้นได้ในอัตราต่ำประมาณ 1 เซลล์ในล้านเซลล์ ทว่า การที่แบคทีเรียเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว จึงใช้เวลาไม่นานในการกลายพันธุ์ดื้อยาและเพิ่มประชากรเชื้อดื้อยา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมียาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ การรักษาจะได้ผลดีในระยะแรก หากมีการใช้ยาอย่างพร่ำพรื่อ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ต่อมามักจะพบว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ได้ผลในการรักษา ทำให้ต้องคิดค้นยาใหม่ต่อไป การกลายพันธุ์เพื่อดื้อยานี้ เป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยที่แบคทีเรียจำนวนมากจะถูกทำลายไปด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากความเข้มข้นของยาไม่เพียงพอ การใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีเชื้อเพียงจำนวนน้อยที่รอดชีวิต และปรับตัวโดยการกลายพันธุ์ ในระดับยีน เพื่อไม่ให้ยาที่ใช้เข้าไปทำลายเชื้อได้ นั่นคือ เป็นการกลายพันธุ์เพื่อต่อต้านยาการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยา แบคทีเรียสามารถรับการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากแบคทีเรียต่างสายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ โดยกระบวนการคอนจูเกชั่น ทรานส์ฟอร์เมชั่น และทรานส์ดักชั่น ทำให้ดื้อยาตั้งแต่ 1 ชนิด ถึงหลายชนิดได้การคอนจูเกชั่น เป็นการถ่ายทอดยีนดื้อยาโดยตรงระหว่างแบคทีเรีย 2 เซลล์ที่มีคุณสมบัติต่างกัน โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน หรือเชื้อต่างชนิดกันก็ได้ ตัวอย่างเช่นการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella spp.) ที่ดื้อยา กับเชื้อซัลโมเนลลาที่ไวต่อยา ก็จะทำให้เชื้อซัลโมเนลลาที่ ไวต่อยา รับยีนดื้อยา เปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา หรือการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา ที่ดื้อยากับเชื้ออีโคไลที่ไวต่อยา ทำให้เชื้ออีโคไลเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา เพราะรับยีนดื้อยาจากเชื้อซัลโมเนลลาการแลกเปลียนยีนกันไปมา ก็ทำให้ยีนดื้อยาส่งต่อให้เชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในสิ่งแวดล้อม หรือในร่างกายของผุ้ป่วย เช่น ทางเดินอาหาร ซึ่งมีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่มากมายทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีน โดยแบคทีเรียรับยีนที่อยู่เป็นอิสระในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เซลล์ ซึ่งยีนนั้นๆ จะชักนำให้แบคทีเรียแสดงคุณสมบัติของยีนต่อไป ในกรณีนี้ แม้แบคทีเรียที่มีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาจะตายไป เหลือแต่ยีน ยีนนั้นๆ ก็สามารถเข้าไปในเซลล์อื่นๆ แล้วชักนำให้ดื้อยาได้ทรานส์ดักชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีนระหว่างแบคทีเรียโดยอาศัยแบคเทอริโอฟาจ หรือไวรัสของแบคทีเรียเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นวิธีการนี้มีข้อจำกัดในการถ่ายทอดยีนดื้อยากลไกการดื้อยาของแบคทีเรียการดื้อยาของแบคทีเรีย เกิดขึ้นจากหลายกลไก ได้แก่แบคทีเรียสร้างเอนไซม์ทำลายยา ทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพแบคทีเรียมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถจดจำบริเวณ นั้นได้รบกวนการซึมผ่านของยาเข้าสู่เซลล์แบคทีเรีย ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์น้อย ไม่สามารถทำลาย แบคทีเรียได้สร้างสารชีวโมเลกุลที่แย่งจับกับเอ็นไซม์หรือเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถทำลายเชื้อได้กลไกดังกล่าวข้างต้นควบคุมด้วยยีนต่างๆ ที่เรียกว่ายีนดื้อยา ดังนั้น การที่แบคทีเรียสามารถถ่ายทอดยีน หรือแลกเปลี่ยนยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย หรือรับยีนจากสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้แบคทีเรีย 1 เซลล์ได้รับยีนมากกว่า 1 ยีนได้ อาจรับได้มากถึง 4 ยีน จึงมีคุณสมบัติดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน นำไปสู่ปัญหาการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมากปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปรับตัวดื้อยาของแบคทีเรีย ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม การปนเปื้อนของยาใน น้ำ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นอย่างเข้มงวดการดื้อยาข้ามกลุ่มการดื้อยาข้ามกลุ่มคืออะไร ? คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะโดยผลจากการได้รับสารที่เคมีมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน (triclosan) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ล้างมือ เป็นต้น ทว่ามีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อใช้เป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการปั๊มยาออกนอกเซลล์ ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อ และเชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด ปัจจุบัน องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ขนิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการลดการทำให้แบคทีเรียดื้อยา เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันแบคทีเรียดื้อยาที่พบในประเทศไทยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งขาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบแบคทีเรียดื้อยากลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้เชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ (Acinetobacter spp.) และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) เป็นเชื้อที่มักพบในผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล(Methicillin resistant Staphylococcus aureus, MRSA และ Methicillin resistant coagulase negative S. aureus, MRCoNS)เชื้อเอนเทอโรคอคไคดื้อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin resistant enterococci , VRE)เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริเอซีที่สร้างเอนไซม์เบต้าแลคเทมเมสชนิดมีฤทธิ์กว้าง (Extended spectrum beta-lactamase , ESBL producing Enterobacteriaceae)Enterobacteriaceae , CRE)เชื้อสเตรฟโตคอคคัสดื้อยาเพนิซิลลิน (Penicillin resistant Streptococcus pneumoniae , PRSP)วัณโรคดื้อยาหลายชนิด (Multidrug resistant tuberculosis , MDR-TB และ Extensively drug resistant tuberculosis, XDR-TB)เชื้ออีโคไลที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปว่า มียีนดื้อยาบนโครโมโซม หรือชนิดที่มียีน mcr-1 บนพลาสมิดแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชึพในปศุสัตว์สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้สำรวจติดตาม ระหว่าง พ.ศ. 2545-2558 พบเชื้อดื้อยาในหมู ไก่ เป็ด และห่าน ได้แก่ เชื้ออีโคไล และ ซัลโมเนลลา พบเชื้อแคมพิโลแบคเตอร์ (Campylobacter spp.) ดื้อยาในเนื้อหมู และไก่ และบางตัวอย่างสามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาที่ดื้อยาถึง 3 ชนิดพร้อมกัน เชื้อที่ตรวจพบนั้นดื้อยาปฏิชีวนะต่างๆ ดังต่อไปนี้อะมอกซีซิลลินอะมอกซีซิลลิน/คลาวูลานิคแอซิด แอมพิซิลลินเตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินสเตร็ปโตมัยซิน ไทรเมทโทพริมซัลฟาเมโธซาโซล กานามัยซินเจนตามัยซินเอนโรฟ็อกซาซินด็อกซีซัยคลินโคลิสตืน เซฟติโอเฟอ สเป็คติโนมัยซิน คลอแรมเฟนิคอล นาลิดิซิคแอซิด ซัยโพรฟล็อกซาซินแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ในช่วงปี พ.ศ, 2549-2557 แบคทีเรียก่อโรคที่พบเป็นปัญหาสำคัญของสัตว์น้ำทั้งปลา และกุ้ง ได้แก่ เชื้อวิบริโอ ( Vibrio spp. ) ดื้อยาต่อไปนี้ ได้แก่เตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินคลอแรมเฟนิคอลซัลฟาเมโธซาโซล ออกโซลินิตแอซิดเอนโรฟล็อกซาซินการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ชื่อแคนดิดาตัส ลิเบอริแบคเตอร์ (Candidatus liberibacter) ซึ่งก่อโรคในท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ปัจจุบันเกษตรกรใช้ยาแอมพิซิลลินฉีดเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและอาหารของต้นพืชโดยตรงเพื่อการทำลายเชื้อ ยังไม่มีรายงานการดื้อยา แต่ควรต้องติดตามต่อไปว่ายาแอมพิซิลลินที่ใช้จะทำให้เชื้อก่อโรคพืชดื้อยาหรือไม่ และมีผลกระทบทำให้แบคทีเรียอื่นๆ บริเวณต้นพืชดื้อยาหรือไม่การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการสำรวจยาปฏิชีวนะกลุ่มคลอแรมเฟนิคอล ไนโตรฟูแรน เพนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ เตตราซัยคลิน ที่อาจตกค้างในเนื้อหมู กุ้ง ไก่ และเครื่องใน ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 พบว่ายาตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ตรวจบางตัวอย่าง ได้แก่ซัลฟาไดมิดีนซัลฟาไดอะซีนซัลฟาไทอะโซลเซมิคาร์บาไซด์อ๊อกซาโซลิดิโนนซัลฟิซ็อกซาโซลผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ นับว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก และเห็นได้ว่า การปรับตัวดื้อยา ปฏิชีวนะของแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แล้วเชื้อสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีการ ผู้บริโภคจำป็นต้องรู้เท่าทันปัญหา และไม่ร่วมสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดย  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น  หากจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคให้หมดจริงๆ ไม่เหลือให้ปรับตัวดื้อยาในร่างกาย  จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเกษตร และปศุสัตว์ ใช้เมื่อจำเป็น อย่างเหมาะสม  ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ช่วยเฝ้าระวังการปนเบื้อนของยา เชื้อดื้อยา ในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2559“บินถูกแต่ไม่มีที่นั่ง” โฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกของบรรดาสายบิน “โลว์คอสต์” ต่างๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำและกลุ่มผู้ที่รักการท่องเที่ยว แต่ล่าสุดได้เกิดปัญหาจากโฆษณาโปรโมชั่นของสายบินโลว์คอสต์ที่สร้างความเข้าใจผิดกับผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต้องออกมาเตือนพร้อมกำหนดแนวทางให้กับบรรดาสายการบินต่างๆ ในการทำโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาถูกโดย สคบ.ออกมาเตือนสายการบินโลว์คอสต์แห่งหนึ่ง ที่มีการโฆษณาว่าบินเที่ยวออสเตรเลียจ่ายเพียง 1,200 บาท ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบแล้วพบว่า ราคาที่โฆษณามีที่นั่งจำกัดแค่ 1-2 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวถือเป็นโฆษณาในลักษณะที่เอาเปรียบผู้บริโภค เพราะเป็นการโฆษณาโดยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทาง สคบ.จึงทำเอกสารชี้แจงไปยังผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน ว่าการโฆษณาโปรโมชั่นเที่ยวบินราคาพิเศษต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องระบุข้อความให้ชัดเจน ครบถ้วน เกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียด วันเริ่มต้น วันสิ้นสุดของโปรโมชั่นที่โฆษณา จำนวนที่นั่งที่มีให้ หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใด กระทำการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจะมีความผิดตามกฎหมาย ถอนทะเบียน 40 ตำรับยาต้านแบคทีเรีย ทำคนป่วยเพราะดื้อยามีข้อมูลว่าในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันแถลงข่าว “เตือนภัยตำรับยาต้านแบคทีเรียที่ควรถอดถอนออกจากประเทศไทย” โดยเป็นการแถลงข้อมูลที่ได้จากการศึกษารายการยาต้านแบคทีเรียในประเทศ พบว่ามีมากกว่า 40 สูตรยาตำรับ ที่ควรถอนทะเบียนตำรับยาออกจากประเทศไทยเนื่องจากเป็นยาที่ไม่ได้มีประสิทธิผลในการรักษาโรค เช่น “ยาอมแก้เจ็บคอ” ที่ไม่ควรมียาต้านแบคทีเรียเป็นส่วนประกอบ เพราะโรคเจ็บคอมากกว่า 80% ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดจากแบคทีเรียปริมาณยาก็ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อในลำคอให้หาย แถมการกลืนยาลงสู่กระเพาะอาหารยังทำให้เกิดเชื้อดื้อยาของแบคทีเรียในลำไส้ หรือ ยาต้านแบคทีเรียที่เป็นสูตรผสมชนิดฉีด ที่ไม่ควรเป็นสูตรผสมเพราะอาจเกิดปัญหาประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับทั้งนี้จะมีการยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถอนบัญชียาเหล่านี้ออกจากประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบบัญชียาดังกล่าวได้ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ www.thaihealth.or.th10 อาการป่วยใช้สิทธิ์ฉุกเฉินได้ทันทีฟรี 24 ชม. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต 10 อาการ เพื่อเป็นหลักให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย ในการใช้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ซึ่งหากพบผู้ป่วยด้วยอาการ 10 ลักษณะต่อไปนี้ สามารถเข้ารับการรักษากรณีฉุกเฉินได้ทันที ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ, 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง, 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือ มีอาการชักร่วม, 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง, 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือ ชักต่อเนื่องไม่หยุด, 6.ได้รับบาดเจ็บ ต่อสมอง ต่อกระดูกสันหลัง มีแขนขาอ่อนแรง มีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง, 7.ถูกยิง ถูกแทง ที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะสาคัญ, 8.งูพิษกัด ซึม หายใจลำบาก หนังตาตก, 9.ตั้งครรภ์และชัก ตกเลือดมาก มีน้ำเดิน เด็กโผล่ และ 10.บาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษ มองไม่ชัดคนไทยถูกค่ายมือถือเอาเปรียบ?รู้หรือไม่ว่า? คนไทยต้องจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือสูงกว่าความเป็นจริง  หลังจากมีข่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษากลไกปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ได้เรียกให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาให้ข้อมูลที่ทั้ง 3 บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรู คิดค่าบริการเกินกว่าที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตให้บริการ ซึ่งทาง กสทช. ก็รับว่าปัจจุบันทั้ง 3 ค่ายมือถือยังมีการคิดค่าบริการที่สูงกว่าอัตราที่ กสทช. กำหนดโดยตามประกาศ เรื่องอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการบนคลื่นความถี่ 2.1 จิกะเฮิรตซ์ (GHz) ที่ กสทช. กำหนดนั้น การคิดค่าบริการจะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง แยกเป็น การบริการเสียง ห้ามเกินนาทีละ 69 สตางค์ บริการข้อความสั้น (SMS) ไม่เกิน 1.15 บาท/ ข้อความ บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) ไม่เกิน 3.11 บาท/ข้อความ และบริการอินเตอร์เน็ต (Mobile Internet) ไม่เกิน 0.26 บาท/เมกกะไบค์ (MB)ซึ่งจากนี้ กสทช. ต้องทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการค่ายมือถือที่เอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบโปรโมชั่นต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนด สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหากพบว่าค่าบริการที่ใช้อยู่สูงกว่าอัตราที่ทาง กสทช. กำหนด สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช.1200 ฉลากอาหารแบบใหม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภควอนรัฐเดินหน้าอย่ายกเลิกคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) นำเสนอผลการสำรวจการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร พบว่าส่วนใหญ่มีการปรับปรุงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยข้อมูลผลสำรวจที่ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลโต้แย้งกับแนวคิดของประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคน้อยกว่าฉบับที่ 367 โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะมีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 จะมีการให้แสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่าประกาศฉบับที่ 194 เช่น สำหรับผู้แพ้อาหาร กรณีใช้ส่วนประกอบหรือปนเปื้อนในกระบวนการผลิตของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไข่ ถั่ว นม นอกจากนี้ต้องแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะหรือตัวเลขตามระบบเลขรหัสสากล (International Numbering System : INS for Food Additives)รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะอนุกรรมการฯ คอบช. กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากแสดงชัดเจนว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่เป็นความจริง จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว และให้มีกระบวนการตรวจสอบการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร

บทนำ เมื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นความยิ่งใหญ่ในการรักษาโรคติดเชื้อในคน ซึ่งในยุคนั้น มีปัญหาโรคติดเชื้อมากมาย และผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก  เขาได้บรรยายในวันที่รับรางวัลโนเบล เมื่อปีพ.ศ.2492 ว่า มันเป็นการไม่ยากที่จะก่อให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้ยาในขนาดน้อย ๆ ที่ไม่เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค จะนำไปสู่เชื้อที่มีความดื้อด้านทนทานต่อยามากขึ้น แต่ดูเมือนผู้คนยังไม่ตื่นตระหนก จึงยังคงใช้ยาปฏิชีวนะกันมากมาย อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น ตลอดมา องค์การอนามัยโลกได้สะท้อนปัญหาเชื้อดื้อยามานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีรายงาน มีเอกสารยุทธศาสตร์ มีมติต่าง ๆ ออก มาอยางต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปีนี้เอง มีรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ สะท้อนผลการสำรวจสถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก[1] พบว่ามีสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่ในระดับเลวร้ายมาก และพบช่องว่างการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมาก เมื่อเทียบกับในคน  ในสมัชชาอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2557 (WHA67.25)[2] จึงมีมติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ และเรียกร้องประเทศสมาชิกให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ถึง 10 เรื่อง เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ใน 3 ด้าน คือผู้ป่วยในสถานพยาบาล ผู้ป่วยนอกและชุมชน และรวมถึง ในสัตว์และการใช้ในส่วนที่ไม่ใช่คน เช่น ในการเกษตร  การมีนโยบายของประเทศที่ชัดเจน เป็นต้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ  World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์ด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมและจัดทำรายงายทุกปี  ซึงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้จัดทำรายงาน เกี่ยวกับสภาวะปัจจัยเสี่ยงของโลก Global Risk 2013[3] และหนึ่งในความเสี่ยงที่ได้หยิบยกมา เป็นโรคแห่งความอหังกาของมนุษย์โดยแท้  คือเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย  ที่เกิดทั้งจากการใช้ในคนและใช้สัตว์อย่างไม่ระมัดระวัง ปัญหาเกิดจากการรักษาในคนและ การนำมาใช้ในการเกษตร ทั้งการปลูกพืช และในการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) มีการสะท้อนปัญหาของการดื้อยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ปัญหาไม่มียาปฏิชีวนะใช้  และอนาคต ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา และเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ควบคุม ไปจนถึงผู้ใช้ในทุกระดับ ให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าปกติ จึงควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้คำจำกัดความ ของ “ห่วงโซ่อาหาร[4]” ว่า หมายความว่า วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนำเข้า การนำผ่าน และการส่งออก สถานการณ์ของประเทศไทย สถานการณ์มีได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรก พบมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น  ไก่ กุ้ง ซึ่งพบมีรายงานมานานแล้ว อีกกลุ่มที่น่ากลัวและพบรายงานเร็ว ๆ นี้ คือการพบเชื้อ และโดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนษย์ เช่นไก่ รายงานในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการตรวจพบ สารตกค้างของยาปฏิชีวนะในกลุ่มไนโตฟูแรน (Nitrofurans) ในสินค้ากุ้งและไก่แช่แข็งจากประเทศไทยที่ส่งไปที่สหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าและส่งคืนสินค้าที่มาจาก ประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำเข้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin) ในเนื้อไก่ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มีรายงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่สงขลา [5] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น[6] (2553) ได้ศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและการปรากฏของ virulence factors ในเชื้อ Salmonella enterica ที่แยกได้จากโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย  พบการแพร่กระจายของเชื้อ Samonella ดื้อยาในฟาร์มโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย โดย class 1 integrons มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายและการถ่ายทอดพันธุกรรมการดื้อยาในเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งเชื้อเหล่านี้ยังมีปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่าง รวมถึงการส่งเสริมให้การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของการดื้อยาในเชื้อและสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ มีรานงานการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[7] ว่าทำการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่าเกินครึ่ง (56.7%) มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป และเชื้อซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์  และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ายังมีการใช้จนได้ตรวจพบยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนอีกต่อไปหรือไม่ และเป็นยาปฏิชีวนะประเภทใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบเชื้อดื้อยา พบเชื้ออะไรอีกบ้าง และดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด  เหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร ผลเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ รุนแรงและมากมายเพียงใด ระบบเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ [8] (National Antimicrobial Resistance Surveillance Thailand, NARST) ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 มีรายงานต่อเนื่องทุกปีถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยได้ตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก จึงยังมีตัวอย่างจากชุมชนไม่มากนัก รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2556 และ 2557[9] ระบุว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ในปี 2553 มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ได้แก่ 1.เอสเชอริเชีย โคไลหรืออี.โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม 4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และ5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาเฉพาะในสัตว์ที่หน่วยงานรับผิดชอบ  แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกพืช  ยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ชัดเจน มีเพียงงานวิจัยประปรายที่ระบุการพบการตกต้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ และมีการศึกษาในภายหลังถึงการพบเชื้อดื้อยาด้วย ที่น่าอันตรายมากต่อผู้รับประทาน และต่อสุขภาพเกษตรกรด้วย ห่วงโซ่อาหาร มียาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยามาอยู่ได้อย่างไร การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ เพื่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตวิธีการให้ทั้ง 3 วิธีนี้มีความแตกต่างกันไป เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านไปยังคนได้ โดย 3 วิธีหลักๆ คือ[10] 1) การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ 2) การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ และ  3) การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดิน เป็นต้น  มีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า 5 จาก 90 ตัวอย่าง เนื้อหมูที่วางขายในร้านขายของชำในรัฐลุยเซียนามีเชื้อ Methicillin-resistance Staphylococcus aureus (MRSA) อยู่ และมีการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ของการใช้ยาในสัตว์และการเกิดเชื้อดื้อยา MRSA ที่ส่งผ่านมายังคน ใจพร พุ่มคำ (2555) อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะ ตกค้างในเนื้อสัตว์ไว้ 7 ประการ 1. ความจำเป็นของผู้เลี้ยงในการใช้ยาในสัตว์ เนื่องจากโอกาสที่สัตว์จะป่วยมีได้โดยเฉพาะในฟาร์มทีไม่ได้มาตรฐาน 2. การใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย เช่นใช้เภสัชเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป ฉลากไม่ถูกต้องหรือใช้ยาคนไปผสมให้สัตว์กิน ทำให้อาจได้ขนาดไม่ถูกต้อง 3. การใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่การใช้ยาสูงขึ้น ใช้ยานานขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้น แพงขึ้น 4. ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มียาตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ 5. การไม่ตรวจหาสารตกค้างหรือการตรวจอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เลี้ยงสัตว์บางรายไม่มีการสุ่มตรวจหาสาร ตกค้างในสัตว์ก่อนการฆ่าหรือจับสัตว์มาบริโภค 6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายยาสัตว์  รวมถึงสถานนำเข้า หรือผลิต เป็นสิ่งสำคัญ หากมีความอ่อนแอและไม่ทั่วถึงย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ถือเป็นการดูแลที่ต้นน้ำ 7. มีระบบติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อ-ดื้อยา และยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุม เช่นเดียวกันว่าหากระบบไม่เข้มแข็งก็ติดตามไม่ทนสถาณการณ์ อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่า ประเด็นในเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริง การอนุญาตให้ใช้ยาฏิชีวนะในอาหารสัตว์  แล้วพักเวลาก่อนการขาย นั้น ทำให้ตรวจไม่พบไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง   แต่น่าจะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ส่วนยาปฏิชีวนะในสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่นสวนส้ม ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าตกค้างในผลไม้เท่าไหร่ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีอันตรายแก่ผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดเชื้อดื้อยา การควบคุมการนำเข้า การกระจายและการใช้ยาปฏิชีวนะของไทย เป็นอย่างไร พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551[11] และฉบับแก้ไข พ..ศ. 2556[12] เป็นการกำหนดมาตรฐาน และออกใบอนุญาต ผลิต ส่งออก และนำเข้า สินค้าเกษตรมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)[13] ทำหน้าที่ เป็นแกนประสาน รวม 7 ประการ เช่น  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร   กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับสากล และ รับรองระบบงานผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ทุกประเภททีมีสารอะโวพาร์ซินเป็นส่วนผสม  จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ให้ยกเลิกข้อความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 นั่นคือกลับให้ อะโวพาร์ซิน ( Avoparcin ) ที่อยู่ในสภาพของสารผสมล่วงหน้า กลับไปเป็นยาอย่างเดิม รือยกเลิกไปเลย น่าสับสน น่าสนใจว่า ตั้งแต่พ..ศ. 2522 เป็นต้นมา มีการประกาศยกเว้นให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ไม่เป็นยา นั่นคือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ได้ เช่น ให้ เตตราซัยคลิน และ สเตรปโตมัยซิน ในขนาด ไม่เกิน 15% ใช้ในทางเกษตรกรรมได้ และยกเว้นไม่ถือเป็นยา (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2524 เรื่องวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2548) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ข้อ 3 ให้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารผสมล่วงหน้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเป็นยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ไว้แล้ว ได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นกำหนดแล้ว การผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 วัตถุตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยสำหรับสัตว์ จากการสืบค้นในเวปไซต์ ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ ความเข้าใจผิด และความละเลยในการใช้    เช่น มีคำถาม ว่าสเตรปโตมัยซิน มีขายที่ไหนเอ่ย?  ที่ใช้กับพืชนะครับ คำตอบคือ  ร้านขายยาปราบศัตรูพืช คุณอยู่ใกล้ที่ไหนลองไปเดินหาดู  ตามตลาดร้านขายยาฆ่าแมลง มีทั่วไป เป็นยาปฏิชีวนะ  ครอบจักรวาล ส่วนมากเขาไม่นิยมใช้ เพราะมีสารตกค้าง  อันตรายต่อคน เขาใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้สารสะเดา หรือไม่  ก็ใช้ตัวฮั่มหรือแตนเบียน ไล่แมลง แต่ในความเป็นจริงมีการอนุญาตตามกฎหมมายให้ยกเว้นจากการเป็นยา ทิศทางการรณรงค์เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารของ นานาชาติ การได้เรียนรู้มาตรการจัดการในต่างประเทศมีประโยชน์ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรับผิดชอบของไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีมติระงับการใช้สารเสริม (additives) กลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ประเภทสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoters) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 รายการ[14] ได้แก่  1. Monensin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ 2. Salinomycin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร 3.  Avilamycin : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง 4.  Flavophospholipol : ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 โดยยาปฏิชีวนะนี้เป็น 4 รายการสุดท้ายที่ยังเคยคงอนุญาต และยังสอดคล้องกับมติเดิม เกี่ยวกับแผนการควบคุมเชื้อดื้อยาของสภายุโรป [15] ได้ทราบว่ามีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการในการเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และนโยบายว่าจะควบคุมยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริง มีการอนุญาตใช้สารที่เรียกว่า pre-mix ใช้ผสมให้สัตว์ กินทั้งในรูปอาหารและในรูปเป็นน้ำผสม เพื่อระบุว่าเป็นการป้องกันและรักษา การติดเชื้อของโรค การอนุญาตดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ไม่ระมัดระวัง และนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่ การเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายและใช้ ตลอดจนการเกิดเชื้ออดื้อยาจึงจำเป็นที่สุด   [1] WHO (2014) ANTIMICROBIAL RESISTANCE: Global Report on Surveillance, Available from  http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/112642/1/9789241564748_eng.pdf?ua=1 [2]WHO (2014) SIXTY-SEVENTH WORLD HEALTH ASSEMBLY:   Antimicrobial resistance, Available from http://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/WHA67/A67_R25-en.pdf?ua=1 [3]WEF (2013) Global Risk 2013  http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf [4] พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.. 2551 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973927&Ntype=19 [5] การตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม http://www.fisheries.go.th/quality/กุ้งขาวแวนนาไม.pdf [6] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (2553) การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและปัจจัยในการก่อความรุนแรงของโรคของเชื้อซาลโมเนลล่า เอ็นเทอริก้าที่แยกได้จากห่วงโซ่อาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [7] ไทยรัฐ (2555) พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” http://www.thairath.co.th/content/264356 [8] http://narst.dmsc.moph.go.th/ [9] http://narst.dmsc.moph.go.th/news001.html  และ http://news.mthai.com/general-news/348974.html [10] ใจพร พุ่มคำ (2555) อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ...ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ วารสารอาหารและยา กันยายน-ธันวาคม 2555 http://journal.fda.moph.go.th/journal/032555/02.pdf [11] http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_3.pdf [12]http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_2.pdf [13] http://www.acfs.go.th/index.php [14]European Commission (2005) Ban on antibiotics as growth promoters in animal feed enters into effect, available from  http://europa.eu/rapid/press-release_IP-05-1687_en.htm [15] European Commission (2001) Commission proposals to combat anti-microbial resistance , available from http://europa.eu/rapid/press-release_IP-01-885_en.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point