ฉบับที่ 214 ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลวิ่งในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี !!!

       มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประเด็น “สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย”       โดยที่ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of European Union) พิพากษายืนยันมาตรการ การห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี ก็ได้มีคำพิพากษาห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบวร์ก  มิวนิค สตุ๊ตการ์ต โคโลญจน์  ดึสเซลดอร์ฟ เบอร์ลิน ดอร์ตมุน ฯลฯ และอีกกว่า 20 เมืองที่จะมีกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ประสบปัญหา มีปริมาณ NOx  (ออกไซด์ของไนโตรเจน) เกินค่ามาตรฐาน  มาตรการการห้ามรถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกวิ่งในเขตเมือง คือ การแบ่งโซนนิง พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ ก๊าซ NOx ที่มีค่าสูงจนเกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามผ่าน จะมีผลต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EUEO 4 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ก็จะขยายมาตรการห้ามรถยนต์ที่เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EURO 5 วิ่งในพื้นที่ ที่ได้ประกาศไว้ด้วยเช่นกัน       อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้น สำหรับ ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถเก่า และประชาชนที่อาศัยในเขตห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งผ่าน แต่อาจต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้า การห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานต่ำกว่า EUEO 6  วิ่งในพื้นที่ห้ามวิ่ง ภายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกด้วยรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับคำพิพากษาของศาลปกครอง-  รัฐบาล ไม่ห้ามรถยนต์ดีเซล มาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 แต่รถต้องปล่อย NOx ไม่เกิน 270 mg/ km -  รัฐบาลมีงบสนับสนุนการเปลี่ยนรถใหม่ (Exchange Premium) ในกรณีที่รถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 ที่ปล่อยก้าซ NOx เกินกว่า 270 mg/km โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสนับสนุนนี้จะให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่ง หรือต้องขับรถเข้ามาทำงาน ในพื้นที่ห้ามวิ่งและครอบครองรถยนต์มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์ในการชดเชย มูลค่ารถที่เสียไปจาก มาตรการทางกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำๆ วิ่งในพื้นที่ต้องห้ามวิ่ง-  มาตรการการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือระบบกรองอากาศ มาตรการนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ยกเลิกการพัฒนาระบบกรองอากาศ แต่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Volkswagen และ BMW พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในวงเงินไม่เกิน 3000 ยูโร ถ้า ลูกค้าไม่สนใจในมาตรการรับเงินสนับสนุน (Exchange Premium) จากรัฐบาล          ในกรณีที่ประชาชนละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการการห้ามรถวิ่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับ ประมาณ 80 ยูโร หรือ อาจต้องเสียค่าปรับถึง 160 ยูโร หากทางเจ้าหน้าที หรือ ศาลเห็นว่าจงใจฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >